Skip to main content
sharethis

รายงานสถานการณ์ปัญหา 'สวนป่าคอนสาร' ชาวชุมชนบ่อแก้ว ต.ทุ่งพระ อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ ก่อนถูกปิดหมายบังคับคดีบุกรุกให้ชาวบ้านออกจากพื้นที่ภายใน 27 ส.ค.นี้ ในฐานะปัญหาเชิงโครงสร้างที่ทำให้ประชาชนจากการบุกเบิกกลายเป็นผู้บุกรุก จนถูกลงโทษประหนึ่งเป็นอาชญากร
 


8 ส.ค. ที่ผ่านมา ชาวชุมชนบ่อแก้ว ต.ทุ่งพระ อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ เดินรณรงค์ประชาสัมพันธ์แจ้งข่าวเพื่อให้คนทั่วไปในหมู่บ้านเข้าใจปัญหาและผลกระทบความเดือดร้อน นับเป็นความพยายามที่ยังต่อสู้เพื่อที่ดินทำกินของชาวชุมชนดังกล่าว หลังจากชุมชนถูกปิดหมายบังคับคดีบุกรุกพื้นที่ป่าให้ชาวบ้านออกจากพื้นที่ภายใน 27 ส.ค.2562 

ก่อนจะถึงวันนี้ย้อนเหตุการณ์ไปเมื่อพ.ศ. 2516 รัฐได้ประกาศให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นป่าสงวนแห่งชาติป่าภูซำผักหนาม ต่อมาองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ หรือ ออป. ได้สัมปทานปลูกสร้างสวนป่าคอนสาร ในระบบสมาชิกโครงการหมู่บ้านป่าไม้ เนื้อที่ 4,401 ไร่ นำมาสู่การผลักดัน ขับไล่ชาวบ้านออกจากที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย ซึ่งชาวบ้านเคลื่อนไหวคัดค้านมาโดยตลอด กระทั่งมีการแต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริง มีหัวหน้าสวนป่าคอนสาร ปลัดอาวุโสอำเภอคอนสาร กำนันผู้ใหญ่บ้าน และตัวแทนชาวบ้านเป็นคณะทำงาน จนมีมติเมื่อปีพ.ศ.2548 ว่า “สวนป่าคอนสารได้ปลูกสร้างทับที่ทำกินของราษฎรจริง”


 
 

จากการตรวจสอบของคณะทำงาน พบว่า ชาวบ้านเข้าถือครองทำประโยชน์ในที่ดินก่อนการก่อตั้งสวนป่า โดยมีหลักฐานเป็นเอกสารเสียภาษีบำรุงท้องที่ ภ.บท.11

หลังจากนั้นมีกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงต่างๆ  มีมติ และข้อตกลงอีกหลายครั้ง ซึ่งเป็นไปในลักษณะเดียวกัน คือให้รัฐยกเลิกสวนป่าคอนสาร และจัดสรรพื้นที่ให้ประชาชน เช่น มติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในปี 2550 
 
แต่ในทางปฏิบัติกลับไม่มีการดำเนินการ และในที่สุดปีพ.ศ. 2552 ออป. ได้ฟ้องขับไล่ชาวบ้านรวม 31 คน ซึ่งศาลจังหวัดภูเขียวพิพากษาให้ชาวบ้านออกจากพื้นที่  หลังจากนั้นปีพ.ศ. 2554 มีกระบวนการแก้ไขความขัดแย้ง ออป.และชาวบ้านได้มีบันทึกความเห็นร่วมกันว่า 1. ออป. จะไม่เร่งรัดบังคับคดีเพื่อให้ชาวบ้านที่มีข้อพิพาทออกจากพื้นที่ในสวนป่า 2. สำหรับข้อเรียกร้องเรื่องที่ทำกินในเขตสวนป่าที่ชาวบ้านเรียกร้องให้จัดพื้นที่ทำกินชองชาวบ้าน มีความเห็นร่วมกันว่า ในหลักการจะพิจารณาให้ราษฏรเข้าทำกินตามหลักการหลักเกณฑ์การทำสวนป่าของออป. โดยให้นำหลักเกณฑ์ดังกล่าวมาทบทวนเพื่อปรับปรุงแก้ไขให้เป็นที่ยอมรับร่วมกัน 3. การกำหนดเขตพื้นที่ที่จะเข้าทำกิน เห็นชอบให้ทั้งสองฝ่ายนัดหมายไปศึกษาสำรวจพื้นที่ร่วมกันโดยเร็ว เพื่อให้ได้ขอบเขตพื้นที่ที่จะให้ราษฏรเข้าทำกิน และแนวทางหรือวิชาการในการปฏิบัติในการเข้าทำกินในพื้นที่ ให้สอดคล้องกับศักยภาพแความเหมาะสมกับพื้นที่ต่อไป

แต่กระบวนการต่อสู้ทางคดีดำเนินเรื่อยมาโดยศาลอุทธรณ์และศาลฏีกายืนตามศาลชั้นต้น เป็นที่มาของการปิดหมายบังคับคดี

ปราโมทย์ ผลภิญโญ สมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน ตั้งข้อสังเกตว่า  ในกรณีสวนป่าคอนสารมีข้อสังเกตต่อกระบวนการแก้ปัญหาอยู่ 2 ส่วน 

1. คือการตรวจสอบข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติแล้ว รอเพียงการตัดสินใจทางนโยบายเท่านั้นซึ่งตลอดระยะเวลา 14 ปีที่ผ่านมา ภายหลังคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงในระดับพื้นที่ได้มีมติว่าสวนป่าคอนสารปลูกทับพื้นที่ดินทำกินของประชาชนจริง และมีกลไกต่างๆ ในการตรวจสอบ มติเป็นไปในลักษณะเดียวกัน ซึ่งยุติแล้ว เหลือเพียงการตัดสินใจทางนโยบาย 14 ปีที่ผ่านมายังไม่มีการพิจารณาในทางนโยบาย ทำให้เกิดผลร้ายกับประชาชน คือการใช้กระบวนการทางยุติธรรมเป็นช่องทางในการแก้ไขปัญหา ซึ่งเป็นที่รู้โดยทั่วไปว่าชาวบ้านค่อนข้างเสียเปรียบในการต่อสู้คดี และเสียโอกาสเข้าถึงสิทธิในที่ดินเพราะข้อพิพาทสิทธิในที่ดินของสังคมต้องใช้กระบวนการทางนโยบายเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหา

2. นัยยะของคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงระดับพื้นที่ ถ้าเอาไปล้อกับมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 30 มิถุนายน 2541 ซึ่งกรณีสวนป่าจำแนกอยู่ในส่วนของพื้นที่ป่าอื่นๆ ที่สงวนไว้เพื่อกิจการป่าไม้  ซึ่งมีกระบวนการในการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยมีองค์ประกอบของส่วนราชการและของประชาชนที่เท่ากันและมีกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงว่าใครอยู่ก่อนใครอยู่หลัง ซึ่งผลการตรวจสอบของคณะทำงานระดับพื้นที่ก็ชัดเจนว่า ชาวบ้านอยู่มาก่อนการก่อสร้างผืนป่าในพ.ศ.2521 ถ้าเอาไปเทียบเคียงให้ล้อกับมติคณะรัฐมนตรีซึ่งเป็นกลไกสูงสุดในทางบริหารก็อาจดำเนินการไปในลักษณะนั้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็ควรที่จะมีการตัดสินใจเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้

3. สิ่งที่ชาวบ้านเสนอคือแผนการจัดการที่ดินและทรัพยากรโดยประชาชนทำในพื้นที่ 1,500 ไร่ และมีการโซนนิ่งการใช้ประโยชน์ในที่ดินหลายลักษณะ ทั้งที่ดินแปลงรวม ที่ดินการใช้ส่วนบุคคล ที่ป่าชุมชน ที่สาธารณะสมบัติของชุมชน ซึ่งตรงนี้มันตอบโจทย์ได้ทางนิเวศน์วิทยาว่าจะมีการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม การเพิ่มพื้นที่สีเขียวทำอย่างไร ถ้าไปเทียบกับสวนป่าที่เป็นไม้เชิงเดี่ยว และมีการปลูกเป็นลักษณะ Plantation ไม่ได้ตอบโจทย์ทางสิ่งแวดล้อมด้วยซ้ำไปและเป็นการตัดเพื่อประโยชน์เชิงพาณิชย์มากกว่า 

ในขณะที่หมู่บ้านเกษตรกรรมอินทรีย์บ้านบ่อแก้วภายใต้การบริหารจัดการที่ดิน คือทำมาแล้วส่วนหนึ่ง รอการตัดสินใจเชิงนโยบายที่จะมารับรองแผนนี้ ตอบโจทย์ทางนิเวศวิทยาสิ่งแวดล้อม ตอบโจทย์เรื่องความอยู่ดีมีสุข คุณภาพชีวิต ตอบโจทย์เรื่องการกระจายอำนาจและสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของประชาชน  และน่าจะเป็นทางออกที่สำคัญและทุกฝ่ายได้ประโยชน์ รอเพียงแต่ฝ่ายนโยบายมีมติและการตัดสินใจรับรองเรื่องนี้ ดังนั้น รัฐบาลนี้ควรที่จะมีความชัดเจนที่จะตัดสินใจในเรื่องนี้โดยเร็ว ก่อนที่อะไรต่างๆ จะล่าช้า เพราะหมายบังคับคดีกำหนดไว้ว่าวันที่ 27 สิงหาคมจะรื้อ เรามีเวลาแค่เดือนเดียวที่รัฐบาลจะต้องตัดสินใจในเรื่องนี้เพื่อประโยชน์ของสังคม

จากการบุกเบิกกลายเป็นผู้บุกรุก

ผศ.ดร.อนุสรณ์ พัฒนศานติ์ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ อธิบายปัญหาดังกล่าวในเชิงโครงสร้างของประเทศว่า ประเด็นปัญหาที่ดินเป็นประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นกระจัดกระจายทั่วประเทศ เพียงแต่ว่าพื้นที่ของสวนป่าคอนสารเป็นหนึ่งในประเด็นที่ดิน ซึ่งจริงๆ แล้วปัญหามีจำนวนมากทั้งภาคเหนือ ภาคใต้ และอีสาน แต่ปัญหากรณีสวนป่าคอนสารเป็นปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัฐและประชาชนโดยมีตัวกลางคือองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจมาสัมปทานพื้นที่ป่า และปลูกสวนป่าคอนสารและไปปลูกทับที่ดินของชาวบ้าน ก็เลยเกิดปัญหาขึ้นและมีการฟ้องร้อง

โครงสร้างที่แท้จริงของรากเหง้าเป็นระบบกรรมสิทธิ์ ซึ่งแบ่งเป็น 2 อัน คือระบบกรรมสิทธิ์ที่เป็นของรัฐ กับระบบกรรมสิทธิ์ที่เป็นเอกชน ซึ่งรัฐไม่ยอมรับรูปแบบอื่นๆ เพราะฉะนั้นถ้าตายตัวแค่ 2 ระบบ ไม่มีระบบทางเลือกอื่นๆ ก็ทำให้เกิดความขัดแย้ง 

แนวทางการแก้ปัญหาควรจะยอมรับกรรมสิทธิ์ร่วมที่ให้ประชาชนมีทางเลือก ประชาชนผลักดันเรื่องนี้ได้ มีการศึกษาและมีการเสนอโฉนดชุมชน ซึ่งให้ประชาชนเข้าไปจัดการที่ดินในบริเวณที่เป็นปัญหา ให้เข้าใจกติการ่วมกันว่าจะใช้ที่ดินอย่างไร ตรงไหนเป็นที่อยู่อาศัย ตรงไหนเป็นที่ที่ทำการเกษตร ตรงไหนจะเป็นแปลงรวมที่สามารถปลูกต้นไม้ หรือใช้ทรัพยากรเหล่านั้นร่วมกันได้ ถ้ามีรูปแบบกรรมสิทธิ์ร่วมซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ทางเลือกอื่นๆ มันก็จะช่วยแก้ปัญหา

แต่กรรมสิทธิ์ร่วมควรจะมีกฎหมายมารองรับ ซึ่งให้เป็นกฎหมายที่มีลำดับศักดิ์สูงสุดเทียบเท่ากับพระราชบัญญัติ มันถึงจะทำให้ชาวบ้านมีความมั่นใจ มีกฎหมายรองรับ ออกโดยสภา เทียบเท่ากับพระราชบัญญัติอื่นๆ ชาวบ้านก็จะสามารถอยู่ร่วมในพื้นที่และแก้ไขตรงนี้ได้

ถ้ามองออกไประยะไกล ในช่วงพ.ศ.2500 ที่ประเทศไทยต้องการสร้างให้ประเทศ พัฒนาประเทศเป็นอุตสาหกรรม เนื่องจากมีเงินในการบริหารประเทศ ก็คือในยุคของจอมพสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี มีการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับแรกคือปีพ.ศ.2504 ต้องการขยายพื้นที่เพาะปลูกให้มากที่สุด พื้นที่ที่ต้องการขยายอันดับแรกเลยคือพื้นที่ภาคอีสาน เนื่องจากภาคอีสานเป็นพื้นที่ราบสูงที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ จึงต้องการขยายให้มากที่สุด จึงมีการตัดป่า ถางป่า คือบุกเบิกพื้นที่ แล้วตอนบุกเบิกเอาป่าเอาต้นไม้ออกมา เขาต้องการแค่ทรัพยากรแรกคือตัวป่า ตัวต้นไม้ พอสัมปทานต้นไม้ออกไปแล้วก็ไม่ได้สนใจที่ดิน พอเอาต้นไม้ออกไปก็เอาชาวบ้านไปอยู่ตามถนนมิตรภาพและลึกลงไปตามบริเวณที่ต้นไม้ออก ชาวบ้านก็ดีใจที่มีคนขุดต้นไม้ออกไปให้ เขาจะได้มีพื้นที่ในการเพาะปลูก ถ้ายังมีต้นไม้ชาวบ้านจะตัดเองก็ตัดลำบาก พอมีสัมปทานเอาป่าออกไป พื้นที่ดินตรงนั้นชาวบ้านก็เข้าไปอยู่ 

ในอีกวาระซ่อนเร้นคือรัฐบาลต้องการปราบปรามคอมมิวนิสต์ ถ้ายังมีป่าอยู่ รัฐบาลก็ไม่รู้ว่าคอมมิวนิสต์อยู่ตรงไหน ถ้าถางป่าแล้วเอาถนนเข้าไปให้มาก เอาความเจริญกระจายเข้าไปพวกคอมมิวนิสต์ก็จะหายไปเองในแนวคิดของเขา ทีนี้พอเอาคนเข้าไปร่วมบุกเบิกป่าในระยะแรก การเพาะปลูกก็เพาะปลูกพืชเชิงเดี่ยว ปลูกให้มันจำนวนมาก ปลูกมันสำปะหลังในพื้นที่ที่เขาถางได้ ในพื้นที่ที่ประชาชนเข้าไปแล้วคือการบุกเบิก เศรษฐกิจก็จะได้กระเตื้องขึ้นและผลผลิตเหล่านี้ก็ไปป้อนโรงงานอุตสาหกรรม 

ทีนี้ยุคแรกคือการบุกเบิกและพอบุกเบิกแล้วมันบุกเบิกเยอะมากจนป่าลดลง พอป่าลดลง ก็เลยเอ๊ะ! ว่าจริงๆ แล้วจำนวนป่ามันควรจะเหลือเท่าไหร่ เพราะป่ามันโดนบุกเบิกไปจำนวนมาก

นักวิชาการป่าไม้บอกว่า ป่าควรสงวนไว้ 40 เปอร์เซ็นต์ เป็นอุดมการณ์ของวิชาการของป่าไม้ด้วยซ้ำ ในยุคนั้นที่มีการตัดไม้จำนวนมากจะมีโรงเรียนป่าไม้ขึ้น ปัจจุบันผันตัวเป็นมหาวิทยาลัยแม่โจ้ สอนวรรณศาสตร์ สอนเกี่ยวกับเรื่องป่า คนที่มาสอนเรื่องป่าก็คือชาวอังกฤษในการจัดสรรป่าให้มีกี่เปอร์เซ็นต์ ป่าแบบนี้มีกี่เปอร์เซ็นต์ ทีนี้พอบุกเบิกไว้จำนวนมาก ต้องสงวนไว้ 40 เปอร์เซ็นต์ ฉะนั้นเราจะสงวนอย่างไรก็คือออกกฎหมายเป็นพระราชบัญญัติ 

เขาไม่รู้ว่าประชาชนอยู่ตรงไหน แต่เขารู้ว่าป่าอยู่ตรงไหน เอาแผนที่มากางเราจะเอาตรงนี้ ตรงนี้สงวนไว้ เขาก็ขีด พอขีดแล้วปรากฏว่าในบริเวณที่ขีดมีคนอาศัยอยู่ตอนที่ให้เขาไปบุกเบิก ทีนี้ก็มีคนมาบอกว่าให้เขาออกจากบริเวณที่ขีดไว้ เป็นพ.ร.บ.ออกกฎหมายป่าแล้ว ถ้าใครยังอยู่ตรงนั้นก็จะกลายเป็นผู้บุกรุก จากการบุกเบิกกลายเป็นผู้บุกรุก อันนี้คือเป็นปัญหา

พอจะเอาเขาออกมา เขาก็บอกว่าเขาอยู่มาก่อนการจะมีพระราชบัญญัติก็เลยมีความขัดแย้งเกิดขึ้น และอย่างที่บอกอีกประการหนึ่งคือมันบวกกับระบบกรรมสิทธิ์ที่มีแค่รัฐกับเอกชน รัฐบอกว่าตรงนี้เป็นของรัฐแล้วถ้าคุณไม่ออกมาคุณก็ผิดกฎหมาย 

ชัยภูมิเป็นจังหวัดหนึ่งที่มีพื้นที่ป่าและภูเขาอยู่ครึ่งหนึ่งของพื้นที่ทั้งจังหวัด สมมุติว่าพื้นที่จังหวัด 100 เปอร์เซ็นต์ อีก 50 เปอร์เซ็นต์เป็นพื้นที่ป่า เพราะเป็นภูเขากับพื้นที่ที่ไม่สามารถทำการเกษตรได้ อีก 50 เปอร์เซ็นต์เป็นพื้นที่ที่ทำการเกษตรและพื้นที่ที่อยู่อาศัย แต่ใน 50 เปอร์เซ็นต์ที่ใช้พื้นที่ได้ระบบกรรมสิทธิ์ที่ใช้ได้มีไม่ถึง 30 เปอร์เซ็นต์ นอกนั้นคือใช้ได้แต่ไม่มีกรรมสิทธิ์ในการครอบครองที่ชัดเจน รัฐสามารถทวงคืนได้ทุกเมื่อ นี่ก็เป็นปัญหาเนื่องจากว่ารัฐยอมรับแค่ระบบกรรมสิทธิ์ของรัฐ กับระบบกรรมสิทธิ์ของเอกชน  และกรรมสิทธิ์แบบเอกชนที่รัฐยอมรับก็คือ โฉนดที่ดิน ที่รัฐออกให้และสามารถซื้อขายเปลี่ยนมือกันได้ 

ในการออกโฉนดที่รัฐสามารถเปลี่ยนมือกันได้ มันก็ต้องทำการรังวัด เจ้าหน้าที่ที่ดินต้องมาทำการรังวัด แล้วเจ้าหน้าที่ที่ดินที่มาทำการรังวัดก็มีจำนวนน้อยมาก ภาคอีสานที่มีเจ้าหน้าที่ที่ดินออกมาของกรมที่ดินแห่งแรกคือ นครราชสีมา เมื่อปีพ.ศ.2512 มีเจ้าหน้าที่นิดเดียวและเป็นจังหวัดแรกที่ตั้ง ถ้าจะรังวัดที่ดินให้หมดทั้งประเทศ รังวัดให้ชัดเจนเป็นของใครของมัน ต้องใช้เวลาถึง 200 ปี แสดงให้เห็นว่าการรังวัดให้ชัดเจนมันใช้เวลานานมาก ดังนั้น ปัญหาขัดแย้งก็เลยเกิดขึ้น ปัญหาระบบกรรมสิทธิ์ที่มันช้ายิ่งช้าเราก็ยิ่งเดือดร้อน คนที่อยู่แถวๆ ชายป่า ที่เขายังไม่มีกรรมสิทธิ์ที่ชัดเจนมันก็ยิ่งมีปัญหาจำนวนมาก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net