Skip to main content
sharethis

เลขาธิการ กสม. หวัง สตช. เร่งดำเนินคดีกรณี 'เอกชัย อิสระทะ' ถูกกลุ่มชายฉกรรจ์คุกคาม-กักขังในการร่วมเวทีประชาพิจารณ์โครงการเหมืองหิน จ.พัทลุง - แนะกระทรวงอุตฯ ให้จัดเวทีใหม่ รับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้านและประกันความปลอดภัยของผู้เข้าร่วม  ขณะที่ เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่จี้รัฐเลิกยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแร่ 20 ปี

ซ้าย เอกชัย อิสระทะ : ขวา โสพล จริงจิตร

14 ส.ค.2562 เมื่อวันที่ 13 ส.ค.ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (สำนักงาน กสม.)แจ้งว่า โสพล จริงจิตร เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวถึงกรณีที่ เอกชัย อิสระทะ เลขาธิการคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ซึ่งเป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชนด้านสิ่งแวดล้อม ถูกกลุ่มชายฉกรรจ์ข่มขู่คุกคามและควบคุมตัวไปกักขัง พร้อมยึดอุปกรณ์สื่อสารและทรัพย์สินติดตัวไว้เป็นเวลาครึ่งวัน ภายหลังจากที่เอกชัยแสดงเจตจำนงเข้าร่วมสังเกตการณ์เวทีรับฟังความคิดเห็นการขอประทานบัตรโครงการขอสัมปทานเหมืองแร่หินปูนของบริษัทแห่งหนึ่ง ในพื้นที่อำเภอตะโหมด จังหวัดพัทลุง เมื่อวันที่ 5 ส.ค.ที่ผ่านมา

โสพล ระบุว่า สำนักงาน กสม. มีความห่วงกังวลต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับนายเอกชัย ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนและเข้าข่ายหน่วงเหนี่ยวกักขังอันเป็นความผิดเกี่ยวกับเสรีภาพตามประมวลกฎหมายอาญา ยิ่งเมื่อคำนึงว่านายเอกชัยเป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่เป็นปากเสียงให้กับประชาชนและชุมชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการต่าง ๆ ยิ่งทำให้มีความเสี่ยงต่อการถูกคุกคาม ซึ่งหน่วยงานของรัฐควรให้ความสำคัญต่อกรณีที่เกิดขึ้นกับนายเอกชัย ยิ่งไปกว่านั้น ผู้สื่อข่าวจำนวนหนึ่งที่จะเข้าไปรายงานข่าวก็ถูกข่มขู่คุกคาม โดยมีการขอมิให้เข้าไปปฏิบัติหน้าที่ในเวทีด้วย ซึ่งสะท้อนว่าผู้กระทำการมิได้มีความเคารพหรือเกรงกลัวกฎหมายแต่อย่างใด

“สำนักงาน กสม. หวังเป็นอย่างยิ่งว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) จะเร่งสืบสวนสอบสวนและดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดในกรณีนี้โดยเร็ว รวมถึงการดูแลความปลอดภัยของนายเอกชัย ในขณะเดียวกัน เมื่อเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว ได้สะท้อนให้เห็นว่ากระบวนการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นต่อโครงการนี้ มิได้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ต้องการให้ประชาชนและชุมชนที่อาจได้รับผลกระทบมีส่วนร่วมในการให้ข้อมูล ความเห็น ดังนั้น กระทรวงอุตสาหกรรม ควรพิจารณาทบทวนการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการขอประทานบัตรทำเหมืองแร่โครงการดังกล่าวในครั้งนี้ เพื่อเป็นหลักประกันว่าจะมีการรับฟังข้อมูล ข้อเท็จจริงจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายอย่างถูกต้องครบถ้วน ตลอดจนประกันความปลอดภัย และเสรีภาพในการมีส่วนร่วมและแสดงความเห็นตามที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายรับรอง” โสพล กล่าว

ปชช.เจ้าของแร่ จี้รัฐเลิกยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแร่ 20 ปี

14 ส.ค.62 เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ ออกแถลงการณ์กรณีนี้ด้วย โดยเรียกร้องต่อรัฐยกเลิกยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแร่ 20 ปีและแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ พ.ศ. 2560– 2564 ยกเลิกเพิกถอนคำขอประทานบัตรเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูน (เพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง) ของบริษัท สิงห์ศิลาทอง จำกัด จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนของสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดพัทลุงเพื่อประกอบการพิจารณาคำขอประทานบัตร ลงโทษและเพิกถอนบริษัท สิงห์ศิลาทอง จำกัด ออกจากการเป็นบริษัท  หรือห้ามไม่ให้บริษัท สิงห์ศิลาทอง จำกัด ดำเนินกิจการการขออาชญาบัตรเพื่อขอสำรวจแร่และขอประทานบัตรเพื่อทำเหมืองแร่ใด ๆ อีก

รวมทั้งขอให้ถอนสมาชิกภาพจากสภาวิศวกรของ สุวัฒน์ ไพรอุดม ผู้ถือหุ้นใหญ่และประธานกรรมการบริษัท สิงห์ศิลาทอง จำกัด  ซึ่งเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องไม่ทางตรงก็ทางอ้อมกับการจ้างวานกลุ่มบุคคลให้ก่อเหตุความรุนแรงต่อนายเอกชัย อิสระทะ

 

แถลงการณ์ ต้นเหตุความรุนแรงต่อนายเอกชัย​ อิสระทะ คือยุทธศาสตร์และแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ตามกฎหมายแร่ฉบับใหม่
 

จากเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นต่อนายเอกชัย อิสระทะ เลขาธิการคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ภาคใต้ ในวันที่ ๕ สิงหาคม ๒๕๖๒ ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันที่มีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนของสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดพัทลุงเพื่อประกอบการพิจารณาคำขอประทานบัตรที่ ๑/๒๕๖๒ โครงการเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูน (เพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง) ของบริษัท สิงห์ศิลาทอง จำกัด ที่จัดขึ้น ณ มัสยิดอัสซอลีฮีน ม.4 ต.คลองใหญ่ อ.ตะโหมด จ.พัทลุง  โดยในทันทีที่นายเอกชัยไปถึงสถานที่จัดเวทีฯก็ได้ถูกชายฉกรรจ์มากกว่าสิบคนขัดขวางไม่ให้เข้าร่วมเวทีและยึดโทรศัพท์มือถือ รถยนต์ บัตรประจำตัวประชาชน และบังคับควบคุมตัวออกจากสถานที่จัดงานนำไปกักขังไว้ในสถานที่แห่งหนึ่งเป็นเวลาไม่น้อยกว่า ๓ ชั่วโมงจนกระทั่งการจัดเวทีฯเสร็จสิ้นจึงถูกปล่อยตัวออกมา  โดยทำการลบข้อมูลทุกอย่างออกจากโทรศัพท์มือถือและกล้องหน้ารถและข่มขู่ไม่ให้แจ้งความดำเนินคดีและห้ามยุ่งเกี่ยวกับการขอประทานบัตรทำเหมืองหินที่นี่อีก  หากไม่ปฏิบัติตามจะไม่รับรองความปลอดภัยของนายเอกชัยและครอบครัว

เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่เห็นว่าต้นเหตุความรุนแรงที่เกิดขึ้นต่อนายเอกชัยมีองค์ประกอบของกฎหมายว่าด้วยการบริหารจัดการทรัพยากรแร่ที่มุ่งส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการลงทุนในกิจการเหมืองแร่เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย  กล่าวคือ  พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๖๐ หรือกฎหมายแร่ฉบับใหม่บัญญัติให้มีการจัดทำยุทธศาสตร์ นโยบายและแผนแม่บทในการบริหารจัดการแร่ขึ้นมาโดยพื้นที่ที่จะกําหนดให้เป็น ‘เขตแหล่งแร่เพื่อการทําเหมือง’ ต้องไม่ใช่พื้นที่ในเขตอุทยานแห่งชาติตามกฎหมายว่าด้วยอุทยานแห่งชาติ  เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าตามกฎหมายว่าด้วยการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า  เขตโบราณสถานที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ตามกฎหมายว่าด้วยโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุและพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ  เขตพื้นที่ที่มีกฎหมายห้ามการเข้าใช้ประโยชน์โดยเด็ดขาด  พื้นที่เขตปลอดภัยและความมั่นคงแห่งชาติ  หรือพื้นที่ ‘แหล่งต้นน้ำหรือป่าน้ำซับซึม’  แต่ในความเป็นจริงคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ (คนร.) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานโดยตำแหน่งได้จัดทำยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแร่ ๒๐ ปี (พ.ศ. ๒๕๖๐ – ๒๕๗๙) และแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ พ.ศ. ๒๕๖๐ – ๒๕๖๔ ขึ้นมาโดยละเว้นให้พื้ น ที่ แ ห ล่ง หิ น อุ ต ส า ห ก ร ร ม เ พื่ ออุตสาหกรรมก่อสร้างตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมและประกาศกรมอุตสาหกรรม พื้ น ฐ า น แ ล ะ ก า ร เ ห มื อง แ ร่ ที่ ป ร ะ ก า ศ ก่ อ นพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๖๐ มีผลบังคับใช้ และที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกำหนดแหล่งหินอุตสาหกรรม (อุตสาหกรรมเพื่อการก่อสร้าง) ของกระทรวงอุตสาหกรรมแล้ว แต่ไม่สามารถประกาศได้ทันก่อนวันที่พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๖๐ มีผลบังคับใช้ให้เป็น ‘เขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง’ ทั้งหมด

ทั้ง ๆ ที่พื้นที่แหล่งหินฯตามมติ ครม. และประกาศฯดังกล่าวจำนวนมากล้วนเป็น ‘แหล่งต้นน้ำหรือป่าน้ำซับซึม’ ซึ่งควรถูกรื้อหรือปรับปรุงแก้ไขใหม่เพื่อยกเว้นหรือกันพื้นที่แหล่งหินฯที่เป็นแหล่งต้นน้ำหรือป่าน้ำซับซึมออกไปจากการเป็นพื้นที่แหล่งหินอุตสาหกรรมเพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้างตามมติ ครม. และประกาศฯดังกล่าวเสียก่อน

ด้วยเหตุนี้  การจัดทำเอกสารทางยุทธศาสตร์และแผนแม่บทฯที่บิดเบือนข้อเท็จจริงและขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมายแร่ฉบับใหม่ของ คนร. ซึ่งได้รับความเห็นชอบจาก ครม. เมื่อวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๖๑ ด้วยจึงถือว่าเป็นต้นเหตุของความรุนแรงต่อนายเอกชัย  เพราะคาดว่าเขาน้อยที่เป็นแหล่งหินตามคำขอประทานบัตรของบริษัทดังกล่าวน่าจะเข้าข่ายเป็น ‘แหล่งต้นน้ำหรือป่าน้ำซับซึม’ ที่ต้องถูกกันออกจากการเป็น ‘เขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง’ ที่ไม่สามารถนำไปขอประทานบัตรได้ด้วย 

ซึ่งถ้าหากการจัดทำเอกสารทางยุทธศาสตร์และแผนแม่บทฯไม่ถูกบิดเบือนแต่สอดคล้องต้องตามเจตนารมณ์ของกฎหมายแร่ฉบับใหม่ก็จะทำให้เขาน้อยที่น่าจะเข้าข่ายเป็นแหล่งต้นน้ำหรือป่าน้ำซับซึมถูกกันออกจากการเป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองตามมาตรา ๑๗ วรรคสี่อย่างแน่นอน  และบริษัทดังกล่าวก็จะไม่สามารถนำเขาน้อยมาดำเนินการขอประทานบัตรได้  และเมื่อไม่สามารถนำเขาน้อยมาดำเนินการขอประทานบัตรได้ก็จะไม่มีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้นกับเอกชัยอย่างแน่นอนตามไปด้วย     

ด้วยสาเหตุที่กล่าวมา  นอกจากรัฐจะต้องเร่งรัดจับกุมผู้กระทำผิดที่ก่อเหตุความรุนแรงด้วยการอุ้มขังนายเอกชัยมาลงโทษให้ได้โดยเร็ว  เพราะเป็นการกระทำที่อุกอาจสุ่มเสี่ยงอันตรายถึงชีวิตนายเอกชัย อิสระทะแล้ว เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ขอเรียกร้องให้รัฐดำเนินการเพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหารอบด้าน  ดังนี้

          ๑. ให้ยกเลิกยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแร่ ๒๐ ปี (พ.ศ. ๒๕๖๐ – ๒๕๗๙) และแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ พ.ศ. ๒๕๖๐ – ๒๕๖๔ ที่ผ่านความเห็นชอบจาก ครม. เมื่อวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๖๑ และให้จัดทำขึ้นใหม่โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างทั่วถึงและรอบด้าน  โดยต้องยกเว้นหรือกันพื้ น ที่ แ ห ล่ง หิ น อุ ต ส า ห ก ร ร ม เ พื่ ออุตสาหกรรมก่อสร้างตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมและประกาศกรมอุตสาหกรรม พื้ น ฐ า น แ ล ะ ก า ร เ ห มื อง แ ร่ ที่ ป ร ะ ก า ศ ก่ อ นพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๖๐ มีผลบังคับใช้ และที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกำหนดแหล่งหินอุตสาหกรรม (อุตสาหกรรมเพื่อการก่อสร้าง) ของกระทรวงอุตสาหกรรมแล้ว แต่ไม่สามารถประกาศได้ทันก่อนวันที่พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๖๐ มีผลบังคับใช้ที่เข้าข่ายเป็น ‘แหล่งต้นน้ำหรือป่าน้ำซับซึม’ ที่ไม่สามารถนำไปขอประทานบัตรเพื่อทำเหมืองได้ออกจาก ‘เขตแหล่งเพื่อการทำเหมือง’ ให้ชัดเจน

          ๒. ขอให้ยกเลิกเพิกถอนคำขอประทานบัตรที่ ๑/๒๕๖๒ เพื่อทำเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูน (เพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง) ของบริษัท สิงห์ศิลาทอง จำกัด  เนื้อที่ ๖๗ ไร่ ๑ งาน ๑๙ ตารางวา  ตั้งอยู่ในหมู่ที่ ๔ ต.คลองใหญ่ อ.ตะโหมด จ.พัทลุง  โทษฐานที่จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นฝ่าฝืนกฎหมายแร่ฉบับใหม่และกฎหมายอื่น ๆ ที่ว่าด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชนด้วยการมีส่วนเกี่ยวข้องไม่ทางตรงก็ทางอ้อมกับการจ้างวานกลุ่มบุคคลให้ก่อเหตุความรุนแรงต่อนายเอกชัย อิสระทะ

          ๓. ให้ยกเลิกเพิกถอนเขาน้อยในเขตท้องที่ ต.คลองใหญ่ อ.ตะโหมด จ.พัทลุง ที่เป็นแหล่งหินตามคำขอประทานบัตรที่ ๑/๒๕๖๒ ของบริษัท สิงห์ศิลาทอง จำกัด ออกจากการเป็นพื้ น ที่ แ ห ล่ง หิ น อุ ต ส า ห ก ร ร ม เ พื่ ออุตสาหกรรมก่อสร้างตามมติคณะรัฐมนตรีและประกาศฯดังกล่าว  เพราะเข้าข่ายเป็น ‘แหล่งต้นน้ำหรือป่าน้ำซับซึม’ ที่ไม่สามารถนำไปขอประทานบัตรเพื่อทำเหมืองได้

          ๔. ให้การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนของสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดพัทลุงเพื่อประกอบการพิจารณาคำขอประทานบัตรที่ ๑/๒๕๖๒ โครงการเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูน (เพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง) ของบริษัท สิงห์ศิลาทอง จำกัด ที่จัดขึ้น ณ มัสยิดอัสซอลีฮีน ม.4 ต.คลองใหญ่ อ.ตะโหมด จ.พัทลุง เมื่อวันที่ ๕ สิงหาคม ๒๕๖๒ เป็นโมฆะ  เนื่องจากไม่เป็นไปตามแนวทางการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นตามกฎหมายแร่และกฎหมายที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ  เพราะมีการขัดขวางไม่ให้คนเห็นต่างเข้าร่วมเวที  และเห็นได้ชัดว่าการจัดเวทีไม่มีความปลอดภัยเพียงพอ  ทำให้ผู้มีส่วนได้เสียไม่มีโอกาสได้ร่วมเวที  ไม่มีโอกาสได้แสดงความคิดเห็น

          ๕. ให้ทำการลงโทษและเพิกถอนบริษัท สิงห์ศิลาทอง จำกัด ออกจากการเป็นบริษัท  หรือห้ามไม่ให้บริษัท สิงห์ศิลาทอง จำกัด (หรือบริษัทแปลงโฉมมาในชื่ออื่นแต่เป็นผู้ถือหุ้นและกรรมการจากบริษัท สิงห์ศิลาทอง จำกัด) ดำเนินกิจการการขออาชญาบัตรเพื่อขอสำรวจแร่และขอประทานบัตรเพื่อทำเหมืองแร่ใด ๆ อีกในอาณาเขตประเทศไทย  ซึ่งเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องไม่ทางตรงก็ทางอ้อมกับการจ้างวานกลุ่มบุคคลให้ก่อเหตุความรุนแรงต่อนายเอกชัย อิสระทะ 

          ๖. ให้ถอนสมาชิกภาพจากสภาวิศวกรของนายสุวัฒน์ ไพรอุดม ผู้ถือหุ้นใหญ่และประธานกรรมการบริษัท สิงห์ศิลาทอง จำกัด  ซึ่งเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องไม่ทางตรงก็ทางอ้อมกับการจ้างวานกลุ่มบุคคลให้ก่อเหตุความรุนแรงต่อนายเอกชัย อิสระทะ

 

ด้วยความเคารพ

เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่

๑๔ สิงหาคม ๒๕๖๒

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net