Skip to main content
sharethis

ฮัสซัน อัลคอนตาร์ ผู้ลี้ภัยชาวซีเรีย เคยติดอยู่ในสนามบินและต้องใช้ชีวิตที่นั่นเป็นเวลานานมากกว่า 8 เดือนติดหล่มทางกฎหมายจนกระทั่งเขาได้ชีวิตใหม่ในประเทศแคนาดา และจากประสบการณ์ที่แสนเจ็บปวดทำให้เขาผันตัวมาช่วยเหลือผู้ลี้ภัยที่ประสบปัญหาแบบเดียวกัน ทำให้ผู้ลี้ภัยเหล่านี้สามารถตั้งรกรากในที่แห่งใหม่ได้

ฮัสซัน อัลคอนตาร์ (ที่มา:twitter/Hassan Al Kontar)

14 ส.ค. 2562 ฮัสซัน อัลคอนตาร์ เคยตกเป็นข่าวดังจากการที่เขาต้องใช้ชีวิตอยู่ในสนามบินอยู่เป็นเวลามากกว่า 8 เดือน จนเมื่อเดือน พ.ย. ของปีที่แล้ว เขาก็ได้รับสถานะผู้ลี้ภัยจากแคนาดา และในตอนนี้เขาก็ตัดสินใจจะช่วยเหลือผู้ลี้ภัยชาวซีเรีย 200 รายที่ยังคงติดอยู่ในหล่มแห่งความไม่ชัดเจนว่าจะได้รับการตั้งรกรากในประเทศใหม่หรือไม่

ชีวิตของฮัสซัน อัลคอนตาร์ ราวกับภาพยนตร์เรื่อง "เดอะ เทอร์มินัล" เรื่องราวของคนที่ติดอยู่ในสนามบินและจำต้องใช้ชีวิตอยู่ในนั้นเป็นเวลานาน เหตุการณ์เมื่อเดือน มี.ค. 2561 ฮัสซันติดอยู่ที่สนามบินกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย หลังประสบปัญหาสถานะทางกฎหมายไม่ชัดเจน (legal limbo) ทำให้เข้าประเทศมาเลเซียไม่ได้และจะไปประเทศอื่นก็ไม่ได้ ทำให้ต้องใช้ชีวิตอยู่ในสนามบินเป็นเวลาหลายเดือน

ในปัจจุบันฮัสซันสามารถฝ่าความผันผวนของชีวิตมาได้จนได้อาศัยอยู่ในแคนาดา แต่อุปสรรคของชีวิตที่ผ่านมาก็เป็นแรงหลักดันให้เขากลายเป็นนักรณรงค์ในประเด็นเรื่องของผู้ลี้ภัยที่ประสบปัญหาการตั้งรกรากในประเทศใหม่ เขาร่วมมือกับบริษัทไม่แสวงหาผลกำไรของแคนาดา 2 แห่งคือ "แคนาดาแคร์ริงโซไซตี" (Canada Caring Society) และ "โมเสค" (Mosaic) ซึ่งเป็นองค์กรทำงานเรื่องการตั้งรกรากใหม่ของผู้ลี้ภัยทั้งสององค์กร ทำให้ตอนนี้คอนตาร์สามารถช่วยเหลือผู้ลี้ภัย 200 รายที่ติดอยู่เกาะมานัสและนาอูรู สามารถได้รับการสนับสนุนให้เข้าสู่ประเทศแคนาดาได้

ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัยของคอนตาร์มีชื่อว่า "ปฏิบัติการไม่ถูกลืม" ได้รับการส่งเสริมจากสภาผู้ลี้ภัยแห่งออสเตรเลียและองค์กรแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชันแนล ผู้ลี้ภัยที่ได้รับความช่วยเหลือเป็นคนที่ทางการออสเตรเลียกีดกันไม่ได้เข้าประเทศทางเรือตั้งแต่ปี 2555 และส่งตัวพวกเขาไปยังเกาะมานัสกับนาอูรูซึ่งนับเป็นนโยบายของรัฐบาลที่ชวนให้เกิดข้อถกเถียง คอนตาร์พูดถึงปฏิบัติการของเขาว่า "พวกเราพยายามให้ความหวังกับคนที่สิ้นหวัง"

ทางการออสเตรเลียมีนโยบายกีดกันไม่ให้ผู้ลี้ภัยทางเรือเข้าประเทศโดยอ้างว่าเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการเสียชีวิตบนท้องทะเลและป้องกันการค้ามนุษย์ อย่างไรก็ตาม สหประชาชาติและกลุ่มอื่นๆ ก็บอกว่าผู้ลี้ภัยที่ถูกสกัดกั้นและส่งตัวไปอยู่เกาะมักจะต้องเผชิญกับการละเมิดสิทธิฯ ด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการล่วงละเมิดทางเพศ การถูกทำร้ายร่างกาย แพทย์เตือนว่าคนกลุ่มนี้เสี่ยงต่อภาวะวิกฤตด้านสุขภาพจิต นอกจากนี้ถึงแม้ว่าผู้ลี้ภัยเหล่านี้จะไม่ได้ถูกคุมขังอย่างเป็นทางการพวกเขาก็อาศัยอยู่ในสภาพติดหล่มอยู่ในศูนย์ส่งตัวอย่างไม่มีกำหนดซึ่งผู้เชี่ยวชาญบอกว่าส่งผลให้เกิดการทำร้ายตัวเองสูงมาก

องค์กรสิทธิฮิวแมนไรท์วอทช์ระบุว่ามีผู้ลี้ภัยบางส่วนที่ได้ตั้งรกรากใหม่ในสหรัฐฯ แต่ยังมีผู้คนอีกราว 800 คนที่ยังคงอยู่บนเกาะเหล่านี้และส่วนใหญ่ต้องติดอยู่ที่สองเกาะนี้มาเป็นเวลาตั้งแต่ปี 2556 แล้ว ในขณะที่ประเทศออสเตรเลียมีข้อถกเถียงเกี่ยวกับเรื่องการคุ้มครองพรมแดนมาเป็นเวลานานเกือบ 20 ปีกว่า ออสเตรเลียยังคงปฏิเสธไม่ยอมให้ประเทศนิวซีแลนด์รับผู้ลี้ภัยแทนพวกเขา 150 รายโดยอ้างว่าจะกลายเป็น "ประตูหลัง" มาสู่ออสเตรเลีย

ลอรี คูเปอร์ อาสาสมัครจากแคนาดาแคริงโซไซตีบอกว่าคอนตาร์รู้สึกแย่มากกับสถานการณ์ผู้ลี้ภัยเหล่านี้ ตัวคูเปอร์เองก็พูดกับลูกสาวว่าเธอตัดสินใจจะช่วยเหลือผู้ลี้ภัยหลังพบว่ามีหลายรายที่พยายามฆ่าตัวตายเพราะรัฐบาลของออสเตรเลียก็ยังคงกีดกันพวกเขา ทำให้คูเปอร์เสนอเรื่องการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยแก่ฮัสซันซึ่งฮัสซันก็เห็นด้วย

"คนเหล่านี้ถูกเรียกว่าเป็นคนที่ถูกลืมแห่งมานัสและไม่มีใครเลยที่จะหาหนทางช่วยเหลือพวกเขาได้ เรื่องนี้ทำให้ฉันนึกขึ้นได้ว่าพวกเรามีโครงการส่งเสริมรายบุคคลที่น่าทึ่งในแคนาดา" คูเปอร์กล่าว

นับตั้งแต่ราวคริสตทศวรรษที่ 1970 แคนาดาอนุญาตให้พลเมืองรายบุคคลพร้อมกับกลุ่มสนับสนุนคอยให้การส่งเสริมช่วยเหลือผู้ลี้ภัยได้โดยตรงโดยให้ปัจจัยพื้นฐานกับพวกเขาอย่างอาหาร เสื้อผ้า ที่อยู่อาศัย และการช่วยให้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของสังคมแคนาดาได้ 

องค์กรเบื้องหลังปฏิบัติการไม่ถูกลืมนั้นจะระดมทุนเพื่อช่วยเหลือผู้ลี้ภัยในช่วงปีแรกที่อาศัยอยู่ในแคนาดา มีการฝึกอบรมทีมอาสาสมัครตั้งรกรากใหม่เพื่อทำหน้าที่ให้ความช่วยเหลือที่จำเป็นกับผู้ลี้ภัยเมื่อพวกเขาเข้าประเทศ นอกจากนี้เสนอให้ผู้ลี้ภัยลงทะเบียนไว้กับพวกเขาถ้าหากต้องการตั้งรกรากใหม่ในแคนาดาโดยเน้นช่วยเหลือผู้ที่ขาดคุณสมบัติในการตั้งรกรากที่อื่นหรือคนที่ไม่มีทางเลือกก่อนเป็นอันดับแรก ผู้ลี้ภัยที่ได้รับการช่วยเหลือเหล่านี้มาจากหลายประเทศทั้งอิหร่าน พม่า อัฟกานิสถาน ศรีลังกา ปากีสถาน อิรัก และยังมีจำนวนหนึ่งที่เป็นคนไร้รัฐ

ฮัสซันบอกว่าที่เขามีปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยนี้ไม่ใช่เพราะต้องการกดดันหรือทำให้รัฐบาลออสเตรเลียต้องอับอาย แต่พวกเขาต้องการ "เสนอมิตรภาพ" และส่งเสริมให้ "ทำให้สิ่งที่ถูกต้อง" เขายังบอกอีกว่าเขารู้ดีจากประสบการณ์ส่วนตัวว่ามันเป็นอย่างไรที่ไปไหนไม่ได้และต้องการให้ผู้ลี้ภัยเหล่านี้มีความหวัง "ผมต้องการให้พวกเขา (ผู้ลี้ภัย) ยึดมั่น มีความหวัง และเชื่อในตัวพวกเรา ... พวกเขาไม่ได้ถูกลืม นั่นเป็นเรื่องที่จริงแท้แน่นอน" ผู้ลี้ภัยจากซีเรียกล่าว

ฮัสซันอพยพจากซีเรียมาตั้งแต่ปี 2549 โดยทำงานอยู่ที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ แต่ใบอนุญาตทำงานของเขาหมดอายุในปี 2554 ปีเดียวกับที่เกิดสงครามกลางเมืองซีเรีย เขาปฏิเสธที่จะเข้าร่วมกองทัพซีเรียและอาจทำให้เขาถูกจับกุมได้ถ้าหากกลับประเทศตัวเอง สถานทูตซีเรียก็ปฏิเสธจะต่ออายุหนังสือเดินทางให้เขา ทำให้ฮัสซันอาศัยอยู่อย่างไม่มีใบอนุญาตใน UAE จนกระทั่งในปี 2560 เขาถูกจับกุมและส่งตัวไปที่มาเลเซีย หนึ่งในประเทศที่เปิดรับชาวซีเรีย

ต่อมา ฮัสซันพยายามเดินทางจากมาเลเซียไปเอกวาดอร์ แต่พนักงานสายการบินเตอร์กิสแอร์ไลน์ปฏิเสธไม่ยอมให้เขาขึ้นเครื่องโดยไม่อธิบายเหตุผลใดๆ รวมถึงไม่คืนเงินค่าตั๋วโดยสารให้เขาด้วย หลังจากนั้นฮัสซันพยายามไปที่กัมพูชาแต่ก็ถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าประเทศและถูกส่งตัวกลับไปยังกัวลาลัมเปอร์ ซึ่งในตอนนั้นวีซานักท่องเที่ยวมาเลเซียของเขาหมดอายุแล้วทำให้เขาติดหล่มอยู่ที่เขตเชื่อมต่อระหว่างประเทศ (Transit) ในสนามบิน เพราะกลับเข้าประเทศไม่ได้เดินทางไปที่อื่นก็ไม่ได้

เขาต้องติดอยู่ในเขตทรานซิทโดยไม่มีร้านอาหารหรือร้านค้าใดๆ เลยเป็นเวลานานราว 8 เดือน ต้องใช้ชีวิต หลับนอนใต้บันใด อาบน้ำในห้องน้ำสำหรับคนพิการและรับประทานอาหารที่สายการบินบริจาคให้ จนกระทั่งต่อมาเขาถูกจับกุมจากทางการมาเลเซียและหลังจากนั้นก็ได้รับความช่วยเหลือจากองค์กรผู้ลี้ภัยแคนาดาและหนึ่งในคนที่ช่วยเหลือเขาไว้คือคูเปอร์

เรียบเรียงจาก

Hassan al-Kontar: Who is the man trapped in an airport helping now?, BBC, Aug. 12, 2019

'You can feel the love': Syrian who lived in airport on new life in Canada, The Guardian, Jan. 7, 2019

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก
https://en.wikipedia.org/wiki/Hassan_Al_Kontar

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net