Skip to main content
sharethis

เครือข่ายองค์กรประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่าภาคอีสาน โวยรัฐหยุดนโยบายทวงคืนผืนป่า หยุดแย่งที่ดินชุมชน ร้องยกเลิกหมายบังคับคดีกับชาวชุมชนบ่อแก้ว กรณีข้อพิพาทกรณีสวนป่าคอนสาร อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ ขณะที่พรรคอนาคตใหม่ขอ ครม.สั่งชะลอบังคับคดีการรื้อถอนชุมชน

14 ส.ค.2562 เครือข่ายองค์กรประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่าภาคอีสาน ออกแถลงการณ์ "หยุดนโยบายทวงคืนผืนป่า หยุดแย่งที่ดินชุมชน" โดยเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ตัดสินใจทางนโยบาย เพื่อยกเลิกหมายบังคับคดีกับชาวชุมชนบ่อแก้ว กรณีข้อพิพาทกรณีสวนป่าคอนสาร อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ เจ้าหน้าที่ได้เข้าปิดหมายบังคับคดีบุกรุก มีกำหนดจะเข้าทำการรื้อถอนตามหมายในวันที่ 27 ส.ค.นี้ รวมทั้งกรณีอื่นๆ ที่นโยบายการจัดการทรัพยากรป่าไม้ ที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนจนถูกดำเนินคดี

รวมทั้งเรียกร้องให้รัฐบายเร่งตัดสินใจแก้ไขปัญหาเร่งด่วนที่ได้รับผลกระทบในปัจจุบัน และทบทวนมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 26 พ.ย.2561 และแก้ไข พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 พ.ร.บ.ป่าชุมชน พ.ศ.2562 พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 รวมทั้งแก้ไขคู่มือปฏิบัติการแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ดินของราษฎรในเขตป่อนุรักษ์ของกรมอุททยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช โดยเปิดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนผู้มีส่วนได้เสียโดยตรง รวมทั้งให้รัฐบาลมีมาตรการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิในที่ดินทำกิน หาไม่แล้ว ความขัดแย้งจะเกิดขึ้น และลุกลามไปไม้รู้จบสิ้น  

รายละเอียดแถลงการณ์ : 

แถลงการณ์ หยุดนโยบายทวงคืนผืนป่า หยุดแย่งที่ดินชุมชน

นับตั้งแต่การรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา สภาพสังคมการเมืองไทยถูกปกคลุมไปด้วยอำนาจเผด็จการในทุกพื้นที่ ตั้งแต่หัวเมืองถึงชนบท การเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิเสรีภาพของประชาชนถูกปิดฉากลงในนาม  “ความสงบเรียบร้อย”   ขณะเดียวกัน การดำเนินนโยบายในลักษณะ “อำนาจนิยม”  ได้อุบัติขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

หนึ่งในหลายนโยบายที่รัฐเผด็จการได้ผลิตขึ้นมาคือ แผนแม่บทแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ การบุกรุกที่ดินของรัฐ และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่ยั่งยืน  หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า นโยบายทวงคืนผืนป่า โดยเกิดขึ้นภายหลังคำสั่ง คสช. ที่ 64 และ 66/ 2557 เรื่อง การป้องกัน และปราบปรามการทำลายทรัพยากรป่าไม้

แม้นโยบายข้างต้นจะมีเจตนาเพื่อมุ่งเน้น เอาผิดกับนายทุน ผู้มีฐานะทางเศรษฐกิจที่ถือครองที่ดินในเขตป่า แต่ในทางปฏิบัติพบว่า ผู้ประสบชะตากรรมส่วนใหญ่กลับกลายเป็นชาวไร่ ชาวนา เกษตรกรรายย่อยที่ถือครองทำประโยชน์ที่ดินมาก่อนการประกาศเขตที่ดินป่าไม้ และเกิดกรณีพิพาทกับรัฐ ในหลายกรณีมีกระบวนการแก้ไขปัญหาร่วมกันระหว่างรัฐกับชาวบ้าน กระทั่งนำไปสู่การหาข้อตกลงร่วมกันได้ แต่ข้อตกลงเหล่านี้ต้องถูกยกเลิกไปด้วย นโยบายทวงคืนผืนป่า

ปรากฏการณ์ขับไล่ประชาชนออกจากพื้นที่ทำกินที่พิพาทสิทธิ เริ่มต้นที่ชุมชนเก้าบาตร อ.โนนดินแดง จ.บุรีรัมย์ ในเดือนพฤษภาคม 2557 ต่อเนื่องมาถึงการปิดป้ายบังคับให้ออกจากพื้นที่ของชุมชนโคกยาว ชุมชนบ่อแก้ว อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ ชาวบ้านจัดระเบียบ อ.ภูพาน จ.สกลนคร และลุกลามไปทั่วประเทศ ทั้งการใช้มาตรการทางกฎหมาย คำสั่งทางปกครอง การข่มขู่ คุกคาม การตัดฟันทำลายผลอาสิน การบังคับให้เซ็นต์ยินยอมออกจากพื้นที่ การจำกัดการทำประโยชน์ในที่ดินของเกษตรกร เป็นต้น 

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นข้างต้น คือ ความทรงจำที่เป็นประวัติศาสตร์บาดแผลของประชาชนอีสาน ซึ่งถูกกระทำภายใต้โครงการ คจก. โดยเผด็จการ รสช. ในช่วงปี  2534 – 2535 ประชาชนอีสานจำนวนมากต้องถูกอพยพ ขับไล่ออกจากที่ทำกิน ที่อยู่อาศัย กระทั่งเกิดการเดินขบวนคัดค้านโครงการดังกล่าว และรัฐบาลได้ยกเลิกไปในวันที่ 3 กรกฎาคม 2535 แต่มรดกทางความคิดเรื่องการจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ต้องการผูกขาด และรวมศูนย์การจัดการไว้ที่หน่วยงานรัฐก็ยังคงดำรงอยู่ กระทั่งปัจจุบันและจะดำเนินต่อไป หากยังไม่ทบทวนนโยบายทวงคืนผืนป่า รวมทั้งกฎหมายที่จำกัดสิทธิในการเข้าถึงที่ดินและทรัพยากรของประชาชน  และเปิดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างกว้างขวาง 

กล่าวเฉพาะสถานการณ์ปัจจุบัน ชาวบ้านชุมชนบ่อแก้ว ซึ่งมีข้อพิพาทกรณีสวนป่าคอนสาร อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ เจ้าหน้าที่ได้เข้าปิดหมายบังคับคดี เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2562 ที่ผ่านมา และมีกำหนดจะเข้าทำการรื้อถอนตามหมายในวันที่ 27 สิงหาคม 2562 นี้ ในขณะที่กระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติตั้งแต่ปี พ.ศ.2548 แล้วว่า สวนป่าคอนสารได้ปลูกสร้างทับที่ทำกิน และที่อยู่อาศัยของราษฎรจริง ให้ยกเลิกสวนป่าคอนสาร แล้วนำที่ดินมาจัดสรรให้กับผู้เดือดร้อนทั้ง 277 ราย ดังนั้น หากรัฐบาลไม่มีการตัดสินใจทางนโยบาย เพื่อยกเลิกหมายบังคับคดี และรับรองแผนการจัดการที่ดินและทรัพยากรของชุมชน เทศกาลขับไล่ประชาชนออกจากพื้นที่จะเกิดขึ้นอีกอย่างแน่นอน ทั้งนี้ ในกรณีดังกล่าวจะเป็นตัวชี้วัดสำคัญถึงทิศทาง นโยบายการจัดการทรัพยากรป่าไม้ของรัฐบาลปัจจุบัน 

นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายเหตุการณ์ที่รัฐบาลต้องเร่งพิจารณาแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เช่น กรณีอุทยานแห่งชาติไทรทอง อ.หนองบัวระเหว จ.ชัยภูมิ ชาวบ้านถูกฟ้องดำเนินคดีทั้งสิ้น 14 ราย 19 คดี เพียงเพราะความล่าช้าในการตัดสินใจทางนโยบาย กรณีชาวบ้านคำป่าหลาย จ.มุกดาหาร อุทยานแห่งชาติภูเก้า ภูพานคำ จ.หนองบัวลำภู อุทยานแห่งชาติผาแต้ม จ.อุบลราชธานี ที่ถูกคุกคามสิทธิ์ โดยไม่พิจารณาข้อเท็จจริงการถือครองทำประโยชน์มาก่อนของประชาชน รวมทั้งปัญหาในทางกฎหมาย นโยบายการจัดการทรัพยากรป่าไม้ ที่จะส่งผลกระทบต่อประชาชน ได้แก่ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ ปี พ.ศ. 2562 ซึ่งจะมีผลใช้บังคับในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2562 นี้ และมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 ที่ต้องมีการทบทวน แก้ไขให้มีสาระสำคัญในการคุ้มครองสิทธิที่ดิน และทรัพยากรของประชาชน

ด้วยเหตุดังนี้ เครือข่ายองค์กรประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่าภาคอีสาน จึงเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งตัดสินใจแก้ไขปัญหาเร่งด่วนที่ได้รับผลกระทบในปัจจุบัน และทบทวนมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 26 พฤศจิกายน 2562 และแก้ไขพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562พระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ.2562 พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 รวมทั้งแก้ไขคู่มือปฏิบัติการแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ดินของราษฎรในเขตป่อนุรักษ์ของกรมอุททยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช  โดยเปิดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนผู้มีส่วนได้เสียโดยตรง รวมทั้งให้รัฐบาลมีมาตรการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิในที่ดินทำกิน หาไม่แล้ว ความขัดแย้งจะเกิดขึ้น และลุกลามไปไม้รู้จบสิ้น  

ด้วยความสมานฉันท์

เครือข่ายองค์กรประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่าภาคอีสาน

 

'อนาคตใหม่' ขอ ครม.สั่งชะลอบังคับคดีการรื้อถอนชุมชน

วันเดียวกัน ที่รัฐสภา พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ พร้อมด้วยอภิชาติ ศิริสุนทร และคำพอง เทพาคำ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ แถลงข่าวถึงกรณีพิพาทสวนป่าคอนสารทับที่ทำกินราษฎร ตำบลทุ่งพระ อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ ประชาชน ถูกขับไล่ออกจากที่ดินทำกิน ด้วยว่า เนื่องจากพรรคอนาคตใหม่ได้รับทราบปัญหาดังกล่าว หากพิจารณาจากข้อเท็จจริงกรณีปัญหาข้อพิพาทสวนป่าคอนสาร (ชุมชนบ่อแก้ว)  ต.ทุ่งพระ อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ เป็นเรื่องพิพาทที่ดำเนินมาเป็นระยะเวลานานกว่า 41 ปี นับตั้งแต่การเข้ามาปลูกสร้างสวนป่า  ขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (ออป.) ในปี พ.ศ. 2521 เป็นต้นมา พื้นที่ดังกล่าวเป็นที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยของชาวบ้าน ซึ่งจากการตรวจสอบ ของคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีสวนป่าคอนสาร พบว่า ชาวบ้านได้อาศัยทำกินตั้งแต่ปี พ.ศ.2496 เป็นต้นมา โดยมีหลักฐาน เช่น ใบเสียภาษีบำรุงท้องที่ และร่องรอยการทำประโยชน์  

ต่อมาปี พ.ศ.2516 รัฐได้ประกาศพื้นที่ดังกล่าวเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนาม ทั้งนี้ ได้มีการปิดประกาศเพื่อให้ราษฎรที่อาศัยทำประโยชน์ในพื้นที่ได้แจ้งการครอบครอง ซึ่งมีราษฎรหลายรายได้แจ้งการครองครองตามประกาศข้างต้น กระทั่งในปี พ.ศ.2521 องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ได้เข้าดำเนินการปลูกสร้างสวนป่าคอนสารจำนวนเนื้อที่ทั้งสิ้น 4,401 ไร่ ซึ่งได้ก่อให้เกิดผลกระทบในสิทธิที่ดิน  เพราะพื้นที่สวนป่าทับซ้อนที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยของราษฎร

ในปี พ.ศ.2547 มีการแต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงในระดับพื้นที่ โดยมีหัวหน้าสวนป่าคอนสารเป็นประธานคณะทำงาน    ผลการตรวจสอบ ที่ประชุมได้พิจารณาและมีมติ เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2548 ว่า  สวนป่าคอนสารได้ปลูกสร้างทับที่ทำกินของราษฎรจริง   ให้ยกเลิกสวนป่าคอนสาร แล้วนำที่ดินมาจัดสรรให้กับราษฎรผู้เดือดร้อน จำนวน 277 ราย และยังมีหน่วยงานอื่นได้เข้าร่วมตรวจสอบตามที่มีการร้องเรียนของราษฎรผู้เดือดร้อน   ซึ่งมีมติเช่นเดียวกันกับคณะทำงานข้างต้น อาทิ มติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2550   มติประชาคมตำบลทุ่งพระ เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2552 เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้นว่าผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงจะเป็นที่ยุติว่า ราษฎรได้ถือครองทำประโยชน์มาก่อนสวนป่าคอนสาร แต่ยังไม่มีการพิจารณาตัดสินใจทางนโยบาย และไม่มีการดำเนินการใดๆ ในทางปฏิบัติ   ทำให้ชาวบ้านได้เข้าพื้นที่เมื่อวันที่ 17๑๗ กรกฎาคม ๒๕๕๒  และนำมาสู่การฟ้องร้องดำเนินคดีขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2552 ซึ่งปัจจุบันอยู่ในชั้นการบังคับคดี

นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายเหตุการณ์ที่รัฐบาลต้องเร่งพิจารณาแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เช่น กรณีอุทยานแห่งชาติไทรทอง อ.หนองบัวระเหว จ.ชัยภูมิ ชาวบ้านถูกฟ้องดำเนินคดีทั้งสิ้น 14 ราย 19 คดี เพียงเพราะความล่าช้าในการตัดสินใจทางนโยบาย   กรณีชาวบ้านคำป่าหลาย จ.มุกดาหาร   อุทยานแห่งชาติภูเก้า ภูพานคำ จ.หนองบัวลำภู   อุทยานแห่งชาติผาแต้ม จ.อุบลราชธานี ที่ถูกคุกคามสิทธิ์ โดยไม่พิจารณาข้อเท็จจริงการถือครองทำประโยชน์มาก่อนของประชาชน

พรรคอนาคตใหม่ เห็นว่า การแก้ไขปัญหา โดยใช้มาตรการทางกฎหมายเพียงอย่างเดียว โดยไม่ใช้มาตรการทางนโยบายควบคู่   จะทำให้เกิดปัญหาไม่มีที่สิ้นสุด มีการละเมิดสิทธิทำกินประชาชน ดังนั้นจึงมีข้อเสนอในการแก้ไขปัญหาดังนี้ 1. ในกรณีชุมชนบ่อแก้วรัฐบาลไม่ควรใช้มาตรการทางกฎหมายกับชาวบ้านควรจะใช้มาตรการทางนโยบายในการแก้ไขปัญหาเป็นหลัก  2. ให้คณะรัฐมนตรีสั่งการเพื่อชะลอบังคับคดีการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและหาแนวทางการแก้ไขปัญหาให้กับชุมชน  3. ให้คณะรัฐมนตรีเร่งพิจารณาเห็นชอบแผนการจัดการที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติที่ยั่งยืนโดยชุมชน

หลังจากนี้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคอนาคตใหม่อีสาน จะติดตามการแก้ปัญหากรณีดังกล่าวอย่างใกล้ชิด  ตามกระบวนการของรัฐสภา   และกระบวนการนอกสภา โดยในวันที่  17  สิงหาคม 2562 ปิยบุตร  แสงกนกกุล พิธา ลิ้มเจริญรัตน์พร้อมด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคอนาคตใหม่อีสาน จะได้ลงพื้นที่ชุมชนบ่อแก้ว เพื่อรับฟังและติดตามปัญหาอีกครั้ง

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net