Skip to main content
sharethis

ปิยบุตรสอนวิชาศาลรัฐธรรมนูญกลางสภาผู้แทนฯ ในช่วงการอภิปราย รายงานประจำปี 2560 ของศาล รธน. ชี้สาเหตุที่ตัวเลขคำร้องในศาลลดลงช่วงปี 2557- 2560 เป็นเพราะการรัฐประหารที่สร้างสภาพบีบบังคับให้ศาลไม่สามารถพิทักษ์รัฐธรรมนูญได้ พร้อมระบุปัญหาที่มาของตุลาการขาดความเชื่อโยงกับประชาชน ขณะที่หนทางเดียวที่เหลืออยู่ที่จะทำให้ศาลยึดโยงกับประชาชนได้คือ การวิจารณ์คำวินิจฉัย ก็ถูกทำให้กลายเป็นพื้นที่อันอันคลุมเครือว่าสามารถทำได้จริงหรือไม่ ยืนยันเข้าใจดีว่า 'เมื่อเสียงปืนดัง กฎหมายต้องเงียบลง' แต่เวลานี้ไม่มีปืนแล้ว องค์กรทางกฎหมายต้องกลับมาพัฒนาประชาธิปไตย ไม่ใช่ขัดขวางสกัดกั้น

คลิปการอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎรของปิยบุตร แสงกนกกุล

14 ส.ค. 2562 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ 15 ในวาระของการพิจาณารายงานประจำปี 2560 ของศาลรัฐธรรมนูญ ปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคคอนาคตใหม่ ได้อภิปรายรายงานของศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อเป็นการยืนยันการทำงานของสภาผู้แทนราษฎรในการตรวจสอบถ่วงดุลองค์กรอื่นๆ ตามหลักการแบ่งแยกอำนาจ แม้ตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้สภาผู้แทนฯ จะมีอำนาจในการตรวจสอบถ่วงดุลศาลรัฐธรรมนูญน้อยลงไปกว่าที่เคยมี แต่ก็ถือว่าเป็นโอกาสอันน้อยนิด ที่จะแสดงบทบาทของการเป็นองค์กรเดียวที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนในการตรวจสอบถ่วงดุลเท่าที่จะทำได้ โดยหวังว่าจะเป็นประโยชน์ต่อสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ และศาลรัฐธรรมนูญเอง

ศาลรัฐธรรมนูญไทยขาลอยจากประชาชน

ปิยบุตร เริ่มต้นว่า ระบบการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมาย มีอยู่ 2 ระบบใหญ่ คือระบบกระจายอำนาจให้ศาลทุกศาลช่วยกันตรวจสอบ ซึ่งสหรัฐอเมริกาเป็นต้นแบบ กับระบบรวมอำนาจให้ศาลรัฐธรรมนูญแต่เพียงองค์กรเดียวทำหน้าที่ตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมาย ซึ่งเยอรมนี และออสเตรเลียเป็นต้นแบบ สำหรับประเทศไทยนั้นเลือกใช้ระบบรวมอำนาจมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2540

เขา ระบุด้วยว่า ตนเองเรียนจบกฎหมาย และมีอาชีพสอนวิชากฎหมายที่คณะนิติศาสตร์ เช่น วิชากฎหมายรัฐธรรมนูญ วิชาศาลรัฐธรรมนูญและวิธีพิจารณาคดีทางรัฐธรรมนูญ ด้วยอาชีพในอดีตก่อนที่จะเขามาเป็น ส.ส. จึงมีความจำเป็นที่จะต้องวิจารณ์ศาลรัฐธรรมนูญ และคำวินิฉัยศาลรัฐธรรมนูญอยู่บ่อยครั้ง และที่ผ่านมาไม่มีปัญหาอะไรเกิดขึ้น กระทั่งได้ลาออกจากการเป็นข้าราชการประจำ และมาสมัคร ส.ส. กลับถูกนายทหารคนหนึ่งไปร้องทุกข์กล่าวโทษ ว่าตนมีความผิดฐานดูหมิ่นศาล เพราะไปวิจารณ์คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ (กรณียุบพรรคไทยรักษาชาติ) เขายืนยันว่า การวิจารณ์ศาลรัฐธรรมนูญที่ผ่านมานั้นเป็นไปด้วยความหวังดีว่า ต้องการให้ศาลรัฐธรรมนูญพิทักษ์หลักการประชาธิปไตย หลักนิติรัฐ นิติธรรม ตามที่รัฐธรรมนูญมีเป้าประสงค์

“ตอนเป็นอาจารย์วิจารณ์ศาลรัฐธรรมนูญไม่เป็นไรเลยครับ พอมาเป็นนักการเมืองโดนซะแล้วหนึ่งข้อกล่าวหา” 

ปิยบุตร กล่าวต่อว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีบทบาทสำคัญ ในการรักษาความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญเอาไว้ คือรักษาหลักการประชาธิปไตย ตรวจสอบเสียงข้างมาก เป็นกลไกสำคัญในการคุ้มครองเสียงข้างน้อย คุ้มครองสิทธิของบุคคลต่างๆ เขายกตัวอย่างว่า หากสภาผู้แทนราษฎรลงมติให้ความเห็นชอบกฎหมายหนึ่งฉบับ เสียงข้างน้อยก็มีสิทธิร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อขอให้วินิจฉัยว่า กฎหมายนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ฉะนั้นเป็นเรื่องธรรมชาติที่ศาลรัฐธรรมนูญจะต้องเผชิญหน้ากับองค์กรที่มาจากการเลือกตั้งอยู่เสมอ ซึ่งก็คือ สภาผู้แทนราษฎร

เขากล่าวต่อว่า สภาผู้แทนราษฎรมีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย เพราะมีที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน แต่เมื่อศาลรัฐธรรมนูญต้องการเข้ามาตรวจสอบสภาฯ ก็จำเป็นต้องแสวงหาความชอบธรรมทางประชาธิปไตยที่พอเทียบเท่ากับสภาผู้แทนราษฎรเช่นกัน ดังนั้นองค์กรศาลรัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ หรือในโลกตะวันตก จึงมีการออกแบบที่มาของศาลรัฐธรรมนูญให้เชื่อมโยงกับประชาชน เช่น เยอรมนี มีกำหนดให้ที่มาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มาจากสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา เป็นคนเลือกในสัดส่วนครึ่งต่อครึ่ง โดยการเลือกนั้นเป็นการเลือกจากรายชื่อที่กระทรวงการยุติธรรม รัฐบาลมลรัฐ และกลุ่มการเมืองในสภาจัดบัญชีไว้ ให้สภาทั้งสองเลือกบุคคลมาเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ โดยใช้เสียง 2 ใน 3

“แต่สำหรับประเทศไทยเรานั้น ที่มาของศาลรัฐธรรมนูญในปัจจุบันไม่ได้เชื่อมโยงไปหาสภาผู้แทนราษฎรเลย พวกเราแทบไม่มีโอกาสได้พูด พบปะ หรือเจอกับแคนดิเดตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเลย วิธีการได้มา ก็มาจากการที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาคัดมา 3 คน ที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุดคัดมา 2 คน เสร็จแล้วก็ให้ ส.ว.พิจารณาให้ความเห็นชอบ ในส่วนผู้เชี่ยวชาญด้านรัฐศาสตร์ 1 ท่าน นิติศาสตร์ 1 ท่าน และอดีตข้าราชการประจำ 2 ท่าน ก็มีมีคณะกรรมการสรรหาและเลือกมาส่งให้ ส.ว. รับรอง ซึ่งในคณะกรรมการสรรหานั้นพวกเรามีเอี่ยวอยู่นิดเดียวเท่านั้นคือ เป็นกรรมการโดยตำแหน่งประธานสภาผู้แทนฯ และผู้นำฝ่ายค้าน แต่เราไม่มีโอกาสเลือกตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเลย”

รายงานประจำปี 2560 ของศาลรัฐธรรมนูญ 

จำนวนคำร้องในศาลรัฐธรรมนูญที่ลดลงเป็นผลมาจากการรัฐประหารและการนิรโทษตัวเองในรัฐธรรมนูญ

เขากล่าว อภิปรายต่อถึง รายงานประจำปี 2560 ของศาลรัฐธรรมนูญว่า มีรูปเล่มสวยงาม กระดาษพิมพ์สีอาร์ตมันสวยงามมาก เมื่ออ่านแล้วรู้สึกชื่นชอบมาก เพราะทำออกกมาได้ดีมีการสรุปตัวเลขจำนวนคดี มีสรุปย่อคำวินิฉัยที่สำคัญ และรายงานการวิจัยที่สำคัญ ทั้งยังอธิบายเรื่องงบการเงินด้วย ซึ่งถือว่ารายงานชิ้นนี้ทำออกมาได้ดีมาก เมื่อเปรียบเทียบกับหน่วยงานอื่นๆ ที่เคยเอารายงานมาส่งสภาผู้แทนราษฎร

ปิยบุตร กล่าวต่อว่า ประเด็นที่ตนจะพูดถึงรายงานนี้มีอยู่ 2 เรื่องคือสถิติคดีในแต่ละปี ซึ่งรวบรวมมาได้ดี มีสถิติย้อนหลังระบุจำนวนคดีย้อนหลังตั้งแต่ปี 2551- 2560 แสดงให้เห็นว่าจำนวนคำร้องในแต่ละปีมีจำนวนเท่าไหร่ จำนวนคดีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิฉัยแล้วเสร็จในแต่ละปีมีเท่าไหร่ จำนวนคดีคงค้างที่จะต้องยกยอดไปปีถัดไปมีเท่าไหร่ แต่เมื่อลองดูในสถิติจำนวนคดีตั้งแต่ปี 2551 – 2556 จะพบว่าจะมีค่าเฉลี่ยจำนวนคำร้องอยู่ที่ 120-130 คำร้อง และมีการวินิจฉัยแล้วเสร็จพิจารณาคดีแล้วเสร็จประมาณร้อย 60-80 แต่ในปี 2557 ยอดคำร้องกลับลดลงเหลือ 96 คำร้อง แต่ศาลสามารถวินิจฉัยคดีได้ครบทุกคำร้อง ต่อมาในปี 2558 – 2559 คำร้องมีจำนวนลดลงไปอีก ในปี 2558 มีคำร้องเพียง 3 คำร้อง และปีถัดมามีคำร้องเพียง 8 คำร้อง และจำนวนคำร้องในปี 2560 มีเพิ่มขึ้นมา 51 คำร้อง

“ทำไมจำนวนคำร้องถึงลดลง ตรงนี้มีนัยสำคัญคือ ในปี 2557 วันที่ 22 พ.ค. มีการรัฐประหารยึดอำนาจโดยคณะรัฐประหารที่ชื่อว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ เวลาเกิดการรัฐประหารเกิดขึ้น สิ่งแรกที่คณะรัฐประหารต้องทำคือ ประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญที่ใช้อยู่ในเวลานั้น เพราะหากไม่ยกเลิก เขากลายเป็นกบฏแน่นอน เมื่อยกเลิกรัฐธรรมนูญแล้ว ก็จะปกครองประเทศโดยไม่มีรัฐธรรมนูญ แล้วใช้อำนาจตั้งตัวเองเป็นรัฏฐาธิปัตย์ออกประกาศคำสั่งใช้เป็นกฎหมายทั้งหมด ทีนี้ศาลรัฐธรรมมนูญเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญ เมื่อมีหน้าที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญ เวลาเกิดการรัฐประหารขึ้นความคาดหวังก็อยู่ที่ท่าน เพราะถ้ามีนายทหารกลุ่มมาก่อการยึดอำนาจแล้ว เรายังเหลือองค์กรนี้อยู่ที่จะทำหน้าที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญ ซึ่งก็ควรแสดงบทบาทสู้ยันกับการรัฐประหาร

แต่ผู้ทำรัฐประหารก็ฉลาดพอ เพราะเขารู้อยู่แก่ใจว่า ถ้ามีศาลรัฐธรรมนูญอยู่ต่อไป แล้วถ้าศาลรัฐธรรมนูญมาขวางการรัฐประหาร บอกว่าการรัฐประหารนั้นเป็นการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เดี๋ยวการรัฐประหารจะไม่สำเร็จ จะยุ่งกันใหญ่ ดังนั้นนอกจากฉีกรัฐธรรมนูญทิ้ง สิ่งที่เขาต้องทำด้วยคือ ออกประกาศยกเลิกศาลรัฐธรรมนูญ หรือยุบศาลรัฐธรรมนูญทิ้ง ประเทศไทยเคยทำแบบนี้และครั้งหนึ่งในการรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549  คปค. ฉีกรัฐธรรมนูญปี 2540 ทิ้งพร้อมกับ ออกประกาศมาหนึ่งฉบับสั่งยุบศาลรัฐธรรมนูญในเวลานั้นทิ้งทันที พร้อมตั้งองค์กรใหม่ขึ้นมาชื่อ คณะตุลาการรัฐธรรมนูญมาเป็นการชั่วคราว

แต่ครั้งนี้แตกต่างไปจากเดิม รัฐประหาร 57 เป็นรัฐประหารที่แปลกประหลาดทั้งในไทย และสากล คือก่อรัฐประหาร ฉีกรัฐธรรมนูญ แต่ปล่อยให้ศาลรัฐธรรมนูญอยู่ต่อ ผมก็มานั่งคิดว่า คณะรัฐประหารไม่กังวลใจหรือว่า ถ้าศาลรัฐธรรมนูญอยู่ต่อจะมีการตรวจสอบว่า คณะรัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญทิ้ง นี่เป็นเรื่องน่าสนใจ แล้วลองมาดูรัฐธรรมนูญ(ชั่วคราว)ปี 2557 และประกาศของ คสช. รับรองให้ศาลรัฐธรรมนูญอยู่ต่อมาเรื่อยๆ ทีนี้จึงเกิดสภาวะลักลั่นว่า คสช. ซึ่งองค์กรรัฐประหารยึดอำนาจ กลับไปรับรองให้ศาลรัฐธรรมนูญอยู่ต่อ แล้วแบบนี้ศาลรัฐธรรมนูญจะเข้าไปตรวจสอบ คสช. องค์กรที่มาจากยึดอำนาจได้หรือไม่ หรือศาลรัฐธรรมนูญจะสามารถบอกได้ไหมว่า คสช. กระทำการอันเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข”

ปิยบุตร กล่าวต่อว่า คสช. ได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 สิ่งที่สำคัญที่สุดอยู่ที่มาตรา 48 ที่ได้เขียนนิรโทษกรรมตนเองเอาไว้ สรุปความได้ว่า อะไรที่ตนเองทำในวันยึดอำนาจนั้นถ้าผิดกฎหมายให้ถือว่า พ้นผิด และพ้นจากความรับผิดโดยสิ้นเชิง จากนั้นมาตรา 47 ก็ระบุอีกว่า บรรดาประกาศคำสั่งของ คสช. ทั้งหมดให้ถือว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย เมื่อรัฐธรรมนูญมีบทบัญญัติแบบนี้เท่ากับว่า การรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 ไม่มีวันผิด และประกาศคำสั่งที่ออกมาทั้งหมดไม่มีวันขัดรัฐธรรมนูญ เมื่อสภาพการทางรัฐธรรมนูญเป็นแบบนี้จึงไม่ต้องสงสัยว่า เหตุใดจำนวนคำร้องที่ร้องมายังศาลรัฐธรรมนูญจึงลดน้อยลงไป จนกระทั่งมีรัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้จำนวนคำร้องจึงเพิ่มขึ้นมาเป็น 51 คำร้อง

เขากล่าวต่อว่า จำนวนสถิติในศาลรัฐธรรมนูญที่อยู่ในรายงานนี้มีความสัมพันธ์กับการยึดอำนาจในปี 2557 และสัมพันธ์กับการปกครองประเทศโดย คสช. ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา เพราะประชาชนทราบดีว่าจะเสนอคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญทำไม เพราะรัฐธรรมนูญ 2557 รับรองเอาไว้หมดแล้วว่า คสช. ถูกเสมอ

“ด้วยการที่รัฐธรรมนูญไทยที่กำหนดแบบนี้ และระบบกฎหมายไทยที่ยึดถือกันเป็นจารีต ปฎิบัติต่อเนื่องกันมาว่า เมื่อคณะรัฐประหารยึดอำนาจได้สำเร็จจะกลายเป็นรัฏฐาธิปัตย์ ถ้ายึดไม่สำเร็จกลายเป็นกบฏ เราถือกันมาแบบนี้ตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกา ด้วยสภาพการแบบนี้จึงบีบบังคับโดยปริยายว่า ให้ศาลรัฐธรรมนูญนั้นไม่มีโอกาสพิทักษ์รัฐธรรมนูญในช่วงเวลาที่มีการยึดอำนาจ ด้วยสภาพแบบนี้จึงบีบบังคับให้ศาลรัฐธรรมนูญกลายเป็นศาลที่ไม่ได้พิทักษ์รัฐธรรมนูญ ส่วนจะพิทักษ์การรัฐประหารหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง”

เขา กล่าวต่อว่า ในสภาพที่บีบบังคับนั้นต่อให้ศาลรัฐธรรมนูญต้องการจะตรวจสอบคณะรัฐประหารอย่างไรก็ไม่สามารถทำได้ เพราะติดล็อคในรัฐธรรมนูญ 2557 หรือศาลอาจจะเห็นว่า คำสั่งประกาศต่างๆ ของคสช. มีความขัดแย้งอย่างไรกับปฏิญญาสากล หรือขัดแย้งกับมาตรา 4 ในรัฐธรรมนูญ 2557 ที่รับรองเรื่องสิทธิ และเสรีภาพของประชาชน อย่างไรก็ไม่สามารถตรวจสอบได้ ฉะนั้นปัญหาที่สำคัญที่สุด ที่ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญทำงานไม่ได้คือ มาตราสุดท้ายในรัฐธรรมนูญที่ว่าด้วยการนิรโทษกรรมตนเองของ คสช.

“ผมเข้าใจดีครับท่านประธาน เวลารัฐประหารเสียงปืนมันดังขึ้น กฎหมายก็เงียบลง นี่เป็นสุภาษิตโรมัน แต่วันนี้เราอยู่ในปี 2562 เรามีรัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้แล้ว เรามีการเลือกตั้งเกิดขึ้นแล้ว และมีรัฐบาลชุดใหม่เกิดขึ้นเรียบร้อยหากว่าการถวายสัตย์ฯ สมบูรณ์จริง ฉะนั้นวันนี้เสียงปืนสงบลงแล้ว จะถึงเวลาที่กฎหมายจะดังขึ้นเหมือนเดิมได้หรือไม่”

ปิยบุตร กล่าวต่อว่า เวลานี้ยังมีประกาศคำสั่ง คสช. อีกจำนวนมากที่ยังมีสถานะเทียบเท่าพระราชบัญญัติ และมีเนื้อหาหลายอย่างที่ขัดกับรัฐธรรมนูญ 2560 เรื่องเหล่านี้อาจจะมีโอกาสส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิฉัยประกาศคำสั่ง คสช. ขัดรัฐธรรมนูญ แต่คนร่างรัฐธรรมนูญ 2560 มองการณ์ไกล เพราะได้เขียนรัฐธรรมนูญในมาตราสุดท้าย(มาตรา 279) โดยบอกว่า อะไรที่เคยบอกว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญ 2557 ให้ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ 2560 ต่อไป นั่นหมายความว่า ประกาศคำสั่งต่างๆ ของ คสช. ก็อาจถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิฉัยว่า คำสั่งประกาศเหล่านี้ถูกรับรองโดยรัฐธรรมนูญ 2560 แล้ว

“ทางพวกผม เราจะหาทางช่วยศาลรัฐธรรมนูญให้มีโอกาสตรวจสอบ ประกาศ คำสั่ง คสช. เหล่านี้พวกเราจะพยายามผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อยกเลิกมาตรา 279 ให้ได้ อย่างน้อยที่สุดพวกเราจะได้มีโอกาสตรวจสอบประกาศคำสั่ง คสช. เสียทีว่ามีโอกาสขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ 2560 หรือไม่ ศาลรัฐธรรมนูญจะได้มีโอกาสพิจารณาคำร้องมาขึ้น และศาลรัฐธรรมนูญจะได้กลายเป็นแท้จริง ที่ทำหน้าที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญ”

งานวิจัยเรื่องการละเมิดอำนาจศาล นำไปสู่การออกกฎหมายสร้างกรอบให้ประชาชนไม่กล้าวิจารณ์ศาลรัฐธรรมนูญ?

เขากล่าวต่อไปในประเด็นที่ 2 คือเรื่องผลการดำเนินการวิจัยของศาลรัฐธรรมนูญโดยในปี 2560 สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญมีโครงการวิจัย 2 โครงการใหญ่ เรื่องที่น่าสนใจคือ การละเมิดอำนาจศาลศึกษาเปรียบเทียบศาลรัฐธรรมนูญไทยกับต่างประเทศ โดยในรายงานได้สรุปไว้ได้อย่างเข้าใจพอสังเขปในหน้า 51- 53 แต่จากรายงานการวิจัยยนี้ ศาลรัฐธรรมนูญได้ใช้งบประมาณเพื่อให้นักวิชาการมาศึกษาวิจัยเรื่องนี้เพราะว่า มีความคิดว่าสุดท้ายแล้วศาลรัฐธรรมมนูญควรมีกฎหมายเรื่องการรละเมิดอำนาจศาลสำหรับศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ และในท้ายที่สุดก็มีบทบัญญัติดังกล่าวใน พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 ในมาตรา 38 วรรคสาม

เขากล่าว ต่อว่า บทบัญญัติดังกล่าวหมายความว่า การวิจารณ์คำวินิฉัยศาลรัฐธรรมนูญนั้นสามารถทำได้หากเป็นไปตามเงื่อนไข 4 ข้อที่ระบุไว้คือ 1.ทำโดยสุจริต 2.ไม่ได้ใช้ถ้อยคําหรือมีความหมายหยาบคาย 3.ไม่เสียดสี 4.ไม่อาฆาตมาดร้าย แต่อย่างไรก็ตามการเขียนกฎหมายแบบนี้นัยหนึ่งก็คือการบอกว่าจะมีอะไรที่เป็นการละเมิดอำนาจศาลบ้าง

ปิยบุตร กล่าวต่อไปว่า คำว่าละเมิดอำนาจศาลนั้น ในทางหลักการคือ เวลาเกิดปัญหาขึ้นในขณะที่ศาลกำลังนั่งบัลลังก์พิจารณาคดี และมีการขัดขวางการพิจารณา มีการปิดล้อมศาล มีการก่อความไม่สงบ หรือขัดคำสั่งศาล อย่างนี้จึงเรียกว่าเป็นการละเมิดอำนาจศาล และไม่เกี่ยวอะไรกับการวิพากษ์วิจารณ์ ดังนั้นการวิจารณ์คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ต่อให้ทำโดยไม่สุจริต หยาบคาย เสียดสี ก็ไม่ถือว่าเป็นการละเมิดอำนาจศาล แต่หากมีเรื่องของการดูหมิ่น หมิ่นประมาทตุลาการท่านใด ท่านก็สามารถดำเนินคดีส่วนตัวได้ แต่เมื่อมีการเขียนมาตรา 38 วรรคในลักษณะดังกล่าวก็คือ การบอกว่า การวิจารณ์อาจจะเป็นการละเมิดอำนาจศาลได้ และบุคคลทั้งหลายก็เริ่มไม่แน่ใจว่าองค์กรของรัฐจะใช้กฎหมายกับตัวเองอย่างไร แล้วก็จะนำไปสู่การเซ็นเซอร์ตัวเอง เพราะกลัวว่าการใช้เสรีภาพของตัวเป็นเรื่องที่ผิด มาตรานี้มันสร้างระบบที่ทำให้ประชาชนเซ็นเซอร์ตัวเองขึ้นมา

“บังเอิญพรรคผมมันโดนหลายคำร้องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ สมมตินะครับนี่ไม่ได้แช่งตัวเอง เกิดวันดีคืนดีศาลรัฐธรรมนูญท่านวินิจฉัยยุบพรรคผมเนี่ย แล้วผมเนี่ยจะวิจารณ์ได้ไหมครับ ถ้าผมวิจารณ์คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ยุบพรรคอนาคตใหม่ผมสุจริตไหม หรือพี่น้องประชาชนทั่วที่ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยยุบพรรคเขาวิจารณ์ได้ไหม....ศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรที่วินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และผูกผันทุกองค์กรเป็นที่สุด ดังนั้นวิธีการตรวจสอบมันเหลืออยู่ทางเดียวคือการวิพากษ์วิจารณ์ และการวิพากษ์วิจารณ์ไม่มีทางเปลี่ยนแปลงคำวินิจฉัยของท่านได้ แต่จะช่วยตรวจสอบการทำงานของท่านให้ได้มาตราฐานมากขึ้น”

เขาทิ้งท้ายว่า ต้องการให้สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ และศาลรัฐธรรมนูญ พยายามอดทนอดกลั้นต่อการวิพากษ์ วิจารณ์ คำวินิจฉัยต่างๆ เพราะถึงที่สุดแล้วไม่มีใครสามารถเปลี่ยนแปลงคำวินิฉัยของศาลรัฐธรรมนูญได้ ประชาชน นักการเมือง ไม่มีอาวุธ ยึดอำนาจ ก่อการรัฐประหาร ฉีกรัฐธรรมนูญทิ้ง หรือฉีกคำวินิจฉัยที่ออกมา ประชาชนมีเพียงความคิด สมอง ปาก และปากกา ที่จะวิจารณ์กัน และการวิจารณ์ไม่ใช่การทำลายศาลรัฐธรรมนูญแต่เป็นเกราะคุ้มกันให้ศาลรัฐธรรมนูญเอง เนื่องจากเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้ศาลรัฐธรรมนูญมีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย และการใช้อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญต้องเป็นไปเพื่อการพัฒนาประชาธิปไตย ไม่ใช่ขัดขวางหรือสกัดกั้นประชาธิปไตย

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ปิยบุตรได้อภิปรายเสร็จสิ้นแล้ว สาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายต่อ โดยในช่วงแรกเขาได้ท้วงติงประธานสภาฯ ว่า มีการปล่อยให้ผู้อภิปรายพูดประเด็นที่นอกเหนือไปจากรายงานที่ได้มีการพิจารณาอยู่ ซึ่งมีสมาชิกหลายคนเห็นว่าไม่ได้มีเนื้อหาที่ตรงกับเนื้อหาในรายงานประจำปี 2560 ของศาลรัฐธรรมนูญ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net