10 แกนนำคนอยากเลือกตั้งรอบชุมนุมหน้า UN สู้คดี ศาลอาญาให้ปล่อยตัวไม่ต้องวางหลักทรัพย์

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานความคืบหน้าคดีคนอยากเลือกตั้ง 10 แกนนำรอบชุมนุมหน้า UN สู้คดี ศาลอาญาให้ปล่อยตัวไม่ต้องวางหลักทรัพย์ ขณะที่ฎีกายกคำร้อง รศ.ดร.ยุกติ ขอดูเอกสารประกอบคำร้องขอออกหมายจับตนเอง คดีร่วมชุมนุมหน้ากองบัญชาการกองทัพบก

แฟ้มภาพ Banrasdr Photo

14 ส.ค.2562 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า วันนี้ ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก มีนัดสอบคำให้การจำเลยในคดีชุมนุมคนอยากเลือกตั้งหน้า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และองค์การสหประชาชาติ หรือ UN เมื่อวันที่ 21-22 พ.ค.61 ในส่วนของกลุ่มแกนนำ 10 คน ที่อัยการได้ยื่นฟ้องต่อศาลไปเมื่อวันที่ 22 พ.ค. ที่ผ่านมา แต่เหตุที่ศาลนัดในวันนี้เนื่องจากในนัดที่แล้วทางฝ่ายจำเลยได้ขอเลื่อนนัดมาจากเมื่อวันที่ 24 มิ.ย.2562 เพราะมีจำเลย 5 คนที่ไม่ได้รับหมายนัดทำให้ไม่สามารถเตรียมเงินประกันตัวได้ทัน ศาลจึงให้เลื่อนมาสอบคำให้การในวันนี้

ศาลได้สอบถามคำให้การของจำเลยทั้ง 10 คน ได้แก่ ศรีไพร นนทรี, วันเฉลิม กุนเสน, ธนวัฒน์ พรหมจักร, ประจิณ ฐานังกรณ์, ประสิทธิ์ ครุธาโรจน์, สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์, เอกชัย หงส์กังวาน, อานนท์ นำภา, ณัฏฐา มหัทธนา และโชคชัย ไพบูลย์รัชตะ ทุกคนให้การปฏิเสธ

เมื่อเวลาประมาณ 16.00 น. ศาลมีคำสั่งอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวอีก 4 คน สิรวิชญ์, เอกชัย, อานนท์ และโชคชัย โดยไม่ต้องวางหลักทรัพย์ประกันตัว แต่กำหนดเงื่อนไขว่า หากผิดสัญญาประกัน ไม่มาศาลตามกำหนดนัดให้ปรับ 1 แสนบาทเช่นเดียวกับคนอื่นๆ ที่ศาลอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวไปก่อนหน้านี้ 

จากนั้นศาลได้กำหนดวันนัดตรวจพยานหลักฐานเป็นวันที่ 30 ก.ย.2562

คดีนี้มีเหตุมาจากการชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งเมื่อวันที่ 21-22 พ.ค.61 ที่หน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และหน้าองค์การสหประชาชาติ ซึ่งผู้ชุมนุมพยายามเดินขบวนจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไปที่ทำเนียบรัฐบาลเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลจัดการเลือกตั้งตามคำมั่นสัญญาที่เคยให้ไว้ โดยการชุมนุมทั้งสองวันถูกเจ้าหน้าที่สกัดกั้นโดยตลอด และจบลงที่การจับกุมแกนนำและผู้ชุมนุม 10 ราย ที่บริเวณหน้าองค์การสหประชาชาติ และแกนนำที่หน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จำนวน 5 ราย เข้ามอบตัว นอกจากนี้ ภายหลังเหตุการณ์ ตำรวจยังออกหมายเรียกผู้ชุมนุมอีก 47 ราย โดย 6 ราย ถูกแจ้งข้อหาเช่นเดียวกับกลุ่มแกนนำ 

จากนั้นอัยการได้มีคำสั่งฟ้องจำเลย 10 คน ในฐานะผู้จัดการชุมนุม(จากที่ตำรวจมีความเห็นสั่งฟ้องทั้งหมด 21 คน) ด้วยฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ยุยงปลุกปั่นเพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน, มาตรา 215 เป็นหัวหน้า หรือผู้สั่งการในการมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป กระทําการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง และมาตรา 216 ไม่เลิกมั่วสุม เมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้เลิก

นอกจากนั้นยังมีข้อหาอื่นอีก ได้แก่ ข้อหาตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 มาตรา 15,16 ไม่จัดการชุมนุมตามหน้าที่ของผู้ชุมนุม, มาตรา 18 ไม่เลิกชุมนุมตามระยะเวลาที่กำหนด, มาตรา 19  ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขและคำสั่งของเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะ โดยมีบทกำหนดโทษไว้ตามมาตรา 27, 29, 30, 31, ข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.บ.การจราจรทางบกฯ มาตรา 108 และ 148 เดินขบวนในลักษณะกีดขวางการจราจร และข้อหาตาม พ.ร.บ. ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ มาตรา 4 และ 9 จากการใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยนอกจากโจทก์จะขอให้ศาลลงโทษจำเลยตามกฎหมายแล้ว ยังขอให้ศาลสั่งให้จำเลยร่วมกันชดใช้ราคากระแสไฟฟ้าจำนวน 140.24 บาท แก่การไฟฟ้านครหลวงด้วย

ฎีกายกคำร้อง รศ.ดร.ยุกติ ขอดูเอกสารประกอบคำร้องขอออกหมายจับตนเอง 

ความคืบหน้าคดีคนอยากเลือกตั้งอีกคดีนั้น ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ ไม่ให้ รศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร อุทธรณ์คำสั่งศาลแขวงดุสิต กรณีที่ไม่อนุญาตให้ตรวจสำนวนและคัดถ่ายเอกสารประกอบคำร้องขอออกหมายจับตนเอง ในคดีร่วมชุมนุมกับกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่หน้ากองบัญชาการกองทัพบก (ARMY57) เนื่องจากคำสั่งไม่อนุญาตให้คัดถ่ายเอกสารประกอบคำร้องขอออกหมายจับเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์คำสั่งจนกว่าจะมีคำพิพากษา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 196

กรณีนี้ สืบเนื่องจากกลุ่มคนอยากเลือกตั้งออกมาชุมนุมเรียกร้องการเลือกตั้งที่หน้ากองบัญชาการกองทัพบก เมื่อวันที่ 10 มี.ค. 2561 ก่อนมีผู้ถูกออกหมายเรียกในฐานะผู้ชุมนุม 47 คน ในข้อหาฝ่าฝืนคําสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ชุมนุมตั้งแต่ 5 คน ขึ้นไป และร่วมกันชุมนุมสาธารณะโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

หลังทราบข่าวว่ามีหมายเรียกให้รับทราบข้อกล่าวหา รศ.ดร.ยุกติ ได้ทำหนังสือขอลื่อนพบพนักงานสอบสวนเนื่องจากมีนัดอื่นอยู่ก่อนแล้ว แต่ยังคงถูกออกหมายจับหลังไม่สามารถเดินทางไปพบพนักงานสอบวนได้ตามหมายเรียก เป็นเหตุให้ รศ.ดร.ยุกติ ยื่นคำร้องขอตรวจสำนวนและคัดถ่ายเอกสาร เพื่อดูเอกสารประกอบคำร้องขอออกหมายจับที่ตำรวจยื่นต่อศาลข้างต้น แต่ศาลแขวงดุสิตไม่อนุญาต โดยเห็นว่าเป็นเอกสารที่ใช้ในขั้นตอนการสอบสวน

เมื่อศาลแขวงดุสิตไม่อนุญาตให้ตรวจดูและคัดถ่ายเอกสารประกอบคำร้องขอออกหมายจับ รศ.ดร.ยุกติ จึงอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว ก่อนศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาจะเห็นว่า คำสั่งไม่อนุญาตของศาลแขวงดุสิตเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาคดี ต้องห้ามอุทธรณ์ฎีกา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 196

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท