Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เมื่อหลายวันก่อน พลเอกอภิรัชต์ คงสมพงษ์ให้สัมภาษณ์แก่สำนักข่าวรอยเตอร์ว่าตอนนี้ไทยกำลังพบกับสงครามแบบลูกผสม (Hybrid War) นั่นคือขณะพบกับสงครามการก่อการร้ายไปพร้อมๆ กับสงครามโลกไซเบอร์นั่นคือข่าวปลอม (fake news) จากกลุ่มบุคคลบางกลุ่ม มุมมองของท่านทำให้ผมนึกถึงลัทธิบุชที่ประกาศโดยประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุชเมื่อ ปี 2001 ที่ได้รับอิทธิพลจากกลุ่ม neoconservative โดยการแบ่งโลกออกเป็น 2 ฝ่ายคือฝ่ายธรรมะ (สหรัฐฯ ที่เป็นประชาธิปไตย) กับฝ่ายอธรรม (เช่นรัฐอันธพาลและองค์กรก่อการร้ายข้ามชาติ) ซึ่งช่วยสร้างความชอบธรรมให้สหรัฐฯ บุกประเทศอัฟกานิสถานและอิรักในปี 2003 การแบ่งโลกนี้ย่อมได้รับอิทธิพลจากสงครามเย็น ที่สิ้นสุดตั้งแต่การล่มสลายของสหภาพโซเวียตในปี 1991

เป็นเรื่องตลกร้ายนั่นก็คือในไม่อีกกี่ปีต่อมา ไทยก็ตกอยู่ในกลุ่มของความขัดแย้งระหว่างสีเสื้อซึ่งต่างก็พยายามแบ่งโลกออกเป็น 2 ส่วน ประเภท "ไม่อยู่กับกูก็ถือว่าเป็นศัตรูกัน" หรือ With Us or Against Us และอภิรัชต์เองก็เป็นส่วนหนึ่งของการจัดการกับคนเสื้อแดงในปี พ.ศ. 2553 ดังนั้นจึงไม่น่าประหลาดใจว่าเขายังคงผลิตซ้ำแนวคิด hard line แบบนี้มาอย่างเช่นใช้การสัมภาษณ์ดังกล่าวเพื่อโจมตีพรรคการเมืองอนาคตใหม่อย่างไม่มีมูลเหมือนหม่อมเจ้าจุลเจิม ยุคลโจมตีว่านายธนาธรมีแนวคิดแบบสาธารณรัฐ

ความจริงแล้วข่าวปลอมนั้นเราไม่สามารถบอกได้ว่าฝ่ายไหนเป็นฝ่ายผลิต ในโลกแห่งข่าวสารข้อมูลรูปใหม่นั่นคือ social media ที่ไม่มีใครสร้างกุมอำนาจเหนือได้เพียงผู้เดียว เป็นเรื่องจริงที่ข่าวปลอมสามารถสร้างความเสียหายให้กับสาธารณชนได้ และเป็นสิ่งที่รัฐและภาคประชาสังคมต้องจัดการ แต่ผมมองอีกแง่ว่าจริงๆ แล้วไม่มีข่าวไหนหรอกที่ถือว่าเป็นข่าวจริงที่สามารถสะท้อนความจริงของเหตุการณ์ได้อย่างใสแจ๋วเหมือนกับกระจก เพราะข่าวนั่นเป็นเพียงการจำลองภาพของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและสิ้นสุดไปแล้ว (แม้ว่าเหตุการณ์นั้นกำลังดำเนินไปก็ตาม แต่ก็ถือว่าเมื่อเรารายงานไปแล้ว ก็เป็นอดีตในระยะเวลาหนึ่ง) เมื่อภาษาเกิดขึ้นมาก็ได้จำกัดเหตุการณ์นั้นไปในตัวอยู่แล้ว เช่นเดียวกับแง่มุมในการนำเสนอ และซ้ำร้ายสำนักข่าวอาจสอดแทรกอคติส่วนตัวเข้าด้วยผ่านคำคุณศัพท์หรือประโยชน์ในด้านลบ

ตัวอย่างเช่น ชาวฮ่องกงเข้ายึดสนามบิน หากเป็นสำนักข่าวที่ควบคุมโดยรัฐบาลจีนก็จะนำเสนอแต่ช่วงที่ผู้ประท้วงโวยวาย ทำลายข้าวของร้องเพลงชาติหรือโบกธงชาติอื่น และใช้ประโยคว่า backed by the foreign government ( สนับสนุนโดยรัฐบาลต่างชาติ) ในทางกลับกันสำหรับสำนักข่าวของต่างประเทศกลับนำเสนอผู้ประท้วงในฐานะผู้เรียกร้องประชาธิปไตยอย่างแท้จริง และเน้นไปที่การบาดเจ็บของผู้ประท้วงจากการปราบปรามอย่างรุนแรงของตำรวจ ทั้งนี้ไม่นับการวิเคราะห์จากบทบรรณาธิการที่เต็มไปเปี่ยมด้วยอคติที่หล่อหลอมจากอุดมคติทางการเมืองไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ คนรักรัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่ก็จะเขียนเสียดสีผู้ประท้วง ส่วนผู้รักประชาธิปไตยก็จะยกย่องเชิดชู

ยิ่งข่าวในปัจจุบันนี้ล้วนแต่ต้องนำเสนอในแง่มุมที่ต้องการดึงดูดผู้บริโภคให้มากที่สุด ตามแบบทุนนิยม การนำเสนอข่าว แบบทื่อๆ ตรงไปตรงมาย่อมไม่เพียงพอเสียแล้วในช่วงเวลาที่สื่อเก่าอย่างโทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ถูกสื่อใหม่อย่าง social media เข้าคุมคาม การนำเสนอข่าวจึงต้องผสมกับการเร่งเร้าอารมณ์ไปด้วยโดยเฉพาะข่าวการเมืองซึ่งน่าเบื่อและหนักหน่วง อย่างเช่นกรณีสส.ผู้หญิงและเพศทางเลือกในสภาที่ขัดแย้งกันในเรื่องเสื้อผ้า ชุดแต่งกาย ดังนั้นจึงมีการประดิษฐ์ศัพท์ใหม่ขึ้นมาคือว่า infotainment ด้วยบริบทดังกล่าวจึงไม่ต้องประหลาดใจว่าจะเกิดข่าวปลอมขึ้นมาอย่างแพร่หลายและแนบเนียนเพราะคนเริ่มแยกไม่ออกระหว่างความจริงหรือความบันเทิง และจากใครก็ได้ ฝ่ายไหนก็ได้ หากนับการผลิตซ้ำข่าว เช่นการแชร์ของคนจำนวนมากที่ไม่สนใจว่าข่าวนั้นจริงหรือไม่จริง (เพราะการพิสูจน์มันต้องใช้เวลาและความพยายามมาก) เพียงแค่สอดคล้องกับรสนิยมหรืออุดมการณ์ทางการเมืองของตัวเอง ดังนั้นจึงถือว่าได้ว่าไม่มีใครชั่วร้ายหรือบริสุทธิ์แบบด้านใดด้านหนึ่งไปเลย พวกเราจำนวนไม่น้อยต่างเป็นคนสร้างสรรค์ข่าวปลอมในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง

และที่สำคัญเป็นรัฐไทยนั้นเองผลิตข่าวปลอมรวมไปถึงข้อมูลปลอม (misinformation) มาเป็นระยะเวลาอันยาวนานในการสร้างความชอบธรรมแก่ตัวเองผ่านการโฆษณาชวนเชื่อ ดังนั้นรัฐไทยจึงมักไม่พอใจกับข่าวปลอมที่บ่อนทำลายความชอบธรรมดังกล่าว ถึงแม้ว่าข่าวปลอมนั้นอาจมีระดับของความเป็นจริงในระดับหนึ่ง หรืออาจเป็นข่าวจริงก็ได้แต่ออกมาในด้านลบสำหรับรัฐ การใช้มุมมองแบบบุชของอภิรัชต์จึงเป็นความพยายามในการสร้างศัตรูในจินตนาการเพื่อความสร้างความชอบธรรมของรัฐในการจำกัดเสรีภาพของประชาชนซึ่งถูกคุกคามโดยกฎหมายเกี่ยวกับอินเทอร์เน็ตอยู่แล้วหรืออาจจะเพื่อเล่นงานกลุ่มทางการเมืองซึ่งอภิรัชต์ถือว่าเป็นศัตรู

สมมติว่าการจัดการระบบคอมพิวเตอร์แบบ Single Gate Way กลับมาอีกครั้งในรูปแบบอื่น ไทยกำลังจะก้าวตามจีนและรัสเซียในรูปแบบของ Cyber Totalitarianism หรือเผด็จการเบ็ดเสร็จผ่านการควบคุมโลกไซเบอร์ ? คำพูดของอภิรัชต์เป็นตัวบอกใบ้ได้อย่างดี

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net