Skip to main content
sharethis

15 ส.ค.2562 มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา แจ้งว่า ทางมูลนิธิฯ และเครือข่ายประชากรข้ามชาติ ออกจดหมายเปิดผนึกถึงอัยการสูงสุดเรื่อง ขอให้พนักงานอัยการพิจารณาสั่งคดีค้ามนุษย์อย่างเที่ยงธรรม  

รายละเอียดดังนี้ : 

จดหมายเปิดผนึก

๑๔  สิงหาคม ๒๕๖๒

เรื่อง ขอให้พนักงานอัยการพิจารณาสั่งคดีค้ามนุษย์อย่างเที่ยงธรรม  

เรียน อัยการสูงสุด

สืบเนื่องจากตั้งแต่เดือนมิถุนายนเป็นต้นมา สำนักข่าวทั้งในประเทศไทย และในต่างประเทศได้ตีพิมพ์หรือเผยแพร่รายงานข่าวว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ปฏิบัติการปราบปรามขบวนการการค้ามนุษย์และขบวนการขนคนเข้าเมืองในหลายจังหวัดในภาคใต้ และสามารถช่วยเหลือเหยื่อค้ามนุษย์ซึ่งอยู่ระหว่างการถูกลักลอบนำพาไปสู่จุดหมายปลายทางในประเทศมาเลเซีย โดยอ้างว่าจำนวนรวมของผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ที่ได้รับการช่วยเหลือตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาสูงกว่าหนึ่งพันคนแล้ว[1] ซึ่งนับว่าสูงมากเป็นประวัติการณ์  

มูลนิธิเพื่อสิทธิเพื่อสิทธิมนุษยชน (มสพ.) และเครือข่ายประชากรข้ามชาติ (MWG) ขอชมเชยเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ทำงานเพื่อป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์อย่างแข็งขัน อย่างไรก็ตาม เรามีความกังวลใจอย่างยิ่งเกี่ยวกับการคัดแยกผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากข้อมูลที่ปรากฏในข่าวระบุว่า กลุ่มแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านที่ได้รับการช่วยเหลือจากปฏิบัติการดังกล่าวของเจ้าหน้าที่และถูกคัดกรองเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์นั้น เป็นผู้จ้างวานกลุ่มนายหน้าให้นำพาตนเองไปทำงานในประเทศมาเลเซียโดยใช้ประเทศไทยเป็นทางผ่าน แต่ในขณะเดียวกันกลุ่มแรงงานดังกล่าวก็ถูกนายหน้าจำกัดพื้นที่ไม่ให้เคลื่อนย้ายหรือเดินทางได้อย่างอิสระด้วย  ข้อเท็จจริงดังกล่าวนี้อาจสร้างความยากลำบากหรือสร้างความสับสนให้เจ้าหน้าที่ในกระบวนการคัดแยกว่า แรงงานกลุ่มดังกล่าวเป็นผู้เสียหายจากขบวนการค้ามนุษย์ หรือเป็นเพียงผู้ว่าจ้างขบวนการลักลอบขนคนเข้าเมือง โดยผิดกฎหมาย (smuggling) เท่านั้น

มสพ. และเครือข่ายประชากรข้ามชาติเห็นว่า หากมีความผิดพลาดในการระบุบุคคลให้เป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์นั้น อาจสร้างความเสียหายหลายประการทั้งในระดับบุคคลและในระดับประเทศ  ดังเช่น (๑) เป็นการละเมิดสิทธิของแรงงานที่จริงๆ แล้วต้องการจะเดินทางไปทำงานในประเทศที่สามเท่านั้น หากแรงงานเหล่านี้ถูกคัดแยกว่าเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ก็จะต้องได้รับความคุ้มครองดูแลของสถานคุ้มครองสวัสดิภาพผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ของภาครัฐ เพื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมในฐานะพยานซึ่งอาจใช้เวลาหลายเดือน (๒) เป็นการสร้างภาระโดยไม่จำเป็นให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะหน่วยงานที่มีหน้าที่ดูแลคุ้มครองผู้เสียหายฯ  ซึ่งที่ผ่านมา ในปีหนึ่งๆ สถานคุ้มครองทั้งแปดแห่งทั่วประเทศสามารถให้ที่พักและคุ้มครองดูแลผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ในจำนวนราวสองถึงสามร้อยคนเท่านั้น และยังเป็นการเพิ่มภาระแก่กระบวนการยุติธรรมโดยไม่จำเป็นอีกด้วย (๓ ) เป็นการละเมิดสิทธิผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ถูกดำเนินคดีในข้อหาความผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ ทั้งๆ ที่บุคคลเหล่านั้นอาจจะกระทำผิดเพียงแค่ลักลอบนำคนเข้าเมือง หรือกระทำผิดฐานฉ้อโกงเท่านั้น ซึ่งมีอัตราโทษต่างกันอย่างมาก และ (๔) อาจส่งผลกระทบความเสียหายในระดับชาติ เนื่องจากข้อมูลตัวเลขคดีที่ผิดพลาดบิดเบือนจะส่งผลกระทบต่อการทำรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ในประเทศไทย ซึ่งนอกจากจะไม่เป็นผลดีต่อการกำหนดนโยบายปราบปรามการค้ามนุษย์แล้ว ยังอาจส่งผลในแง่ลบต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทยในระดับสากลอีกด้วย

เนื่องจากอัยการสูงสุดเป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบในการสอบสวนคดีที่มีลักษณะข้ามชาติและเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงในการพิจารณาสั่งฟ้องคดี ดังนั้น หากการดำเนินคดีผิดพลาดคลาดเคลื่อนไปจากหลักกฎหมาย สำนักงานอัยการสูงสุดย่อมไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบได้ ด้วยเหตุนี้ มสพ. จึงเรียนท่านได้โปรดดำเนินการให้มีการกำกับดูแลให้การพิจารณาสั่งคดีให้เป็นไปโดยถูกต้องและเป็นธรรมด้วย

อ้างอิง : 

[1] ตัวอย่างเช่น Pakkawan, A. “Slave labour trafficking to Malaysia on the rise” (8 July 2019), Bangkok Post; “Rescued human trafficking victims rise in Thailand” (30 July 2019), NHK World; Wongsamuth, N. “Migrants mistakenly held in Thai trafficking shelters – rights groups,” (7 August 2019), Reuters; “จเรต ารวจแห่งชาติ บุกตรวจจุดนายหน้าขังเหยื่อค้ามนุษย์ปาดังเบซาร์” (2 ก.ค. 2562), สปริงนิวส์; ผู้จัดการ “มีต่อเนื่อง! จนท. บุกจับ 41 พม่าเหยื่อค้ามนุษย์นอนกลางป่าที่สงขลา 6 ก.ค. 2562

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net