Skip to main content
sharethis

ประชาชนชุมชนบ่อแก้วยื่นหนังสือให้ฝ่ายค้าน หวังใช้กระบวนการทางรัฐสภาจี้ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ออกแก้ไขปัญหาการไล่ประชาชนออกจากพื้นที่อย่างเร่งด่วน ขณะที่ตัวแทนเครือข่ายเพื่อนตะวันออก หวังฝ่ายค้านช่วยชะลอการบังคับใช้ผังเมือง EEC ชี้ทำมาทุกช่องทางแล้วแต่ไม่เป็นผล

15 ส.ค. 2562 ที่รัฐสภา เกียกกาย เวลา 11.00 น. ตัวแทนประชาชนชุมชนบ่อแก้ว จังหวัดชัยภูมิได้เดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อ 7 พรรคฝ่ายค้านเรื่องการขอให้ยกเลิกหมายบังคับคดีขับไล่ชาวบ้านให้ออกจากพื้นที่ซึ่งมีกำหนดในวันที่ 27 ส.ค.นี้ โดยร้องเรียนต่อวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้แก้ปัญหาของชาวบ้านชุมชนบ่อแก้วให้เป็นรูปธรรม

นิด  ต่อทุน ตัวแทนชาวบ้านพื้นที่พิพาทชุมชนบ่อแก้ว กล่าวว่า ชาวบ้านเข้าถือครองทำประโยชน์ในที่ดินของพื้นที่ชุนบ่อแก้วตั้งแต่ปี พ.ศ. 2496 เป็นต้นมา โดยมีหลักฐานเป็นเอกสารเสียภาษีบำรุงท้องที่ ภ.บท.11  ซึ่งต่อมาปี พ.ศ. 2516 รัฐได้ประกาศเป็นป่าสงวนแห่งชาติป่าภูซำผักหนาม และในปี พ.ศ. 2521 องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (ออป.) ได้ขอเข้าทำประโยชน์ปลูกสร้างสวนป่าคอนสาร ในระบบสมาชิกโครงการหมู่บ้านป่าไม้ เนื้อที่ 4,401 ไร่ และนำมาสู่การผลักดัน ขับไล่ชาวบ้านออกจากที่ดินทำกิน และที่อยู่อาศัย จำนวน 12 ครัวเรือน  ซึ่งนับตั้งแต่การเข้ามาของ ออป. ชาวบ้านเคลื่อนไหวคัดค้านมาโดยตลอด แต่ไม่สามารถยุติการดำเนินงานได้ กระทั่งพื้นที่ทำกินกลายสภาพเป็นสวนยูคาลิปตัสในที่สุด โดยรายสุดท้ายที่จำต้องออกจากพื้นที่ ในปี พ.ศ. 2529 คือ วัก โยธาธรรม   มีชาวบ้านจำนวน 277 ราย คือจำนวนผู้เดือดร้อนที่ผ่านการตรวจสอบของคณะทำงานเมื่อปี 2548 ครับ ปัจจุบันมีชาวบ้านอยู่ในพื้นที่พิพาทประมาณ 110 คน  เนื่องจากมีพื้นที่จำกัดเพียง 96 ไร่

นิด กล่าวต่อว่า กรณีปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ ได้มีการดำเนินงานร่วมกัน ระหว่างหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องกับประชาชนที่เดือดร้อน ตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา โดยมีการตรวจสอบข้อเท็จจริง จนพบว่าประชาชนอยู่มาก่อนการปลูกสร้างสวนป่าคอนสาร และสวนป่าคอนสารปลูกทับที่ของประชาชนจริง จึงมีมติให้ยกเลิกสวนป่าคอนสาร แล้วนำที่ดินมาจัดสรรให้กับประชาชนผู้เดือดร้อน และมีการพิจารณากรณีปัญหาดังกล่าวจากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ซึ่งการแก้ไขปัญหาดังกล่าวจำเป็นต้องมีการตัดสินใจเชิงนโยบายเพื่อให้เกิดข้อยุติ

นิดให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า ในขณะเดียวกัน ออป. ได้เป็นโจทก์ฟ้องขับไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่ ซึ่งคดีได้ถึงที่สุด และอยู่ในชั้นบังคับคดี โดยได้มีหนังสือขอให้ชะลอการบังคับคดี  ทั้งนี้กระบวนการแก้ไขปัญหาทั้งในเรื่องพิพาทสิทธิที่ดิน และปัญหาคดีความ ได้มีกลไกการแก้ไขร่วมระหว่างรัฐบาลกับขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 เป็นต้นมา โดยในกรณีปัญหาคดีความ ได้มีบันทึกข้อตกลงร่วมกันระหว่างผู้แทนองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ กับราษฎร เมื่อวันที่ 2 มี.ค. 2554 ในข้อที่ 1 ระบุว่า “จะไม่มีการเร่งรัดบังคับคดี” นอกจากนี้ ภายหลังปี พ.ศ. 2557 เป็นต้นมา ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) ได้มีการประชุมหารือ และแต่งตั้งคณะกรรมการร่วมกับรัฐบาล รวมทั้งมติ ข้อตกลงหลายฉบับที่จะมีนัยสำคัญในการแก้ไขปัญหาให้ยุติลงได้  ในกรณีสวนป่าคอนสาร สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี มีหนังสือเรียนผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิให้ชะลอการดำเนินการใดๆ ที่อาจเป็นมูลเหตุให้เกิดความขัดแย้งไว้ก่อน จนกว่ากระบวนการพิจารณาแก้ไขปัญหาจะมีผลเป็นที่ยุติต่อไป  กระทั่งมีการพิจารณารับรองแผนการจัดการที่ดินและทรัพยากรอย่างยั่งยืนโดยชุมชน ของคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีประชาชนได้รับผลกระทบจากแผนแม่บทการแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ การบุกรุกที่ดินของรัฐ และการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน

นิดกล่าวถึงเส้นทางการต่อสู้ของชาวบ้านเพิ่มเติมอีกว่า  ในปี พ.ศ. 2561 ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) ได้เจรจากับรัฐบาล กระทั่งมีบันทึกข้อตกลงร่วมระหว่าง ขปส. กับรัฐบาล และคณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน คณะที่ 5 (กขป. 5) โดยในข้อที่ 3 ระบุว่า “ชะลอการดำเนินคดีกับราษฎรผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่า และแก้ไขปัญหาราษฎรที่ได้รับผลกระทบโดยเร่งด่วน ในกรณีการดำเนินคดีกับราษฎรในทุกพื้นที่ โดยเฉพาะจำนวน 10 พื้นที่”  ซึ่งกรณีสวนป่าคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ ในหนึ่งในจำนวนนั้น  นอกจากนี้ ผลการประชุมหารือระหว่างผู้แทน ขปส. กับหัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (เสริมยศ สมมั่น) ตามที่ได้รับมอบหมายจาก รมว.ทส. โดยกรณีสวนป่าคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ ขอให้มีการตัดสินใจทางนโยบาย เพื่อนำเรียน รมว.ทส. พิจารณา และนำเสนอคณะกรรมการอำนวยการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมต่อไป

จนท.กว่า 50 นายเข้าปิดหมายบังคับคดีชุมชนบ่อแก้ว จ.ชัยภูมิ ออกจากพื้นที่ใน 30 วัน

'สวนป่าคอนสาร' ปัญหาเชิงโครงสร้าง 'จากการบุกเบิกกลายเป็นผู้บุกรุก' ถูกลงโทษประหนึ่งอาชญากร

ตัวแทนชาวบ้านพื้นที่พิพาทชุมชนบ่อแก้วกล่าวว่า สำหรับเส้นทางการต่อสู้ของพวกเราใน วันที่ 9 ก.ค. 2562 เราได้เข้ายื่นหนังสือ ขอให้ชะลอการบังคับคดีต่อนายกรัฐมนตรี ผ่านนายอำเภอคอนสาร  และวันที่ 19 ก.ค. 2562  ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อให้เร่งรัดแก้ไขปัญหา และแต่งตั้งคณะกรรมการร่วมในการดำเนินงานระหว่างฝ่ายรัฐบาล กับผู้แทนประชาชน   วันที่ 26 ก.ค. 2562 เจ้าพนักงานบังคับคดี สำนักงานบังคับคดีจังหวัดชัยภูมิ สาขาภูเขียว เข้าปิดหมายบังคับคดีในพื้นที่ชุมชนบ่อแก้ว  โดยให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 29  และที่ 33 พร้อมทั้งบริวารออกจากสวนป่าคอนสารซึ่งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าภูเขียวภูซำบักหนามในท้องที่ตำบลโนนคูณ ตำบลห้วยยาง และตำบลทุ่งพระ อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิออกจากพื้นที่และปรับสภาพพื้นที่สวนป่าให้กลับสู่สภาพเดิม และออกจากที่ดินในพื้นที่สวนป่าคอนสารทั้งหมดหมด พร้อมทั้งให้ทำการออกจากพื้นที่ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันติดประกาศ (27 ส.ค.  2562)

“กระบวนการแก้ไขปัญหากรณีดังกล่าวมีพัฒนาการ และความคืบหน้ามาเป็นลำดับ หากมีการตัดสินใจทางนโยบาย โดยการรับรองแผนการจัดการที่ดินและทรัพยากรอย่างยั่งยืนโดยชุมชน ดังที่กล่าวแล้ว ปัญหาข้อพิพาทจะสามารถยุติลงได้ และนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิต และความสมบูรณ์ของทรัพยากรโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน ดังนั้นเราจึงขอเรียกร้องให้ตัวแทนของพรรคฝ่ายค้านนำประเด็นปัญหาของเราไปนำเรียนต่อนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อให้แก้ปัญหาของชาวบ้านชุมชนบ่อแก้วให้เป็นรูปธรรมด้วยการสั่งการให้ยกเลิกหมายบังคับคดีโดยด่วนที่สุด ซึ่งกำลังจะเกิดขึ้นในวันที่ 27 ส.ค. นี้ และนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการแก้ไขปัญหาร่วมของทุกฝ่าย เพื่อให้ได้ข้อยุติ ต่อไป เพื่อป้องกันมิให้มีการไล่รื้อที่อยู่อาศัยหรือที่ทํากินของชุมชนโดยที่ชุมชนไม่สมัครใจหรือไม่มีการชดเชยให้เหมาะสมกับความเสียหายที่คนในชุมชนได้รับซึ่งถือว่าเป็นการที่รัฐบาลละเมิดสิทธิมนุษยชนของประชาชนอย่างร้ายแรง” นิดระบุ

ด้านมยุรี พงษ์สุวรรณ หนึ่งในตัวแทนชาวบ้านจากชุมชนบ่อแก้วที่เข้าร่วมยื่นหนังสือในครั้งนี้ด้วยกล่าวทั้งน้ำตาในการเข้ายื่นหนังสือครั้งนี้ว่า วันที่ 27 ส.ค. นี้จะมีการผลักไล่ชาวบ้านให้ออกจากพื้นที่ที่เคยทำกินมาตั้งแต่ปูย่าตายาย จะให้ชาวบ้านไปอยู่ที่ไหน ตอนนี้คนที่อาศัยอยู่ข้างในมี 46 ครัวเรือนแล้วมีทั้งคนแก่และเด็กมากถึง 180 คนจะให้คนเหล่านี้ไปอยู่ที่ไหน จะให้เขาไปทำอะไร ที่ผ่านมาเคยมีการพิสูจน์สิทธิ์แล้ว และทาง อปป. ก็ยอมรับว่าชาวบ้านอยู่มาก่อนจริง พวกเราไม่เข้าใจว่าการพิสูจน์สิทธิ์มันชัดเจนอยู่แล้วว่าเราอยู่มาก่อนการประกาศป่าสงวนจริงทำไมพวกเรายังโดนบังคับคดีอยู่ เราไม่ได้รับความเป็นธรรม วันนี้ที่มายื่นหนังสือให้กับฝ่ายค้านทั้ง 7 พรรคอยากให้พรรคฝ่ายค้านนำหนังสือฉบับนี้ไปยื่นให้ไปถึงชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา อยากให้กลไกของรัฐสภาช่วยกันดันเรื่องให้ไปถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อว่าจะแก้ไขปัญหานี้อย่างไรเพราะรัฐบาลที่ผ่านมารับปากกับประชาชนว่าจะช่วยเหลือประชาชนแต่ไม่เคยแก้ไขปัญหานี้สักครั้ง

ประมวลสถานการณ์: ปล่อย 'ปู' หน้าทำเนียบ ผังอีอีซีเจอศึกหนัก

เปิดนัยสำคัญ: เมื่อ ปชป. ขอผ่านกฎหมายสำคัญ ก่อนพิจารณาตั้ง กมธ.ทบทวน EEC

จิรัฏฐ์ อนาคตใหม่ จี้ถามผังเมือง EEC เอื้อกลุ่มทุนหรือไม่ ขอเปิดข้อมูลให้ ปชช. ได้ตรวจสอบ

ต่อมาเวลา 11.15 น. กัญจน์ ทัตติยกุล เครือข่ายเพื่อนตะวันออก ได้เข้ายื่นหนังสือเสนอขอให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการตรวจสอบการดำเนินโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) โดยเฉพาะวาระเร่งด่วนกรณีการจัดผังเมืองใหม่ในพื้นที่สามจังหวัด EEC

กัญจน์ ระบุว่า ที่ผ่านมาเครือข่ายเพื่อนตะวันออกพยายามใช้ทุกช่องทางเพื่อที่จะให้รัฐได้ดำเนินการทบทวนการจัดผังเมืองEEC เนื่องจากเห็นว่ามีปัญหาในหลายบริเวณ และที่สำคัญการเข้าถึงข้อมูลของภาครัฐเป็นไปได้ยากมาก การที่เครือข่ายเพื่อนตะวันออกสามารถขอผังเมือง EEC ออกมาได้จำเป็นต้องเดินทางไปยังสำนักงานคณะกรรมการ EEC เพื่อขอข้อมูลข่าวสารทั้งทั้งที่เรื่องนี้เป็นเรื่องที่จะส่งผลกระทบต่อประชาชนจำนวนมากกลับไม่มีการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะโดยที่รัฐเป็นผู้ดำเนินการเอง

“ปัญหาการจัดผังเมือง EEC มีลักษณะที่ไม่สอดคล้องกับสภาพของพื้นที่ เช่น มีการนำพื้นที่เกษตรกรรมชั้นดีบริเวณต้นน้ำบางปะกง ทั้งยังเป็นแหล่งน้ำดิบของการประปาส่วนภูมิภาค ไปใช้เป็นพื้นที่พัฒนาอุตสาหกรรม ทางเครือข่ายเพื่อนตะวันออกได้ติดตามเรื่องก็พบว่าทางพรรคฝ่ายค้านได้พยายามตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อศึกษาผลกระทบในเรื่องนี้ แต่ดูเหมือนว่าความพยายามนี้จะยังไม่เป็นผลจึงอยากให้ทุกพรรคพยายามอย่างเต็มที่อีกครั้งเพื่อตั้งคณะกรรมาธิการตรวจสอบในเรื่องนี้ เรายังไม่ทราบว่าถ้าฝ่ายค้านจะมีวิธีการอย่างไรบ้าง แต่สิ่งที่อยากจะย้ำไว้วันนี้คือว่าเรื่องผังเมือง EEC นั้น จำเป็นต้องชะลอไว้ก่อน เพื่อให้มีการทบทวนและไม่จำเป็นต้องเร่งรัด ทั้งยังไม่มีบทลงโทษหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหากผังเมืองนี้ยังไม่ได้ประกาศใช้ แต่หากผังเมืองนี้ถูกประกาศใช้ไปจะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับคนกลุ่มน้อยซึ่งคือ กลุ่มบริษัทเอกชนไม่กี่บริษัท แต่จะส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่จำนวนมาก ยกตัวอย่างเช่นคนที่ใช้ประโยชน์จากแม่น้ำบางปะกงทั้งในการอุปโภคบริโภคหรือการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ หากแหล่งน้ำธรรมชาตินี้ถูกทำลายนำส่งผลกระทบต่อคนเป็นแสนเป็นล้านคน ที่มาวันนี้เพราะต้องการให้พรรคฝ่ายค้านช่วย เพราะทุกช่องทางที่ชาวบ้านจะสามารถดำเนินการเองได้นั้น เราได้ทำมาหมดทุกทางแล้ว” กัญจน์ กล่าว

เบญจา แสงจันทร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ระบุว่า เรื่องดังกล่าวทางพรรคร่วมฝ่ายค้านได้มีการยื่นญัตติเสนอตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อศึกษาทบทวนโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกแล้ว แต่เรื่องนี้ก็ถูกเลื่อนออกไป อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ได้มีการตั้งกระทู้ถามสด พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ไปแล้ว ซึ่งคำตอบที่ได้มานั้นถือว่ายังไม่ชัดเจน จะมีการดำเนินการผ่านกระบวนการรัฐสภาต่อไปเพื่อที่จะทำให้มีการตั้งคณะกรรมมาธิการเพื่อศึกษาและทบทวนเรื่องดังกล่าวให้ได้ เนื่องจากประชาชนในพื้นที่ได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net