Skip to main content
sharethis

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เผยนักวิชาการ ม.มาลายา ยังถูกกักตัวที่ ตม. อีก เหตุร่วมลงชื่อคัดค้านคดี 'เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร' แม้ศาลยกฟ้องหรือมีการเลือกตั้งแล้วก็ตาม

ภาพการอ่านแถลงการณ์เรียกร้องเสรีภาพทางวิชาการ หนึ่งในแถลงการณ์ที่สืบเนื่องมาจากกรณีเวทีไทยศึกษา

15 ส.ค.2562 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า รุสนันท์ เจ๊ะโซ๊ะ นักวิชาการสัญชาติไทย ซึ่งทำงานสอนด้านภาษาศาสตร์ อยู่ที่มหาวิทยาลัยมาลายา ประเทศมาเลเซีย และได้เคยร่วมลงชื่อในแถลงการณ์เรียกร้องเสรีภาพทางวิชาการในงานประชุมนานาชาติไทยศึกษาที่จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อเดือนกรกฎาคม 2560 ได้เปิดเผยกับศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนอีกครั้งว่า หลังจากเธอเดินทางกลับเข้าออกประเทศไทยเมื่อช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ยังคงถูกกักตัวไว้ที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองเช่นเดิม แม้จะมีการเลือกตั้งและจัดตั้งรัฐบาลใหม่แล้วก็ตาม

ก่อนหน้านี้ รุสนันท์เริ่มมีปัญหาที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองตั้งแต่เมื่อเดือนสิงหาคม 2561 โดยเธอถูกกักตัวเพื่อสอบถามที่ด่าน รวม 12 ครั้งแล้วจนถึงปัจจุบัน ทั้งที่สนามบินและด่านตรวจต่างๆ ทางภาคใต้ ทั้งในขาเข้าและขาออกจากประเทศ

สองครั้งล่าสุด คือครั้งที่ 11 เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 9 ส.ค.ที่ผ่านมา รุสนันท์ได้เดินทางกลับเข้าประเทศไทย ทางด่านตรวจคนเข้าเมืองเบตง อำเภอเบตง จังหวัดยะลา โดยเมื่อไปถึงด่าน เธอได้แจ้งกับเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองว่าเธอเคยมีปัญหาชื่อติดในลิสต์ ไม่ทราบว่าถึงปัจจุบันเป็นอย่างไร เนื่องจากไม่ได้เดินทางเข้าออกหลายเดือน เจ้าหน้าที่ได้พยายามสอบถามว่าเป็นแบล็คลิสต์อะไร แต่เธอปฏิเสธว่าไม่ใช่แบล็คลิสต์ แต่ก็ไม่ทราบว่าเป็นลิสต์อะไร และเมื่อเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองตรวจเช็ค ก็พบว่าชื่อรุสนันท์ยังติดอยู่เช่นเดิม และทำให้หน้าจอคอมพิวเตอร์ของด่านตรวจคนเข้าเมืองล็อก ไม่ให้สามารถเข้าออกได้

รุสนันท์ระบุว่า ปัญหานี้สร้างความรู้สึกไม่สบายใจจากการถูกจับตามอง และสร้างความยากลำบากในการเดินทางเข้าออกประเทศมาก เจ้าหน้าที่ที่ด่านตรวจก็มองเธอเหมือนกับไปกระทำความผิดมา หรือมองว่าเป็นคนร้าย

รุสนันท์ระบุว่า จากนี้กำลังพิจารณาจะทำเรื่องร้องเรียนกับกระทรวงต่างประเทศและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มีการตรวจสอบถึงปัญหาที่เกิดขึ้น รวมทั้งข้อทราบข้อมูลข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในกรณีนี้ด้วย เนื่องจากการเข้าออกประเทศไทยในครั้งต่อๆ ไป ก็อาจจะเกิดปัญหาเช่นนี้อยู่ต่อไปไม่สิ้นสุด (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ รุสนันท์ สะท้อนปัญหานี้ ได้ที่เว็บไซต์ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน https://www.tlhr2014.com/?p=13347)

กรณีรุสนันท์ไม่ใช่เพียงกรณีเดียวที่มีปัญหานี้หลังร่วมลงชื่อในแถลงการณ์เรียกร้องเสรีภาพทางวิชาการดังกล่าว หากแต่เมื่อ ก.พ.ที่ผ่านมา  ทวิตเตอร์ของ ผศ.แอนดรูว์ จอห์นสัน อาจารย์ด้านมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยปรินซ์ตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา ทวีตว่าเขาถูกกักตัวโดยตำรวจตรวจคนเข้าเมืองของไทยเอาไว้ชั่วคราวระหว่างกำลังจะเดินทางออกจากประเทศ เจ้าหน้าที่บอกกับแอนดรูว์ว่า มีรายชื่อของนักวิชาการจำนวนราว 30 คนที่ต้องการจะได้ข้อมูลว่าพวกเขาไปพูดคุยกับใครและไปที่ไหนมาบ้าง

โดยในครั้งนั้น ผู้สื่อข่าวประชาไทติดต่อไปยังกองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 2 (บก.ตม.2) สนามบินสุวรรณภูมิเพื่อขอข้อมูลเพิ่มเติม บก.ตม.2 ระบุให้ไปสอบถามฝ่ายพิธีการตรวจคนเข้าเมือง เมื่อสอบถามไปแล้วได้ความว่า ฝ่ายพิธีการฯ ยังไม่ได้รับข้อมูล ให้ติดต่อไปที่ บก.ตม.2

สำหรับคดีเวทีวิชาการไทยศึกษา ที่มีจำเลย 5 ราย ศาลเห็นว่าคดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งห้าในความผิดฐานชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คน โดยไม่ได้รับอนุญาตจาก คสช. ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558. แต่ระหว่างการพิจารณาคดีนี้มีคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 22/2561 ออกมาให้ยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12. ที่โจทก์นำมาฟ้องแล้ว การกระทำจึงไม่เป็นความผิด จึงมีเหตุยกฟ้อง ไปเมื่อ25 ธ.ค.ปีที่แล้ว แต่ศาลยังรับรองไว้ด้วยว่าการกระทำความผิดตามฟ้องนั้นไม่กระทบกระเทือนหรือไม่เสียไป ซึ่งเป็นไปตามข้อ 2 ของคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 22/2561

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net