Skip to main content
sharethis

ศ.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ขึ้นปาฐกถา เล่ากระแสตื่นตัว วิพากษ์-วิจารณ์ประวัติศาสตร์ไทยหลัง 14 ตุลาฯ อันแสนสั้น บทเรียนจากการศึกษาประวัติศาสตร์ทาสผิวดำในสหรัฐฯ ที่เริ่มจดจารจากประชาชน ไม่มีเส้นเรื่องชัดเจน ปะทะสังสรรค์กันอย่างต่อเนื่อง และเหตุใดประวัติศาสตร์ไทยกระแสหลักถึงแข็งแกร่ง ไม่เคยถูกสั่นคลอน แนะ ประวัติศาสตร์ต้องไม่มีสำนักเดียว ต้องถูกท้าทาย ไม่เช่นนั้นจะเป็นอันตราย

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ (ที่มา: Voice Online)

16 ส.ค. 2562 ศ.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ อดีตคณบดีคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ "ประวัติศาสตร์สอนอะไร: ข้อคิดจากประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกาและไทย" เนื่องในวันสถาปนาคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และวาระ ’72 ปี ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ’ ที่คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ตอนแรกผมนึกว่าทำไมถึงเรียนประวัติศาสตร์ ทั้งๆ ที่เรียนหนังสือมาก็ได้เรียนประวัติศาสตร์อย่างวิชาประวัติศาสตร์ไทยกันทุกคน ผมพบว่าประวัติศาสตร์ไทยไม่สนุกเลย จบมัธยมแล้วถ้าใครอยากเรียนประวัติศาสตร์ไทยต่อนี่ผมคิดว่าเป็นคนประหลาดมาก ผมไม่เคยเหลือบตามองประวัติศาสตร์ไทยอีกเลยตั้งแต่จบมัธยม จนกระทั่งไปเข้ารัฐศาสตร์ อันนี้อยากเรียนเพราะสนใจการเมือง พอเรียนจบก็กลับมาช่วยงานกับนิตยสารสังคมศาสตร์ปริทรรศน์ ได้เงินเดือน 1,500 บาท ตอนนั้นก็น้อย ถ้าเป็นตอนนี้ก็ยิ่งน้อย ทำไปจนถึงเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ หลังจากนั้นสังคมศาสตร์ปริทรรศน์ก็ยุติบทบาท กรรมการบริหารสมาคมที่เป็นบอร์ดรุ่นใหม่ จบมาจากเมืองนอกมีมติว่าจะเปลี่ยนจากฉบับรายเดือนที่มีการเมืองเยอะ ไปเป็นวารสารวิชาการ ผมก็ตกงาน หลังจากนั้นผมก็รับปากไปสอนหนังสือในวิชาประวัติศาสตร์ กลายเป็นการสอนประวัติศาสตร์ก่อนเรียนวิชาประวัติศาสตร์ 

เหตุผลที่ผมตัดสินใจเช่นนั้นก็มาจากสภาพตอนนั้น หลัง 14 ตุลาฯ บรรยากาศทางการเมือง สังคม ทุกๆ สถาบันโดยเฉพาะในอุดมศึกษาเปลี่ยนไป เพราะบทบาทในการผลักดัน 14 ตุลาฯ ส่วนมากมาจากอุดมศึกษาต่างๆ ทั้งนักศึกษาทั้งอาจารย์ ผลสะเทือนที่ได้มันก็อยู่ในคนส่วนนี้ ถ้าพูดแบบไม่เกินเลย 14 ตุลาฯ คือการปฏิวัติครั้งสำคัญของประเทศไทยที่มีคนข้างล่างจำนวนมากเข้ามาร่วมในการผลักดัน เป็นมิติที่ไม่เคยเกิดขึ้นในการเปลี่ยนแปลงการเมืองไทยขณะนั้น ผลสะเทือนนั้นมาถึงวิชาประวัติศาสตร์ที่กลายมาเป็นวิชาอันดับหนึ่งในช่วงปี 2516-2519 เป็นวิชาที่คนสมัครเรียนเอกเป็นร้อย ตอนนี้ได้ 10-15 คนก็ถือว่าบุญแล้ว ทุกมหาลัยก็ร่ำลือกันแบบนั้น

เหตุการณ์ 14 ตุลาฯ เป็นครั้งแรกที่ทำให้ประวัติศาสตร์เขียนจากหลายมุมมอง ทั้งซ้าย-ขวา หน้า-หลัง มีวิวาทะที่ทำให้รู้ว่าแต่ละฝ่ายคิดอย่างไร ผมคิดว่าเป็นบรรยากาศที่ดี เป็นหนทางที่สติปัญญาเติบโตด้วยการปะทะกันฉันท์มิตร ไม่เหมือนปัจจุบันที่ยิ่งทำยิ่งทำลายตัวเองทุกฝ่าย สมัยก่อนประวัติศาสตร์กลายเป็นคู่มือหาคำตอบต่างๆ ที่มีข้อมูล รายละเอียดเพิ่ม และมีความหมายทางการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยในขณะนั้น 

ประวัติศาสตร์ไทยเคยเป็นที่ถกเถียง

ตอนนั้นมีการเคลื่อนไหวหนึ่งที่น่าสนใจ นักประวัติศาสตร์ไทยเริ่มมาเถียงกันมากขึ้น เวทีที่พูดเรื่องประวัติศาสตร์ไทยในตอนนั้นนี่มีคนฟังแน่น แล้วก็มีการวิพากษ์ประวัติศาสตร์ ว่าประวัติศาสตร์ชาตินิยมทำไมเป็นแบบนั้น มีคำว่า “สกุลพระยาดำรงฯ” ผมเพิ่งรู้ตอนนั้นเลยว่าประวัติศาสตร์ไทยมีสกุลด้วย ก็คือ School of Thought นั่นแหละ กรมพระยาดำรงฯ นิพนธ์ประวัติศาสตร์ไทยเยอะมาก แล้วก็สร้างต้นแบบของการเขียนประวัติศาสตร์ไทยแบบชาตินิยมซึ่งตอนนั้นก็มีการวิพากษ์กัน มีอย่างน้อย 3 คนที่พูดวิพากษ์ คือกอบเกื้อ สุวรรณทัต นิธิ เอียวศรีวงศ์ ฉลอง สุนทรวานิช ทั้งหมดก็วิจารณ์ประวัติศาสตร์ที่เขียนมาในตอนนั้น ถือว่าเปิดบทเรียนหน้าใหม่ของประวัติศาสตร์ไทยอย่างไม่เคยมีมาก่อน 

นอกจากการวิพากษ์สกุลดำรงฯ แล้ว ก็มีอีกกระแสหนึ่งที่ขึ้นมาว่าจะมีประวัติศาสตร์แบบไหนมากไปกว่าสกุลดำรงฯ ก็มีโฉมหน้าศักดินาไทย โดยจิตร ภูมิศักดิ์  เป็นการวิพากษ์ประวัติศาสตร์ไทยกระแสหลักอย่างหนักหน่วงแบบไม่เคยมีมาก่อน ก่อนนั้นการตีพิมพ์ถูกห้าม แต่กลับมาแพร่หลายหลัง 14 ตุลาฯ โฉมหน้าศักดินาไทยวิพากษ์การปกครอง การขูดรีดแรงงานไพร่-ทาส แต่เนื้อหาอื่นที่จะเอาไปใช้นั้นไม่ค่อยขยายมากไปกว่าที่จิตรเขียนตอนนั้น 

แต่ทำไมโฉมหน้าศักดินาไทยมีอิทธิพลมากขนาดนั้น ทั่วโลกก็มีการเขียนประวัติศาสตร์ตามแนวคิดแบบมาร์กซ์ คือโจมตีตรงๆ เอาข้อมูลที่มีมาสรุปว่าใครเป็นตัวเอก เป็นผู้ร้าย เป็นวิธีประวัติศาสตร์ที่กันทำไม่ยากเท่าไหร่ แต่ส่วนใหญ่จะอยู่ไม่ได้นานเพราะข้อมูล หลักฐานในการตีความมันไม่ซับซ้อน ซื่อๆ แต่กรณีโฉมหน้าศักดินาไทยนั้นผมคิดว่าอยู่ยงคงกระพันมาก มีคนพยายามไปวิพากษ์แต่ก็ไม่พ้นไปจากการยอมรับที่มีคนยอมรับกว้างมาก และไม่มีงานชั้นสองที่จะเอารายละเอียดประวัติศาสตร์ไทยที่พูดถึงการเอารัดเอาเปรียบระหว่างชนชั้นที่มีมิติกว้างขวางกว่านั้นออกมา มันก็เลยเป็นขาวและดำ และทำให้โฉมหน้าศักดินาไทยนั้นดัง แต่ว่าอิทธิพลในทางประวัติศาสตร์จริงๆ ที่จะรับแนวทางแบบที่จิตรใช้กันนั้นทำไม่ได้ ถ้าเขียนตอนนี้ก็โดนมาตรา 112 เท่านั้นเลย 

สิ่งที่จิตรทำไว้ในตอนนั้นคือการเอาหลักฐานโบราณออกมาแสดงว่าจังกอบ ไพร่ ส่วย ภาษีข้าว อะไรต่างๆ มีกี่แบบ เก็บอย่างไร หลักฐานที่มาจากเอกสารโบราณที่เราหาไม่ได้ แต่จิตร อ่านภาษาขอม ภาษาเขมรได้ ตอนหลังติดคุกก็ไปเรียนภาษาจีน อ่านได้หลายภาษา การได้ภาษาชั้นต้นทำให้คำอธิบายของเขามีน้ำหนักที่ถือว่ามีคุณูปการ ผมเลยเดินตามจิตรด้วยการศึกษาประวัติศาสตร์ไทย ถ้าสอนประวัติศาสตร์แล้วไม่ค้นคว้าประวัติศาสตร์นั้นทำไม่ได้ เป็นสัจพจน์เลยว่า นักประวัติศาสตร์ที่ไม่ค้นคว้าหลักฐานชั้นต้นก็ไม่มีทางทำงานประวัติศาสตร์ ได้ คืออาจจะสอนหนังสือได้แต่มันไม่มีความหมาย งานประวัติศาสตร์จึงต้องคู่กับงานค้นคว้างานขั้นต้น ผมไปตามดูว่าไพร่ถูกเรียกยังไง ใช้แรงงานยังไง เขียนบทความเรื่องการใช้แรงงานไทยในอดีต

ประวัติศาสตร์ถูกใช้มากในบรรยากาศการต่อสู้ทางความคิดทางการเมืองที่สูง ฝ่ายก้าวหน้าก็อ้างว่าประวัติศาสตร์จะเปลี่ยนแล้ว ต้องไปสู่การปฏิวัติ เป็นอิทธิพลของสังคมนิยมเพราะปร 2518 เวียดนาม ลาวและกัมพูชานั้นฝ่ายปฏิวัติชนะหมดเลย ฝ่ายก้าวหน้าก็เชื่อว่าสังคมนิยมมาแล้วทำให้การเมืองตอนนั้นมีบรรยากาศขัดแย้งสูงมาก ตอนนั้นผมเลยเขียนปรัชญาประวัติศาสตร์ ของแนวคิดที่โด่งดังในขบวนการฝ่ายซ้าย คือลัทธิมาร์กซ์ ผมคิดว่าความมีพลังของลัทธิมาร์กซ์ก็เพราะมันเป็นการอธิบายประวัติศาสตร์ด้วยทฤษฎีวัตถุนิยม พื้นฐานเป็นหลักของสังคมทุกที่คือเรื่องเศรษฐกิจ การกิน-อยู่ ปัจจัย 4 มาร์กซ์ก็ตอบได้ว่าเพราะมีชนชั้นอันหนึ่งที่คุมปัจจัยการผลิต อีกส่วนหนึ่งเป็นผู้ผลิต จากนั้นก็สร้างผลผลิตส่วนเกินขึ้นมา ทำให้คนกลุ่มหนึ่งรวย กลุ่มหนึ่งจน ผมคิดว่าลัทธิมาร์กซ์ตอบคำถามพวกนี้ได้ทุกมุม ถามยังไงก็ตอบได้ จึงอยากดูว่ามีปรัชญาอะไรที่อธิบายอะไรได้มากกว่านั้นไหม แค่นี้มันง่ายเกินไป จึงเป็นที่มาของปรัชญาประวัติศาสตร์มาร์กซ์ในปี 2519 ก่อนเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ จำไม่ได้ว่าได้ตีพิมพ์ไหม แต่ในปี 2527 หนังสือปรัชญาประวัติศาสตร์ก็ถูกนำมาพิมพ์ใหม่พร้อมกับมีบทความดังกล่าวในนั้น

ที่ผมสอนประวัติศาสตร์ได้เพราะว่ามีทฤษฏีประวัติศาสตร์ คุณไปอ่านประวัติศาสตร์ก็สรุปได้ว่าอะไรคือเหตุและผล ถ้าตอบเหตุและผลได้คุณก็อธิบายประวัติศาสตร์ได้ พูดง่ายๆ คือใครก็เป็นนักประวัติศาสตร์ ได้ คนที่งานเขียนประวัติศาสตร์ที่ขายดีในอเมริกาหรือไทยไม่ใช่นักประวัติศาสตร์ เป็นนักหนังสือพิมพ์บ้าง เป็นนักอะไรอย่างอื่นบ้าง แต่เขาตอบคำถามที่คนอ่านอยากรู้ได้ ทำไมพระเจ้าตากถึงต้องถูกประหารชีวิต เขียนอย่างไรก็ขายดีทุกที

แล้วทำไมผมสอนประวัติศาสตร์อเมริกา ผมไม่ได้เลือกนะครับ หลัง 6 ตุลาฯ ผมอยู่ไม่ได้เพราะไปเขียน ไปอ่านเรื่องที่อยู่ฝ่ายต่อต้านอำนาจรัฐเกินไป ผมก็ลี้ภัยออกไปอยู่ต่างจังหวัด จนกระทั่งสถานการณ์ปกติ ก็ไม่ปกติเท่าไหร่แต่ดีขึ้นหน่อยก็กลับเข้ามาอยู่ในเมือง แต่ว่าทำงานไม่ได้เพราะไม่ไว้ใจสถานการณ์ หลังเลิกรัฐบาลธานินทร์ (กรัยวิเชียร) แล้วยังมีรัฐประหารต่างๆ ในที่สุดก็มีผู้หวังดีแนะนำให้ไปเรียนหนังสือต่อเพราะอยู่ไปก็ไม่รู้จะเจออะไร จึงไปเรียนต่ออเมริกา คนที่ทำให้ผมไปเรียนที่อเมริกาคืออาจารย์เบน แอนเดอร์สัน ที่อยู่มหาวิทยาลัยคอร์แนล เขาก็ติดต่อให้ผมได้ไปเรียนที่นั่น ให้เข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยคอร์แนล แต่ตอนนั้นเข้าไปเรียนที่คอร์แนลไม่ได้เพราะว่าฝ่ายซ้ายไปเยอะมาก จนถูกฟ้องจากสถานทูตอเมริกาถึงอธิการบดีของคอร์แนลว่าไปรับพวกคอมมิวนิสต์เข้ามาทำไม ท่านเลยตัดสินใจไม่รับ อาจารย์เบนแกเลยบอกว่าไม่ต้องมาแล้ว เดี๋ยวจะฝากที่อื่นให้ ซึ่งผมก็โอเค เพราะตอนนั้นรู้แล้วว่าอยู่เมืองไทยไม่ได้

เบน แอนเดอร์สันเลยฝากผมไปกับอาจารย์ยูจีน เยโนเวซี (Eugene D. Genovese) เป็นมาร์กซิสต์ สอนประวัติศาสตร์อเมริกาที่เปิดกว้าง เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์คนผิวดำ พวกฝ่ายซ้ายจำนวนมากค่อนข้างจะปิด เหมือนคนที่เจอสัจธรรมของจริงแล้ว ของอื่นก็ไม่ต้องพูดถึง ที่เหลือของปลอมทั้งนั้น ไม่รับของอื่นเข้ามา ลัทธิมาร์กซ์เขียนอยากตรงที่เอาเรื่องพื้นฐานที่สุดมาทำให้เป็นนามธรรมที่สุด เมื่อคนเชื่อแล้วเลยเชื่อมาก  แต่เยโนเวซีทะเลาะกับคนลัทธิมาร์กซ์คนอื่นๆ มาตลอด ตอนหนุ่มๆ เขาก็สมัครเป็นพรรคคอมมิวนิสต์อเมริกาแล้วไปทะเลาะกับในพรรคจนต้องออก พวกที่ฉลาดๆ เขาก็จะรู้ว่าจริงๆ มาร์กซิสต์จำนวนมากพูดเก่ง แต่ไม่รู้ทฤษฏีจริง อาศัยไม่กี่ข้อวิพากษ์วิจารณ์ฝ่ายตรงข้าม ผมเลยตกลงว่าไปเรียนก็ได้ แม้จะเป็น ประวัติศาสตร์ที่ไม่ชอบ แต่ก็มีเรื่องทาส ตอนนั้นผมต่อรองว่าขอเรียนเรื่องทาสไทยได้ไหม แต่อาจารย์ยูจีนบอกว่าไม่ได้เพราะเขาไม่รู้เรื่องประวัติศาสตร์ไทยใดๆ ทั้งสิ้น รู้จักแต่เรื่องทาสอเมริกา ดังนั้นต้องเรียนทาสอเมริกาเท่านั้น

ตอนเขียนวิทยานิพนธ์ก็เกือบแย่ คิดไม่ออกว่าจะเขียนเรื่องอะไร หัวข้อต่างๆ ที่เสนอไปถูกบอกว่าเขียนยากเพราะไม่มีความรู้เรื่องวัฒนธรรมคนผิวดำ แต่ตอนนั้นคิดว่าอยู่ที่นั่นมีข้อมูลมากและถือเป็นโอกาสที่จะเขียนงานอย่างนั้นได้ แต่อาจารย์ที่ปรึกษาก็ประเมินแล้วว่าทำไม่ได้ ศักยภาพไม่ถึง เพราะภาษาอังกฤษของคนผิวดำเป็นอีกภาษาหนึ่งเลย คนอเมริกันผิวขาวก็มีน้อยคนที่จะเข้าใจ ต้องไปเรียน ไปอยู่ มันเป็นอีกวัฒนธรรมหนึ่งเลย งานเขียนของคนผิวขาวเกี่ยวกับคนผิวดำนั้นง่ายกว่า

บทเรียนจากประวัติศาสตร์อเมริกา

ประวัติศาสตร์อเมริกาสอนอะไรได้บ้าง หนึ่ง ประวัติศาสตร์อเมริกาสอนว่าเจ้าของประวัติศาสตร์คือคนส่วนใหญ่ ประวัติศาสตร์อเมริกาดีอย่างหนึ่งคือมันให้ทุกอย่างแบบทื่อๆ ตรงๆ เพราะสังคมอเมริกาเริ่มจากคนชั้นล่างและชั้นกลาง หลักฐานที่มีคือหลักฐานของคนธรรมดาทั้งนั้น เป็นประวัติศาสตร์ของประชาชนร้อยเปอร์เซ็นต์ แม้คนเขียนจะเป็นปัญญาชน เป็นเจ้าหน้าที่ เจ้าของไร่ เจ้าของทาส แต่เขาไม่สามารถเขียนเอาจุดยืนของชนชั้นมาพูดแทนได้ เพราะตัวอย่างข้อมูลต่างๆ เป็นของประชาชนหมดเลย วันแรกที่ไปเรียนผมยังจำได้เลยว่าอาจารย์เอาเอกสารอย่างคำประกาศเอกราช ทะเบียนบ้าน สำมะโนครัว การจดทะเบียนสมรสในโบสถ์ นั่นคือหลักฐานก่อนที่จะมีเอกราช ผมประหลาดใจมากและคิดว่าถ้าจะหาครอบครัวคนไทยอยู่ตรงไหน ประกอบด้วยอะไรบ้าง ใครมาจากไหน มีรายได้แค่ไหน หาได้มากสุดย้อนไปไกลแค่ไหน หลังปี 2500 ก็ไม่รู้จะหาได้หรือไม่ ถ้ามองย้อนไปในช่วงเดียวกับอเมริกาได้เอกราชคือปลายอยุธยา ต้นรัตนโกสินทร์ อเมริกามีหลักฐานพวกนี้หมดแล้ว เขาศึกษาจากหลักฐานชั้นต้นอยู่เลย แต่บ้านเราถ้าลงไปหาคือยังคงเป็นไพร่แป็นทาส เขียนหนังสือก็ไม่เขียน พระก็ไม่จดหลักฐานไว้ เรื่องนี้ถือว่าใหญ่มากว่าทำไมประวัติศาสตร์นิพนธ์ไทยทำไมเป็นแบบนี้ เอาแค่เรื่องการเกิดขึ้นของหลักฐานก็ทำให้เรารู้สึกมหัศจรรย์มากแล้ว

อุดมการณ์ อำนาจอันชอบธรรมมาจากประชาชน คำถามนี้จบตั้งแต่วันแรกที่เขามาตั้งอาณานิคม คือวันที่ชาวบ้านมาตั้งรกรากแล้วปกครองกันเอง อังกฤษที่มาทีหลังก็ปกครองในส่วนบน ข้อค้นพบที่ผมคิดว่าใหญ่มากคือ อเมริกาปกครองตนเองก่อนที่อำนาจรัฐส่วนกลางหรือรัฐบาลกลางจะเกิด ประวัติศาสตร์ไทยนั้นรัฐเกิดก่อนแล้วจึงเกิดหมู่บ้าน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน การกระจายอำนาจของไทยจึงยากมากเพราะมันเข็นครกขึ้นภูเขา แต่ของอเมริกานั้นอำนาจส่วนกลางต้องวิ่งลงมา ประชาธิปไตยไทยกับอเมริกาจึงสวนทางตลอดเวลาตั้งแต่เริ่มต้น

สอง ประวัติศาสตร์เป็นพื้นที่กลางในการเรียนรู้และสำนึกร่วมกันของปัจเจกและชุมชน คือการสร้างอัตลักษณ์ของคน ทันทีที่ประวัติศาสตร์อเมริกาถูกเผยแพร่ ถูกผลิตซ้ำขึ้นมา มันค่อยๆ กลายเป็นพื้นที่กลางให้คนทุกกลุ่มที่อยู่ในสังคมเข้ามาค้นหาความเป็นตัวของตัวเอง เช่น เขาเป็นใคร มาจากไหน จะไปทางใดได้บ้าง ข้อนี้จะชัดมากถ้าเทียบกับประวัติศาสตร์ไทย

สาม ทุกสังคมมีความขัดแย้ง แม้แต่ในสังคมที่เริ่มกันอย่างเสมอหน้าก็ยังมีอะไรให้ทะเลาะกันอีก อย่างเรื่อง racism การเหยียดผิว เหยียดเชื้อชาติต่างๆ อันนี้เป็นประเด็นที่ศึกษาเรื่องหลังเลิกทาสเมื่อกลางศตวรรษที่ 19 พบว่าสิ่งที่เรียกว่า racism ที่ใช้ปัจจุบันผ่านกฎหมาย วัฒนธรรม นโยบายเศรษฐกิจ สังคมต่างๆ ทำให้อเมริกาทะเลาะเบาะแว้งกันใหญ่ อันนี้ต้องบอกว่าเกิดหลังการเลิกทาส racism คนก็งงว่าเป็นไปได้ยังไงเพราะมีทาสมาตั้งแต่อาณานิคมแล้ว เพราะคนคิดว่าการเอาคนผิวดำมาเป็นทาส ทำให้เกิด racism ซึ่งก็จริงระดับหนึ่ง แต่ถ้าพูดกันในความหมายชัดๆ ว่า racism เป็นการดูถูกเชิงระบบ เชิงสถาบัน ใช้มันเป็นเครื่องมือกดขี่คนอีกเชื้อชาติหนึ่งนั้นมันเกิดขึ้นหลังสงครามกลางเมือง เพราะสมัยที่ระบบทาสยังอยู่นั้นมันมีการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างทาสกับนายทาสในแบบระบบอุปถัมป์ อาจารย์เยนโนเวซีใช้ชื่อเรียกว่าปิตาธิปไตย (Patronism) เพราะนายทาสคือพ่อบ้าน แล้วเรือกสวนก็เป็นบ้านใหญ่ ทุกคนในบ้านก็อยู่ใต้การดูแลของพ่อ การดูแลคนขาว-ดำ ก็ได้รับการดูแลไม่เท่ากัน แต่มันจะมีความรับผิดชอบร่วมกันและดูแลกันไม่ให้อีกฝ่ายถูกทำลายลงไปในแบบที่ยอมรับไม่ได้ อันนี้เป็นข้อถกเถียงที่นักประวัติศาสตร์ฝ่ายซ้ายหลายคนรับไม่ได้ เขามองว่าเป็นการฟอกสีให้นายทาส เพราะอย่างไรนายทาสก็เป็นผู้ร้าย แต่ในอเมริกานั้นมีหลักฐานมาก มีคนค้นหลักฐานมาพิสูจว่านายทาสภาคใต้มีการรักษาพยาบาล มีห้องพยาบาล หรือพาทาสไปหาหมอ มีแพทย์ที่สั่งยาให้ทาส มีให้รางวัลวันคริสต์มาส ปีใหม่หรือเทศกาลต่างๆ ปัญหาคือมันทำอย่างนี้กี่เปอร์เซ็นต์ และมีคนเสนอว่าระบบทาสเป็นการจัดการ ไม่ใช่ระบบการกดขี่ แต่ละฝ่ายก็เถียงกันแบบไม่มีใครยอมใคร 

ผมก็เชื่ออาจารย์ผม แล้วเอาทฤษฎีแกมาใช้ ที่เชื่อเพราะผมดูสังคมไทยแล้ว ถ้าเรารับเอาทฤษฏีปิตาธิปไตยมาใช้ มันจะอธิบายได้ว่าทำไมระบบทาส-ไพร่ไทยถึงยืนยงมาถึง ร.5 หลังเลิกทาสเราจะพบว่ามีอดีตลูกทาสไปร้องเรียนหนังสือพิมพ์ว่าเอานี่ไปขัดดอกไม่ได้ ลำบากมากเลย คนที่ต่อต้านการเลิกทาสไม่ใช่คนชั้นสูงหรือมีการศึกษา คนที่เลิกทาสคือคนที่เชื่อฝรั่ง รับความคิดสมัยใหม่ แต่คนที่รับผลสะเทือนคือชาวบ้าน ฝ่ายชนชั้นนำสยามพยายามอธิบายว่าระบบทาสไทยเป็นระบบที่ไม่ทารุณ ฝรั่งที่เข้ามาก็เขียนว่าระบบทาสไทยดีกว่ากรรมกรในอังกฤษเสียอีก นี่จึงเป็นที่มาของทฤษฎีปิตาธิปไตย จึงเป็นที่มาของทฤษฏีนั้นว่า ถ้าพ่อบ้านคุมลูกบ้านอยู่ได้ ให้ทำตามหน้าที่และเรามีหน้าที่ดูแลเขา สังคมมันก็จะมีความสมานฉันท์ ถ้าสังคมอยากมีความขัดแย้งก็เดินไปตามตรรกะหรือพัฒนาการที่ผู้มีอำนาจต้องการให้เกิด อันนี้เป็นคำอธิบายว่าทำไมสังคมเชิงศักดินาถึงแทรกอยู่ในทุกอณูสังคม ทุกวันนี้ก็ยังไม่หมดไป การปกครองทุกวันนี้ของไทยก็ยังใช้ระบบอุปถัมภ์ มีพ่อบ้านเป็นใหญ่ ลองไปดูพรรคการเมืองที่อยู่ในตอนนี้ โดยเฉพาะพรรคที่อยู่กับรัฐบาล กำลังใช้ระบบปิตาธิปไตยเพื่อคุมบรรดาลูกพรรคที่เป็นกึ่งทาสกึ่งไพร่ให้อยู่ในอำนาจของผู้เป็นใหญ่เพื่อไปบรรลุเป้าหมายของกลุ่มเขา

เมื่อลงไปทำประวัติศาสตร์อเมริกานานๆ โดยเฉพาะเรื่องคนผิวดำ ผมก็เจอสิ่งที่จะไม่พบถ้าอยู่ข้างนอกคือแนวคิดของปัญญาชนคนผิวดำ วิลเลี่ยม ดูบอยซ์ (W. E. B. Du Bois) ที่เขียนงานชื่อ The Soul of Black Folk เขาบอกว่าคนอเมริกันนิโกรรู้สึกตลอดว่ามีความเป็นทวิลักษณ์ มีความเป็นอเมริกันและนิโกร เป็นสองวิญญาณ สองความคิด ความพยายามที่จะต้องอยู่ แต่สองอย่างนั้นมันไม่เคยอยู่ด้วยกันได้ ประวัติศาสตร์การต่อสู้ของคนผิวดำคือการบรรลุถึงความเป็นมนุดที่สมบูรณ์ คือการผสานสองอย่างให้เข้ากันให้ได้ เมื่อนั้นการเป็นคนผิวดำในอเมริกาก็จะบรรลุจุดหมาย ผมคิดจากมุมคนนอกก็มองว่ามันยากขนาดนั้นเลยหรือ ผมคิดว่าถึงสังคมไทยก็มีหลายอัตลักษณ์ แต่การต่อสู้ของความเป็นอื่นเพื่อเข้ามาในความเป็นไทยมันไม่รุนแรงเท่า ผมชอบอย่างที่ธงชัย (วินิจกุล) ให้นิยามไว้ว่ามันไม่มีหลักการที่ยึดเอาไว้ มันลื่นไหลตลอดเวลา มันถึงอยู่มาได้นานขนาดนี้ ความเป็นไทยจึงไม่เหมือนความเป็นอเมริกัน ความเปนมอเมริกาแม้ลื่นไหล แต่ก็มีหลักหนึ่งที่ทำให้เรื่องเชื้อชาติปะทะกันอยู่ มีอเมริกันคนอื่นไม่ให้เข้า สำหรับของความเป็นไทย ถ้าเราอยากเข้ามันก็มีคนที่เปิดประตูให้เข้ามา

อีกอย่างหนึ่งที่ได้โดยบังเอิญที่ทำให้ผมเขียนอะไรได้เยอะมากคือบทบาทวรรณกรรมของคนผิวดำ พวกเขาสู้ทุกวิถีทางมาตั้งแต่สมัยยังเป็นทาส สิ่งหนึ่งที่ผมคิดว่าเขาสร้างแล้วมีพลัง โดยเฉพาะในเวลาที่เวทีอื่นปิดก็คืองานวรรณกรรม งานเขียน คำพรรณาของทาสผิวดำถูกเผยแพร่ตั้งแต่แรกๆ มาถึงตอนนี้ยิ่งค้นก็ยิ่งเจอ ถือเป็นหลักฐานชั้นต้นที่มหึมามาก ทำให้ผมเห็นว่ามีความต่อเนื่องของวรรณกรรมในการต่อสู้เพื่อคนผิวดำตลอดเวลาและเข้มข้น จนกระทั่งเมื่อต้นเดือน ส.ค. ที่ผ่านมาที่นักเขียนรางวัลโนเบล โทนี มอร์ริสัน ตาย ก็มีการวิพากษ์งานมอร์ริสันใหม่ มีคนบอกว่าที่ผ่านมาสังคมอเมริกันให้ความสำคัญกับงานเขาน้อยไป 

ผมมาสรุปเองว่าในแง่ประวัติศาสตร์ คนเขียนผิวดำใช้ประวัติศาสตร์เยอะ อันแรกที่เขาค้นพบคือเขามีหลักฐานคำเอารัดเอาเปรียบเยอะมาก และประวัติศาสตร์เป็นเรื่องแรกที่เขาต้องใช้ และทำอย่างไรให้มีพลัง นัเขียนผิวดำก็ใช้ทุกอย่างทั้งแบบทื่อๆ หาพระเอก ผู้ร้าย ต่อมาก็มีพระเอกในผู้ร้าย ในผู้ร้ายมีพระเอก คุณจะไปพูดแต่เรื่องผิวดำแต่ไม่พูดเรื่องผิวขาวเลย มันก็เข้าสู่ความเป็นจริงของปัญหาไม่ได้ ผมคิดว่ามอร์ริสันก็ใช้วิธีการเดียวกันที่ว่ายิ่งมีปัญหาการเหยียดหยาม การกดขี่ ยิ่งต้องดึงความเป็นผิวขาวเข้ามาอย่างลึกซึ้งให้ถึงขั้นจิตสำนึกของการกดรัด บีบคั้น ไกลกว่าเรื่องกฎหมาย

วิธีการสร้างวรรณกรรมของคนผิวดำนำไปสู่ข้อคิดอันหนึ่งว่า เราสามารถทำลายประวัติศาสตร์ “ที่เป็นเอกภาพแต่ว่ามีกาละอันว่างเปล่า (Homogenous-empty time)” อันนี้เป็นวลีของวอลเตอร์ เบนจามินที่เบน แอนเดอร์สันชอบมาก และชุมชนจินตกรรมก็สร้างมาจากแนวคิดนี้ เมื่อไหร่ที่คนไม่มองอดีตแบบที่มาจากสุโขทัย อยุธยา รัตนโกสินทร์ เขาจะเห็นความเป็นชาติ ความเป็นชาติของชุมชนก็จะเกิดขึ้น ผมคิดว่างานวรรณกรรมของนักเขียนผิวดำ มันบ่อนเซาะประวัติศาสตร์ที่เป็นเอกภาพแต่ไม่มีเวลา แต่มีเส้นเวลาที่กำหนดไว้ในการเล่าเรื่องของประวัติศาสตร์ใหญ่ของชาติ แต่เมื่อคุณซึมซับประวัติศาสตร์คนผิวดำแล้วจะรู้ว่าประวัติศาสตร์อเมริกามันไม่ได้เดินเป็นเส้นตรงแบบที่ถูกสอนมาในหนังสือเรียน

เหวลึกประวัติศาสตร์ไทย ทำไมสั่นคลอนยาก

สุดท้าย ผมว่าประวัติศาสตร์ไทยเหมือนเหวลึกที่ไม่รู้ว่าก้นบึ้งอยู่ตรงไหน ลงไม่ได้เพราะไม่เห็นก้นบึ้ง และไม่มีใครอยากลงเพราะลงแล้วขึ้นไม่ได้ ผมมาเรียนประวัติศาสตร์ไทยเองในตอนหลัง ก็พบว่ามีข้อสรุปสามข้อ หนึ่ง ตรงข้ามกับประวัติศาสตร์อเมริกา เรารู้เลยว่าใครเป็นเจ้าของประวัติศาสตร์ เขียนเพื่อเป้าหมายอะไร ไม่ต้องมาเถียงหรือเสียเวลากับเรื่องนี้ มันอยู่ในตำราทุกตำรา แล้วที่ผมว่ามันเป็นหุบเหวเพราะว่า ถ้าเริ่มต้นจากสมัยกรมพระยาดำรงฯ คือสมัย ร.5 มาก็ร้อยกว่าปี แกนของเส้นเรื่องกระแสหลักไม่เคยเปลี่ยน เคยถูกท้าทายด้วยฝ่ายซ้ายหรือโฉมหน้าศักดินาไทยนิดหน่อย คือถูกกระเทือนแต่ไม่กระทบถึงขั้นเปลี่ยนอะไรไปได้ เป็นประวัติศาสตร์กระแสหลักที่คงทนอาจจะมากที่สุดในโลก ไม่มีประวัติศาสตร์ชาติไหนยืนยงคงกระพันและรักษาคำบรรยายหลักได้เท่านี้ คุณจะใช้หลักปรัชญา ทฤษฎีใดมาจับก็จะพบว่าประวัติศาสตร์ไทยก็ไม่สะดุ้งสะเทือน

ผมมานึกว่าทำไมการเรียนประวัติศาสตร์ถึงได้ยาก ผมได้ทุนไปเป็นศาสตราจารย์รับเชิญที่มหาวิทยาลัยเกียวโต ที่ศูนย์ศึกษาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่หนึ่งปี ผมตัดสินใจจะเขียนประวัติศาสตร์ความคิดทางการเมืองไทย แล้วก็จะได้หนังสือมาเล่มหนึ่ง แต่ก็เท่านั้นเอง กลายเป็นว่าอธิบายประวัติศาสตร์ไทยไม่ได้ ผมพบว่าความยากลำบากของคนที่จะเรียนประวัติศาสตร์ไทยของคนนอกคือมันไม่มีหนังสือที่พูดประวัติศาสตร์ไทยแบบฉบับทั่วไปที่เชื่อถือได้ จริงๆ แล้วมันมี แต่ว่ามันมีหลังจากที่ผมกลับมาแล้ว คือ Short History of Thailand แต่ก็หนา 300 หน้า เพิ่งตีพิมพ์มา 10 กว่าปีนี้ แต่เล่มนี้ก็ยังยาก อีกเล่มที่คิดว่าตอบโจทย์ได้คือ History of Thailand โดยคริส เบเกอร์ กับผาสุก พงษ์ไพจิตร เขียนเป็นภาษาอังกฤษแล้วแปลเป็นไทยเมื่อไม่เกิน 10 ปีมานี้ 

ตอนที่ผมเริ่มศึกษาก็ไม่รู้ภาพรวม ผมเลยสงสัยว่าทำไมไม่มีคนเขียนประวัติศาสตร์ไทยฉบับง่ายๆ แต่ลึกๆ  คิดว่าคำตอบคือหลายสิบปีที่ผ่านมา สมมติฐานการเขียนประวัติศาสตร์กระแสหลัก คือแบบกรมพระยาดำรงฯ ไม่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ ไม่มีการแลกเปลี่ยน ต่อยอด เสริมสร้างหรือแตกแขนง การอธิบายที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ไทยเป็นการตอบโต้คนวิพากษ์วิจารณ์ประวัติศาสตร์ไทย แทนที่จะเขียนประวัติศาสตร์ไทยที่รับกับยุคสมัย ก็ไม่มีเวอร์ชั่นนั้น นอกจากนั้นยังมีวิธีปฏิบัติของทางการอีกคือการชำระประวัติศาสตร์ มันเริ่มตั้งแต่ต้นรัตนโกสินทร์ ที่มีพงศาวดารไทยสมัยฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ ก็มีการเรียกไปชำระประวัติศาสตร์ให้ตรงตามคติชนชั้นนำรัตนโกสินทร์รับได้ กรมพระยาดำรงฯ ก็ชำระพงศาวดารที่เจ้าพระยาทิพากรวงศ์เขียน ก็พบว่ากรมพระยาดำรงฯ มีแก้คำ อะไรที่เป็นคำว่าลาวก็ขีดทิ้ง เปลี่ยนเป็นคำว่าไทย มีการชำระจริงๆ 

มาสมัยจอมพล ป. ก็ตั้งกรรมการชำระประวัติศาสตร์ สังกัดสำนักนายก ทำหน้าที่เป็นจริงเป็นจัง ถ้าหากคุณต้องชำระประวัติศาสตร์ แปลว่าประวัติศาสตร์คุณไม่โต เหมือนสกปรกไม่ได้ ไม่มีใครมาทำให้แปดเปื้อน ประวัติศาสตร์มันต้องถูกทำให้แปดเปื้อนมันถึงจะโต เหมือนเด็กที่ต้องให้ไปเล่นดินเล่นโคลน ถ้าชำระล้างอย่างเดียว ให้อาบแต่น้ำ อยู่แต่ในห้องแอร์ ไม่มีอณูอะไรมาแตะต้องได้เลย แล้วมันจะเติบโต มีสติปัญญากับเขาได้ไหม ผมคิดว่าประวัติศาสตร์ไทยคือประวัติศาสตร์ในห้องไอซียู มันน่ากลัวมาก มันเหมือนเป็นเหวลึก แต่คนไม่เข้าใจ ไม่นึก กลับไปดีใจว่าประวัติศาสตร์เราครบถ้วน อธิบายดีทุกอย่างตั้งแต่ต้นจนจบและยังอธิบายต่อไปถึงข้างหน้า ยุทธศาสตร์ชาติวางอยู่บนประวัติศาสตร์ไทยร้อยปี ก็มันเป็นมาแบบนี้และจะเป็นต่อไปแบบนี้อีกร้อยปี 

การที่ประวัติศาสตร์ไทยแบบกระแสหลักอยู่มาได้นั้นผมคิดว่าเพราะมันมีมิติความเป็นสมัยใหม่อยู่ในนั้น ผมไปดูวิธีการเขียนของกรมพระยาดำรงฯ ทำไมใช้สุโขทัยเป็นแกนการเดินเรื่อง แล้วก็พบว่าไม่ใช่บังเอิญ มันเป็นการกระทำ ค้นคว้าอย่างมีหลักฐานอย่างนักวิชาการจริงๆ มีผู้ช่วยนักวิจัยที่ดีมากก็คือ จอร์จ เซเดส์ นักโบราณคดีมือหนึ่งจากสำนักบูรพทิศจากฝรั่งเศส มาทำงานที่เวียดนาม กัมพูชา ขุดค้นอะไรต่างๆ เยอะแยะ แล้วกรมพระยาดำรงฯ ก็ไปเชิญมาตั้งหอสมุดที่กรุงสยามและอยู่ช่วยขุดค้นอีกเป็นสิบปี งานสองเล่มแรกคืองานการอ่านศิลาจารึกที่แปลมาจากเซเดส์ และอีกเล่มคือตำนานพุทธเจดีย์สยามของกรมพระยาดำรงฯ ทฤษฏีทั้งหมด ชาตรี ประกิตนนทการอธิบายไว้แล้ว ทำให้ปิ๊งเลยว่ากรมพระยาดำรงฯ ค้นพบทฤษฎีอธิบายพัฒนาการอิทธิพลอินเดียผ่านศิลปะ พระพุทธรูป วัฒนธรรม พบว่าความเป็นไทยเกิดจากอารยธรรมอินเดียที่ถูกควบรวม ตอนนั้นวัฒนธรรมอินเดียเป็นของจริง เซเดส์ก็สร้าง Indianized state of Southeast Asia ขึ้นมา แล้ว แต่ไอเดียความเป็นอินเดียในไทยนั้นดีกว่าที่อื่น เพราะสุโขทัยปลดปล่อยตัวเอง เซเดส์บอกว่าพระพุทธรูปสุโขทัยสะท้อนการที่คนไทยปลดปล่อยตัวเอง  เห็นแสงสว่างทางปัญญาพวยพุ่งขึ้นมา อันนี้เป็นการเล่าเรื่องของตะวันตกร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่มีในโลกที่สามที่ชนพื้นเมืองจะปลดปล่อยตัวเองด้วยเสรีภาพ ถ้าจะปลดปล่อยก็คือไปสู่ความเชื่อทางศาสนา เสรีภาพเป็นตรรกะการรู้แจ้งที่ปัจเจกชนเอาชนะศาสนจักร ไม่เคยเกิดปรากฏการณ์นี้เกิดในวัฒนธรรมตะวันออก เดี๋ยวนี้ก็ยังไม่เกิด

แต่พอมาใช้กับประวัติศาสตร์ไทยในตอนนั้นมันเข้ากัน เป็นเหตุเป็นผลว่าทำไมกรุงเทพฯ ต้องเป็นศูนย์กลาง ค่อยๆ เลื่อนมาจากสุโขทัย อยุธยา แล้วก็เอาพระพุทธรูปต่างๆ มาเก็บไว้ที่วัดเบญฯ เหมือนที่ฝรั่งเศสเอาปิรามิดอียิปต์ไปอยู่ที่ฝรั่งเศส ลอนดอน กกรุงเทพฯ ก็ทำแบบเจ้าอาณานิคมตอนนั้น คำอธิบายประวัติศาสตร์ไทยจึงมีพลัง มันทำด้วยความยากลำบากและวิพากษ์ลงไปได้ยาก สำนักศิลปากรตอนนี้ยังคงยึดทฤษฏีพุทธศิลป์ 7 สมัยของกรมพระยาดำรงฯ ไว้ ศิลาจารึกก็เป็นที่วิพากษ์กันมาก แต่ก็จบลงที่ไม่สะเทือน ประวัติศาสตร์ไทยยืนยงคงกระพันมาก อันนี้เป็นที่มาของเหวลึก

ความเป็นสมัยใหม่ของประวัติศาสตร์ไทยนำมาซึ่งการขัดกัน ผมไม่อยากโยนเป็นความผิดของกรมดำรงฯ หรือชนชั้นนำสมัย ร.5 คือสังคมมันเปลี่ยนไป การสร้างความเป็นชาติให้ประวัติศาสตร์สุโขทัยมาในสมัยหลวงวิจิตรวาทการ ยุคจอมพล ป. สงครามโลกครั้งที่สอง อาจจะหนักข้อกว่ายุคแรก แต่พอมันเกิดการขัดกันเรื่องเสรีภาพที่ทางหนึ่งไปกดทับเสรีภาพของคนอื่น ประวัติศาสตร์ในตัวมันเองจึงมีทั้งความเป็นสมัยใหม่และก่อนสมัยใหม่ มีการใช้โครงสร้างและวิญญาณของพงศาวดารแบบโบราณเข้ามากำกับแนวคิดที่ได้รับมาจากที่ต่างๆ

ประวัติศาสตร์ไทยยังเป็นพื้นที่เฉพาะ พื้นที่หวงห้ามที่ไม่เปิดให้คนทั่วไปเข้าไปถกเถียง หาอัตลักษณ์หรือตัวตนต่างๆ ฉะนั้น เมื่อเปรียบเทียบประวัติศาสตร์ไทยที่เรารู้จักกันมาที่ถูกสร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัย ร.5 เป็น Siamese Orientalism เพื่อวิพากษ์พวกนักวรรณคดีอังกฤษ ตะวันตกที่ไปศึกษาตะวันออก ทั้งๆ ที่มันใช้ความรู้สึกของตะวันตกเข้าไปจับ ข้อมูล หลักฐานเป็นแบบตะวันออก แต่การตีความเป็นแบบตะวันตก ผมก็ติงเลยว่า ชนชั้นนำ ร.5 ที่อ่านและสร้างประวัติศาสตร์ใช้วิธีการเดียวกันเหมือนชาติอาณานิคมตะวันตกเลย คืออ่านแล้วก็มาตีความ ตัดรองเท้าให้เข้ากับเกือกของฝรั่ง ประวัติศาสตร์ ไทยเลยตอบสนองการเข้ามาอย่างชอบธรรมของ กทม. การปกครองแบบรวมศูนย์อย่างเหมาะเจาะ 

ประวัติศาสตร์ในห้องไอซียูก็กลายเป็นประวัติศาสตร์อันตราย ถ้าเทียบกับประวัติศาสตร์อเมริกา การจะไปหาอะไรที่เป็นแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่นั้นน้อยมาก ประวัติศาสตร์ไทยที่ผมค้นคว้ามากสุดคือประวัติศาสตร์ปัตตานี จึงได้หนังสือชื่อทฤษฏีแบ่งแยกดินแดน ผมเสนอว่าการแบ่งแยกดินแดนเป็นทฤษฏีที่รัฐไทย หลังสมัยจอมพล ป. ใช้กล่าวหานักการเมืองท้องถิ่นหรือเป็นศัตรูกับรัฐบาลกลาง กลุ่มแรกที่โดนคือพวกอีสาน ปัตตานีมาโดนทีหลังแต่ว่าอยู่นานกว่า นี่คืออันตรายของประวัติศาสตร์ไทย ทุกวันนี้ปัตตานียังเขียนประวัติศาสตร์ตัวเองไม่ได้ ตอนที่เขียนเล่มนี้แล้วไปเปิดตัวตาม บก. ที่ต่างๆ ก็โดนถามเยอะ ว่าผมเขียนจากคนไม่รู้เรื่อง ผมไม่ได้อยู่ในปัตตานี ซึ่งมีพวกชาวบ้านเขามาบอกผมว่า ถ้าที่นี่เขียนคือตาย ต้องให้คนกรุงเทพฯ เขียน 

ผมคิดว่าการเรียนประวัติศาสตร์ไม่ใช่แค่การสอนบทเรียน แต่คือการซึมซับความจริงในประวัติศาสตร์ ผมคิดว่าประวัติศาสตร์สมัยใหม่เน้นความเป็นจริงว่ามันคืออะไร ความเป็นจริงตัวเดียวนี่แหละที่ทำให้เกิดการค้นคว้า การศึกษาออกมา ในความเปลี่ยนแปลงนั้นทำให้เราไปเจอว่าในตัวประวัติศาสตร์มีความเปลี่ยนแปลง มันไม่หยุด แต่ถ้ามันหยุดก็จบ ก็ไม่ต้องดู สอง ต้องไม่ทำให้ทรรศนะทางประวัติศาสตร์เป็นสำนักเดียว ต้องเปิดให้มีการวิพกษ์ โต้เถียงปัญหาในประวัติศาสตร์ ถ้าหากรัฐหรือคนมีอำนาจพูดแล้วอิงประวัติศาสตร์แล้วจบเลย นั่นไม่เป็นผลดีของการสร้างและการมีประวัติศาสตร์ นันคือเหตุผลที่ทำให้การเรียนประวัติศาสตร์ไม่สนุก สุดท้าย การสอนให้รู้จักการตีความของปรากฎการณ์ที่เห็นในเหตุการณ์ต่างๆ คือการทำความเข้าใจภววิสัย ที่สุดแล้วประวัติศาสตร์เริ่มจากการมีหลักฐาน มีข้อมูล แต่จะไม่เกิดเป็นประวัติศาสตร์ถ้าไม่มีคนเอามาเรียบเรียง เล่า พรรณาสิ่งที่เล่าออกมา 

ตัวอย่างที่เจอคือกำเนิดมหากาพย์มหาภารตะที่เป็นเรื่องเล่าสงครามยาวเหยียด ในเนื้อเรื่อง ก่อนที่จะเริ่มบันทึกก็มีฤาษีที่อยากจะเล่าเรื่องให้คนได้รู้ ก็ไปหาคนที่มีความสามารถบันทึกเรื่องนี้ คือพระพิฆเนศ แต่ก่อนจะลงมือเขียน ฤาษีบอกว่า ต้องคิดว่ารู้ เข้าใจ แล้วเขียน ไม่ใช่เขียนส่งเดช ผมฟังแล้วก็ปิ๊งเลยว่าฤาษีสอนหัวใจของประวัติศาสตร์ ทุกวันนี้เรามีคนอยากเขียนเยอะมาก แต่ไม่รู้เรื่องจริง เราเจอข้อมูลที่คนผ่านมาไม่รู้เลยว่าเกิดอะไร แต่นี่คือสิ่งที่เขาต้องการ ประวัติศาสตร์ต้องทำให้คนเขียนและอ่านเข้าใจว่าความจริงคืออะไร ไม่ใช่แค่รู้แล้วเล่ามันต่อไปแบบไม่มีอะไรเกิดขึ้นหรือไม่รู้ว่ามันคืออะไร นี่คือเหวลึกของประวัติศาสตร์ไทย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net