Skip to main content
sharethis

นิตยสาร Foreign Policy วิเคราะห์สถานการณ์ประท้วงอย่างต่อเนื่องในฮ่องกงที่ยกระดับจากประเด็นต่อต้านกฎหมายลิดรอนเสรีภาพจากจีนมาเป็นเรียกร้องเสรีภาพทางการเมืองและต่อต้านอิทธิพลจีนแผ่นดินใหญ่ โดยเปรียบเทียบกับการประท้วงต่อต้านรัฐบาลอำนาจนิยมอื่นๆ ก่อนหน้านี้ รวมถึงในแง่ที่ว่าการประท้วงนี้จะกลายเป็นแบบเดียวกับเหตุการณ์ที่จัตุรัสเทียนอันเหมินในปี 2532 หรือไม่

ผู้ชุมนุมคัดค้านร่างกฎหมายส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. 62 ที่ฮ่องกง
(ที่มา: เอื้อเฟื้อภาพโดย Indira V.)

16 ส.ค. 2562 บทวิเคราะห์ของ จูด บลานเชตต์ เผยแพร่ในสื่อ Foreign Policy เมื่อ 14 ส.ค. เปรียบเทียบเหตุการณ์ประท้วงรอบล่าสุดในฮ่องกงกับกรณีการประท้วงในกรุงบูดาเปสต์ ประเทศฮังการี เมื่อเดือน ต.ค. 2499 ในเหตุการณ์ครั้งนั้นมีนักศึกษาและคนงานเดินขบวนประท้วงต่อต้านการปกครองของสหภาพโซเวียตและเรียกร้องให้ทางการโซเวียตเลิกครอบงำทางการเมืองพวกเขา

เหตุการณ์ดังกล่าวนี้คล้ายกับการประท้วงครั้งล่าสุดในฮ่องกงตรงที่แรกเริ่มมันเป็นการประท้วงที่ไม่มีแกนนำโดยส่วนใหญ่ แรงจูงใจจากการประท้วงในครั้งนั้นมาจากการใช้กำลังอย่างรุนแรงมากขึ้ยของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และการประท้วงก็ยกระดับขึ้นกลายเป็นการปฏิวัติต่อต้านรัฐบาลที่คนส่วนใหญ่มองว่าเป็นหุ่นเชิดของสหภาพโซเวียต

พอถึงช่วงปลายเดือน ต.ค. ฝ่ายสหภาพโซเวียตมีท่าทีว่าจะเจรจาถอนทัพโซเวียตออกจากประเทศของพวกเขาและมีการเตรียมการสำหรับรัฐบาลใหม่แล้วแต่เหตุการณ์ก็กลับตาลปัตรในช่วงกลางดึกวันที่ 4 พ.ย. เมื่อโซเวียตนำรถถังบุกเข้าเมืองฮังการีทำให้ประชาชนนับพันนับหมื่นคนเสียชีวิต เหตุการณ์นองเลือดนี้ทำให้เกิดการประณามจากนานาชาติแต่ก็ไม่มีปฏิบัติการใดๆ โต้ตอบ การปราบปรามประชาชนในครั้งนั้นยังทำให้โซเวียตกลับมาควบคุมทางการเมืองได้สำเร็จ อย่างน้อยก็จนกว่าจะเกิดการล่มสลายของสหภาพโซเวียตในอีก 30 กว่าปีต่อมา

พรรคคอมมิวนิสต์จีนเองก็มีความหมกมุ่นอยู่กับชะตากรรมของโซเวียต ทำให้บลานเชตต์ประเมินความเป็นไปได้ว่าประธานาธิบดีสีจิ้นผิงของจีนกำลังวางแผนปราบปรามผู้ชุมนุมด้วยความรุนแรงหลังจากการประชุมเหล่าผู้นำประจำปีเมื่อไม่นานนี้ โดยใช้แนวคิดแบบเดียวกับโซเวียตในตอนนั้นคือพวกเขายอมใช้กำลังความรุนแรงแทนที่จะถูกมองว่ามีความอ่อนแอทางการเมืองหรือปล่อยให้มีการแยกตัวเป็นอิสระ

อย่างไรก็ตามมีบางคนโต้แย้งว่าทางการจีนจะไม่ใช้ความรุนแรงเพราะกังวลเรื่องชื่อเสียงในเวทีโลกและกลัวแรงสะท้อนกลับจากภายในบ้านตัวเอง คนที่พูดถึงเรื่องนี้คือเคอร์รี บราวน์ จากคิงส์คอลเลจลอนดอนที่ประเมินว่าถ้าทางการจีนทำอะไรโฉ่งฉ่างเกินไปมันอาจจะถูกเรียกว่าเป็น "เทียนอันเหมิน 2.0" ซึ่งทางการจีนคงไม่อยากให้ชื่อเสียงของตัวเองกระทบกระเทือนจากจุดนี้

แต่บทความของบลานเชตต์ก็ชี้ว่าถ้าหากจีนทำตามสิ่งที่ประเทศการเมืองแบบพรรคเดียวทำมาตลอด พวกเขาจะเดินหน้าปราบปรามผู้ชุมนุมต่อไปเพราะจีนจะว่าผลสะท้อนและการตอบโต้จากต่างชาตินั้นเป็นเรื่องที่จัดการได้ แต่การจะเอาอำนาจอาญาสิทธิทางการเมืองที่สูญเสียไปกลับมานั้นเป็นเรื่องยาก และนั่นเป็นทัศนคติของจีนที่มองฮ่องกงในขณะนี้

บลานเซตต์ชี้ว่าการประท้วงในครั้งนี้มีผลพวงต่อเนื่องมาจากการปราบปรามผู้ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยขบวนการร่มในปี 2557 ด้วย เพราะการปราบปรามในครั้งนั้นสร้างความรู้สึกดิ้นรนจากความสิ้นหวังในหมู่ประชาชนจนกลายมาเป็นขบวนการที่อยู่ในระดับรากหญ้าและไร้ผู้นำ จนกระทั่งในสถานการณ์ล่าสุดมีการชุมนุมประท้วงที่สนามบินนานาชาติฮ่องกง โดยถึงแม้ว่าความรุนแรงส่วนใหญ่จะมาจากตำรวจ แต่ในวันที่ 12 ส.ค. ที่ผ่านมาก็มีกรณีที่ผู้ประท้วงทำร้ายคนที่พวกเขาสงสัยว่าเป็นผู้แทรกซึมเข้ามา ขณะที่ผู้ว่าการฮ่องกง แคร์รี แลมเตือนผู้ชุมนุมว่า "อย่าทำให้ฮ่องกงดิ่งลงสู่หุบเหว" ทางผู้ชุมนุมก็มีผ้ายข้อความเขียนไว้ที่สนามบินว่า "ขออภัยในความไม่สะดวก" และ "พวกเรากำลังต่อผู้เพื่อความอยู่รอด"

ทั้งนี้ บทวิเคราะห์ยังมองว่าการประท้วงของผู้ชุมนุมที่มาในช่วงเดียวกับที่จีนกำลังมีสงครามการค้ากับสหรัฐฯ อาจจะทำให้ผู้นำอย่างสีจิ้นผิงรู้สึกว่าต้องเดิมพัน เนื่องจากข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมอย่างการเรียกร้องอำนาจอธิปไตยและการมีส่วนร่วมทางการเมืองเพิ่มขึ้น ไปแตะคุณค่าหลักของพรรคคอมมิวนิสต์จีนเรื่องบูรณภาพแห่งดินแดนและการเป็นผู้แทนของ 'ชาวจีน' แต่เพียงผู้เดียว 

บทวิเคราะห์ยังตั้งข้อสังเกตว่าทางการจีนเริ่มใช้โวหารต่อต้านผู้ชุมนุมฮ่องกงหนักข้อขึ้นเรื่อยๆ เช่นอ้างว่าพวกเขาเป็น "ผู้ก่อการร้าย" อ้างว่ามี "กลุ่มต่างชาติที่เป็นปฏิปักษ์" คอยยุยงปลุกปั่น ซึ่งข้ออ้างเรื่องการกลัวต่างชาติเข้ามาแทรกแซงเป็นวาทกรรมของรัฐบาลจีนมานานแล้วนับตั้งแต่สมัยของเหมาเจ๋อตุง จากนั้นจึงทำให้คำว่า "กลุ่มที่เป็นปฏิปักษ์" กลายเป็นคำกว้างๆ ที่รัฐบาลจีนใช้อ้างถึงสาเหตุที่เกิดการต่อต้านจากคนในประเทศอยู่เสมอเพื่อเลี่ยงไม่ให้พูดถึงความไม่พอใจการปกครองของรัฐบาล

สิ่งที่น่าเป็นห่วงอีกอย่างหนึ่งคือมีข่าวลือว่าจีนแผ่นดินใหญ่อาจจะพิจารณาใช้กองกำลังรบกึ่งทหารหรือพีเอพีในการปราบปรามผู้ชุมนุม โดยที่สื่อทางการจีนเคยรายงานเรื่องที่มีกองกำลังรวมกลุ่มกันอยู่ที่เซินเจิ้นเพื่อ "ซ้อมในระดับใหญ่" ที่มีรถลำเลียงพลหุ้มเกราะอยู่ในการซ้อมด้วย คำถามคือจีนจะมีแผนการปราบปรามการประท้วงด้วยกำลังโดยตรงหรือไม่ หรือเพียงแค่กำลังขู่ผู้ประท้วงและรัฐบาลแคร์รี แลม ให้ตื่นกลัวเฉยๆ

เรียบเรียงจาก

How Close Is Hong Kong to a Second Tiananmen?, Foreign Policy, Aug. 14, 2019

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net