ส่องประชุมสภา: ที่ทางของ ‘ความหลากหลายทางเพศ’ ลุ้นตั้ง กมธ.ใหม่

เปิดข้อถกเถียงในสภา เมื่อ ส.ส. อนาคตใหม่ ขอแปรญัตติให้ตั้งคณะกรรมาธิการด้านความหลากหลายทางเพศ และความเท่าเทียมระหว่างเพศ โดยขอให้แยกออกมาจากกลุ่ม เด็ก สตรี คนชรา ผู้พิการ และชาติพันธุ์ พร้อมดูความเคลื่อนไหวนอกสภา เมื่อร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ฉบับล่าสุดเปิดเผยสู่สาธารณะ

การประชุมสภาผู้แทนฯ เมื่อวันที่ 15 ส.ค.ที่ผ่านมา มีหนึ่งประเด็นร้อนที่ถกเถียงกัน คือ การเพิ่มเติม “ผู้มีความหลากหลายทางเพศ” เข้าในคณะกรรมาธิการด้านเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ และผู้พิการ ซึ่งไม่ว่าสภาผู้แทนราษฎรชุดไหนก็กำหนดไว้เพียงเท่านี้

คณะกรรมาธิการสามัญ คืออะไร มีอำนาจหน้าที่อย่างไร

คณะกรรมาธิการสามัญ หรือ กมธ.สามัญ คือ กลุ่มบุคคลที่สภาแต่งตั้งจากผู้ที่มีความรู้ความสามารถเหมาะสมในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เพื่อทำหน้าที่พิจารณาร่างกฎหมาย กระทำกิจการ พิจารณาสอบสวนหรือศึกษาเรื่องใดๆ ที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของสภา เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระหน้าที่ของสภา บุคคลเหล่านี้จะต้องเป็น ส.ส. จากพรรคการเมืองต่างๆ โดยจะทำงานกันเป็นคณะ ประกอบด้วยบุคคลตามจำนวนที่สภากำหนด และเมื่อคณะกรรมาธิการดำเนินการตามที่ได้รับมอบหมายเสร็จแล้ว ต้องรายงานต่อสภาเพื่อทราบ หรือเพื่อมีมติตามกฎหมายต่อไป 

ทั้งนี้ตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2551 นั้น กำหนดให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นทั้งหมด 35 คณะ แต่ละคณะประกอบด้วยกรรมาธิการจำนวน 15 คน แต่หลังมีรัฐธรรมนูญใหม่ ก็ต้องตั้งคณะกรรมาธิการยกร่างข้อบังคับการประชุมขึ้นใหม่ เพื่อกำหนดกรอบกติการประชุมสภาและกำหนดให้มีคณะกรรมาธิการต่างๆ ในสภา

เสียงแตก แยก ‘ผู้มีความหลากหลายทางเพศ’ เป็นกมธ.ใหม่หรือไม่

เมื่อมีการเสนอเพิ่ม “ผู้มีความหลากหลายทางเพศ” ขึ้นมา ก็พบว่ามีความแตกต่างในทางความคิด ทั้งภายใน กมธ.ยกร่างข้อบังคับการประชุมเอง หรือจาก ส.ส.ทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล จัดประเภทได้ 3 กลุ่ม

กลุ่มที่ 1 เห็นว่า ควรมีคณะกรรมาธิการด้านความหลากหลายทางเพศและความเท่าเทียมทางเพศ แยกต่างหาก ไม่รวมกับกลุ่มอื่นๆ (เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ และผู้พิการ) ผู้เสนอแปรญัตติในเรื่องนี้มี 2 คน คือ ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์  และ ณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์ ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ ขณะที่ผู้อภิปรายสนับสนุนการแปรญัตินี้คือ กรณ์ จาติกวณิช ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ 

ธัญญ์วาริน เห็นว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศอยู่ไม่น้อยกว่า 7 ล้านคน ซึ่งยังถูกตราตี และถูกปฎิบัติอย่างมีอคคติทั้งจาก กฎระเบียบ กฎหมาย การแพทย์ ศาสนา วัฒนธรรม การศึกษา หรือแม้แต่สถาบันครอบครัว เธอเห็นว่า การตั้งกรรมาธิการสามัญด้านความหลากหลายทางเพศและความเท่าเทียมทางเพศ แยกออกมาอีกชุด จะช่วยสร้างความเข้าใจเรื่องความหลากหลายทางเพศ สร้างความเข้าใจความเท่าเทียมของมนุษย์ โดยที่รัฐสภาแห่งนี้เป็นจุดเริ่มต้น

ด้านณธีภัสร์ ระบุเหตุผลที่ต้องมีการแยก กมธ.ชุดนี้ออกมาว่า เพื่อความคล่องตัวในการทำงาน รวมถึงบริบทปัญหาของผู้มีความหลากหลายทางเพศนั้นแตกต่างจากปัญหาอื่นๆ และในอดีตนั้น กมธ.เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุและผู้พิการ ก็มักเน้นการแก้ปัญหาแบบสังคมสงเคราะห์ แต่บุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศมีปัญหาต่างออกไป เพราะเป็นเรื่องของการทำให้สังคมรับรู้ เข้าใจความแตกต่าง การมี กมธ.แยกออกมาจะทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์มากกว่า กมธ. ที่เสนอให้แยกออกมานี้ไม่ได้ทำงานเฉพาะความหลากหลายทางเพศ แต่เป็นเรื่องความเท่าเทียมทางเพศด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่สังคมไทยขาดการดูแล ขาดความเข้าใจ และเรื่องนี้ไม่ใช่แค่หญิง ชาย หรือบุคคลหลากหลายทางเพศ แต่เป็นเรื่องของทุกคน 

กลุ่มที่ 2 เห็นว่า ควรตัดคำว่าผู้มีความหลากหลายทางเพศออก หรือพูดง่ายๆ ว่า ให้คงสภาพเป็นคณกรรมการธิการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุและผู้พิการ และกลุ่มชาติพันธุ์ เพียงเท่านั้น โดยกรรมาธิการที่สงวนความเห็นในเรื่องนี้ คือ ซูกาโน่ มะทา ส.ส. พรรคประชาชาติ

ในช่วงของการอภิปราย ซูกาโน ไม่ได้ติดใจหากจะใส่ “ผู้มีความหลากหลายทางเพศ” เพิ่มเติมเข้าไป และไม่ขอแปรญัตติ โดยยอมรับความเห็นของกรรมาธิการเสียงข้างมาก

อย่างไรก็ตาม ในช่วงแรกเขาไม่ได้อธิบายถึงเหตุผลที่สงวนความเห็นที่ให้ตัดคำว่า “ผู้มีความหลากหลายทางเพศ” ออกคณะกรรมาธิการ แต่หลังจากที่ กรณ์ จาติกวณิช อภิปรายว่า รู้สึกไม่สบายใจที่มีกรรมาธิการเสนอให้ตัดคำดังกล่าวออก ซูกาโน่ จึงลุกขึ้นชี้แจงว่า เขาเป็นผู้แทนราษฎรที่นับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งจำเป็นต้องปฎิบัติความฐานความเชื่อของศาสนา อย่างไรก็ตามเขายืนยันว่าไม่ได้มีเจตนาที่จะลดทอนคุณค่า ดูถูก ดูแคลน หรือเหยียดหยามกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศ เขายืนยันว่า ยังเคารพในเรื่องสิทธิ ความเท่าเทียม 

กลุ่มที่ 3 เห็นว่า ผู้มีความหลากหลายทางเพศเป็นประเด็นที่สำคัญ แต่หากมีปัญหาติดขัดก็เห็นว่าการนำเรื่องนี้ไปรวมกับเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ ก็ได้ ซึ่งความเห็นนี้เป็นความเห็นของกรรมมาธิการร่างข้อบังคับฯ เสียงข้างมาก โดยชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส. พรรคเพื่อไทย เป็นผู้ชี้แจง 

ชลน่าน ระบุว่า กรรมาธิการยกต่างข้อบังคับการประชุมฯ มีความเข้าใจปัญหาที่ผู้มีความหลากหลายทางเพศกำลังเผชิญ แต่ที่มีการกำหนดให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศอยู่รวมกับกลุ่มอื่นๆ นั้นเพราะมีข้อจำกัดเรื่องปัจจัยสนับสนุนการทำงานของคณะกรรมาธิการที่จะเสนอใหม่ที่จำกัด เช่น ปัญหาด้านงบประมาณและบุคคลกร พร้อมทั้งเห็นว่าการอยู่รวมกันกับกลุ่มอื่นๆ นั้น ในการทำงานจริงก็ยังสามารถมีอนุกรรมาธิการด้านผู้มีความหลากหลายทางเพศเป็นการเฉพาะได้ 

นอกจากนี้ชลน่านได้เปิดความเห็นส่วนตัวว่า หากมีการแยก กมธ.เชิงประเด็นออกมา จะเกิดคำถามเรื่องความเท่าเทียมว่า เพราะเหตุกลุ่มอื่นๆ จึงไม่มีการตั้งคณะกรรมาธิการรองรับเป็นการเฉพาะ 

 

ถึงที่สุดในการประชุมสภาผู้แทนฯ ครั้งนี้ก็ยังไม่ได้มีการลงมติในเรื่องดังกล่าว หากมีการลงมติในเรื่องนี้ในครั้งหน้า(21 ส.ค.) ก็จะเป็นโหวตเลือกว่า จะให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการด้านความหลากหลายทางเพศแยกออกมาโดยเฉพาะหรือไม่ ส่วนประเด็นที่สงวนความเห็นขอให้ตัดคำว่าผู้มีความหลากหลายทางเพศออกนั้น ถือว่าตกไป เนื่องจากไม่มีการขอให้แปรญัตติ

อย่างไรก็ตามหากย้อนกลับไปในช่วงของการหาเสียงเลือกตั้ง มีอย่างน้อยพรรคการเมือง 7พรรคที่หยิบยกเรื่องความหลากหลายทางเพศมาเป็นหนึ่งในนโยบายหาเสียง คือ พรรคอนาคตใหม่ พรรคเพื่อไทย พรรคเพื่อชาติ พรรคเสรีรวมไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคพลังท้องถิ่นไทย พรรคพลเมืองไทย รวมจำนวน ส.ส.ทั้งสิ้น 289 คน แบ่งเป็นพรรคฝ่ายค้าน 232 คน และฝ่ายรัฐบาล 57 คน ทั้งนี้แต่ละพรรคการเมืองมีข้อเสนอเชิงนโยบาย และการจัดลำดับความสำคัญของนโยบายเรื่องผู้มีความหลายทางเพศที่ต่างระดับกันไป

ต่อประเด็นที่ทางของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศในระบบรัฐสภาดังกล่าว ชุมาพร แต่งเกลี้ยง หนึ่งในคณะทำงานการสมรสที่เท่าเทียม และรองหัวหน้าพรรคสามัญชน ให้สัมภาษณ์กับประชาไทแสดงจุดยืนสนับสนุนการแปรญัตติของ ส.ส. พรรคอนาคตใหม่ทั้ง 2 คน โดยระบุว่า มุมมองของกรรมาธิการยกร่างข้อบังคับการประชุมที่ว่า นำประเด็นผู้มีความหลากหลายทางเพศไปรวมกับประเด็นอื่นก็ได้นั้น อาจเพราะไม่ได้เป็นผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่า เป็นเรื่องของคนชายขอบเหมือนกัน จึงจัดประเภทให้อยู่ในกลุ่มเดียวกันได้ 

ชุมมาพร เห็นว่า ผู้หญิง เด็ก คนชรา ผู้สูงอายุ กลุ่มชาติพันธุ์ ผู้มีความหลากหลายทางเพศ มีประเด็นปัญหาและต้นตอของปัญหาที่แตกต่าง จึงควรแยกตามลักษณะปัญหา และไม่ใช่ควรแยกเฉพาะความหลากหลายทางเพศเท่านั้น แต่ควรแยกประเด็นเด็ก สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ ออกจากกันทั้งหมดเพราะแต่ละส่วนก็มีสภาพปัญหาต่างกัน  ส่วนการอ้างถึงข้อจำกัดด้านงบประมาณ และบุคคลกรนั้นสะท้อนให้เห็นว่า ยังมีระบบคิดในการจัดลำดับความสำคัญของประเด็นต่างๆ อย่างไม่เท่าเทียม การจัดให้อยู่กลุ่มเดียวกันท้ายที่สุดย่อมทำให้เกิดการถกเถียงกันภายในคณะกรรมาธิการได้ว่า ประเด็นอะไรสำคัญกว่ากัน อะไรควรมาก่อนมาหลังด้วย

ความคืบหน้า พ.ร.บ.คู่ชีวิต และข้อเห็นแย้งการร่างกฎหมายของรัฐ

เมื่อพูดถึงประเด็นความหลากหลายทางเพศในระบบรัฐสภาแล้ว อีกหนึ่งความเคลื่อนไหวนอกสภาที่ยังต้องจับตา ก็คือ ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ฉบับล่าสุดที่เพิ่งผ่านการพิจารณาเบื้องต้นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเมื่อเร็วๆ  

ชุมาพร ให้ความเห็นต่อเรื่องนี้ว่า คณะทำงานการสมรสที่เท่าเทียมไม่ได้ต้องการที่จะมีกฎหมายพิเศษที่ออกมาเพื่อคุ้มครองกลุ่มผู้มีความหลายหลากทางเพศเป็นการเฉพาะ ทั้งยังเห็นว่าร่างกฎหมายที่ออกมาเพื่อรับฟังความคิดเห็นนี้ยังมีปัญหาอยู่หลายประเด็น 

“หากพูดเรื่องการสมรสหรือคู่ชีวิต เราไม่ได้ต้องการกฎหมายพิเศษเฉพาะกลุ่ม แต่สิ่งที่เราต้องการคือ การแก้ไขกฎหมายที่มีอยู่ให้ครอบคลุมต่อคนทุกคนไม่ว่าเขาจะเป็นชาย หญิง ผู้มีความหลากหลายทางเพศ ไปจนถึงกลุ่ม นอน-ไบนารี่ (Non-binary) คนทุกคนควรได้รับการปฎิบัติอย่างเท่าเทียมบนกฎหมายเดียวกัน ซึ่งรัฐสามารถทำได้โดยการแก้ไขกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เพื่อเปิดโอกาสให้บุคคลสมรสกันได้โดยไม่เลือกปฎิบัติเนื่องจากเพศ ง่ายที่สุดคือแก้คำว่า การสมรสระหว่างชายหญิง เป็นการสมรสระหว่างบุคคล เปลี่ยนคำว่า สามี-ภรรยา เป็นคู่สมรส และเปลี่ยนคำว่า บิดา-มารดา เป็นบุพการี เพียงเท่านี้ก็จะสามารถทำให้อยู่บนเส้นมาตรฐานเดียวกัน” ชุมาพร กล่าว 

ขณะที่วิทยา แสงอรุณ ประธานชมรม LGBT SMEs and Professionals Thailand ได้เขียนบทความ “ชำแหละร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต (ฉบับล่าสุด) แย่กว่าเดิม เพิ่มเติมความคลุมเครือ” ลงใน THE STANDARD โดยวิจารณ์ร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวว่า ยังคงไม่ให้สิทธิที่พึงมี อาทิสิทธิในการรับบุตรบุญธรรม สิทธิในการอุ้มบุญ สิทธิและศักดิ์ศรีในการเป็นคู่สมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แถมยังสร้างเงื่อนไขที่น่ากังขา นำมาซึ่งความคลุมเครือในการนำไปใช้ คือการระบุไว้ในร่างกฎหมายว่า ให้นำบทบัญญัติตามประมวลกฎหมยแพ่งและพาณิชย์มาบังคับใช้โดยอนุโลม ซึ่งอาจสร้างปัญหาในการตีความว่าจะอนุโลมได้หรือไม่ เช่น สิทธิในการใช้นามสกุลร่วมกันกับอีกฝ่าย สิทธิในการเซ็นยินยอมการรักษาของอีกฝ่าย สิทธิในการจัดการศพอีกฝ่ายที่เสียชีวิต สิทธิในกองทุนประกันสังคมในฐานะคู่สมรส เป็นต้น

ทั้งนี้ในวันที่ 16 ส.ค.ที่ผ่านมาได้มีการประชุมเชิงปฎิบัติการเพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต พ.ศ... ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยคณะทำงานการสมรสที่เท่าเทียมได้เข้ายื่นหนังสือสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เสนอให้แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยถอดคำจำกัดความที่เป็นกรอบแบ่งแยกทางเพศ เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ 

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมรับหนังสือดังกล่าวพร้อมกับให้ความเห็นว่า ทางกระทรวงจะไม่เข้าไปผลักดัน หรือยับยั้งร่างกฎหมายคู่ชีวิต โดยจะปล่อยให้สังคมเป็นผู้กำหนด ส่วนกรณีที่ขอให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยให้ถอดคำที่เป็นกรอบของเพศชาย เพศหญิง เช่น กฎหมายสมรส ให้เปลี่ยนจากคำว่า ชาย หญิง มาเป็น บุคคล ฯลฯ นั้นอาจมีผลกระทบอื่นๆ ตามมา จึงต้องรอให้ผู้เชี่ยวชาญและผู้เกี่ยวข้องเข้ามาให้ความเห็น และต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท