Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ผมควรเตือนแต่ต้นเลยว่า ผมมีฉันทาคติกับพรรคอนาคตใหม่ ผมจึงเห็นว่าข้อเสนอของพรรคเกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญในช่วงนี้ เป็นแสงสว่างริบหรี่ในท่ามกลางความมืดมิดของบ้านเมือง ซึ่งเราต้องช่วยกันประคองแสงนั้นไปสู่ความสว่างไสวในภายหน้า

จากการอภิปรายของคุณปิยบุตร แสงกนกกุล ในสภา และคำปราศรัยของคุณธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ในเชียงใหม่ เราจะสามารถข้ามสีเสื้อ และข้ามความเห็นต่างทางการเมือง (ซึ่งคงสะท้อนความต่างในด้านอื่นที่สำคัญกว่า นับตั้งแต่ “ชนชั้น” ไปจนถึงวัย, สถานะทางเศรษฐกิจ, เครือข่ายทางสังคม ฯลฯ) ไปสู่กติกาที่มีฉันทามติร่วมกัน

นั่นหมายความว่า สีเสื้อหรือความภักดีต่ออุดมการณ์หรือบุคคลก็ยังอาจต่างกันเหมือนเดิม และความเห็นทางการเมืองก็คงหลากหลายไม่ลงรอยกันไม่ต่างจากเดิม เพียงแต่ความขัดแย้งจะถูกจัดการด้วยกติกาที่เห็นพ้องต้องกันของทุกฝ่าย การล้มกระดาน ไม่ว่าด้วยวิธีรัฐประหารหรือหักเอาด้วยเสียงข้างมากของคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างกฎหมาย ถ้าใครขืนทำ ก็จะฝ่าฝืนมาตรฐานความชอบธรรมเสียจนไม่มีใครยอมรับ

คุณธนาธรกล่าวว่า รัฐธรรมนูญ 2560 คือระเบิดเวลา ข้อนี้คนจำนวนมากคงเห็นด้วย แม้แต่คนที่เคยลงประชามติเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มาแล้ว เพราะความอปกติทางการเมืองที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่การเลือกตั้งมาจนถึงบัดนี้ ล้วนมีบัญญัติในรัฐธรรมนูญเป็นมูลเหตุทั้งสิ้น แม้ตั้งรัฐบาลได้ ก็ยังมีปัญหาความชอบธรรมสืบมาจนบัดนี้

แม้กระนั้นก็น่าสงสัยว่ายังมีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่ไม่เห็นอันตรายของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ (ไม่นับกลุ่มคนที่เห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ร่างขึ้นเพื่อพวกตนโดยเฉพาะ) จำเป็นต้องรณรงค์ให้เห็นข้อบกพร่องของรัฐธรรมนูญกันอย่างกว้างขวาง เพราะในช่วงที่เปิดให้ลงประชามติ คสช.ได้ใช้อำนาจเถื่อนของตนขวางกั้นมิให้เผยแพร่ความเห็นที่ไม่เห็นชอบกับรัฐธรรมนูญ ถึงกับดำเนินคดีอาญากับผู้คนจำนวนมาก อันเป็นเหตุให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ขาดความชอบธรรมในตัวของมันเอง ไม่ต้องพูดถึงว่าให้ความชอบธรรมแก่สถาบันอื่นได้ (นี่คือ “รัฐสภา” ที่เป็นตัวแทนของประชาชนหรือ? นี่เป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งหรือ? กฎหมายที่จะใช้บังคับในภายหน้าได้รับ “ความเห็นชอบ” จากประชาชนแล้วแน่หรือ? ฯลฯ)

นอกจากความไม่เป็นประชาธิปไตย และการรักษาอำนาจของอภิสิทธิ์ชนอย่างออกหน้า ซึ่งเป็นประเด็นที่พูดถึงกันมากแล้ว ข้อกำหนดต่างๆ ในรัฐธรรมนูญยังขัดขวางการแก้ปัญหาทุกอย่างในเมืองไทย แม้แต่เรื่องเร่งด่วนเช่นภัยแล้ง ไปจนถึงทางตันของเศรษฐกิจไทยซึ่งหมดพลังในการแข่งขันลงหมดทุกด้านอย่างรวดเร็ว

ผมคิดว่านี่เป็นอีกเรื่องที่ต้องแสวงหาฉันทามติอย่างกว้างขวางด้วย เพื่อนำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่ประชาชนเป็นเจ้าของอย่างแท้จริง

ส่วนฉันทามติอีก 4 ข้อ ซึ่งพรรคอนาคตใหม่เสนอเพื่อนำไปสู่ความร่วมมือกันในหมู่ประชาชนในการร่างรัฐธรรมนูญใหม่นั้น ผมเห็นว่าเป็นไปได้ที่จะได้รับความเห็นชอบอย่างกว้างขวาง เมื่อมีเวลาในการรณรงค์ไปสักระยะหนึ่ง เพราะบางข้อในสี่ข้อนั้นดูเหมือนจะมีฉันทามติในหมู่ประชาชนไทยอยู่แล้ว

ผมขอแสดงความเห็นบางประการเพิ่มเติมต่อข้อเสนอฉันทามติ 4 ข้อของพรรคอนาคตใหม่

ฉันทามติข้อแรกคือจะธำรงรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ไว้ในสังคมไทย เข้าใจว่าข้อนี้น่าจะเป็นที่เห็นชอบในหมู่คนส่วนใหญ่อยู่แล้ว เพราะสถาบันกษัตริย์ในสังคมไทยเป็นที่มาของความชอบธรรมตลอดมา (ทั้งทางการเมืองและอื่นๆ) แต่ปัญหาที่อาจไม่เห็นพ้องต้องกันก็คือ สถาบันพระมหากษัตริย์ตั้งอยู่นอกการเมืองประชาธิปไตย หรือเป็นส่วนหนึ่งในการเมืองประชาธิปไตย หากอยู่นอก ความชอบธรรมที่สถาบันเป็นผู้ให้ก็มาจากจารีตประเพณีซึ่งตกทอดมาแต่โบราณ หากอยู่ในการเมืองประชาธิปไตย ความชอบธรรมที่สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นแหล่งที่มา ก็เนื่องจากสถาบันย่อมเป็นตัวแทนของอำนาจอธิปไตยของปวงชน (ทรงใช้อำนาจนั้นผ่านรัฐสภา, รัฐบาล, และตุลาการ) “คำสั่ง” ของอำนาจทั้งสามจึงต้องเป็นพระบรมราชโองการ, พระราชบัญญัติ หรือในพระปรมาภิไธย

ฉันทามติข้อต่อมาคือประชาธิปไตย ซึ่งหมายถึงความเท่าเทียมกันของประชาชนทุกคน ในการร่วมริเริ่มหรือต่อรองนโยบายสาธารณะ เพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว มีกระบวนการหลายอย่างที่ทำให้เป็นไปได้ในสังคมสมัยใหม่ เช่น การเลือกตั้งบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งสาธารณะ การรักษาปกป้องเสรีภาพของสื่อ กระบวนการที่ทำให้ผู้ทำงานสาธารณะต้องรับผิด (accountable) ต่อประชาชน ฯลฯ กระบวนการเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องเหมือนกันในทุกสังคมประชาธิปไตย เช่น บางสังคมกำหนดให้ตำแหน่งที่แม้มีอำนาจน้อยมาก เช่น นายทะเบียนท้องถิ่น ก็ต้องได้รับเลือกตั้งจากประชาชน (เช่น การเลือกกำนันผู้ใหญ่บ้านในสมัยหนึ่ง) เรื่องเหล่านี้อาจคิดกันได้ไปหลายนัยยะ ตราบเท่าที่ไม่ละเมิดหลักการที่ว่า อำนาจทุกอย่างต้องได้รับอนุมัติจากประชาชนเสมอ จะโดยตรงหรือโดยอ้อมก็ตาม และด้วยเหตุดังนั้น ประชาชนจึงอาจถอนการอนุมัติของตนได้ ตามวาระของตำแหน่งหรือถอนได้ทันที

แม้ว่าดูเหมือนการแสวงหาฉันทามติข้อนี้ไม่ง่ายนัก เพราะผู้แสดงตนอย่างเปิดเผยว่าไม่ศรัทธาต่อระบอบประชาธิปไตยก็มีไม่น้อย แต่หลัง 5 ปีของ คสช. มิติด้านอื่นๆ ของประชาธิปไตยนอกเหนือจากการเลือกตั้งและนักการเมืองก็เผยตนเองให้ประจักษ์กันมากขึ้น เช่น ผู้คนจำนวนไม่น้อยเหมือนกันซึ่งเคยหากินบนทางเท้าในเขตเมือง, ใช้ประโยชน์ที่ทำกินที่ไม่มีเอกสารสิทธิแน่ชัด, มีวัสดุเหลือใช้จำนวนมากซึ่งอาจนำไปผลิตพลังงานได้, ฯลฯ คนเหล่านี้ไม่มีหนทางต่อรองเลย ทั้งโดยระบบและเครื่องมือการต่อรองอย่างอื่น ด้วยเหตุดังนั้น จึงคาดได้ว่า คุณค่าของประชาธิปไตยเป็นที่ยอมรับกว้างขวางขึ้นกว่าเมื่อ 5 ปีที่แล้ว

ฉันทามติข้อต่อมาคือเสรีนิยม ซึ่งหมายถึงสิทธิเสรีภาพทั้งของส่วนบุคคลและสังคมโดยรวม รัฐต้องให้หลักประกันด้านนี้อย่างมั่นคงทั้งโดยกฎหมายและการปฏิบัติ ในบางสังคมมีประชาธิปไตย คือความเท่าเทียมในการต่อรองนโยบาย แต่เป็นประชาธิปไตยที่ “อเสรี” ระบอบประชาธิปไตยเช่นนี้ขาดความแข็งแกร่งมั่นคง อาจแปรเปลี่ยนไปเป็นเผด็จการได้ง่าย (ทั้งโดยรัฐบาลประชาธิปไตยเอง หรือกลุ่มที่เป็นปฏิปักษ์กับรัฐบาลประชาธิปไตย) รวมทั้งสิทธิประชาธิปไตยที่มีก็ใช้ได้ไม่เต็มที่ ว่ากันไปที่จริงแล้ว ในช่วงสั้นๆ ที่ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตย หลักการของเสรีนิยมก็ยังถูกจำกัดอยู่นั่นเอง โดยอ้างสาเหตุความมั่นคงบ้าง, ความสงบเรียบร้อยบ้าง, ความเติบโตทางเศรษฐกิจบ้าง ฯลฯ และนั่นเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้ประชาธิปไตยไม่อาจลงหลักปักฐานในประเทศนี้ได้

ฉันทามติข้อสุดท้ายคือนิติรัฐ-นิติธรรม ปราศจากข้อนี้ข้ออื่นก็ดูจะไร้ความหมายไปหมด และไม่มีข้อใดสามารถดำรงอยู่อย่างมั่นคงยืนนานได้เลย หากปราศจากนิติรัฐ อีกทั้งยังนำมาซึ่งความแตกร้าวในสังคมอย่างรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนอาจนำไปสู่ความล่มสลายอย่างยาวนาน

แต่การแสวงหาฉันทามติร่วมกันดังกล่าว มีโอกาสจะประสบความสำเร็จได้ไม่มากนัก หากบรรยากาศทางการเมืองและสังคมยังเป็นดังกว่าทศวรรษที่ผ่านมา ทั้งภาครัฐและสังคมควรร่วมมือกันในการทำให้การใช้อำนาจปกครองตามอำเภอใจ ไม่ว่าในระดับเล็กหรือใหญ่ยุติลง เราควรยุติหรืออย่างน้อยก็บรรเทาการกล่าวหากันโดยไม่รับผิดชอบ และยุติความรุนแรงในทุกรูปแบบเท่าที่จะเป็นไปได้

ในขณะเดียวกันก็ต้องเปิดให้มีเสรีภาพในการอภิปรายโต้แย้งกันโดยสงบ มิฉะนั้นปัญหาที่อยู่ลึกๆ เช่น ปัญหาทางศาสนาและศีลธรรม, นโยบายต่างประเทศ, เศรษฐกิจ, การพัฒนา ฯลฯ จะไม่ถูกสังคมนำมาพิจารณาอย่างถ้วนถี่เพียงพอ เพราะเมื่อบรรยากาศไม่อำนวยให้พูดเรื่องลึกได้ ก็เหลือพื้นที่สำหรับเรื่องตื้นๆ ซึ่งเหมาะกับการใช้วาจาและท่าทีรุนแรงใส่กันเท่านั้น

เสรีภาพในการแสดงออกก็มีความสำคัญ นอกจากแสดงออกผ่านสื่อต่างๆ แล้ว การประท้วงโดยสงบและกระทบต่อผู้อื่นไม่มากนัก (หรือผู้อื่นพอจะหลบหลีกผลกระทบได้) น่าจะทำได้ เพราะในหลายกรณี การประท้วงเป็น “ภาษา” ที่ขาดไม่ได้ในการแสดงออก

ผมคิดว่า ความแตกร้าวในสังคมไทยได้ขยายไปอย่างกว้างขวางกว่าครั้งใดที่เคยเกิดในเมืองไทยมาก่อน ในสภาพเช่นนี้ไม่มีระบอบปกครองใดๆ จะสามารถสร้าง good governance หรือการบริหารจัดการที่ดีขึ้นได้ ไม่ว่าจะเป็นระบอบประชาธิปไตย, เผด็จการทหาร, หรือสมบูรณาญาสิทธิราชย์

ในแง่นี้ ความล้มเหลวของรัฐบาลทหารที่ผ่านมาใน 5 ปี ก็มีสาเหตุจากสภาพความแตกแยกอย่างลึกและกว้างในสังคมไทยเช่นกัน คณะรัฐประหารไม่สามารถเลือกหาบุคคลเข้ามาร่วมการบริหารจัดการบ้านเมืองที่มีฝีมือไปกว่านี้ได้ เพราะความแตกแยกในสังคม (ซึ่งกองทัพกลับเป็นส่วนหนึ่งของความแตกแยกนี้ด้วย) ทำให้มีบุคคลให้เลือกเฉพาะจาก “สาย” ที่ตนไว้วางใจได้เท่านั้น และกลายเป็นมือชั้นรองๆ ไปอย่างช่วยไม่ได้

การกลับคืนสู่รัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นจากฉันทามติร่วมกันของคนไทยทั้งหมด จึงเป็นทางออกที่จำเป็นแก่สังคมไทย ไม่ใช่โดยการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญเท่านั้น (นั่นน่าจะเป็นกระบวนการที่ขาดไม่ได้อยู่แล้ว) แต่ต้องโดยกระบวนการแสวงหาฉันทามติในหลักการสำคัญให้ได้มาแต่แรก ก่อนจะมีสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน: มติชนออนไลน์ www.matichon.co.th/columnists/news_1621809

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net