Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

***ในที่นี้ “คนธรรมศาสตร์” ที่ผู้เขียนหมายถึงคือผู้บริหาร คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ และพนักงานที่อยู่มหาวิทยาลัยมากกว่านักศึกษาที่โดยเฉลี่ยแล้วใช้เวลาในรั้วมหาวิทยาลัยเพียง 4 ปี***

จิตวิญญาณธรรมศาสตร์นั้น “เหมือนน้ำบรรจุขวดที่มีใบรับประกันคุณภาพยี่ห้อธรรมศาสตร์ เป็นขวดน้ำที่สามารถเอาไปโชว์ได้ว่ามีน้ำ แต่คุณไม่ได้ดื่มมันหรอก เพราะผมต้องใช้เพื่อยกฐานะของผม ครอบครัวและญาติมิตรก่อน รอให้เหลือก่อนคุณอาจได้รับบริจาคบ้าง” ความตอนหนึ่งจาก “จิตวิญญาณธรรมศาสตร์ 4 รุ่น” โดยเกษียร เตชะพีระ ตีพิมพ์ลงในปรีดีสาร พ.ค. 2545 (http://www.openbase.in.th/files/ebook/textbookproject/pridiarticle008.pdf)

****

เมื่อวันที่ 1 สิงหาคมที่ผ่านมา ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) และรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ได้โพสต์สเตตัส “ธรรมศาสตร์โมเดล” ต้นแบบแนวทางการพัฒนาชุมชนด้วยพลังของนักศึกษา (https://www.facebook.com/drsuvitpage/posts/1747413035565419) ลงในเพจ “ดร. สุวิทย์ เมษินทรีย์ Dr. Suvit Maesincee” หลังจากที่เขาได้เข้าพบกับผู้บริหารและคณาจารย์จากธรรมศาสตร์โดยมีสาระสำคัญในการนำ “ธรรมศาสตร์โมเดล” มาเป็นโมเดลต้นแบบในการขับเคลื่อน “โครงการอาสาประชารัฐ” พร้อมระบุว่า “ธรรมศาสตร์โมเดล” นับว่าเป็นโครงการที่สะท้อนให้เห็นถึง “จิตวิญญาณธรรมศาสตร์” หรือ “Thammasat Spirit” ที่ปลูกฝังนักศึกษาไม่ให้มองแต่เพียงตนเอง แต่มองสังคม ประเทศและประชาคมโลกด้วย จากสเตตัสดังกล่าวข้างต้นผู้เขียนจึงสงสัยยิ่งนักว่าอะไรคือ "จิตวิญญาณธรรมศาสตร์"ที่ ดร.สุวิทย์หมายถึงท่ามกลางภาวะที่กระแสเสรีนิยมใหม่ได้เข้ามารุกรานสถานศึกษาจนต้องเข้าสู่ตลาดอย่างเต็มตัวเช่นนี้ บทความนี้จึงต้องการสำรวจหานิยามของจิตวิญญาณธรรมศาสตร์โดยสังเขป โดยเฉพาะเมื่อหลักการของจิตวิญญาณธรรมศาสตร์และการกระทำของ “คนธรรมศาสตร์” ดูจะไม่ลงรอยกันอย่างที่ควรจะเป็น

****

 “ฉันรักธรรมศาสตร์ เพราะธรรมศาสตร์สอนให้ฉันรักประชาชน”

คำขวัญข้างต้นที่ปรากฏอยู่บนผนังกำแพงทางเข้าตึกอาคารเรียนรวมสังคมศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต และปรากฏข้อความ “เพราะธรรมศาสตร์สอนให้ฉันรักประชาชน” อยู่บนกำแพงประตูทางเข้าฝั่งถนนท่าพระอาทิตย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ท่าพระจันทร์เป็นข้อความสั้น ๆ ที่จับใจเด็กมัธยมจำนวนไม่น้อยให้เข้ามาเรียนต่อในระดับอุดมศึกษาที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้ (อย่างน้อย ๆ ผู้เขียนก็เคยเป็นหนึ่งในเด็กมัธยมเหล่านั้น)

นับตั้งแต่การก่อตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองในวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2477 จนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 85 ปีแล้วที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้ได้ผลิตบัณฑิตออกมาสู่สังคมไทย หากเปรียบกับชีวิตคน ธรรมศาสตร์ก็ถือว่าเป็นผู้สูงวัย เป็นผู้ใหญ่ระดับปัญญาชนที่น่านับถือคนหนึ่งของสังคมไทย เนื่องจากการเคลื่อนไหวของชาวธรรมศาสตร์ในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่เป็นตัวแสดงหลักในการ “ต่อต้านเผด็จการทหาร” และ “อยู่เคียงข้างประชาชน”

รศ. ดร. เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีคนปัจจุบันของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ให้สัมภาษณ์กับทาง 101 world ไว้ว่าคำขวัญ “ฉันรักธรรมศาสตร์ เพราะธรรมศาสตร์สอนให้ฉันรักประชาชน” หรือ “ดินแดนแห่งเสรีภาพทุกตารางนิ้ว” ยังสามารถใช้ได้ถึงปัจจุบัน เพราะธรรมศาสตร์มีความใกล้ชิดประชาชน ติดดิน พานักศึกษาลงไปหาประชาชน เป็นสปิริตที่ผูกติดตัวคนธรรมศาสตร์เสมอมา ภายใต้การบริหารของผู้บริหารชุดใหม่ได้ชูคีย์เวิร์ดขึ้นมาสามคำ คือ “Democracy, Freedom, Justice” ซึ่งอยู่ในส่วนของเป้าหมายด้าน “Flagship spirit of the people” โดยหลักยังเน้นเรื่องของประชาธิปไตย ปกป้องเสรีภาพ สู้เพื่อความยุติธรรม ไม่ไกลจากคำที่มีอยู่เดิมเพียงแต่รีแบรนด์ใหม่ให้เข้ากับยุคสมัย

อาจารย์ยังย้ำว่าจิตวิญญาณธรรมศาสตร์ก็คือ “ประชาธิปไตย เสรีภาพ และความยุติธรรม” ในบทสัมภาษณ์นี้อ.เกศินียังได้ตอบคำถามเรื่องการที่ “คนธรรมศาสตร์” เข้าไปรับตำแหน่งที่อาจมองได้ว่าเป็นปรปักษ์ของประชาธิปไตยว่า “ดิฉันเชื่อมั่นว่า ไม่ว่าชาวธรรมศาสตร์ จะเข้าไปทำงานในตำแหน่งหน้าที่อะไร ย่อมไม่ละทิ้งจิตวิญญาณของความเป็นธรรมศาสตร์ อันนี้เป็นลักษณะเฉพาะของชาวธรรมศาสตร์ที่อยากเห็นประเทศชาติ อยากเห็นสังคมที่พัฒนาขึ้น เพียงแต่สิ่งที่เขาไปร่วมทำ อาจจะเห็นต่างกับบางกลุ่มเท่านั้นเอง และนี่คือความสวยงามของประชาธิปไตย ที่สอนให้เราเคารพกันและกัน แม้ว่าเราจะเห็นต่างกัน หรือมีอุดมการณ์ต่างกัน แต่สามารถถกเถียงกันด้วยเหตุผล และอยู่ร่วมกันได้ในสังคมที่เป็นประชาธิปไตยของธรรมศาสตร์แห่งนี้ โดยสรุปคือ เรายังยึดมั่นในการเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อประชาชน เป็นตลาดวิชาของคนทุกระดับ ให้สามารถเข้าถึงการศึกษาและมีเสรีภาพในการศึกษามากที่สุด” (https://www.the101.world/kesinee-witoonchat-interview/)  

ในส่วนของ “คนธรรมศาสตร์” อย่าง ชวินทร์ ลีนะบรรจงและสุวินัย ภรณวลัยนั้นได้ระบุว่าจิตวิญญาณธรรมศาสตร์ “เป็นจิตวิญญาณที่สู้เพื่อความถูกต้อง สู้เพื่อความดีโดยไม่ยอมประนีประนอมกับความชั่ว ไม่ยอมดูเขาโกงโดยไม่ว่าอะไรหากตัวเองจะได้ประโยชน์ด้วย เลือกข้างเพราะไม่ยอมเป็นกลางระหว่างความดีกับความชั่วเฉกเช่นเดียวกับไม่ยอมเป็นกลางกินข้าวผสมขี้” (https://mgronline.com/daily/detail/9550000081903)  

และบทความเรื่อง “จิตวิญญาณธรรมศาสตร์ 4 รุ่น” โดยเกษียร เตชะพีระ ตีพิมพ์ลงในปรีดีสาร พ.ค. 2545 (http://www.openbase.in.th/files/ebook/textbookproject/pridiarticle008.pdf) ได้นำเสนอจิตวิญญาณธรรมศาสตร์ผ่านการตอบข้อสอบไล่ปลายภาคของนักศึกษาวิชาการเมืองการปกครองไทยท่านหนึ่ง นักศึกษาท่านนี้ได้ถ่ายทอดจิตวิญญาณธรรมศาสตร์ของอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ คุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ และตัวเขาเองผ่านบทสนทนาสมมติ ความโดยสรุปคือ สำหรับอาจารย์ปรีดีแล้วจิตวิญญาณของธรรมศาสตร์คือ “บ่อน้ำแก้กระหายให้กับทุกคน ใครอยากดื่ม อยากอาบก็ได้” ในขณะจิตวิญญาณธรรมศาสตร์ของคุณกุหลาบนั้นเปรียบเสมือน “น้ำในกระบวยให้นักศึกษาที่มีโอกาสดีกว่าคนอื่นในสังคมตักเอาวิชาความรู้ไปใช้ให้เป็นประโยชน์หรือไม่ก็คือตักน้ำไปให้คนอื่นเขาได้ดื่มกิน ลดความกระหาย” ส่วนจิตวิญญาณธรรมศาสตร์ของอาจารย์ป๋วยคือ “เขื่อนกั้นน้ำที่ต้องใช้ความรู้เทคโนโลยีขั้นสูงในการสร้าง แต่ว่าจะส่งผลประโยชน์แก่คนหมู่มาก สร้างคนที่มีความสามารถไปทำประโยชน์ให้คนยากจน” และสำหรับตัวนักศึกษาท่านนี้เองจิตวิญญาณธรรมศาสตร์นั้น “เหมือนน้ำบรรจุขวดที่มีใบรับประกันคุณภาพยี่ห้อธรรมศาสตร์ เป็นขวดน้ำที่สามารถเอาไปโชว์ได้ว่ามีน้ำ แต่คุณไม่ได้ดื่มมันหรอก เพราะผมต้องใช้เพื่อยกฐานะของผม ครอบครัวและญาติมิตรก่อน รอให้เหลือก่อนคุณอาจได้รับบริจาคบ้าง” เป็นการสะท้อนให้เห็นจิตวิญญาณธรรมศาสตร์ในทศวรรษ 2540 จากที่เคยรับใช้ประชาชน ทำเพื่อประโยชน์ของผู้อื่น เป็นการรับใช้ตอบสนองความต้องการของตลาดแทน

ในบรรดา “คนธรรมศาสตร์” ที่สามารถสะท้อนความเป็นธรรมศาสตร์ได้ดีที่สุดเห็นจะเป็นคณาจารย์ เจ้าหน้าที่ และพนักงานมหาวิทยาลัยเสียยิ่งกว่านักศึกษาที่ใช้ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยโดยเฉลี่ยเพียง 4 ปี สิ่งที่ “คนธรรมศาสตร์” สามารถทำได้เพื่อรักษาจิตวิญญาณธรรมศาสตร์เอาไว้ควรต้องเป็นมาตรการเสริมสร้างจิตสำนึกที่ดีของธรรมศาสตร์ ยิ่งการออกนอกระบบของมหาวิทยาลัยก็ยิ่งทำให้จิตสำนึกที่นักศึกษาจะรู้สึกเชื่อมโยงกับประชาชนก็ลดน้อยถอยลงไปอีก เพราะค่าใช้จ่ายทางการศึกษาที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลนั้นลดลง นักศึกษาคงมิอาจระลึกถึงบุญคุณของเงินภาษีประชาชน หรือเห็นคุณค่าของประชาชนมากไปกว่าการไปทำกิจกรรมจิตอาสาตามพิธีกรรมของมหาวิทยาลัยเท่านั้น ดังที่นักศึกษาวิชาการเมืองการปกครองไทยได้กล่าวในบทความของเขาว่า “ค่ายต่าง ๆ เป็นประเพณีมากกว่า ปัจจุบันธรรมศาสตร์เป็นเครื่องชุบตัวชนชั้นกลาง เพื่อยกระดับฐานะทางเศรษฐกิจ และสังคมของตนเอง การทำกิจกรรมก็ไม่ได้หมายความว่าเขารักประชาชน แต่เป็นบันไดไปสู่เกียรติยศ”

บทความสั้น ๆ เพียง 4 หน้ากระดาษของเกษียร เตชะพีระที่ได้นำคำตอบบางส่วนของนักศึกษาวิชาการเมืองการปกครองไทยที่เขียนขึ้นในปี พ.ศ. 2545 มาเผยแพร่นั้นสามารถจับแนวคิดจิตวิญญาณธรรมศาสตร์ที่เปลี่ยนแปลงไปนับตั้งแต่ได้รับการก่อตั้งขึ้นมาเมื่อปี พ.ศ. 2477 จนถึงปัจจุบันนี้เป็นเวลา 85 ปีแล้วที่บ่อน้ำบำบัดความกระหายของราษฎร (ช่วงที่เป็นมหาวิทยาลัยเปิด) ได้เปลี่ยนไปเป็นน้ำในกระบวยให้นักศึกษาตักไปใช้หรือให้คนอื่นดื่ม ต่อมากลายเป็นเขื่อนกั้นน้ำเพื่อประโยชน์แก่คนหมู่มาก จนท้ายที่สุดเปลี่ยนมาเป็นเพียงน้ำบรรจุขวดตราธรรมศาสตร์กลายเป็นมหาวิทยาลัยที่รับใช้ตลาดไป อีกทั้งในระยะหลังโดยเฉพาะช่วงเวลาของการปกครองโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา “คนธรรมศาสตร์” จำนวนหนึ่งได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการประเทศของคสช. คณะรัฐประหารชุดล่าสุดที่ยึดอำนาจจากรัฐบาลที่มีที่มาจากการเลือกตั้ง

จากตัวอย่างนิยามของจิตวิญญาณธรรมศาสตร์ข้างต้น ผู้เขียนพบว่าจิตวิญญาณธรรมศาสตร์นั้นได้แปรเปลี่ยนไปตามกาลเวลา จนปัจจุบันมีการรีแบรนด์ภายใต้ชุดคำสามคำของผู้บริหารมหาวิทยาลัยว่า “ประชาธิปไตย เสรีภาพ และความยุติธรรม” แต่ทว่าสิ่งที่ผู้เขียนต้องการชี้ให้เห็นคือจิตวิญญาณธรรมศาสตร์ได้ถูกขยายออกไปให้มีความหมายกว้างขวางครอบคลุมไปยัง “คนธรรมศาสตร์” หลายกลุ่มมากขึ้ทั้งคนธรรมศาสตร์ที่อยู่เคียงข้างประชาชน ประชาธิปไตย และ “คนธรรมศาสตร์” ที่ยืนข้างฝ่ายปรปักษ์ประชาธิปไตยก็ล้วนแต่ขยายเส้นความหมายของ “จิตวิญญาณธรรมศาสตร์” ให้กว้างออกมาสร้างความชอบธรรมให้การกระทำของตนเช่นกัน การที่ ดร.สุวิทย์ จะนำคำว่า “จิตวิญญาณธรรมศาสตร์” มานำร่องเป็นแนวคิด “โครงการอาสาประชารัฐ” ก็คงไม่ต่างอะไรกับการที่นักศึกษาวิชาการเมืองไทยกล่าวว่าจิตวิญญาณธรรมศาสตร์เป็นเหมือนขวดน้ำตราธรรมศาสตร์ที่เพิ่มมูลค่าให้กับตัวเขา ต่างกันคงเพียงแต่นักศึกษาท่านนั้นเขาไปแสวงหางานในระบบตลาด ในขณะที่คณะรัฐมนตรีอาจนำจิตวิญญาณธรรมศาสตร์มาเป็นเครื่องหมายการันตีความเป็นประชาธิปไตยของตนเอง จิตวิญญาณที่ ดร. สุวิทย์กล่าวถึงและต้องการนำไปใช้ดูเหมือนจะเป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของจิตวิญญาณธรรมศาสตร์เท่านั้นที่มองว่าการเข้าไปทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชุมชนของนักศึกษานั้นคือการเห็นแก่คนอื่นและสังคมนอกจากตัวเอง เพราะหากเทียบกับจิตวิญญาณนักศึกษาท่านหนึ่งเมื่อปี พ.ศ. 2545 แล้วจะพบว่า “จิตวิญญาณธรรมศาสตร์” ได้ถูกขายให้ตลาดไปเสียแล้ว กลายเป็นมหาวิทยาลัยที่เดินหน้าทำกำไรเต็มตัว จนในตอนนี้อาจมิใช่เพียงน้ำดื่มบรรจุขวดที่แปะตราธรรมศาสตร์เท่านั้น แต่อาจกลายเป็นน้ำดื่มที่แต่งสี แต่งกลิ่น เติมวิตามิน แร่ธาตุบรรจุขวดแปะตราธรรมศาสตร์เพิ่มมูลค่าเพื่อการแข่งขันในตลาดอย่างเต็มตัวหลังจากการออกนอกระบบของธรรมศาสตร์

ในปัจจุบัน “จิตวิญญาณธรรมศาสตร์” จึงอาจมิได้หมายถึงการรับใช้ประชาชน และคิดถึงผู้อื่น ดังที่ผู้ประศาสน์การของเราเคยพร่ำสอนว่านักศึกษามธก.เป็น “หนี้ต่อสังคม” จากการได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐ ภาษีจากประชาชน ท่ามกลางการออกนอกระบบของสถาบันการศึกษาในปัจจุบัน แต่ทว่ายังอาจหมายถึงการประนีประนอมกับฝ่ายเสียงข้างน้อยที่มีอำนาจ เพื่อให้จิตวิญญาณธรรมศาสตร์ยังคงขายได้ท่ามกลางกระแสทุนนิยมโลกาภิวัตน์ จิตวิญญาณธรรมศาสตร์อาจกลายเป็นยี่ห้อสวยหรู เอาไว้รับรองคุณภาพของบัณฑิต หรืออาจกลายเป็นยี่ห้อหรือเครื่องหมายควบคุมคุณภาพให้แก่คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ให้เห็นคนภายนอกเห็นว่าครม.ชุดใหม่นั้นมีจิตใจที่คิดถึงสังคม การแปรให้จิตวิญญาณธรรมศาสตร์กลายเป็นสินค้าชั้นดีสำหรับผู้คนที่ถวิลหาประชาธิปไตย และการรับใช้ประชาชน “คนธรรมศาสตร์” จะรักษา “จิตวิญญาณธรรมศาสตร์” ในความหมายใด ขณะที่ทำงานร่วมกับสมาชิกสภา และคณะรัฐมนตรีที่มีสมาชิกจากคสช. หรือพวกเขาจะขยายหรือตีกรอบความหมายของ “จิตวิญญาณธรรมศาสตร์” ให้กว้างหรือแคบลงประชาชนอย่างพวกเราคงต้องจับตามองกันต่อไป

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net