Skip to main content
sharethis

โฆษกรัฐบาลยืนยัน ครม. อนุมัติงบประมาณตามที่ สปสช. เสนอ แต่ให้ไปตกลงรายละเอียดกับสำนักงบประมาณ จึงอาจทำให้ทางภาคประชาชนเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าจะต้องใช้ตัวเลขของสำนักงบประมาณ


นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (แฟ้มภาพ)

17 ส.ค. 2562 สำนักข่าวไทย รายงานว่านางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึง กรณีที่ภาคประชาชน ออกมาระบุว่า รัฐบาลตัดงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพของประชาชน ว่า ครม.อนุมัติงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ งบประมาณกองทุนบัตรทอง ปี 2563 กว่า 1.91 แสนล้านบาท เป็นการเพิ่มเม็ดเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจากปี 2562 กว่า 6.5 พันล้านบาท เป็นงบประมาณเหมาจ่ายรายหัว 3,600 บาทต่อประชากร เพิ่มสิทธิประโยชน์ปี 2563 เพิ่มสิทธิประโยชน์ในการเข้าถึงการรักษาและบริการสาธารณสุขอย่างครอบคลุมและมีคุณภาพและมาตรฐาน  

ทั้งเพิ่มการฉีดวัคซีนป้องกันโรคท้องร่วงในเด็ก การคัดกรองมะเร็งลำไส้ การคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยการตรวจยีนส์ การผ่าตัดทางกล้องช่วยลดเวลาที่ต้องนอนโรงพยาบาล เพิ่มยาป้องกันโรคเอดส์ เพิ่มการล้างไตทางหน้าท้องด้วยเครื่องที่บ้านให้กับผู้ป่วยที่ต้องล้างไต

'คนรักหลักประกันสุขภาพ' อัด รบ.รีดเงินปชช.ไปแจกคนเที่ยวกว่า 1.5 หมื่นล้าน แต่ตัดงบค่ารักษาถึง 650 ล้าน

“ยืนยันว่า ครม. อนุมัติงบประมาณตามที่ สปสช. เสนอ แต่ให้ไปตกลงรายละเอียดกับสำนักงบประมาณ จึงอาจทำให้ทางภาคประชาชนเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าจะต้องใช้ตัวเลขของสำนักงบประมาณ ทั้งนี้นายกรัฐมนตรี ยังเน้นย้ำให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เน้นการบริหารงบประมาณปี 2563 ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ปรับระบบบริการ ลดความแออัด ให้ประชาชนมีทางเลือกในการรับยาทีร้านยาใกล้บ้าน  รวมทั้งอำนวยความสะดวกในการนัดแพทย์ผ่านระบบแอพพลิเคชั่น ลดเวลารอคิวที่โรงพยาบาล”

กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ระบุรัฐบาลต้องแยกแยะระหว่าง Fake News กับสิ่งที่ประชาชนวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล

ต่อมา กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพได้โพสต์เฟสบุ๊ค ระบุว่ารัฐบาลต้องแยกแยะระหว่าง Fake News กับสิ่งที่ประชาชนวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล อย่าเหมารวมว่าข่าวที่มีความเห็นไม่ตรงกับรัฐบาลเป็นข่าวปลอม

การจัดสรรงบบัตรทอง สปสช. ต้องประเมินจากค่าใช้จ่ายปีที่ผ่านมา คำนวนประมาณการณ์จำนวนผู้ป่วยโรคต่างๆ ถึงตั้งงบประมาณปีต่อไป เพื่อให้สำนักงบประมาณพิจารณา ในสมัยอดีต รมว.หมอปิยะสกล ได้ร่วมกับ สปสช. เจรจาต่อรองกับสำนักงบประมาณ งบประมาณขาขึ้นในกองทุนนอกเหมาจ่ายรายหัว เช่นกองทุนโรคไต ตอนเจรจาตกลงก่อนที่เสนอเข้า ครม.ตกลงที่ 9,405 ล้านบาท แต่พอเข้า ครม.สำนักงบกลับตัดลงเหลือ 9,105 ล้านบาท หายไป 300 ล้านบาท หรือกองทุนดูแลผู้ป่วยติดบ้านติดเตียงและผู้สูงอายุ ตกลงกันที่ 1,025 ล้านบาท แต่กลับ เสนอ ครม.ที่ 975 ล้านบาท หายไป 49.87 ล้านบาท

แหล่งข่าวในที่ประชุม ครม.นัดนั้น บอกว่า นพ.ปิยะสกลอดีต รมว.สธ. ได้พยายามต่อรองและยืนยันตัวเลขที่ตกลงกันแต่ก็ไม่เป็นผล

สิ่งที่กลุ่มคนรักหลักประกันยืนยัน คือ 1. รัฐบาลต้องพิจารณาและยึดตัวเลขที่มีการตกลงกัน 2. แม้รัฐบาลจะอ้างว่าได้เพิ่มงบให้แล้ว แต่การเพิ่มงบนั้นกลับไม่ได้อยู่บนฐานข้อมูลที่มีการคำนวนและเสนอจากการให้บริการจริงในปีที่ผ่านมา 3.กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ตั้งคำถามกับการให้ความสำคัญในการใช้งบประมาณของรัฐบาล ระหว่างการตัดสินใจที่เหมือนว่าจะตัดสินใจได้ง่ายๆ แจกเงินเที่ยวกระตุ้นเศรษฐกิจที่คนได้ประโยชน์เพียงบางส่วน แต่กลับปล่อยให้งบบัตรทองในกองทุนโรคสำคัญๆถูกตัดออก 

และ 4. การเพิ่มงบเหมาจ่ายรายหัวของบัตรทองมีการเพิ่มเป็นปกติไต่ระดับทีละน้อย แต่คนละส่วนกับงบนอกเหมาจ่ายรายหัว ที่ใช้สำหรับโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง ซึ่งงบก้อนนี้เป็นงบที่ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาในโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง ซึ่งเป็นงบคนละส่วนกับเหมาจ่ายรายหัวที่ รพ.ได้รับ ใครรักษาก็มาเบิกกับกองทุน ช่วยให้ไม่เป็นภาระงบประมาณกับโรงพยาบาล ซึ่งมีจำนวนคนที่ต้องได้รับบริการรักษาหลายแสนคน รัฐบาลต้องเพิ่มงบให้กับระบบหลักประกันสุขภาพใกล้เคียงกับค่าใช้จ่ายจริงที่เสนอขอ ซึ่งคือตัวเลขที่กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพนำเสนอไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net