นักเศรษฐศาสตร์ชี้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอาจได้ผลไม่มากเพราะไทยมีโครงสร้างผูกขาดสูง

ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป ม.รังสิต ชี้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นมาตรการชั่วคราวเน้นไปที่ภาคการบริโภคและภาคการท่องเที่ยว อาจได้ผลไม่มากเพราะเศรษฐกิจไทยมีโครงสร้างผูกขาดสูง ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจกระจุกตัว โครงสร้างเศรษฐกิจพึ่งพาภายนอกสูง 


ที่มาภาพประกอบ: Wutthichai Charoenburi (CC BY 2.0)   

18 ส.ค. 2562 ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป สถาบันเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจล่าสุดของรัฐบาลเป็นมาตรการชั่วคราวเน้นไปที่ภาคการบริโภคและภาคการท่องเที่ยว เป็นมาตรการสูตรเดิมๆที่เคยทำมาก่อนหน้านี้ อาจช่วยบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนได้บ้างและไม่น่าจะได้ผลมากนักเพราะเศรษฐกิจไทยมีโครงสร้างผูกขาดสูง ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจกระจุกตัว โครงสร้างเศรษฐกิจพึ่งพาภายนอกสูง ต้องแก้ไขโดยลดอำนาจผูกขาดและปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้พึ่งพาตลาดภายในมากขึ้น แนวโน้มการค้าโลกนั้นจะชะลอตัวลงไปมากกว่าเดิม สิงคโปร์เป็นระบบเศรษฐกิจที่ชี้ทิศทางการชะลอตัวของการค้าโลกได้เป็นอย่างดี โดยคาดว่าสิงคโปร์จะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในไตรมาสสามปีนี้หลังจากที่จีดีพีไตรมาสสองติดลบ 3.3% 

ในส่วนของมาตรการแจกเงิน 1,000 บาทโดยมีเป้าหมายไว้ที่ 10 ล้านคนสำหรับการท่องเที่ยวเมืองรองนั้น ผศ.ดร.อนุสรณ์ ระบุว่าหากมีคนมาลงทะเบียนตามเป้าหมายจริง รัฐบาลจะใช้งบประมาณหนึ่งหมื่นล้านบาทสำหรับมาตรการนี้ คงจะกระตุ้นการท่องเที่ยวเมืองรองได้บ้างแต่เงิน 1,000 บาทจะหมดไปกับค่าเดินทางและค่าน้ำมัน และยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าเมื่อประชาชนรับเงินไปแล้วจะไปเที่ยวเมืองรองตามนโยบายหรือไม่ นอกจากนี้ หากมีกลไกไปกำกับก็จะเพิ่มต้นทุนและความยุ่งยากในการทำตามนโยบายอีก ประชาชนระดับฐานรากซึ่งควรเป็นกลุ่มเป้าหมายที่รัฐบาลต้องดูแลอาจไม่ได้ประโยชน์อะไรมากนัก ยังเป็นการแก้ปัญหาแบบไม่ตรงจุดไม่ตรงกลุ่มเป้าหมาย การแจกเงินแบบนี้ในที่สุดเงินจะลงไปที่โรงแรม ร้านอาหารหรือร้านของฝากใหญ่ๆ คนที่ได้ประโยชน์จากงบแจกเงินเที่ยวจะไม่ใช่กลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจและช่วยเหลือตัวเองไม่ค่อยได้ นโยบายแจกเงินให้เที่ยวจึงเป็นนโยบายที่ไม่มีประสิทธิภาพในการกระตุ้นและฟื้นเศรษฐกิจโดยภาพรวมและน่าจะเป็นนโยบายที่มีปัญหาในเรื่องกรอบความคิดในการกำหนดนโยบาย เป็นกรอบความคิดในการแก้ปัญหาแบบแยกส่วน คิดแบบจุลภาค เป็นกรอบคิดแบบการตลาดและแก้ปัญหาแบบนักธุรกิจ ไม่ใช่กรอบคิดการบริหารระบบเศรษฐกิจหรือใช้มุมมองแบบมหภาค ปัญหาท่องเที่ยวไทยทรุดตัวเป็นผลจากกำลังซื้อจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ชะลอตัวอย่างแรงมากกว่า การแจกเงินให้เที่ยวจึงไม่ได้ช่วยอะไรมากนัก 
    
ทั้งนี้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอาจบรรเทาความเดือดร้อนได้บ้างแต่ไม่ยั่งยืน เป็นการกระตุ้นอุปสงค์ระยะสั้น ไม่ได้เพิ่มรายได้ระยะยาว ไม่ได้เพิ่มผลิตภาพหรือโอกาสในการจ้างงาน และ ทำให้เกิดข้อจำกัดเรื่องฐานะทางการคลังมากขึ้นตามลำดับ นอกจากนี้หากเศรษฐกิจไม่เติบโตตามเป้าและมีหนี้เสียเกิดขึ้นจากโครงการปล่อยกู้ เกิดภาระผูกพันต่อหนี้สาธารณะในอนาคตจากนโยบายกึ่งการคลังที่ดำเนินการผ่านธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ หากเศรษฐกิจไม่เติบโตตามเป้าและมีหนี้เสียเกิดขึ้นจากโครงการปล่อยกู้ มาตรการสินเชื่อให้เกษตรกรและแจกเงินเพื่อลดต้นทุนการผลิตผ่านธนาคารเฉพาะกิจของรัฐประมาณ 200,000 ล้านบาท มาตรการเพิ่มเงินให้ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 300-500 บาท มาตรการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ปล่อยกู้ธุรกิจรายเล็ก มาตรการเหล่านี้อาจบรรเทาผลกระทบชะลอตัวเศรษฐกิจได้บ้างแต่ประสิทธิภาพของมาตรการจะขึ้นอยู่กับความเชื่อมั่นของประชาชนต่อเศรษฐกิจในอนาคตด้วย โดยเศรษฐกิจยังไม่มีแนวโน้มปรับตัวในทิศทางดีขึ้น

ผศ.ดร.อนุสรณ์  กล่าวทิ้งท้ายว่าส่วนมาตรการลดหย่อนภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนภายในประเทศนั้นเป็นมาตรการที่ดีและจะมีความยั่งยืนกว่ามาตรการอื่นๆและน่าจะเพิ่มผลิตภาพของทุน (Capital Productivity) ได้ระดับหนึ่ง โดยสัดส่วนของภาคการลงทุนต่อจีดีพีของเศรษฐกิจไทยอยู่ที่ 24% และ 18% เป็นการลงทุนภาคเอกชน ส่วนการลงทุนภาครัฐอยู่ที่ 6% การจะฟื้นเศรษฐกิจด้วยกำลังซื้อภายในต้องกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชนและการบริโภคภาคเอกชนซึ่งมีสัดส่วนสูงถึง 51% ของจีดีพี 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท