Skip to main content
sharethis

หลังกฎหมายคุ้มครองแรงงานฉบับใหม่บังคับใช้ เพิ่มสิทธิค่าชดเชยเลิกจ้างโดยไม่มีความผิดและเกษียณอายุเป็น 400 วัน จากเดิม 300 วัน ดันยอดเงินชดเชยเกษียณอายุพุ่งกว่า 30,000 ล้านบาท ครึ่งปี 2562 ภาคธุรกิจไทยทยอยแจ้งกำไรลด เพราะมีค่าใช้จ่ายทางบัญชีเพิ่มจากกฎหมายฉบับนี้

ที่มาภาพประกอบ: geralt (Pixabay License)

หลังจากที่ พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่7) พ.ศ.2562 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 5 เม.ย. 2562 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 5 พ.ค. 2562 เป็นต้นมา โดยสาระสำคัญของกฎหมายแรงงานฉบับนี้ได้ให้สิทธิประโยชน์ลูกจ้างในประเด็นสำคัญๆ ดังนี้

1. เพิ่มอัตราค่าชดเชยกรณีเลิกจ้างให้กับลูกจ้าง เป็น 6 อัตราจาก 5 อัตรา ดังนี้ (1) ลูกจ้างที่ทำงานมาครบ 120 วัน แต่ไม่ครบ 1 ปีได้ค่าชดเชย 30 วัน (2) ลูกจ้างหากทำงานครบ 1 ปีแต่ไม่ครบ 3 ปี ได้ค่าชดเชย 90 วัน(3) ลูกจ้างทำงานครบ 3 ปีแต่ไม่ครบ 6 ปีจะได้รับเงินชดเชย 180 วัน (4) ทำงานครบ 6 ปี แต่ไม่ครบ 10 ปี ได้รับเงินชดเชย 240 วัน (5) ลูกจ้างทำงานครบ 10 ปี แต่ไม่ครบ 20 ปี ได้เงินชดเชย 300 วัน และ (6) ลูกจ้างทำงานครบ 20 ปีขึ้นไป ได้รับเงินชดเชย 400 วัน

2. กรณีนายจ้างมีการเปลี่ยนตัว เปลี่ยนนิติบุคคล หากลูกจ้างไม่ยินยอมสามารถรับค่าชดเชยพิเศษ อาทิ หากทำงานมาครบ 20 ปีได้รับค่าชดเชย 400 วัน หรือตาม 6 อัตราข้างต้น

3. กรณีย้ายสถานประกอบการไปที่อื่น หากลูกจ้างไม่อยากตามไปสามารถบอกเลิกสัญญาจ้างได้และได้สิทธิชดเชยตาม 6 อัตราข้างต้นเช่นกัน เพิ่มเติมจากกฎหมายฉบับเก่าที่ไม่สามารถทำได้

4. ลูกจ้างหญิงตั้งครรภ์ลาก่อนคลอด หลังคลอดได้ 98 วัน จากเดิม 90 วัน โดยรวมวันลาเพื่อตรวจครรภ์ก่อนคลอดบุตรด้วย

5. กรณีลากิจธุระจำเป็นได้ค่าจ้าง 3 วันทำงานต่อปี

6. กรณีค่าตอบแทน หากนายจ้างไม่จ่ายค่าตอบแทน ในบางอาชีพที่ทำงานเกินเวลาปกติ ลูกจ้างจะต้องฟ้องขอ โดยของเดิมดอกเบี้ยให้ร้อยละ 7.5 ต่อปี แต่กฎหมายใหม่ให้ได้สูงสุดถึงร้อยละ 15 ต่อปี

7. ให้สิทธิเท่าเทียมระหว่างหญิงชาย โดยลูกจ้างมีสิทธิเท่าเทียมกันในเรื่องค่าจ้างค่าตอบแทน ซึ่งกฎหมายเดิมไม่กำหนด โดยกฎหมายฉบับใหม่มีเนื้อหาเพิ่มเติมว่า ลูกจ้างชายหญิงมีงานเท่าเทียมกันต้องได้รับค่าตอบแทนเท่ากัน เป็นไปตามอนุสัญญาแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 100

เพิ่มสิทธิเงินค่าชดเชยเลิกจ้าง-เกษียณอายุ เป็น 400 วัน ดันยอดเงินชดเชยเกษียณอายุพุ่งกว่า 30,000 ล้านบาท

กฎหมายแรงานฉบับใหม่มีผลบังคับใช้ในวันที่ 5 พ.ค. 2562 จะเพิ่มสิทธิประโยชน์ต่างๆ ให้ลูกจ้างกว่า 9.5 ล้านคน ซึ่งในปี 2562 จะมีลูกจ้างวัยเกษียณจำนวนกว่า 300,000 คน ทำงานครบ 20 ปี ซึ่งถือเป็นร้อยละ 3 ของแรงงานในระบบ และได้รับเงินค่าชดเชยหลังเกษียณตามอัตราข้างต้น หรือสูงสุด 400 วัน

เป็นประเด็นที่ต้องจับตา เพราะกฎหมายคุ้มครองแรงงานฉบับใหม่ เพิ่มสิทธิเงินค่าชดเชยเป็น 400 วัน จากเดิม 300 วัน ให้กับลูกจ้างที่มีอายุงาน 20 ปีขึ้นไป ในกรณีที่ถูกเลิกจ้างโดยไม่มีความผิดและเกษียณอายุ ดันยอดเงินชดเชยเกษียณอายุพุ่งกว่า 30,000 ล้านบาท โดยเฉพาะบรรดาบริษัทจดทะเบียนกว่า 113 บริษัทที่ต้องทำการตั้งสำรองในสัดส่วนร้อยละ 30 ของรายจ่ายผลประโยชน์หลังเกษียณ และมีผลต่อตัวเลขกำไรอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

คาดกระทบต่อกำไรตลาดปี 2562 ในกรอบร้อยละ 5

ในเดือน ก.พ. 2562 ก่อนการบังคับใช้กฎหมายนี้ บริษัท หลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ได้วิเคราะห์ไว้ว่ากฎหมายแรงงานที่ปรับเพิ่มผลประโยชน์หลังเกษียณเป็น 400 วัน สำหรับพนักงานเกษียณที่มีอายุงานตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป ทำให้บริษัทต้องสำรองค่าใช้จ่ายสำหรับรายการดังกล่าว ในเชิงมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) ในสัดส่วนประมาณร้อยละ 30 ซึ่งสอดคล้องกับการปรับเพิ่มผลประโยชน์จาก 300 วัน เป็น 400 วัน (เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 33) และจากการประเมิน หากบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ต้องทำการตั้งสำรองในสัดส่วนร้อยละ 30 ของรายจ่ายผลประโยชน์หลังเกษียณจะกระทบต่อกำไรตลาดปี 2562 ในกรอบร้อยละ 5

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบที่แท้จริงอาจออกมาตํ่ากว่าระดับดังกล่าว หากบริษัทเลือกหักตั้งสำรองที่สูงขึ้นจากส่วนผู้ถือหุ้นโดยตรง ในกรณีนี้จะไม่กระทบการรายงานกำไรของบริษัท ทั้งนี้หากพิเคราะห์บริษัทขนาดใหญ่ที่มีพนักงานอายุงานมาก อาทิ บมจ.การบินไทย (THAI) การตั้งสำรอง 2,494 ล้านบาท จะกระทบต่อกำไรมากถึง 61% จากฐานกำไรของ THAI ที่ตํ่า, บมจ.ปตท. (PTT) ตั้งสำรองราว 7,771 ล้านบาท กระทบต่อกำไร 5.5% (จากกำไรปกติราว 1.4 แสนล้านบาท) บมจ.เจริญโภคภัณฑ์ อาหาร (CPF) ตั้งสำรองราว 2,000 ล้านบาท กระทบกำไร 12.5%

กลุ่มธนาคารพาณิชย์ อาทิ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ตั้งสำรอง 1,500 ล้านบาท กระทบต่อกำไร 3.6%, ธนาคารกรุงไทย (KTB) ตั้งสำรอง 3,000 ล้านบาท กระทบกำไรราวร้อยละ 8 ส่วนบริษัทที่แทบไม่ได้รับผลกระทบ ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ เพราะใช้ซับคอนแทร็กต์ หรือ กลุ่มรถไฟฟ้า ที่ใช้คนน้อย ยกเว้น บมจ.เด็มโก้ (DEMCO) ที่ฐานกำไรตํ่า จะกระทบกำไรราวร้อยละ 13.8 จากการตั้งสำรอง 21 ล้านบาท โดยคาดว่า บริษัทที่เหลือน่าจะตั้งสำรองครบภายในครึ่งแรกของปี 2562 นอกจากนี้ มี 3 ธนาคารพาณิชย์ ที่ตั้งสำรองครบแล้ว เมื่อไตรมาส 4/2561 คือ ธนาคารกรุงเทพ (BBL) ตั้งสำรอง 2,500 ล้านบาท จากรายจ่ายในส่วนนี้ 8,364 ล้านบาท, ธนาคารเกียรตินาคิน (KKP) 158 ล้านบาท และบริษัทบัตรกรุงไทยฯ (KTC) 96 ล้านบาท

ภาคธุรกิจทยอยแจ้งกำไรลด

ต่อมาภาคธุรกิจต่างๆ จึงได้ออกมาให้ตัวเลขกำไรที่ลดลงจากการบังคับใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฉบับใหม่ อาทิเช่น

บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่าไตรมาส 2/2562 บริษัท มีผลขาดทุนสุทธิ 135 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 251.32 ล้านบาท เนื่องจาก การรับรู้ค่าใช้จ่ายพิเศษจำนวน 137 ล้านบาท ได้แก่ผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน ค่าใช้จ่ายทางบัญชีจากการเพิ่มค่าชดเชยของลูกจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 และการตัดจำหน่ายสินทรัพย์ภาษีเงินได้รอการตัดบัญชี โดยหากไม่รวมรายการพิเศษดังกล่าว บริษัทจะมีกำไรจากการดำเนินงานปกติไตรมาส 2/2562 ที่ระดับ 2 ล้านบาท ส่วนครึ่งปีแรก 2562 บริษัทฯ มีผลขาดทุนสุทธิ 168.09 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันปีก่อนกำไรสุทธิ 2,115.25 ล้านบาท

บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่าผลการดำเนินงานไตรมาส 2/2562 มีกำไร 9,079 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 27% ซึ่งหากรวมรายการหักเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงานเพิ่มเป็น 400 วัน เหลือกำไร 7,044 ล้านบาท มีรายได้จากการขาย 109,094 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 9 เนื่องจากราคาสินค้าเคมีภัณฑ์ที่มีรายได้ 45,995 ล้านบาท ปรับตัวลดลงร้อยละ 19 ธุรกิจแพคเกจจิ้งมีรายได้ 20,402 ล้านบาท ปรับตัวลดลงร้อยละ 6 ตามความต้องการซื้อที่ลดลง ซึ่งได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐ และการแข็งค่าของเงินบาทที่ส่งผลต่อส่วนต่างราคาสินค้าปรับตัวลดลง ประกอบกับการขาดทุนจากการปรับมูลค่าสินค้าคงเหลือ 1,150 ล้านบาท

ทั้งนี้หากพิจารณาผลประกอบการในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 นี้มีกำไร 20,741 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 16 ซึ่งหากรวมรายการหักเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงานเพิ่มเป็น 400 วัน เหลือกำไร 18,706 ล้านบาท มีรายได้จากการขายรวม 221,473 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 7 เนื่องจากราคาสินค้าเคมีภัณฑ์ที่ปรับตัวลดลง ส่วนต่างราคาสินค้าเคมีภัณฑ์ปรับตัวลดลงจากผลกระทบของสงครามการค้า อีกทั้งรายได้จากการดำเนินธุรกิจในต่างประเทศรวมการส่งออกในครึ่งแรกของปีอยู่ที่ 88,825 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 40 ของยอดขายรวมลดลงร้อยละ 11

บริษัท โรบินสัน จำกัด (มหาชน) รายงานผลดำเนินงานไตรมาส 2/2562 มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 482 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 30.5 เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิที่ 694 ล้านบาท โดยหลักเป็นผลมาจากการบันทึกรายการพิเศษ ได้แก่ 1.การรับรู้ผลขาดทุนจากเงินลงทุนของบริษัทร่วมจำนวน 178.4 ล้านบาท และ 2.สำรองผลประโยชน์เมื่อเกษียณอายุของพนักงานอีกจำนวน 49.8 ล้านบาท 3.ค่าใช้จ่ายทางภาษีของบริษัทร่วมทางอ้อมในประเทศเวียดนามจำนวน 3 ล้านบาท ส่งผลให้ช่วง 6 เดือนแรกปี 2562 มีกำไรสุทธิ 1,242 ล้านบาท ลดลง ร้อยละ 14.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 1,456 ล้านบาท

บริษัท สยามแก๊ส แอนด์ ปิโตรเคมีคัลส์ จำกัด (มหาชน) ในไตรมาส 2/2562 ขาดทุน เนื่องจากกลุ่มบริษัทฯ มีค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารเป็นจำนวนเงิน 402.35 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับงวดเดียวกันของปี 2561 ซึ่งมีจำนวนเงิน 341.70 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 60.65 ล้านบาทหรือร้อยละ 17.75 สาเหตุหลักเพิ่มขึ้นจากกลุ่มบริษัทฯ มีการตั้งสำรองค่าใช้จ่ายเพิ่มสำหรับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานเรื่องการจ่ายค่าชดเชยพนักงานที่จะเกษียณอายุเป็นจำนวน 27.40 ล้านบาทและมีการตั้งค่าเผื่อการลดมูลค่าของอุปกรณ์เพิ่มขึ้นจำนวน 39.77 ล้านบาท

ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ระบุผลการดำเนินงานในไตรมาส 2/2562 ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาส 1 โดยธนาคารมีกำไรจากการดำเนินก่อนหักสำรองฯ 4,720 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 25 ปัจจัยหนุนหลักมาจากทั้งรายได้ดอกเบี้ยที่ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องและรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยที่ดีขึ้น ทั้งนี้ทางด้านรายได้ที่ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้านั้น มีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ 6,344 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.7 จากไตรมาส 1 และส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ย (NIM) อยู่ที่ร้อยละ 2.90 จากร้อยละ 2.89 ในไตรมาสก่อน ขณะที่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยอยู่ที่ 2,548 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.8 ตามการฟื้นตัวของรายได้ค่าธรรมเนียม โดยเฉพาะค่าธรรมเนียมการขายกองทุนรวม ทำให้รายได้จากการดำเนินงานรวมอยู่ที่ 8,892 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.4

ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานอยู่ที่ 4,210 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 11.1 จากไตรมาส 1 ที่มีการบันทึกค่าใช้จ่ายสำรองสำหรับเงินชดเชยโครงการผลประโยชน์พนักงานหลังออกจากงานเมื่อเกษียณอายุ (Employee Retirement Benefit) ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 จากรายได้ที่เพิ่มขึ้นและค่าใช้จ่ายที่ลดลง ส่งผลให้มีกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักสำรองฯ ที่ 4,720 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 24.5 ซึ่งหลังจากหักสำรองฯ จำนวน 2,490 ล้านบาท และภาษี ธนาคารมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 1,917 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.4

ธนาคารกสิกรไทย จำกัด ในไตรมาส 2/2562 ธนาคารและบริษัทย่อย มีกำไรสุทธิ 9,929 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อยจากไตรมาสก่อน 115 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.15 โดยรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นจำนวน 518 ล้านบาท หรือร้อยละ 2.05 ส่วนใหญ่เกิดจากรายได้ดอกเบี้ยรับของเงินลงทุน ทำให้อัตราผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ (NIM) อยู่ที่ระดับร้อยละ 3.34 สำหรับค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่นๆ เพิ่มขึ้นจำนวน 1,731 ล้านบาท หรือร้อยละ 10.81 ส่วนหนึ่งเกิดจากค่าใช้จ่ายทางการตลาด และการตั้งสำรองเกษียณอายุของพนักงาน

ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) มีกำไรสุทธิในไตรมาส 2/2562 จำนวน 3,592 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 1.59 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน สาเหตุหลักมาจากค่าใช้จ่ายพิเศษเพื่อรองรับการชดเชยกรณีพนักงานเกษียณและเลิกจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 สำหรับผลการดำเนินงานงวดครึ่งปีแรกของปี 2562 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิจำนวน 7,242 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 4.71 จากงวดเดียวกันปีก่อน

 

ที่มาข้อมูล
ชดเชยเกษียณ 400 วัน ฉุดกำไร บจ. ร่วง 5% (ฐานเศรษฐกิจ, 4 ก.พ. 2562)
คลี่ กม. แรงงานฉบับใหม่ มนุษย์เงินเดือนยิ้มกริ่ม เพิ่ม 7 สิทธิประโยชน์ นายจ้างน้ำตาตก ฉุดกำไรร่วง (ผู้จัดการออนไลน์, 13 เม.ย. 2562)
'ธนชาต' ครึ่งปีแรกกำไร 7,242 ล้าน ชูแคมเปญให้ชีวิตก้าวหน้าได้ทุกวัน (กรุงเทพธุรกิจ, 19 ก.ค. 2562)
“ทีเอ็มบี” โชว์กำไรไตรมาส 2 โต 21% ค่าใช้จ่ายแบงก์ลด-รายได้ค่าฟีขายกองทุนหนุน (ประชาชาติธุรกิจ, 22 ก.ค. 2562)
กำไรแบงก์ทรงตัว Q2 ลุ้นตัวโก่งนโยบายรัฐหนุนสินเชื่อฟื้น (ประชาชาติธุรกิจ, 22 ก.ค. 2562)
เอสซีจีพลาดเป้ารายได้-กำไรลด27% (ไทยโพสต์, 27 ก.ค. 2562)
'ไทยคม' เผย ไตรมาส 2/62 ขาดทุนสุทธิ 135 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 251.32 ล้านบาท เหตุ รับรู้ค่าใช้จ่ายพิเศษรวม 137 ล้านบาท (กรุงเทพธุรกิจ, 2 ส.ค. 2562)
SGP ร่วง3% นิวโลว์รอบ 7 เดือน หลังไตรมาส2 พลิกขาดทุน 127 ลบ. เหตุค่าใช้จ่ายขาย-บริหารพุ่ง (ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์, 8 ส.ค. 2562)
ROBINS บุ๊ครายการพิเศษฉุดกำไร Q2 วูบ 30% เหลือ 482 ล้าน (ประชาชาติธุรกิจ, 9 ส.ค. 2562)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net