จุดเด่นจุดด้อยของทฤษฎี “การผลิตซ้ำทางสังคม” ในการทำความเข้าใจกับการกดขี่ทางเพศ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ตั้งแต่ทศวรรษที่  80 การศึกษาในมหาวิทยาลัยเรื่องการกดขี่ทางเพศ หรือปัญหาสิทธิสตรี ถูกครอบงำโดยพวก “เฟมินิสต์” ฝ่ายขวาที่เน้นแนวคิด “ชายเป็นใหญ่” (Patriarchy) โดยตัดแนวคิดเรื่องชนชั้นออกไปและหันหลังให้กับทฤษฎีมาร์กซิสต์ที่เต็มไปด้วยงานเขียนเรื่องการกดขี่ทางเพศ สาเหตุหลักที่พวกแนวคิดชายเป็นใหญ่ครอบงำการศึกษาได้ ก็เพราะการต่อสู้ทางชนชั้นของขบวนการแรงงานอ่อนตัวลงชั่วคราวในตะวันตกหลังการลุกฮือ 1968

พวกเฟมินิสต์ฝ่ายขวามีอิทธิพลสูงในสหรัฐ และแนวคิดแบบนี้ก็ลามเข้ามาในแวดวงสตรีศึกษาของไทย มุมมอง “ชายเป็นใหญ่” เสนอว่าผู้หญิงควรจะสามัคคีข้ามชนชั้นเพื่อสู้กับแนวคิดของผู้ชาย มันนำไปสู่การเสนอว่าการมีชนชั้นนำเพศสตรี หัวหน้างานเพศสตรี หรือนักการเมืองเพศสตรี เป็นเรื่องดีสำหรับผู้หญิงทุกชนชั้นไม่ว่าสตรีที่เข้ามามีบทบาทนำจะมีจุดยืนทางการเมืองอย่างไร แต่ในความเป็นจริงกรรมาชีพหญิง พนักงานหญิง และผู้หญิงยากจน ไม่เคยได้ประโยชน์จากการที่สตรีบางคนขึ้นมามีอำนาจ เพราะผลประโยชน์ทางชนชั้นของสตรีที่เป็นชนชั้นนำจะแตกต่างโดยสิ้นเชิงกับสตรีธรรมดา

ในประเทศไทยการที่ยิ่งลักษณ์ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี ไม่ได้ทำให้สตรีไทยมีสิทธิ์ทำแท้งเสรี และไม่ได้ปลดแอกกรรมาชีพหญิงจากการถูกกดขี่ขูดรีดแต่อย่างใด การที่หัวหน้าองค์กร “ไอเอ็มเอฟ” เคยเป็นสตรีฝ่ายขวาที่คลั่งกลไกตลาด ไม่ได้ทำให้องค์กรนี้เลิกตัดสวัสดิการและทำลายฐานะทางเศรษฐกิจของสตรีล้านๆ คนทั่วโลกผ่านนโยบายรัดเข็มขัด

ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาพวกเฟมินิสต์แนว “ชายเป็นใหญ่” ได้พัฒนาทฤษฎีโดยนำแนวคิดเข้ามาใหม่สองแนวคิดคือ “ทฤษฎีเอกสิทธิ์” (Privilege Theory) กับ “ทฤษฎีลัคนาภาวะ” หรือ “ทฤษฎีสภาวะทับซ้อน” (Intersectionality) ทั้งสองทฤษฎีนี้ลดความสำคัญของเรื่องชนชั้น

“ทฤษฎีเอกสิทธิ์” เสนอว่าชายผิวขาวทุกคน ไม่ว่าจะจนหรือรวย ไม่ว่าจะเป็นกรรมกรหรือนายทุน มีเอกสิทธิ์พิเศษเหนือคนอื่นที่มีสีผิวต่างออกไป หรือคนอื่นที่ไม่ใช่เพศชาย หรือเป็นคนพิการ ฯลฯ

ส่วน  “ทฤษฎีลัคนาภาวะ” หรือ “ทฤษฎีสภาวะทับซ้อน” เสนอว่าทุกคนที่ถูกกดขี่ (คนที่ไม่ใช่ชายผิวขาว) จะถูกกดขี่ในหลากหลายรูปแบบเนื่องจาก เพศ สีผิว ชนชั้น สภาพร่างกาย ฯลฯ

จุดร่วมของสองแนวคิดนี้คือการเสนอว่ากรรมาชีพ หรือสตรี หรือคนที่ถูกกดขี่ทั้งหลาย ไม่สามารถรวมตัวกันต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพได้ เพราะทุกคนที่สภาวะที่แตกต่างกัน อีกจุดร่วมหนึ่งคือการปฏิเสธว่าการกดขี่ทั้งหลายในโลกปัจจุบันมาจากระบบทุนนิยม โดยมีการเสนอว่าการกดขี่มาจากนิสัยใจคอของชายเป็นหลัก นอกจากนี้การลดความสำคัญของชนชั้นเป็นการปฏิเสธพลังหลักในที่จะเปลี่ยนสังคม คือพลังของขบวนการแรงงาน

ในปี 1983 นักมาร์กซิสต์สหรัฐชื่อ Lise Vogel ได้เขียนหนังสือชื่อ Marxism and the Oppression of Women เพื่อดึงนักสิทธิสตรีกลับมาสู่แนวมาร์กซิสต์

ในอดีตมาร์กซิสต์อย่าง เองเกิลส์ ได้เสนอว่าการกดขี่ทางเพศไม่ใช่เรื่องธรรมชาติ และไม่ใช่ธรรมชาติของชาย แต่เกิดขึ้นในสังคมมนุษย์เมื่อเกิดสังคมชนชั้น และมาร์กซิสต์อย่าง Chris Harman, Brenner และคนอื่นๆ ได้อธิบายว่าระบบทุนนิยมสร้างค่านิยมทางสังคมที่เสนอว่าผู้หญิงควรจะทำหน้าที่หลักในการเลี้ยงลูก เพื่อลดค่าใช้จ่ายสำหรับนายทุนในการผลิตคนงานรุ่นใหม่ ค่านิยมนี้นำไปสู่ “ลัทธิ” หรือแนวคิดที่มองว่าสตรีเป็นพลเมืองชั้นสอง ซึ่งเป็นเครื่องมือในการกดขี่ทางเพศ [ดู มาร์กซิสต์กับการกดขี่ทางเพศ https://bit.ly/2QQr5VX]

แนวคิดกดขี่ทางเพศนี้มีความสำคัญมากขึ้นในยุคที่ระบบทุนนิยมต้องการให้ผู้หญิงไปทำงานนอกบ้าน เพื่อผลิตส่วนเกินให้นายทุน เพราะทำให้สตรีถูกกดดันให้ทำสองหน้าที่ คือทำงานนอกบ้านและทำงานในครัวเรือนพร้อมกัน

ดังนั้นลัทธิกดขี่ทางเพศในระบบทุนนิยม เป็นเครื่องมือในการที่นายทุนบังคับให้ผู้หญิงในครอบครัวทำหน้าที่ “ผลิตซ้ำทางสังคม” หรือผลิตคนงานรุ่นใหม่นั้นเอง มันเป็นการผลักภาระสู่ครอบครัวปัจเจก แทนที่จะเป็นภาระของทุกคนในสังคมร่วมกัน

หนังสือของ Lise Vogel มีประโยชน์ในการกู้คำอธิบายมาร์กซิสต์กลับมา และการเน้นว่าการกดขี่ทางเพศในสังคมปัจจุบันมาจากระบบทุนนิยม แต่ข้อเสียคือ Vogel หันหลังให้ เองเกิลส์ โดยการเสนอว่าสภาพทางชีววิทยาของเพศหญิง ทำให้ผู้หญิงต้องถอนตัวออกจากระบบการผลิตในสังคมและต้องพึ่งผู้ชายตั้งแต่กำเนิดของมนุษย์ ซึ่งไม่ตรงกับหลักฐานทางประวัติศาสตร์และการเปลี่ยนแปลงในฐานะของผู้หญิงในโลกปัจจุบันอีกด้วย ข้อเสนออันนี้ของ Vogel นำไปสู่การเสนอว่าสตรีทุกชนชั้นต้องสามัคคีกัน แทนที่จะสามัคคีกรรมาชีพชายกับหญิง มีการลดความสำคัญของชนชั้นนั้นเอง

ในยุคนี้มีการพูดถึงทฤษฎี “การผลิตซ้ำทางสังคม” ในลักษณะที่ ผสมเรื่อง “การกดขี่” เข้ากับ “การขูดรีด” จนกลายเป็นเรื่องเดียวกัน คือมีการเสนอว่างานของผู้หญิงในครัวเรือนเป็นการ “ขูดรีดส่วนเกิน” ชนิดหนึ่งไม่ต่างจากการขูดรีดในระบบการผลิตของสังคมทุนนิยม เพียงแต่ว่ามันเกิดขึ้นในครอบครัวปัจเจก

แต่การผสมเรื่อง “การกดขี่” กับ “การขูดรีด” เป็นการทำให้ลัทธิกดขี่ทางเพศกลายเป็นสิ่งเดียวกันกับการผลิตส่วนเกินในเศรษฐกิจซึ่งไม่ใช่

ความคิดแบบนี้ของเฟมินิสต์รุ่นใหม่บางคนที่อ้างถึง Vogel ในลักษณะผิดเพี้ยน นำไปสู่การ “นัดหยุดงานของสตรี” ในสเปนเป็นต้น แต่การ “นัดหยุดงานของสตรี” ไม่ได้ท้าทายโครงสร้างอำนาจในสังคมทุนนิยมแต่อย่างใด เพียงแต่ทำให้คู่ของสตรีที่หยุดงานต้องเลี้ยงลูกหรือทำอาหารแทนในวันนั้นเท่านั้น

ทฤษฎี “การผลิตซ้ำทางสังคม” อย่างที่พวกนี้เสนอ มีผลทำให้ลดความสำคัญของชนชั้น และลดความสำคัญของขบวนการแรงงานหรือชนชั้นกรรมาชีพ โดยเน้นแค่การประท้วงบนท้องถนนเท่านั้น แต่บทเรียนจากทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นซูดาน หรือฮ่องกง ชี้ให้เห็นว่าเมื่อขบวนการแรงงานเข้ามามีบทบาทสำคัญในขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมและการประท้วง การประท้วงจะมีพลังมากขึ้น เพราะกรรมาชีพมีพลังทางเศรษฐกิจที่จะล้มระบบทุนนิยมได้

 

หมายเหตุ: อ่านเพิ่มเรื่องทฤษฎี “การผลิตซ้ำทางสังคม”  https://bit.ly/31j6lKY

เผยแพร่ครั้งแรกใน: turnleftthai.wordpress.com

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท