เตียง ศิริขันธ์ วันสันติภาพไทย คนรุ่นใหม่ และความเป็นขบถ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

16 สิงหาคม เป็นวันสันติภาพไทย ผมได้ไปบรรยายพิเศษที่อนุสาวรีย์เตียง ศิริขันธ์ ถ้ำเสรีไทย จ.สกลนคร เกี่ยวกับการต่อสู้ของเขาในอดีต เทียบเคียงกับสถานการณ์การเมือง ซึ่งผมรู้สึกยินดีและได้รับเกียรติเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสมาพูดในวันนี้

ครูเตียง ศิริขันธ์ เป็นบุคคลที่มีคุณูปการอย่างยิ่ง เป็นแบบอย่างของคำว่า "รัฐศาสตร์ราษฎร"

ครูเตียง ศิริขันธ์ ในฐานะ "ปัญญาชน" มีความรู้ความสามารถหลายเรื่อง แต่ที่น่าสนใจ คือยุคนั้น เขาคือ "นักเรียนใน" หมายความว่าเป็นนักเรียนในประเทศ ซึ่งสมัยนั้นคนส่วนใหญ่ที่ต่อสู้ทางด้านการเมืองล้วนไปศึกษาในต่างประเทศ แต่ว่าความเป็นนักคิดนักเขียน ไม่จำเป็นต้องจบต่างประเทศ ครูเตียงได้เขียนหนังสือเกี่ยวกับการศึกษาอยู่หลายเล่ม

แต่มีอยู่เรื่องหนึ่ง ที่น่าสนใจคือ "หัวใจปฎิวัติฝรั่งเศส" เมื่อปี 2480 (ปัจจุบันไม่มีขายแล้ว) โดยมีเนื้อความว่า "เรื่องปฏิวัติในฝรั่งเศสนี้ชาวอารยประเทศถือว่าผู้ที่ได้รับการศึกษา รักชาติเอาใจใส่ในชาติ ควรจะได้รู้ละเอียด เพื่อจะได้ซาบซึ้งในหลักประชาธิปไตยที่แท้จริง โดยพิจารณาในปรัชญาจากเรื่องนี้จริงๆ"

ในยุคนั้น คนจะเขียนเรื่องราวของต่างประเทศเป็นภาษาไทยหาค่อนข้างยาก นอกจากจะเขียนหนังสือเรื่องต่างประเทศแล้ว ก็ยังแปลหนังสือจากต่างประเทศ นอกจากนี้ เตียงยังได้เขียนหนังสือพิมพ์ชื่อ "เสรีราษฎร์" อีกด้วย

ซึ่งข้อความที่อยู่บนป้ายผ้าข้างหลังผมนั้นก็มาจากหนังสือพิมพ์เสรีราษฎร์เมื่อปี 2479 ที่เตียงเขียน เสมือนเป็นการประกาศจุดยืน อุดมการณ์ความคิด ความเชื่อ ที่มาและที่ไปของการทำงานและการต่อสู้ของเตียง

สำหรับเตียง เขาคิดแบบสังคมนิยม ต้องการให้รัฐมีบทบาทในการทำให้คนได้มีความเท่าเทียมกัน แต่ในยุคนั้นใครที่มีแนวคิดแบบนี้จะถูกผลักไสไปเป็นคอมมิวนิสต์ และครูเตียง ก็เป็นหนึ่งในเหยื่อของกฎหมายนี้

ครูเตียงในฐานะ "สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร" เตียงในฐานะนักการเมือง ลงสมัครรับเลือกตั้งครั้งแรกในปี 2480 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งโดยตรงครั้งแรก และเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรถึง 5 สมัยติดต่อกัน จากปี 2480 ถึง 2495 จนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต เตียง หาเสียงแบบเข้าถึงชาวบ้าน เข้าถึงวิถีชีวิตชาวบ้านแบบที่ว่า "ค่ำไหนนอนนั่น" 

หน้าที่ของ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ต้องคลุกคลีกับชาวบ้าน นำปัญหาทุกข์ร้อนของประชาชน เข้าไปในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเตียง ศิริขันธ์ ทำหน้าที่นี้ได้เป็นอย่างดี นอกจากนั้นยังรวบรวมเพื่อน ส.ส. ภาคอีสาน เป็นกลุ่มก้อน และเมื่อสามารถตั้งพรรคการเมืองได้ เตียงกับเพื่อนได้ตั้งพรรคสหชีพ

จนกระทั่งวันที่ 9 พฤศจิกายน 2490 ได้เกิดการรัฐประหาร และเป็นจุดเริ่มต้นของวงจรอุบาทว์ ทหารแทรกแซงการเมืองจวบจนปัจจุบัน บรรยากาศการเมืองกลับมาเลือกตั้งปี 2495 เตียง ลงสมัครเลือกตั้งอีกครั้ง และถูกบีบให้เข้าร่วมกับพรรคที่ทำรัฐประหารเมื่อปี 2490 และหลังจากนั้นไม่นาน ได้ถูกอำนาจมืดสังหารอย่างเหี้ยมโหด

เมื่อพูดถึงจุดนี้ ก็อยากย้ำเตือนทุกท่านว่า "สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร" ถือเป็นตำแหน่งที่ใช้อำนาจรัฐเพียงตำแหน่งเดียวที่มาจากการเลือกตั้ง เป็นอาชีพที่ประชาชนให้ความไว้วางใจเลือกเข้ามา ดังนั้นหากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนไหนที่เห็นด้วยกับเผด็จการ การยึดอำนาจ-รัฐประหาร ผู้นั้นคือผู้ทรยศต่ออาชีพตนเอง ต่อประชาชน และต่อหลักประชาธิปไตย

ครูเตียงในฐานะ "เสรีไทย" ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลไทยประกาศสงครามกับประเทศสัมพันธมิตรและเข้าร่วมกับญี่ปุ่น แต่มีกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยได้ตั้งขบวนการที่ชื่อ "เสรีไทย" นำโดยปรีดี พนมยงค์ ซึ่งเตียง ศิริขันธ์ ถูกจัดได้ว่าเป็นแม่ทัพทางภาคอีสาน มีรหัสลับชื่อว่า "พลูโต"

ขบวนการเสรีไทย มีบทบาททำให้ไทยไม่ตกเป็นผู้แพ้สงคราม เพราะในวันที่ 16 สิงหาคม 2488 ในเวลานั้นปรีดีในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ประกาศให้การประกาศสงครามของรัฐบาลไทยต่อสหรัฐอเมริกาและบริเตนใหญ่ เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2485 เป็นโมฆะ เนื่องจากเป็นการกระทำที่ผิดต่อเจตจำนงของประชาชนชาวไทย เป็นปรปักษ์ต่อสหประชาชาติ ขัดต่อรัฐธรรมนูญและฝ่าฝืนกฎหมายบ้านเมือง

ประเทศไทยจึงไม่ตกอยู่ในฐานะของผู้แพ้สงคราม ดังนั้นวันที่ 16 สิงหาคมจึงเป็น "วันสันติภาพไทย"

หากจะกล่าวถึงปัจจุบัน "เตียง ศิริขันธ์" เป็นผลผลิตจากปี 2475 ของการเป็นระบอบประชาธิไตย ที่อำนาจอยู่ที่ประชาชน เพราะมีการเลือกตั้ง เตียงจึงได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จึงได้เป็นรัฐมนตรี หากมีแต่การแต่งตั้ง คนบ้านนอกอยู่ในที่ห่างไกล ไม่มีโอกาสที่จะเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอย่างแน่นอน

เตียงใช้ความเป็นคนรุ่นใหม่ในยุคสมัยนั้น ต่อสู้เพื่อความเท่าเทียม ปราศจากความเหลื่อมล้ำต่ำสูง นอกจากนั้น เตียงยังเป็นคนไม่ยอมจำนน ไม่เกรงกลัวต่ออำนาจรัฐ ความต้องการจะเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งใหม่ที่ดีกว่า นี่คือสิ่งที่เป็นแบบอย่างของคนชื่อ "เตียง ศิริขันธ์"

ครูเตียงยังคงมี "ความเป็นขบถ" ความเป็นขบถหมายถึงการต่อสู้เพื่อสิ่งใหม่ที่ดีกว่า เราต้องหล่อเลี้ยงจิตใจตัวเองเอาไว้ เพื่อความเป็นขบถนำไปสู่สิ่งใหม่ที่ดีกว่าอยู่เสมอ

หากเรานิ่งเฉย คนที่ครองอำนาจอย่างไม่เป็นธรรมก็จะครองอำนาจต่อไปเรื่อยๆ จนถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน หากเรารู้ว่าสู้กับอำนาจมืดไม่ได้ และอยู่เฉยไปเรื่อยๆ หรือที่เรียกกันว่า "อยู่เป็น" เราก็จะอยู่กับสิ่งแบบนี้ไปตลอดกาล

หากเรามีความหวัง และลงมือทำ ไม่วันใดก็วันหนึ่ง ต้องถึงคราวที่เปลี่ยนแปลงนำไปสู่สิ่งที่ดีกว่าอย่างแน่นอน ประเทศไทยต้องไม่อยู่แบบนี้ตลอดไป

เรื่องที่เกี่ยวข้อง: เตียง ศิริขันธ์ วันสันติภาพไทย คนรุ่นใหม่ และความเป็นขบถ : ปิยบุตร แสงกนกกุล

เผยแพร่ครั้งแรกใน: Facebook Piyabutr Saengkanokkul - ปิยบุตร แสงกนกกุล

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท