Skip to main content
sharethis

การประท้วงต่อต้านอิทธิพลของรัฐบาลจีนและเรียกร้องเสรีภาพทางการเมืองของชาวฮ่องกงสะเทือนไปถึงเขตปกครองพิเศษมาเก๊าที่ถูกมองว่าเป็นพื้นที่อนุรักษ์นิยม มีขบวนการคนรุ่นเยาว์เริ่มตื่นตัวทางการเมืองและบางส่วนก็แสดงการสนับสนุนฮ่องกงด้วยเหตุผลที่ต่างกันไป

ภาพมาเก๊าในตอนกลางคืน (ที่มา:วิกิพีเดีย)

19 ส.ค. 2562 บอสโก หว่อง อายุ 23 ปี มีพื้นเพมาจากมาเก๊า อีกหนึ่งเขตปกครองพิเศษของจีน เขาพูดถึงการประท้วงต่อต้านรัฐบาลในฮ่องกงว่า "การต่อสู้เพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตยของพวกเขาก็คือการต่อสู้ของพวกเรา (ชาวมาเก๊า) ด้วยเช่นกัน

มาเก๊าเป็นเขตแดนที่เคยตกเป็นอาณานิคมของโปรตุเกสมาก่อน ผู้คนสามารถเดินทางด้วยเรือเฟอร์รีจากฮ่องกงไปถึงที่นั่นได้ในเวลา 1 ชั่วโมง มาเก๊าถูกมองว่าเป็นพื้นที่ๆ ไม่แสดงการต่อต้านมากเท่าเมื่อเทียบกับฮ่องกงเนื่องด้วยสังคมส่วนใหญ่มีความเป็นอนุรักษ์นิยม ถึงแม้คนรุ่นเยาว์ทั่วๆ ไปจะไม่ค่อยยุ่งกับการเมืองมากเท่าในฮ่องกง แต่ก็เริ่มมีกลุ่มเยาวชนกลุ่มเล็กๆ ที่เริ่มเปล่งเสียงของตัวเองและมองว่าการประท้วงเป็นเวทีแสดงออกถึงความไม่พอใจของตัวเองและต่อสู้เพื่อสิ่งที่เป็นเป้าหมายร่วมกันได้

อย่างไรก็ตามนักกิจกรรมและนักวิเคราะห์ต่างก็มองว่าเหตุการณ์ประท้วงในฮ่องกงทำให้รัฐบาลมาเก๊าตื่นตัวและระมัดระวังมากขึ้นในการออกมาตรการใดๆ ที่อาจก่อให้เกิดความไม่สงบ

หว่องเป็นคนที่ติดตามการเมืองฮ่องกงมาเรื่อยๆ เขาบอกว่าถึงแม้โรงเรียนของเขาจะไม่ได้เป็นอนุรักษ์นิยมแต่ก็ไม่ได้สอนเรื่องการเมืองเลย ทำให้เขามองฮ่องกงในฐานะแรงบันดาลใจเสมอมา ต่อมา หว่องเข้าร่วมกลุ่มสนับสนุนประชาธิปไตยในมาเก๊าและช่วยรณรงค์หาเสียงให้กับการเลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติในปี 2560 (ซึ่งมีระบบให้ส่วนหนึ่งมาจากการเลือกตั้งอีกส่วนหนึ่งมาจากแต่งตั้ง)

หว่องตัดสินใจทำงานที่ฮ่องกงหลังจากเรียนจบที่นั่นเมื่อปี 2561 แต่เขาก็ไม่รู้มาก่อนว่าในปีนี้จะเกิดวิกฤตการเมืองครั้งใหญ่ที่พวกเขาไม่เคยเจอมาก่อนตลอดหลายสิบปีที่หว่องเองก็เข้าร่วมการประท้วง หว่องเล่าว่าเขาเป็นคนช่วยสร้างแนวกั้นและคอยช่วยเหลือด้านการขนส่งลำเลียงเช่นการส่งสิ่งของไปที่แนวหน้า นอกจากนี้ยังสนับสนุนด้วยเงินในการซื้อหน้ากากกันแก๊สให้คนที่อยู่ในแนวหน้า

มีชาวมาเก๊าหลายคนวิพากษ์วิจารณ์เรื่องที่การประท้วงที่ดูเหมือนจะมีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ และแสดงการสนับสนุนตำรวจที่หว่องอธิบายว่ามาจากการเข้าไม่ถึงแหล่งข้อมูลที่รอบด้าน ทำให้ชาวมาเก๊าเหล่านี้ได้รับข้อมูลที่เป็นเท็จและมีอคติ คนเหล่านี้แทบจะไม่ได้อ่านอะไรเกี่ยวกับมุมมองผู้ประท้วงเลย

สื่อในมาเก๊ามีความคึกคักน้อยกว่าฮ่องกงเนื่องจากรัฐบาลท้องถิ่นมีอำนาจควบคุมการเงินของสื่อสูงกว่า สื่อภาษาโปรตุเกสและภาษาอังกฤษในมาเก๊ามักจะมีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลแต่เนื้อหาเหล่านี้มักส่งไม่ถึงกลุ่มประชากรส่วนใหญ่ที่พูดภาษากวางตุ้งหรือไม่ก็จีนกลาง

อย่างไรก็ตาม การประท้วงของหว่องก็สามารถส่งถึงใจคนรุ่นเยาว์ในมาเก๊าได้ จากประชากรทั้งหมดเกือบ 700,000 คนของมาเก๊ามีร้อยละ 24 ที่เป็นคนรุ่นเยาว์ที่อายุต่ำกว่า 24 ปี ซึ่งอัตราส่วนใกล้เคียงกับฮ่องกงที่มีประชากรร้อยละ 22 เป็นคนรุ่นต่ำกว่า 24 ปี

หว่องบอกว่าคุณค่าในแบบฮ่องกงเข้าถึงมาเก๊าแล้วและถ้าหากคนรุ่นเยาว์ในมาเก๊ามีความรู้สึกร่วมกับการเคลื่อนไหวในฮ่องกงนั่นจะยิ่งทำให้พวกเขามีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น เขาเห็นเพื่อนๆ คนที่ไม่เคยแสดงความสนใจทางการเมืองมาก่อนเริ่มแชร์ข่าวเกี่ยวกับฮ่องกง แต่กับคนที่เป็นห่วงเรื่องในฮ่องกงกลับเลือกที่จะเงียบ

มีชาวมาเก๊า 4 รายถูกห้ามไม่ให้เข้าฮ่องกงแล้วเพียงเพราะสวมเสื้อยืดสีดำซึ่งเป็นสีที่สื่อถึงขบวนการประท้วงในครั้งล่าสุดนี้ อย่่างไรก็ตามชาวมาเก๊าเหล่านี้เปิดเผยว่าพวกเขาไม่ได้ไปฮ่องกงเพื่อร่วมการประท้วง

กระนั้นก็มีชาวมาเก๊าที่เข้าร่วมการประท้วงในฮ่องกง เช่น คริสติน กว็อก ผู้ที่เดินทางไปฮ่องกงหลายครั้งเพื่อเข้าร่วมการประท้วง เธอบอกว่าสิ่งที่เป็นแรงจูงใจให้เธอมีจุดยืนร่วมกับชาวฮ่องกงคือสิ่งที่จีนแผ่นดินใหญ่กระทำต่อฮ่องกงนั้นจะส่งผลกระทบต่อมาเก๊าด้วย อีกหนึ่งแรงจูงใจของกว๊อกคือ "ความเป็นหนึ่งใจเดียวกันและการเข้าถึงหัวอกกันและกันในฐานะเพื่อนมนุษย์" เธอมองว่าทุกคนควรมีจุดยืนต่อต้านความรุนแรงจากตำรวจในฮ่องกงและการที่มีอันธพาลไล่ทุบตีผู้คนที่มีเป้าหมายทำร้ายผู้ประท้วง (กรณีเหตุการณ์ในสถานีรถไฟใต้ดินยึนหลงเมื่อ 22 ก.ค. 2562)

ชุมนุมฮ่องกงปาไข่-หมึกใส่ตราประเทศจีน กลุ่มนิรนามตีดะไม่เลือกหน้าในรถใต้ดิน

กว็อกยังคิดว่ามีบางเหตุการณ์ที่เกิดจากการวางแผนโดยรัฐบาลจีน เช่น การที่มีผู้ประท้วงฮ่องกงเผชิญหน้ากับคนจากแผ่นดินใหญ่ 2 รายที่สนามบิน กว็อกที่เจ็บปวดจากภาวะลมแดดและแก๊สน้ำตาในช่วงที่มีการชุมนุมเข้าใจเรื่องความโกรธของผู้ชุมนุมฮ่องกง แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตามเธอจะยืนหยัดร่วมกับชาวฮ่องกง

สำหรับกว็อกแล้ว สาเหตุที่เธอร่วมประท้วงกับชาวฮ่องกงเพราะเธอไม่มีที่ทางให้แสดงออกในมาเก๊า ถ้าหากเธอแสดงออกสนับสนุนขบวนการประท้วงในมาเก๊าอย่างเปิดเผยเธอจะถูกขับออกจากงาน ถูกข่มขู่คุกคาม และแม้กระทั่งถูกจับตามองจากตำรวจ มันทำให้เธอรู้สึกเจ็บปวดที่จะเป็นคนรุ่นเยาว์ในมาเก๊า ในขณะที่ไต้หวันกับฮ่องกงทำให้เธอรู้สึกมีชีวิตชีวามากกว่า

เจสัน เจา เต็งฮี อีกหนึ่งชาวมาเก๊าที่เคยเป็นผู้นำกลุ่มเรียกร้องประชาธิปไตยที่ชื่อสมาคมมาเก๊าใหม่ ในปัจจุบันเขากำลังศึกษาต่อที่ลอนดอนและทำการชุมนุมสนับสนุนชาวฮ่องกงจากที่นั่น เขาเคยถูกจับกุมในมาเก๊าหลายครั้งและเผชิญกับข้อกล่าวหาทางกฎหมายหลายข้อกล่าวหา เขาตัดพ้อว่าชาวมาเก๊ามักไม่มองว่าประชาธิปไตยและสิทธิขั้นพื้นฐานเป็นเรื่องสำคัญอันดับแรกๆ สาเหตุน่าจะมาจากระบบการศึกษาที่ล้มเหลว ระบบเศรษฐกิจและวัฒนธรรมแบบ "มือใครยาวสาวได้สาวเอา" นั่นทำให้ชาวมาเก๊าเหลือทางเลือกอยู่ 2 ทางหลักๆ คือทำงานให้กับรัฐบาลหรือเข้าร่วมกับอุตสาหกรรมคาสิโนซึ่งเป็นแหล่งรายได้หลักของมาเก๊า

มาเก๊ามีช่องว่างรายได้สูง ในขณะเดียวกันก็เป็นพื้นที่ๆ มีระบบสวัสดิการสังคมและการแจกเงินรายปีให้กับประชาชนที่เข้มแข็ง แต่เจาก็บอกว่ามันเป็นเรื่องน่าเศร้าสำหรับคนที่รักในเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในมาเก๊า เขาประเมินว่าทางการจะยกระดับการคุกคามและข่มเหงรังแกชาวฮ่องกงมากขึ้น กระนั้นการเคลื่อนไหวที่เจามองว่าเป็นการเรียกร้องกระจายอำนาจในครั้งนี้ก็ถือเป็น "บทเรียนสำหรับเสรีภาพในการแสดงออก"

ซูลู โซ คาโฮ ประธานคนปัจจุบันของสมาคมมาเก๊าใหม่และเป็นสมาชิกสภาที่อายุน้อยที่สุดในมาเก๊าบอกว่าเขาจะไม่เข้าร่วมการประท้วงแต่จะติดตามการประท้วงอย่างใกล้ชิด เขาบอกว่าแม้ทั้งสองพื้นที่จะมีปูมหลังด้านการเมืองและวัฒนธรรมต่างกันแต่ก็ "มีชะตากรรมร่วมกัน" คาโฮบอกอีกว่าการเคลื่อนไหวในฮ่องกงนั้นส่งผลบวกต่อคนรุ่นเยาว์ในมาเก๊า ทั้งที่มาเก๊าเป็นเมืองที่มีการเชื่อมโยงกับประชาคมนานาชาติน้อย การเคลื่อนไหวในฮ่องกงก็ทำให้ผู้คนเกิดความรู้สึกหวงแหนสิทธิและเสรีภาพตัวเอง

คาโฮมองว่าความรู้สึกว่าสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของคนฮ่องกงกำลังถูกคุกคามนั้นทำให้เกิดความไม่พอใจเพิ่มมากขึ้นและทำให้สังคมแตกแยก เขายังวิจารณ์เรื่องที่รัฐบาลเอาแต่วิจารณ์ความรุนแรงแต่ไม่ได้เสนอทางออก และรู้สึกผิดหวังกับทั้งรัฐบาลกลางของจีนและรัฐบาลฮ่องกงในเรื่องนี้ คาโฮบอกว่าแทนที่จะปล่อยให้ตำรวจจัดการหรือปล่อยให้กองทัพจีนเข้าแทรกแซง รัฐบาลฮ่องกงควรจะพยายามเข้าใจว่าทำไมคนรุ่นเยาว์ของพวกเขาถึงตัดสินใจประท้วงในแบบที่เห็นนี้

นักกิจกรรมและนักวิเคราะห์ก็มองว่ารัฐบาลมาเก๊าฉลาดกว่าในการจัดการกับบรรยากาศความรู้สึกของประชาชน แลร์ลี โซ หมั่นยัม นักวิเคราะห์การเมืองกล่าวว่า รัฐบาลมาเก๊ามองแล้วว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในฮ่องกงอาจจะกระทบกับมาเก๊าไปด้วยเลยยอมถอยเพราะกลัวว่าจะล้ำเส้นประชาชน ถ้าหากรัฐบาลฮ่องกงทำเช่นนั้นบ้างก็จะไม่เกิดเหตุการณ์ลุกฮือทางการเมืองเช่นนี้

หนึ่งในกรณีที่เป็นชนวนให้เกิดการประท้วงของฮ่องกงคือการต่อต้านกฎหมายส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนซึ่งกฎหมายฉบับดังกล่าวนี้จะเอื้อต่อการส่งตัวคนที่รัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่ต้องการตัวจากพื้นที่ต่างๆ รวมถึงฮ่องกงและมาเก๊าในฐานะผู้ร้ายข้ามแดนได้ง่ายขึ้น ทำให้รัฐบาลมาเก๊าซึ่งกลัวจะเกิดการประท้วงหนักกระทบถึงพวกเขาก็สั่งยกเลิกพิจารณาร่างกฎหมายนี้ชั่วคราว และบอกว่ายังไม่มีแผนการใดๆ เกี่ยวกับร่างกฎหมายนี้ นอกจากเรื่องนี้แล้วเมื่อต้นเดือน ส.ค. ที่ผ่านมาทางรัฐบาลมาเก๊ายังระงับบัญญัติเสนอร่างการใช้งบประมาณจากกองทุนสำรองของรัฐสำหรับการลงทุนและพัฒนาในวงเงิน 60,000 ล้านปาตากา (ราว 230,000 ล้านบาท) โดยบอกว่าจะเสนอให้มีการรับฟังเสียงจากประชาชนก่อน

มาเก๊าเองก็เคยมีการประท้วงมาก่อนในปี 2557 ในตอนนั้นมีประชาชนราว 20,000 คนออกมาประท้วงเรื่องแผนการงบประมาณเกษียณอายุแบบหรูหราของผู้บริหารสูงสุดและผู้นำระดับสูงอื่นๆ จนทำให้รัฐบาลต้องพับแผนการนี้ไป จำนวนผู้ประท้วงระดับดังกล่าวไม่เคยเป็นที่พบเห็นมาก่อนในมาเก๊า

ผู้นำมาเก๊ายังแสดงออกมาเมื่อไม่นานนี้ว่าพวกเขาจะคงไว้ซึ่ง "หนึ่งประเทศ สองระบบ" อย่างเคร่งครัด รวมถึงจะส่งเสริมเรื่องความรักชาติในหมู่คนรุ่นเยาว์ แต่หว่อง ผู้ที่ทำงานเป็นนักเทคนิคไอทีโต้แย้งว่าการประท้วงล่าสุดนี้ไม่เกี่ยวอะไรเลยกับเรื่องการขาดความรักชาติแต่มาจากการที่คนฮ่องกงรู้สึกถูกกดขี่ ท่าทีเช่นนี้แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลฮ่องกง มาเก๊า และรัฐบาลกลางของจีนต่างก็ขาดความเข้าใจประชาชนมากขนาดไหน "บางคน เช่นผม อยากจะรักประเทศชาติ แต่ประเทศชาติไม่ได้รักเราตอบ พวกเรากำลังต่อสู้เพื่อต่อต้านระบอบ"

ทั้งนี้หว่องยังบอกอีกว่าเขาหวังว่าชาวฮ่องกงจะมีมุมมองต่อชาวมาเก๊าต่างออกไปจากเดิม เพราะมีคนฮ่องกงจำนวนมากที่คิดว่าชาวมาเก๊าก็เหมือนกับชาวจีนแผ่นดินใหญ่ แต่จริงๆ แล้วชาวมาเก๊าบางคนก็พยายามช่วยเหลือฮ่องกง

เรียบเรียงจาก

How the Hong Kong protests inspire Macau’s youth – and teach their government to be wary, South China Morning Post, Aug. 16, 2019

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net