การทรมานหาหลักฐานไม่ง่าย การค้นหาความจริงยังสำคัญสำหรับกระบวนการสันติภาพ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

การซ้อมทรมานเกินขึ้นหลายครั้งในจังหวัดชายแดนใต้ของประเทศไทย

เหตุการณ์การซ้อมทรมานผู้ถูกควบคุมตัวในจังหวัดชายแดนใต้ของประเทศไทยมีหลายกรณีที่เป็นที่จดจำ ไม่ว่าจะเป็นกรณีของอิหม่ามยะผา กาเซ็ง, อัสฮารี สามะแอ และ อิสมาแอ เต๊ะ ที่เคยมีคำวินิจฉัยของศาลรับรองว่า เขาเหล่านั้นถูกทรมานระหว่างการควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงและนำไปสู่การชดเชยเยียวยาทางการเงิน 
 
แต่ก็มีหลายๆกรณีที่ปรากฎในรายงานด้านสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ เช่น กรณีมะสุกรี สาและ ที่พบว่าเป็นลมหมดสติจนล้มหัวฟาดพื้นทำให้ได้รับบาดเจ็บสาหัส โดยมะสุกรีอ้างว่า เขาถูกบังคับไม่ให้นอนเป็นเวลานาน แต่ทั้งนี้ก็ไม่มีการตรวจสอบหรือนำคดีขึ้นสู่ศาลเนื่องจากความกังวลเรื่องความปลอดภัยของผู้เสียหาย เพราะผู้เสียหายจากการถูกทรมานโดยส่วนใหญ่ คือ ผู้ที่ถูกกล่าวหาว่า เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้ที่ยังไม่ได้มีการพิสูจน์ในกระบวนการยุติธรรม จึงอาจกล่าวได้ว่า พวกเขาเหล่านั้นอาจจะมีทั้งผู้เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความไม่สงบและไม่ได้เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ยังมีกรณีการเสียชีวิตในสถานที่ควบคุมตัวที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเกิดจากสาเหตุอะไรอีก 2 กรณีคือกรณีสุไลมาน แนแซ และกรณีอับดุลลายิ ดอเลาะ   
 
ล่าสุดกรณีของนายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ ที่เจ้าหน้าที่พบว่า เขาไม่หายใจหลังจากถูกควบคุมตัวในวันที่ 20 กรกฎาคม 2562 เพียงไม่กี่ชั่วโมงต่อมา คำชี้แจงของแพทย์ที่ทำการรักษาเบื้องต้น โรงพยาบาลปัตตานีและโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ระบุว่า เขาหยุดหายใจและมีอาการสมองบวมจากการหยุดหายใจ คำถามก็คือว่า เกิดอะไรขึ้นกับเขาที่ทำให้เขาหยุดหายใจ 
 
หลังจากที่มีกระแสข่าวของเขาออกสู่สาธารณะ ทางแม่ทัพภาค 4 จึงได้ให้คณะกรรมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในจังหวัดชายแดนใต้ที่ประกอบด้วย ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดชายแดนภาคใต้ และผู้ทรงคุณวุฒิ จากหลากหลายสาขาอาชีพ ที่ได้รับการแต่งตั้งจาก แม่ทัพภาคที่ 4/ ผอ.กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เข้าตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นและในวันที่ 31 กรกฎาคม 2562 ต่อมามีแถลงการณ์เผยแพร่สู่สาธารณะว่าคณะกรรมการยังไม่สามารถตรวจสอบสาเหตุอย่างละเอียดชัดเจนได้ เนื่องจากรายงานและการให้ถ้อยคำของแพทย์ผู้รักษาอาการผู้ป่วยระบุว่า อาการปัจจุบันของผู้ป่วยเลือดในสมองไม่มีการไหลเวียนจึงไม่สามารถฉีดสีเข้าเส้นเลือดในสมองเพื่อทำการเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ได้ ทำให้ไม่สามารถทราบถึงปัญหาที่อาจจะเกิดที่บริเวณสมองได้ชัดเจน 
 
ในกรณีเช่นนี้หากจะมีการตรวจสอบให้ชัดเจนจะสามารถทำได้เฉพาะในกรณีตรวจร่างกายผู้ตาย ซึ่งอาจทำได้ 2 กรณี คือการผ่าพิสูจน์ และใช้เครื่องเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ และอีกประเด็นหนึ่งคือขาดอากาศหายใจหรือไม่มีออกซิเจนไปเลี้ยงสมอง ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ในหลายกรณี เช่น ผู้ป่วยอาจถูกผู้อื่นกระทำ หรือตัวผู้ป่วยหมดสติและมีภาระปิดกั้นทางเดินหายใจ ไม่ได้รับการช่วยเหลือภายในระยะเวลาอันควร

การทรมานโดยทำให้ขาดอากาศหายใจ ไม่ทิ้งร่องรอย

สิ่งสำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องตระหนัก คือ ผู้ทรมานอาจพยายามที่จะปกปิดการกระทำของตนโดยหลีกเลี่ยงการทิ้งพยานหลักฐาน การทุบตีจึงมักกระทำโดยใช้วัตถุทรงกว้างและทื่อ และบางครั้งผู้ถูกทรมานอาจถูกคลุมด้วยพรมหรือรองเท้าอย่างในกรณีของการทุบตีเท้า (falanga) เพื่อกระจายความรุนแรงในการทำร้ายไปยังส่วนอื่น การถ่างแขนขา การถูกบีบกดทับและการขาดอากาศหายใจเป็นวิธีการทรมาน ซึ่งเจตนาจะทำให้ผู้ถูกทรมานได้รับความเจ็บปวดและทุกข์ทรมานอย่างสาหัส แต่ก็หลงเหลือพยานหลักฐานน้อยที่สุด
 
รูปแบบการทรมานที่พบว่า มีการใช้มาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันและมีความยากลำบากที่จะพบร่องรอยบาดแผลให้เห็นทางร่างกายด้วยสายตาหรือแม้แต่การตรวจร่างกายทางการแพทย์ การตรวจสอบและค้นหาข้อเท็จจริงเรื่องการทรมานจึงจำเป็นต้องมีผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายแขนง สืบสวนสอบสวนเหตุการณ์การทรมาน จึงต้องประกอบด้วยทักษะความสามารถ ความเป็นกลาง ความเป็นอิสระ ความรวดเร็วและความละเอียดรอบคอบ
 
เมื่อเปรียบเทียบกรณีของอับดุลเลาะที่เบื้องต้นจากรายงานทางการแพทย์ระบุว่า เขาหยุดหายใจโดยปราศจากร่องรอยการถูกทำร้ายกับกรณีต่างประเทศที่มีวิธีการทำให้ขาดอากาศหายใจนั้นมีวิธีไหนบ้างและทำอย่างไร ข้อค้นพบจากเอกสารทำให้ทราบว่า การทำให้ขาดอากาศหายใจมีแบบแห้งและแบบเปียก สำหรับกรณีที่ทำให้ขาดอากาศหายใจแบบแห้ง คือ การใช้ถุงพลาสติกคลุมศีรษะและรัดที่คอ การกดที่ลูกกระเดือก สำหรับกรณีการขาดอากาศหายใจแบบเปียก คือ การกดศีรษะลงไปในน้ำ การใช้ผ้าปิดหน้าและราดน้ำบนใบหน้า หรือการกรอกน้ำลงไปที่จมูกและปาก วิธีการทำให้ขาดอากาศหายใจแบบเปียกเกิดขึ้นทั่วโลก เช่น
 

  • กรณีไอร์แลนด์เหนือที่นายโฮลเดนถูกราดน้ำที่ใบหน้าจนน้ำเข้าทางปากและจมูกจนในที่สุดเขายอมสารภาพในกรณีอาชญกรรมที่เขาไม่ได้กระทำและในที่สุดเขาได้รับการปล่อยตัวหลังถูกจองจำมา 17 ปี และพบว่าเขาบริสุทธิ์
  • นอกจากนี้กรณีการสอบสวนผู้ก่อการร้ายที่โด่งดังในสถานที่ควบคุมตัวในประเทศแถบตะวันออกกลางของสหรัฐอเมริกาที่พบว่า Khalid Sheikh Mohammed, Abu Zubaydah, และ Abd al-Rahim al-Nashiri ถูกทรมานด้วยวิธีทำให้ขาดอากาศหายใจแบบเปียก ระหว่างการสอบสวนโดย CIA
  • กรณีของ Hasen Ali ซึ่งภรรยาเล่าว่าตำรวจใช้ผ้าคลุมหน้าและเทน้ำเย็นบนใบหน้าจนเขาอาเจียนและเป็นลมไปครู่หนึ่งวิธีการนี้จะส่งผลให้เกิดการสูญเสียความทรงจำทางประสาทจิตเวช 

 

การทำให้จมน้ำส่งผลต่อร่างกายระยะยาว

การพิสูจน์ว่า การจมน้ำแบบไหนคืออุบัติเหตุ ฆ่าตัวตายหรือฆาตกรรมเป็นเรื่องที่ยากมากและในกรณีที่จะพิสูจน์ถึงการทำให้เกิดภาวะจมน้ำหรือการทำให้ขาดอากาศหายใจนั้น จึงเป็นเรื่องที่ยากยิ่งที่จำเป็นจะต้องมีผู้เชี่ยวชาญในหลายสาขาที่จะพิจารณา ทั้งข้อมูลที่ได้จากพยานบุคคล สถานที่เกิดเหตุและผลทางการแพทย์ วิธีการทรมานด้วยการทำให้เกิดภาวะจมน้ำทำให้ผู้ถูกทรมานมีความรู้สึกใกล้ความตายมากเพราะเกิดการสำลักทำให้เกิดการปิดกั้นทางเดินหายใจหรือการกลั้นหายใจซึ่งเป็นกลไกปกป้องตนเองโดยอัตโนมัติ
 
การจมน้ำส่วนใหญ่เป็นกระบวนการที่ทำให้หายใจไม่ออกโดยมีผลกระทบต่อระบบอวัยวะ โดยเฉพาะปอด ซึ่งเป็นศูนย์กลางสำหรับการหายใจและเป็นอวัยวะหลักที่ได้รับผลกระทบจากการจมน้ำ การหายใจเป็นกระบวนการอัตโนมัติภายใต้การควบคุมของระบบประสาทส่วนกลางในการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของเลือดและเนื้อเยื่อออกซิเจน และระดับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และค่า pH ของเลือด ร่างกายจะมีกลไกช่วยรักษาระบบทางเดินหายใจเพื่อไม่ให้สิ่งกีดขวางการเคลื่อนไหวของอากาศ โดยการเปิดใช้งานของกล่องเสียงเส้นประสาทเพื่อขัดขวางสิ่งแปลกปลอมหรือของเหลว การอุดตันเป็นเวลานานนำไปสู่ระดับออกซิเจนในอวัยวะ / เนื้อเยื่อต่ำหรือขาดหายไป (ขาดออกซิเจนหรือ anoxia) และระดับออกซิเจนในเลือดต่ำ (hypoxemia) สิ่งนี้กำหนดภาวะขาดอากาศหายใจ ในที่สุดการบาดเจ็บของเซลล์ประสาทที่ไม่สามารถกลับคืนสภาพเดิมและภาวะหัวใจหยุดเต้นจะเกิดการกลั้นลมหายใจจะดำเนินต่อไปจนกว่าจะถึงจุดพักหรือความเข้มข้นของเลือดถึงระดับหนึ่งทำให้เกิดภาวะขาดออกซิเจนและ ภาวะคาร์บอนไดออกไซด์คั่งในกระแสเลือด การกลืนน้ำอาจเกิดขึ้นพร้อมกันซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงของการอาเจียนด้วยการสำลักของกระเพาะอาหาร ซึ่งอาจทำให้เกิดการบาดเจ็บต่อไปของถุงน้ำ การหดเกร็งของกล้ามเนื้อหลอดลมชั่วคราวหรือหลอดลมหดเกร็งอาจเกิดขึ้นอันเป็นผลมาจากการกระตุ้นของเยื่อบุเส้นประสาทที่เลี้ยงท่อทางเดินอาหาร ของ คอหอย และ หลอดลม โดยน้ำ ไม่ว่าสิ่งนี้จะจำกัดหรือขัดขวางการเข้าสู่ปอดอีกต่อไป ซึ่งเรียกว่า "การจมน้ำแห้ง" 
 
การผ่อนคลายกล่องเสียงในที่สุดจะทำให้น้ำเข้าไปในปอดได้ การขาดออกซิเจนจะไม่มีออกซิเจนไปที่ปอดนำไปสู่การขาดออกซิเจนการสูญเสียพลังงานสำรองในสมองด้วยการเสื่อมสภาพของการทำงานของสมอง ความล้มเหลวในการเผาผลาญพลังงานสมองการสูญเสียสติและเซลล์ประสาท การบาดเจ็บของเซลล์ประสาทที่ไม่สามารถกลับคืนมาได้อาจเริ่มประมาณสี่ถึงหกนาทีหลังจากการขาดออกซิเจน และระดับของการกู้คืนบางส่วนหรือทั้งหมดหลังจากเหตุการณ์การจมอยู่ใต้น้ำขึ้นอยู่กับขอบเขตและพื้นที่ของสมองที่ได้รับผลกระทบ 
 
นอกเหนือจากผลกระทบทางระบบประสาทที่เกิดจากการด้อยค่าออกซิเจนในปอดแล้วการขาดออกซิเจนที่แย่ลงอาจทำให้เกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นที่ขาดอากาศหายใจหรือหายใจไม่ออก การขาดออกซิเจนในระบบอย่างลึกซึ้งควบคู่ไปกับภาวะคาร์บอนไดออกไซด์คั่งในเลือดมาก (hypercarbia) ยังนำไปสู่ภาวะทางเดินหายใจและภาวะความเป็นกรดเผาผลาญอาหาร ระบบหัวใจและหลอดเลือดล้มเหลว ด้วยระบบอวัยวะล้มเหลวหลายระบบและในที่สุดก็เสียชีวิต หากเกิดขึ้นเกินกว่าสี่ถึงหกนาทีโดยไม่มีการช่วยชีวิตอย่างรวดเร็วเซลล์ประสาทจะไม่สามารถกลับคืนสภาพ  นอกจากนี้ยังมีภาวะแทรกซ้อนที่อาจทำให้ถึงตายได้ รวมถึงภาวะความเป็นกรด, ความล้มเหลวหลายระดับ, Rhabdomyolysis หรือภาวะกล้ามเนื้อลายสลาย การบาดเจ็บของไตขาดเลือดและ coagulopathy ความผิดปกติในการแข็งตัวของเลือดถึงแม้จะมีการช่วยชีวิตอย่างรวดเร็ว 
 
สิ่งที่สามารถตรวจพบได้ในร่างกายของผู้ที่มีภาวะจมน้ำ ได้แก่ อาจแสดงอาการบวมน้ำที่ปอด, หัวใจเต้นผิดปกติ, ปอดอักเสบ, ไข้, การติดเชื้อและผลที่ตามมาของการขาดออกซิเจนในสมอง; สมองบวมพัฒนาอย่างรวดเร็วเป็นกลไกร่วมกันของความตาย อาจเห็นฟองเลือดในทางเดินหายใจ น้ำในกระเพาะอาหาร และอาการบวมน้ำในสมอง นอกจากนี้ยังมีของเหลวบริเวณโพรงจมูกซึ่งแสดงให้เห็นถึงการสำลักน้ำ 

เรื่องของคนหนึ่งคน สำคัญต่อกระบวนการสันติภาพ

เรื่องของคนคนหนึ่งส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มคนในสังคมได้เพราะความเป็นกลุ่มชาติพันธ์เดียวกันและความรู้สึกความเป็นเหยื่อร่วมก็ส่งผลต่อความเชื่อมั่นในกระบวนการสันติภาพหากเกิดขึ้นในพื้นที่ขัดแย้ง และการเป็นเหยื่อเกิดจากการกระทำของฝ่ายที่เป็นปฏิปักษ์ต่อชาติพันธ์นั้น จึงปฏิเสธไม่ได้เลยว่า เรื่องอับดุลเลาะไม่ใช่เรื่องของคนคนหนึ่งหรือครอบครัวหนึ่งแต่เป็นเรื่องระดับประเทศที่ต้องร่วมกันร่วมกันหาทางออกที่เหมาะสม ทางออกที่ว่านั้นก็คือการค้นหาความจริง การนำคนผิดมาลงโทษ การเยียวยาผู้ที่เป็นเหยื่อและการป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ซ้ำ ซึ่งก็คือหลักการของความเป็นธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน อาจจะดูเหมือนง่าย เพราะรัฐบาลมีโครงสร้างในการดำเนินการที่ดีอยู่แล้ว แต่เมื่อพิจารณาเหตุการณ์ในอดีตกับเรื่องราวการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ผ่านมา เราพบว่า มีแต่กระบวนการเยียวยาเท่านั้นที่เป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ แต่ก็ไม่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงใดๆ ได้ เพราะขาดการดำเนินการในอีก 3 ด้านที่ว่า ณ ตอนนี้รัฐพยายามที่จะค้นหาความจริง และหวังว่าการค้นหาความจริงจะนำไปสู่การดำเนินการอื่นๆ ที่จะกลายเป็นฟันเฟืองในการสร้างสันติภาพที่แท้จริงได้ในอนาคต

รู้จักพิธีสารอิสตันบูล หลักการระหว่างประเทศว่าด้วย การสืบสวนสอบสวนการทรมาน

พิธีสารอิสตันบูล คือ คู่มือสืบสวนสอบสวนและบันทึกข้อมูลหลักฐานอย่างมีประสิทธิภาพ กรณีการทรมาน และ การปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี ( Istanbul Protocol: Manual on the Effective Investigation and Documentation of Torture and Other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment) ที่คณะทำงานจัดทำขึ้นจากผู้เชี่ยวชาญที่ประกอบไปด้วยนักนิติวิทยาศาสตร์ แพทย์ นักจิตวิทยา ผู้รายงานพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนและนักกฎหมายในประเทศต่างๆ ทั่วโลก เพื่อวางหลักการมาตรฐานในการบันทึกรวบรวมพยานหลักฐานกรณีการทรมานให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นแนวทางให้ความช่วยเหลือเหยื่อผู้เสียหายจากการถูกทรมานเพื่อการคุ้มครองและเยียวยา และสามารถนำเสนอพยานหลักฐานอันเกิดจากการได้รับบาดเจ็บ ไม่ว่า จะเป็นทางร่างกายหรือจิตใจเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ

คำนิยามของการทรมาน

คำว่า “การทรมาน” ในอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทรมานและการประติบัติ หรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี บัญญัติว่า
 
การทรมาน หมายถึง การกระทำ ก็ตามโดยเจตนาที่ทำเกิดความเจ็บปวดหรือความทุกข์ทรมานอย่างสาหัส ไม่ว่าทางร่างกายหรือจิตใจต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่ง เพื่อความมุ่งประสงค์ที่จะให้ได้มาซึ่งข้อสนเทศหรือคำสารภาพจากบุคคลนั้นหรือจากบุคคลที่สาม การลงโทษบุคคลนั้นสำหรับการกระทำ ซึ่งบุคคลนั้นหรือบุคคลที่สามได้กระทำหรือถูกสงสัยว่า ได้กระทำ หรือเพื่อข่มขู่ให้กลัวหรือเป็นการบังคับขู่เข็ญบุคคลนั้นหรือบุคคลที่สาม หรือเพราะเหตุผลใดใด บนพื้นฐานของการเลือกประติบัติไม่ว่าจะเป็นในรูปใด เมื่อความเจ็บปวดหรือความทุกข์ทรมานนั้นกระทำโดย หรือด้วยการยุยงหรือโดยความยินยอม หรือรู้เห็นเป็นใจของเจ้าหน้าที่รัฐหรือบุคคลอื่นซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งทางการ ทั้งนี้ ไม่รวมถึงความเจ็บปวดหรือความทุกข์ทรมานที่เกิดจากหรืออันเป็นผลปกติจาก หรืออันสืบเนื่องมาจากจากการลงโทษทั้งปวงที่ชอบด้วยกฎหมาย
 
จากนิยามแสดงให้เราเห็นว่า การทรมานตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ มุ่งเป้าที่การกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐหรือที่เกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่เพื่อให้คนคนนั้นให้ข้อมูลที่เจ้าหน้าที่ต้องการโดยการกระทำ บังคับ ข่มขู่ ทำให้เกิดการบาดเจ็บทางร่างกายหรือจิตใจ ซึ่งอนุสัญญาเจนีวาทั้ง 4 ฉบับรวมถึงกฎหมายระหว่างประเทศหลายฉบับ เช่น ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน(Universal Declaration of Human Rights)  กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights)  กฎมาตรฐานขั้นต่ำสุดว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง (Standard Minimum Rules for the Treatment of Prisoners)10 ปฏิญญาว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลจากการทรมาน และการประติบัติหรือการลงโทษอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรี (ปฏิญญาว่าด้วยการคุ้มครองจากการทรมาน - Declaration on the Protection against Torture) แนวปฏิบัติในการบังคับใช้กฎหมาย (Code of Conduct on Law Enforcement) หลักปฏิบัติเพื่อการคุ้มครองบุคคลทุกคนที่อยู่ภายใต้การคุมขังหรือจำคุก (หรือเรียกว่า หลักปฏิบัติในการคุมขัง - Body of Principles on Detention) และหลักปฏิบัติพื้นฐานว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง (Basic Principles for the Treatment of Prisoners) ล้วนแล้วแต่ระบุไว้ว่า ห้ามกระทำการทรมานโดยเด็ดขาด ไม่ว่ารัฐจะอยู่ในสถานการณ์สงครามภายในประเทศหรือระหว่างประเทศก็ตาม 
 
ในจังหวัดชายแดนใต้ได้เกิดสถานการณ์ความไม่สงบ โดยเฉพาะการใช้อาวุธสงครามมาตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปัจจุบัน  ถึงแม้ว่า กฎหมายระหว่างประเทศเหล่านี้ระบุห้ามโดยเด็ดขาดมิให้เกิดการกระทำทรมานหรือการปฏิบัติที่โหดร้ายฯ แต่ในความเป็นจริงเราพบว่า ยังคงมีรายงานเรื่องราวของการกระทำทรมานโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐต่างๆ 
 
ในคู่มือการสอบสวนการกระทำทรมาน หรือ พิธีสารอิสตันบูล ได้กล่าวถึงวิธีการทรมานหลากหลายรูปแบบ ทั้งการทรมานที่ส่งผลให้เกิดความเจ็บปวดทางกายและจิตใจ วิธีการทรมานบางประเภทอาจเกิดขึ้นและปราศจากร่องรอยภายนอกร่างกาย
รูปแบบการทรมานที่ปรากฎในคู่มือนี้ที่ควรพิจารณามีดังต่อไปนี้
 
(a) การบาดเจ็บจากการถูกกระแทก เช่น ต่อย เตะ ตบ ฟาด ตีด้วยลวดหรือกระบองหรือหกล้ม
(b) การทรมานในท่าแบบต่างๆ โดยการแขวน การถ่างแขนและขาออกจากกัน การจำกัดการเคลื่อนไหวเป็นเวลานาน การถูกบังคับให้อยู่ในท่าต่างๆ
(c) การไหม้จากการถูกจี้ด้วยบุหรี่ เครื่องมือที่มีความร้อน ของเหลวลวกหรือน้ำกรด
(d) การจี้ด้วยไฟฟ้า
(e) การขาดอากาศหายใจจากวิธีเปียกและแห้ง การจมน้ำ การหายใจลำบาก การสำลักหรือการใช้สารเคมี
(f) การบาดเจ็บจากการถูกบีบกดทับ เช่น การทุบตีนิ้วมือ การใช้เครื่องบดขนาดหนักทำร้ายโคนขาหรือหลัง
(g) การบาดเจ็บจากการทิ่มแทง เช่น แผลจากการถูกแทงหรือจากกระสุนปืน การสอดลวดเข้าไปใต้เล็บ
(h) การใช้สารเคมี เช่น เกลือ พริกไทย น้ำมันเชื้อเพลิง และอื่นๆ (ใส่ลงในแผลและช่องเปิดของร่างกาย)
(i) การทรมานทางเพศต่ออวัยวะสืบพันธุ์ การคุมคามทางเพศ การใช้เครื่องมือ การข่มขืน
(j) การบาดเจ็บจากการบดหรือการเคลื่อนอย่างรุนแรงของนิ้วและแขนขา
(k) การตัดนิ้วมือหรือแขนขาออกโดยวิธีทางการแพทย์ การผ่าตัดเอาอวัยวะออก
(l) การทรมานทางเภสัชวิทยาโดยใช้ยากดประสาท ยาระงับประสาท ยาที่ทำให้เป็นอัมพาตและอื่นๆ
(m) สภาพของการควบคุมตัว ตัวอย่างเช่น ห้องขังที่มีขนาดเล็กหรือแออัดเกินไป การขังเดี่ยว สภาพแวดล้อมที่ไม่ถูกสุขลักษณะ การได้ใช้ห้องน้ำ อาหารผิดธรรมดาหรืออาหารที่มีสารปนเปื้อนและน้ำดื่ม การอยู่ในอุณหภูมิสูงสุด การถูกปฏิเสธความเป็นส่วนตัวและการถูกบังคับให้เปลือย
(n) การถูกกีดกันจากภาวะรับรู้ปกติหรือสูญเสียประสาทสัมผัส เช่น เสียง แสง การรับรู้เวลา การถูกขังแยก การบดบังความสว่างในห้องขัง การข่มเหงความต้องการทางจิตใจ การจำกัดระยะเวลา ในการนอน อาหาร น้ำดื่ม การใช้ห้องน้ำ การอาบน้ำ กิจกรรมที่มีความเคลื่อนไหว การรักษาทางการแพทย์ การติดต่อกับผู้อื่น ความเป็นส่วนตัวภายในเรือนจำ การขาดการติดต่อกับโลกภายนอก (ผู้เสียหายมักจะ ถูกปล่อยให้อยู่อย่างโดดเดี่ยว เพื่อป้องกันการสานสัมพันธ์และการระบุตัวซึ่งกันและกัน รวมทั้งเพื่อทำให้หวาดกลัวผู้ทรมาน)
(o) การทำให้อับอายขายหน้า เช่น การทำร้ายด้วยคำพูด การแสดงท่าทางดูถูกเหยียดหยาม
(p) การขู่ว่าจะฆ่า จะทำอันตรายต่อครอบครัว จะทำการทรมานเพิ่มขึ้น จะถูกจำคุก การจำลองสถานการณ์การถูกประหารชีวิต
(q) การขู่ว่าจะใช้สัตว์ทำร้าย เช่น สุนัข แมว หนูหรือแมงป่อง
(r) การใช้กลวิธีทางจิตวิทยาในการทำลายบุคคล รวมถึงการบังคับให้ทรยศ การเน้นย้ำถึงการหมดหนทาง การเผชิญสถานการณ์ที่คลุมเครือหรือข่าวที่ขัดแย้งกัน
(s) การละเมิดข้อห้ามทางสังคม
(t) การบีบบังคับพฤติกรรม เช่น การถูกบังคับให้กระทำในเรื่องที่ขัดต่อศาสนาของผู้เสียหาย (เช่น การบังคับให้ชาวมุสลิมกินเนื้อหมู) ให้ทำร้ายผู้อื่นผ่านการทรมานหรือการปฏิบัติที่โหดร้าย อื่นๆ ให้ทำลายทรัพย์สิน การบังคับให้ทรยศต่อผู้อื่น เพื่อให้ผู้นั้นตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะเกิดอันตราย
(u) บังคับให้ผู้เสียหายดูการทรมานหรือการกระทำที่โหดร้ายต่อผู้อื่น
 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง: 

รายงาน สถานการณ์สิทธิมนุษยชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยกลุ่มด้วยใจ

กฎหมายทรมานกับการป้องกันซ้อมทรมาน

คดีความมั่นคงชายแดนใต้ลดลง การซ้อมทรมานยังคงอยู่

รื้อถอนมายาคติ "การซ้อมทรมาน" กันอีกสักครั้ง?

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน: โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) https://ilaw.or.th/node/5364

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท