กลุ่มชนเผ่าที่เรียกว่า “นักวิทยาศาสตร์” : เมื่อสังคมศาสตร์เห็นนักวิจัยทางวิทยาศาสตร์เป็นเพียงกลุ่มชนทางวัฒนธรรมอีกแบบหนึ่ง

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

“โดยเนื้อแท้...งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์มีกระบวนการ
ที่ชัดเจน และ ดูจากผลการค้นคว้า การทดลองเชิงประจักษ์
หาใช่เป็นการนั่งมโนหรือตีความเอาเองไม่...”

ภาพลักษณ์ของนักวิทยาศาสตร์โดยทั่วไป คือ กลุ่มบุคคลที่อยู่ในห้องทดลอง สวมชุดสีขาว และดูเข้มงวดในทำการทดลองด้วยเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์และระเบียบวิธีการทำงาน จนกระทั่งบางคนเชื่อไปว่าความรู้ดังกล่าวเป็นความจริงสูงสุดของยุคสมัย แต่ในข้อเท็จจริงอีกด้านนักสังคมศาสตร์กลับมองต่างออกไป ความรู้ทางวิทยาศาสตร์กลับเต็มไปด้วยเงื่อนไขทางสังคมที่เป็นตัวกำหนดความเป็นไปของความรู้ดังกล่าวอย่างแนบแน่นโดยตัวอย่างงานที่สำคัญที่อธิบายถึงกระบวนการผลิตสร้างความรู้ทางวิทยาศาสตร์อย่างเช่น งานของ Emily Martin (1998) ได้ชี้ชวนให้ตั้งคำถามเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ที่ดูเหมือนเป็นศาสตร์ที่เป็นกลางไร้ซึ่งอคติ แต่ด้วยเครื่องมือทางมานุษยวิทยาได้เผยให้เห็นถึงอำนาจและข้อกำหนดทางสังคมที่แม้เงื่อนไขดังกล่าวเป็นสิ่งที่อยู่นอกห้องทดลอง แต่กลับมีบทบาทสำคัญกับความรู้ของวิทยาศาสตร์

ด้วยมานุษยวิทยาสามารถศึกษาวิทยาศาสตร์ได้เพราะวิทยาศาสตร์ไม่ได้มีความโปร่งใสอย่างที่เข้าใจ แต่ความรู้ดังกล่าวสัมพันธ์กับสิ่งที่อยู่นอกกำแพงห้องทดลองที่เกี่ยวข้องกิจกรรมทางสังคม เพราะสถาบันทางวิทยาศาสตร์ย่อมต้องเกี่ยวข้องกับการเมืองและการเคลื่อนตัวของแหล่งเงินทุน จากการพิจารณาของนักมานุษยวิทยาถึงกลวิธีในการสร้างความรู้ของวิทยาศาสตร์ประกอบไปด้วยวิธีการที่สำคัญคือ Citadel Rhizome และ String Figures

สถานที่ผลิตสร้างความรู้อย่างห้องทดลองที่เป็นเหมือนป้อมปราการสำคัญของวิทยาศาสตร์ หรือที่ผู้เขียนใช้คำว่า Citadel สำหรับห้องทดลองแม้ดูเหมือนเป็นสถานที่ที่ตัดขาดจากบริบทของสังคม แต่แท้จริงแล้วนักวิทยาศาสตร์ยังต้องสัมพันธ์กับหลายสิ่งนอกกำแพง ส่วนหนึ่งเพื่อสร้างความยอมรับในงานวิจัยดังกล่าว ผู้เขียนจึงให้ความสำคัญกับการศึกษาวิทยาศาสตร์ต้องถูกศึกษาในขั้นตอนการดำเนินการ (in action) และระหว่างการสร้าง (in the making) ความรู้และผลผลิตทางวิทยาศาสตร์จึงทำให้เห็นวิธีในการสร้างความรู้ของนักวิทยาศาสตร์ต้องสัมพันธ์กับหลายสิ่ง เช่น นักวิทยาศาสตร์ต้องสัมพันธ์กับตัวแทนรัฐบาลในฐานะแหล่งเงินทุน สิ่งประดิษฐ์ในฐานะเครื่องมือเพื่อตีความปรากฏการณ์ต่างๆ ให้กลายเป็นตัวเลข กราฟ ภาพวาด โดยนักวิทยาศาสตร์นำข้อมูลดังกล่าวมาตีความเพื่อสร้างความจริง (fact) และในขั้นตอนสุดท้ายนักวิทยาศาสตร์ต้องพึ่งพาสำนักพิมพ์เป็นแหล่งเผยแพร่ความจริงดังกล่าวเพื่อสร้างให้เกิดการเห็นพ้องและยอมรับต่อข้อค้นพบดังกล่าว เพราะ นักวิทยาศาสตร์ต้องแข่งขันกับนักวิทยาศาสตร์คนอื่นๆ เพื่อผลประโยชน์ในเรื่องงบประมาณที่ได้รับในการทำงานวิจัยในช่วงเวลาต่อไป

กระทั่งในบางครั้งความไม่เป็นวิทยาศาสตร์ที่เกิดจากรูปแบบทางวัฒนธรรมบางประการกลับเป็นตัวกำหนดหรือเปลี่ยนแปลงความเห็นร่วมทางวิทยาศาสตร์ เช่น กลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ที่มีอิทธิพลกับผลงานวิทยาศาสตร์ ร่วมไปถึงความรู้ทางวิทยาศาสตร์เป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นจากวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับผู้คน ระบบคุณค่า กาลเวลาและตัวแสดงอื่นๆ จึงทำให้ผู้เขียนพิจารณาขั้นตอนการสร้างความรู้วิทยาศาสตร์ต่อไปในลักษณะที่เป็น Rhizomes

Rhizomes หมายถึง การแยกส่วนออกไปจากจุดเริ่มต้นและสามารถเติบโตขึ้นในฐานะที่เป็นอีกหน่วยหนึ่งของสิ่งมีชีวิตใหม่ (rhizome) การแยกตัวออกมาเป็นลำต้นใหม่ทำให้เห็นภาพของความไม่ต่อเนื่องและความสัมพันธ์ที่ไม่เชื่อมต่อกันจากจุดเริ่มต้น อย่างเช่นความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ด้วยกระบวนการสร้างความรู้ของวิทยาศาสตร์เกี่ยวข้องกับสิ่งที่อยู่นอกกำแพง ความรู้ดังกล่าวอาจมีทั้งที่ต่อเนื่องกับความรู้ภายในและไม่เชื่อมโยงกันกับห้องทดลอง อย่างการนำความรู้ไปสร้างพื้นที่ทางสังคมให้กับนักวิทยาศาสตร์ซึ่งเป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือไปจากโลกของวิทยาศาสตร์ เช่น นักวิทยาศาสตร์ให้ความเห็นว่ากลุ่มคนที่ไม่ได้รับวัคซีนบางชนิดในเด็กเกิดจากคนกลุ่มดังกล่าว ไม่ได้รับความรู้ ยากจนและไม่สามารถเข้าถึงโอกาสทางการรักษาโรค เป็นต้น อย่างไรก็ตามนักวิทยาศาสตร์กลับละเลยความจริงด้านอื่นไปว่ายังมีคนบางกลุ่มที่ไม่ต้องการได้รับวัคซีน แต่ต้องการสร้างแนวทางการดูแลสุขภาพด้วยตนเอง เช่น “ธรรมชาติบำบัด” คือ หลักการดูแลสุขภาพที่เชื่อว่าร่างกายสามารถเยียวยารักษาตนเองได้ เน้นการรักษาด้วยธรรมชาติ ไม่พึ่งยาแผนปัจจุบัน จัดเป็นแพทย์ทางเลือกรูปแบบหนึ่งซึ่งบางส่วนได้รับการยอมรับมากในปัจจุบัน และการดูสุขภาพดังกล่าวแตกต่างจากแนวทางวิทยาศาสตร์ที่มักตัดขาดผู้คนกับสิ่งแวดล้อมหรือธรรมชาติ กระทั่งเมื่อกระแสความคิดของคนอยู่ร่วมธรรมชาติมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันได้รับความนิยมจึงทำให้นักวิทยาศาสตร์ต้องนำกรอบความรู้ดังกล่าวเข้ามาพิจารณาร่วมกับความรู้ทางวิทยาศาสตร์เพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ให้สัมพันธ์กับแนวคิดดังกล่าว

นอกจากนี้งานทางด้านวิทยาศาสตร์มีกฎระเบียบภายในกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ว่ากิจกรรมใดที่ถูกนับร่วมว่าเป็นวิทยาศาสตร์ โดยผู้เขียนใช้คำว่า String Figures เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับกิจกรรมที่ถูกนับรวมว่าเป็นวิทยาศาสตร์นั้นโดยกฎเกณฑ์ดังกล่าวเป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นใหม่เพื่อเชื้อเชิญให้คนบางกลุ่มเข้าร่วมแข่งขันและร่วมมือในอาณาบริเวณที่กำหนดจึงทำให้เห็นว่าวิทยาศาสตร์ไม่ต่างอะไรกับเกมส์ที่มีกฎข้อบังคับ แต่กฎข้อบังคับดังกล่าวไม่มีความเข้มงวด บางครั้งข้อบังคับของวิทยาศาสตร์แขนงหนึ่งอาจขัดแย้งกับวิทยาศาสตร์แขนงอื่นๆ ฉะนั้นจึงเห็นว่าอาณาบริเวณของวิทยาศาสตร์นั้นในความเป็นจริงแล้ว คือ กลุ่มชนที่มีแบบแผนทางวัฒนธรรมแบบหนึ่งและชุมชนวิทยาศาสตร์เองก็เหมือนกับกลุ่มคนทางวัฒนธรรมอื่นๆ ทั่วไปที่ถูกกำหนดด้วยสิ่งที่อยู่นอกเหนือความเป็นวิทยาศาสตร์อย่าง เช่น แหล่งเงินทุนบริษัทเอกชนผู้ให้ทุนวิจัย รัฐบาล เอกชน เป็นต้น     

ตัวอย่างกลุ่มทางวัฒนธรรมของวิทยาศาสตร์ เช่น นักวิทยาศาสตร์สาขาเทคโนโลยีชีวภาพ ด้วยโลกเสรีนิยมใหม่เป็นหนึ่งในปัจจัยที่เรียกร้องมาตรฐานในการผลิตด้วยเครื่องมือที่ทันสมัยอย่างเช่น เทคโนโลยีชีวภาพซึ่งเทคโนโลยีดังกล่าวเป็นความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชนเช่นที่กลุ่มนักคิดสายมาร์กซิสต์ที่สำคัญอย่าง David Harvey ได้กล่าวถึงเสรีนิยมใหม่ในงาน  A Brief History of Neoliberalism ได้ให้ภาพของรัฐเสรีนิยมใหม่สนับสนุนสิทธิเอกชนอย่างแข็งขัน ด้วยระบบการจัดการเชิงสถาบันและหลักนิติธรรมที่ถือเป็นหัวใจสำคัญในการรับประกันเสรีภาพซึ่งเกี่ยวข้องกับกลไกตลาดที่ทำงานเป็นอิสระโดยการสะสมทุนได้ขยาย “การทำให้เป็นสินค้า” (commodification) ออกไปในปริมณฑลที่ไม่เคยเป็นสินค้ามาก่อน เช่น กาลเทศะ  สาธารณสมบัติ พันธุกรรม การศึกษา วัฒนธรรม เป็นต้น โดยอาศัยเครื่องมือที่เรียกว่าสิทธิบัตรและทรัพย์สินทางปัญญาในการแปรรูปให้กลายเป็นสินค้า (เก่งกิจ กิติเรียงลาภ,2555,น.64-86 ) กระบวนการสร้างความรู้ทางวิทยาศาสตร์และสัมพันธ์กับผู้กระทำการอื่นที่อยู่ภายนอกห้องทดลอง เช่น งานของ Kean Birch และ Jamey Essex

สำหรับงานของ Kean Birch (2006)  ให้ภาพรวมเกี่ยวกับบริบททางสังคมของเสรีนิยมใหม่ที่สนับสนุนให้เกิดการสร้างองค์ความรู้ในด้านเทคโนโลยีชีวภาพ ในช่วงหลัง ค.ศ.1970 เป็นต้นมา อุดมการณ์หลักในด้านเศรษฐกิจยุคปัจจุบันอย่างเสรีนิยมนิยมใหม่ที่ถือเป็นหัวใจหลักในการขับเคลื่อนธุรกิจของโลก อุดมการณ์ดังกล่าวยังถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่สนับสนุนให้เกิดการแข่งขันและการสร้างนวัตกรรมความรู้เพื่อสร้างช่องทางตลาดสินค้าใหม่ๆ ที่สัมพันธ์กับความรู้ทางวิทยาศาสตร์อย่างเช่น ชีวเศรษฐกิจ(Bioeconomy)

นับตั้งแต่ศตวรรษที่ 21 เป็นต้นมาถือเป็นศตวรรษแห่งเทคโนโลยีชีวภาพซึ่งกลุ่มประเทศโลกที่หนึ่งต่างแข่งขันในการผลิตความรู้ดังกล่าวและได้รับการสนับสนุนในระดับนโยบายของภาครัฐในแต่ละประเทศ สำหรับสหรัฐอเมริกามีข้อได้เปรียบกว่าประเทศอื่นๆ กล่าวคือ 1.รัฐมีนโยบายที่ชัดเจนในการส่งเสริมให้บริษัทเอกชนจดลิขสิทธิ์สิ่งมีชีวิตที่เกิดจากการปรับแต่งพันธุ์ 2.รัฐบาลกลางให้ความช่วยเหลือในด้านการเงินในการสร้างองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีชีวภาพผ่านสถาบันวิจัยและมหาวิทยาลัยเพื่อนำความรู้ดังกล่าวไปต่อยอดทางด้านธุรกิจ และ 3.รัฐให้ความช่วยเหลือแก่บริษัทเอกชนในเชิงนโยบายในการแข่งขันระหว่างประเทศโดยงานชิ้นนี้เป็นการกล่าวถึงแนวโน้มของธุรกิจชีวภาพในยุคสมัยปัจจุบันที่กำลังเร่งพัฒนาโดยเฉพาะอเมริกาที่รัฐบาลทำงานร่วมกับเอกชนในการสร้างองค์ความรู้และระเบียบทางกฎหมายเพื่อเอื้อต่อรูปแบบธุรกิจดังกล่าว

และงานของ Jamey Essex (2008) กล่าวถึงกิจกรรมของนักวิทยาศาสตร์ที่มิใช่แค่เพียงในห้องทดลอง แต่พวกเขายังต้องเกี่ยวข้องกับคนกลุ่มอื่นเพื่อสร้างการยอมรับในผลงานวิจัยนั้นๆ ด้วยในช่วงปลายทศวรรษที่ 20 และต้นศตวรรษที่ 21 เทคโนโลยีชีวภาพสัมพันธ์กับความรู้สาขาอื่น เช่น Genomics, เทคโนโลยีในระดับยีน เป็นต้น สำหรับเทคโนโลยีชีวภาพ (Biotechnology) หมายถึง การใช้ระบบและสิ่งที่มีชีวิตเพื่อพัฒนาหรือสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีประโยชน์หรือการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีใดๆที่ใช้ระบบชีวภาพสำหรับการใช้งานเฉพาะซึ่งเกี่ยวกับสาขาวิศวกรรมชีวภาพ วิศวกรรมชีวการแพทย์และการผลิตอาหาร

ด้วยเสรีนิยมใหม่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีชีวภาพซึ่งเกิดจากเครือข่ายความสัมพันธ์ในการสร้างสินค้าแบบใหม่นับตั้งแต่ระดับนักวิทยาศาสตร์ สถาบันวิจัย รัฐบาล บริษัทเอกชน และองค์กรระหว่างประเทศ โดยเริ่มต้นที่กลุ่มนักวิทยาศาสตร์ชีวภาพ (biological science) ได้สร้างชุด ความรู้ที่กล่าวถึงความสำคัญของศาสตร์ กล่าวคือ ประโยชน์ของงานวิจัยและการพัฒนานวัตกรรมสาขาเทคโนโลยีชีวภาพเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ความก้าวหน้าในสาขาดังกล่าวยังส่งผลในแง่บวกต่อสังคม เช่น ด้านสุขอนามัย ยารักษาโรค และการเกษตร รวมไปถึงการพัฒนาแหล่งพลังงานสะอาด

เมื่อเทคโนโลยีชีวภาพกลายเป็นศาสตร์ที่สำคัญจนกลายเป็นนโยบายหลักในความก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพจึงทำให้รัฐบาลสหรัฐอเมริกาส่งเสริมและจัดทำนโยบายเพื่อกำหนดแผนระยะยาวเกี่ยวกับเศรษฐกิจชีวภาพ คือ สนับสนุนการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาที่เป็นพื้นฐานของเศรษฐกิจชีวภาพของสหรัฐฯ โดยรัฐเข้ามาอำนวยความสะดวกแก่การส่งผ่านงานวิจัยด้านชีวภาพและผลิตภัณฑ์จากห้องทดลองไปสู่ตลาดโลกด้วยการนำผลงานวิจัยไปต่อยอดเป็นสินค้าด้วยการผลิตของบริษัทข้ามชาติและได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลและองค์กรระหว่างประเทศอย่างเช่นองค์กรการค้าโลก (WTO) ในการผลักดันเพื่อผลประโยชน์ทางการค้าโดยเครื่องมือที่สำคัญ คือ กฎหมายสิทธิบัตรและการทำสัญญาทางการค้าเพื่อลดการกีดกันผลิตภัณฑ์ทางชีวภาพ

ในปัจจุบันอุดมการณ์หลักด้านเศรษฐกิจอย่างเสรีนิยมนิยมใหม่ถือเป็นปัจจัยที่สนับสนุนให้เกิดการแข่งขันและการสร้างนวัตกรรมที่สัมพันธ์กับความรู้ทางด้านชีวเศรษฐกิจ (Bioeconomy) เพื่อสร้างสินค้าใหม่ๆ

ดังนั้นความสำคัญในการตั้งคำถามกับความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่ดูเหมือนโปร่งใสเป็นสิ่งสำคัญ เพราะ เนื้อแท้แล้ววิทยาศาสตร์มีลักษณะไม่ต่างไปจากศาสตร์อื่นที่มีรูปแบบวัฒนธรรมเฉพาะกลุ่มตนเองและต้องสัมพันธ์กับสิ่งอื่นๆ ที่อยู่นอกห้องทดลอง

 

อ้างอิง

เดวิด ฮาร์วีย์. (2555). ประวัติศาสตร์ฉบับย่อของลัทธิเสรีนิยมใหม่. แปลร่วมกับ ภัควดี วีระภาสพงษ์ และคณะ . กรุงเทพฯ: สวนเงินมีมา.

Birch, K. (2006). The Neoliberal Underpinnings of the Bioeconomy: the Ideological Discourses and Practices of Economic Competitiveness. Life Sciences Society and Policy.2 (3)

Emily Martin.(1998).Anthropology and the Cultural Study of Science. Science Technology Human Values January vol. 23 no. 1 24-44,

Jamey Essex. (2008). Biotechnology, sound science, and the Foreign Agricultural Service: a case study in neoliberal rollout. Environment and Planning C: Government and Policy 2008, volume 26, pages 191 – 209

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท