เอ็นจีโอชี้ แนวคิดการพัฒนาของรัฐขัดหลัก SDGs ย้ำประชาชนต้องลุกขึ้นกำหนดอนาคตตัวเอง

กลุ่มจับตาปัญหาที่ดินเผย เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนไร้วี่แววนักลงทุน แย่งยึดที่ดินชุมชน ด้าน “ประสิทธิ์ชัย หนูนวล” ย้ำ ถึงเวลาประชาชนลุกขึ้นมากำหนดแนวทางการพัฒนาของประเทศ แทนการประท้วงรายกรณี

               
จากซ้ายไปขวา ผู้ดำเนินรายการ, สิริศักดิ์ สะดวก, พรพนา ก๊วยเจริญ, กัญจน์ ทัตติยกุล, ประสิทธิ์ชัย หนูนวล

20 ส.ค. 2562 วันนี้ สมัชชาเครือข่ายองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ จัดเวทีย่อย “การพัฒนาที่ยั่งยืน การมีส่วนร่วมของภาคประชาชน และสิทธิในการพัฒนา” ณ โรงแรมไมด้า แอร์พอร์ต กรุงเทพมหานคร เพื่อรวบรวมประเด็นข้อเสนอจากภาคประชาสังคมและประชาชนเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในวันต่อไป

พรพนา ก๊วยเจริญ กลุ่มจับตาปัญหาที่ดิน กล่าวว่า หลังจาก 5 ปีที่มีนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ ปรากฏว่ามีเพียงโครงการเดียวที่มีการลงทุนคือ จังหวัดตราด ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้า แต่ที่อื่นไม่มีนักลงทุน เป็นที่มาของการต้องไปทำโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยเป็นการไปเอาทวงคืนที่ดินของรัฐผ่านคำสั่ง คสช. ที่ 17/2558

“ถ้ามองจากกรณีเขตเศรษฐกิจพิเศษในยุค คสช. มันชัดเจนมากว่าการพัฒนาต้องอยู่ควบคู่กับการเมืองที่เป็นประชาธิปไตย การเอาทหารลงไป ถือปืนไป เกิดขึ้นในยุคเผด็จการ นี่คือรัฐบาลที่เลวร้ายที่สุด ประเด็นที่สอง เราคิดว่าถึงแม้ว่าเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนยังไม่เกิดขึ้นจริง แต่ประเด็นความมั่นคงของที่ดินมันสำคัญไม่น้อยกว่ากรอบการพัฒนา” พรพนากล่าว

กัญจน์ ทัตติยกุล เครือข่ายวาระภาคตะวันออก เห็นว่า โครงการ EEC ให้ความสำคัญกับเรื่องการศึกษาน้อยกว่า 40 ปีที่แล้วในช่วงโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ด ซึ่งถึงแม้จะไม่มีการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ (SEA) แต่มีการศึกษาผลกระทบโดยภาพรวมทั้งภาพลบและบวก แต่โครงการ EEC ของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่มีการศึกษาในภาพรวมแต่อย่างใด มีเพียงการทำแผน จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นหรือประชาคม โดยเป็นฝ่ายหน่วยงานพูดไปแล้ว 2 ชั่วโมง ฟังชาวบ้านเพียง 20 นาที ซึ่งไม่มีความหมายอะไรเพราะรัฐไม่ได้ตั้งใจรับฟังประชาชนอย่างแท้จริง ขัดกับหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) อย่างชัดเจน

“ถ้ามีอีอีซีเกิดขึ้นมา จะมีน้ำเสียพุ่งไปถึง 600 ล้าน ลบ.ม. จากเดิมที่เราจัดการได้แค่ 100 ล้าน ลบ.ม. เท่านั้น ถ้าการจัดการน้ำเสียจัดการไม่ได้ ที่เหลือจะลงสู่ธรรมชาติ คุณภาพน้ำผิวดินจากภาคตะวันออกจะอยู่ในเกณฑ์เสื่อมโทรม คุณภาพน้ำบาดาลก็จะไม่ดี คุณภาพน้ำชายฝั่งทะเลก็จะเสื่อมโทรม ส่วนคุณภาพอากาศ 40 ปีที่ผ่านมาพบว่ามีค่า PM10 เกินมาตรฐาน และมีสารอินทรีย์ระเหยง่ายที่มีสารก่อมะเร็งด้วย” กัญจน์กล่าว

ผู้แทนจากเครือข่ายวาระภาคตะวันออกมองว่า ทางออกของชุมชนคือ ต้องลุกขึ้นมาออกแบบการพัฒนาของตนเอง โดยภาคตะวันออกได้พยายามพูดเรื่อง “ตะวันออก วิถีแห่งความสุข” ที่พูดทุกมิติ ไม่ใช่เพียงเรื่องเศรษฐกิจเท่านั้น แต่เป็นการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ขึ้นมาครอบคลุมทุกด้าน ทั้งการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ การพัฒนาคน การพัฒนาฐานเศรษฐกิจชุมชน และการพัฒนาการท่องเที่ยว

“รัฐบอกว่าเราควรเป็นฮับการบิน ฮับการแพทย์ แต่เราจะเป็นฮับอาหารปลอดภัยเพราะเราเป็นเครือข่ายเกษตรออแกนิคที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย รัฐมองการท่องเที่ยวเป็นโรงแรมใหญ่ๆ แต่เราบอกว่าเราจะขอสร้างการท่องเที่ยวโดยชุมชนให้แข็งแรงและเชื่อมเป็นเครือข่ายในภาคตะวันออก สุดท้ายเราอยากเห็นชุมชนที่น่าอยู่ เป็นชุมชนที่ทุกคนในท้องถิ่นมีส่วนกำหนดพื้นที่ตัวเอง ตำบลเล็กๆ สามารถกำหนดตัวเองได้” กัญจน์เสนอ

ด้าน ประสิทธิ์ชัย หนูนวล มูลนิธิภาคใต้สีเขียว กล่าวว่า อุตสาหกรรมที่มีการจ้างงานมากที่สุดในภาคใต้คืออุตสาหกรรมขนาดเล็กและขนาดกลาง ไม่ใช่อุตสาหกรรมขนาดเมกะโปรเจ็กต์ที่รัฐบาลพยายามบอก โลกแห่งความรู้จึงเป็นสิ่งสำคัญ และชุมชนต้องออกมาสร้างโลกแห่งความรู้นั้นด้วยตนเอง นำไปสู่การกำหนดนโยบายการพัฒนาที่สอดคล้องกับชุมชน

“โลกของความรู้เป็นโลกสำคัญที่จะกำกับสมองของคนไทยทุกคน บอกว่าประเทศนี้จะไปทางไหน เช่น เวลาเราคุยกันในเฟสบุ๊ก จะมีคนบอกว่าความคิดแบบพวกเราเป็นการขัดขวางการพัฒนา ซึ่งเขาซื่อสัตย์ในหัวใจ เพราะเขาถูกโลกแห่งความรู้ในแบบเรียนฝังมาตั้งแต่เด็ก หน้าที่ของเราคือสร้างโลกขึ้นมาอีกใบที่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ เป็นโลกความรู้แห่งการพัฒนา เป็นพื้นที่ของผู้กำหนดว่าประเทศนี้จะไปแบบไหน หมดเวลาที่เราจะไล่ประท้วงทีละโครงการแล้วไม่จบสิ้น” ประสิทธิ์ชัยกล่าว

สำหรับ SDGs หรือ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals) นั้นเป็นกรอบการพัฒนาของโลกภายหลังปี 2558 ที่องค์การสหประชาชาติกําหนด เพื่อให้ประเทศต่างๆ นําไปปฏิบัติให้บรรลุผลสําเร็จ เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ในช่วงระยะเวลา 15 ปี (เดือนกันยายน 2558 – สิงหาคม 2573) จำนวน 17 เป้าหมาย 1 ขจัดความยากจน 2 ขจัดความหิวโหย เกษตรยั่งยืน 3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี 4 การศึกษาเท่าเทียมและทั่วถึง 5 ความเท่าเทียมทางเพศ 6 การจัดการน้ําและสุขาภิบาล 7 การเข้าถึงพลังงานที่ทันสมัย 8 การเติบโตเศรษฐกิจที่ยั่งยืน 9 พัฒนาอุตสาหกรรม นวัตกรรม และ 2 โครงสร้างพื้นฐาน 10 ลดความเหลื่อมล้ํา 11 เมืองปลอดภัย 12 การผลิตและบริโภคที่ยั่งยืน 13 ต่อสู่กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 14 อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล 15 การจัดการระบบนิเวศทางบก 16 สังคมเป็นสุข และ 17 สร้างความเข้มแข็งในระดับสากล

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท