ระหว่างปริศนา-ศรัทธา 'ชัยวัฒน์ สถาอานันท์' กับการเมืองมนุษย์ในศตวรรษที่ 21 (1) จากมุมศิษย์

ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ นักรัฐศาสตร์ผู้สนใจด้านสันติวิธีและความไม่รุนแรง ในมุมมองของศิษย์ เขาคือผู้จุดประกาย คือแรงบันดาลใจ และครูผู้สอนให้มองเห็นผู้อื่นเป็นมนุษย์

ภาพโดย กิตติยา อรอินทร์

เนื่องในวาระเกษียณของชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ศาสตราจารย์จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์จึงจัดงานเสวนาและเปิดตัวหนังสือ ‘ระหว่างปริศนาและศรัทธา ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ กับการเมืองมนุษย์ในศตวรรษที่ 21’ เมื่อวันที่ 19 สิงหาคมที่ผ่านมา

ผู้จัดเชิญลูกศิษย์และผู้ที่เคยทำงานใกล้ชิดกับชัยวัฒน์ สถาอานันท์ มาร่วมสนทนาถึงคุณูปการของชัยวัฒน์และสิ่งที่เขาได้ทิ้งไว้ให้กับสังคมไทย

ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ (แฟ้มภาพ)

เกษียร เตชะพีระ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เกษียร เตชะพีระ ศาสตราจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เล่าถึงชัยวัฒน์ ว่า

ผมมีความสัมพันธ์กับอาจารย์ชัยวัฒน์ในลักษณะครูกับลูกศิษย์ ผมคิดว่าอาจารย์ชัยวัฒน์สอนสิ่งที่ยากที่สุดสำหรับผมในการเรียนรู้ คือสอนให้ผมเรียนรู้สิ่งที่ผมไม่เห็นด้วย

มีข้อเขียนที่ผมเขียนให้อาจารย์ชัยวัฒน์ ในหนังสือที่อาจารย์ชัยวัฒน์แปล เรื่องขุมทรัพย์ที่ปลายฝัน ของเปาโล โคเอลโย ผมเขียนว่า ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ เป็นคนที่เกิดมาทวนกระแสโลกโดยที่โลกไม่รู้ตัว ความคาดฝันของเขาคือชักชวนด้วยบทสนทนาและการตั้งคำถามอันใหญ่ที่สุดให้โลกทวนกระแสตนเองด้วยความกระตือรือร้น โดยที่กว่าโลกจะรู้ตัวว่ากำลังทำเช่นนั้นอยู่ก็สายไปแล้ว นี่ไม่ใช่เรื่องง่าย และก็ไม่แน่ว่าจะประสบความสำเร็จ แต่ที่ชัยวัฒน์ดื้อทำก็เพราะความฝันที่เหลือเชื่อของเขา 3 ประการ กล่าวคือ หนึ่ง-โดยพื้นฐานแล้วธรรมชาติของคนเหล่านั้นดี สอง-แต่ที่คนเราทำไม่ดีก็เพราะไม่รู้ สาม-ฉะนั้นปัญหาจริยธรรม พูดให้ถึงที่สุดจึงเป็นปัญหาญาณวิทยา นี่เป็นความเชื่อที่เชื่อได้ยากมาก แต่ถ้ามันเป็นความเชื่อที่ง่าย คนอย่างชัยวัฒน์ก็คงไม่เชื่อและโลกเราก็คงไม่เป็นเช่นนี้

ผมออกจากป่าแล้วก็มาเจออาจารย์ชัยวัฒน์ ผมจำได้ว่าแกเพิ่งกลับจากฮาวาย แกชวนผมไปร่วมชั้นสอนเรื่องความไม่รุนแรง ให้คุยประสบการณ์การต่อสู้ในป่า ทำให้ผมได้คิดบางอย่าง หลังจากที่ผมเรียนแล้ว ได้เป็นอาจารย์แล้ว ไปเรียนต่อที่คอร์แนล ผมก็นั่งเขียนจดหมายถึงแก ผมก็นั่งประมวลว่าผมได้เรียนรู้อะไรจากแกบ้าง ซึ่งผมพบว่าเรียนรู้เรื่องสำคัญสามอย่าง ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมไม่เห็นด้วยเลยในฐานะที่ผมเป็นนักปฏิวัติลัทธิเหมา หนึ่งคือ idealism ผมได้เรียนรู้อุดมคตินิยมหรือจิตนิยม ซึ่งสำคัญมากสำหรับผมที่โตมากับความคิดมาร์กซ์ สอง-humanism ซึ่งก็ตรงข้ามกับความเข้าใจผมในตอนนั้นที่ยึดเรื่องชนชั้นเป็นหลัก สาม-การเมืองของความไม่รุนแรง การไม่ใช้ความรุนแรงไม่ได้แปลว่าเราเลิกสู้ แต่เราเลือกสู้ด้วยวิธีการที่ไม่รุนแรง เพราะเป็นวิธีการที่ประหยัดชีวิตมนุษย์มากที่สุด

หนสุดท้ายที่ท่านพูดคือมีการคัดสรร ส.ว. และเลือกนายกฯ แกให้สัมภาษณ์ว่าอยากให้มอง ส.ว. ในแง่ดีว่าเขาก็อยากทำเพื่อประเทศชาติ ผมก็รู้สึกว่าอาจารย์ชัยวัฒน์มองโลกสวย ลูกศิษย์หลายคนก็ยังพูดถึงการมองโลกสวยของอาจารย์ชัยวัฒน์ แต่ก่อนผมก็รู้สึกแบบนี้แหละ แต่วันนี้ผมเข้าใจและรับได้ ในโลกนี้ควรมีคนที่มองแบบนี้อยู่ เพราะโลกเรามันอัปลักษณ์มากแล้ว การที่มันอัปลักษณ์มากไม่ได้แปลว่ามันไม่มีความเป็นไปได้ที่มันจะสวย คนที่เขามองโลกสวย ไม่ได้บอกเราว่าโลกที่เห็นมันสวย เปล่า เขากำลังพูดถึงความเป็นไปได้ที่ซ่อนเร้นอยู่

ผมไม่คิดว่ามีสิ่งที่เรียกว่าสำนักชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ผมใช้คำว่าแกเปิดให้เราเห็นความเป็นไปได้ทางความคิดมหาศาล หลุดออกมาจากกรอบที่เราคิดว่าจะต้องเป็น เราไม่จำเป็นต้องเดินตามแก และในความหมายนั้นคุณมีเสรีภาพมาก หยิบเอาความคิดของแกมาตีความ แล้วไปในที่ทางที่คุณต้องการ และผมคิดว่าทำอย่างนี้เป็นประโยชน์กว่าการสร้างสำนักทางวิชาการ

ถ้าให้คิดว่าอะไรคือชิ้นส่วนที่สำคัญที่สุดของเขาเมื่อเราคิดถึงโลกข้างหน้า ผมคิดว่าจินตนาการถึงการเมืองที่ไม่ฆ่ามันเป็นไปได้ เป็นชิ้นส่วนชีวิตของอาจารย์ที่มีค่าที่สุดสำหรับโลกข้างหน้า ความสามารถในการจินตนาการถึงการเมืองที่ไม่ฆ่า จะทะเลาะกันแค่ไหนก็ทะเลาะไป แต่ไม่จำเป็นต้องฆ่ากัน แต่ผมไม่แน่ใจว่าโลกเฮงซวยใบนี้จะรับไหว ถึงแม้จะเป็นมรดกที่มีค่าที่สุด แต่โลกเฮงซวยอย่างที่เป็นทุกวันนี้ไม่มีปัญญารับ

จุฬารัตน์ ดำรงวิถีธรรม, เกษม เพ็ญภินันท์, ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์, เกษียร เตชะพีระ และประจักษ์ ก้องกีรติ (จากซ้ายมาขวามือ)

จุฬารัตน์ ดำรงวิถีธรรม : เลขาฯ ชัยวัฒน์

จุฬารัตน์ ดำรงวิถีธรรม ผู้เขียน ถังแดง: การซ่อมสร้างประวัติศาสตร์และความทรงจำหลอนในสังคมไทย และเลขาฯ ชัยวัฒน์ เล่าว่า

รู้จักอาจารย์ประมาณปี 44 ก็พยายามคิดทบทวนว่าคิดถึงอาจารย์เวลาไหน จะโทรหาอาจารย์เวลาไหน เช่น เขียนงานไม่ออก สังเกตการณ์ม็อบอยู่ เบื่อโลก เข้าไปอยู่ในหมู่เพื่อนแล้วคุยกับเขาไม่รู้เรื่อง อกหักรักคุด ญาติเสีย ตอนรัฐประหาร 2557 ก็ส่งข้อความหาอาจารย์ อาจารย์เป็นคนที่เราคุยได้ทุกเรื่อง ทำไมใครๆ มักคิดถึงอาจารย์ก่อน อาจารย์เป็นครูของใครหลายคนในที่นี้ รู้จักอาจารย์ครั้งแรกจากหนังสือแปล

ได้เป็นเลขาฯ และได้เรียนในบางวิชา การได้เรียนกับอาจารย์ทำให้อยากเรียนโทสาขาการปกครอง รู้สึกเป็นวิชาที่เปิดโลก ถ้าภาษาพุทธทาส ครูคือผู้เปิดประตูให้วิญญาณได้เป็นอิสระ ทำให้เราได้คิดในสิ่งที่บางเรื่องเราไม่เชื่อ พอไปนั่งเรียนการเมือง ความรุนแรง และการไม่ใช้ความรุนแรงทางการเมือง ก็พบว่าถ้าไม่เจออาจารย์คงไม่เรียนวิชานี้ อาจารย์ทำให้มองเห็นอีกว่าเมื่อรุนแรงแล้วเราจะจัดการกับมันอย่างไรเพื่อไม่ให้สูญเสียชีวิต อาจารย์มักจะพูดว่าแค่คนไม่ฆ่าคนๆ หนึ่งก็ถือว่าพอแล้ว อาจารยเป็นนักอุดมคติที่หวังผลน้อยมาก

ความเข้าใจด้านสันติวิธีของอาจารย์แพร่ขยายออกไปมากมาย เวลาอาจารย์ไปพูดในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื้อหาของอาจารย์นอกจากจะสื่อกับฝ่ายรัฐแล้ว ยังพยายามสื่อสารกับขบวนการเคลื่อนไหวและพยายามให้เปลี่ยนแนวทางการต่อสู้ และชี้ให้เห็นว่าการต่อสู้แบบไม่ใช้กำลังมันให้ผลอย่างไร อยากบอกว่าเนื้อหาที่อาจารย์สื่อไปถึงคนเหล่านั้น แม้จะใช้เวลาอยู่หลายปี ขบวนการใน 3 จังหวัดชายแดนใต้เริ่มเห็นว่าการต่อสู้โดยไม่ใช้กำลังมันมีพลัง เพียงแต่ว่าอาจจะเคลมไม่ได้ว่าเป็นผลของอาจารย์ชัยวัฒน์คนเดียว แต่มันมาจากเหตุการณ์ที่ขบวนการเคลื่อนไหวทำด้วยที่ทำให้ความชอบธรรมลดลงเรื่อยๆ

คนมักจะวิพากษ์วิจารณ์อาจารย์ที่สอนสันติวิธี แต่อยู่บนหอคอย อยากจะยืนยันว่าไม่เป็นแบบนั้น แม้อาจารย์จะไม่ได้ลงท้องถนน แต่อาจารย์จะอยู่ข้างหลังคอยประสานงาน เช่น ตอนชุมนุมที่ราชประสงค์ปี 53 ที่ลามมาถึงแยกศาลาแดง เกือบปะทะกับนักธุรกิจ ตอนนั้นตนเองลงไปเป็นอาสาสมัครพบว่า กลางคืนถ้าไม่เปิดไฟก็อาจจะเสี่ยงเกิดการปะทะ ก็โทรหาอาจารย์ รุ่งขึ้นมีรถที่มีไฟมาเปิดตอนกลางคืน ไม่รู้ว่าเป็นเพราะอาจารย์หรือเปล่า

หลายคนรู้สึกว่าอาจารย์เหมือนพ่อของลูกศิษย์ เป็นห่วงเป็นใยคนรอบข้างลูกศิษย์ จะพยายามทำให้คุณภาพชีวิตลูกศิษย์อยู่ในร่องในรอย ความสำเร็จในชีวิตของอาจารย์ไม่ใช่เห็นลูกศิษย์จบไปแล้วก็เป็นนักวิชาการ แต่ความใฝ่ฝันหนึ่งของอาจารย์คือทำให้ลูกศิษย์เห็นมนุษย์เป็นมนุษย์

อาจจะไม่มีสิ่งที่สำนักชัยวัฒน์อย่างที่อาจารย์เกษียรว่า คิดว่าอาจารย์เกษียรพูดถูกที่เราเลือกทำงานแบบนี้ไม่ได้เป็นเพราะว่าอาจารย์ชัยวัฒน์บอกว่าต้องทำแบบนี้ แต่การเห็นอาจารย์ชัยวัฒน์ทำแบบนี้ มันก็เข้าไปโดยไม่รู้ตัว

ความเป็นที่อาจารย์ชัยวัฒน์ คืออาจารย์ทำให้คนมองเห็นคนอื่นเป็นคน เพราะเวลาเจอคนที่เป็นคู่ตรงข้ามกับเรา หน้าอาจารย์ก็จะลอยมา

ชัยวัฒน์ (แฟ้มภาพ)

เกษม เพ็ญภินันท์ ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ

เกษม เพ็ญภินันท์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์และหัวหน้าภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล่าว่า

ความสัมพันธ์ของผมกับอาจารย์ชัยวัฒน์ จริงๆ แล้วผมอยู่ห่างกับอาจารย์มากที่สุด ผมเรียนกับอาจารย์ชัยวัฒน์ครั้งแรกปี 2530 ตอนนั้นอยู่ปี 2 คณะรัฐศาสตร์ เปิดวิชารหัส 400 ไม่รู้จะเรียนอะไร ก็ไปเรียน วิชานั้นเป็นวิชาที่สนใจวิธีวิทยาและประเด็นทางปรัชญาในยุคนั้น มันเป็นคลาสที่สนุกมาก เราจะเรียน 09.30-11.00 น. ทุกวันอังคารแลพฤหัสบดี แต่เรียนถึงบ่ายโมงทุกครั้ง

วิชานี้ก็ชักจูงให้ผมสนใจวิชาการ ผมก็ไปปรึกษาว่าผมสนใจแนวนี้จะเรียนที่ไหน เรียนอะไรตรงสุด อาจารย์ก็แนะนำ The New School for Social Research (NSSR) อาจารย์แนะนำว่ามหาวิทยาลัยนี้ดีอย่างไร แต่ไม่มีอาจารย์คนไหนที่สอนรัฐศาสตร์เลย ผมจึงตัดสินใจเรียนปรัชญาเพราะรายชื่ออาจารย์ที่อาจารย์ชัยวัฒน์เอ่ยทั้งหมดอยู่ที่ภาควิชาปรัชญา

สิ่งสำคัญและเป็นมรดกตกทอดหนึ่งที่อาจารย์ให้อยู่เสมอคือบทบาทของการเป็นครูที่สอนผมจากสิ่งที่อาจารย์ปฏิบัติต่อผม ซึ่งคุณค่าในส่วนนี้ไม่ใช่แค่บุคลิกภาพของตัวอาจารย์ ผมคิดว่ามีสิ่งที่อาจารย์ศรัทธาสองเรื่องคือศรัทธาในมนุษย์ในฐานะที่มีจิตวิญญาณ ซึ่งทำให้อาจารย์สนใจเรื่องความไม่รุนแรงและสันติวิธี อีกส่วนคือความสนใจในโลก ผมเห็นด้วยกับอาจารย์เกษียรที่ว่าอาจารย์ชัยวัฒน์เป็นคนที่โลกสวย แต่เป็นความรักในโลกที่น่าจะเป็น มันสะท้อนออกมาในวิธีทางที่อาจารย์ตอบสนองกับประเด็นทางการเมือง แน่นอน หลายคนรู้สึกขัดใจ ผมก็เคยตั้งคำถาม แต่การตั้งคำถามของผม ผมคิดว่าสิ่งหนึ่งที่ผมเข้าใจอาจารย์คือความรักที่อาจารย์มีต่อโลกใบนี้ ดังนั้น ประเด็นที่เกี่ยวกับโลกทำให้อาจารย์ยืนยันที่จะโยงสิ่งที่สำคัญคือการเมืองและจริยศาสตร์ ทั้งคู่เป็นแก่นสำคัญที่หล่อเลี้ยงให้อาจารย์สะท้อนมุมมองเหล่านั้นออกมาเวลาเผชิญกับสถานการณ์การเมืองต่างๆ

สำหรับผม สิ่งที่คิดว่ามีความสำคัญคืออาจารย์สอนให้คนมีศรัทธา และสิ่งที่ศรัทธานั้นจะทำเราให้เข้าใจมนุษย์ โลก และสังคมที่เป็นอยู่มากขึ้น

ผมคิดว่าต้องแยกเป็นสองเรื่อง เรื่องแรกคือมีคนที่สนใจสมาทานเรื่องสันติวิธีและความไม่รุนแรงของอาจารย์ ซึ่งไม่ใช่สำนัก แต่คนเหล่านี้ได้พัฒนาไปในแนวทางของตัวเอง แต่ในแง่ของสกุลความคิด เป็นไปไม่ได้ที่จะมี และผมก็คิดว่าอาจารย์ไม่ได้ปรารถนาสิ่งเหล่านั้น ผมคิดว่าอาจารย์คงอยากเห็นลูกศิษย์เดินทางในเส้นทางที่แต่ละคนสนใจ

ถ้ามองในแง่งานวิชาการและกิจกรรมทางสังคม ผมคิดว่าคงหนีไม่พ้นประเด็นสันติวิธีและความไม่รุนแรง แต่สิ่งที่ผมเห็นว่าสำคัญที่สุดคืออาจารย์สอนให้เรามองคนเป็นคน และเป็นคนอย่าง simple human being

ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ รัฐศาสตร์ มธ.

ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ รองศาสตราจารย์จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เล่าว่า

ดิฉันเจออาจารย์ชัยวัฒน์ 2525 ตอนนั้นดิฉันเป็นคนมีความสุขในชีวิต อยู่ๆ ดิฉันก็พูดกับอาจารย์ชัยวัฒน์ว่าอยากเป็นอาจารย์ อาจารย์ชัยวัฒน์ก็ยึดความเป็นอาจารย์ของดิฉันมาตั้งแต่นั้น อาจารย์ชัยวัฒน์เป็นครูที่เก่งมาก บางเรื่องเราคิดไม่ถึง อยากให้เราคิดต่อ เปิดหัวเราให้ได้รับรู้ในหลายสิ่งอย่าง เปิดตาให้มองเห็นในมุมที่ถ้าไม่เจออาจารย์ชัยวัฒน์ก็คงไม่มองแบบนั้น อาจารย์ชัยวัฒน์เปิดหัว เปิดใจพวกเรา การมองคนอื่น มองเห็นมนุษย์ในฐานะมนุษย์ การอยู่กับความแตกต่างหลากหลาย การอยู่กับความขัดแย้ง หลายคนอาจจะได้แง่มุมในการทำความเข้าใจเรื่องเหล่านี้ในทางวิชาการ

ดิฉันก็ได้ แต่สิ่งที่ได้คือแล้วจะอยู่กับโลกแบบนี้อย่างไร เป็นคุณูปการที่ใหญ่หลวงมาก ทำให้ดิฉันเรียนรู้และเติบโตมาเป็นดิฉัน โดยไม่พยายามจะพาฉันไปไหน ทำให้โตอย่างที่เราเป็นได้

พูดถึงอาจารย์ชัยวัฒน์ในฐานะคน อาจารย์ชัยวัฒน์เป็นคนมีเมตตาสูง อาจารย์ท่านหนึ่งที่เป็นรุ่นพี่อาจารย์ชัยวัฒน์บอกว่าอาจารย์ชัยวัฒน์เป็นคนเสียงสูง ทำให้พื้นที่รอบตัวเขาร้อนมาก เพราะมีคนเยอะมากคนที่เอาอาจารย์ชัยวัฒน์เป็นศูนย์กลางของชีวิต อีกอย่างที่ร้อน คนที่แวดล้อมอาจารย์ชัยวัฒน์มีความต่างกันสูงมาก ต่างกันในทางวิธีคิด ทฤษฎี ความสนใจ และต่างในแง่การมองโลกและการเมือง

อีกเรื่องหนึ่งที่อยากพูดถึงอาจารย์ชัยวัฒน์คือความสุข ช่วงปี 2530 กว่าๆ เป็นต้นมา เวลาอาจารย์จะเดินทางไปประชุมต่างประเทศหลายครั้งจะถามว่าอยากได้อะไร ดิฉันตอบว่าอยากได้ความสุข แลเป็นบทสนทนาที่ซ้ำเดิมเรื่อยๆ อาจารย์ก็เล่าเรื่องบิวตี้แอนด์เดอะบีสต์ ถึงวันหนึ่งดิฉันก็เลิกบอกให้อาจารย์หาความสุขมาให้ ความสุขที่ได้จากอาจารย์ ความสนใจทางวิชาการก็ได้จากอาจารย์ทั้งนั้น บางคำถามที่อาจารย์ชัยวัฒน์ถามจะเป็นเรื่องที่มีผลใหญ่หลวงต่อการหาความรู้ของเรา

วันหนึ่งดิฉันเดินไปกับอาจารย์ชัยวัฒน์ ที่ใต้สะพานปิ่นเกล้า อาจารย์ชัยวัฒน์ก็ถามดิฉันว่าดิฉันเชื่อในสิ่งที่พูดเรื่อง homosexuality จริงหรือ อาจารย์ชัยวัฒน์พูดว่ามันมีแง่มุมของคนที่เป็น homosexual แล้วเปิดเผยตัว เขาสามารถจะเจอความหฤโหดของสังคมที่ homophobia ดิฉันที่เป็นคนแต่เรื่องนี้ในทางเสรีภาพของปัจเจกบุคคลเห็นสิ่งที่อาจารย์ชัยวัฒน์พูด และทำอะไรอีกมากมายหลายอย่างทั้งในเรื่องวิชาการและการเคลื่อนไหวบนฐานที่อาจารย์ชัยวัฒน์พูด

อีกเรื่องคือดิฉันพูดถึงเรื่องเซ็กส์ว่ามันเป็นเสรีภาพของฉัน อาจารย์ชัยวัฒน์ของเราพูดกลับมาว่าแต่เสรีภาพของเราทำให้คนอื่นเดือดร้อน ประโยคนี้คือที่มาของทวิตรัก

ดิฉันเห็นด้วยกับทุกท่าน คือคนที่เป็นลูกศิษย์อาจารย์ ทำงานวิชาการหรืองานเคลื่อนไหว คือคิดไม่เหมือนกัน เติบโตไปเช่นนั้นได้ แต่มีสิ่งที่ร่วมกันอยู่อย่างหนึ่งคือมีความใจกว้างในทางปัญญาสูงมาก พร้อมที่จะให้ลูกศิษย์เราสามารถคิด สร้างสรรค์งานได้ โดยที่ไม่ต้องเหมือนเรา แต่พูดไม่ได้ว่านี่คือสำนัก

ดิฉันคิดว่ามรดกที่สำคัญของอาจารย์ชัยวัฒน์ที่จะทำให้อาจารย์ชัยวัฒน์ forever คือพวกเรา ความสามารถที่จะทำให้ลูกศิษย์เห็นมนุษย์เป็นมนุษย์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท