สื่ออังกฤษแฉ รัฐบาลหากำไรเข้ากระเป๋าจากค่าบริการวีซ่าผ่านบริษัท VFS

สื่ออังกฤษและองค์กรข่าวสืบสวนสอบสวนเปิดเผยเรื่องที่กระทรวงมหาดไทยของสหราชอาณาจักรหากำไรจากการจัดจ้างบริษัทวีเอฟเอสโกลบอล (VFS Global) ทำวีซ่า ทางการอังกฤษดูดกำไรเข้ากระเป๋าเพิ่มขึ้นหลายล้านปอนด์ต่อสัปดาห์จากการขูดรีดผู้ขอสมัครวีซ่า ด้านกระทรวงมหาดไทยปัดหากำไร รายได้ดังกล่าวถูกนำมาใช้พัฒนาระบบตรวจคนเข้าเมือง

โลโก้บริษัท VFS (ที่มา:วิกิพีเดีย)

20 ส.ค. 2562 บริษัทรับจัดทำวีซ่า VFS Global มีสำนักงานใหญ่ในดูไบ แต่มีกรรมสิทธิ์ความเป็นเจ้าของผ่านบริษัทในเกาะเจอร์ซี เกาะเคย์แมนและลักเซมเบิร์ก กำลังเผชิญกับข้อกล่าวหา "การบริหารงานโดยมิชอบอย่างร้ายแรง" และมีการพยายามเสนอขายบริการเสริมอย่างยัดเยียด สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นหลังจากที่ VFS รับการจัดจ้างจากรัฐบาลอังกฤษในปี 2557 ซึ่งในตอนนั้นกระทรวงมหาดไทยของอังกฤษทำรายได้ 1,600 ล้านปอนด์จากการทำวีซ่าเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม 9 เท่าเมื่อเทียบกับช่วง 5 ปีก่อนหน้าที่จะเริ่มการจัดจ้างกับ VFS

จากการสืบสวนสอบสวนของสำนักข่าวดิอินดิเพนเดนต์ร่วมกับองค์กรข่าวสืบสวนสอบสวนไฟแนนเชียลอันคัฟเวอร์ดพบว่ากระทรวงมหาดไทยของอังกฤษหารายได้จากกระบวนการให้วีซ่าแก่ผู้คนเพิ่มขึ้นจากเดิมโดยเฉลี่ยรายละ 28.72 ปอนด์ (ราว 1,100 บาท) เป็น 122.56 ปอนด์ (ราว 4,600 บาท)

VFS เป็นผู้รับบริการจัดทำกระบวนการวีซ่าอังกฤษให้กับประเทศต่างๆ นอกยุโรปและแอฟริการวมทั้งในไทย ผู้ใช้บริการ VFS ส่วนใหญ่เป็นคนที่มาจากประเทศที่มีรายได้ต่ำ 1 ใน 4 มาจากประเทศเอเชียใต้ พวกเขาพูดถึงคุณภาพของ VFS ว่า พวกเขามักตกเครื่อง ถูกปฏิเสธวีซ่าเพราะความล่าช้าและความผิดพลาดของระบบบริหารจัดการ รวมถึงความผิดพลาดในเรื่องที่เห็นชัดเจนอย่างการสแกนเอกสารที่สำคัญ

นอกจากนี้ผู้เคยใช้บริการยังวิพากษ์วิจารณ์ว่า VFS พยายามยัดเยียดบริการเสริม ต่างๆ ที่ต้องจ่ายค่าบริการไม่ว่าจะเป็นบริการตรวจเช็กเอกสาร ไปจนถึงบริการทำวีซ่าให้กับผู้ที่ต้องการ "ได้ลำดับความสำคัญเหนือกว่า" ซึ่งต้องจ่ายถึง 1,000 ปอนด์ (ราว 37,000 บาท) และในบางรายพวกเขาก็ไม่สามารถให้บริการอย่างรวดเร็วได้จริงอย่างที่สัญญาไว้ ทนายความบอกว่าบริการเสริมเหล่านี้ถูกนำมาใช้ขูดรีดผลประโยชน์จากผู้อพยพที่ถูกกดดันให้ต้องการวีซาโดยเร็วได้

VFS ได้รับรายได้มากขึ้นร้อยละ 38 ในช่วงระหว่างปี 2559-2561 จากการขายบริการแบบพรีเมียม ซึ่งระบบก่อนหน้านี้ผู้ที่ต้องการวีซ่าสามารถขอวีซ่าได้จากสถานทูตหรือสถานกงสุลอังกฤษโดยไม่มีระบบจัดลำดับความสำคัญหรือบริการที่ต้องจ่ายเพิ่มเติม แต่หลังจากที่มีการเอาท์ซอร์สให้กับ VFS ในปี 2557 กระบวนการตัดสินใจก็ตกไปอยู่ในมือของบริษัทนี้แทน นับจากนั้นมาราคาค่าธรรมเนียมโดยเฉลี่ยที่ผู้คนต้องจ่ายก็เพิ่มสูงขึ้นทุกปีๆ มีการเก็บค่าธรรมเนียมแม้กระทั่งบริการเล็กๆ น้อยๆ อย่างการสอบถามทางอีเมลที่คิดค่าบริการ 5.48 ปอนด์ (ราว 200 บาท) และการให้ความช่วยเหลือทางโทรศัพท์คิดราคา 1.37 ปอนด์ต่อนาที (ราว 50 บาท)

ในเอกสารสัญญาจัดจ้างที่ถูกเปิดเผยออกมาภายใต้กฎหมายเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารแสดงให้เห็นว่าทางการอังกฤษหักรายได้ส่วนหนึ่งที่มาจากบริการแบบพรีเมียมแต่ทางการปฏิเสธที่จะเปิดเผยว่าพวกเขาได้รับมาเท่าใด

ทางด้านกระทรวงมหาดไทยของอังกฤษยืนยันว่าพวกเขาไม่ได้ทำกำไรจากการให้วีซ่า โดยรายได้ที่มาจากค่าธรรมเนียมวีซ่าเหล่านี้จะนำไปเป็นเงินทุนให้ระบบตรวจคนเข้าเมืองที่กว้างขวางขึ้น อย่างไรก็ตามในระบบตรวจคนเข้าเมืองที่ว่านี้มีการสร้างเรือนจำผู้อพยพซึ่งกลายเป็นข้อถกเถียงด้วย

รัฐมนตรีเงากระทรวงแรงงานของอังกฤษ ไดแอน แอบบ็อต กล่าววิจารณ์รัฐบาลในเรื่องนี้ว่า ผู้คนที่ขอวีซ่านั้นล้วนเป็นคนที่สมควรจะได้รับการต้อนรับเข้ามาที่นี่เพื่อที่จะทำงานหรือเรียนต่อ การขูดรีดหาผลกำไรโดยอาศัยบริษัทเอกชนแบบนี้ไม่ควรจะมีอยู่ในบริการสาธารณะ

นิโคล ฟรานซิส ผู้อำนวยการใหญ่ของสมาคมผู้ปฏิบัติงานทางกฎหมายผู้อพยพกล่าวว่าทางองค์กรมีความกังวลในเรื่อง "ระดับการบริการที่ย่ำแย่" ของ VFS และ กระทรวงมหาดไทยของอังกฤษก็อาจมีผลประโยชน์จากการเสนอบริการแบบพรีเมียมเช่นนี้ ซึ่งอาจจะกลายเป็นการขูดรีดผู้อพยพที่ขาดโอกาสหรือมีข้อมูลน้อยที่รู้สึกว่าถูกกดดันให้ต้องซื้อบริการแบบแพงๆ ที่ไม่ได้ให้ประโยชน์กับพวกเขา

จอห์น วาสซิลิว จากบริษัททนายความแมคกิลล์กล่าวว่า VFS ถูกปล่อยให้เติบโตเรื่อยๆ ถึงแม้ว่าจะไร้ประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังวิจารณ์ว่ามี "การบริหารงานโดยมิชอบอย่างร้ายแรง" จากการที่ลูกความของบริษัทพวกเขาต้องเผชิญกับความเครียด ความยุ่งยากและความติดขัดในชีวิต รวมถึงราคาที่ต้องจ่ายให้กับเรื่องทางกฎหมายเพื่อที่จะแก้ไขเกี่ยวกับกระบวนการง่ายๆ ที่สำคัญอย่างการสแกนเอกสารที่จำเป็นซึ่ง VFS ทำไม่สำเร็จ

ข้อมูลตัวเลขเหล่านี้มีออกมาหลังจากที่ผู้คนแสดงความกังวลในเรื่องการทำให้ระบบการพิจารณาวีซ่าอยู่ในมือของเอกชน โดยมีการเอาท์ซอร์สให้กับบริษัทฝรั่งเศสที่ชื่อโซปราสเตอเรียตั้งแต่เดือน พ.ย. ปีที่แล้ว ที่มีเสียงวิจารณ์ว่ามีบริการที่ต่ำกว่ามาตรฐานและมีราคาสูงมาก โฆษกของโซปราสเตอเรียกล่าวว่าถ้าหากมีผู้ต้องการใช้บริการเพิ่มมากขึ้นพวกเขาถึงจะปรับให้มีการนัดหมายแบบไม่มีค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้นที่ศูนย์บริการหลักของพวกเขา

โฆษกของกระทรวงมหาดไทยอังกฤษกล่าวว่าพวกเขาได้เรียกร้องให้ผู้ให้บริการมีมาตรฐานสูงขึ้นแล้ว ส่วนโฆษกของ VFS กล่าวว่าบริการเสริมของพวกเขามีขึ้นเพื่อ "ตอบสนองต่อความต้องการเฉพาะด้านจากผู้ยื่นขอวีซ่าที่ต้องการการเข้าถึงที่ดีขึ้น การปรับให้เข้ากับลักษณะเฉพาะตัวของลูกค้ามากขึ้น และความสะดวกมากขึ้นในบริการให้วีซ่า พวกเขาตัดสินใจผ่านการปรึกษาหารือและตกลงร่วมกันกับรัฐบาลในขณะนั้น" โฆษก VFS กล่าวเสริมอีกว่าบริการเหล่านี้มีการระบุอย่างชัดเจนว่าเป็นตัวเลือกเสริม ขณะที่กระบวนการวีซ่านั้น "สถานทูตหรือสถานกงสุลเป็นผู้เดียวที่มีอำนาจพิเศษในเรื่องนี้"

เว็บไซต์ของ VFS ระบุว่าบริษัทเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการให้บริการรัฐบาลและงานการทูตทั่วโลกในด้านงานการปกครองที่เกี่ยวข้องกับวีซ่า พาสปอร์ต การจัดการอัตลักษณ์ VFS มีศูนย์บริการ 3,093 แห่งใน 147 ประเทศใน 5 ทวีป มีรัฐบาล 62 ประเทศเป็นผู้ใช้บริการของ VFS ตั้งแต่เริ่มให้บริการในปี 2554 ทาง VFS ได้ให้บริการใบสมัครไปแล้ว 203 ล้านฉบับ และนับตั้งแต่ปี 2550 VFS ได้ลงทะเบียนอัตลักษณ์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการขอวีซ่าบางประเทศไปแล้วถึง 84 ล้านครั้ง

เรียบเรียงจาก

How Home Office makes millions a week from outsourcing visas to Dubai-based firm accused of exploitation, The Independent, Aug. 19, 2019

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท