Skip to main content
sharethis

องค์กรไทย-ต่างประเทศปรึกษาหารือทางออกขัดแย้งชายแดนใต้ หลังวิตกว่าอาจขยายตัว ดูโจทย์-โอกาสหลายมุม ตั้งแต่การเมืองเรื่องถ้อยคำ เมื่อคนแก้ปัญหาตั้งโจทย์ผิดและตัวเองกลายเป็นปัญหา วาทกรรม ‘ความป่วยไข้’ มักสร้างความเข้าใจผิดมากกว่าเดิม ความรุนแรงแบบใหม่กระทบไม่เลือกหน้า ประชาสังคมบทบาทน้อยลง วอนสู้กันบนสันติวิธี องค์กรระหว่างประเทศต้องทำให้ทุกฝ่ายไว้ใจกัน ทำให้การแก้ปัญหาด้วยสันติเป็นไปได้ โครงสร้างต่างๆ ต้องเอื้อให้ปัจเจกชนเริ่มต้นสร้างสันติจากใจตัวเองได้

จากซ้ายไปขวา ลม้าย มานะการ, อัญชนา หีมมีนะห์, รอมฎอน ปันจอร์ และ พระมหานภันต์ สนฺติภทฺโท (ภาพจาก Cross Cultural Foundation (CrCF)

วิดีโอกิจกรรม

21 ส.ค. 2562 เมื่อวานนี้ (20 ส.ค.) ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล Deep South Watch และมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ร่วมกันจัดเสวนาโต๊ะกลมหัวข้อ “สันติภาพจังหวัดชายแดนใต้ (จชต.): โอกาสการขยายตัวของความรุนแรงและบทบาทคนนอก” โดยมีการเชิญตัวแทนองค์กรภาคประชาสังคมด้านสิทธิมนุษยชน สันติภาพ สิทธิเด็ก สตรี และองค์การระหว่างประเทศมาร่วมเสวนา ปรึกษาหารือถึงทางออกของปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ชายแดนใต้ที่ปัจจุบันมีความกังวลเรื่องการขยายตัวลุกลามไปยังพื้นที่อื่น จากกระแสกังวลต่อเหตุการณ์วางระเบิดที่กรุงเทพฯ เมื่อช่วงต้นเดือน ส.ค.ที่ผ่านมานี้

โจทย์ปัญหา-โอกาสจัดการความขัดแย้ง ความรุนแรงที่ขยายตัว

รศ.โคทม อารียา ที่ปรึกษาสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดลกล่าวว่า วันนี้อยากจะคุยกัน ในเรื่องการขยายวงความรุนแรงและบทบาทขององค์กรระหว่างประเทศ ในปี 2544 รัฐบาลไทยได้ออกยุทธศาสตร์ชายแดนใต้ที่จะใช้สันติวิธีแก้ปัญหาทางการเมืองและเคารพสิทธินุษยชน แต่พอถึงการปฏิบัติก็ไม่ค่อยทำตามนโยบายที่ประกาศ ในงานวิจัยของพัทธ์ธีรา นาคอุไรรัตน์ อาจารย์ศูนย์สันติศึกษาและสิทธิมนุษยชน มหาวิทยาลัยมหิดลเคยสอบถามฝ่ายราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด พบว่าไม่ปฏิเสธบทบาทขององค์กรระหว่างประเทศ แต่ก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยด้านโอกาสและความเหมาะสมต่างๆ อาจเป็นสัญญาณว่ารัฐบาลเปิดกว้างขึ้น คำถามจึงอยู่ที่ว่ามีเรื่องอะไรที่ทำได้เลย ปัจจุบันกระบวนการสันติภาพยังคงเป็นเรื่องการสร้างความไว้วางใจและการเสริมสร้างศักยภาพ ซึ่งอาจให้ทั้งสองฝ่ายร่วมกันในกิจกรรมเสริมสร้างศักยภาพได้ทั้งคู่

รศ.โคทม อารียา ที่ปรึกษาสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล (ภาพจาก Cross Cultural Foundation (CrCF)

ตั้งคำถามคำว่า "คนไทย" 

สุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวว่า เรื่องของสันติภาพคือความสงบสุขหรือความปกติ เป็นสิ่งที่ทั้งโลกมีความต้องการเพื่อการอยู่รวมกัน สังคมไทยก็เช่นกัน แต่แม้ทุกคนอ้างถึงความสงบสุขความเป็นปกติ แต่สันติวิธีก็เป็นอะไรที่ได้รับการยอมรับน้อยมากระหว่างฝ่ายต่างๆ บ้างอ้างว่าความรุนแรงนี้จะนำไปสู่สันติภาพ ทั้งที่ความเป็นจริงกลับสิ่งที่ตรงกันข้าม

คนไทยไม่สามารถแปลคำพื้นฐานคำว่า “คนไทย” ได้ บางท่านอาจนิ่งสักพักหนึ่งแต่ส่วนใหญ่จะไม่ตอบ เราไม่รู้ว่าพื้นฐานของคำว่า “ไทย” แปลว่าอะไร เมื่อเราไม่เข้าใจตัวเราเอง จึงไม่สามารถจัดการตัวเราเองได้ อาจจะแปลข้างๆ คูๆ ว่าอิสระบ้าง แต่ก็ไม่ถูก กลุ่มชาติพันธุ์ที่เรียกตัวเองด้วยชื่อต่างๆ นั้น เมื่อมาแปลเป็นไทยก็แปลตรงกันว่า “คน” คำว่าไทยก็แปลตรงกันว่า “คน” เราเท่าเทียม เรามีความเป็นคนเหมือนกันทุกคนที่อยู่ในแผ่นดินนี้ ความเป็นคนก็ไปสอดคล้องทางความหลากหลายทางวัฒนธรรม เป็นเรื่องสำคัญที่ทำให้คนอยู่ร่วมกันได้ แต่ประเทศไทยแม้มีคำนี้อยู่ในเรื่อง พหุวัฒนธรรม แต่ความเข้าใจเป็นไปด้วยความเชื่องช้า ยังมีการจัดการที่รวมศูนย์ ทั้งที่ต้องกระจายอำนาจ ความหลากหลายที่เราคิดไม่เหมือนกันนี่เองที่ทำให้มนุษยชาติพัฒนาขึ้นมาจากการที่เรามีความหลากหลายทางความคิด

ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวต่อว่า ในชายแดนใต้ไม่มีการจัดการที่จริงจัง จนถึงเหตุระเบิดที่เพิ่งเกิดขึ้นในกรุงเทพฯ ระเบิดนี้เกิดช่วงสถานการณ์เปลี่ยนผ่านโดยซึ่งครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก ในช่วงที่เป็นการเปลี่ยนผ่านก็มักจะเกิดเหตุการระเบิดหลายจุดพร้อมๆ กัน เป็นการแสดงศักยภาพสื่อสารถึงสังคมไทยและโลกว่า แม้ในกรุงเทพฯ เขาก็สามารถทำได้ แม้ไม่ประสงค์ถึงชีวิตแต่สื่อว่าพร้อมจะนำไปสู่ความรุนแรง ครั้งนี้เป็นครั้งที่ค่อนข้างโยงชัดเจนกับคนทำที่น่าจะเป็นผลพวงจากความรุนแรงชายแดนใต้ ในการพูดคุยวันนี้หวังว่าจะมีการพูดคุยกันว่าจะไม่ให้เกิดความรุนแรงหรืออาศัยสถานการณ์ที่จะใช้ความรุนแรงได้อีก

สุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม (ภาพจาก Cross Cultural Foundation (CrCF)

ศ.พิรงรอง รามสูตร รองอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเปิดเสวนาว่า ในทางหลักการรัฐบาลทุกประเทศไม่ต้องการให้เกิดการแทรกแซง แต่ในทางโลกาภิวัฒน์ องค์กรต่างประเทศก็มีการเข้ามาช่วยกระบวนการสันติภาพมาโดยตลอด ในโอกาสที่ไทยเป็นประธานอาเซียนนี้ถือเป็นโอกาสอันดีที่จะมาคุยเรื่องสันติภาพ การช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกในการพูดคุยระหว่างผู้เห็นต่างกัน คำถามสำคัญคือการพูดคุยเรื่องสันติภาพในชายแดนใต้นั้นเดินมาถูกทางหรือยัง อย่างไรก็ตาม จุฬาฯ  ยินดีที่จะเป็นพื้นที่กลางในการพูดคุยประเด็นปัญหานี้

ความรุนแรงลด ความขัดแย้งถูกซ่อนใต้พรม เมื่อวิธีคิดผู้แก้ปัญหาคือปัญหาเสียเอง

รอมฎอน ปันจอร์ ภัณฑารักษ์จากองค์กร Deep South Watch กล่าวว่า คำว่าสันติภาพ จังหวัดชายแดนใต้ การขยายตัว ความรุนแรง คนนอก เป็นคำที่มีปัญหาทั้งนั้น  ในภาษาอังกฤษ คำว่าสันติภาพและสันติสุขใช้คำว่า peace เหมือนกัน แต่ คสช. ใช้เวลา 1 ปีหลังยึดอำนาจในการหาคำว่าสันติสุขในภาษาอังกฤษ ในเอกสารราชการมีการใช้คำว่า harmony, happiness, happiness talk ซึ่งก็เป็นเรื่องตลกเพราะไม่มีคำเหล่านี้ในการทำงานด้านสันติภาพ สุดท้ายก็กลับมาใช้คำว่า peace

สันติภาพมีความเกี่ยวข้องกับคนนอก การยกประเด็นจังหวัดชายแดนใต้ให้เป็นปัญหาระดับประเทศเป็นเรื่องสำคัญสุดต่อการกำหนดนโยบายความมั่นคงไทย การมีฝรั่งปรากฎตัวในเวทีนี้นับว่าน่าตกใจมากสำหรับบางคนที่มีอำนาจตัดสินใจในกรณีชายแดนใต้ คนนอกที่ว่าก็อาจเป็นจากกรุงเทพฯ หรือนอกพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ แต่คำนี้ก็เลื่อนไหลได้ คำว่าจังหวัดชายแดนใต้นั้น คนที่มุ่งมั่นปลดปล่อยปาตานีจากรัฐไทยก็จะใช้คำว่าปาตานี ชื่อเวทีเวลาจัดงานในพื้นที่ที่จะควบรวมทุกคนจึงมักใช้คำว่า ชายแดนใต้/ปาตานี

ผู้คนกำลังให้ความสนใจกับคำว่าความรุนแรง การขยายตัว แต่คำที่หายไปและมักทำให้ถูกมองไม่เห็นคือคำว่า “ความขัดแย้ง” คำนี้เป็นอันตรายสำหรับทางการไทย กระทรวงการต่างประเทศพยายามหลีกเลี่ยงการใช้คำว่า conflict ในเอกสารที่เป็นทางการ แล้วใช้คำว่า situation, violent situation แทนเพราะคำว่าความขัดแย้งจะโยงกับ armed conflict (ความขัดแย้งที่มีการใช้อาวุธ) คำดังกล่าวเป็นคำที่ถูกใช้ในกฎหมายและการเมืองระหว่างประเทศ การยอมรับว่าปัญหาชายแดนใต้เป็น armed conflict จึงเป็นปัญหา

ในช่วงปี 2552 ความกังวลเรื่องถ้อยคำพัฒนาตัวจนเป็นนโยบาย คำสั่ง หน่วยงานของกองทัพบกเปลี่ยนคำสำคัญหลายคำในปี 2552 อย่างคำว่า “การก่อความไม่สงบ” เป็น “ก่อความรุนแรง” หรือ “ผู้ก่อความไม่สงบ” เป็น “ผู้ก่อเหตุรุนแรง” การใช้ถ้อยคำเหล่านี้สำคัญมากเพราะมันทำให้เราเห็นแต่ความรุนแรง แต่ไม่เห็นความขัดแย้ง สิ่งที่คนนอกควรเข้าใจคือความรุนแรงในสถานการณ์ตอนนี้ ไม่ว่าในฐานข้อมูลไหนๆ ก็ลดลง แต่ความขัดแย้งยังไม่คลี่คลาย และนั่นคือปัจจัยที่จะทำให้ความรุนแรงบานปลายออกสู่มิติอื่นๆ ยังเป็นไปได้ ความรุนแรงลดลงแต่ความขัดแย้งไม่ถูกจัดการ ไม่ได้เผชิญหน้า คลี่คลายหรือเปลี่ยน รัฐบาลไทยพยายามบังไม่ให้เห็นความขัดแย้งนี้ แม้แต่ถ้อยคำก็ทำให้ไม่เห็น

จากฐานข้อมูลของ Deep South Watch สามารถแบ่งช่วงจำนวนเหตุการณ์และผู้บาดเจ็บล้มตายในพื้นที่ 3 จังหวัด 4 อำเภอชายแดนใต้ตลอด 15 ปีได้เป็น 3 ช่วง ถ้าดูจากผู้บาดเจ็บล้มตายจะพบว่า ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตส่วนใหญ่คือพลเรือน (ร้อยละ 61 และ 71 ตามลำดับ)  Deep South Watch พยายามย้อนระบุสาเหตุเหตุการณ์ที่มีบนหน้าสื่อต่างๆ พบว่าเหตุที่ไม่ชัดเจนนั้นมีจำนวนเพิ่มขึ้น กรณีที่มีมูลเหตุส่วนมากเกี่ยวกับการแบ่งแยกดินแดน แนวโน้มเหตุการณ์ความรุนแรงตลอด 15 ปีนั้นลดลง แต่ 2 ปีครึ่งล่าสุดเริ่มเพิ่มขึ้นซึ่งหาเหตุผลอธิบายไม่ได้เนื่องจากมีปัจจัยหลายอย่าง ผลที่เห็นคือสัญญาณที่อยากจะเตือนว่า ส่วนฐานข้อมูล กอ.รมน. จะสนใจลักษณะเหตุการณ์พื้นฐาน และการนับของ กอ รมน ไม่นับเหตุการณ์ที่เป็นผลจากการปฏิบัติของหน่วยงานราชการเอง จำนวนเหตุการณ์เลยน้อยกว่าฐานข้อมูลอื่นๆ แต่ก็ยังอยู่ในแนวโน้มลดลง

แผนงานบูรณาการชายแดนภาคใต้ในช่วง รัฐบาล คสช. ที่เริ่มใช้ปี 2560-ปัจจุบัน มีตัวชี้วัดสำคัญที่สุดคือการลดเหตุรุนแรงที่ต้องลดลงกว่าค่าเฉลี่ย 3 ปีย้อนหลังร้อยละ 30 ซึ่งตามมุมนี้ถือว่าลดเยอะ ปี 2560 น้อยลงร้อยละ 57 ปี 2561 ลดลงร้อยละ 48 ในแง่นี้ถือว่ารัฐบาลบรรลุผล แต่ความขัดแย้งยังไม่ได้รับการคลี่คลาย รัฐบาลไทยพยายามเลี่ยงไม่ให้เห็นนัยทางการเมืองในนั้น ความขัดแย้งระหว่างแนวคิดที่ว่าตกลงประชาชนในพื้นที่สามารถกำหนดชะตากรรมของตนเองได้หรือไม่ กับความชอบธรรมที่รัฐบาลจะสถาปนาการปกครองในพื้นที่นั่นชอบธรรมแค่ไหน ฝ่ายหนึ่งต้องการรักษาอำนาจอธิปไตยรัฐ อีกฝ่ายต้องการฟื้นฟู ยึดคืนดินแดนของพวกเขา สิ่งนี้เป็นใจกลางของปัญหาและยังไม่ได้รับการคลี่คลายเท่าไร

ในเรื่องการขยายตัวของความรุนแรงตลอด 15 ปี หลายคนอาจพูดถึงเหตุระเบิดใน กทม. แต่หากมองย้อนไปจะพบว่าคนนอกพื้นที่ไปเสียชีวิตในจังหวัดชายแดนใต้เยอะ ในส่วนทหารคือคนที่มาจากภาคใต้ตอนบนในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกับคนจากอีสาน รองมาคือภาคเหนือและภาคกลางตามลำดับ ความสัมพันธ์ระหว่างไทยพุทธกับมุสลิมทั้งในพื้นที่และต่างพื้นที่เริ่มมีความตึงเครียด พบว่ามีงานศึกษาหลายชิ้นที่บ่งชี้ว่าการต่อต้านมุสลิมในพื้นที่อื่นๆ มีผลมาจากการรับรู้เกี่ยวกับสถานการณ์ในชายแดนใต้ คำว่าการขยายตัวนั้นไม่ต้องพูดถึงเลยเพราะว่าขยายไปแล้ว แต่ความขัดแย้งยังไม่คลี่คลาย เสียงของคนที่ต้องการแยกปาตานียังไม่ได้รับการได้ยิน ตัวอย่างหลายที่ในโลกสะท้อนว่าปัจจัยเหล่านี้นำไปสู่ความคิดสุดขั้วและเหตุการณ์ที่บานปลาย อย่างในฟิลิปปินส์ที่มีเรื่องกลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่มินดาเนาที่ปะทะกับรัฐบาลกลางมายาวนาน แม้ต่อมามีกระบวนการพูดคุย เจรจาที่ได้ผลมากแต่ก็ยังมีเสียงสุดขั้วที่แยกออกไป

รัฐบาล คสช. เปลี่ยนวิธีรับมือปัญหาชายแดนใต้แบบค่อยเป็นค่อยไป แนวคิดเบื้องหลังนโยบายประยุทธ์ 1 และ 2 เริ่มชัดเจนว่ากลับมาสู่แนวทางป้องกัน ปราบปรามการก่อความไม่สงบ (counter insurgency) เน้นการพัฒนา ลดความรุนแรง ทำลายโครงสร้างของ BRN อย่างชัดเจนตามระบุในเอกสารนโยบาย ตอนนี้รัฐยังไม่สามารถทำลายสายพานการผลิตนักรบรุ่นใหม่หรือคนที่มีใจต่อขบวนการปฏิวัติ จึงมีการรุกหนักไปที่โรงเรียนสอนศาสนาที่ถูกตีตราว่าเป็นแหล่งบ่มเพาะขบวนการปฏิวัติ ในส่วนความพยายามสร้างความร่วมมือกับภาคประชาสังคมและองค์กรระหว่างประเทศจะพบว่า นอกจากความพยายามเอามาเป็นพวกแล้วก็คือต้องทำอย่างไรให้องค์กรระหว่างประเทศไม่เป็นอันตรายต่อหน่วยงานรัฐไทย

รอมฎอนยังกล่าวอีกว่า เรากำลังเคลื่อนตัวมาอยู่ในตรรกะรัฐบาลที่เน้นควบคุมพื้นที่ ความคิด กิจกรรมต่างๆ ควบคุมการเคลื่อนตัวของประชาสังคม องค์การระหว่างประเทศไม่ให้เป็นอันตราย วิธีการรับมือคือ ต้องดูว่าอีกฝ่ายของคู่ขัดแย้งเป็นอย่างไร BRN เป็นองค์กรที่แข็งแกร่งและโด่งดังที่สุดในฐานะขั้วตรงข้ามที่รัฐบาลไทยพยายามวางตัวจะพูดคุยด้วย ตอนนี้ BRN น่าจะอยู่ในช่วงการปรับตัวบางอย่าง พวกเขามีขีดความสามารถในทางการเมืองที่จำกัดมาก นั่นเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้สถานการณ์ความขัดแย้งติดในภาวะชะงักงัน เราอาจได้ยินเสียงเขามากกว่าระเบิดและปฏิบัติการทางทหารถ้าพวกเขามีขีดความสามารถทางการเมืองมากกว่านี้ และเขาก็พยายามขยายพื้นที่การเมืองแต่ก็ทำได้แค่นี้

เดิมพันรัฐบาล คสช. เริ่มสูงมากขึ้น ในแง่ว่าการกุมอำนาจรัฐบาลเข้าปีที่ 6 ถ้าไม่สามารถแก้ไขปัญหาชายแดนใต้ได้ ในมุมของพวกเขาเอง เกียรติภูมิรัฐบาล ทหารไทยจะมีปัญหา เดิมพันฝ่าย BRN คือจะรักษาการต่อสู้แลองค์กรตัวเองอย่างไร เรากำลังเจอทางสองแพร่งของสองฝ่ายแบบนี้ เห็นด้วยว่าต้องเปิดพื้นที่เสรีภาพการทำความเข้าใจขัดแย้ง ตัวเลือกต่างๆ การอยู่ร่วมกันโดยไม่ต้องมีการกดดันทั้งจากรัฐบาลและ BRN รอมฎอนยังกล่าวว่า บทบาทขององค์กรระหว่างประเทศนั้นต้องทำให้รัฐไทยและฝ่ายขบวนการเห็นว่า แนวทางที่ไม่ใช้ความรุนแรงนั้นทำได้และได้ผล

ภาพจาก Cross Cultural Foundation (CrCF)

ความรุนแรงเปลี่ยนรูปแบบ กระทบทุกศาสนา ประชาชนติดตามการละเมิดสิทธิยาก

อัญชนา หีมมีนะห์ จากกลุ่มด้วยใจ อัพเดทสถานการณ์ตรวจสอบเรื่องสิทธิมนุษยชน 2547-2561 พบว่า สถานการณ์มีแนวโน้มที่จะลดลง แต่ความรุนแรงสะท้อนว่าคนที่บาดเจ็บล้มตายไม่ได้ถูกแบ่งแยกทางศาสนาเลย ทุกคนถูกกระทำเท่ากัน สำหรับสถานการณ์เด็กนั้น มีตัวเลขที่ลดลงต่อเนื่องในการบาดเจ็บล้มตาย แต่ว่าสะท้อนภาพความรุนแรงในรูปแบบอื่น เช่น มีการตรวจดีเอ็นเอเด็ก การจับกุมถ่ายภาพในสถานศึกษาที่เด็กได้เห็น มีเด็กถูกควบคุมตัวดำเนินคดีด้วย ส่วนผู้หญิงนั้นเมื่อมองในเรื่องเพศ ผู้หญิงที่เสียชีวิตและบาดเจ็บนั้นน้อยกว่า และมีแนวโน้มที่จะลดลงเนื่องด้วยการรณรงค์การคุ้มครองเด็กและสตรี สอดคล้องกับสถานการณ์การฆ่านอกระบบลดลงด้วย

ปี 2562 มีการจับกุมควบคุมตัวนั้นเพิ่มขึ้น เริ่มมีทิศทางที่เพิ่มขึ้นในปีนี้ มีทั้งที่เป็นเด็กผู้หญิง ครูสอนศาสนา การวิสามัญฆาตกรรมก็จะเพิ่มมากขึ้นด้วย ปีนี้มีเด็กเสียชีวิตมากกว่าปีที่แล้ว 1 คน สถานการณ์ภายนอกอาจดูดี แต่ 15 ปีการยุติความรุนแรงไม่สำเร็จ มันอยู่ที่เรา การอยู่กับการเรื้อรังของความรุนแรง การจัดการปัญหาโดยทหารใช้ความรุนแรงในการตอบโต้ ปิดล้อมจับกุม มีการปิดค้นปิดล้อมทั้งหมู่บ้าน มีภาพจำของเด็กๆ ที่เห็นการปิดล้อม มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน แม้ทหารจะแถลงว่าตนเคารพ หรือขบวนการเองก็บอกว่าจะเคารพในมนุษยธรรมแต่ในทางปฏิบัติก็ไม่เป็นแบบนั้น

การใช้เด็กและเยาวชนมาปฏิบัติการนั้น มันบอกว่า การเติบโตของเด็กตั้งแต่ปี 2004 เขาเติบโตมากับอะไรที่สามารถใช้ความรุนแรงต่อผู้อื่นได้ เป็นความสะเทือนใจของคนที่ทำงานด้านสิทธิฯ ในพื้นที่ เด็กเหล่านี้เผชิญกับการถูกปิดล้อม จับกุม และรับฟังเรื่องของการซ้อมทรมาน เราจะทำอย่างไรกับเด็กที่อยู่กับครอบครัวที่อยู่กับการกระทบซ้ำเหล่านี้ บางครอบครัวมีการจับซ้ำ 3-4 ครั้ง สุดท้ายต้องหนีและถูกวิสามัญ มีครอบครัวที่พ่อถูกจับกุม หรือลุงถูกตรวจค้นนี่เป็นสภาพที่เด็กเติบโตมา ความรุนแรงที่มันขยายจนมาถึง กทม. มาจากการขยายตัวของความรุนแรงในพื้นที่ที่ถูกปิดกั้นโดยหมอกของมายาคติที่อยู่กับความรุนแรงของทั้ง 2 ฝ่าย

อัญชนายังระบุว่า ไม่ขอให้รัฐเป็นผู้สร้างสันติภาพอย่างเดียว แต่ขอให้ทุกคนได้ติดตามปัญหาการละเมิดสิทธิ ล่าสุด อับดุลเลาะ อีซอมูซอ ยังอยู่ในการรักษาตัวจากภาวะก้านสมองตายและสมองบวมโดยยังไม่ทราบสาเหตุ นี่คือปัญหาหนึ่งของการใช้กฎหมายพิเศษ การมีท่าทีต่อการละเมิดสิทธิไม่ว่าอยู่ที่ใด จะควบคุมการใช้อำนาจเกินขอบเขตได้ การต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินทุก 3 เดือนจะมีตัวชี้วัดที่ออกแบบโดยรัฐ จะทำอย่างไรให้ประชาชนที่ถูกบังคับใช้กฎหมาย สร้างตัวชี้วัดด้วยตัวเองเพื่อบอกว่าพื้นที่ตัวเองต้องการใช้หรือไม่ใช้กฎหมายฉุกเฉิน การปิดล้อม ตรวจค้นแบบเหมารวม โดยเฉพาะหอพักหญิงในเวลาวิกาลหรือที่บ้านประชาชนที่มีผู้หญิงในบ้านเพียงลำพังสร้างความหวาดกลัวต่อผู้หญิงในพื้นที่ และสุดท้าย ขอให้มีเสียงสนับสนุนการเจรจาสันติภาพให้เกิดขึ้นรวดเร็วเพื่อหยุดปัญหาเรื้อรัง

เส้นทางภาคประชาชนกับสันติภาพ จากโด่งดังสู่แบ่งแยก วอนหยุดเงื่อนไขความรุนแรง สู้กันบนสันติวิธี

ลม้าย มานะการ ผู้ประสานงานศูนย์อาสาสมัครเพื่อประชาชนจังหวัดชายแดนใต้ กล่าวว่า นับตั้งแต่ปี 2534-2535 งานความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชนค่อนข้างจะเงียบเหงา ชาวพุทธเข้าถึงสิทธิประโยชน์ที่มีอยู่มากกว่าชาวมุสลิมเนื่องจากฝ่ายหลังมีปัญหาเรื่องการสื่อสารด้วยภาษาไทย ข้าราชการในตอนนั้นก็เป็นไทยพุทธและนอกพื้นที่ค่อนข้างเยอะ และก็ยังไม่ค่อยเห็นความขัดแย้ง มีเหตุการณ์อุ้มครูหายแต่ว่ารู้กันไม่มาก พอมาปี 2540 มีวิกฤตเศรษฐกิจ หลายคนก็กลับเข้ามาอยู่ในพื้นที่ ในเชิงสังคมก็มีการทำงานร่วมกันมากขึ้น ส่วนกลางลงมาทำงานด้านขับเน้นให้ชุมชนพึ่งตนเองได้ ทำให้ประชาสังคมรู้จักกันเยอะมากพื้นที่ชายแดนใต้ได้รางวัลการทำงานภาคประชาสังคมดีเด่น ปัตตานีถูกขนานนามเป็นเมืองหลวงของชายแดนใต้เพราะอะไรก็ไปรวมตรงนั้น จนเกิดเหตุการณ์ตากใบเมื่อปี 2547 ตอนนั้นคนที่ทำงานสาธารณะหายไปจากแวดวง จึงตั้งคำถามว่าจะทำอะไรได้บ้างต่อสถานการณ์เหล่านั้น

ช่องว่างระหว่างชาวพุทธกับมุสลิมสูงขึ้นมาก พุทธบอกว่ามุสลิมทำ มุสลิมบอกว่าทหารทำ เริ่มเห็นสมการบางอย่างที่ทำให้มีรอยร้าวในพื้นที่ จนถึงปีที่กองทัพส่งคนลงมาเยอะมาก มีการจับกุมคน ล้อมหมู่บ้าน ตอนนั้นองค์กรประชาสังคมเน้นให้คนเจอกันและทำงานด้านการเยียวยา ปี 2548 พยายามผลักดันหลักเกณฑ์การเยียวยาว่าให้รัฐรับผิดชอบ รัฐก็ถามว่าทำไมไม่ให้ขบวนการรับผิดชอบบ้าง เราก็ตอบไปว่าไม่เห็นตัว แต่รัฐไม่สามารถประกันความปลอดภัยชีวิตของประชาชนได้ หลายคนมองว่าขบวนประชาสังคมเป็นแนวร่วมมุมกลับ และเริ่มแยกว่าใครเป็นพวกรัฐหรือทหารหรือพวกใคร กลายเป็นว่าประชาสังคมชาวพุทธก็ถูกแบ่งแยกว่าอยู่กับใคร พอเราทำงานกับคนมุสลิมเยอะก็ถูกมองว่าไม่ใช่พุทธแท้

ในช่วงปี 2554 ก็มีแง่บวก เป็นปีที่มีการรวมตัวสมาคมประชาสังคมชายแดนใต้ในปี 2554 พยายามบอกว่าข้อเรียกร้องของประชาชนนั้นสำคัญ ในปี 2556 ที่มีความพยายามทำให้เกิดการพูดคุยสันติภาพและดึงประชาสังคมเข้าไปมีส่วนร่วม แม้จะไม่ได้ทำอะไรมากแต่ก็ยังมีโอกาสทำงานกับรัฐที่เดิมทำงานในเชิงลับ ปีนั้นบรรยากาศค่อนข้างเปิด ประชาสังคมทำเรื่องการกระจายอำนาจในฐานะการคลี่คลายความขัดแย้ง ตอนนั้นมีโมเดลจังหวัดจัดการตนเอง จึงเสนอว่าต้องมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการบริหารแต่ก็ยังระบุเรื่องไม่แบ่งแยกดินแดน

ประชาสังคมที่จัดตั้งเองก็ไม่พอใจกับประชาสังคมที่รัฐจัดตั้ง มีการแยกกันว่าเป็นนอมินีทหารบ้างหรือร่วมกับ BRN บ้าง สมาพันธ์ชาวพุทธที่ตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นการทำงานร่วมกันของชาวพุทธ แต่ก็ถูกแยก แยกกินอยู่ ใช้ชีวิต แยกพวก เรารู้สึกว่ารับไม่ค่อยได้ พยายามจะบอกว่าเราก็เลือดเดียวกัน คนไทยด้วยกัน คนไทยพุทธก็ไม่พอใจกับการใช้คำว่าปาตานีเพราะมองว่ามันเป็นอดีตไปแล้ว เรื่องอาหารฮาลาลก็เป็นเรื่องใหญ่มาก โรงพยาบาลบางแห่งถูกเรียกร้องให้มีครัวพุทธ ชาวพุทธบางกลุ่มพูดไปถึงเรื่องไม่ให้ถวายอาหารฮาลาลกับพระ คนที่ทำงานสันติวิธีมองว่าสิ่งนี้เป็นความรุนแรงเชิงโครงสร้างที่ถูกกระทำในพื้นที่ถึง 16 ปี ผู้ต้องสงสัยมือว่าเป็นมือระเบิดที่กรุงเทพฯ ไม่นานมานี้ ก็พบว่ามี 2 คนเป็นลูกหลานของกรณีตากใบ เงื่อนไขความรุนแรงจะต้องจบ อยากให้ทะเลาะกันแบบสร้างสรรค์ในเรื่องชายแดนใต้ สู้กันบนสันติวิธีต่อไป ไม่ใช่การยิงกัน ฆ่ากัน

โครงสร้าง ระบบต้องเอื้อให้คนสร้างสันติสุขจากภายในตัวเอง

พระมหานภันต์ สนฺติภทฺโท ผู้อำนวยการสถาบันการจัดการวิถีพุทธเพื่อสุขและสันติ กล่าวถึงประเด็น “คนนอก” ว่า เมื่อเราใช้คำว่า คนนอก ด้านหนึ่งตนคิดว่ามีความเป็นคนนอกในพื้นที่ แต่กระบวนการสร้างสันติภาพนั้นทำคนสามารถมีส่วนร่วมในการสร้างสันติได้ด้วยการเริ่มต้นในใจเรา ลงมือจัดการกับอารมณ์ความรู้สึกของตัวเอง ไม่ว่าเราจะเคลมว่าเราจะเป็นศาสนาแห่งผู้รู้ผู้ตื่นผู้เบิกบานหรือศาสนาแห่งสันติ แต่ถ้าไม่จัดการตัวเองก็นำไปสู่ความรุนแรงได้

ทุกศาสนาบางทีมีการใช้ความคิดในนามศาสนาแล้วนำไปสู่ความรุนแรง นี่คือสิ่งที่คิดว่าคนที่คิดว่าตัวเองเป็นคนนอกต้องใส่ใจแล้ว มีแนวโน้มของ Hate Speech ที่ใช้ความขัดแย้งเหล่านี้มาโยกกับความขัดแย้งทางการเมืองและศาสนาเพื่อแบ่งแยกคนแบ่งฝักฝ่าย กลยุทธ์เป็นแบบเดียวกันกับในพม่าหรือศรีลังกา

อยากชวนว่าวันนี้ไม่มีใครเป็นคนนอกแล้ว หากเราต้องการพูดเรื่องสันติภาพ อย่างน้อยเผื่อใจในการมองอีกมุมเสมอ บางอย่างไม่สามารถเปลี่ยนเหตุการณ์ได้เลย ก็สามารถเปลี่ยนทัศนคติต่อมุมมองนั้น และอาจเปลี่ยนคนรอบข้างให้เปลี่ยนมุมมองต่อคนหรือศาสนานั้นๆ ได้

แม้ในพื้นที่ตนจะเป็นคนนอกโดยการเกิด แต่ในการทำงานได้คลุกคลีกับหลายๆ คน ปี 43 ตนบวชได้ฉายาในความหมายว่าเจริญด้วยสันติ เราเริ่มจากการทำให้เกิดการเข้าใจระหว่างกัน ความตั้งใจมีเท่านี้ เมื่อจัดการเรื่องอบรมและไปจัดค่ายที่เบตง จ.ยะลา ปี 43 บรรยากาศเป็นพหุวัฒนาธรรม ไม่มีความรู้สึกแปลกแยกในทางศาสนาเวลาเดินทางบรรยากาศความตึงเครียดก็ไม่มี จากนั้นปี 48 ความรู้สึกเปลี่ยนไป ความเป็นมิตรมันหายไป มีรั้วลวดหนาม ปัตตานีตอนนั้นไม่เหมือนเดิมแล้ว ช่วงหลังไม่เฉพาะคนนอก แม้คนในชุมชนเดียวกัน ณ วันนี้ไม่กล้าคุยกันแล้ว เพราะเมื่อคุยกันแล้วไม่ว่าฝ่ายรัฐหรือขบวนการก็อาจระแวง

ในภูมิภาคนี้การส่งต่อข่าวสารนั้นมี วันนี้เราเรียนรู้ความขัดแย้งทั่วโลกหรือไม่ บางอย่างโครงสร้างของรัฐมันก่อให้เกิดความรุนแรงขึ้น เขาก็จะมองอีกแบบ เมื่อเราเข้าใจบริบทตัวเองและเหตุการณ์ การไม่เข้าใจบางอย่างอาจทำให้เกิดความรุนแรงได้  เราเห็นใจเขาและชวนทุกฝ่ายเห็นใจกันด้วย

วันนี้ทั้งภาครัฐและประชาสังคม ผู้เกี่ยวข้อง สิ่งที่กังวลคือคนฝั่งหนึ่งห่วงว่ามันถึงเวลาหรือยังที่จะทำให้คนทั้งประเทศเห็นความรุนแรงนั้นมากเท่าไหน ต้องรอให้มันมาคุกคามชีวิตและทรัพย์สินพวกเราหรือ ถึงจะใส่ใจ เพราะแนวโน้มของรัฐพยายามกันความรับรู้ของคนออกไปจากเหตุการณ์ แต่เวลาทำแบบนั้นอีกฝั่งก็ถูกทำให้เสียงของเขาไม่ได้ยิน เขาก็พยายามทำให้เสียงเข้าได้ยินมากขึ้น เรื่องแบบนี้ในหลายๆ ประเทศก็เกิดขึ้นสุดท้ายเขาก็อยากให้เสียงของเขาเป็นที่ได้ยิน  ถ้าเราเปิดพื้นที่รับรู้สิ่งเหล่านี้สนใจเข้าเข้าใจมากขึ้นโดยไม่เป็นส่วนหนึ่งของการทวีเงื่อนไขของความขัดแย้งที่จะนำไปสู่ความรุนแรงมากขึ้น อันนี้เราช่วยได้แล้ว แต่เสียงของฝั่งนี้มันก็มีความกังวลของอีกฝั่งว่า มันทำให้ความประสงค์ของเขาที่ต้องการให้เสียงของเขายกระดับความสำคัญว่าต้องการเรียกร้องให้องค์กรระหว่างประเทศเข้าช่วย แล้วสุดท้ายมันเลวร้ายกับประเทศมากกว่าเดิมหรือไม่ ถามว่ามีเหตุผลหรือไม่ ก็มี

นึกภาพว่ามีคนเป็นโรคมะเร็ง แต่ยังไม่ตาย มีโอกาสรักษาและรอด มากหรือน้อยบอกยาก คำถามคือ เราจะบอกคนไข้ไหม ด้านหนึ่ง คนไม่บอก บอกเดี๋ยวหมดหวังหมดกำลังใจหมดอาลัยตายอยากในชีวิต อย่างไรก็ตายอยู่แล้ว ขอให้เขาตายอย่างสงบสุขเถิด หรือเราจะมองอีกด้านหนึ่ง ถ้าคนไข้รู้แล้วเราปรับทัศนคติให้ตรงกันได้ ไม่ต้องไปเข้าค่ายทหาร เขาจะสามารถมีพฤติกรรมที่ดี รับการรักษาได้ดี จิตใจดีกำลังใจดี สุดท้ายอาจจะรอดได้ก็ได้ ตนไม่สามารถวินิจฉัยคำตอบนี้ได้ แต่คำถามมี 2 คำถามคือ 1 วันนี้ประเทศไทยเป็นโรคนั้นในระยะไหนแล้ว และ 2 ถ้ามันร้ายแรงหรือไม่ร้ายแรง โยมคิดว่าทางเลือกไหนเป็นทางเลือกที่ดี ระหว่างไม่รู้แต่เบาสบาย หรือ รู้แล้วมีสิทธิแก้ไขเยียวยาได้ ซึ่งถ้าถามตน แนวโน้มอคติของตนไปในทางว่าถ้าข้อแรกโง่แล้วเบาสบาย คำถามคือมันเบาสบายจริงหรือเปล่า เพราะสุดท้ายแล้วสำหรับพุทธศาสนา อวิชชาคือว่าไม่รู้เป็นข้อที่แก้ยากและมีโทษรุนแรงสุด ในพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าบอกว่ามีโทษมากและคลายช้า โทษมากคือติดอยู่ในกระบวนทัศน์ที่ภาษาพระเรียก มิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิด เมื่อมีความเห็นผิดแล้วโอกาสแก้ไขพฤติกรรมทั้งทางกายและวาจาไม่มีเลย เยียวยายากสุด

“สันติจะเกิดขึ้นได้มันต้องเริ่มจากใจเรา แต่ใจเราไม่พอ มันต้องออกแบบโครงสร้างกลไกที่มันเอื้อต่อการนำไปสู่การแก้ปัญหาที่แท้จริงและยั่งยืนด้วย” ผอ.สถาบันการจัดการวิถีพุทธเพื่อสุขและสันติ กล่าว

พระมหานภันต์ยังกล่าวว่า ขอเชิญชวนสองเรื่อง หนึ่ง ตนมักโดนตรวจพิเศษเวลาเดินทางไปต่างประเทศ บางทีก็เกือบตกเครื่อง เพราะอัตลักษณ์บางอย่างไปสอดคล้องกับทฤษฎีของเขา จึงเข้าใจและแสดงความเห็นใจต่อพี่น้องในพื้นที่ที่ต้องเจอการตรวจค้น เรียกเก็บดีเอ็นเอ คุกคามเพียงเพราะความแตกต่างทางอัตลักษณ์ ทำอย่างไรให้คนส่วนใหญ่เข้าใจเรื่องแบบนี้ บางทีคนก็พูดว่าเพื่อความปลอดภัย คุณต้องเสียสละ แต่มันมีขอบเขตไหนไหมที่จะทำให้ทุกฝ่ายสบายใจ

สอง ถ้าได้รับข้อความหรือสื่ออะไรที่ชวนถึงความรุนแรง หนึกถึงวันที่พระพุทธเจ้าแสดงโอวาทปาติโมกข์ ถึงหลักการทำงานศาสนา หนึ่ง อย่าว่าร้าย สอง อย่าทำร้าย เพราะการเปลี่ยนแปลงทางสังคมนั้น ถ้าสื่อสารด้วยการว่าร้าย บางเรื่องที่เป็นจริงก็อาจไม่เป็นประโยชน์และนำไปสู่ความขัดแย้งกว่าเดิม ถ้าโต้ตอบด้วยความรุนแรงก็จะเกิดวงจรอุบาทว์ที่ไม่มีที่สิ้นสุด อย่าทำลายสันติและอหิงสาซึ่งเป็นหัวใจของศาสนา ถ้าถูกปั่นว่ามีคนมาทำลายศาสนาพุทธแล้วคุณทำตัวรุนแรง นั่นเท่ากับว่าตัวคุณเป็นคนทำลายศาสนา

บทบาทการเมือง สังคม ปัจเจกต่อสันติภาพใต้ กับวาทกรรม “เชื้อโรค” ที่เป็นปัญหา

ในช่วงเปิดเวทีให้แสดงความเห็นและข้อเสนอแนะ ดอน ปาทาน นักข่าวอาวุโสที่ทำงานเรื่องชายแดนใต้มานาน ปัจจุบันทำงานที่มูลนิธิเอเชียให้ความเห็นว่า ตามหลักการแล้ว องค์กรระหว่างประเทศจะไม่ไปมีส่วนร่วมถ้าไม่ได้รับการเชิญ เคยบอกเจ้าหน้าที่รัฐให้คุยกับอินโดนีเซียหรือฟิลิปปินส์เรื่องตัวอย่างการเปิดพื้นที่ให้ประชาสังคม องค์กรระหว่างประเทศเข้ามาแบบที่อาเจะห์หรือมินดาเนา ในความขัดแย้งจะมีปีกการทหารและการเมือง ถ้ารัฐหรือองค์การระหว่างประเทศไม่รับรอง ขบวนการก็เป็นโจรไป หากมีเจตนาดีแต่ไม่มีเจตจำนงทางการเมือง อยากให้ปีกการเมือง BRN มาอยู่ในยะลาหรือปัตตานี ถ้า BRN โผล่ขึ้นมาว่านี่คือปีกการเมือง รัฐบาลไทย ประชาคมโลกจะทำอย่างไร

ดอนยังกล่าวว่า แม้นิยามคำศัพท์ การใช้คำจะเลื่อนไหลแต่ธรรมชาติของปัญหายังเป็นเรื่องความขัดแย้งในความสัมพันธ์ระหว่างคนชายขอบกับรัฐ จึงต้องขยายแนวทางการเล่าเรื่องหรือ narrative ใหม่ที่บอกว่าใครเป็นใคร ใครเป็นฮีโร่ของใคร ซึ่งการเล่าเรื่องในพื้นที่ก็เป็นการเล่าเรื่องคนละแบบกับสยามเลย อย่างการไปเปลี่ยนอัตลักษณ์หรือไม่มองคุณค่าท้องถิ่นเช่นภาษายาวีเป็นสมบัติของไทย จึงต้องกลับไปดูบริบทการสร้างรัฐในประวัติศาสตร์ อะไรคือความหมายของความเป็นไทย เริ่มจากพื้นฐานตรงนั้นก่อนแล้วค่อยไปดูเรื่องการชวนองค์กรต่างชาติมาร่วมมือ

หนึ่งในผู้ร่วมงานเสวนาที่ทำงานในพื้นที่กล่าวว่า ในพื้นที่มีปัญหาการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เป็นธรรมมากมาย ปัญหาเหล่านี้ไม่ได้รับการแก้ไขและสื่อสารออกมาข้างนอกได้อย่างเต็มที่ เวลา กอ.รมน. ให้ข่าวว่าเคารพสิทธิมนุษยชน แต่เวลาเกิดเหตุการณ์การควบคุมตัวหรือญาติสงสัยว่าผู้เกี่ยวข้องถูกซ้อมทรมาน พวกเขาสามารถทราบข้อมูลได้แค่ไหน ควรมานั่งคิดกันตรงนี้

ภาพจาก Cross Cultural Foundation (CrCF)

กรณ์ มีดี หัวหน้าพรรคแผ่นดินธรรมกล่าวว่า นโยบายต่างๆ ควรมาจากประชาชนในพื้นที่ เพียงแต่รัฐต้องกำหนดบางเรื่อง เช่น ต้องไม่มีกลุ่มใดตั้งกองกำลัง ห้ามแบ่งแยกดินแดน นโยบายอื่นๆ ต้องมาจากคนในสามจังหวัด ไม่ใช่รัฐบาลเข้าไปกำหนด ยิ่งชาวพุทธในพื้นที่ถูกกล่าวหาก็ยิ่งตอบโต้รุนแรง สถานการณ์พุทธศาสนามาจากการกระทำของรัฐเช่นกัน รัฐเคยทำไม่ยุติธรรมกับคนในสามจังหวัด ตอนนี้กำลังสร้างความไม่ยุติธรรมให้ชาวพุทธทั้งประเทศ ตอนนี้ชาวพุทธบางกลุ่มกำลังก่อตั้งกองกำลังชาวพุทธขึ้นมาซึ่งตนไม่เห็นด้วยแต่ว่าห้ามได้ยาก เพราะสถานการณ์ไม่พึงพอใจเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มีการปิดสถานีวิทยุพุทธศาสนา ไล่ทุบวัดป่า ไล่พระธุดงค์ออกจากป่า ไล่จับสึกพระโดยไม่สนใจพระธรรมวินัย เอาเปรียบระหว่างศาสนาในงบประมาณ ให้งบศาสนาหนึ่งค่อนข้างเยอะแล้วตัดงบประมาณพุทธศาสนา อนุมัติสร้างศาสนสถานบางศาสนาอย่างง่ายดาย แต่ไม่อนุมัติให้สร้างวัดโดยง่าย แถมยังไปรื้อทำลายทิ้ง ทำให้คนพุทธไม่พึงพอใจอย่างรุนแรง ยิ่งไปตรวจสอบเงินพระต่างๆ เก็บภาษีพระยิ่งทำให้ไม่พอใจ ทำให้ไปศึกษาโมเดลสามจังหวัดใต้แล้วอาจไปก่อเหตุไม่อันควร

รอมฎอนให้ความเห็นกรณีที่หลายคนในเวทีเปรียบความขัดแย้งปัญหาชายแดนใต้เป็นเชื้อโรค หรืออาการป่วยว่าไม่ชอบการอุปมาเช่นว่า เพราะการมองเช่นนั้นอาจทำให้เข้าใจว่าสังคมไทยคือร่างกาย ต้องทำให้สังคมแข็งแรง มีสถาบันการเมืองที่ดี การมีความสัมพันธ์ต่อกันที่ดีซึ่งก็ถูกแต่ไม่ทั้งหมด นั่นหมายความว่าสังคมไทยคือร่างกายเดียว แต่อีกฝ่ายคิดว่าเราไม่ได้เป็นร่างกายเดียวกันแต่แรก เวลาบอกว่าภูมิคุ้มกันบกพร่อง คำถามคือส่วนไหนที่บกพร่อง สำหรับปาตานีมีสมมติฐานว่าเขามีตัวตนของเขา สิ่งที่เลวร้ายกว่านั้นคือการมองความขัดแย้งเป็นสิ่งไม่พึงประสงค์ ส่วนตัวมองว่าความขัดแย้งเป็นพรจากพระผู้เป็นเจ้าให้เราใช้ความพยายาม ความสามารถทุกอย่างที่มีในสังคมเพื่ออยู่กับมันให้ได้ ถ้ายังจะเปรียบเป็นโรคคือคุณต้องอยู่กับมะเร็งให้ได้ และอยู่ให้รอด ไม่ใช่ไปตัดออก

แนวคิดแบบทหารที่ต้องการกำจัดภัยคุกคาม เมื่อนำมาสู่การปฏิบัติก็จะเหมือนว่าเขาไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าวิธีแก้ปัญหาคือปัญหาในตัวมันเองโดยบริสุทธิ์ใจ ประยุทธ์ไม่รู้ว่าสิ่งที่แกคิดมันเป็นปัญหา นี่คือปัญหาของผู้กำหนดนโยบายของเรา จำเป็นต้องอาศัยพลังสังคมทุกเครือข่ายและองค์กรระหว่างประเทศมาสร้างสมดุลในเรื่องนี้ ทหารต้องอยู่ในร่องในรอยบางอย่าง และทำให้การแก้ปัญหาเป็นของพลเมืองมากกว่านี้ ทำให้ความกล้าหาญในการแก้ปัญหาไปอยู่ที่พลเรือน ไม่ผูกขาดโดยแนวคิดความมั่นคงของทหาร การนำของประยุทธ์ และผู้นำของ BRN ไม่มีความกล้าหาญชนิดนั้นอยู่ เราต้องการความกล้าหาญของพลเรือน ต้องพร้อมที่จะฟังว่าคนอยากเอาเอกราชปาตานีเขาต้องการอะไร คนของ BRN ก็ต้องพร้อมฟังความคับข้องหมองใจของคนพุทธเป็นอย่างไร เอาเขามาเป็นพวก ต้องกล้าให้ผลักคนพุทธจำนวนหนึ่งสนับสนุนการต่อสู้เพื่อเอกราชของปาตานี

เพราะฝ่ายปาตานีไม่ไว้ใจรัฐบาลไทย และอยากได้คนมานั่งตรงกลางเพื่อให้ไม่ถูกรัฐบาลไทยหักหลัง รัฐบาลไทยในสายตาคนมลายูคือศรีธนญชัย เรื่องที่ Pak Fakir เจ้าหน้าที่อาวุโสใน BRN อุปมาในรอยเตอร์และก็เห็นด้วยคือ รัฐบาลไทยเป็นปลาไหล รัฐไทยดำรงอยู่ได้ด้วยการเอาตัวรอดทางการเมืองแบบนี้เสมอในเวทีต่างประเทศและการจัดการปัญหาภายใน นั่นคือจุดแข็ง ด้วยเหตุนี้ฝ่ายขบวนการจึงต้องการให้คนอื่นนั่งอยู่ด้วย เพราะกูไม่ไว้ใจมึง ประวัติศาสตร์ระยะไกลและใกล้มีประวัติการพลิกตลอด

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง อดีตเลขาฯ ศอ.บต. ที่มาร่วมรับฟังเสวนากล่าวว่า คนไม่ค่อยกล้าพูดเรื่องปัญหาชายแดนใต้โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ เมื่อพูดไปแล้วอาจจะถูกมองได้หลายๆ อย่าง เพราะเป็นพื้นที่ๆ มีความขัดแย้งสลับซับซ้อน 15 ปีบนเส้นทางการแก้ไขปัญหา เป็นการเดินแบบทางใครทางมันหรือไม่ เป็นความมั่นคงของไทยนำชีวิตหรือไม่ การแก้ปัญหาชายแดนใต้นั้นพบว่าความคิดของคนแก้ปัญหามีปัญหา พูดถึงการเมืองนำการทหาร พอไปดูจริงๆ แม่ทัพภาค 4 จะนำทุกคน พูดถึงสิทธิมนุษยชน แต่ก็มีวิสามัญฆาตกรรมแล้วไม่มีการพิสูจน์ข้อเท็จจริง ในตอนปี 2555-2556 เหมือนไม่มีทางไป เราแก้ปัญหาภาคใต้ด้วยอาวุธสงคราม รถถัง คน คนไทยต้องได้รับสิทธิเท่าเทียมกันแม้ว่าจะคิดเห็นอย่างไร เรื่องสามจังหวัดฯ เป็นเรื่องใหญ่มาก จะทำอย่างไรให้คนพุทธในปาตานีใช้ชีวิตได้อย่างใน กทม. และคนในประเทศจะให้พี่น้องมุสลิมใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่ได้อย่างไร

การพูดคุยไม่ควรถูกฝ่ายความมั่นคงผูกขาด จะทำอย่างไรให้ 3 จังหวัดชายแดนใต้ไม่ใช่พื้นที่พิเศษ จะบูรณาการกฎอัยการศึก พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร และ พ.ร.บ.การบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นกฎหมายเดียวได้อย่างไร เรามีรัฐซ้อนรัฐที่รัฐบอกว่าขบวนการซ้อนในหมู่บ้าน แต่อีกฝั่งหนึ่งก็บอกว่าเป็นทหารซ้อนราชการ ในการบูรณาการกฎหมายจะทำอย่างไรให้ชาวพุทธ มุสลิมเข้ามาใช้กฎหมายได้ นโยบายที่พลาดที่สุดคือการนำเอาทหารและข้าราชการนอกพื้นที่มาเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ทำให้คนในประเทศเกลียดชังและเจ็บปวดกับ 3 จังหวัดชายแดนใต้ มีคนถามว่าทำไมคนมุสลิมฆ่าลูกฉัน ต้องมีการทบทวนการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ ต้องให้พลเรือนนำทหาร และที่จำเป็นอย่างยิ่ง ต้องใช้ความเป็นธรรมนำการเมือง 3 จังหวัดชายแดนใต้น่าจะเป็นโอกาสและเป็นสิ่งท้าทายที่จะนำโมเดลไปแก้ปัญหาความขัดแย้งในประเทศไทย

หนึ่งในผู้เข้าร่วมเวทีแลกเปลี่ยนได้สะท้อนการทำงานของประชาสังคมในพื้นที่ ที่ผ่านมา การทำงานของประชาสังคมในพื้นที่มีปัญหามากเพราะการบังคับใช้กฎหมายพิเศษในพื้นที่ทำให้เกิดข้อพิพาทและทำให้เกิดแรงต่อต้านจากคนในพื้นที่ เช่น การตรวจค้น ปิดล้อมประชาชน ทำให้คนบริสุทธิ์หรือไม่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ได้รับผลกระทบ บางทีเหตุเกิดขึ้นกับคนๆ เดียว แต่ว่าส่งผลต่อไปถึงลูกและภรรยา

ชนาธิป ตติยการุณวงศ์ นักวิจัยของผสานวัฒนธรรมให้ข้อมูลงานวิจัยเรื่องการเก็บข้อมูลเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิ เก็บดีเอ็นเอ ลงทะเบียนซิมการ์ดผ่านระบบ facial recognition ว่าเป็นความพยายามของหน่วยงานความมั่นคงในการเก็บข้อมูลชีวมาตร ผู้ใช้กฎหมายทั่วโลกใช้วิธีดังกล่าวเพื่อตรวจตราและจับกุมประชากรบางกลุ่ม การคุมประชากรกลุ่มหนึ่งได้โดยเบ็ดเสร็จเป็นแฟนตาซีของเผด็จการ บริบทสามจังหวัดใต้นั้นมักถูกนำไปใช้กับคดีความมั่นคง

ชนาธิปตั้งข้อสังเกตต่อการเก็บข้อมูลสองประการ หนึ่ง สมมติฐานที่บอกว่าข้อมูลชีวมาตรจะบ่งชี้ถึงคนผิดได้แม่นยำร้อยเปอร์เซ็นต์นั้นเป็นมายาคติ มีงานวิชาการจำนวนมากรายงานว่าข้อมูลเหล่านี้นำไปสู่ความผิดพลาดบ่อยมากผู้หญิงและคนผิวสีเข้มมักถูกตรวจจับผิด นอกจากนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการลงทะเบียนซิมการ์ดและเก็บข้อมูลใบหน้าอย่าง กอ.รมน. ก็ไม่เคยบอกเลยว่าจะนำข้อมูลไปทำอะไร ใครเป็นคนเก็บฐานข้อมูล จะเก็บอย่างไร จะทำลายเมื่อข้อมูลไม่มีความจำเป็นหรือไม่ มีแค่ส่ง sms บอกให้ไปลงทะเบียน โฆษก กอ.รมน. บอกเพียงว่าจะเอาไปใช้ในเรื่องความมั่นคง ความไม่โปร่งใสก็เป็นโอกาสให้เจ้าหน้าที่ทุจริต คอรัปชันได้

สอง ถ้ารัฐบาลพูดจริงว่าพยายามสร้างสันติสุข แก้ปัญหาความขัดแย้ง อาจต้องมาทบทวนกันอีกทีว่ามาตรการเหล่านี้ที่นำมาใช้กำราบศัตรู ลดทอนให้ความขัดแย้งทางการเมืองเป็นแค่ปัญหาอาชญากรรมด้วยการติดตามและจับกุมคนโดยไม่พยายามเจรจาหรือพูดคุยถึงความต้องการทางการเมืองของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียนั้นมีประสิทธิภาพจริงหรือไม่

พระมหานภันต์กล่าวว่า หลังเหตุการณ์ 911 ที่มีเครื่องบินชนตึกเวิร์ลเทรดเซ็นเตอร์ในสหรัฐฯ ชาวมุสลิมออกมาสร้างความเข้าใจของสาธารณะต่ออิสลามมากขึ้น มียุทธศาสตร์ชัดเจนว่าไม่เน้นให้เข้ารีต กลยุทธ์ก่อการร้ายใหม่คือการใช้โซเชียลมีเดียสร้างเซลล์ในประเทศต่างๆ ก็มีคนใช้โซเชียลมีเดียมาตอบโต้เรื่องการปลุกปั่นอัตลักษณ์นี้ ทั้งนี้ต้องการการสื่อสารและความอดทนอดกลั้นในการเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหา มีคนรุ่นใหม่ไปเปิดกลุ่มชมรมมุสลิมในมหาลัยเพื่อสร้างความเข้าใจ อยากจะสื่อสารว่าถ้าไทยพุทธไม่ออกมาช่วยกันเราก็อยู่กันไม่ได้ เพราะไม่สร้างเงื่อนไขการไม่ทำให้ปัญหาลุกลาม หรือเงื่อนไขของการแก้ปัญหา อยากเชิญชวนให้ไม่เติมเชื้อไฟลงไปในวิธีพูด วิธีคิด วิธีทำ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net