ฤาจะเป็น 'C' การพิจารณาสถานภาพ กสม.โดยเครือข่ายสถาบันสิทธิฯ ทั่วโลก

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติประเทศไทยตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.บ.ว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน 2542 เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ.2542 มีคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมาแล้ว 3 ชุด

ชุดที่หนึ่ง ประธานคือ อาจาร์ยเสน่ห์ จามริก ดำรงตำแหน่งระหว่างปี พ.ศ.2544 ถึงปี พ.ศ.2552 ชุดที่สองประธานคือ อาจาร์ย อมรา พงศาพิชญ์ ดำรงตำแหน่งระหว่างปี 2552 ถึง ปี พ.ศ.2558 ปัจจุบันเป็นชุดที่สาม ประธานคือ ผู้พิพากษา วัส ติงสมิตร ดำรงตำแหน่งปี 2558 หลังรัฐประหารปี 2557 มีการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และมี พ.ร.ป.ว่าด้วย กสม.ฉบับใหม่ จึงให้มีการการคัดสรร กสม.ชุดใหม่ เป็นชุดที่ 4

บทความนี้เขียนขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ของการพิจารณาสถานภาพคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ประเทศไทย ที่จะได้รับการทบทวนสถานภาพจากอนุคณะกรรมการพิจารณาสถานภาพ ( Sub-Committee on Accreditation :SCA ) ของเครือข่ายสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติทั่วโลก ( The Global Alliance of National Human Rights Institutions : GANHRI ) ที่จะเกิดขึ้น กลางปีหน้า 2563 กสม.ประเทศไทยถูกลดสถานภาพจาก A เป็น B เมื่อเดือนตุลาคม 2557 ด้วยเหตุผล 5 ประการคือ

  1.  ขบวนการคัดสรรและแต่งตั้ง คณะกรรมการไม่มีความโปร่งใส
     
  2. ไม่มีกฎหมายคุ้มครอง คณะกรรมการฯในระหว่างปฏิบัติหน้าที่โดยบริสุทธิ์ใจ เพื่อความเป็นอิสระ มีประสิทธิภาพในการ จะอธิบาย วิจารณ์ ประเด็นต่างๆด้านสิทธิมนุษยชน เพื่อจะได้รับความเชื่อมั่น ไว้วางใจจากสาธารณะ
     
  3. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติไม่นำเสนอประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรงในช่วงเวลาที่เหมาะสม (ความรุนแรงทางการเมือง ระหว่างปี 2553-2555)
     
  4. ไม่มีความเป็นกลางและเป็นอิสระ เจ้าหน้าที่ระดับสูงของ กสม.มีท่าทีชัดแจ้งในการเลือกข้างทางการเมือง ระหว่างปฏิบัติหน้าที่ในช่วงความ ขัดแย้งทางการเมือง
     
  5. ขบวนการทางกฎหมาย คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนไม่ได้ใช้โอกาสทางการเมืองที่มีการยกร่างรัฐธรรมนูญ ผลักดันให้เกิดการปรับ ปรุงข้อบังคับ พ.ร.บ.ว่าด้วย กสม.ให้สอดคล้องกับหลักการปารีส [1]

ทั้งห้าข้อนี้ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ที่ละเมิดหลักการปารีส[2]ที่เป็นหลักสากลของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนห่งชาติ ที่สถาบันสิทธิมนุษยชนทั่วโลกยึดถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด เพื่อความมีประสิทธิภาพ ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในการทำหน้าที่เป็นสถาบันที่ปกป้องและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ของประชาชน

เนื่องจากสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องใหญ่ สำคัญ มีความหลากหลาย มีผลกระทบต่อชีวิต ของผู้คนมากมาย การทำหน้าที่ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จึงจำเป็นต้องทำเป็นองค์คณะ เพื่อให้มีมุมมองที่หลากหลาย รอบด้าน พ.ร.ป.ประกอบรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน มาตรา 8 จึงกำหนดคุณสมบัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติว่าต้องประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญ 5 ด้านคือ

  1. เป็นผู้มีประสบการณ์ในการทำงานสิทธิมนุษยชนอย่างต่อเนื่อง
     
  2. เป็นผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการสอน หรือทำงานวิจัยเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในระดับอุดมศึกษา
     
  3. เป็นผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในเรื่อง กฎหมายสิทธิมนุษยชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ที่จะยังประโยน์ต่อการปฎิบัติหน้าที่ ของคณะกรรมการ
     
  4. เป็นผู้มีความรู้และประสบการณ์ด้านการบริหารงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน
     
  5. เป็นผู้มีความรู้และประสบการณ์ด้านปรัชญา วัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตของคนไทยเป็นที่ประจักษ์ที่จะยังประโยชน์ในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน

การคัดสรรของคณะกรมการสรรหามีความสำคัญมาก หากได้กรรมการสิทธิมนุษยชนที่ไม่มีคุณภาพ ไม่เหมาะสม ก็จะทำให้คุณภาพของ สถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ด้อยลงไป ไม่มีโอกาสทำงานเป็นองค์คณะ ไม่สามารถดูแลสิทธิของประชาชนได้อย่างทั่วถึง ประชาชนจึงถูกละเมิดสิทธิ ได้รับความยากลำบาก ขาดที่พึงพิง เป็นการลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และถือว่าไม่เป็นไปตามหลักการปารีส ดังนั้นการที่อ้างว่ามีภาคประชาสังคมเข้าไปเป็นกรรมการคัดสรรแล้วจะเป็นไปตามหลักการปารีส และจะได้สถานภาพเป็น A แค่นี้ยังไม่พอต้องดูผลการคัดเลือกว่าเป็นอย่างไร จะได้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่มีคุณภาพมีประสิทธิภาพในการทำงานเป็นองค์คณะในการดูแลสิทธิมนุษยชนอย่างทั่วถึง ยึดมั่นในหลักสิทธิมนุษยชนสากลอย่างถูกต้อง ชัดเจนไหม สามารถพัฒนาสิทธิมนุษยชนในประเทศให้เป็นที่ยอมรับของประชาคมโลกได้ไหม คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มีความเข้าใจถึงภาระกิจที่ต้องทำอย่างไร การพิจารณาสถานภาพต้องดูไปถึงการทำงานของคณะกรรมการฯชุดใหม่ แม้สถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศจะยังไม่ดีขึ้นโดยทันที แต่คณะกรรมการพิจารณาสถานภาพ กสม.( SCA ) จะ ติดตามการทำงานของคณะกรรมการฯ ว่าสะท้อนถึงความพยายาม ความตั้งใจที่จะพัฒนาสิทธิมนุษยชนในประเทศให้ได้มาตรฐาน สอดคล้องกับหลักการปารีสหรือไม่ นี่คืองานที่กรรมการฯชุดใหม่ต้องรับภาระ จะพัฒนาสถานภาพ กสม.ประเทศไทยจาก B เป็น A หรือจะรักษาสถานภาพ B ไว้ก่อน หรือจะถูกลดจาก B เป็น C เริ่มที่กรรมการสรรหา และ กสม.ชุดใหม่ที่จะทำหน้าที่ต่อไป

กรรมการสรรหาต้องไม่มีความลำเอียง พิจารณาตามหลักการด้วยความเที่ยงธรรม ไม่ใช้อำนาจเหนือกว่าในการสัมภาษณ์ และ NGOs เป็นตัวเลือกหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ ว่ามีความตั้งใจและมีประสิทธิภาพในการปฏิบัติหน้าที่ และทำงานใกล้ชิดกับประชาชน

กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่ได้รับการคัดเลือกต้องมีความเป็นอิสระ ความเชี่ยวชาญ ความเป็นกลาง เพราะกรรมการฯต้องทำหน้าที่ตรวจสอบข้อร้องเรียนต่างๆ อย่างตรงไปตรงมา บางครั้งนโยบายของรัฐไปละเมิดประชาชน กรรมการสิทธิมนุษยชนต้องกล้าหาญที่จะทำการตรวจสอบรัฐด้วยถ้าจำเป็น หรือตรวจสอบบริษัทข้ามชาติที่เอาเปรียบประชาชน และต้องยืนอยู่บนหลักการสิทธิมนุษยชนอย่างชัดแจ้ง ไม่ลำเอียง

ทั้งหมดนี้คือบทบาทของคณะกรรมการสรรหา และบทบาทของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่จะได้รับการคัดสรรเข้าไปทำหน้าที่ที่ซื่อตรงเพื่อการพัฒนาสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย ของภูมิภาคและสากล ฟื้นฟูสถานภาพคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติประเทศไทย จาก B ให้เป็น A เพื่อพิสูจน์ว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่เคารพและให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชน

เพื่อให้มีความเข้าใจที่ถูกต้องชัดเจนจึงขอ แปลสรุป หลักการปารีสไว้ดังนี้ ผู้ที่สนใจ สามารถหาอ่านฉบับภาษาอังกฤษได้จาก https://www.ohchr.org/EN/ProfessionalInterest/Pages/StatusOfNationalInstitutions.aspx

หลักการปารีส ได้จัดทำขึ้นจากการประชุมนานาชาติว่าด้วย สถาบันสิทธิมนุษยชนเพื่อการสนับสนุนและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 7-9 เดือนตุลาคม 1991 (พ.ศ.2534) รับรองโดยคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน ตามข้อตกลงที่ 1992/54, 1992 และรับรองโดยสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ ข้อตกลงที่ 48/134, 1993

หลักการปารีสคือหลักการเกี่ยวกับสถานภาพของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) อำนาจและความรับผิดชอบ มีดังนี้

  1. ความสามารถในการปกป้องและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน
     
  2. ควรมีอำนาจหน้าที่อย่างกว้างขวาง ตั้งและรับรองโดยรัฐธรรมนูญ หรือสภานิติบัญญัติ
     
  3. สถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ควรทำงานร่วมกับพันธมิตรต่างๆ และมีความรับผิดชอบดังนี้

 ก) ให้ความเห็น คำแนะนำ กับรัฐบาล รัฐสภา หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามที่ร้องขอ หรือ โดยอำนาจหน้าที่ของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่จะให้ ความเห็น ข้อเสนอแนะ จัดทำรายงาน ประเด็นต่างๆเพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ซึ่งเอกสารข้อเสนอแนะ ความเห็น รายงาน นั้นๆ กรรมการสิทธิมนุษยชนสามารถจัดพิมพ์เผยแพร่ ได้ การให้ความเห็น ข้อเสนอแนะ ควรเกี่ยวข้องเรื่องต่างๆ ดังนี้

(1) เกี่ยวกับ กฎหมาย บทบัญญัติเกี่ยวกับการบริหาร ( รวมถึงนโยบาย) องค์กรตุลาการ ด้วยเจตนา และเนื้อหาที่จะปกป้องสิทธิมนุษยชน พิจารณาว่าบทบัญญัติต่างๆเหล่านั้น ไม่ขัดกับหลักการสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน กสม.สามารถให้ความเห็นเกี่ยวกับการรับรองกฎหมายใหม่ หรือเสนอการแก้ไข กฎหมาย การบังคับใช้ และแม้แต่เสนอให้มีการพิจารณาแก้ไขบทบัญญัติทางการบริหารที่อาจขัดกับหลักสิทธิมนุษยชน

(2) เกี่ยวกับสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรง ที่พิจารณาว่าควรจะหยิบยกขึ้นมาเพื่อให้ความเห็น

(3) จัดทำรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนประเทศโดยรวม หรือ โดยเฉพาะเรื่อง

(4) สร้างความตระหนักรู้ให้รัฐบาลรับทราบเกี่ยวกับสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศ และเสนอความเห็น เพื่อยุติการละเมิดนั้นๆ และให้ความเห็นกับรัฐบาลเพื่อให้มีจุดยืนที่เหมาะสมต่อการตอบสนองต่อสถานการณ์ นั้นๆ

ข) สนับสนุนให้แน่ใจว่า กฎหมายในประเทศ ข้อบังคับ การปฏิบัติต่างๆสอดคล้องกับหลักการสิทธิมนุษยชนสากล ตามที่รัฐบาลได้ไปลงนามไว้ และการปฏิบัติเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

ค) สนับสนุนให้รัฐบาลลงนามกติการะหว่างประเทศที่มีอยู่  และให้การปฏิบัติตามกติการที่รับรองไว้เป็นไปตามหลักการ

ง) ให้ความร่วมมือกับรายงานที่รัฐบาลต้องนำเสนอต่อกลไกต่างๆของสหประชาชาติ ต่อคณะกรรมการประจำสนธิสัญญา และต่อกลไกภูมิภาคต่างๆ ติดตามการทำงานตามเงื่อนไขเกี่ยวกับ กติกา สนธิสัญญาต่างๆ ให้ความเห็นเมื่อจำเป็น ด้วยความเป็นกลาง และเป็นอิสระ

จ) ให้ความร่วมมือกับองค์การสหประชาชาติ สถาบันภูมิภาค และสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติประเทศอื่นๆ เพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน

ฉ) ให้ความช่วยเหลือในการจัดทำหลักสูตรการเรียนการสอน สิทธิมนุษยชน การวิจัยสิทธิมนุษยชน และเข้าไปมีส่วนร่วมในการดำเนินการการศึกษาสิทธิมนุษยชนใน โรงเรียน มหาวิทยาลัย และหน่วยงานวิชาชีพต่างๆ

ช) ทำให้สาธารณชนตระหนักรู้เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนและต่อต้านการละเมิดสิทธิมนุษยชนทุกรูปแบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การละเมิดทางเชื้อชาติ โดยการให้ความรู้ ข้อมูลผ่านทางสื่อต่างๆ

องค์ประกอบและหลักประกันความเป็นอิสระและความหลากหลาย

  1. องค์ประกอบของสถาบันสิทธิมนุษยชนไม่ว่าจะโดยการเลือกตั้งหรือโดยวิธีการใดๆ ต้องแน่ใจว่าจะได้กรรมการที่มีความหลากหลาย จากภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการปกป้องและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ซึ่งควรจะมีผู้แทนจาก
  • องค์กรพัฒนาเอกชน ( NGOs) ที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน และต่อต้านการละเมิดทางเชื้อชาติ สหภาพแรงงาน สถาบันวิชาชีพต่างๆ เช่นสมาคมนักกฎหมาย หมอ นักหนังสือพิมพ์ หรือแม้แต่นักวิทยาศ่าสตร์ผู้เชี่ยวชาญทางสังคม
  • มีแนวคิดทางปรัชญา ศาสนา
  • เป็นสากลและมีความเชี่ยวชาญ
  • สมาชิกรัฐสภา ซึ่งควรทำหน้าที่เพียงเป็นที่ปรึกษา เท่านั้น
  • เจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งควรทำหน้าที่เพียงเป็นที่ปรึกษา เท่านั้น
  1. สถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ควรมีกลไกการทำงานภายในองค์กรที่เหมาะสม เพื่อให้สามารถทำงานได้ โดยมีทุนในการดำเนินงานอย่างเพียงพอ มีเจ้าหน้าที่ของตัวเอง เพื่อความเป็นอิสระจากรัฐ และไม่ถูกควบคุมทางการเงินซึ่งอาจมีผลต่อความเป็นอิสระได้
  2. เพื่อให้มีความแน่นอน มั่นคงเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ในการปฏิบัติงาน ของ กสม.แม้จะเป็นการแต่งตั้งก็ให้มี กฎหมายรองรับ มีช่วงเวลาที่แน่นอน อำนาจหน้าที่สามารถแก้ไขทบทวนได้เพื่อให้ แน่ใจว่าคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มีความหลากหลายอย่างแท้จริง

วิธีการดำเนินงาน

กรอบการทำงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติควรจะ

  • อิสระที่จะพิจารณาข้อคำถามต่างๆตามอำนาจหน้าที่ ไม่ว่าคำถามนั้นๆจะถูกเสนอมาจากรัฐบาล หรือ ที่คณะกรรมการหยิบยกขึ้นมาเอง
  • รับฟังความเห็นจากทุกคน และรับข้อมูล เอกสาร ที่จำเป็น เพื่อการประเมินสถานการณ์ตามอำนาจหน้าที่
  • เสนอความคิดเห็นต่อสาธารณะโดยตรงหรือโดยผ่านกลไกสื่อ เฉพาะอย่างยิ่งการต้องเผยแพร่ความคิดเห็น ข้อเสนอแนะต่างๆสู่สาธารณะ  
  • คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ต้องประชุมกันอย่างสม่ำเสมอ และเมื่อมีความจำเป็นเพื่อให้ความเห็นที่เหมาะสมร่วมกัน
  • ตั้งคณะทำงานจากคณะกรรมการกันเองถ้าจำเป็น หรือตั้งคณะทำงานจากหน่วยงานท้องถิ่นหรือภูมิภาคเพื่อช่วยเหลืองาน ของคณะกรรมการตามอำนาจหน้าที่
  • รักษาบทบาทในการปรึกษาหารือกับหน่วยงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานศาล หรืออื่นๆ ที่มีความรับผิดชอบต่อการปกป้องและคุ้มครอง สิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะกับผู้ตรวจการแผ่นดิน องค์กรที่ทำหน้าที่ ไกล่เกลี่ย และสถาบันอื่นๆ
  •   เพื่อขยายการทำงานของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ให้พัฒนาความสัมพันธ์กับ องค์กรภาคประชาสังคมที่อุทิศตนเพื่อการปกป้องและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน การพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจ องค์กรที่ต่อต้านการละเมิดทางเชื้อชาติ ที่ทำงานปกป้องกลุ่มคนชายขอบ โดยเฉพาะ เด็ก แรงงานข้ามชาติ ผู้ลี้ภัย ผู้พิการทางร่างกายและสติปัญญา หรือกับองค์กรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน

สถานภาพของคณะกรรมการฯ ในฐานะเกี่ยวข้องกับศาล

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มีอำนาจที่จะรับเรื่องร้องเรียนเป็นกรณีบุคคลได้ การร้องเรียนสามารถกระทำได้ด้วยตัวเอง ผ่านผู้แทน โดยบุคคลอื่น โดยองค์กรภาคประชาชน สมาคมหรือสหภาพแรงงาน หรือองค์กรอื่นๆ โดยปราศจาก อคติ ตามหลักการอำนาจของคณะกรรมการ ฯ  หน้าที่การทำงานของกรรมการฯที่จะทำให้เกิดความน่าเชื่อถือ ขึ้นอยู่กับหลักการดังนี้

  • แสวงหาความเป็นมิตร แก้ไขปัญหาด้วยการไกล่เกลี่ย ประนีประนอม แม้จะมีข้อกำหนดทางกฎหมาย ด้วยการไม่เปิดเผยข้อมูล 
  • แจ้งให้ผู้ที่ร้องเรียนทราบถึงสิทธิของเขา การเยียวยาที่เป็นได้ และช่วยให้ผู้ร้องเรียนเข้าถึงสิ่งต่างๆเหล่านี้
  • รับข้อร้องเรียนทั้งหมด หรือส่งต่อไปยังหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ตามที่กำหนดไว้ ใน กฎหมาย
  • ให้คำแนะนำที่เหมาะสมแก่เจ้าหน้าที่ โดยเฉพาะกับเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไข การปฏิรูปกฎหมาย ข้อกำหนด บทบัญญัติการบริหาร โดยเฉพาะเมื่อเจ้าหน้าที่มีปัญหากับผู้ร้องเรียนเพื่อยืนยันถึงสิทธิของผู้ร้องเรียน  

อ้างอิง

[1] รายงานติดตามการทำงานและการจัดตั้งสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ประเทศไทย ปี 2558 การถูกลดสถานภาพจาก A เป็น B หน้า 31-32 มูลนิธิศักยภาพชุมชน

[2] หลักการปารีส https://www.ohchr.org/EN/ProfessionalInterest/Pages/StatusOfNationalInstitutions.aspx

ดูหลักการปารีส แปลสรุป แนบท้าย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท