ระหว่างปริศนา-ศรัทธา 'ชัยวัฒน์ สถาอานันท์' กับการเมืองมนุษย์ในศตวรรษที่ 21 (2) จากมุมมิตร

ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ นักรัฐศาสตร์ผู้สนใจด้านสันติวิธีและความไม่รุนแรง ในมุมมองของมิตร อย่าง 'มารค ตามไท-ไชยันต์ รัชชกูล-ปริตตา เฉลิมเผ่า-สมชาย ปรีชาศิลปกุล' ที่มองเขาคือผู้ที่สร้างองค์ความรู้ด้านสันติวิธีและดำเนินชีวิตอย่างสอดคล้องกับสิ่งที่ตนเองเชื่อ และเป็นมิตรที่มีศิลปะในการหัวเราะ

ภาพโดย กิตติยา อรอินทร์

เนื่องในวาระเกษียณของชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ศาสตราจารย์จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์จึงจัดงานเสวนาและเปิดตัวหนังสือ ‘ระหว่างปริศนาและศรัทธา ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ กับการเมืองมนุษย์ในศตวรรษที่ 21’ เมื่อวันที่ 19 สิงหาคมที่ผ่านมา

โดยทางผู้จัดได้เชิญมิตรของชัยวัฒน์ สถาอานันท์ มาร่วมสนทนาถึงงานด้านสันติวิธี ความไม่รุนแรง และศิลปะแห่งความเป็นมิตรของเขา

มารค ตามไท อดีต ผอ.สถาบันศาสนา วัฒนธรรมและสันติภาพ ม.พายัพ

มารค ตามไท อดีตอาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอดีตผู้อำนวยการสถาบันศาสนา วัฒนธรรมและสันติภาพ มหาวิทยาลัยพายัพ เล่าว่า

สำหรับผม มิตรมี 3 ประเภทคือประเภทที่เจอกันทุกวัน ทำงานด้วยกัน มิตรที่ 2 อาจไม่ได้ทำงานที่เดียวกัน แต่มีเรื่องที่สำคัญเหมือนกันจึงไปทำงานนอกสถานที่ร่วมกัน มิตรที่ 3 คือมิตรที่สามารถคุยเรื่องที่ลึกที่สุด สำคัญที่สุดของชีวิต สำหรับผม อาจารย์ชัยวัฒน์เป็นมิตรแบบที่ 2 เพราะทำงานกันมานานในด้านสันติวิธีและแบบที่ 3 ก็เป็น

การทำงานหรือการเข้าไปเกี่ยวกับการไม่ใช่ความรุนแรง มีอย่างน้อย 3 แบบที่ผมเห็น แบบหนึ่งคือศาสนา คือการไม่ใช่ความรุนแรงเป็นสิ่งที่นำชีวิต พยายามดำเนินชีวิตในทางนั้น แต่ไม่สนใจที่จะเปลี่ยนคนอื่น แบบที่ 2 คือยึดงานทางด้านนี้ในลักษณะอยากให้คนอื่นยึดด้วย ถ้าไม่ยึด โกรธ คือไม่ประนีประนอมกับอธรรม ถ้าใครใช้ความรุนแรง เราไม่ประนีประนอม แบบที่ 3 คือเป็นแบบอย่างให้คนพิจารณาถึงแนวทางนี้ในการทำงานของตัวเอง 3 แบบนี้ในงานสันติวิธีไม่ได้แปลว่าคนที่ทำงานนี้ต้องเป็นแบบใดแบบเดียว อาจจะเป็นสองในสามก็ได้ และไม่ได้แปลว่าเป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้นตลอด อย่างของผมเองเริ่มต้นด้วยแบบที่ 1 แต่พอทำงานไปมากขึ้น มันก็เปลี่ยนไป

สำหรับอาจารย์ชัยวัฒน์ ผมคิดว่าเป็นแบบที่ 3 พอเป็นแบบนี้คนจะไม่เข้าใจ เพราะคนไม่ค่อยเข้าใจว่าครูที่ดีเอาศิษย์มาก่อนจุดยืนของตัวเอง การสามารถสื่อสารให้คนที่เราอยากอธิบาย ความสามารถที่เขาจะเข้าใจ สำคัญกว่าจุดยืนของเราเอง จุดยืนเราก็เปลี่ยนได้ ถ้าจะทำให้คนเราเข้าใจได้ดีขึ้น ผมเข้าใจว่านี่คือครูในทุกเรื่อง

ผมทำงานกับอาจารย์ชัยวัฒน์ ผมก็พยายามสังเกตเพราะจะทำให้ผมเข้าใจตัวเองว่าผมมองสันติวิธีอย่างไร ที่ผมเข้าใจงานของอาจารย์ชัยวัฒน์ มันก็คือมาเคียวเวลลีตั้งแต่ต้น คือสอนรัฐ แต่พื้นฐานคือการอยากให้รัฐดีขึ้น ลักษณะงานด้านสันติวิธีของอาจารย์ชัยวัฒน์ก็คืออยากให้รัฐไทยเข้าใจศักยภาพของสันติวิธี ทีนี้คนที่ยึดหลักที่ 2 ก็จะไม่เข้าใจ ไม่ประนีประนอม ไม่ยอมรับจุดยืนนี้ แต่อันนี้ไม่ใช่ปัญหาของอาจารย์ชัยวัฒน์อย่างเดียว เป็นปัญหาของสันติวิธีในโลกปัจจุบัน ทุกส่วนบอกว่าสันติวิธียอมให้อธรรมอยู่ได้ นี่คือปัญหาทั่วโลกของการทำงานด้านนี้ว่าจะวางตำแหน่งอย่างไรให้พอดี เพราะมันยากระหว่างไม่ยอมอธรรมกับการเปลี่ยนให้เป็นธรรม

ทั้งหมดมันพิสูจน์ด้วยความจริงใจว่าอยากให้เกิดความไม่รุนแรงจริงหรือทำไปอย่างนั้น แล้วตรงนี้อธิบายยาก เพราะต้องรู้จักคนถึงจะตอบคำถามนี้ได้ ดูแต่ข้อเขียนตอบไม่ได้ สำหรับผมไม่มีคำถามเกี่ยวกับตัวอาจารย์ชัยวัฒน์ ส่วนคนอื่น ผมคิดว่าเขาไม่รู้จักตัวอาจารย์ ไม่เคยเห็นการต่อสู้ภายในตัวอาจารย์ ซึ่งต้องเห็นจุดนี้ว่ากำลังพยายามเป็นครูที่ดีของรัฐ

มีสิ่งที่น่าสนใจคือมีหลายคนที่โกรธอาจารย์ชัยวัฒน์ว่าทำไมไม่ชนกับอำนาจ ผมคิดว่าสิ่งที่สะท้อนก็คือการปลูกฝังสันติวิธีในสังคมไทยคือการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ เปลี่ยนไม่ได้ด้วยการชน เปลี่ยนไม่ได้ด้วยการถกเถียง เขียนหนังสือเท่าไหร่ก็เปลี่ยนไม่ได้ เปลี่ยนได้วิธีเดียวคือการดำเนินชีวิตตามกระบวนทัศน์ใหม่เป็นตัวอย่างให้คนอื่น ให้สังคม

ไชยันต์ รัชชกูล นักรัฐศาสตร์

ไชยันต์ รัชชกูล คณะรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา เล่าถึงชัยวัฒน์ว่า

มีอยู่ครั้งหนึ่งที่อาจารย์ชัยวัฒน์ไปพูดที่ปัตตานี เป็นการประชุมระดับนานาชาติ คนถามเต็มเลย ผมไม่รู้เลยว่าจะตอบสนองกับคำถามเหล่านี้อย่างไร แต่อาจารย์ชัยวัฒน์สามารถตอบคำถามเหล่านี้ พูดด้วย spiritual component มี compassion ในสิ่งที่พูดและเชื่อ ซึ่งประเด็นนี้จะโยงไปสู่เรื่องสันติวิธีและความรุนแรง

อาจารย์เขียนหนังสือสันติวิธีเล่มหนึ่งแล้วขอให้ผมเขียนคำนำ ทั้งที่รู้ทั้งรู้ว่าผมไม่เห็นด้วยอย่างมากกับความคิดเรื่องสันติวิธีและความไม่รุนแรงของอาจารย์ชัยวัฒน์ ถึงแม้จะไม่เห็นด้วย แต่เราคงต้องมาเถียงกันว่าความรุนแรงคืออะไร สันติวิธีคืออะไร หรือมันตอบโจทย์อะไร แต่ที่ผมประทับใจ ที่ผมบอกว่าเป็นคู่อริผมก็คืออาจารย์ชัยวัฒน์มีความมั่นใจในความเชื่อนี้

แต่ผมไม่มั่นใจในความเชื่อของผม คือผมไม่เชื่อในเรื่องการไม่ใช้ความรุนแรง แต่ผมก็ไม่มั่นใจในความเชื่อนี้ บ่อยครั้งที่เกิดเหตุขัดแย้งจนถึงเสียชีวิต แต่ผมคงเป็นคนแรกๆ ที่จะยอมแพ้ถ้าเมื่อไหร่ที่รู้ว่าเขาจะปราบ จะยิง ก่อนเหตุการณ์ที่ราชประสงค์ ผมเชียร์ไปในทางยอมแพ้ เลิกเถอะ ตอนหลังก็มารู้ว่าส่วนหนึ่งที่ไม่ยอมเลิกเพราะจะเอาความตายของคนมาเป็นข้อต่อรองในทางการเมือง อันนี้รับไม่ได้ ที่ผมชอบอาจารย์ชัยวัฒน์คือแกเชื่อและมั่นใจ ตรงกันข้ามกับผมที่มีความเชื่อแต่ไม่มั่นใจ จึงพูดไม่ได้และไม่กล้าพูด

สิ่งหนึ่งที่ผมอิจฉาอาจารย์ชัยวัฒน์คือการเป็น unify whole คือเป็นเอกภาพเดียวกันกับความคิดทางการเมือง ความคิดทางวิชาการ และ spiritual component ของตัวเอง มันหลอมเป็นหนึ่งเดียวกัน ทำให้เวลาอาจารย์ชัยวัฒน์พูดอะไรแล้วมีพลัง มันไม่หยามหยัน มันไม่มีเสียงของความจงเกลียดจงชัง และถึงแม้เราจะไม่เห็นด้วย แต่ฟังแล้วมันมีส่วนหนึ่งทำให้อิ่มเอิบใจ

ข้อวิจารณ์ที่ผมมีต่ออาจารย์ชัยวัฒน์เรื่องสันติวิธีและความไม่รุนแรง คือมันเป็นคนละระนาบกัน แต่ในการต่อสู้และความขัดแย้งเป็นเรื่องในเชิงรูปธรรม แต่พอพูดในระดับปรัชญาที่ไม่โยงกับเรื่องจริง นี่ก็อาจทำให้เราไม่เข้าใจกัน แต่สิ่งที่อาจารย์ชัยวัฒน์พูดในเชิงปรัชญา ผมว่ามันมีความหมายมาก

ผมลองเสี่ยงที่จะเสนอ คนที่เรียนรัฐศาสตร์คงจะคุ้นกับเวเบอร์ ซึ่งเขาจะแยก 2 อย่างออกจากกัน หนึ่งคือภาระหน้าที่ของเราต่อวิชาการ กับสองคือภาระหน้าที่ของเราต่อการเมืองหรือการเปลี่ยนแปลงสังคม ซึ่งจะเห็นว่ามันตรงข้ามกับมาร์กซ์ที่เห็นว่านักปรัชญาจะคิดอะไรก็ว่ากันไป แต่สิ่งสำคัญคือการเปลี่ยนแปลงโลก

แล้วการที่อาจารย์ชัยวัฒน์พูดเป็น unify whole มีความอย่างไร เวเบอร์ขาดไปองค์ประกอบหนึ่งหรือเปล่า คือ spirituality ในความเห็นผม ซึ่งถ้าจะให้มันสมบูรณ์จริงๆ ซึ่งคิดว่าเป็นโลกทัศน์ของอาจารย์ชัยวัฒน์ก็คือทั้งวิชาการ การเปลี่ยนแปลงสังคม และทาง spiritual มันไปด้วยกัน เป็นดาวเหนือให้เราอยากดำเนินรอยตาม

ปริตตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูล อดีต ผอ.ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรฯ

ปริตตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูล อดีตผู้อำนวยการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เล่าถึงชัยวัฒน์ ว่า

ดิฉันรู้จักกับอาจารย์ชัยวัฒน์มาประมาณ 31 ปี ดิฉันก็สงสัยว่าดิฉันกับอาจารย์ชัยวัฒน์เป็นมิตรกันด้วยเหตุอันใด เพราะจริงๆ เราก็ไม่ค่อยได้เจอกันเท่าไหร่ โครงการเดียวที่ทำด้วยกันคือโครงการทักษะวัฒนธรรม ดิฉันจึงมาใคร่ครวญดูว่าทำไมดิฉันกับอาจารย์ชัยวัฒน์จึงเป็นมิตร และก็ไม่ใช่มิตรธรรมดา เป็นเพื่อนที่พิเศษมาก มันมาจากไหน

คำถามนี้คงตอบได้หลายแบบ ดิฉันก็ได้ไปอ่านหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ Aging Thoughtfully ของมาร์ธา นุสบอร์ม มีบทหนึ่งที่ว่าด้วยมิตรภาพ มาร์ธาก็อ้างถึงงานของนักปรัชญาคนหนึ่งชื่อซิเซโร ซึ่งเขาก็เขียนหนังสือเยอะ บทที่เขาพูดถึงก็พูดถึงมิตรภาพและความชราซึ่งอุทิศให้กับเพื่อนที่รักมากชื่ออาติคัส

มาร์ธาก็สนทนากับซิเซโรว่าด้วยความคิดของซิเซโรที่เกี่ยวกับมิตรภาพว่าอะไรคือรากฐานของมิตรภาพระหว่างคน ประเด็นน่าสนใจคือเวลาที่อ่านงานของซิเซโรที่ค่อนข้างอย่างเป็นนามธรรม เช่น มิตรคือผู้ให้ความหวังซึ่งกันและกัน มีความเข้าใจกันและกัน แบ่งปันทุกข์สุข มีรสนิยมที่ค่อนข้างกลมกลืนไปด้วยกันได้ มีความรักแก่กัน และปฏิบัติต่อกันอย่างมีมโนธรรมสำนึก นุสบอร์มบอกว่าก็ใช้ได้ ฟังดูดี อาจารย์ชัยวัฒน์ก็มีคุณสมบัติเหล่านี้อย่างเต็มเปี่ยม

แต่นุสบอร์มบอกว่ามันยังไม่ถึงใจ ไม่มีสีสัน ไม่มีชีวิตชีวา แล้วชีวิตชีวาอยู่ตรงไหน นุสบอร์มบอกว่ามันไปอยู่ในจดหมายส่วนตัวที่ซิเซโรเขียนถึงแอคติคัสที่ให้ภาพของความเป็นมิตรอีกมุมหนึ่ง เป็นมุมพิเศษ เรื่องแรกเขาบอกว่าคนที่เป็นมิตรกันจะสามารถเย้ยหยันตัวเองและเย้ยหยันเพื่อนได้อย่างเข้าใจกัน

ประการที่ 2 เพื่อนเห็นจุดบอด จุดบกพร่องของตัวเองและของเพื่อน และก็พร้อมที่จะพูด เพื่อนเป็นคนเราสามารถเผยให้เห็นความบกพร่อง ความอ่อนแอ ความกลัว ความเหลวไหล ความโลภ

ประการที่ 3 เป็นประเด็นที่ฉันชอบที่สุดและทำให้นึกถึงอาจารย์ชัยวัฒน์ที่สุด เขาบอกว่ามิตรคือคนที่หัวเราะด้วยกันอย่างมีศิลปะ มาร์ธา นุสบอร์ม ยกขึ้นมาเพื่อจะบอกว่าเพื่อน สิ่งที่สำคัญที่สุดและมีรสชาติที่สุดที่ทำให้ชีวิตมีสีสันที่สุดคือการรู้ใจกัน มีอารมณ์ขันที่จะทำให้เราหัวเราะด้วยกัน เป็นการหัวเราะอย่างมีศิลปะ

ดิฉันก็ใกล้จะ 70 แล้ว โอกาสที่จะหาเพื่อนที่รู้จักกันมา 40 ปีก็ไม่มีแล้ว เพราะฉะนั้นความปรารถนาของดิฉันก็คืออยากจะขอถนอมคนที่รู้ใจ คนที่มีอารมณ์ขันอย่างมีศิลปะสามารถทำให้ดิฉันหัวเราะได้ เย้ยหยันตัวเองได้ ก็ขอให้ถนอมร่างกายให้เราได้แก่ไปด้วย เพื่อจะได้มีเรื่องมาหัวเราะกันอย่างมีศิลปะไปอีกเรื่อยๆ

สมชาย ปรีชาศิลปกุล นิติศาสตร์ มช. 

สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เล่าว่า

ผมเป็นลูกศิษย์แบบห่างๆ ของอาจารย์ชัยวัฒน์ มีความเห็นพ้องบ้าง เห็นต่างบ้างก็เป็นเรื่องปกติ ทีนี้ เราจะมองอาจารย์ชัยวัฒน์อย่างไร ผมอยากจะหยิบยืมสิ่งที่อาจารย์ชัยวัฒน์เคยพูด อาจารย์เคยพูดว่าถ้าเราจะพิจารณานักกฎหมาย เราอาจจะสามารถพิจารณาได้ใน 4 แบบด้วยกัน หนึ่ง-นักกฎหมายในฐานะศาสดา หมายความนักกฎหมายอธิบายเรื่องต่างๆ ในฐานะเป็นตัวกลางระหว่างความจริงกับสังคม ในฐานะศาสดาว่านี่คือสิ่งที่ถูกต้อง สอง-ในฐานะที่เป็นนักปราชญ์ คือเสนอความหมายในนามของตนเอง ซึ่งอาจรวมถึงการชี้ทางสว่างและทางออก สาม-ในฐานะนักเทคนิค ใช้ความรู้ทางกฎหมายเพื่อเป้าหมายเฉพาะอย่าง สี่-เนติบริกรที่ต้องบอกความจริงกับสังคม

ผมคิดว่าสิ่งที่อาจารย์ชัยวัฒน์พูดมี 4 เรื่องใหญ่ๆ คืออาจารย์ชัยวัฒน์ทำหน้าที่ในแบบไหน ในฐานะศาสดา ในฐานะเป็นคนบอกความจริงคือเป็นคนที่ยืนอยู่ระหว่างความจริงกับสังคม และบอกเรื่องต่างๆ ในฐานะผู้รู้ ผู้เข้าใจ หรือว่าอาจารย์วางตนเองในฐานะนักปราชญ์ที่พยายามเสนอเรื่องต่างๆ ผ่านมุมมองของตนเอง หรืออาจารย์เป็นนักเทคนิคสันติวิธีเพื่อเป้าหมายเฉพาะอย่างหรือเปล่า

ผมคิดว่าเวลาที่อาจารย์ชัยวัฒน์คิดถึงนักวิชาการ อาจารย์จำแนกนักวิชาการเป็น 4 อย่าง ถ้ายืมวิธีนี้กลับมามองอาจารย์ชัยวัฒน์จะเป็นยังไงได้บ้าง ซึ่งมันก็มีแบบอื่นได้ แต่ที่เรานั่งฟัง ผมคิดว่าที่สำคัญคือการทำความเข้าใจสถานะงานวิจัยของอาจารย์ชัยวัฒน์ โดยการศึกษาแค่เพียงงานเขียนย่อมมีข้อจำกัดแน่ๆ งานเขียนบอกอะไรได้ไม่ทั้งหมด ผมคิดว่าหลายอย่างที่เป็นข้อสรุปมาอ่านไม่เห็น แต่ถ้าเราได้ฟังหรือเข้าไปเกี่ยวข้องเราอาจจะเห็นอะไรเพิ่มมากขึ้น

ผมยกตัวอย่างเช่นท่าทีในการเผชิญหน้ากับคำถาม เช่นถ้าอาจารย์ชัยวัฒน์ไปพูดเรื่องสันติวิธี แล้วมีคนถามอาจารย์ว่าถ้าอาจารย์ไปพูดที่โคลิเซียมที่มีแกลดิเอเตอร์ เอาทาสมาฆ่ากัน อาจารย์จะพูดว่ายังไง ผมก็จะคิดว่าถามคำถามอะไรโง่ แต่อาจารย์ชัยวัฒน์จะมีวิธีการมองคำถามแบบหนึ่ง ซึ่งถ้าเราอยู่ในวง เราจะเห็นกลิ่นอายแบบนี้ อย่างตอนรัฐประหารปี 49 แล้วอาจารย์ชัยวัฒน์ก็พูดว่าเราต้องทำความเข้าใจกับรัฐประหารปี 49 พูดจบ มีคนลุกขึ้น คนที่เป็นลูกศิษย์โกรธกันหมด แต่สิ่งที่อาจารย์ชัยวัฒน์ตอบโต้ก็เหมือนที่อาจารย์เกษียรสรุปไว้คือทุกคนมีความสามารถที่จะเป็นคนดี ที่เขาทำแบบนั้นเพราะไม่รู้ นี่เป็นปัญหาญาณวิทยา เราควรต้องทำให้เขารู้ มันทำให้เราเข้าใจได้ว่าเวลาที่อาจารย์ชัยวัฒน์พูดถึงสันติวิธีหรือการไม่ใช่ความรุนแรง มันมีพลังขึ้นมาได้อย่างไร ผมคิดว่าตรงนี้สำคัญ

การศึกษาแต่งานเขียนของอาจารย์ชัยวัฒน์ ผมจึงคิดว่ามันมีข้อจำกัดในการบอกอะไรบางอย่าง ซึ่งผมคิดว่าหลายคนคงจะมีเหมือนกัน เวลาที่อาจารย์ชัยวัฒน์เผชิญหน้ากับเรื่องต่างๆ เราก็คิดว่าเป็นความใจเย็น แต่ตอนหลังๆ ผมคิดว่าไม่ใช่เรื่องใจเย็น มันเป็นเรื่องของวิธีที่บุคคลคนหนึ่งอธิบายคำถามนั้นๆ อย่างไร

เวลาอาจารย์ชัยวัฒน์เข้ามามีบทสนทนากับประเด็นปัญหาต่างๆ บทสนทนาของอาจารย์ชัยวัฒน์มันเชปคำถาม เปลี่ยนแง่มุมคำถามไปจากเดิมได้หรือไม่ ในแง่ของความปรารถนา ผมคิดว่าอาจารย์ชัยวัฒนคงอยากเห็นผู้คนอยู่ร่วมกันอย่างมีความขัดแย้ง แต่ไม่ใช่ความรุนแรง ซึ่งหลายเรื่องก็เปลี่ยนได้ หลายเรื่องก็เปลี่ยนไม่ได้ เป็นเรื่องปกติ เพราะเราไม่พึงคาดหวังว่าบุคคลใดบุคคลหนึ่งจะสามารถเปลี่ยนคำถามสาธารณะได้ทั้งหมด แต่ผมคิดว่านี่เป็นบทบาทสำคัญที่อาจารย์ชัยวัฒน์ชวนดึงจากที่เคยเถียงกันแบบหนึ่ง เปลี่ยนแง่มุมคำถามไปอีกแบบหนึ่ง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท