Skip to main content
sharethis

เปิดคำร้องขอฝากขังสองผู้ต้องสงสัยวางระเบิดหน้าป้าย สตช. ที่ตอนนี้ฝากขังที่เรือนจำชั่วคราวทุ่งสองห้อง ดูพฤติการณ์ก่อเหตุ-จับกุม ผอ.ผสานวัฒนธรรมตั้งข้อสังเกต จับวันที่ 1 ส.ค. แต่ใช้หมายจับของวันที่ 8 ส.ค. กระบวนการดำเนินคดีซับซ้อนเพราะใช้กฎหมายปกติและกฎหมายพิเศษในชายแดนใต้ หวั่นจะไม่เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมแบบตรงไปตรงมา

ที่มาภาพ Banrasdr Photo 

22 ส.ค.2562 ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยคำร้องขอฝากขังจากศาลอาญา รัชดา ลงวันที่ 15 ส.ค. 2562 สืบเนื่องจากเหตุการจับกุมตัวและฝากขัง ลูไอ แซแง อายุ 22 ปี และวิลดัน มาหะ อายุ 29 ปี สองผู้ต้องหาชาวจังหวัดนราธิวาส ผู้ต้องสงสัยว่าเป็นผู้ก่อเหตุระเบิดในกรุงเทพฯ ในวันที่ 1 ส.ค. ที่ผ่านมา

5 องค์กรนักกฎหมายสิทธิฯตั้ง 3 ข้อสังเกตทาง กม.ปมจับกุมควบคุม 2 ผู้ต้องสงสัยลอบวางระเบิด กทม.

ในคำร้องดังกล่าวมีใจความว่า เมื่อ 1 ส.ค. 2562 เวลา 15.40 น. พ.ต.อ.ดิเรก โฉมยงค์ ผกก.สส.ภ.นราธิวาส กับเจ้าหน้าที่พนักงานงานตำรวจ กองกำกับการสืบสวน ภูธรจังหวัดนราธิวาส ภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. ร่วมกันจับกุมผู้ต้องหาที่ 1 (ลูไอ) และผู้ต้องหาที่ 2 (วิลดัน) ตามหมายจับศาลอาญากรุงเทพใต้ที่ จ.462/2562 และ จ.463/2562 ลงวันที่ 8 ส.ค. 2562

ในส่วนพฤติการณ์นั้น ในคำร้องระบุว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุ ผู้กล่าวหาซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจเวรรักษาการณ์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้รับแจ้งจากแม่ค้าขายของว่าพบเห็นผู้ต้องหาที่ 1 ทำการวางวัตถุต้องสงสัยไว้ในพุ่มไม้ จึงแจ้งเจ้าหน้าที่ชุดเก็บกู้วัตถุระเบิดมาตรวจสอบและเก็บกู้

ต่อมาเจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวนได้ดำเนินการสืบสวน เก็บรวบรวมพยานหลักฐาน พบว่าผู้ต้องหาที่ 1 และ 2 เดินตามคู่กันมาบนทางเท้าด้านหน้าป้าย สตช. ผู้ต้องหาที่ 1 นำวัตถุจากกระเป๋าไปซ่อนในพุ่มไม้บริเวณที่เกิดเหตุ จากนั้นเดินหลับเข้าสถานี BTS ที่สยามสแควร์ ไปพบผู้ต้องหาที่ 2 แล้วไปเปลี่ยนเครื่องแต่งกายที่ห้างสยามพารากอน จากนั้นเดินทางไปยังสถานีขนส่งหมอชิต ซื้อตั๋วโดยสารเดินทางไป อ.หาดใหญ่ ตำรวจประสานเจ้าหน้าที่ในท้องที่สกัดจับขณะรถเดินทางผ่าน จ.ชุมพร และได้เชิญตัวมาซักถามปากคำ และตรวจยึดทรัพย์สินเป็นเสื้อผ้า รองเท้า กระเป๋า บัตรประจำตัวประชาชนของผู้ต้องหาทั้งสอง ต่อมาผู้ต้องหาทั้งสองถูกควบคุมตัวในฐานะผู้ต้องสงสัย ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ที่ศูนย์พิทักษ์สันติ อ.เมือง จ.ยะลา ตามหมายจับศาล จ.นราธิวาส ที่ ฉฉ 54/2562 ลงวันที่ 2 ส.ค. 2562

ต่อมาพนักงานสอบสวนได้รับผลการตรวจ พบว่าวัตถุต้องสงสัยเป็นสารเคมีชนิด Pentaerythritol Tetranitrate (PETN) ซึ่งสามารถใช้เป็นวัตถุระเบิดได้และมีความรุนแรงถึงชีวิต เป็นวัตถุระเบิดตามพระราชบัญญัติควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ. 2530 และผู้เชี่ยวชาญศาลยุติธรรมในทางการตรวจเก็บกู้พิศูน์วัตถุระเบิด ลงความเห็นว่าวัตถุต้องสงสัยเป็นระเบิดแสวงเครื่องตั้งเวลาด้วย IC Timer ช่วงเวลาที่ถูกตั้งระเบิดไว้เป็นช่วงเวลาที่มีประชาชนพลุกพล่าน และจุดที่วางระเบิดอยู่ติดกับทางเดินเท้า แสดงให้เห็นว่าคนร้ายมุ่งหมายเอาชีวิตประชาชน

พนักงานสอบสวนได้รวบรวมพยานหลักฐานขออำนาจศาลอาญากรุงเทพใต้ ออกหมายจับผู้ต้องหาที่ 1 และ 2 ซึ่งศาลได้อนุญาตออกหมายจับผู้ต้องหาที่ 1 ตามหมายจับที่ 462/2562 และผู้ต้องหาที่ 2 ตามหมายจับที่ 463/2562 ลงวันที่ 8 ส.ค. 2562 เหมือนกัน

ต่อมาในวันที่ 13 ส.ค. พนักงานสอบสวนคดีความมั่นคง ตำรวจภูธร จ.นราธิวาสได้มีคำร้องขอปล่อยตัวลูไอและวิลดัน ในฐานะผู้ต้องสงสัยทั้งสอง คดีหมายเลข 53-54/2562 ซึ่งศาลได้อนุญาต ต่อมาทั้งสองถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจทำการจับกุมตามหมายศาลอาญากรุงเทพใต้ หมายจับที่ 462-463/2562 นำส่งสถานีตำรวจนครบาลปทุมวันเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย

ล่าสุดเมื่อ 20 ส.ค. 2562 พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ  รองโษฆก ตร. กล่าวว่า ศาลอาญาได้อนุมัติหมายจับผู้ต้องหาเพิ่มอีก 3 คนในข้อหา อั้งยี่, ร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์, กระทำให้เกิดระเบิดจนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่นหรือพรัพย์ของผู้อื่น, ทำ ใช้ มีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุระเบิดที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้ พกพาอาวุธ(ระเบิด)ไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุอันควร และทำให้เสียทรัพย์ ซึ่งเป็นความผิดที่มีอายุความ 20 ปี และมีอัตราโทษสูง

ศาลอาญาได้อนุมัติหมายจับผู้ต้องหาแล้วทั้งหมด 9 คน ได้แก่ ลูไอ แซแงและวิลดัน มาหะ ที่ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 2 ส.ค.และวันที่ 14 ส.ค.ที่ผ่านมาศาลได้อนุมัติหมายจับจำนวน 4 คน และวันที่ 20 ส.ค. ได้อนุมัติหมายจับเพิ่มอีก 3 คน (ที่มา:ไทยพีบีเอส)

สิทธิพงษ์ จันทรวิโรจน์ ประธานมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม องค์กรที่รับผิดชอบเป็นทนายความให้ผู้ต้องสงสัยกรณีนี้ ให้ข้อมูลว่าขณะนี้ยังไม่ได้เจอลูกความ แต่มีคนประสานงานทางใต้ที่ประสานอยู่กับญาติ ภายในสัปดาห์นี้จะเข้าไปพบผู้ต้องสงสัยที่ทุ่งสองห้อง ปัจจุบัน ในหมายจับมีชื่อทั้งหมด 14 คน ถูกคุมขังไว้ที่กรุงเทพฯ 2 คน ถูกจับกุมที่โก-ลก อีก 2 คน อีก 9 คนยังหาตัวไม่พบ จึงต้องดูว่าจะมีการจับ การฟ้องอีกกี่คน จะฟ้องรวมเป็นคดีเดียวกันหรือแยกฟ้อง จากนั้นจะจัดหาทนายความตามจำนวนผู้ถูกฟ้อง ส่วนใหญ่ก็จะเป็นทนาย 1 คนต่อจำเลย 1 คน

กรณีวัตถุต้องสงสัยนั้น เมื่อ 1 ส.ค. 2562 กรุงเทพธุรกิจรายงานว่า วัตถุต้องสงสัยที่หน้า สตช. เป็นกระป๋องมันฝรั่งลักษณะทรงกลมแบบยาว ภายในบรรจุ ตลับลูกปืน วงจร แต่ไม่มีดินปืน เชื้อที่ทำให้เกิดการจุดระเบิดได้

นักสิทธิฯ ห่วงใช้ กม.พิเศษผสมปนเป ญาติขอให้เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม

พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการ (ผอ.) มูลนิธิผสานวัฒนธรรม องค์กรที่รับการร้องขอจากญาติให้ทำหน้าที่คุ้มครองสิทธิผู้ต้องหาทั้งสองในขั้นต้น   ตั้งข้อสังเกตว่าในเอกสารบันทึกการจับกุมในวันที่ 1 ส.ค. ใช้หมายจับของวันที่ 8 ส.ค. ซึ่งไม่แน่ใจว่าเป็นเรื่องของการพิมพ์ผิดหรือไม่  แต่ว่ากระบวนการติดตามจับกุมและสอบสวนผู้ต้องหาสองรายนี้มีข้อห่วงกังวลคือมีการใช้ทั้งกฎหมายพิเศษในพื้นที่ภาคใต้และกฎหมายปกติทำให้มีคำถามเรื่องสิทธิในกระบวนการยุติธรรมของพวกเขา และพวกเขาไม่สามารถเข้าถึงญาติและทนายความได้ในระยะ 4 วันแรก  เนื่องจากลูไอและวิลดันถูกจับกุมที่ จ.ชุมพรในวันที่ 1 ส.ค. ต่อเนื่องมาจนถึงวันที่ 2 ส.ค.  (เป็นการจับกุมตามกฎหมายอาญาแต่ก็ไม่ได้สิทธิพบทนายความ พบญาติ ตามกฎหมายอาญา)  และมีการขอหมายจับตามอำนาจ พรก.ฉุกเฉิน จากศาล จ.นราธิวาสในวันที่ 2 ส.ค. เพื่อทำการควบคุมตัวที่สถานที่ควบคุมตัวของตำรวจที่ จ.ยะลา (ได้พบญาติเป็นครั้งแรกวันที่ 4 -5 ส.ค. 2562 กฎหมายนี้ไม่ให้สิทธิพบทนายความต้องขออนุญาตแม่ทัพภาค 4)  จากนั้นจึงปล่อยตัวตามคำสั่งศาลนราธิวาสในวันที่ 13 ส.ค. แล้วก็จับใหม่ทันทีด้วยหมายจับของศาลอาญากรุงเทพใต้ ลงวันที่ 8 ส.ค. 2562

พรเพ็ญกังวลว่าผู้ต้องสงสัยจะไม่ได้รับสิทธิในกระบวนการยุติธรรมที่ตรงไปตรงมา เพราะมีการนำกฎหมายในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ที่เกี่ยวกับคดีความมั่นคง มาใช้งานปนเปในพื้นที่อื่นอย่างในกรุงเทพฯ และ จ.ชุมพร และการที่ผู้ต้องสงสัยที่ไม่ได้รับการเข้าถึงทนายความหรือญาติเป็นเวลาหลายวันในช่วงแรก ย่อมตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะถูกละเมิดสิทธิในกระบวนการยุติธรรม และเสี่ยงดำเนินคดีไม่ถูกต้องชอบธรรม ขัดหลักสิทธิมนุษยชนและการเข้าถึงศาลเป็นโอกาสแรก (ภายใน 48 ชั่วโมง) และการเข้าถึงญาติและทนายความ อาจทำให้กระบวนการยุติธรรมไม่เป็นธรรม

ทั้งนี้ ลูไอและวิลดันถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษทุ่งสองห้องที่ตั้งอยู่ในค่ายทหารที่กองพันทหารราบ มณฑลทหารบกที่ 11ในกรุงเทพตั้งแต่วันที่ 15 ส.ค.  ทั้งสองคนแจ้งว่าได้บอกกับศาลว่าอยากไปที่เรือนจำพลเรือนไม่อยากไปค่ายทหาร แต่ก็ไม่ได้รับอนุญาต   โดยจะครบกำหนดการฝากขังตามกฎหมายอาญา 12 วันแรก ในวันที่ 26 ส.ค. ที่จะถึงนี้ โดยจะต้องมีการไปขออำนาจฝากขังต่ออีก12 วันเป็นฝากที่สอง ทั้งหมดสามารถขอได้รวม 7 ฝากรวม 84 วัน เพื่อทำการสอบสวนเสร็จก็จะสั่งฟ้อง

ผู้สื่อข่าวสอบถามไปยังญาติของลูไอ (ไม่ประสงค์ออกนาม) ระบุว่าได้เข้าเยี่ยมลูไอมาแล้วในช่วงสัปดาห์นี้ และสภาพความเป็นอยู่ยังเป็นปกติ ในส่วนน้าสาวที่มีข่าวว่าถูกเรียกไปซักถามข้อมูลนั้นก็เป็นการไปสอบถามเรื่องรายละเอียดของลูไอ ตอนนี้ก็กลับมาใช้ชีวิตปกติ ทั้งนี้ ถ้าเกิดว่ามีอะไรก็ให้เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมตามปกติ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net