Skip to main content
sharethis

ปชช.ผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการถนนไทย-เขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย เข้าพบ สพพ. กังวลโครงการจะเริ่มอีกครั้งแต่ปชช.ในพื้นที่ยังไม่ได้รับข้อมูลที่ชัดเจน หวั่นสร้างปัญหาซ้ำรอยเดิม

22 ส.ค.2562 รายงานข่าวแจ้งว่า วันนี้ (22 ส.ค.62) เมื่อเวลา 10.00 น. กลุ่มประชาชนและภาคประชาสังคมจากเมืองทวาย ประเทศเมียนมา เข้าพบเพื่อแสดงความกังวลและยื่นข้อเสนอแนะต่อ พ.อ.ดร.ศรัณยู วิริยเวชกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (สพพ.) กรณีการดำเนินโครงการถนนเชื่อมต่อสองช่องทางระยะทาง 138 กิโลเมตร จากด่านชายแดนบ้านพุน้ำร้อน จ.กาญจนบุรี ถึงโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษและท่าเรือน้ำลึกทวาย ประเทศเมียนมา หลังจาก สพพ. จ้างที่ปรึกษาเพื่อสำรวจและจัดทำรายละเอียดของโครงการถนนโรดลิงค์ไทย-ทวาย ที่กำหนดจะแล้วเสร็จตามสัญญาในเดือนกันยายน 2562 แต่ผ่านมา 7 เดือน ประชาชนในพื้นที่ยังไม่ได้รับข้อมูลอย่างชัดเจนและทั่วถึง

 

พ.อ.ดร.ศรัณยู วิริยเวชกุล รอง ผอ.สพพ.

ธีระชัย ศาลเจริญกิจถาวร นักวิจัยจากกลุ่มเสรีภาพแม่น้ำโขงกล่าวว่า มีการประชุมปรึกษาหรือสาธารณะไปแล้ว เมื่อวันที่ 17 พ.ค.ที่ผ่านมา ที่ห้องประชุมโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายที่นาบูเล ในเขตเศรษฐกิจพิเศษริมทะเล ซึ่งห่างไกลจากประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากถนนมาก อีกทั้งมีการแจ้งกระชั้นชิดทำให้ประชาชนในพื้นที่จากที่ได้ผลกระทบจากถนนไม่มีโอกาสเข้าร่วมการประชุมในครั้งนั้น

“หมู่บ้านกะเลจี เป็นส่วนหนึ่งของโครงการถนนและ SEZ (เขตเศรษฐกิจพิเศษ)เมื่อคุณพูดถึงการเสียสละต่อการพัฒนา พวกเราเป็นหนึ่งในคนที่ต้องเสียสละ เราอยู่ที่หมู่บ้านนี้มานาน มีที่ดิน น้ำ และถนนจะผ่านหมู่บ้านของเราที่อยู่มานานหลายปี หวังว่าการประชุมครั้งนี้ จะได้คุยกันว่า จะทำอย่างไรจะไม่มีการแย่งยึดที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติของเราไปจากการพัฒนาในครั้งนี้ ที่มานี้เพื่ออยากจะเสนอแนะว่า ถ้าชนพื้นเมืองได้รับการปรึกษาหารือที่ลงลึกมากกว่านี้ ความกังวลของชาวบ้านก็จะลดน้อยลงมากไปกว่านี้ และมีคำถามว่า ใครรับผิดชอบต่อข้อกังวลของชาวบ้านในครั้งนี้ เราต้องการกระบวนการปรึกษาหารือที่มีความละเอียด และสุดท้าย เราเสียสละแต่ต้องมั่นใจเราต้องอยู่ในกระบวนการการพัฒนานั้นด้วย” อู เย อ่อง ประชาชนชาวกะเลจี กล่าว

อู เย อ่อง ประชาชนชาวกะเลจี

อู เย อ่อง ยังกล่าวต่อว่า ไม่มีคนของบริษัทที่ปรึกษามาหาพวกตน ไม่มีใครมาสอบถามหรือมาบอกอะไรเลย โครงการตัดถนนหยุดไปหลายปี ประชาชนในพื้นที่ก็คิดว่าคงไม่มีใครกลับมาทำแล้ว จนตอนนี้ได้ทราบว่ามีคนเข้ามาสำรวจ ซึ่งพวกตนทราบกันเองจากการบอกเล่าของคนในเมืองทวาย ดังนั้นสิ่งที่พวกตนเรียกร้องคืออยากให้นำข้อมูลมาให้ประชาชนในพื้นที่ว่าจะเข้ามาทำอะไร อย่างไร เกินผลกระทบขึ้นตรงไหนและใครจะได้รับผลกระทบบ้าง พวกเราจะได้ตัดสินใจถูกว่าจะทำอย่างไรต่อไป

พะตีซอว์โค ประชาชนในเขตพื้นที่กาโมต่วย

พะตีซอว์โค ประชาชนในเขตพื้นที่กาโมต่วย ในพื้นที่ดูแลของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง หรือ KNU แสดงความเป็นห่วงต่อกระบวนการสันติภาพ ที่อาจเกิดปัญหาขึ้นได้ หากไม่มีการตกลงที่ชัดเจนในเรื่องรายละเอียดของโครงการถนนระหว่างรัฐบาลเมียนมา และสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง

ด้าน พ.อ.ดร.ศรัณยู รองผอ.สพพ.ให้ข้อมูลว่า สพพ.มีหน้าที่ในการให้เงินกู้และสนับสนุนด้านการออกแบบโครงการ แต่ในส่วนของการจ่ายค่าชดเชยนั้น ต้องเสนอรัฐบาลพม่าเป็นคนพิจารณาจ่ายค่าชดเชย ผู้ให้ทุนไม่สามารถทำได้ สิ่งที่เราทำได้ดีที่สุดคือ เราสามารถเสนอต่อรัฐบาลพม่าได้ว่า ควรมีการจ่ายค่าชดเชยที่เป็นธรรมตามกฎหมาย เราทำได้แค่การเสนอความคิดเห็นเท่านั้น

“เรื่องผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เราได้มีการพูดคุยกับ WWF พยายามออกแบบหลายๆทางเกี่ยวกับการหลีกเลี่ยงปัญหาสิ่งแวดล้อม ได้ทำงานร่วมกับรัฐบาลพม่า และรัฐบาล KNU เพื่อแก้ไขปัญหา แต่เรายังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้” รองผอ.สพพ. กล่าว

อย่างไรก็ตาม รายงานข่าวยังระบุด้วยว่า ประชาชนในพื้นที่เน้นย้ำและเรียกร้องให้ สพพ. ให้ความสำคัญกับการพูดคุยกับประชาชนในพื้นที่ ให้ข้อมูลที่โปร่งใสและทั่วถึงแก่ชุมชนที่จะได้รับผลกระทบ ซึ่ง รองผอ.สพพ. ยอมรับว่าเป็นการยากที่จะหาสถานที่ที่เหมาะสม

“เราไม่รู้ว่าจะใช้ที่ไหน ที่จะให้ทุกคนเข้าใจและรู้ว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ และนี่เป็นโครงการแรกของ สพพ. ที่ทำในพม่า เราไม่สามารถที่จะเข้าถึงทุกหมู่บ้าน ทุกครัวเรือนได้  แต่มีข้อมูลที่สามารถได้รับผ่านจากผู้นำหมู่บ้านที่เขามาร่วมประชุม หลังจากประชุมแล้ว บริษัทที่ปรึกษาก็ได้มีการทำเฟสบุ๊คและเว็บไซด์ เพื่อรับข้อคิดเห็นต่าง ๆ และมีเบอร์โทรศัพท์ที่จะสามารถมีความเห็นได้” รองผอ.สพพ. กล่าว

หลังจากการแลกเปลี่ยนกัน ตัวแทนประชาชนในพื้นที่ยื่นจดหมายร้องเรียน และข้อเสนอต่อ สพพ.ในการดำเนินโครงการ โดยมีข้อเสนอแนะ 7 ข้อ ได้แก่

1. ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการก่อสร้างถนนที่ผ่านมา ที่ยังไม่ได้รับการจัดการแก้ไข ต้องได้รับการแก้ไข

2. ต้องพัฒนาแผนจัดการ (รวมถึงระบุระยะเวลาและงบประมาณ) และดำเนินงานเพื่อฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (โดยเฉพาะทรัพยากรน้ำ) ซึ่งได้รับความเสียหายจากโครงการนี้

3. ต้องจ่ายค่าชดเชยให้กับชุมชนท้องถิ่น โดยร่วมมือกับประชาชนในพื้นที่ผู้ได้รับผลกระทบในการคำนวณค่าชดเชยอย่างเป็นธรรม ทั้งการสูญเสียที่ดิน ต้นไม้/ไม้ผล และทรัพย์สินอื่น ๆ บนผืนดิน ต้องนำมาคำนวณชดเชยร่วมด้วยเนื่องจากส่งผลกระทบต่อการเสียโอกาสและรายได้ 

4. ควรมีการทำการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม การประเมินผลกระทบที่ครอบคลุมทั้งโครงการ (Side-wide EIA) และการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ และต้องเป็นไปตามข้อกำหนดของกฎหมายพม่า ชุมชนผู้ได้รับผลกระทบขอเรียกร้องให้ผู้ดำเนินโครงการจัดทำกลไกต่าง ๆ ที่เหมาะสมเพื่อการติดตามตรวจสอบผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมด้วย

5. รัฐบาลและบริษัทผู้ดำเนินงานในโครงการนี้ควรเคารพหลักการความยินยอมที่ต้องบอกแจ้งล่วงหน้าและเป็นอิสระในการตัดสินใจ (Free, Prior and Informed Consent -FPIC) ซึ่งเป็นสิทธิของชนพื้นเมือง หมายความว่าต้องมีการจัดการแก้ปัญหาตามข้อกังวลของประชาชนในพื้นที่ และการดำเนินงานต้องได้รับความร่วมมือและการมีส่วนร่วมจากคนในพื้นที่ตามข้อกำหนดของพวกเขา นอกจากนั้น ต้องให้ความใส่ใจเป็นพิเศษต่อประเพณีและวัฒนธรรมของคนในพื้นที่ และความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติกับวิถีชีวิตของพวกเขา ต้องมีกลไกที่จัดทำร่วมกับคนในพื้นที่เพื่อจัดการผลกระทบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจากโครงการนี้ 

6. ผู้ดำเนินงานโครงการและรัฐบาลควรคำนึงถึงสถานการณ์ความขัดแย้งในพื้นที่ และมีการเตรียมพร้อมล่วงหน้า โดยต้องเคารพข้อตกลงทวิภาคีที่มีการลงนามในปี 2555 และข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศที่ลงนามในปี 2558 ระหว่างรัฐบาลเมียนมากับสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU)  

7. เพื่อรับมือกับประเด็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างถนนและโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ควรมีการตั้งคณะกรรมการที่ดำเนินงานอย่างโปร่งใส ร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากหลายภาคส่วน รวมถึงชุมชนที่ได้รับผลกระทบ และคณะกรรมการนี้ต้องมีอำนาจในการตัดสินใจ 

“ชาวบ้านทั้ง 8 หมู่บ้านที่เดินทางมาในวันนี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของเป็นชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจริงๆ จากการดำเนินการตัดถนนเมื่อปี 2553 มีสวนหมากถูกไถ ลำธารถูกถนนตัดผ่าน และดินจากการทำถนนลงไปทับถมหนองน้ำ ระบบนิเวศถูกตัดขาด รวมๆ คือสูญเสียที่ทำกิน สูญเสียแหล่งอาหารตามธรรมชาติ  งานวิจัยล่าสุด เรื่อง ต้นทุนแอบแฝงจากผลกระทบโครงการและกลไกการแก้ปัญหาของชุมชนผู้ได้รับผลกระทบ ทำให้ค้นพบว่าเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา ชาวบ้านมีรายได้ลด แต่รายจ่ายเพิ่มมากขึ้น ซึ่งสิ่งนี้ไม่เคยถูกรวมเป็นต้นทุน ในการคำนวณค่าชดเชย” นักวิจัยจากกลุ่มเสรีภาพแม่น้ำโขง ให้ข้อมูลจากงานวิจัยเพิ่มเติม

รายงานข่าวระบุด้วยว่า 23 ส.ค.นี้ ประชาชนกลุ่มนี้จะเข้าพบคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน เพื่อปรึกษาหารือ และหาทางออกร่วมกัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net