นิธิ เอียวศรีวงศ์ : ไกลกะลา

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ผมไม่แน่ใจว่า แปลคำ boundary ในชื่อ Life Beyond Boundary ว่ากะลาจะดีหรือไม่ แม้ว่าอาจารย์เบน แอนเดอร์สัน ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ จะพูดถึงกบและการหงายกะลาไว้ในตอนหนึ่งของเนื้อหาด้วยก็ตาม

เมื่อกบหงายกะลาออกก็จะพบฟ้ากว้างอย่างไร้ขอบเขต แต่เมื่อเราข้ามพรมแดนหนึ่งออกไป ก็จะพบพรมแดนใหม่ที่ต้องข้ามไปเรื่อยๆ ข้ามแต่ละครั้งฟ้าย่อมกว้างขึ้นก็จริง แต่ก็ยังมีพรมแดนให้ข้ามข้างหน้าอีก จะได้เห็นฟ้ากว้างอย่างไร้ขอบเขตในชั่วชีวิตหนึ่งหรือไม่ก็ไม่ทราบ

ดังนั้น หากเปรียบพรมแดนเหมือนกะลา ก็ไม่ได้มีใบเดียวที่ครอบกบอยู่ แต่มีกะลาหลายชั้นมาก หงายกะลาใบแรกก็ยังเจอใบที่สอง ที่สาม ที่สี่ไปเรื่อยๆ จนหมดกะลาแล้วก็ยังมีบาตรและธงชาติคลุมบาตรไว้อีกทีหนึ่ง เลิกธงชาติออกไปแล้ว ก็ยังอาจเจอกะลาใหญ่อีกใบที่ครอบกบอยู่อย่างรู้สึกตัวได้ยาก

ผมนึกถึงยุค “ตาสว่าง” หรือ Enlightenment ในยุโรป เลิกเอาทั้งบาตรและธงออกไปแล้ว ก็ไปเจอกะลาใหญ่ที่ในปัจจุบันเรียกว่า modernism หรือแนวคิด “สมัยใหม่” ซึ่งเป็นกะลาที่ยังครอบอารยธรรมตะวันตกสืบมาจนปัจจุบัน ถึงมีผู้พยายามเจาะออกไปด้วยแนวคิด “หลังสมัยใหม่” ก็ดูเหมือนได้เห็นฟ้าไม่ถึงครึ่ง

พรมแดนที่อาจารย์เบนต้องข้ามมาตั้งแต่เกิดไปจนตลอดชีวิตคือพรมแดนทางการเมือง ท่านเกิดในคุนหมิง แคว้นยูนนานในประเทศจีน ครอบครัวย้ายหนีญี่ปุ่นกลับบ้านที่ไอร์แลนด์ แต่ไปติดในสหรัฐเพราะไม่ปลอดภัยที่จะข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกในระหว่างสงคราม ได้เรียนหนังสือในอเมริกา ถูกเพื่อนล้อเลียนสำเนียงอังกฤษที่คงจะแปร่งมากสำหรับเด็กอเมริกันในโคโลราโดสมัยนั้น

เมื่อเสร็จสงครามก็ไปใช้ชีวิตวัยเด็กต่อในไอร์แลนด์ จนในที่สุดสามารถสอบรับทุนของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ต้องไปเรียนในอังกฤษ จนสำเร็จการศึกษาด้านวรรณคดีและภาษาคลาสสิค (กรีก-ละติน) ไม่รู้จะทำอะไรในชีวิตดี จนเพื่อนชวนให้ไปเป็นอาจารย์ช่วยสอนที่มหาวิทยาลัยคอร์แนลในสหรัฐอีก เกิดสนใจอินโดนีเซีย จนตัดสินใจเรียนต่อด้านอินโดนีเซียในแขนงรัฐศาสตร์ ต้องไปลงพื้นที่วิจัยเพื่อเขียนวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกในอินโดนีเซีย

กลายเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านอินโดนีเซีย แต่ก็ถูกห้ามเข้าอินโดนีเซียตลอดสมัยซูฮาร์โตเป็นเวลา 30 ปี เพราะไปศึกษาและแฉโพยว่า มูลเหตุของการจลาจลในปี 1965 จนทำให้ซูฮาร์โตยึดอำนาจได้นั้น ไม่ได้มาจากพรรคคอมมิวนิสต์ แต่มาจากความแตกร้าวในกองทัพเองต่างหาก จึงทำให้อาจารย์เบนต้องหันเหมาสู่ประเทศไทยและฟิลิปปินส์ จนกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญสองประเทศนี้ไปด้วย

คงจะหานักวิชาการด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาที่เชี่ยวชาญประเทศต่างๆ หลายประเทศในภูมิภาคอย่างอาจารย์เบนได้ยาก เพราะธรรมชาติของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา ไม่อำนวยให้ข้ามพื้นที่ได้ง่ายๆ (เช่นอุปสรรคเรื่องภาษาอย่างเดียวก็ทำให้ท้อแล้ว)

แต่พรมแดนทางการเมืองเป็นเพียงส่วนน้อยใน “ชีวิตพ้นพรมแดน” ของท่าน ยังมีพรมแดนทางวัฒนธรรม, ทางภาษา, ทางวิชาความรู้, ทางวินัยของ “ศาสตร์”, ทางรูปแบบ, ทางมุมมอง ฯลฯ ซึ่งท่านได้ก้าวข้ามไปตลอดชีวิต พรมแดนอย่างนี้ต่างหากที่ก้าวข้ามได้ไม่ง่าย อาจารย์เบนยอมรับว่าบางส่วนก็เพราะโชคช่วย เช่น เพราะถูกห้ามเข้าอินโดนีเซีย จึงทำให้มีโอกาส (หรือถูกบังคับให้) หันมาศึกษาไทยและฟิลิปปินส์ เกิดความคิดเชิงเปรียบเทียบแหลมคมขึ้น จนในที่สุดก็กล้าข้ามพรมแดนแห่งความรู้ที่ว่าด้วย “ชาติ” และ “ชาตินิยม” ได้ผลิตผลงานบันลือโลกขึ้นมา

โชคหรือชะตาชีวิตก็มีส่วนในการข้ามพรมแดนอย่างปฏิเสธได้ยาก แต่แค่นั้นไม่พอ ยังต้องอาศัยอะไรอื่นอีกหลายอย่างเพื่อจะข้ามพรมแดนที่มีหลายชั้นหลายเชิง กว่าจะได้เห็นฟ้ากว้างขึ้นกว่าเดิม

 

ฟ้ากว้างเป็นอย่างไร? ผมอยากจะยกเอาเรื่องที่อาจารย์เบนเล่าไว้เกี่ยวกับประสบการณ์ของท่านในอินโดนีเซีย

แถวห้องแบ่งเช่าในบ้านที่อาจารย์เบนไปอยู่เมื่อแรกไปถึงอินโดนีเซีย มีที่ว่างรูปสามเหลี่ยมอยู่แห่งหนึ่ง ท่านพบเด็กๆ (ชาย) พากันมาเล่นฟุตบอลที่นั่นอยู่เป็นประจำ เมื่อพวกเขามาถึงและแบ่งฝ่ายกันเรียบร้อยแล้ว ฝ่ายหนึ่งก็จะแก้ผ้าออกหมด เพื่อให้รู้ว่าเป็นทีมเดียวกัน ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งก็สวมเสื้อผ้าตามเดิม

ความแปลกตาตรงนี้มีความหมายอย่างไร ท่านบอกว่า ท่านเพิ่งสำนึกได้ว่า ตรงกันข้ามกับในยุโรปหรืออเมริกา การเปลือยกายในหมู่เด็กชายอินโดนีเซีย สามารถทำได้จนเด็กถึงวัย “โกนจุก” (puberty คือใกล้ความพร้อมจะมีเพศสัมพันธ์ได้) ผมมีโอกาสโตในต่างจังหวัดของประเทศไทย ก็ได้พบหรือปฏิบัติเองเหมือนกัน ทั้งไม่เฉพาะเด็กชายด้วย ผมเคยเห็นเด็กหญิงแก้ผ้าเป็นเรื่องปกติจนใกล้วัย “โกนจุก” เหมือนกัน

ฟ้าของคนขาวทั่วไป (ซึ่งอาจารย์เบนสร้างคำใหม่ในภาษาอินโดฯ ขึ้นว่า “คนเผือก”) อาจไม่เปิดเมื่อเห็นความแปลกตานี้ก็ได้ เพราะอาจไปคิดถึง “การด้อยพัฒนา”, “ความยากจน” หรืออะไรอื่นซึ่งล้วนเป็นกะลาที่อเมริกันในฐานะมหาอำนาจใหม่ครอบไว้ไม่ให้เห็นฟ้า เพื่อประโยชน์ต่อสงครามเย็นของตน แต่อาจารย์เบนข้ามพรมแดนนั้นมาสู่ประเด็นวัฒนธรรม ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มหึมาที่เปิดฟ้าให้กว้างขึ้นเมื่อต้องเผชิญกับความต่างของคนอื่น

จาการ์ตาในสมัยนั้น (ต้นทศวรรษ 1960) ซึ่งยังอบอวลด้วยบรรยากาศการปฏิวัติ สร้างความประทับใจแก่อาจารย์เบนอย่างยิ่ง ถนนพลุกพล่านในยามค่ำคืนแห่งหนึ่ง นอกจากมีแผงลอย รถเข็นขายของกินนานาชนิดแล้ว ผู้คนยังนั่งโขกหมากรุกกันเป็นหลายวงตลอดสาย และคนที่มาแสวงหาความสุขกับหมากรุกที่นั่นก็ประกอบด้วยคนหลากชั้นมาก นักการเมืองระดับสูงอาจนั่งโขกอยู่กับวงสามล้อ เจ้าสัวกับคนขายโรตี ครูและข้าราชการกับกรรมกร ฯลฯ ทำให้อาจารย์เบนรู้สึกว่าจาการ์ตาคือสวรรค์บนดินเลยทีเดียว (สวรรค์ฝรั่งเป็นสังคมที่มีความเสมอภาคสูงกว่าไทยอย่างเทียบกันไม่ได้) ในอังกฤษที่ท่านเคยประสบมา สำนึกทางชนชั้นแหลมคมอย่างยิ่ง แม้ได้ยินเสียงใครพูดก็แทบจะบอกได้แล้วว่าเป็นคนชั้นอะไร ไอร์แลนด์ดีกว่านั้นมาก แต่ก็ยังมีความแปลกแยกระหว่างชนชั้นอยู่ ในขณะที่ในบรรยากาศปฏิวัติของจาการ์ตา ไม่มีใครสนใจว่าไอ้หัวล้านที่นั่งโขกหมากรุกกับสามล้อคนนั้นเป็นรัฐมนตรีหรือคนสนิทของประธานาธิบดี ทุกคนรู้แต่ว่าฝีมือมันดี

สิ่งที่อินโดนีเซียดึงดูดความสนใจท่านอย่างมาก ไม่ได้มีแต่คำตอบที่ท่านไปแสวงหาเพื่อตอบคำถามหลักในวิทยานิพนธ์เท่านั้น แต่กลับเป็นวัฒนธรรมซึ่งแย่งเวลาเก็บข้อมูลของท่านไปอย่างมาก เพราะท่านลงทุนเรียนภาษาชวา, ดนตรีชวา และเรียนศิลปะการแสดงชวา อันล้วนเป็นความรู้ที่ไม่เกี่ยวกับหัวข้อวิทยานิพนธ์ของท่านเลย อาจารย์เบนแนะนำนักเรียนปริญญาเอกให้ทำทำนองเดียวกัน คืออย่าลงภาคสนามเพียงเพื่อรวบรวมข้อมูลสำหรับเขียนวิทยานิพนธ์เท่านั้น มีอะไรที่น่าสนใจเรียนรู้ใน “สนาม” อีกมาก ที่ไม่ควรปล่อยผ่านไปเฉยๆ เพราะจะมีประโยชน์ทางวิชาการในภายหน้า

ในส่วนตัวท่านเอง ความรู้ทางวัฒนธรรมที่ดึงดูดเวลาของท่านไปมากนั้น เป็นผลให้ท่านเป็นนักรัฐศาสตร์รุ่นแรกๆ คนหนึ่ง ที่วิเคราะห์ความสัมพันธ์เชิงอำนาจในสังคมต่างๆ จากมิติทางวัฒนธรรม นับเป็นการข้ามพรมแดนที่สำคัญ เพราะเชื่อมโยงศาสตร์ที่ดูเหมือนจะห่างกันไกล คือมานุษยวิทยาและรัฐศาสตร์ ให้กลายเป็นความรู้สองด้านที่เกื้อหนุนกันจนแยกออกจากกันได้ยาก

ตลอดชีวิตของอาจารย์เบนจนถึงวาระสุดท้าย ท่านข้ามพรมแดนต่างๆ ที่ไม่ใช่พรมแดนทางการเมืองมาโดยตลอด กลายเป็นอาจารย์ที่ลูกศิษย์ทั้งจดจำและนับถือไปทั่วโลก และเป็นนักวิชาการที่อาจไม่มีรัฐบาลไหนทั้งโลกรักสักรัฐบาลเดียว เพราะท่านข้ามพรมแดนแห่งความปลอดภัยของวงวิชาการ เพื่อผดุงความเป็นธรรมด้วยความจริงและความรู้อย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยตลอดมาเหมือนกัน

ผมอยากเดาว่า หนึ่งในปัจจัยอันหลากหลายที่ทำให้อาจารย์เบนอยู่พ้นพรมแดนน่าจะเป็นความรู้ทางภาษา ซึ่งท่านมีมากอย่างน่าอัศจรรย์ ภาษาต่างประเทศช่วยปลดปล่อยเราให้หลุดออกไปจากตรรกะ, มุมมอง, ระบบเหตุผล, อะไรที่ถือว่าเป็นเช่นนั้นโดยธรรมชาติ ฯลฯ ที่ฝังแน่นอยู่ในภาษาของเราเอง ฉะนั้น ยิ่งรู้ภาษามากก็ยิ่งถูกสิ่งเหล่านั้นพันธนาการน้อยลง ข้ามพรมแดนได้ง่ายขึ้น

อาจารย์เบนเล่าถึงวิธีเรียนภาษาต่างประเทศของท่าน (เมื่อโตแล้วและเพื่อการอ่านเป็นหลัก) ไว้น่าสนใจมากสำหรับคนที่อยากเรียนภาษาต่างประเทศ เมื่อท่านไปสนใจวัฒนธรรมชวา ท่านจำเป็นต้องอ่านภาษาดัตช์ออก เพราะมีตำรับตำราที่เจ้าอาณานิคมวิลันดาเขียนไว้ในภาษาดัตช์จำนวนมาก ท่านจึงเริ่มเรียนภาษาดัตช์ด้วยตนเอง วิธีเรียนคือเอาหนังสือของ Th. Pigeaud ว่าด้วยศิลปะการแสดงของชวา (และบาหลี, ซุนดา, มทุรา) เล่มมหึมาหลายเล่มจบ แทบจะเหมือนสารานุกรม มาลงมืออ่านเลยพร้อมกับพจนานุกรมหนึ่งเล่ม ติดขัดอะไรก็ถามคนอินโดนีเซียได้ เพราะในสมัยนั้น “ผู้ดี” อินโดนีเซียยังใช้ภาษาดัตช์กันมาก ขนาดใช้เป็นภาษาสื่อสารกันในครอบครัวเลย อ่านจบเมื่อไร ก็อ่านภาษาดัตช์ได้อย่างแน่นอน

เช่นเดียวกับภาษาสเปน ซึ่งท่านพบว่าจำเป็นอย่างยิ่งในการศึกษาเรื่องที่ท่านอยากศึกษาเกี่ยวกับฟิลิปปินส์ ท่านหยิบเอานวนิยายของวีรบุรุษฟิลิปปินส์คือ Jose Rizal คือ Noli Me Tangere (แปลเป็นไทยแล้ว) และ Filibusterismo มาอ่านพร้อมพจนานุกรมเลย ทำให้ท่านอ่านภาษาสเปนออกอีกภาษาหนึ่ง

ผมเคยได้ยินอะไรทำนองนี้จากอาจารย์ประเสริฐ ณ นคร เช่นกัน ท่านบอกว่าหากอยากอ่านตัวเมืองที่ใช้ในเอกสารโบราณของล้านนาออก ก็ให้เอาหนังสือที่เขาพิมพ์ตัวเมืองไว้ข้างหนึ่ง ปริวรรตเป็นไทยกลางอีกข้างหนึ่งคู่กัน แล้วลงมืออ่านเลย อ่านไม่ออกก็ชำเลืองมองด้านภาษาไทยกลาง อ่านไปๆ ก็จะชำเลืองน้อยลง จนในที่สุดก็อ่านได้เอง

ด้วยวิธีเรียนอย่างนี้ นอกจากทำให้อ่านได้แล้ว อาจารย์เบนยังสามารถจับผิดผู้แปลได้ด้วย เพราะเรียนภาษาแม้เล่มเดียวสองเล่ม แต่ได้รู้ลึกถึงระดับที่เจ้าของภาษาใช้จริง ทำให้ท่านเป็นนักแปลมือทอง (คุณสุชาติ สวัสดิ์ศรีเคยเล่าว่า เมื่อตอนแปลเรื่องสั้นไทยนั้น แทบจะต้องอภิปรายกันประโยคต่อประโยคทีเดียว กว่าอาจารย์เบนจะจับความหมายหลัก ความหมายรอง ความหมายนัยยะ ฯลฯ ที่ซับซ้อนอยู่ในแต่ละประโยคของนักเขียน)

ผมควรกล่าวไว้ด้วยว่า ผู้แปล “ชีวิตพ้นพรมแดน” ของอาจารย์เบนเป็นภาษาไทย นอกจากเป็นลูกศิษย์โปรดคนหนึ่งของท่านแล้ว ฝีมือแปลภาษาไทยยังเยี่ยมยอดมาก นอกจากไม่ทรยศต่อผู้เขียนแล้ว ยังไม่ทรยศต่อผู้อ่านด้วยภาษาไทยที่เรียบง่ายจนแทบจะนึกว่าอาจารย์เบนเขียนเป็นภาษาไทยเอง (เท่าที่ได้อ่านจากบางตอนที่ถูกยกขึ้นมาในสื่อโซเชียล) หากผมมีฝีมือแปลแม้เพียงใกล้เคียงนั้น ชีวิตนี้คงไม่ขอทำอะไรอีกแล้ว นอกจากแปลหนังสือ

แม้ว่าอาจารย์เบนเป็นนักวิชาการ การพ้นพรมแดนจึงดูมีคุณค่าแก่ชีวิตทางวิชาการมาก แต่ผมคิดว่าคุณค่าของการก้าวข้ามพรมแดนมีคุณแก่คนในทุกอาชีพและทุกสถานภาพ สิ่งที่ผู้มาก่อนเราคิดและได้ทำไว้ก็มีประโยชน์แน่ แต่ถ้าเรายังวนเวียนอยู่ในพรมแดนที่ท่านวางไว้ให้เท่านั้น จะก้าวไปข้างหน้าได้อย่างไร

การศึกษาที่แท้จริงต้องปลดปล่อยคนออกจากพันธนาการของพรมแดนทุกชนิด เพื่อทำนาอย่างที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน ขายของอย่างที่ไม่เคยมีใครขายมาก่อน แต่งเพลงอย่างที่ไม่เคยมีใครแต่งมาก่อน ฯลฯ การศึกษาที่ผูกมัดผู้เรียนให้ดิ้นไม่หลุดจากความรู้ของคนที่มาก่อน คือการโฆษณาชวนเชื่ออย่างหนึ่งเท่านั้น

หาใช่การศึกษาที่แท้จริงไม่

 

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน: มติชนสุดสัปดาห์ www.matichonweekly.com/column/article_221689

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท