สิ่งที่รัฐไม่เคยทำ ยังไม่ได้ทำ และต้องทำในกรณีโรงเรียนขนาดเล็ก

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ระหว่างที่นั่งทำหน้าที่ผู้ดำเนินการเสวนาในงานเสวนาเรื่องโรงเรียนขนาดเล็กในวันเสาร์ที่ผ่านมา ในหัวของผู้เขียนมีแต่คำถามวนเวียนอยู่มากมาย และพยายามตอบตัวเองอยู่หลายครั้งว่าอะไรคือประเด็นที่ยังไม่ค่อยถูกพูดถึงกัน สาระสำคัญใดบ้างที่สังคมไทยยังไม่ถกเถียงกันในเรื่องนี้

และคำตอบหนึ่งที่ผ่านเข้ามาในความคิดก็คือ แทนที่รัฐจะคิดแต่ยุบควบรวมโรงเรียนเล็ก สิ่งที่รัฐต้องรีบทำอย่างยิ่ง ณ เวลานี้ คือการกำหนดเพดานสูงสุดของโรงเรียนขนาดใหญ่ และใหญ่พิเศษทั้งหลายว่าเต็มที่ที่สุด มีได้ระดับชั้นละกี่ห้องเรียนๆ ละกี่คน โรงเรียนหนึ่งๆ ดูแลเด็กให้มีคุณภาพชีวิต คุณภาพการเรียนรู้ได้ดีเต็มที่ที่สุดมีได้กี่คน เพราะการมีเด็กล้นห้องก็ส่งผลด้านลบต่อคุณภาพการเรียนรู้ และการที่มีเด็กล้นโรงเรียนยิ่งทำให้ทรัพยากรไปกระจุกตัวแค่โรงเรียนบางโรง ที่รัฐมักระบุว่า "ไม่ไกลกันมาก ยังเดินทางไปถึงได้"

เหตุผลที่มักหยิบยกมากล่าวถึงเสมอว่าชนบทมีเด็กน้อยลง แต่นั่นคือเหตุผลเดียวจริงหรือ แล้วการบริหารจัดการที่ทุ่มเทงบฯ รายหัวลงไปกระจุกตามโรงเรียนใหญ่ๆ จนกลายเป็นแม่เหล็กดึงดูดผู้ปกครองให้พยายามนำพาเด็กเข้าเรียนด้วยการสอบแข่งขันเอาเป็นเอาตาย เพราะเชื่อมั่นในชื่อเสียงโรงเรียน ดูจากความพร้อมทางกายภาพ จำนวนครูที่มากระจุกกันในเขตเมือง ทั้งหมดนี้ด้วยหรือไม่ที่เป็นสาเหตุให้มีโรงเรียนขนาดเล็กเพิ่ม ขณะที่โรงเรียนขนาดใหญ่ก็ยังรับเด็กได้เกิดร้อยเปอร์เซนต์โดยการดึงดูดเด็กๆ จากพื้นที่ชนบท และรอบนอกมาเรียนอยู่เช่นเดิม

ถ้าเช่นนี้ก็ต้องนับว่าเป็นความผิดพลาดในเชิงนโยบาย และการบริหารจัดการของรัฐ ที่ไปหนุนส่งค่านิยมผิดๆ ว่าต้องโรงเรียนใหญ่เท่านั้นจึงจะมีคุณภาพ

ภาพของรถตู้โรงเรียนเอกชนที่วิ่งรับเด็กตามหมู่บ้นเข้าเมืองตอนเช้า รถสองแถวที่รับเด็กจากนอกตัวอำเภอเข้าเมือง รถเหล่านี้วิ่งผ่านโรงเรียนขนาดเล็กที่กำลังรอนับถอยหลังถูกสั่งให้ยุบควบรวม วันแล้ววันเล่า

ปัญหาจะไม่ถูกแก้ ถ้าเราไม่พูดถึงปัญหาอย่างตรงไปตรงมา และไม่หยิบยกเอาสิ่งที่ถูกซุกไว้ใต้พรมขึ้นมาพูดถึง

- การจัดสรรงบประมาณรายหัวที่ทำให้โรงเรียนต้องแข่งกันหาเด็กๆ มาเรียน

- การใช้มาตรฐานเดียวในการวัดคุณภาพที่ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรม เพราะรัฐตั้งมาตรฐานไว้ ให้แต่ละโรงเรียนดิ้นรนวิ่งไปให้ถึงมาตรฐาน โดยรัฐให้ความช่วยเหลือโรงเรียนอย่างไม่เท่าเทียมกัน

- การนิยามคุณภาพการศึกษาที่ผลการสอบระดับชาติและการศึกษาต่อ

- ความคิดผิดๆ ที่ว่า การศึกษาคือการลงทุน ใครมีมาก ลงทุนมาก ก็ย่อมชอบธรรมที่ได้เข้าถึงคุณภาพ ใครมีน้อย ลงทุนเองไม่ได้ อ่อนแอก็ต้องแพ้ไปและรอความช่วยเหลือเป็นเงินสงเคราะห์ ที่เป็นการช่วยเหลือเป็นรายๆ ไป ไม่ได้เปลี่ยนแปลงโครงสร้าง

- การบริหารจัดการที่ให้รัฐส่วนกลางอำนาจเต็มในการตัดสินใจไปเสียทุกเรื่อง กระทั่งเรื่องที่ควรให้คนในพื้นที่ คนที่เกี่ยวข้อง คนที่ได้รับผลกระทบ ได้ร่วมกันตัดสินใจ

ฯลฯ

และที่สำคัญ คือ การไม่มีความรับผิดรับชอบของผู้กำหนดนโยบายในการออกนโยบายที่ล้มเหลว ผิดพลาด สร้างความเสียหาย

ตลอดหลายปีมานี้ไม่ใช่ว่าไม่มีการยุบควบรวมโรงเรียน ตามข้อมูลที่เครือข่ายที่ขับเคลื่อนเรื่องนี้พยายามรวบรวม พบว่ามีการดำเนินการในเรื่องนี้อยู่ตลอดเวลา และมีโรงเรียนขนาดเล็กที่ถูกยุบไปแล้วหลายพันโรง ซึ่งผ่านไปหลายปี ไม่เคยมีการศึกษาวิจัยถึงผลกระทบต่อเด็ก ต่อชุมชน ไม่มีการติดตามว่าเด็กต้องย้ายไปเรียนโรงเรียนใหม่แล้วปรับตัวได้หรือไม่ อย่างไร มีการจัดการสนับสนุนการเดินทางของเด็กๆ อย่างต่อเนื่องหรือไม่ โดยใคร

และเมื่อยุบควบรวมไปเป็นนับพันโรงแล้ว ใช้งบประมาณได้มีประสิทธิภาพ มีประสิทธิผล ทำให้คุณภาพการศึกษาและคุณภาพชีวิตเด็กดีขึ้นหรือไม่ อย่างไร

การเคลื่อนไหวของเครือข่ายที่ออกมาขับเคลื่อนเรื่องโรงเรียนเรียนขนาดเล็กในช่วงไม่กี่วันมานี้ ไม่ได้มีเจตนาค้านหัวชนฝาไม่ให้ยุบ แต่เป็นแรงโต้กลับเพื่อชวนตั้งคำถาม ถกเถียง ถึงความพยายามของรัฐจากส่วนกลางในการกำหนดกรอบเกณฑ์กติกาใหม่ที่ให้อำนาจส่วนกลางในการตัดสินใจยุบควบรวม ทั้งที่หลายปีที่ผ่านมามีความพยายามจะเปิดโอกาสให้แต่ละพื้นที่หาทางออกร่วมกัน

 

สิ่งที่รัฐ 'ต้องทำ' ในกรณีนี้คืออะไร?

ที่แน่ๆ ย่อมไม่ใช่การเพิ่มอำนาจให้ตนเองในการตัดสินใจ แต่ควรส่งเสริมให้คนที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ร่วมกันตัดสินใจ โดยรัฐสนับสนุนและพยายามหามาตรการเกลี่ยทรัพยากรให้ไปถึงพื้นที่ที่ใกล้ตัวเด็กที่สุด

หน้าที่ของรัฐ ต้องเป็นมากกว่าการกำหนดมาตรฐานขึ้นมาหนึ่งชุดแล้วให้โรงเรียนที่รับงบประมาณจากรัฐอย่างไม่ทั่วถึงไม่เป็นธรรม ต้องดิ้นรนกันเองในการวิ่งไปให้ถึงเส้นชัย

แต่รัฐต้องรับประกันกับประชาชนให้ได้ว่าจะดูแลลูกหลานของพวกเขาให้เข้าถึงการศึกษาที่ได้มาตรฐาน ได้เข้าถึงคุณภาพการศึกษาอย่างเท่าเทียม โดยไม่เลือกปฏิบัติในเชิงนโยบาย และทอดทิ้งให้โรงเรียนเกือบ 20,000 แห่ง ครูนับแสนคน และเด็กๆ อีกนับล้านคน ต้องอยู่ในภาวะเปราะบาง สุ่มเสี่ยงต่อการเข้าไม่ถึงคุณภาพชีวิตคุณภาพการศึกษา

 

หมายเหตุ: ติดตามความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับประเด็นโรงเรียนขนาดเล็ก และความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ได้ที่ เฟสบุ๊คของเครือข่าย Equal Stand

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท