สายสิ่งแวดล้อม-ชนพื้นเมืองวิจารณ์ ปธน.บราซิล ปล่อยคนรุกอเมซอนจนเกิดไฟป่า

องค์กรสิ่งแวดล้อมและวิทยาศาสตร์โต้ประธานาธิบดีบราซิล จาอีร์ บอลโซนาโร ที่กล่าวหาลอยๆ ว่าเอ็นจีโอเป็นผู้ก่อไฟป่าในป่าอเมซอนเพื่อทำลายภาพลักษณ์ของเขา องค์กรเหล่านั้นระบุว่าไฟเกิดจากนโยบายรัฐบาลที่สนับสนุนให้คนถางป่าทำไร่และทำปศุสัตว์ การสูญเสียป่าจะส่งผลกระทบต่อภาวะเรือนกระจกทำให้วิกฤตโลกร้อนหนักข้อขึ้น

ภาพป่าอเมซอนในประเทศบราซิล ถ่ายเมื่อปี 2554 (ที่มา:Flickr/Neil Palmer (CIAT))

23 ส.ค. 2562 ป่าฝนอเมซอนที่มีฉายาว่าเป็น "ปอดของโลก"  ประสบกับไฟป่ามาเป็นเวลาหลายสัปดาห์ติดต่อกันแล้ว แต่ในวันที่ 21 ส.ค. ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีจาอีร์ บอลโซนาโร กลับกล่าวโทษว่ากลุ่มเอ็นจีโอเป็นผู้ก่อไฟป่าโดยไม่หลักฐานใดๆ มาสนับสนุน

บอลโซนาโรกล่าวหาว่าอาจจะเป็นไปได้ที่เอ็นจีโอก่อเหตุเพื่อให้คนมุ่งเป้าความสนใจมาที่เขาโดยที่ตัวบอลโซนาโรเองก็ออกตัวว่ายังไม่ยืนยันชัดเจนในเรื่องนี้ กระนั้นในการกล่าวหาเอ็นจีโอเขาก็ตั้งข้อสังเกตว่ามีการวางเพลิงเผาป่า "ในแหล่งที่เป็นจุดยุทธศาสตร์" ที่มีการเริ่มเผาและถ่ายภาพเอาไว้ "นั่นเป็นสิ่งที่ผมรู้สึก" บอลโซนาโรกล่าว

เรื่องนี้ทำให้องค์กรสิ่งแวดล้อมกรีนพีซบราซิลโต้ตอบกลับว่าข้ออ้างของบอลโซนาโรว่าเป็นความ "ป่วย" และ "น่าสมเพช" มาร์ซิโอ อัสทรินี ผู้ประสานงานด้านนโยบายสาธารณะของกรีนพีซบราซิลกล่าวว่าการตัดไม้ทำลายป่าและไฟป่าที่เกิดขึ้นมาจาก "นโยบายต่อต้านสิ่งแวดล้อม" ของบอลโซนาโรเอง

นอกจากองค์กรสิ่งแวดล้อมแล้ว ชนพื้นเมืองชาวปะตาโชในบราซิลก็วิจารณ์ในเรื่องไฟป่าที่เกิดขึ้นเช่นกัน โดยหญิงชาวปะตาโชรายหนึ่งแสดงความรู้สึกเสียใจต่อเหตุไฟป่าและกล่าวว่าสาเหตุของไฟป่ามาจากการตัดไม้ทำลายป่าเพื่อทำปศุสัตว์เลี้ยงวัวซึ่งเป็นสิ่งที่บอลโซนาโรให้การสนับสนุน สื่อคอมมอนดรีมส์ระบุว่าในขณะที่บราซิลกำลังประสบกับการถางป่าเพื่อทำการเกษตรและเหยียบย่ำสิทธิของชนพื้นเมือง การถางป่าก็เพิ่มสูงขึ้นมากในยุคของบอลโซนาโร 

มีข้อมูลสนับสนุนในเรื่องดังกล่าวนี้จากสถาบันวิจัยอวกาศแห่งชาติบราซิล (INPE) ซึ่งระบุว่าในเดือน มิ.ย. ของปีนี้มีการตัดป่าเพิ่มขึ้นสูงมากกว่าร้อยละ 85 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว บอลโซนาโรโต้ตอบว่าข้อมูลดังกล่าวเป็น "เรื่องโกหก" และสั่งปลดหัวหน้าสถาบัน

ทั้งนี้ INPE ยังเปิดเผยเมื่อวันที่ 20 ส.ค. ที่ผ่านมาว่าบราซิลเกิดเหตุไฟป่า 74,155 ครั้งแล้วในปีนี้ซึ่งถือว่ามากอย่างไม่เคยเป็นมาก่อนและราวครึ่งหนึ่งเกิดขึ้นในป่าอเมซอน อีกกลุ่มที่เสนอข้อมูลสนับสนุนว่าการถางป่าเป็นเหตุให้เกิดไฟป่านั้นคือสถาบันวิจัยสิ่งแวดล้อมแห่งอเมซอนที่แถลงในเรื่องนี้เมื่อวันที่ 20 ส.ค. ที่ผ่านมา แต่ถึงแม้จะมีหลักฐานในเรื่องเหล่านี้รัฐบาลบอลโซนาโรก็ยังคงเดินหน้าถางป่าซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหาด้านวิกฤตโลกร้อนต่อไป ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์จากนักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม

อัลเบอร์โต เซตเซอร์ นักวิจัยจาก INPE ระบุว่าถึงแม้ว่าปัจจัยจากฤดูกาลที่แห้งแล้งจะเอื้อต่อการเกิดสภาพที่ทำให้ไฟลุกลามแต่การเริ่มต้นจุดไฟน่าจะมาจากน้ำมือมนุษย์ไม่ว่าจะโดยจงใจหรือโดยอุบัติเหตุก็ตาม INPE เก็บรวบรวมข้อมูลเหล่านี้จากภาพถ่ายผ่านดาวเทียมที่แสดงให้เห็นว่ามีการถางป่าฝนเพื่อทำการเกษตรไม่ว่าจะเป็นปศุสัตว์หรือการปลูกถั่วเหลือง โดยที่ภาพจากดาวเทียมแสดงให้เห็นกลุ่มควันขนาดใหญ่ลอยอยู่เหนือพื้นดินที่บางส่วนลอยทาบพื้นที่เมือง

ทั้งนี้ไฟป่าจากอเมซอนนั้นส่งผลกระเทือนต่อโลกโดยเฉพาะเรื่องวิกฤตสภาพภูมิอากาศ สำนักบริการการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโคเปอร์นิคัส (Copernicus Climate Change Service) ระบุว่าไฟป่าทำให้ปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์เพิ่มสูงขึ้นรวมถึงทำให้ก๊าซที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนอย่างคาร์บอนไดอ็อกไซด์เพิ่มสูงขึ้นด้วย ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นภัยต่อสุขภาพของมนุษย์และต่อสภาพภูมิอากาศโลก

ป่าอเมซอนซึ่งมีพื้นที่ 2.12 ล้าน ตร. ไมล์ (ราว 5.49 ล้าน ตร.กม.) สามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนได้ 1 ใน 4 ของโลกเมื่อเทียบกับการดูดซับคาร์บอนของป่าในแหล่งอื่นๆ แต่ไฟป่าจะทำให้ความสามารถในการดูดซับคาร์บอนน้อยลงเมื่อรวมกับปัจจัยอื่นๆ อีกหลายๆ ปัจจัย ซึ่งจะส่งผลให้แก้ไขปัญหาโลกร้อนได้ยากขึ้น โอกาสที่หลายประเทศจะสามารถทำตามข้อตกลงสภาพภูมิอากาศที่ปรุงปารีสก็ริบหรี่ ข้อตกลงดังกล่าวระบุกำหนดให้จำกัดอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยเกิน 2 องศาเซลเซียส

วิตอร์ โกเมส นักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมเคยศึกษาวิจัยเรื่องนี้พบว่าการถางป่าอเมซอนยังทำให้ความหลากหลายทางชีวภาพของป่าอเมซอนลดลง เพื่อรวมกับผลกระทบของวิกฤตสภาพภูมิอากาศแล้วความหลากหลายของพันธุ์ไม้ในอเมซอนจะลดลงถึงเกือยร้อยละ 60 และในความเป็นไปได้ที่แย่ที่สุดถ้าหากไม่มีนโยบายแก้ไขโลกร้อนที่ส่งผลลัพธ์หรือมีโครงการจำกัดการตัดไม้ทำลายป่าในปี 2593 พื้นที่ป่าฝนในเขตที่ราบลุ่มจะร่อยหรอ ทำให้ระบบนิเวศเสียหายและขาดความสามารถในการดูดซับคาร์บอนไว้ได้ นอกจากนี้ในงานวิจัยยังเตือนด้วยว่าป่าอาจจะถูกทำลายไปถึงจุดที่ไม่สามารถฟื้นฟูย้อนกลับมาได้

เรียบเรียงจาก

The Amazon rainforest in Brazil is ablaze, turning day into night in the city of Sao Paulo, Washingtoon Post, Aug. 21, 2019

Brazil's Bolsonaro—Outspoken Proponent of Deforestation—Denounced as 'Sick' and 'Pathetic' for Blaming Amazon Forest Fires on NGOs, Common Dreams, Aug. 21, 2019

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท