5 ปี คดีขอนแก่นโมเดล ศาลทหารโอนคดีไปยังศาลยุติธรรม

5 ปี คดีขอนแก่นโมเดล ทนายวิญญัติ เผยวันนี้ศาลทหารโอนคดีไปยังศาลยุติธรรม หลังมีคำสั่ง หัวหน้า คสช. ที่ 9/2562 

23 ส.ค.2562 วิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความด้านสิทธิมนุษยชน และเลขาธิการสมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิเสรีภาพ (สกสส.) โพสต์ข้อความผ่านเฟสบุ๊คในหัวข้อ "ครบรอบ 5 ปี คดีขอนแก่นโมเดล" ซึ่งเป็นคดีที่ จำเลยถูกจับ 23 พ.ค. 2557 และยื่นฟ้อง 22 ส.ค. 2557 เลขาธิการ สกสส. เล่าว่า วันนี้ (23 ส.ค.62) ทีมทนายจาก สกสส. เดินทางมาศาลมณฑลทหารบกที่ 23 ค่ายศรีพัชรินทร์ จ.ขอนแก่น

เลขาธิการ สกสส. ระบุว่า เราทำหน้าที่ทนายจำเลยในศาลทหารนี้มาตลอด 5 ปี ไม่เคยละทิ้งหน้าที่ของทนายความ เดินทางมาขอนแก่นด้วยความรับผิดชอบต่อคดี และเราให้ความสำคัญต่อจำเลยทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน เจ้าหน้าที่งานธุรการศาลบริการด้วยความเป็นกันเอง กระทั่งเวลา 10.30 น. ตุลาการพระธรรมนูญ และตุลาการศาลทหาร 2 นาย ออกนั่งพิจารณาและอ่านรายงานกระบวนพิจารณาคดี หมายเลขดำที่ 10ก./2557 มีใจความสำคัญทำนองว่า

“...เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2562 ได้มีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 9/2562 เรื่องการยกเลิกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติและคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติบางฉบับที่หมดความจำเป็น กำหนดให้คดีอยู่ในอำนาจของศาลทหารตามประกาศและคำสั่งดังกล่าวไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทหาร ตั้งแต่วันที่ 9 กรกฎาคม 2562 เป็นต้นไป

ศาลได้พิเคราะห์แล้วเห็นว่า คำสั่งดังกล่าวมีผลทำให้คดีนี้ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทหาร ตั้งแต่วันที่ 9 กรกฎาคม 2562 เป็นต้นไป แต่ให้อยู่ในอำนาจการพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

จึงให้งดการพิจารณาคดีไว้ชั่วคราว กับให้โอนคดีไปยังศาลยุติธรรมที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษา และจำหน่ายคดีออกจากสารระบบความในศาลนี้ ให้มีหนังสือไปยังสำนักงานศาลยุติธรรม และเพื่อให้การโอนคดีเป็นไปด้วยความเรียบร้อยจึงให้สัญญาประกันและหมายขังของจำเลยยังคงมีผลใช้บังคับต่อไป ก่อนส่งสำนวนให้ศาลถ่ายสำเนาสำนวนและเอกสารต่างๆทั้งหมดเก็บไว้ที่ศาลนี้ด้วย...”

วิญญัติ ทิ้งท้ายว่า จากนี้ไป เมื่อศาลทหารโอนคดีไปศาลยุติธรรม ศาลยุติธรรมตามที่มีเขตอำนาจจะออกหมายนัดพร้อมเพื่อนัดคู่ความไปศาลยุติธรรม (เลขคดีใหม่) เพื่อนำคดีเข้าสู่การนัดพิจารณาคดีต่อไป

ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับคดีขอนแก่นโมเดล

สำหรับคดีขอนแก่นโมเดล เกิดขึ้นหลังจากการรัฐประหารได้ 1 วัน เจ้าหน้าที่ทหารเข้าควบคุมตัวผู้ต้องหาจำนวน 22 คน ถัดจากนั้นอีก 4 วันก็มีการเข้าควบคุมตัวผู้ต้องหาเพิ่มอีก 2 คน และขยายผลจับกุมเพิ่มอีก 2 คน รวมทั้งสิ้น 26 คน ซึ่งผู้ต้องหาทั้งหมดมีอายุอยู่ในช่วง 55-70 ปี และเป็นกลุ่มที่อยู่ในพื้นที่ภาคอีสาน เจ้าหน้าที่รัฐเรียกผู้ต้องหากลุ่มนี้ว่า 'ขอนแก่นโมเดล' โดยเชื่อว่าพวกเขาตระเตรียมการโดยสะสมกำลังพล อาวุธ จัดหาหรือรวบรวมทรัพย์สินเพื่อดำเนินการตามแผนการสร้างความปั่นป่วนเพื่อให้เกิดความหวาดกลัวในหมู่ประชาชนและเพื่อก่อการร้าย โดยอัยการยื่นฟ้อง 9 ข้อหากับผู้ต้องหาทุกคน ซึ่งมีโทษสูงสุดคือประหารชีวิต

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานไว้เมื่อ มี.ค.60 ว่า อัยการทหารอ้างพยานบุคคลรวม 90 ปาก เริ่มสืบพยานโจทก์นัดแรก เมื่อวันที่ 28 ต.ค. 59 โดยพยานโจทก์ปากแรกคือ พล.ต.ชาญชัย เอมอ่อน ผู้สั่งการให้จับกุมจำเลยในคดีนี้ ขณะเกิดเหตุดำรงตำแหน่งผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 8 และผู้บังคับการหน่วยเฉพาะกิจ กรมทหารราบที่ 8 ซึ่งตั้งขึ้นหลังการรัฐประหาร พ.อ. พยัคฆพล และ ร.อ.ธนศักดิ์ เข้าเบิกความเป็นพยานโจทก์ปากที่ 2 และ 3 ในวันที่ 23 ธ.ค.59 แต่ทนายจำเลยยังไม่ได้ซักค้าน เนื่องจากหมดเวลาเสียก่อน ศาลจึงนัดให้อัยการนำพยานทั้งสองมาให้ทนายจำเลยซักค้านในวันที่ 20 ก.พ. 60 แต่วันนัดดังกล่าว พ.อ. พยัคฆพล ป่วย ไม่มาศาล จึงเลื่อนการซักค้านมาเป็นวันที่ 24 มี.ค.นี้ พร้อมทั้งนัด ส.อ.สังวาลย์ ซึ่งอยู่ในเหตุการณ์จับกุมจำเลยที่ 1 ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยฯ เช่นเดียวกัน มาเบิกความ แต่แล้วก็ต้องเลื่อนออกไปอีก

คดีนี้สืบเนื่องมาจาก เมื่อวันที่ 23 พ.ค.57 หลังคณะรัฐประหารเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เพียง 1 วัน กำลังทหารจากกรมทหารราบที่ 8 ค่ายสีหราชเดโชไชย จ.ขอนแก่น ได้เข้าตรวจค้นที่ธนาคารแห่งประเทศไทย สาขาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และที่โรงแรมชลพฤกษ์เลคไซด์ และจับกุมผู้ต้องสงสัยหลายคน วันต่อมา พล.ต.ธวัช สุกปลั่ง รองแม่ทัพภาคที่ 2 และ พล.ต.ศักดา เปรุนาวิน ผู้บัญชาการกองพลทหารที่ 3 ร่วมกันแถลงข่าวว่า กองทัพภาคที่ 2 ได้รับแจ้งจากแหล่งข่าวว่า จะมีกลุ่มผู้ไม่หวังดีจะออกปฏิบัติการ “ขอนแก่นโมเดล” ในลักษณะกวนเมืองขอนแก่น จึงทำการสืบสวนจนทราบว่า ที่หมู่บ้านชลพฤกษ์ ในอำเภอเมืองขอนแก่น ได้มีกลุ่มดังกล่าวประชุมร่วมกัน พล.ต.ศักดา จึงได้นำกำลังเข้าทำการตรวจค้น และจับกุมผู้ต้องหาที่มาประชุมร่วมกันในที่ดังกล่าวได้ 23 คน พร้อมของกลาง ได้แก่ บัตรประจำตัว “นปช.แดงทั้งแผ่นดิน” 2 ใบ, โทรศัพท์มือถือ 25 เครื่อง, แท็บเล็ต 2 เครื่อง, วิทยุสื่อสาร 2 เครื่อง, มีดสปาต้า 1 เล่ม, มีดปลายปืน 2 เล่ม, ลูกระเบิดขว้าง 2 ลูก, ลูกระเบิดปิงปอง 1 ลูก, ลูกระเบิดควัน เอ็ม 18 จำนวน 1 ลูก, แม็กกาซีนปืน 2 อัน, กระสุนปืนพกขนาด 9 มม. 202 นัด, 11 มม. 154 นัด, กระสุนปืนลูกซอง 15 นัด, ถังแก๊ส 2 ใบ, ไขควง 3 อัน, ค้อน 2 ตัว, กุญแจมือ 8 อัน, เสื้อเกราะ 1 ตัว, ผ้าพันคอสีแดงประมาณ 300 ผืน, เสื้อยืดสีขาวประมาณ 100 ตัว, ป้ายไวนิลสีแดงขนาดใหญ่จำนวน 3 ผืน เอกสารเป็นแผนภูมิวางระเบิดในภาคใต้ แผนผังทำวงจรระเบิดในเขตพื้นที่ จ.ขอนแก่น, ภาพฝึกอาสาสมัครพิทักษ์ประชาธิปไตยแห่งชาติ จากนั้น วันที่ 12 มิ.ย. 57 ทหารและตำรวจ ร่วมกันแถลงข่าวว่า มีการจับกุมต่อเนื่องผู้ต้องหาในคดี “ขอนแก่นโมเดล” รวมทั้งสิ้น 25 ราย และตรวจยึดอาวุธเพิ่มเติมได้อีกในท่อประปาภูเขา บริเวณป่าละเมาะที่ อ.หนองกุงศรี จ.กาฬสินธุ์

หลังการจับกุม ผู้ต้องหาถูกส่งไปควบคุมตัวที่กรมทหารราบที่ 8 เป็นเวลา 7 วัน ก่อนถูกส่งตัวไปดำเนินคดีที่สถานีตำรวจภูธรเมืองขอนแก่น และขังที่เรือนจำกลางจังหวัดขอนแก่น โดยอัยการศาล มทบ.23 ส่งฟ้องต่อศาล มทบ.23 ในวันที่ 22 ส.ค.57 จากนั้น ในเดือน ต.ค. 57 – ก.พ.58 ศาลทยอยให้ประกันตัวจำเลยทั้ง 26 คน อย่างไรก็ตาม ปลายเดือน พ.ย.58 จ.ส.ต.ประธิน ถูกจับอีกครั้งและถูกนำไปควบคุมตัวใน มทบ.11 ก่อนถูกออกหมายจับพร้อมจำเลยขอนแก่นโมเดลอีก 3 คน และคนอื่น ๆ รวม 9 คน ในข้อหาหมิ่นประมาท ดูหมิ่น พระมหากษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยมีการแถลงข่าวว่า ทั้งหมดเตรียมการก่อเหตุในกิจกรรม Bike for Dad และเชื่อมโยงว่าเป็นขบวนการเดียวกับ “ขอนแก่นโมเดล” จนสื่อมวลชนเรียกขานกรณีดังกล่าวว่า “ขอนแก่นโมเดล 2” ทั้งนี้ ผู้ถูกจับกุมในกรณีดังกล่าว รวม 6 คน ปัจจุบันถูกขังอยู่ที่เรือนจำกลาง และเรือนจำพิเศษจังหวัดขอนแก่น โดยไม่ได้รับการประกันตัว

อย่างไรก็ตาม จำเลยคดีขอนแก่นโมเดลบางคนให้ข้อมูลกับศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนว่า ในวันเกิดเหตุ พวกเขาตั้งใจมาประชุมเพื่อรับฟังข้อมูลเรื่องการปลูกพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ คือ ดาวอินคา แต่กลับถูกบุกเข้าจับกุม โดยไม่ทราบสาเหตุ เมื่อถูกเจ้าหน้าที่สอบปากคำ โดยกล่าวถึง “ขอนแก่นโมเดล” นั้น พวกเขาไม่เคยได้ยินมาก่อน และการถูกควบคุมในค่ายทหาร 7 วัน แม้ไม่ถูกทำร้ายร่างกาย แต่ได้รับการปฏิบัติที่กดดันต่อสภาพร่างกายและจิตใจอย่างมาก หลังได้รับการประกันตัว จำเลยบางคนและครอบครัวยังถูกทหารติดตามพฤติกรรมอยู่โดยตลอด โดยเข้าไปพบที่บ้านหรือที่อื่นประมาณอาทิตย์ละ 1 ครั้ง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท