Skip to main content
sharethis

กสม. ถกภาคประชาสังคม กรณีการแก้ปัญหาผลกระทบ “เขตเศรษฐกิจทวาย” ตามมติ ครม. ชง รบ. บรรจุประเด็นผลกระทบการลงทุนข้ามพรมแดนในแผนปฏิบัติการชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิฯ เน้นแก้ปัญหาให้ประชาชนมีส่วนร่วม

23 ส.ค.2562 วันนี้ ตัวแทนชาวทวายและกะเหรี่ยง 8 ชุมชน จากพื้นที่โครงการถนนสองช่องทาง พร้อมด้วยภาคประชาสังคมเมียนมาและไทย ในนามคณะทํางานติด ตามความรับผิดชอบข้ามพรมแดน (Extra Territorial Obligation Coalition: ETO Watch Coalition เข้ามาแลกเปลี่ยนและให้ข้อมูลต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กรณีผลกระทบจากโครงการท่าเรือน้ำลึกและเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย

รายงานข่าวระบุว่า ประชาชนในพื้นที่โครงการย้ำว่าไม่ได้มาเพื่อต่อต้านการพัฒนาต่างๆ แต่มาเพื่อแสดงออกว่าโครงการทั้งหลายควรสร้างประโยชน์สุขและอยู่ร่วมกับชุมชนได้

อู เล อ่อง ประชาชนในพื้นที่ซึ่งถนนพาดผ่าน ได้ชี้แจงว่าการเข้ามาพร้อมเครื่องจักรหนักของบริษัทคือการบุกรุกทำลายที่ดินทำกิน แย่งยึดพื้นที่โดยชาวบ้านไม่ยินยอม ผลของโครงการได้ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ระบบนิเวศ และส่งผลต่อวิถีชีวิตของชาวบ้านอย่างรุนแรง โดยตลอดทุกกระบวนการไม่เคยผ่านความเห็นชอบของประชาชนในพื้นที่เลย และในปี 2013 บริษัทอิตาเลียนไทย ถอนจากพื้นที่เพราะสัมปทานยุติชั่วคราว โดยปีนั้นรัฐบาลได้นำสัญญามาให้ชาวบ้านเซ็น เป็นสัญญาว่ายินดีในการให้ใช้พื้นที่ แต่ไม่มีระบุในรายละเอียดว่ามีการคำนวนค่าชดเชยอย่างไร ไม่แจ้งว่าข้อผูกพันทางสัญญาเป็นอย่างไร ที่ดินจะถูกยึดไปถาวรหรือไม่ และไม่มีข้อมูลชี้แจงรูปแบบการเยียวยาที่เป็นรูปธรรมใดๆ ทั้งสิ้น ชาวบ้านจึงตกอยู่ในความกังวลและสับสน

ข้อเสนอจากชาวบ้านในครั้งนี้ (และตลอดมา) คือ ขอให้มีการพัฒนากลไกให้มีการดำเนินโครงการอย่างเหมาะสม และมีการประเมินผลกระทบทางยุทธศาสตร์ นอกเหนือไปจากการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) และสำคัญที่สุดคือต้องมีส่วนร่วมจากประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริง อย่างไรก็ตามยังมีโครงการอื่นนอกเหนือจากโครงการถนน คือ โครงการเหมืองถ่านหินบานชอง ที่ถูกระงับการดำเนินการชั่วคราวไปแล้ว แต่ปัจจุบันถ่านหินยังคงลุกไหม้อยู่ตลอดและสร้างมลพิษอย่างรุนแรง อีกโครงการหนึ่งคือเหมืองแร่เฮงดา ที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อชุมชนเช่นกัน โดยโครงการดังกล่าวล้วนดำเนินการโดยบริษัทไทยทั้งสิ้น จึงต้องคิดถึงกลไกที่เป็นมาตรฐานสามารถคุ้มครองดูแลประชาชนได้อย่างครอบคลุมในทุกกรณี

ข้อเสนอจากคณะทำงาน ETO Watch คือ กสม.ควรอำนวยความสะดวกให้ประชาชนและภาคประชาสังคม โดยเป็นตัวกลางประสานระหว่างประชาชนและกระทรวงที่รับผิดชอบ ทั้งต้องผลักดัน ติดตาม และตรวจสอบการทำงานของรัฐและกระทรวงต่างๆ ให้ชี้แจงข้อมูลและปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน ซึ่งมิใช่เป็นกรณีมติครม.โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษและท่าเรือน้ำลึกทวายเท่านั้น แต่รวมถึงมติคณะรัฐมนตรีอื่น ๆ ด้วย เช่นกรณีสัมปทานที่ดินเพื่อทำโรงงานน้ำตาลในโอดอร์เมียนเจย กัมพูชา

 

กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้รับทราบข้อมูลและข้อเสนอแนะจากชาวบ้านและคณะทำงาน และเพิ่มเติมว่าคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนได้พยายามผลักดันกลไกการควบคุมและกำกับการประกอบธุรกิจ ซึ่งจะออกมาเป็นแผนปฏิบัติการธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (National Action Plan) ตามหลักการ UNGP ของสหประชาชาติ ที่ใกล้จะแล้วเสร็จ และย้ำว่ากสม.ยึดมั่นในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ซึ่งมิใช่เพียงไทยในเท่านั้น แต่จะกระจายร่วมมือและประสานงานกับกสม.ในประเทศภูมิภาคอาเซียนด้วย

ประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะกำกับดูแลงานด้านสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม กล่าวว่า กรณีดังกล่าว กสม. ได้มีรายงานผลการตรวจสอบไปเมื่อปี 2558 โดยมีข้อเสนอให้บริษัทไทยผู้พัฒนาโครงการดำเนินการชดเชยและเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อประชาชนที่ได้รับผลกระทบอย่างเป็นธรรมด้วยกระบวนการที่ประชาชนมีส่วนร่วม และเสนอให้ ครม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดตั้งกลไกในการกำกับดูแลการลงทุนในต่างประเทศของผู้ลงทุนสัญชาติไทยและนำหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ (The United Nations Guiding Principles on Business and Human Rights : UNGPs) มาเป็นกรอบในการดำเนินการ ซึ่ง ครม. ตอบรับข้อเสนอแนะดังกล่าวของ กสม.

อย่างไรก็ดี นับแต่ปี 2560 กสม. ได้ผลักดันให้ หน่วยงานภาครัฐและภาคธุรกิจไทยลงนามในปฏิญญาขับเคลื่อนหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนฯ ร่วมกัน เพื่อให้การเคารพ คุ้มครอง และเยียวยาผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนอันเกิดจากภาคธุรกิจเกิดผลปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม แม้ปัจจุบัน การตรวจสอบเรื่องผลกระทบจากการดำเนินธุรกิจข้ามพรมแดนจะเกินขอบเขตอำนาจของ กสม. แต่ กสม. ได้ดำเนินการผลักดันให้รัฐบาลมีกลไกหรือมาตรการในการกำกับดูแลและส่งเสริมให้ผู้ลงทุนสัญชาติไทยที่ไปลงทุนในต่างแดนเคารพในหลักสิทธิมนุษยชน และบรรจุมาตรการดังกล่าวไว้ในร่างแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (National Action Plan on Business and Human Rights : NAP) ซึ่งรัฐบาลไทยอยู่ระหว่างการดำเนินการจัดทำและนำไปปฏิบัติใช้ อันนับเป็นความก้าวหน้าของไทยในด้านธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน

“ปัจจุบันหน่วยงานภาครัฐและภาคธุรกิจเริ่มตอบรับและเข้าใจประเด็นธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนมากขึ้น โดย กสม. ได้ให้ความสำคัญและดำเนินงานขับเคลื่อนประเด็นนี้มาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ตนหวังว่าประชาชนในพื้นที่โครงการพัฒนาต่าง ๆ จะได้รับการคุ้มครองและการเยียวยาผลกระทบอย่างเสมอหน้า แม้ว่าหลายรายอาจต้องเสียสละเพื่อประโยชน์ส่วนรวม เช่น สละที่ดินทำกิน แต่สมควรต้องได้รับการชดเชยความเสียหายอย่างเป็นธรรม เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตอย่างเป็นปกติสุขร่วมไปกับการพัฒนาที่ยั่งยืนได้” ประกายรัตน์ กล่าว

โสพล จริงจิตร เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวปิดท้ายว่า สำนักงาน กสม. จะประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหารือติดตามเรื่องการดำเนินการตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2559 กรณีโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย และจะหารือประเด็นผลกระทบจากการดำเนินธุรกิจข้ามพรมแดนจากโครงการดังกล่าวในเวทีระดับสากลผ่านกลไกสถาบันสิทธิมนุษยชนในระดับภูมิภาคและคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (AICHR) ต่อไป

สำหรับกรณีนี้ เกิดขึ้นจากที่รัฐบาลไทยได้อนุมัตเงินกู้ผ่านสํานักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับระเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) (สพพ-NEDA) จํานวน 4,500 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนรัฐบาลเมียนมาในการพัฒนาโครงการถนนเชื่อมต่อ 2 ช่องทางจากชายแดนบ้านพุน้ำร้อน ถึงเขตเศรษฐกิจพิเศษและท่าเรือน้ำลึกทวาย ระยะทาง 138 กิโลเมตร โดย สพพ.ได้ดําเนินการจัดจ้างที่ปรึกษาเพื่อทําสํารวจและออกแบบและ จัดทํารายละเอียดของโครงการ แต่ปัจจุบันแม้ใกล้จะแล้วเสร็จแล้วแต่ยังไม่มีการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะแต่อย่างใด

โครงการทวายได้เริ่มต้นพัฒนามาตั้งแต่ปี 2010 ประกอบด้วยโครงการย่อยหลายส่วน เช่น ท่าเรือน้ำลึก เขื่อน ถนน ฯลฯ ซึ่งโครงการถนนนี้เองที่เป็นหนึ่งในหลายโครงการอันก่อผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชนของพื้นที่โครงการเป็นอย่างยิ่ง ความน่าสนใจและพิเศษของโครงการถนนเชื่อมต่อสองช่องทางคือเป็นการให้กู้ในเงื่อนไขพิเศษ จากตามปกติแล้วการปล่อยให้กู้ของ NEDA จะมีหลักการคือจำนวนเงินไม่เกินสองพันล้านบาท แต่โครงการนี้ ปล่อยกู้ให้ถึง 4.5 พันล้านบาท อันเป็นงบประมาณแผ่นดิน โครงการนี้ไม่มีแผนเรื่องค่าชดเชย ทั้งที่ผู้ดูแลโครงการคืออิตาเลี่ยนไทย คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้บริษัทดำเนินการชดเชยเยียวยาแก่ชาวบ้านในโครงการท่าเรือน้ำลึกและเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายไปแล้ว

ที่มา : The Mekong Butterfly และ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net