ถ้าไม่มีหวัง ก็ไม่มีชีวิต: บทบันทึกจากเวทีเสวนา Voice of hope เสียงแห่งความหวัง

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

26 ปีในกรุงเทพ เราใช้ชีวิตท่ามกลางโลกของการแข่งขันทางธุรกิจ ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม ผู้คนใช้ชีวิตประจำวันอย่างเหนื่อยล้า ทั้งจากการเดินทาง ค่าครองชีพที่สูงลิ่ว ในขณะที่รายได้ต่ำ คนดิ้นรนเอาตัวรอดกันวันต่อวัน

5 ปีถัดมาในปัตตานี เราใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้ง ผู้คนบาดเจ็บล้มตาย บ้างติดคุก บ้างสูญหายออกจากบ้าน เด็กกำพร้า แม่ม่าย ผู้ชายที่ตกเป็นจำเลย และกฎอัยการศึกที่ไม่มีทีท่าว่าจะยกเลิก

2 ปีต่อมาในอินเดีย เราใช้ชีวิตท่ามกลางความเหลื่อมล้ำอย่างสุดขั้ว ผู้คนแบ่งแยกชนชั้นวรรณะ คนรวยรวยล้นฟ้า คนจนจนจนตาย ในขณะที่การลืมตาอ้าปากเป็นเรื่องยาก และไม่ใช่ทุกคนที่จะมีโอกาสเข้าถึงการศึกษา เหมือนที่เรามีโอกาสมานั่งเรียนมหาวิทยาลัย ถกเถียงเรื่องความเหลื่อมล้ำ ในขณะเดินออกไปหน้ามหาวิทยาลัย ผู้คนไร้บ้านอาศัยพื้นที่ใต้สะพานเป็นที่พักพิง

7 วันที่แล้ว เราเรียนจบกลับมาถึงไทย ได้ยินว่าจะมีงานฉายหนังสารคดีเกี่ยวกับสามจังหวัดชายแดนใต้/ปาตานี มีเสวนาเกี่ยวกับความหวังของผู้คนในสามจังหวัด ท่ามกลางความขัดแย้งที่ไม่รู้จะสิ้นสุดลงเมื่อไหร่ เราตัดสินใจอยู่กรุงเทพต่อ เพื่อดูหนังและไปฟังเสวนา เราอยากรู้ว่าสองปีที่ผ่านมา ใครทำอะไรอยู่ตรงไหนบ้าง ผู้คนนอกพื้นที่คิดกับสามจังหวัดอย่างไร ดีขึ้น แย่ลง หรือยังคงเหมือนเดิม

งานเสียงของความหวัง จัดขึ้นที่ cinema oasis เป็นโรงฉายหนังเล็กๆ แถวสุขุมวิท เป็นครั้งแรกที่เรามาที่นี่ 
เมื่อไปถึงงาน ทีมงานจัดโต๊ะลงทะเบียนไว้ และมีหนังสือเสียงของความหวังแจกให้ผู้เข้าร่วม มันเป็นหนังสือเล่มไม่หนา แต่ออกแบบรูปเล่มสวยงาม ใช้กระดาษอย่างดี ข้างในเป็นบทสัมภาษณ์ผู้คนในสามจังหวัด เกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ สังคมพหุวัฒนธรรม มีทั้งบทสัมภาษณ์ของ บุรุษไปรษณีย์ ศิลปิน นักกิจกรรมเพื่อสังคม เภสัชกร เจ้าของแกลอรี่ศิลปะ นักออกแบบ นักเขียน และผู้คนในสายอาชีพอื่นๆ โดยส่วนตัว เราคิดว่าคนที่ถูกเลือกมาสัมภาษณ์ ก็ยังเป็นคนชนชั้นกลางซะส่วนมาก เราอยากอ่านบทสัมภาษณ์ของคนที่อยู่ในหมู่บ้าน หรือคนที่ทำงานรับจ้างทั่วไปบ้าง แต่ก็เข้าใจว่ากลุ่มเป้าหมายอาจจะเป็นคนละกลุ่มกัน ทั้งคนอ่านและคนทำหนังสือ ถึงกระนั้นหนังสือเล่มนี้ก็ทำให้เรามองเห็นความคิด ความรู้สึก ของผู้คนจำนวนหนึ่งที่มีชีวิตอยู่ในดินแดนที่เต็มไปด้วยความขัดแย้ง ซึ่งก็อาจจะไม่ต่างจากที่เราคิดและรู้สึกมากนัก ตลอดห้าปีที่อาศัยอยู่ในปัตตานี 

งานเริ่มต้นด้วยการฉายหนังสั้นเรื่องแรก “เป็นเขาและเป็นแขก” หนังพาเราติดตามสองหนุ่มวัยรุ่น ต่างเชื้อชาติและศาสนา ไปสำรวจสถานที่ต่างๆ ในสามจังหวัด หนังเล่าผ่านบทสนทนาของสองหนุ่ม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องวิถีชีวิตของคนมุสลิมมลายู คนไทยพุทธ ความสวยงามและสมบูรณ์ของธรรมชาติ สถานที่ท่องเที่ยว ตลาด ศาสนสถาน กระทั่งเล่าเรื่องผ่านบทสนทนาสั้นๆ เกี่ยวกับพหุวัฒนธรรมในสามจังหวัดชายแดนใต้ สำหรับคนนอกที่เข้าไปใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่แล้ว การดูหนังเรื่องนี้ เสมือนว่าเราได้เดินทางกลับไปในที่ๆ เรารู้สึกว่าเป็นบ้าน อีกครั้ง หลังจากออกจากพื้นที่ไปเรียนต่อเป็นเวลาสองปี 

ฉากในหนังที่ตัวละครหนุ่มทั้งสองคนเดินทางไปเที่ยว ทำให้เรานึกถึงชีวิตตัวเอง ที่คุ้นเคยกับการขี่รถไปตลาด ไปกินข้าวต้มริมแม่น้ำปัตตานี ไปดูผู้คนละหมาดที่มัสยิด  ไปเดินเล่นกับแพะที่หาดตะโละกะโปร์ เดินผ่านศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ซื้อของมือสองที่ตลาดนัดรูสะมิแล หรือดูพระอาทิตย์ตกยามเย็นที่สะพานริมแม่น้ำปัตตานี มีช่วงหนึ่งที่ทำให้น้ำตาร่วง อาจเป็นเพราะความคิดถึงบ้าน และอาจเป็นเพราะการกลับมาครั้งนี้ จะเป็นการกลับบ้านเพื่อที่จะออกไปจากบ้าน ความรู้สึกจึงปนเป ทั้งดีใจ เศร้าใจ และใจหาย 

หนังจบลงไปหนึ่งเรื่องแรก มีการพูดคุยกับผู้กำกับและผู้ทำโปรเจ็คนี้ ณรรธราวุธ เมืองสุข ผู้กำกับหนุ่มบอกเล่าเรื่องราวการกำกับหนังสั้นร่วมกับ อาจารย์ วิไลวรรณ จงวิไลเกษม ซึ่งเป็นทั้งคนแสดงและเป็นผู้สร้างเพจ ใต้สันติภาพ เพจที่มีเป้าหมายที่จะสื่อสารสร้างความเข้าใจพื้นที่ ผู้คน วัฒนธรรมในจังหวัดปัตตานี ยะลาและนราธิวาส 

เราคิดว่าหนังสั้นเรื่องนี้น่าจะสามารถโน้มน้าวให้คนนอกพื้นที่เริ่มต้นทำความรู้จักกับสามจังหวัดชายแดนใต้ได้ไม่ยาก สำหรับคนที่ไม่เคยมาเที่ยวเลย หรือแค่เคยได้ยินข่าวเหตุการณ์ความรุนแรง หนังสั้นเรื่องนี้อาจให้ภาพที่เป็นในเชิงบวก และน่าจะทำให้ภาพจำเกี่ยวกับสามจังหวัดชายแดนใต้เรื่องของระเบิดหรือความรุนแรงรายวันลดลงได้ และเป็นเหมือนการเปิดประตูให้กับคนนอกพื้นที่ มีโอกาสเข้ามาทำความเข้าใจกับคนในพื้นที่สามจังหวัดมากขึ้น

หลังจากการพูดคุย ช่วงถัดมาเป็นช่วงของการเสวนาเกี่ยวกับความหวัง ผู้ร่วมเสวนาคือ ฮาดีย์ หะมิดง นักกิจกรรมและคนทำงานขับเคลื่อนสังคมในสามจังหวัดชายแดนใต้, ก้อง ฤทธ์ดี ผู้กำกับภาพยนตร์, โหน่ง วงทนงศ์ ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ The Standard และนิตยสาร A day โดยผู้ดำเนินงานเสวนา คือ ณรรธราวุธ เมืองสุข

เราจดบันทึกบทสนทนาเอาไว้อย่างละเอียด แต่ด้วยเนื้อที่อันจำกัดในบทความ เรานำส่วนที่สำคัญมาเผยแพร่ และอยากให้ผู้อ่านได้ทำความเข้าใจ ผ่านบทสนทนาของผู้ร่วมเสวนาทั้งสามคนนี้

ฮาดีย์ หะมิดง

“ความหวังเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ผู้คนพยายามที่จะมีชีวิตอยู่ ความขัดแย้งในสามจังหวัดชายแดนใต้ ไม่ได้เพิ่งเกิดมาใน 15 ปีนี้ แต่มันมีมาก่อนหน้านี้แล้ว และผู้คนก็พยายามจะทำความเข้าใจกับมัน ผู้คนพยายามหาทางที่จะมีชีวิตอยู่ จะอยู่อย่างไรท่ามกลางสถานการณ์ความไม่สงบ ยกตัวอย่างเช่น ในสามจังหวัดจะมีวัฒนธรรมการนั่งกินชาในร้านน้ำชา พอมันมีเหตุการณ์ คนก็ปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ ถ้าวันไหนมีระเบิด คนก็จะกลับบ้าน ช่วงนั้นมันก็จะเงียบๆ หน่อย แต่พอทุกอย่างผ่านไป คนก็จะกลับมานั่งร้านน้ำชาเหมือนเดิม”

“ตอนนี้คนรุ่นใหม่ๆ ใช้โซเชี่ยลมีเดียมากขึ้น และมันก็มีทางใหม่ๆ ในการเล่าเรื่องของตัวเองมากขึ้น ตัวอย่างเช่น การเล่นสเก็ตบอร์ด ดนตรี ศิลปะ วัฒนธรรมต่างๆ คือมันก็จะมีความพยายามของคนข้างในที่จะสื่อสารกับคนข้างนอก เพราะบางทีเราพูดถึงแต่เรื่องสถานการณ์ที่มันจริงจัง มันพูดยากกว่า การเล่าเรื่องในพื้นที่ในรูปแบบอื่นๆ มันเลยเป็นการพยายามที่จะเชื่อมโยงกับคนข้างนอกพื้นที่”

“มันมีการเหมารวมว่าความขัดแย้งที่นี่เป็นเรื่องเกี่ยวกับศาสนาหรือว่าวิถีชีวิตของคนมุสลิม แต่รากจริงๆ ของความขัดแย้งในสามจังหวัดมันคือความ อยุติธรรม ยกตัวอย่างกรณี ความรุนแรงที่เกิดกับผู้นำทางการเมืองของคนมุสลิมโดยการกระทำของรัฐ การบังคับสูญหาย เป็นต้น"

ฮาดีย์ พยายามอธิบายถึงที่มาที่ไปของความขัดแย้ง รวมไปถึงความพยายามของคนในพื้นที่เอง ที่พยายามบอกเล่าเรื่องราวของตัวเอง ผ่านช่องทางใหม่ๆ และพยายามที่จะให้คนนอกพื้นที่เข้าใจคนในพื้นที่มากขึ้น

ส่วน วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์ เล่าถึงชีวิตในวัยนักศึกษาของเขา ซึ่งครั้งหนึ่งเคยไปอาศัยอยู่ที่ปัตตานีในช่วงมหาวิทยาลัย เขาเล่าว่า การใช้ชีวิตที่ปัตตานีทำให้เขามีความเข้าใจคนมุสลิมผ่านการรู้จักพิธีกรรม งานเทศกาล และความสัมพันธ์ระหว่างตัวเองกับเพื่อนมุสลิม คนมุสลิมเป็นคนยิ้มเก่ง ใจดี มีอารมณ์ขัน มีอัธยาศัยที่ดี ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่เขาเห็นผ่านสายตาตัวเองในช่วงเวลาที่ไปอาศัยอยู่ที่นั่น แต่ในขณะเดียวกัน เขายอมรับว่าตนเองก็เคยมีประสบการณ์เกี่ยวกับความขัดแย้ง มีครั้งหนึ่งที่เกิดเหตุระเบิด ในขณะที่เขากำลังดูหนังอยู่ในโรง แต่ถึงอย่างนั้น ชีวิตที่ปัตตานีก็เป็นชีวิตที่งดงาม เขาได้เรียนรู้ผู้คนจากช่วงเวลาที่ได้ไปลงพื้นที่ในชนบท เขาได้เห็นว่ามันมีความเหลื่อมล้ำมากขนาดไหน เขาคิดว่าผู้คนจำนวนมากไม่มีความเท่าเทียมและยังยากจน

หลังจากน้ัน ก้อง ฤทธิ์ดี ได้เล่าถึงความสัมพันธ์ของตัวเองกับชุมชนมุสลิม เขาเล่าว่า เนื่องจากตัวเขาเป็นมุสลิม แต่ไม่ใช่มุสลิมมลายูอย่างคนในสามจังหวัด แต่ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของคนมุสลิมมันมีอยู่ เขาติดตามสถานการณ์ความขัดแย้งในสามจังหวัด ซึ่งก็อาศัยเวลาในการทำความเข้าใจ เพราะความที่เป็นมุสลิมอยู่กรุงเทพ เขาใช้เวลาในการทำความเข้าใจสักระยะ จนกระทั่งมายืนอยู่ข้างคนมุสลิมในสามจังหวัด แต่มันก็มีหลากหลายความเห็นจากคนมุสลิมในกรุงเทพเกี่ยวกับปัญหาในสามจังหวัด ยกตัวอย่างเช่น มุสลิมบางคนก็โหวตให้กับพรรคฝ่ายทหาร มุสลิมบางคนก็ไม่ได้สนใจปัญหาความรุนแรงในสามจังหวัด มันขึ้นอยู่กับประสบการณ์และการรับรู้ของคนเหล่านี้ด้วย 

เมื่อพูดถึงเรื่องสื่อกับการนำเสนอเรื่องสามจังหวัด ก้องตอบว่า ถ้าในสื่อหลักก็จะมีการเหมารวมอยู่ มีการตีตราภาพของคนมุสลิมในสามจังหวัด ซึ่งเขามองว่ามันเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ 911 ด้วย ที่มีผลทำให้ภาพลักษณ์ของคนมุสลิมทั้งโลกดูไม่ดี เหตุการณ์ 911 ได้สร้างแนวคิดแบบนึงให้กับการนำเสนอข่าวในสื่อกระแสหลัก  หลังจากนั้น โซเชี่ยลมีเดียก็มีความซับซ้อนมากขึ้นเกี่ยวกับความเป็นมุสลิมและเหตุการณ์ความขัดแย้งในสามจังหวัด โซเชี่ยลมีเดียก็เป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่พยายามจะนำเสนอเรื่องราวอื่นๆ ที่เกี่ยวกับสามจังหวัดในแบบที่แตกต่างออกไปจากสื่อกระแสหลัก

วงทนงศ์กล่าวเสริมต่อว่า คนนอกพื้นที่มีความรู้สึกกลัวที่จะลงไปสามจังหวัด เพราะว่ามันมีการนำเสนอข่าวแค่ด้านเดียว ที่ทำให้คนรู้สึกกลัว แต่มันก็มีสื่อที่นำเสนอเรื่องราวที่ต่างออกไป เพื่อที่จะพยายามสร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้กับพื้นที่ เพื่อที่จะทำให้คนข้างนอกเข้าใจอีกด้านของสามจังหวัด มันมีการนำเสนอเรื่องราวเดิมๆ ซ้ำๆ จากสื่อเกี่ยวกับสามจังหวัด 

ฮาดีย์ อธิบายเกี่ยวกับเรื่องของศาสนาและความขัดแย้ง 

“จริงๆ เรื่องศาสนา ไม่ใช่เรื่องหลักเวลาพูดถึงความขัดแย้งสามจังหวัด แต่มันคือเรื่องของชาติพันธุ์และดินแดน คนสามจังหวัดพูดภาษาอื่น อัตลักษณ์ความเป็นมลายูคือเรื่องของภาษา และก็มีความขัดแย้งเพราะความพยายามที่จะทำให้มีความเป็นไทย ทั้งเรื่องของการศึกษา ภาษา เพราะคนที่นั่นไม่ได้นิยามตัวเองว่าเป็นคนไทย แต่นิยามตัวเองว่าเป็นคนมลายู แต่ที่ความขัดแย้งในสามจังหวัดดูหนักกว่าคนกลุ่มอื่นๆ ที่มีความขัดแย้งเหมือนกัน เช่น ชาติพันธุ์อื่นๆ ในไทยในภูมิภาคอื่น เพราะจำนวนของคนที่มากกว่า และสำนึกของความต้องการปกครองตนเองหรือมีแผ่นดินเป็นของตัวเองมันแตกต่างจากชุมชนอื่น”

ฮาดีย์พูดถึงมุสลิมคนรุ่นใหม่ว่า

“คนรุ่นใหม่ที่ไปเรียนที่อื่นมีความพยายามที่จะกลับมาใช้ชีวิตในสามจังหวัด เพราะทุกๆ คนก็อยากจะกลับมาอยู่บ้าน คนเหล่านั้นก็พยายามที่จะใช้ชีวิตและสร้างพื้นที่ของตัวเองขึ้นมา จริงๆ คนในพื้นที่มีการเชื่อมโยงกับข้างนอกมานานแล้ว ยกตัวอย่างเรื่องดนตรี สมัยเด็กๆ ตัวเองก็ฟังเพลงจากข้างนอก เพลงต่างประเทศ ถ้าไปดูตอนนี้ สามจังหวัดกลายเป็นเมืองฮิปสเตอร์มาก มีวัฒนธรรมแบบฮิปสเตอร์เต็มไปหมด การที่สมัยนึงคนมุสลิมนิยมส่งลูกไปเรียนปีนัง ก็ทำให้ได้รับอิทธิพลจากข้างนอกมาเยอะ แต่เพราะว่ารายได้มันสวนทางกับไลฟ์สไตล์ พวกแฟชั่นหรือไลฟ์สไตล์จากที่อื่นมันสามารถเห็นได้จากการแต่งตัวที่คนรุ่นใหม่ๆ เลือกที่จะแต่งกัน มันเลยมีตลาดเสื้อผ้าวินเทจ หรือตลาดมือสองในสามจังหวัด”

“ในสามจังหวัดมันมีความหลากหลาย เช่น สถาปัตยกรรม รถยนต์ การแต่งตัว อย่างงานเล่นสเก็ตบอร์ดที่พยายามจะสร้างให้มันเกิดชุมชนสเก็ตบอร์ดขึ้นมา หรืองานแสดงดนตรีที่หลายๆ งานก็ไปร่วมกันทำกับกลุ่ม Melayu Living กลุ่มนี้ก็พยายามจะทำงานที่เกี่ยวกับสถาปัตยกรรม การออกแบบ ศิลปะ เพื่อที่จะบอกเล่าเรื่อราวเกี่ยวกับสามจังหวัดชายแดนใต้ในแง่มุมอื่นๆ แล้วตอนนี้กำลังจะมีงาน Pattani Decoded ก็เป็นการที่จะเข้าใจเรื่องของอาหาร ศิลปะ วัฒนธรรม ต่างๆ ในปัตตานี มีการทำงานของ Melayu Review ซึ่งเป็นวารสารที่พยายามจะเล่าเรื่องเกี่ยวกับคนมลายูหรือสามจังหวัดผ่านงานวรรณกรรมหรือการเขียน มีกลุ่ม Trash hero ,ทะเลจร , Plogging Pattani คือกลุ่มที่พยายามจะทำงานด้านสิ่งแวดล้อม แบบนี้เป็นต้น”

วงทนงศ์เล่าเรื่องของงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ในสามจังหวัด เขาพูดถึงงานวิจัยชิ้นล่าสุดของ อ.ศรีสมภพ จิตย์ภิรมณ์ศรี ว่าด้วยตัวเลขของคนที่เสียชีวิตและบาดเจ็บในสามจังหวัดที่มีแนวโน้มจะลดลง รวมถึงการพยายามทำงานของภาครัฐที่จะแก้ปัญหา และความพยายามของผู้คนที่ช่วยกันสร้างสันติภาพ ในรายงานพูดถึงการลดลงของจำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต ซึ่งเขามองว่ามันมีการเปลี่ยนแปลงในเชิงข้อมูลเกี่ยวกับความขัดแย้งที่สามจังหวัด เขายังพูดถึงปฏิบัติการทางทหารด้วย ที่บางครั้งไปสร้างปัญหาเพิ่มหรือทำให้ประชาชนไม่ได้รับความเป็นธรรม

ก้อง ฤทธิ์ดี กล่าวเพิ่มเติมว่า จะทำอย่างไรที่จะสื่อสารเกี่ยวกับสถานการณ์ความขัดแย้งในสามจังหวัด เขาเชื่อว่ามันมีการเปลี่ยนแปลงในกลุ่มคนรุ่นใหม่ มีเสียงจากข้างในออกมาผ่านงานกิจกรรมต่างๆ มากมาย เขาหวังว่าคนในกรุงเทพหรือในเมืองใหญ่จะมีการเปลี่ยนแปลงความคิดเกี่ยวกับสามจังหวัด แต่มันก็เป็นเรื่องยากเพราะยังมีภาพลบจากเหตุการณ์ 911 หรือ กลุ่มไอซิสอยู่ แต่ถ้ามีสื่อใหม่ๆ ที่นำเสนอเรื่องราวในสามจังหวัดมากขึ้น เขาเชื่อว่ามันจะมีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น

นอกจากนี้อาจต้องดูว่า ใครที่เป็นผู้รับสารของตัวสื่อ มันคงดีถ้าสามารถสื่อสารกับคนข้างนอกได้ ไม่ใช่มุสลิมคุยอยู่กับแต่มุสลิมด้วยกันเอง ทำไมเราไม่นำเสนอและสื่อสารกับคนข้างนอกเพื่อที่จะมีความเข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับคนในสามจังหวัด

มันมีความเป็นไปได้ที่จะสร้างสื่อกระแสหลัก อย่างเช่น ภาพยนตร์ เพื่อที่จะบอกเล่าเรื่องราวในสามจังหวัด แต่มันขึ้นอยู่กับตัวนักแสดง หรือ ใครที่เป็นคนสนับสนุนด้วย มันไม่ง่ายที่จะทำสื่อหลักที่พูดถึงเรื่องราวในสามจังหวัด แต่การทำหนังอิสระก็มีข้อจำกัดเกี่ยวกับคนดูและตลาด อย่างเช่น หนังเรื่อง ละติจูดที่หก ที่มีการพูดถึงสามจังหวัด แต่ถูกนำเสนอว่าทหารคือฮีโร่ แต่เราก็ต้องยอมรับการนำเสนอแบบนี้ด้วยเพราะมันเป็นเสรีภาพที่จะนำเสนอ แม้ว่าเราจะรู้ว่ามันคือการโฆษณาช่วนเชือจากรัฐก็ตาม

อย่างกรณีหนังเรื่อง มาตุภูมิ ที่อาจจะไม่ได้นำเสนอภาพแทนของสามจังหวัดที่ดีนัก แต่น่าจะดีกว่าการไม่ไ่ด้ฉายเลย 

แล้วจริงๆ ในสามจังหวัดมันมีวัฒนธรรมร่วมกันอยู่ อย่างเช่นการรับสื่อหลักอย่างละครทีวี คนในสามจังหวัดก็ดูละคร ถ้ามีละครเกี่ยวกับสามจังหวัดออกมา ก็อาจจะทำลายกำแพงกั้นและสามารถสื่อสารกันได้ผ่านสื่อเหล่านี้ มันอาจจะดีขึ้นก็ได้

วงศ์ทนง ให้ความเห็นเรื่องรูปถ่าย เขาเชื่อว่า รูปถ่ายสามารถบอกเล่าเรื่องราวได้ เช่น ภาพถ่ายที่แสดงถึงการอยู่ร่วมกันของคนต่างศาสนา (โชว์ภาพที่เขาถ่ายกับคนมุสลิมกับคนพุทธในสามจังหวัด) 

“แม้ว่าจะนับถือศาสนาต่างกัน แต่คนก็อยู่ร่วมกันได้ บางคนย้ายมาอยู่สามจังหวัดเพราะแต่งงานกับคนที่นี่ แล้วก็รู้สึกว่าที่นี่คือบ้าน ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น พวกเขาก็ยังมีความหวัง ความหวังมันมีพลัง และไม่ได้เป็นนามธรรม แต่มันคือรากฐานของการมีชีวิต มันสามารถขับเคลื่อนผู้คนให้มีชีวิตอยู่ได้”

บทสนทนากว่าสองชั่วโมงจบลงด้วยการเปิดให้ผู้เข้าชมได้แลกเปลี่ยนความเห็น 

ความเห็นจากคนในพื้นที่จากจังหวัดยะลา

เธอเล่าว่าสมัยเด็กๆ อยู่ร่วมกับพี่น้องมุสลิมมาโดยตลอด แต่พอเกิดเหตุการณ์ เกิดความไม่ไว้วางใจขึ้นมาระหว่างกัน ทำให้ผู้คนแยกออกจากกัน เธออยากเห็นการนำเสนอในเชิงบวกจากสื่อเกี่ยวกับสามจังหวัดมากขึ้น ไม่ใช่มีแต่การนำเสนอภาพเหตุการณ์ความรุนแรง

ความเห็นจากนักศึกษาในกรุงเทพที่ไม่เคยไปสามจังหวัดมาก่อน

เขาดีใจที่ได้มาชมสารคดีเกี่ยวกับความหวัง ทำให้ได้รับแรงบันดาลใจ และกล่าวว่าทำไมเราไม่นำเสนอภาพเชิงบวกเยอะๆ แล้วอาจจะใช้คนที่มีอิทธิพลทางความคิดมาช่วยในการนำเสนอเรื่องราวในสามจังหวัด

ความเห็นจากคนที่ไม่เคยไปสามจังหวัดมาก่อน

เขาเห็นภาพความขัดแย้งรุนแรงจากสามจังหวัดมาโดยตลอด และทำให้เขากลัวที่จะไปที่นั่น ทำให้ที่นั่นดูอันตราย นอกจากนั้นมันมีเรื่องที่ทำให้เกิดความขัดแย้งที่เขารู้มาคือเรื่องของทรัพยากรธรรมชาติ เรื่องงบประมาณ ซึ่งทำให้สถานการณ์ในพื้นที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น

หลังการเสวนา มีการพักเบรก ทีมงานจัดเตรียมโรตี กือโป๊ะ และชาชักไว้ให้ผู้เข้าชม สามอย่างนี้ทำให้เราคิดถึงปัตตานี และการใช้ชีวิตที่นั่น ชาชักรสชาติที่คุ้นเคย กือโป๊ะทอดกรอบรสชาติกลมกล่อม และโรตีชิ้นพอดีคำ ผู้คนจับกลุ่มพูดคุยกัน ก่อนมีการฉายหนังสารคดีเรื่องถัดไป 

สารคดีนี้เราจำชื่อเรื่องไม่ได้ แต่เป็นเรื่องเกี่ยวกับการพยายามสร้างกิจกรรมในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส เป็นการบอกเล่าเรื่องราวการทำงานเพื่อสังคมของคนที่อำเภอสุคิริน ทั้งการพยายามสร้างงานให้เยาวชน พาเยาวชนที่ไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษามาเรียนรู้การทำงานกับชุมชน มีการก่อตั้งโฮมเสตย์ กิจกรรมล่องแก่ง มีงานวิ่งเทรลที่เพิ่งจัดครั้งล่าสุดที่ชื่อ Bala Trail ซึ่งประสบความสำเร็จในการจัดงานครั้งแรก สารคดีเล่าเรื่องราวผ่านบทสัมภาษณ์ของช่างภาพหนุ่มสองคนจากนอกพื้นที่  ที่มาติดตามการทำงานของกลุ่มนักกิจกรรมและเยาวชนในพื้นที่ ในการจัดงานวิ่ง รวมไปถึงการใช้ชีวิตของเยาวชนกลุ่มนาขั้นบันได วิถีชีวิตของชุมชนมุสลิมที่นั่น พร้อมทั้งเล่าเรื่องผ่านภาพบรรยากาศในจังหวัดนราธิวาส ทั้งภูเขา แม่น้ำ การใช้ชีวิตของชาวบ้าน

ระหว่างที่ดูสารคดีเรื่องนี้ คนข้างๆ ร้องไห้เป็นระยะ แต่เราเองก็ไม่รู้ว่าด้วยสาเหตุใด และตัวเองก็กลั้นน้ำตาไม่ได้เหมือนกัน เพราะหลายๆ คนในสารคดีเป็นคนที่เรารู้จัก เคยเจอกัน รวมไปถึงสถานที่ต่างๆ ที่ทำให้คิดถึงบ้าน คิดถึงชีวิตที่เคยอยู่ที่นั่นมากว่าห้าปี คิดถึงผู้คนที่พยายามใช้ชีวิตอย่างมีความหวังท่ามกลางความขัดแย้ง คิดถึงคนที่พยายามบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับสามจังหวัดให้คนนอกเข้าใจและสร้างภาพลักษณ์เชิงบวกเพื่อต่อสู้กับภาพลักษณ์เชิงลบตามหน้าสื่อต่างๆ

หลังสารคดีจบลง เราปลีกตัวออกจากที่นั่น ไม่ได้อยู่ทักทายใคร เดินกลับขึ้นรถไฟฟ้าไปยังที่พัก และในวันรุ่งขึ้นเราจะต้องเดินทางกลับปัตตานี เพื่อที่จะกลับไปจัดการชีวิตและออกมาจากพื้นที่ที่เรารู้สึกว่าคือบ้าน 
การได้ชมสารคดีทั้งสองเรื่องและฟังงานเสวนา ทำให้เรายังมีความหวังว่าคนรุ่นใหม่ในพื้นที่จะเล่าเรื่องราวของตัวเองและเชื่อมโยงกับคนข้างนอกมากขึ้น คนข้างนอกที่ได้ดูสารคดีทั้งสองเรื่องนี้ก็จะมีความเข้าใจผู้คนและสถานการณ์ในสามจังหวัดมากขึ้น แม้ว่าเราเองอาจจะไม่ได้อยู่ที่นั่นแล้ว แต่เราก็อยากเห็นความสงบ ยังอยากเห็นสันติภาพที่จะเกิดขึ้นในอนาคต อยากเห็นความขัดแย้งรุนแรงจบสิ้นลง ยังอยากเห็นผู้คนที่ใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุขและปลอดภัย เราเห็นความหวังของผู้คนจำนวนมากที่นั่น และเชื่อว่าสักวัน สันติภาพในสามจังหวัดจะเกิดขึ้นได้จริง 

ในฐานะคนนอก ที่เคยเข้าไปข้างใน และกำลังจะออกมาข้างนอกอีกครั้ง เรายังรู้สึกว่าสามจังหวัดคือบ้าน และเชื่อว่าคนในบ้านก็ยังมีความหวังในการมีชีวิตอยู่ เพราะอย่างที่ฮาดีย์บอกไว้ว่า “ความหวังคือส่วนหนึ่งของชีวิต ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น คนก็ยังต้องมีความหวังต่อไป” หรืออย่างที่วงศ์ทนงบอกไว้ “ความหวังมันมีพลัง ความหวังคือรากฐานของการมีชีวิตอยู่ ความหวังไม่ใช่เรื่องนามธรรมอย่างเดียว แต่เป็นแรงผลักดันให้คนมีชีวิตอยู่ต่อไปได้

ภาพจาก: Facebook Voice of Hope เสียงแห่งความหวัง
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท