Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

อันที่จริงผมเคยวิจารณ์การเข้ารับตำแหน่ง ส.ว.สนับสนุนการสืบทอดอำนาจเผด็จการของซากีย์แล้วในบทความชื่อ “ซาร์กีย์และปัญหาศาสนากับประชาธิปไตย” (ดู https://prachatai.com/journal/2019/06/83068 ) แต่เมื่อได้อ่านบทสัมภาษณ์ “มันเป็นความย้อนแย้งที่สุดในชีวิต” ซากีย์ พิทักษ์คุมพล (ดู https://www.the101.world/zakee-pitakumpol-interview/?fbclid=IwAR3NEc_H-ClxpzUa3BMKedO1180OaBZpK6tDUHaTz4kvx73Tq6Eg0G_pXc0) ทำให้อยากแลกเปลี่ยนในบางประเด็น 

อย่างไรก็ตาม เนื้อหาส่วนใหญ่ในบทสัมภาษณ์นี้ผมเห็นด้วย โดยเฉพาะส่วนที่อธิบายการสู้ชีวิตของพ่อและซาร์กีย์กับความสัมพันธ์อันงดงามของทั้งสอง เป็นส่วนที่ผมเคารพ แต่ส่วนที่เห็นแย้งคือประเด็นทางหลักการบางอย่าง

ประเด็นแรก ซาร์กีย์กล่าวว่า “วันนี้มันมีความรู้สึกเหมือนกับว่าความขัดแย้งทางการเมืองทำให้เราเป็นศัตรูกันมากเกินไป ตอนนี้ผมเข้าไปอยู่ในอีกสังคม จากเดิมที่เคยมีชีวิตแบบนักวิชาการ มาสู่สังคมของผู้มีอำนาจทางการเมือง ผมรู้สึกว่าทั้งสองฝ่ายมันมีบรรยากาศเหมือนว่าเราไม่อยากให้อีกฝ่ายหนึ่งมีที่ยืนในสังคม เราตั้งหน้าตั้งตาที่จะทำลายกันมากเกินไป เราอยากให้อีกฝ่ายหนึ่งคิดเหมือนเรา ซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เลย”

คำถามคือ ตามข้อเท็จจริงไม่ใช่ฝ่ายทำรัฐประหารและฝ่ายที่สนับสนุนรัฐประหารหรือครับที่ไม่อยากให้ฝ่ายเรียร้องเสรีภาพและประชาธิปไตยไม่มีที่ยืน และตั้งหน้าตั้งตาทำลายฝ่ายประชาธิปไตยมากเกินไป ไม่ยอมรับการแสดงความเห็นต่าง (ผมคงไม่ต้องบอกว่ามีกรณีตัวอย่างมากมายเพียงใด) 

ส่วนฝ่ายที่เรียกร้องเสรีภาพและประชาธิปไตย เขาจะทำให้อีกฝ่ายไม่มีที่ยืนได้อย่างไรครับ จะทำลายฝ่ายทำและสนับสนุนรัฐประหารได้อย่างไร เอาอำนาจอะไรไปทำแบบนั้นได้ 

อย่างมาก ฝ่ายที่ยืนยันเสรีภาพและประชาธิปไตยเขาก็ทำได้แค่ด่าและวิจารณ์ แต่การด่าและวิจารณ์ก็ไม่อาจทำให้ใคร “ไม่มีที่ยืน” ได้เลย เช่น ต่อให้ใครด่าและวิจารณ์การกระทำของซาร์กีอย่างไรภายใต้เสรีภาพในการแสดงออก (เท่าที่พอจะมี) ก็ไม่อาจทำให้ซาร์กีย์ไม่มีที่ยืนได้ คุณยังมีที่ยืนอย่างมั่นคงในตำแหน่ง ส.ว. วาระห้าปี และโหวตหนุนการสืบทอดอำนาจเผด็จการได้สองสมัย อันเป็นที่ยืนบน “สถานะอภิสิทธิชน” ค้ำโครงสร้างอำนาจที่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนให้เข้มแข็งอยู่ต่อไป

และหากวันหนึ่ง การต่อสู้เพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตยสำเร็จ ทุกคน ทุกฝ่ายก็ต้องอยู่ภายใต้กติกาที่ฟรีและแฟร์อันเดียวกัน ดังนั้น คุณจะเหมารวมอย่างผิดๆ มากไปไหมที่บอกว่าทั้งสองฝ่ายเป็นแบบเดียวกัน ทั้งๆ ที่ข้อเท็จจริงมันต่างกันคนละฟ้ากับเหว 

ประเด็นที่สอง ซากีย์กล่าวว่า “ผมคิดว่ามีมุมที่คนมองเรื่องการรับตำแหน่งต่างกัน สำหรับสังคมวิชาการก็วิจารณ์ผม แต่สำหรับมุสลิมบางกลุ่มก็มองว่าเป็นการให้เกียรติจาก คสช. ซึ่งมีอำนาจในการบริหารบ้านเมืองในขณะนั้น เพราะเขามองว่าการเป็นคนส่วนน้อยนั้นจำเป็นที่จะต้องเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมือง”

ประเด็นนี้ผมแค่ตั้งข้อสังเกตข้อความว่า “เพราะเขามองว่าการเป็นคนส่วนน้อยนั้นจำเป็นที่จะต้องเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมือง” ตำแหน่งที่เผด็จการตั้งถือว่าเป็นการ “มีส่วนร่วมทางการเมือง” ด้วยหรือครับ งั้นการทำรัฐประหารที่คนส่วนน้อยทำ ก็บอกได้ใช่ไหมว่าคนส่วนน้อยเหล่านั้นควรมีส่วนร่วมทางการเมือง (เหมือนทหารบางคนบอก “การบริหารประเทศไม่ควรผูกขาดอยู่กับนักการเมือง”) ถ้าเรายืนยันหลักการประชาธิปไตย การมีส่วนร่วมทางการเมืองคืออะไร ต้องอยู่บนฐานความชอบธรรมอะไร คุณและเพื่อนชาวมุสลิมก็ย่อมจะรู้ 

ประเด็นที่สาม ซาร์กีย์กล่าวว่า “อย่างที่บอกนั่นแหละ การเป็นนักวิชาการพอมารับตำแหน่งนี้ก็โดนด่า ทุกคนก็พยายามรักษาหลักการ ผมก็เข้าใจมันได้ แต่บางครั้งเราก็ไม่สนใจว่าเงื่อนไขในชีวิตของคนเราไม่เท่าและไม่เหมือนกันเลย ผมยืนยันว่า ผมก็ยังเชื่อมั่นในหลักการประชาธิปไตยแบบสากลนั่นแหละ แต่ผมไม่เห็นว่าการรักษาหลักการมันต้องมีค่ามากกว่าการรักษาความสัมพันธ์ในครอบครัว แบบที่อัลแบร์ กามู บอกว่าไม่ใช่เขาไม่รักความยุติธรรม แต่เขาขอเลือกแม่ก่อนความยุติธรรม ผมก็รู้สึกแบบนั้น” 

จริงๆ เขาไม่ได้ด่าแต่นักวิชาการนะครับ เขาด่าทั้งหมดเลย แต่กรณีนักวิชาการที่มีภาพว่าอยู่ฝ่ายประชาธิปไตยมาก่อน อาจตกเป็นเป้ามากกว่า 

ส่วนการอ้าง “เงื่อนไขความจำเป็นในการรับผิดชอบครอบครัว” ถ้าเป็นการอ้างเพื่อปฏิเสธการลุกขึ้นมาวิพากษ์วิจารณ์เผด็จการและเคลื่อนไหวต้านเผด็จการเพราะกลัวตายหรือติดคุก ย่อมเป็นเหตุผลที่ฟังขึ้น แต่ถ้าอ้างเพื่อบอกว่าจำเป็นต้องรับตำแหน่งกินเงินเดือนสาธารณะหนุนการสืบทอดอำนาจเผด็จการ มันยากมากที่จะให้คนทั่วไปเข้าใจได้

พูดอีกอย่างว่า หากเราเลือกครอบครัวแล้วได้อภิสิทธิ์และผลประโยชน์มากขึ้นโดยขัดหลักการที่ชอบธรรม เราจะอธิบายให้คนส่วนใหญ่ที่เสียประโยชน์จากการทำลายหลักการที่ชอบธรรมเข้าใจและยอมรับได้อย่างไร

ผมเข้าใจว่ามันเป็นเรื่องลำบากมากในการตัดสินใจ (ตามที่ซาร์กีย์อธิบาย) แต่มันก็ยากมากไม่น้อยไปกว่ากันหรืออาจจะยากยิ่งกว่าที่จะทำให้คนทั่วไปเข้าใจเหตุผลดังกล่าวของคุณ เพราะลูกชายจุฬาราชมนตรีได้ตำแหน่ง ส.ว.ในฐานะตัวแทนสำนักจุฬาราชมนตรี มันต่างอย่างไรกับน้องชายประยุทธ์ จันทร์โอชาได้ตำแหน่ง ส.ว.ในชุดเดียวกัน ในเมื่อทั้งสองกรณีมี “ความสัมพันธ์ทางครอบครัว” เข้ามาเกี่ยวข้องในการได้ตำแหน่งเช่นกัน

ประเด็นที่สี่ ซาร์กีย์กล่าวว่า “วันที่ผมขานชื่อพลเอกประยุทธ์เป็นนายกฯ มันเป็นความรู้สึกที่อธิบายยากมาก มันย้อนแย้งกับสิ่งที่ตัวเองเชื่อ มันเป็น crisis of representation จริงๆ ระหว่างความเป็นตัวเองและการเป็นตัวแทนขององค์กรที่ต้องรักษาไว้ มันเป็นความย้อนแย้งที่สุดในชีวิตที่ผมเคยเจอ บางคนก็มองว่าผมเป็นพวก hypocrite ไม่มีความกล้าหาญเพียงพอ ซึ่งก็อาจจะจริงอย่างที่เขาว่าก็ได้ แต่เชื่อผมเถอะ มันไม่ง่ายหรอกครับ ถ้าคุณต้องแบกภาระอื่นไว้ด้วยที่ไม่ใช่แค่ความเป็นตัวเองเพียงลำพัง”

ข้อความดังกล่าวเหมือนคุณกำลังอธิบายให้อีกฝ่ายเข้าใจและเคารพ “ความเป็นมนุษย์” ของตนเอง แต่เมื่อเราพูดถึงความเป็นมนุษย์เท่ากัน หรือ “ความเป็นคนเท่ากัน” มันย่อมหมายความว่า เรายืนยันความหมายนี้บนการยึดหลักสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค แต่การที่ใครไปยืนอยู่บนสถานะอภิสิทธิ์ในฝ่ายเผด็จการแล้วพยายามอธิบายให้คนอื่นที่ถูกเผด็จการปล้นสิทธิเสรีภาพเข้าใจความเป็นมนุษย์ของตนมัน make sense หรือไม่

คนอีกจำนวนมากที่ถูกล้อมฆ่ากลางเมืองหลวง ต้องคดี ติดคุก หนีไปลี้ภัยการเมืองในต่างประเทศ พวกเขามีความเป็นมนุษย์ที่ควรได้รับความเข้าใจและเคารพไหม เราควรแสดงความเคารพความเป็นมนุษย์ของคนเหล่านั้นด้วยการเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนการสืบทอดอำนาจเผด็จการไหม

ประเด็นสุดท้าย ซาร์กีย์สรุปว่า “แม้สุดท้ายผมจะรู้สึกว่าสถานะความเป็นนักวิชาการมันทิ่มแทงตัวเองอยู่ลึกๆ ความเชื่อเกี่ยวกับประชาธิปไตยผมอาจเป็นโมฆะ แต่เมื่อผมย้ายจากโลกอุดมการณ์มาสู่ในโลกความเป็นจริงที่สังคมไทยกำลังเผชิญ ผมเข้าใจมันมากขึ้นกว่าเดิมและได้เรียนรู้หลายอย่าง เข้าใจคนที่ผมไม่เคยคิดว่าต้องไปทำความเข้าใจพวกเขาเลย สิ่งหนึ่งที่ผมเห็นในทางการเมืองมากขึ้นคือ ไม่ว่าจะถูกผลักไปฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก็ตาม ความจริงคือการเมืองไทยไม่มีพื้นที่ตรงกลาง เมื่อเป็นเช่นนี้ คำถามคือผมจะอยู่อย่างไรให้เป็นประโยชน์กับคนอื่นบ้าง ซึ่งผมเองคงต้องพยายามหาคำตอบต่อไปตราบที่ยังอยู่ในตำแหน่งนี้”

คือ คนที่ไม่ไปเป็น ส.ว.แบบคุณก็ไม่ใช่ว่าจะไม่เข้าใจว่าอีกฝ่ายคิดอย่างไร เชื่ออย่างไรนะครับ เพราะกว่าสิบปีมานี้มันมีข้อมูลมหาศาลที่ฝ่ายทำและสนับสนุนรัฐประหารอธิบายตัวเอง และหากนับรวมความคิดของฝ่ายอุดมการณ์ราชาชาตินิยมที่พัฒนาต่อเนื่องมาจากการต่อต้านอุดมการณ์ในการปฏิวัติสยาม 2475 และผ่านรัฐประหารครั้งต่างๆ ที่ทำให้อุดมการณ์ดังกล่าวเข้มแข็งมากขึ้นๆ อำนาจของพวกเขาเพิ่มมากขึ้นๆ จนมีวันนี้ วันที่ซาร์กีย์ไปเป็นส่วนหนึ่งของพวกเขา มันเต็มไปด้วยข้อมูล เรื่องราว เหตุการณ์มากมายที่ทำให้เราเข้าใจว่าฝ่ายนั้นเขาคิด และเชื่ออย่างไร 

ปัญหาอยู่ที่ว่า ฝ่ายที่สู้เพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตยถูกเข้าใจอย่างไร ตั้งแต่ปรีดี พนมยงค์และคนอีกมากไม่มีแผ่นดินอยู่ ตายในป่า ลูกล้อมปราบกลางเมืองหลวง ติดคุก ถูกทำร้าย ถูกประหารชีวิต ถูกอุ้มฆ่า มันมากมายเท่าไรแล้ว กินเวลายาวนานเกือบร้อยปีแล้ว อะไรคือการค่อยๆ เปลี่ยนไปสู่ประชาธิปไตยในแบบที่คุณคิด

เรายอมรับกันหรือไม่ว่า จริงๆ แล้ว อุปสรรคสำคัญมากส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนสู่เสรีภาพและประชาธิปไตยมาจากบรรดานักวิชาการและปัญญาชนจำนวนไม่น้อยที่ตราหน้าว่าคนระดับชาวบ้านโง่ ไม่รู้ประชาธิปไตย ถูกหลอก ถูกซื้อ แล้วพวกเขาเหล่านั้นก็ขายตัว ขายวิญญาณรับใช้เผด็จการด้วยข้ออ้างต่างๆ นานาที่ฟังไม่ขึ้น



ปล. การตกอยู่ภายใต้อำนาจจากรัฐประหารและการสืบทอดอำนาจเผด็จการ แม้จะบอกว่าเป็น “ความจริงของสังคม” แต่ก็เป็น “ความจริงที่ถูกสร้างขึ้น” คำถามคือ เราควรเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างหรือเปลี่ยนความจริงนั้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net