สิริเพ็ญ พิริยจิตรกรกิจ: Philosophy For Children เด็กคิดไม่ได้หรือผู้ใหญ่ไม่ยอมให้คิด

เพราะปรัชญาไม่ใช่เรื่องของการอ่านตำรา ศึกษาความคิดของนักปรัชญานามกระเดื่องเพียงอย่างเดียว แต่คือการฝึกฝนความคิดและการใช้เหตุผล เด็กจึงสามารถคุยเรื่องปรัชญาได้ คิดอย่างมีเหตุผลได้ ปัญหาคือผู้ใหญ่เชื่อหรือไม่ว่าเด็กคิดเองได้

สิริเพ็ญ พิริยจิตรกรกิจ ประธานอนุกรรมการด้านปรัชญาสำหรับเด็กและเยาวชน สมาคมปรัชญาและศาสนาแห่งประเทศไทย (ภาพจาก ยูทูบสมาคมปรัชญาและศาสนา ประเทศไทย)

  • ช่วงปลายทศวรรษ 1960 แมทธิว ลิปแมน ริเริ่มปรัชญาสำหรับเด็ก (philosophy for children: p4c) เพื่อส่งเสริมด้านการคิด การแก้ปัญหา และการใช้เหตุผล
  • p4c มุ่งพัฒนาให้เด็กปรับปรุงการคิดใน 3 ด้าน คือ การคิดเชิงวิพากษ์ (critical thinking) การคิดเชิงสร้างสรรค์ (creative thinking) และการคิดเชิงอาทร (caring thinking) และสร้างทักษะ 4 ด้านคือทักษะการสร้างมโนทัศน์ (Concept formation skills) ทักษะการสืบสอบ (Inquiry skills) ทักษะการใช้เหตุผล (Reasoning skills) และทักษะการแปลความ (Translation skills)
  • ในประเทศไทย สิริเพ็ญ พิริยจิตรกรกิจและคณะกำลังทดลองและพัฒนา p4c เพื่อนำมาใช้ในระบบการศึกษาไทย
  • เด็กสามารถคิดอย่างมีเหตุผลได้

เด็กคิดไม่เป็น

เด็กคิดไม่ได้

เด็กยังไม่โตพอจะคิดอย่างมีเหตุผล ฯลฯ

ความเชื่อที่ยังฝังแน่นในสมองของผู้ใหญ่จำนวนไม่น้อย การเชื่อฟังและทำตามจึงเป็นทางเลือกที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก การตั้งคำถามยิ่งเป็นเรื่องยากและถ้ายิ่งเป็นคำถามที่ห้ามถาม ซึ่งมีอยู่เกลื่อนกลาดในสังคมไทย การถามก็ยิ่งอันตราย

แต่แนวคิด philosophy for children หรือ p4c ไม่คิดแบบนั้น ช่วงปลายทศวรรษ 1960 เมื่อ แมทธิว ลิปแมน (Matthew Lipman) ศาตราจารย์ด้านปรัชญาที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย สหรัฐอเมริกา เริ่มเห็นสัญญาณไม่ดีจากระบบการศึกษาของประเทศตน โดยเฉพาะด้านการคิด การแก้ปัญหา และการใช้เหตุผล เขาจึงริเริ่ม p4c ขึ้น ซึ่งปัจจุบันแนวคิดนี้ถูกนำไปใช้ในหลักสูตรการศึกษาในหลายประเทศทั้งฝั่งตะวันตกและตะวันออก ยกเว้นประเทศไทย

เด็กอนุบาลก็รู้จักใช้เหตุผล

“ตอนที่ลิปแมนเสนอเรื่องนี้เมื่อประมาณปี 1970 กว่า มันค่อนข้างขัดกับกระแสหลักที่เป็นแนวคิดของเพียเจต์ (Jean Piaget) ที่คิดว่าเด็กอายุต่ำกว่า 11-12 ปี ไม่เข้าใจเรื่องเหตุผล เพราะฉะนั้นวิธีสอนก็จะเป็นอีกแบบหนึ่ง แต่ลิปแมนคิดว่าเด็กอนุบาลก็รู้จักเหตุผลแล้ว ซึ่งก็มีการหาหลักฐาน การทดสอบ แนวคิดของเพียเจต์ก็ลดลงไป เพราะพบว่าเด็กสามารถใช้เหตุผลได้ เมืองไทยก็เหมือนกัน อยู่ภายใต้แนวคิดของเพียเจต์”

ขณะที่วิชาปรัชญาทั่วไปหรือปรัชญาพื้นฐานที่สอนกันในมหาวิทยาลัย โดยมากคือการศึกษาความคิดของนักปรัชญาในอดีต แต่ p4c ไม่ใช่อะไรแบบนั้น เป้าหมายของ p4c ไม่มุ่งให้เด็กและเยาวชนรู้จักนักปรัชญาอย่างเพลโต ฮูม ค้านท์ หรือล็อค เพื่อเอาไปสอบเก็บคะแนน

สิริเพ็ญ พิริยจิตรกรกิจ ประธานอนุกรรมการด้านปรัชญาสำหรับเด็กและเยาวชน สมาคมปรัชญาและศาสนาแห่งประเทศไทย หนึ่งในทีมนักวิชาการที่กำลังค่อยๆ ขยับแนวทาง p4c ในไทย แม้จะเป็นไปอย่างเชื่องช้าด้วยเงื่อนไขหลายอย่าง แต่เธอและทีมงานก็หวังว่าสักวัน p4c จะเข้าไปอยู่ในห้องเรียน

สิริเพ็ญเล่าว่า ก่อนนี้เธอไม่เคยคิดถึงการสอนปรัชญาในโรงเรียน เพราะตัวเธอเองก็สอนแต่นักศึกษาที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กระทั่งความประจวบเหมาะทำให้เธอได้พบกับโยสไตน์ กอร์เดอร์ ผู้เขียนเรื่อง ‘โลกของโซฟี’ จึงได้รู้ว่าโยสไตน์เขียนโลกของโซฟีสำหรับเด็กมัธยมในประเทศของเขา และทำให้รู้ว่าในยุโรป การสอนปรัชญาเป็นเรื่องปกติ ถึงกระนั้นก็ยังเป็นการสอนที่สอนในมหาวิทยาลัย แต่นั่นก็ช่วยจุดประกาย

“ตอนที่สอนอยู่พบว่านักศึกษาที่ไม่ได้สนใจแต่มาเรียนเป็นวิชาพื้นฐาน เวลาสอนจะค่อนข้างยากมากที่จะให้เขามีวิธีคิดแบบปรัชญาว่าเป็นยังไง การใช้เหตุผล ทำไมบางปัญหาจึงสำคัญแม้จะตอบไม่ได้ ก็เลยคิดว่าถ้ามีสอนปรัชญาตอนมัธยมคงจะดี ตอนนั้นก็เคยคิดอีกเรื่องหนึ่งคือระบบการศึกษาไทยทำไมต้องมาเรียนวิชาศึกษาทั่วไปในมหาวิทยาลัย หลายวิชาพยายามออกแบบให้เกี่ยวกับชีวิตประจำวัน พวกเราก็บ่นกันเพราะมันเบียดบังวิชาเอก”

เมื่อเด็กต้องโดนระบบการศึกษาเคี่ยวเข็ญเฆี่ยนตีเพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัย วิธีการคิด การใช้เหตุผล หรือความรู้ทั่วไป ก็กลายเป็นสิ่งไร้ค่า สิริเพ็ญจึงเริ่มค้นคว้าพบแนวคิดการสอนปรัชญาสำหรับเด็กของลิปแมน ซึ่งไม่ใช่การศึกษาความคิดของนักปรัชญาคนใด แต่เป็นการนำประเด็นทางปรัชญามาถกเถียงกับเด็กๆ ทั้งยังพยายามสังเกตว่าเด็กในแต่ละช่วงอายุจะสนใจปัญหาไหน แล้วจะคุยปัญหาแบบไหนกับเด็กๆ บ้าง ซึ่งจะสอดแทรกวิธีการใช้เหตุผลผสมผสานลงไปในการพูดคุย

สิริเพ็ญยกตัวอย่างว่า พ่อของเด็กอยากให้ลูกเรียนวิศวะ แต่ลูกไม่อยากเรียน พ่อให้เหตุผลว่าวิศวกรทุกคนเก่งคณิตศาสตร์และลูกเก่งคณิตศาสตร์ ดังนั้น ลูกจึงควรเรียนวิศวะ เธอถามว่าคิดการใช้เหตุผลนี้มีอะไรผิดหรือเปล่า เธอเฉลยว่าเด็กที่เก่งคณิตศาสตร์ทุกคนใช่ว่าจะเก่งวิศวะ จากข้ออ้าง 2 ข้อจึงนำมาสู่ข้อสรุปแบบนี้ไม่ได้ นี่เป็นตัวอย่างวิธีการสอนการใช้เหตุผลที่สอดแทรกเข้าไป

การปรับปรุงความคิด 3 ด้าน

ปรัชญาสำหรับเด็กมีเป้าหมายที่จะช่วยส่งเสริมให้เด็กปรับปรุงการคิดใน 3 ด้าน คือ การคิดเชิงวิพากษ์ (critical thinking) การคิดเชิงสร้างสรรค์ (creative thinking) และการคิดเชิงอาทร (caring thinking)

“ความคิดของลิปแมนต้องการเปลี่ยนห้องเรียนเป็นชุมชนแห่งการสืบสอบ ครูมีหน้าที่ช่วยนักเรียนเฉยๆ ในการนั่งคุยกัน ประเด็นหนึ่งที่ต้องใช้คือโลจิกหรือการใช้เหตุผล เบื้องหลังของลิปแมนต้องการสร้างพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยด้วย ซึ่งมันต้องเป็นชุมชน ทุกคนต้องอยู่ในชุมชน ถึงแม้จะบอกว่าฉันมีโลกส่วนตัว แต่เราก็ต้องร่วมกันตกลงบางเรื่อง ความคิดของลิปแมนคือการอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มความอาทรเป็นเรื่องสำคัญ ส่วนการคิดเชิงสร้างสรรค์สำคัญก็เพราะโลกไม่ได้อยู่นิ่งๆ มันเปลี่ยนตลอด

“ในระบบการศึกษาที่เป็นเสมอคือเด็กต้องมาเรียนรู้สิ่งที่บรรพบุรุษสร้างไว้ ความรู้ต่างๆ ที่ตกทอดมา แต่การเรียนหลายครั้งจะมีลักษณะเป็น passive คือรับมา ท่องไป แต่ลิปแมนคิดว่าความรู้มีตัวคุณค่าติดมาเสมอ เวลาส่งมาให้เด็ก เด็กจะต้องอยู่ต่อไป การรับความรู้แบบ passive มันไม่ค่อยช่วยอะไรเวลาที่เด็กโตขึ้นและต้องไปต่อ ในเมื่อสังคมเปลี่ยน มีเทคโนโลยีใหม่ๆ สารพัดอย่าง เขาคิดว่าเด็กต้องสามารถคิดทบทวน คิดใหม่ หรือจัดระบบความรู้ใหม่ คือบางอย่างอาจจะเป็นข้อเท็จจริง แต่มันถูกจัดโดยคุณค่าของคนรุ่นเก่า อาจต้องมาจัดใหม่ ซึ่งก็ต้องอาศัยการคุยกัน เพราะไอเดียของประชาธิปไตยคือการช่วยกันจัด

“ในระบอบประชาธิปไตยต้องฝึกคนให้หัดคิดทบทวนสิ่งที่เรามี คิดใหม่ ทำใหม่ ภายใต้การคิดอันนี้ การคิดเชิงวิพากษ์ของเขาค่อนข้างกว้าง ไม่ใช่แค่โลจิก แต่มีการทบทวนเรื่องคุณค่าทุกเรื่องใหม่หมด และเด็กๆ ต้องถูกฝึกให้ช่วยกันคิด”

ความคิดเบื้องหลังอีกประการหนึ่งของลิปแมนคือมนุษย์ทุกคนไม่สมบูรณ์แบบ การพูดคุยกันจะทำให้เด็กแต่ละคนรู้ว่าคิดไม่ถูกตรงไหนและเกิดการแก้ไขตัวเอง ประเด็นสำคัญมากคือต้องการฝึกให้เด็กแก้ไขทางความคิดได้ตลอดเวลา เพราะเมื่อความคิดเปลี่ยน พฤติกรรมก็เปลี่ยน

การสร้างทักษะทั้ง 4

แนวคิดของลิปแมนยังต้องการก่อให้เกิดทักษะการสร้างมโนทัศน์ (Concept formation skills) ทักษะการสืบสอบ (Inquiry skills) ทักษะการใช้เหตุผล (Reasoning skills) และทักษะการแปลความ (Translation skills) ในตัวเด็ก

สิริเพ็ญยกตัวอย่างทักษะการสร้างมโนทัศน์ว่า ถ้ามีมโนทัศน์ที่ชัดเจนจะช่วยให้เข้าใจและเห็นประเด็นต่างๆ ชัดเจนขึ้น

“สมมติว่าเด็กคนหนึ่งโดนคนไม่รู้จักไถเงิน เด็กคนนั้นจะเกลียดคนไถเงินหรือไม่” สิริเพ็ญถาม

“ก็คงเกลียด”

“ทำไม”

“ก็มาไถเงินผม”

“แล้วถ้าเพื่อนเรามาไถเงิน”

“คงนำไปสู่การคุยมากกว่า”

“ทำไมกับเพื่อนเราคุย แต่กับคนก่อนหน้านี้ไม่คุย คนแรกเราจะเกลียด สิ่งที่อาจต้องลองคิดคือเราต้องแยกกันมั้ยระหว่างการกระทำกับคนที่ทำ เราไม่ชอบการกระทำ แต่เมื่อไหร่ที่เราจะสรุปได้ว่าคนนี้เป็นคนไม่ดีในสายตาเรา นี่คือเราต้องเคลียร์คอนเซ็ปต์นี้ให้ชัด เวลาเราคิดเรื่องนี้มันค่อนข้างเร็ว ไม่ได้แยกตัวการกระทำกับตัวคนทำ เหมือนกับที่ทุกวันนี้เวลาคนทำอะไรสักอย่างแล้วโดนด่าในโซเชียลมีเดียว่าเป็นคนเลว

“ประเด็นคือสิ่งที่ต่างกันระหว่างเพื่อนกับคนอื่น ทำไมกรณีเพื่อนเราถึงไม่โกรธเท่าไหร่ สิ่งที่ต่างคือข้อมูล เรามีข้อมูลของเพื่อนเยอะ รู้จักเขา เคยทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน แต่อีกคนที่มาไถเงินเราอาจจะมีข้อมูลน้อย ทำไมคนที่เรามีข้อมูลน้อย เราจึงไปด่วนสรุปว่าเป็นคนไม่ดี แต่คนที่เรามีข้อมูลเยอะ เรากลับคิดอีกอย่าง มันก็จะโยงไปเป็น fallacy แบบหนึ่ง เป็นการใช้เหตุผลบกพร่องแบบหนึ่ง เป็นการด่วนสรุป เมื่อคอนเซ็ปต์ชัดขึ้น ถ้าเราแยกออก เวลาเราเผชิญหน้ากับปัญหา มันจะเห็นภาพต่างออกไป”

สิริเพ็ญยกอีกตัวอย่างของทักษะการสร้างมโนทัศน์ เด็กอนุบาลนั่งล้อมวงคุยกันเรื่องช้อน อะไรทำให้เป็นช้อน ขนาดช้อนหรือรูปร่างช้อน ถ้ามีช้อนยักษ์ยังเป็นช้อนอยู่หรือเปล่า ใช้กินก็ไม่ได้ แต่ทำไมยังเป็นช้อน มีเด็กพยายามตอบหลายคนเป็นคำตอบที่น่าสนใจ เด็กคนหนึ่งบอกว่าช้อนเล็กๆ แบบช้อนตุ๊กตาก็ยังเป็นช้อนอยู่ แล้วความเป็นช้อนอยู่ที่ไหน อยู่ที่ลักษณะของช้อน ไม่ได้อยู่ที่ขนาด แต่ไม่ได้หมายความว่าตอนจบต้องการข้อสรุปตายตัว แต่อย่างน้อยเด็กเริ่มคิดว่ามีเรื่องขนาด เรื่องรูปร่าง หรือทำมือเป็นช้อนเอาอาหารใส่มือแล้วกินถือว่าเป็นช้อนหรือไม่ สิ่งนี้กระตุ้นให้เด็กสังเกตว่ามีมโนทัศน์เรื่องไหนเข้ามาเกี่ยวข้องบ้าง

สิริเพ็ญและทีมยังได้ทดลองจัดเวิร์คช็อปกับเด็กมัธยมปลาย ซึ่งผลที่ออกมาถือว่าน่าพอใจ

“เราทำเวิร์คช็อปเสร็จแล้ว ทำ 5 อาทิตย์ ก็โอเค แต่ต้องทำนานกว่านี้ คือเด็กส่วนใหญ่ก็จะอยู่ที่ตัวเอง ตัวเองเป็นศูนย์กลาง แต่ต้องทำให้อยู่ร่วมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเขาต่างกัน คุยกัน แลกเปลี่ยน โดยไม่รู้สึกว่าความคิดฉันน่าอับอาย ไม่กล้าพูด

“ที่เด็กตอบมาบางอันก็ดี เขาบอกว่ามันทำให้เขาคิดละเอียดขึ้นซึ่งธรรมดาไม่เคยคิด อย่างเรื่องธรรมดาทั่วไปทำไมต้องคิดละเอียดขนาดนี้ ตรงนี้เป็นสิ่งที่เราอยากได้ การคิดเชิงวิพากษ์ที่ดีคือต้องเป็นคนละเอียด ละเอียดกับคอนเซ็ปต์ แยกแยะได้

“เด็กคุยเรื่องปรัชญาได้ ขึ้นกับว่าเราเชื่อว่าเด็กมีความคิดหรือเปล่า เด็กคิดเองได้หรือเปล่า แล้วส่วนใหญ่เป็นความเชื่อตามๆ กันมาหรือเปล่าว่าเด็กไม่ค่อยคิด คิดเองไม่ได้ ยังไม่มีความคิด แต่เด็กมี”

คำถามที่ห้ามถาม

มาถึงตรงนี้เชื่อว่าหลายคนเกิดคำถามในใจว่า p4c จะเกิดเป็นจริงได้หรือในสังคมไทย สิริเพ็ญกล่าวว่าอุปสรรคขณะนี้คือการโน้มน้าวสังคมให้เห็นว่า p4c มีประโยชน์และควรทำ แต่อุปสรรคที่ใหญ่กว่านั้น...

“รัฐไม่เคยคิดถึงเรื่องเหล่านี้ ไม่เข้าใจเรื่องนี้ อย่างรัฐมนตรีศึกษาที่ผ่านมาไม่ใช่แค่คนปัจจุบัน ส่วนใหญ่ไปยุ่งเรื่องอื่น แต่ไม่มีใครคิดภาพรวม มีครั้งเดียวคือตอน พ.ร.บ.การศึกษา ที่เปลี่ยนให้นักเรียนเป็นศูนย์กลาง เป็นครั้งเดียวที่มองภาพรวมและพยายามเปลี่ยนระบบ แต่ก็ไม่เวิร์ค นักเรียนเป็นศูนย์กลางเป็นอะไรก็ไม่รู้ เหมือนทุกคนยังติดกับกระบวนทัศน์เก่าอยู่ ก็แค่ทำตามใจเด็กหน่อย เด็กอยากเรียนอะไรก็ตามใจ ก็ถือว่าเป็นเด็กเป็นศูนย์กลางแล้ว แต่มันไม่ใช่อย่างนี้ ของลิปแมนเด็กเป็นศูนย์กลาง แต่มันค่อนข้างซับซ้อน สมมติอยู่ในห้องเรียน เด็กก็คุยกัน แต่ครูคอยช่วย ไม่ให้ออกนอกทาง แต่การเลือกเรื่องคุยต้องให้เด็กเลือก หรือคุยแล้วมันจะไปทางไหนก็อยู่ที่เด็ก”

ถามว่าแล้วจะทำอย่างไรกับความเชื่อที่ห้ามตั้งคำถาม

“ถูกที่ว่าเราห้ามตั้งคำถามบางอย่าง แต่เราไม่ได้ถูกห้ามทุกคำถามไม่ใช่เหรอ ในสังคมไทยมีหลายคำถามที่ห้ามถาม อาจจะถูกจับ แต่บางคำถามก็ไม่โดน คิดว่าปัญหาใหญ่อยู่ที่ผู้ใหญ่ไม่ค่อยให้ค่ากับคำถามของเด็ก ปกติเด็กช่างถามจะตายไป พ่อแม่สนใจจะตอบหรือเปล่า

“แต่เดี๋ยวนี้เด็กถามกันมากขึ้น ถ้ารุ่นต่อไปเห็นด้วยกันว่ามันต้องถาม มันก็เลี่ยงไม่ได้แล้ว แต่ทุกวันนี้มีถามอยู่บางคน ที่เหลือไม่ถามหรือเลี่ยงที่จะไม่ถาม เพราะไม่รู้จะเป็นอันตรายต่อตัวเองหรือเปล่า เวลานี้คนก็เห็นพ้องต้องกันหลายอย่าง แม้ว่าบางคนอาจจะไม่พูดอะไร”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท