Skip to main content
sharethis

เผยผู้ประกันตน ม.40 มีเกิน 3 ล้านคนแล้ว

นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เปิดเผยว่า สปส.ได้ดำเนินการให้แรงงานนอกระบบทุกสาขาอาชีพทั้ง เกษตรกร ผู้ขับขี่รถยนต์หรือมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ผู้ค้าหาบเร่แผงลอย หรือผู้ประกอบอาชีพอิสระอื่นๆ สามารถสมัครเป็นผู้ประกันตนภาคอิสระมาตรา 40 ขณะนี้มีแรงงานนอกระบบเข้าเป็นผู้ประกันตนแล้ว 3,064,842 คน (ข้อมูล ณ เดือนกรกฎาคม 2562)

อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการจูงใจให้แรงงานภาคอิสระที่ยังไม่ได้เข้าสู่ความคุ้มครองจาก สปส.ให้เข้ามาอยู่ในระบบมากขึ้น โดยเปิดโอกาสให้แรงงานภาคอิสระ ที่สนใจสมัครเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 ได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด/สาขา ทั่วประเทศที่สะดวก เพียงใช้บัตรประจำตัวประชาชนในการสมัคร สำนักงานประกันสังคมยังได้ให้บริการขึ้นทะเบียนผ่านระบบอินเตอร์เน็ต โดยผู้ที่ต้องการสมัครขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 สามารถสมัครขึ้นทะเบียนได้ด้วยตนเอง หรือให้ผู้อื่นสมัครผ่าน https://www.sso.go.th/section40_regist/ หรือผ่านทาง QR code ทั้งนี้ ผู้สมัครต้องกรอกเลขบัตรประจำตัวประชาชน หมายเลขหลังบัตรประจำตัวประชาชน คำนำหน้า ชื่อ-นามสกุล วัน-เดือน-ปีเกิด อีเมล์ หรือหมายเลขโทรศัพท์ที่ติดต่อได้” เลขาธิการ สปส. กล่าว

ที่มา: มติชนออนไลน์, 21/8/2562

รมว.แรงงาน ยืนยันควบรวม 'ทหารไทย-ธนชาต' ไม่มีการเลิกจ้างงาน

ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "หม่อมเต่า" ยืนยันว่าการควบรวมธนาคารทหารไทยกับธนาคารธนชาต กรมการจัดหางานได้ติดต่อเรียบร้อยแล้ว จะไม่มีการเลิกจ้างงานเพราะเหตุควบรวม พนักงานส่วนเกินในงานเดิมจะ relocate ไปงานใหม่ของธนาคาร เพื่อให้ธนาคารเมื่อควบรวมแล้วเป็นธนาคารสมบูรณ์แบบ ต้องแสดงความยินดีกับผู้รับผิดชอบการควบรวมที่ทำให้สถาบันดีขึ้นและแรงงานไม่ถูกกกระทบในเชิงที่ต้องออกจากงาน

ที่มา: ไทยโพสต์, 22/8/2562

คปภ.ประสานวิริยะ-สินมั่นคงฯ จ่ายอุบัติเหตุรถตู้ขนแรงงานไทย-ลาว เสียชีวิต 12 คน เจ็บ 3 คน

ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า จากกรณีรถตู้หมายเลขทะเบียน 34-0405 กรุงเทพมหานคร ชนกับรถบรรทุกพ่วง 18 ล้อ (หัวลาก) ทะเบียน 70-1234 อุตรดิตถ์ และ (ตัวพ่วง) ทะเบียน 70-1235 อุตรดิตถ์ บริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอวังสมบูรณ์ ตำบลวังใหม่ อำเภอวังสมบูรณ์ จังหวัดสระแก้ว เป็นเหตุทำให้มีผู้บาดเจ็บจำนวน 3 ราย และมีผู้เสียชีวิต 12 ราย โดยผู้เสียชีวิตทั้ง 12 ราย เป็นคนไทยที่ขับรถตู้ 1 ราย และอีก 11 ราย เป็นแรงงานชาวลาว ที่นั่งโดยสารมากับรถตู้คันที่ประสบอุบัติเหตุดังกล่าว เหตุเกิดเมื่อวันที่ 18 ส.ค. 2562

โดยเบื้องต้นได้สั่งการให้สายส่งเสริมและประกันภัยภูมิภาค สายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ บูรณาการร่วมกับ สำนักงาน คปภ. ภาค 6 (ชลบุรี) และสำนักงาน คปภ. จังหวัดสระแก้ว รายงานความเสียหายอย่างเร่งด่วนผ่าน Platform การรายงานข้อมูลกรณีอุบัติภัยกลุ่มหรือรายใหญ่ด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์และให้ประสานความร่วมมือกับบริษัทประกันภัยที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนลงพื้นที่เพื่ออำนวยความสะดวกด้านประกันภัยให้กับครอบครัวของผู้เสียชีวิต และผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ รวมทั้งติดตามและตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมว่า ผู้เสียชีวิตทั้ง 12 ราย ที่เป็นคนไทยและที่เป็นแรงงานต่างด้าวชาวลาว ได้มีการทำประกันชีวิตหรือประกันอุบัติเหตุประเภทกลุ่มไว้ด้วยหรือไม่ เพื่อใช้ระบบประกันภัยช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับครอบครัวของผู้เสียชีวิตอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรม

ทั้งนี้ได้รับรายงานเบื้องต้นจากสำนักงาน คปภ. จังหวัดสระแก้วว่ารถตู้หมายเลขทะเบียน 34-0405 กรุงเทพมหานคร ได้ทำประกันภัยรถภาคบังคับ (พ.ร.บ.) ไว้กับ บริษัทวิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) กรมธรรม์เลขที่ 12722-61208/กธ/6254507 เริ่มคุ้มครองวันที่ 31 ธันวาคม 2561 สิ้นสุดความคุ้มครอง 31 ธันวาคม 2562 และได้ทำประกันภัยรถภาคสมัครใจไว้กับบริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) กรมธรรม์เลขที่ 61-1-2702138 เริ่มคุ้มครองวันที่ 12 ตุลาคม 2561 สิ้นสุดความคุ้มครองวันที่ 12 ตุลาคม 2562 โดยให้ความคุ้มครองชีวิต ร่างกาย อนามัย บุคคลภายนอก 300,000 บาทต่อคน/10,000,000 บาทต่อครั้ง กรณีความคุ้มครองทรัพย์สินบุคคลภายนอก 600,000 บาทต่อครั้ง กรณีเสียหายต่อรถยนต์ 330,000 บาทต่อครั้ง ประกันอุบัติเหตุกรณีเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพถาวร 100,000 บาทต่อคน ค่ารักษาพยาบาล 50,000 บาทต่อคน โดยคุ้มครองผู้ขับขี่ 1 คน ผู้โดยสาร 14 คน และคุ้มครองประกันตัวผู้ขับขี่ 200,000 บาทต่อครั้ง

สำหรับรถบรรทุกพ่วง 18 ล้อ (หัวลาก) ทะเบียน 70-1234 อุตรดิตถ์ ได้ทำประกันภัยรถภาคบังคับ (พ.ร.บ.) ไว้กับบริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) กรมธรรม์เลขที่ 06386-61502/กธ/4528361 เริ่มคุ้มครองวันที่ 31 ธันวาคม 2561 สิ้นสุดความคุ้มครอง วันที่ 31 ธันวาคม 2562 และได้ทำประกันภัยรถภาคสมัครใจ ไว้กับ บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) กรมธรรม์เลขที่ 10586-61502/กธ/032791-10 เริ่มคุ้มครองวันที่ 25 ตุลาคม 2561 สิ้นสุดความคุ้มครอง วันที่ 25 ตุลาคม 2562 โดยให้ความคุ้มครองความรับผิดต่อบุคคลภายนอก กรณีเสียหายต่อชีวิตร่างกายหรืออนามัย (เฉพาะส่วนเกินวงเงินสูงสุดตาม พ.ร.บ.) 300,000 บาทต่อคน/10,000,000 บาทต่อครั้ง กรณีความเสียหายต่อทรัพย์สินบุคคลภายนอก 1,000,000 บาทต่อครั้ง กรณีความเสียหายต่อรถยนต์ 2,000,000 บาทต่อครั้ง

ในส่วนของประกันอุบัติเหตุ กรณีเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพถาวร 100,000 บาทต่อคน ค่ารักษาพยาบาล 100,000 บาทต่อคน โดยคุ้มครองผู้ขับขี่ 1 คน ผู้โดยสาร 2 คน และคุ้มครองการประกันตัวผู้ขับขี่ 200,000 บาทต่อครั้ง ส่วน (ตัวพ่วง) ทะเบียน 70-1235 อุตรดิตถ์ ได้ทำประกันภัยรถภาคบังคับ (พ.ร.บ.) ไว้กับ บริษัทวิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) กรมธรรม์เลขที่ 06386-61502/กธ/4528362 เริ่มคุ้มครองวันที่ 31 ธันวาคม 2561 สิ้นสุดความคุ้มครอง วันที่ 31 ธันวาคม 2562 และได้ทำประกันภัยรถภาคสมัครใจ ไว้กับบริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) กรมธรรม์เลขที่ 10586-61502/กธ/032792-10 เริ่มคุ้มครองวันที่ 25 ตุลาคม 2561 สิ้นสุดความคุ้มครองวันที่ 25 ตุลาคม 2562 โดยให้ความคุ้มครองความรับผิดต่อบุคคลภายนอกกรณีเสียหายต่อชีวิตร่างกายหรืออนามัย (เฉพาะส่วนเกินวงเงินสูงสุดตาม พ.ร.บ.) 300,000 บาทต่อคน/10,000,000 บาทต่อครั้ง กรณีความเสียหายต่อทรัพย์สินบุคคลภายนอก 600,000 บาทต่อครั้ง กรณีความเสียหายต่อรถยนต์ 450,000 บาทต่อครั้ง

สำหรับการจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ครอบครัวของผู้เสียชีวิต 12 ราย และผู้บาดเจ็บ 3 ราย นั้น จากการติดตามอย่างใกล้ชิดทราบว่าผู้เสียชีวิต 1 ราย ที่เป็นคนไทยและเป็นผู้ขับรถตู้ มีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่จังหวัดระยอง และทางครอบครัวจะนำศพกลับไปบำเพ็ญกุศลที่จังหวัดระยอง ดังนั้นสำนักงาน คปภ.จังหวัดสระแก้ว จึงประสานไปยังสำนักงาน คปภ. จังหวัดระยอง ให้อำนวยความสะดวกด้านประกันภัยให้กับญาติผู้เสียชีวิตรายดังกล่าวแล้ว ในส่วนผู้เสียชีวิต 11 ราย ที่เป็นแรงงานต่างด้าวชาวลาวนั้น ได้มีการประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจและฝ่ายปกครองเกี่ยวกับการออกเอกสารต่างๆ ของผู้เสียชีวิต เพื่ออำนวยความสะดวกในการช่วยประสานกับบริษัทประกันภัย

รวมทั้งเร่งรัดเรื่องการจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้มีความรวดเร็วและเป็นธรรม ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนจัดทำเอกสารประกอบการจ่ายค่าสินไหมทดแทนต่อไป ในส่วนผู้บาดเจ็บ 3 รายนั้น มีบาดเจ็บเล็กน้อย 1 ราย ได้เดินทางกลับบ้านแล้ว ส่วนผู้บาดเจ็บอีก 2 ราย ที่รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสระแก้ว ทางสำนักงาน คปภ. ได้มีการประสานแจ้งสิทธิค่ารักษาพยาบาลกับทางญาติของผู้บาดเจ็บและโรงพยาบาลเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

จากอุบัติเหตุในครั้งนี้ผู้บาดเจ็บที่โดยสารมากับรถตู้จะได้รับค่ารักษาพยาบาลตามจ่ายจริงและค่าเสียหายที่จ่ายจริงตามพ.ร.บ. ไม่เกิน 80,000 บาท ค่ารักษาพยาบาลตามสัญญาแนบท้ายกรมธรรม์ประกันภัยรถภาคสมัครใจ 50,000 บาทต่อคน และค่ารักษาพยาบาล ค่าเสียหายตามมูลละเมิดตามความเสียหายที่แท้จริงจากกรมธรรม์ภาคสมัครใจในส่วนของความรับผิดต่อบุคคลภายนอกไม่เกิน 300,000 บาท ส่วนผู้ขับรถตู้คนไทยที่เสียชีวิต ในเบื้องต้นจะได้รับค่าสินไหมทดแทนจำนวน 135,000 บาท จากกรมธรรม์ประกันภัยรถภาคบังคับ (พ.ร.บ.) จำนวน 35,000 บาท และจากสัญญาเพิ่มเติมประกันอุบัติเหตุ (PA) จำนวน 100,000 บาท

สำหรับผู้โดยสารที่เป็นแรงงานต่างด้าวชาวลาวทั้ง 11 ราย จะได้รับค่าสินไหมทดแทนรายละไม่ต่ำกว่า 700,000 บาท จากกรมธรรม์ประกันภัยรถภาคบังคับ (พ.ร.บ.) จำนวน 300,000 บาท สัญญาเพิ่มเติมประกันอุบัติเหตุ (PA) จำนวน 100,000 บาท และความคุ้มครองความรับผิดต่อบุคคลภายนอกจากกรมธรรม์ประกันภัยรถภาคสมัครใจ จำนวน 300,000 บาท ทั้งนี้พนักงานสอบสวนกำลังเร่งดำเนินการสรุปผลคดีเพื่อประกอบการพิจารณาชดใช้ค่าสินไหมทดแทนต่อไป

"สำนักงาน คปภ. ขอแสดงความเสียใจอย่างยิ่งกับครอบครัวของผู้เสียชีวิตทั้ง 12 ราย และผู้บาดเจ็บ จากอุบัติเหตุดังกล่าว ทั้งนี้ อุบัติเหตุเกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลาและทุกสถานที่ จึงควรให้ความสำคัญกับการทำประกันภัยเพื่อช่วยบริหารความเสี่ยงภัย และฝากเตือนประชาชน ควรใช้รถใช้ถนนด้วยความระมัดระวัง โดยเฉพาะเส้นทางการจราจรที่ไม่คุ้นเคย เพื่อลดความเสี่ยงต่อการสูญเสียที่จะเกิดขึ้น และหมั่นตรวจสอบสภาพรถยนต์อย่างสม่ำเสมอ ตลอดจนตรวจวันหมดอายุกรมธรรม์ประกันภัยรถภาคบังคับ (ประกันภัย พ.ร.บ.) ตามที่กฎหมายกำหนด รวมทั้งควรทำประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจและประกันชีวิตอื่นๆ ด้วย เพื่อที่ระบบประกันภัยจะได้เข้ามาช่วยบริหารความเสี่ยงและเยียวยาความสูญเสียต่างๆที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ หากต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับประกันภัยสามารถสอบถามได้ที่ สายด่วน คปภ. 1186” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย

ที่มา: สยามรัฐ, 19/8/2562

ค้านผลพิจารณา ก.พ. ไม่เยียวยาอดีตพนักงานของรัฐ กรณีเงินเดือนเหลื่อมล้ำ อายุราชการลดลง

นายมานพ ผสม ประธานชมรมอดีตพนักงานของรัฐสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ในวันอังคารที่ 20 ส.ค. 2562 นี้ เวลา 10:00 น. ชมรมอดีตพนักงานของรัฐสังกัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยตัวแทนอดีตพนักงานของรัฐ สธ.จากทั่วประเทศประมาณ 500 คน จะเข้ายื่นหนังสือต่อนายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมช.สธ.) เพื่อเรียกร้องขอคืนอายุราชการในช่วงที่เป็นพนักงานของรัฐ และขอให้แก้ไขเงินเดือนเหลือมล้ำจากหลักเกณฑ์เยียวยา ก.พ.หนังสือที่ นร 1012.2/250 ในปี 2557 ซึ่งทำให้ข้าราชการรุ่นน้องที่บรรจุภายหลังมีเงินเดือนมากกว่ารุ่นพี่

ทั้งนี้ปัญหาความไม่เป็นธรรมดังกล่าวทางชมรมฯ ได้เรียกร้องมากเกือบ 5 ปี โดยมีการยื่นหนังสือไปยังสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) และกระทรวงสาธารณสุขมากกว่า 10 ฉบับ และกระทรวงเองก็ได้ยื่นหนังสือไปยัง ก.พ.ในเรื่องนี้มากกว่า 10 ฉบับเช่นกัน นอกจากนี้ชมรมฯ ยังได้ส่งหนังสือเรียกร้องไปยังหน่วยงานต่างๆ ที่ให้ความเป็นธรรมทั่วประเทศ ทั้งที่สำนักนายกรัฐมนตรี และศูนย์ดำรงธรรมทั่วประเทศกว่า 2,500 ฉบับ ซึ่งที่ผ่านมา ก.พ.ได้เรียกขอข้อมูลจาก สธ.อย่างต่อเนื่อง ทำให้ดูเหมือนพยายามแก้ไขความเหลื่อมล้ำนี้

นายมานพ กล่าวว่า แต่เมื่อวันที่ 6 ส.ค. 2562 ที่ผ่านมา ก.พ. ได้มีหนังสือ นร 1012.3/68 แจ้งมายัง สธ.ว่า เรื่องที่เรียกร้องนี้ไม่สามารถเยียวยาได้ โดยให้เหตุผลว่าได้มีมติ ครม.อนุมัติสิทธิประโยชน์ให้กับพนักงานของรัฐแล้ว ที่เป็นการเลี่ยงตอบคำถามว่าจะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนี้อย่างไร และการระบุว่า ครม.ได้ให้สิทธิประโยชน์พนักงานของรัฐแล้วจึงเป็นอีกหนึ่งประเด็นซึ่งจะเดินทางไปถาม ก.พ. หลังจากยื่นหนังสือต่อ รมช.สาธารณสุขแล้ว

“ปัญหานี้ยืดเยื้อมากว่า 5 ปีแล้ว และเวลาที่ผ่านไปจะยิ่งทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในกระทรวงสาธารณสุขยิ่งถ่างออกไป เพราะการปรับขึ้นเงินเดือนแต่ละครั้ง ด้วยเงินเดือนของรุ่นน้องที่มากกว่า การปรับเพิ่มเงินเดือนย่อมเพิ่มมากตามไปด้วย ทุกวันนี้รุ่นพี่รุ่นน้องทำงานตึกเดียวกัน ห้องเดียวกัน แต่รุ่นพี่ที่เป็นหัวหน้ากลับมีเงินเดือนน้อยกว่ารุ่นน้องทั้งที่ความรับผิดชอบมากกว่า ก่อให้เกิดปัญหาความสามัคคีในองค์กร ซึ่งในฐานะรุ่นพี่ย่อมดีใจกับรุ่นน้องที่ได้รับการเยียวยา แต่ในการเยียวยานี้ ก.พ.ต้องดูให้ครอบคลุมถึงรุ่นพี่ที่ปฏิบัติงานมาก่อนอย่างเป็นธรรมด้วย ไม่ใช่แค่เยียวยาเฉพาะกลุ่มจนเกิดปัญหา ซึ่งผู้ที่ได้รับผลกระทบมีทุกวิชาชีพ ทั้งแพทย์ พยาบาล เภสัชฯ เป็นต้น รวมจำนวน 24,063 คน” ประธานชมรมอดีตพนักงานของรัฐสังกัด สธ. กล่าวและว่า ในการยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมจาก รมช.สาธารณสุข ครั้งนี้เป็นเพียงเบื้องต้น หากยังไม่ได้รับการแก้ไขจะมีมาตรการเพิ่มขึ้น ไม่ว่าการหยุดงานประท้วง ไม่ยอมรับนโยบายผู้บริหาร เป็นต้น

ส่วนความคาดหวังในการยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมครั้งนี้ นายมานพ กล่าวต่อว่า เราคิดว่ารัฐมนตรีที่มาจากการเมืองน่าจะเข้าใจปัญหาพนักงานของรัฐและช่วยแก้ปัญหาให้ โดยเร่งนำเรื่องเข้าสู่ ครม.พิจารณาและมีมติแก้ปัญหาเพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้บุคลากรในกระทรวงสาธารณสุข

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 17 .ส.ค. 2562 ที่ จ.นครราชสีมา นายมานพ พร้อมด้วยสมาชิกชมรมอดีตพนักงานของรัฐสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ได้ยื่นหนังสือข้อเรียกร้องต่อนายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในระหว่างที่นายอนุทินตรวจราชการที่ รพ.มหาราชนครราชสีมา ซึ่งนายอนุทิน กล่าวว่า "มีเรื่องแบบนี้ด้วยเหรอ" พร้อมระบุว่าจะสอบถามข้อเท็จจริงจาก นพ.ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขที่ติดตามไปด้วย และจะดูแลให้

ด้าน ภญ.สุไพรินทร์ พรมเจียม เภสัชกรชำนาญการ รพ.หาดใหญ่ จ.สงขลา กล่าวว่า ตนเองเป็นกลุ่มอดีตพนักงานของรัฐที่ได้รับผลกระทบ 4 ปี ทั้งนี้ในการเรียนเป็นเภสัชกรเริ่มต้นจะมีการผูกสัญญากับภาครัฐ เมื่อเรียนจบแล้วต้องรับราชการ ไม่เช่นนั้นต้องถูกปรับขณะนั้นเป็นเงิน 2 แสนบาท แต่พอเรียนจบปี 2543 รัฐบาลแจ้งว่าไม่มีตำแหน่งข้าราชการบรรจุ และมีหนังสือสัญญาให้เซ็นยอมรับเป็นพนักงานของรัฐแทน โดยระบุว่ามีสิทธิเทียบเท่าข้าราชการทุกอย่าง ซึ่งต่อมาในปี 2547 ได้มีการปรับพนักงานของรัฐให้เป็นข้าราชการ โดยขณะนั้นไม่ทราบเลยว่า การนับอายุราชการจะไม่นับรวมอายุงานในช่วงเป็นพนักงานของรัฐ แต่มาทราบหลังจากมีเพื่อนๆ ลาออก ตรงนี้ทำให้เราเสียสิทธิทั้งในเรื่องความก้าวหน้า และเงินเกษียณด้วยอายุงานที่หายไป นอกจากนี้จากที่ ก.พ.มีหนังสือที่ นร 1012.2/250 ยังทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้น โดยเงินเดือนของรุ่นน้องแซงหน้ารุ่นพี่ ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ

สำหรับในช่วง 5 ปี ของการเรียกร้องเยียวยา มองว่าเรื่องถูกโยนกันไปมา ทั้งที่เราเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากความพยายามเปลี่ยนแปลงระบบโดยการเมืองขณะนั้น โดยอายุราชการที่หายไปทำให้รู้สึกหมือถูกรัฐหลอกใช้แรงงานราคาถูก ซึ่งการเคลื่อนไหวในครั้งนี้จึงอยากให้รัฐบาล และ ก.พ.ดูว่ามีวิธีไหนที่จะช่วยให้ความเป็นธรรมกับพวกเราได้บ้าง

ที่มา: Hfocus, 17/8/2562

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net