Skip to main content
sharethis

วงเสวนาระบุผู้ค้าหาบเร่แผงลอยไม่ใช่ส่วนเกินของสังคม ชี้นโยบายจัดระเบียบต้องปรึกษาหารือก่อนไม่ใช่การสั่งการจากข้างบนอย่างเดียว 

26 ส.ค.2562 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่า วันนี้ (26 ส.ค.62) เมื่อเวลา 13.00-16.00 น. ที่ห้องประชุม ชั้น 4 อาคารประชาธิปก-รำไพพรรณี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันวิจัยสังคม จุฬาฯ จัดเวทีวิชาการเรื่อง “นโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลกับปัญหาเร่งด่วนของประชาชน กรณีหาบเร่แผงลอย” มีผู้สนใจเข้าร่วมรับฟังประมาณ 150 คน ทั้งนักวิชาการ สื่อมวลชน ผู้สนใจทั่วไป และเครือข่ายแผงลอยไทยเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

รศ.ดร.นฤมล นิราทร คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อภิปรายว่า นโยบายเร่งด่วน 12 ข้อของรัฐบาลเป็นนโยบายที่ดี แต่จะนำไปสู่การปฏิบัติอย่างไร และพบว่ามีความย้อนแย้งในทางปฏิบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อ 1-3 ที่ประชาชนให้ความสำคัญมาก คือ 1. การแก้ไขปัญหาในการดํารงชีวิตของประชาชน โดยลดข้อจํากัดในการประกอบอาชีพของคนไทย 2. การปรับปรุงระบบสวัสดิการและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน 3. มาตรการเศรษฐกิจเพื่อรองรับความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ซึ่งเป็นเรื่องที่เชื่อมร้อยกันทั้งหมด แต่นโยบายไล่รื้อหาบเร่แผงลอยทำให้ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ เมื่อไม่มีงานก็ไม่มีรายได้ ต้องไปพึ่งพิงสวัสดิการ แต่พบว่าผู้ค้าหาบเร่แผงลอยไม่สามารถเข้าสู่โครงการประชารัฐได้ เพราะไม่มีรายได้มากพอตามหลักเกณฑ์ของโครงการ

นอกจากนี้ผู้ค้าหาบเร่แผงลอยมีความเชื่อมโยงกับผู้ประกอบการขนาดย่อม เมื่อถูกไล่รื้อทำให้ไม่มีที่ขาย โรงงานลูกชิ้นก็ขาดลูกค้าและรายได้จากลูกค้าอย่างหาบเร่แผงลอย เพราะหาบเร่แผงลอยเป็นธุรกิจขนาดจิ๋ว ซึ่งรัฐบาลอาจไม่ได้มองในจุดนี้หรือมองระยะสั้นเกินไป รวมทั้งการยกหาบเร่แผงลอยออกไปจาก กทม. ยังทำให้ค่าใช้จ่ายต่อคนสูงขึ้น เพราะต้องซื้ออาหารในราคาที่สูงกว่าหาบเร่แผงลอยริมทางเท้า และยังเชื่อมโยงกับปัญหาภัยแล้ง เพราะผู้ค้าฯ จำนวนหนึ่งมาจากภาคการเกษตร เช่นช่วงว่างจากการทำนาก็เข้ามาขายของทำให้มีรายได้ในส่วนนี้ รัฐจึงสามารถส่งเสริมให้เป็นมาตรการป้องกันภัยแล้งได้ คือการสร้างภูมิคุ้มกันว่าพวกเขาจะจัดการกับรายได้อย่างไร และปรับตัวได้ภายใต้วิกฤติของสภาวะอากาศที่แปรปรวน

ดังนั้นรัฐบาลต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิด เชื่อมโยงระยะยาว ควรให้โอกาสพวกเขาได้ประกอบอาชีพและเติบโตตามศักยภาพที่มี และเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยต้องดูแลตั้งแต่เขายังไม่สูงอายุ ส่งเสริมให้มีอาชีพและสุขภาพแข็งแรง เพราะทุกอย่างเชื่อมโยงกันหมด ถ้าตัดจุดหนึ่งจะล้มทั้งขบวน

ชุมศิลป์ โสตถ์ปรีดาวงศ์ ตัวแทนผู้ค้าตลาดสำเพ็ง ร่วมอภิปรายว่า ผู้ค้าหาบเร่แผงลอยไม่ใช่ส่วนเกินของสังคม นโยบายจัดระเบียบเป็นการไล่รื้อทำให้เศรษฐกิจย่ำแย่ และเอื้อประโยชน์กับนายทุนมากกว่า ก่อนดำเนินนโยบายอะไรต้องปรึกษาหารือกันก่อนจึงจะเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน ไม่ใช่การสั่งการจากข้างบนอย่างเดียว ผู้ค้าตลาดสำเพ็งได้รวมตัวกันจัดประชุมหลายครั้ง เพื่อแก้ไขปัญหาต่าง ๆ และสร้างภาพลักษณ์ของพ่อค้าแม่ค้าให้เป็นที่ยอมรับของสังคม หาบเร่แผงลอยเป็นทั้งอาชีพและเสน่ห์ของเมือง เพราะมีสีสันและจิตวิญญาณของความเป็นชุมชน นอกจากนี้รายได้จากค่าบำรุงท้องที่ต่าง ๆ สามารถนำมาใช้ในการบริหารจัดการการจัดระเบียบได้

เชาว์ มีขวด ทนายอาสาและอดีตโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แสดงความคิดเห็นว่า รัฐบาลต้องคืนหาบเร่แผงลอยให้คนจน และปฏิรูปทางเท้าด้วย 4 จัด คือ จัดแผน, ผัง, งบฯ, และผู้ที่รับผิดชอบ ถือโอกาสนี้มาจัดใหม่ให้เป็นระเบียบ ใช้กฎหมายที่เป็นรูปธรรมชัดเจนมากขึ้น มีงานวิจัยหลายชิ้นที่ระบุว่า หาบเร่แผงลอยมีความจำเป็นและอยู่คู่กับคนในสังคม ไม่อาจแยกได้ เป็นเอกลักษณ์ของชุมชนและท้องถิ่น รัฐบาลสามารถทำให้เมืองสวยงามควบคู่กับความมีชีวิตชีวาได้ ด้วยการคืนอาชีพให้คนจน ปฏิรูปทางเท้า อยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข ถ้อยทีถ้อยอาศัย เป็นการคืนความสุขให้สังคมอย่างแท้จริง

ธันวา ไกรฤกษ์ พรรคพลังประชารัฐ แสดงความคิดเห็นว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับหาบเร่แผงลอยใน กทม. ไม่ใช่การจัดระเบียบ ต้องมีการทบทวนว่าพื้นที่ที่ถูกยึดคืนนั้น หาบเร่แผงลอยเกะกะอย่างไร กีดขวางอย่างไร เพราะทางเท้ากว้าง 5-6 เมตร แต่โต๊ะของหาบเร่แผงลอยมีขนาดที่ไม่กว้างมาก แต่ยังมีการขอคืนพื้นที่มากขึ้นเรื่อย ๆ ในขณะเดียวกัน ในบางพื้นที่กลับมีกองขยะของ กทม. วางกีดขวางทางเท้าทุกวัน ทำให้นักท่องเที่ยวต้องเดินแทรกเข้าไปในกองขยะเพื่อหาทางเดิน นอกจากนี้จุดที่เคยมีหาบเร่แผงลอยกลับมีการค้าประเวณีมาแทนที่ และมีชาวต่างชาติ อาทิ ชาวเวียดนามมาขายของ รัฐบาลต้องตั้งคณะกรรมการร่วมกันกับผู้ค้าหาบเร่แผงลอย และนักวิชาการ เพื่อร่วมกันพิจารณาว่า พื้นที่ไหนขายได้หรือขายไม่ได้ ถึงเวลาแล้วที่ปัญหาของหาบเร่แผงลอยควรได้รับการขับเคลื่อนในการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net