Skip to main content
sharethis

คุยกับ ผศ.บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ความบิดเบี้ยวของกติกาการเมืองจากรัฐธรรมนูญ 2560 และยุทธศาสตร์ชาติเกี่ยวกับปัญหาปากท้อง ทำได้พร้อมกันและจำเป็นต้องทำ เหตุ ส.ว. ลากตั้ง รัฐบาลเสียงข้างน้อย นายกฯ ไม่ต้องเลือกตั้ง ทำให้การเมืองไม่สะท้อนเจตจำนงแท้จริงของประชาชน ย้ำ หาบทเรียนจากการสร้างและการมีรัฐธรรมนูญฉบับเพิ่มอำนาจประชาชนแท้จริงอย่างปี 2540

ผศ.บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ

“แก้ปัญหาปากท้องก่อน แล้วค่อยแก้รัฐธรรมนูญ”

บ่อยครั้งที่เราได้ยินข้อความแบบนี้จากฝั่งรัฐบาล คสช. 2 ย่อมสะท้อนความกังวลของปัญหาเศรษฐกิจ ความเป็นอยู่ของประชาชนไทยที่ตอนนี้อยู่ในภาวะข้าวยากหมากแพง มีข่าวฆ่าตัวตายเพราะทนพิษเศรษฐกิจไม่ไหวแทบไม่เว้นวัน สะท้อนวิกฤตที่ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน

ปัญหาไม่ใช่การมองความสำคัญของปัญหา แต่อยู่ที่การให้เหตุผลเรื่องจัดลำดับความสำคัญในสิ่งที่ทำไปพร้อมๆ กันได้ เพราะความจำเป็นที่จะต้องแก้ไขกฎหมายสูงสุดของประเทศที่ชี้ชัดว่ามีปัญหาสารพัดไม่ว่าจะเป็นอำนาจอธิปไตย การใช้งานอำนาจผ่านผู้แทน สิทธิ เสรีภาพของปวงชนชาวไทย บทบาทองค์กรอิสระ ฯลฯ ก็มีความจำเป็นเร่งด่วน

ประชาไทคุยกับ ผศ.บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างการแก้ไขรัฐธรรมนูญกับเรื่องเศรษฐกิจ ความจำเป็นที่จะต้องแก้ไขทั้งสองอย่างไปพร้อมกัน ปัญหาของรัฐธรรมนูญ 2560 และบทเรียนกติกาการเมืองบิดเบี้ยวในอดีตที่บ่งชี้ว่าหากไม่รีบแก้ไข จะนำไปสู่วิกฤตการณ์ที่ไม่มีใครพึงปรารถนา

ประชาไท: เป็นไปได้หรือไม่ที่จะแก้ปัญหาเศรษฐกิจและแก้รัฐธรรมนูญไปพร้อมกัน 

บัณฑิต: ฟังดูเหมือนหนังคนละม้วน แต่จริงๆ คือเรื่องเดียวกันเพราะรัฐธรรมนูญคือกติกาหลักที่จะสร้างความมั่นใจ เป็นหลักประกันในการยืนยันทั้งประชาชนในประเทศที่เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย และคนที่จะมาลงทุน ค้าขายกับเราว่าการเมืองของเราจะเดินไปในทิศทางไหน ถ้าตัวรัฐธรรมนูญไม่สามารถประกันเสถียรภาพของรัฐบาล เมื่อรัฐบาลไม่มีเสถียรภาพ สัญญาที่ตกปากรับคำกับนักลงทุนต่างชาติก็ผันผวน เมื่อผันผวน ก็ไม่มีใครอยากจะมาเสี่ยง มันมีเท่านี้เอง

เรื่องปากท้องประชาชนมีตั้งแต่ระดับเฉพาะหน้า เช่นของแพง ผู้ผลิตตั้งราคาเกินควร ต้นทุนบางอย่างสูงเกินไปทั้งๆ ที่บางอย่างไม่ควรจะสูงอย่างนั้น เช่นราคาน้ำมันในตลาดโลกม่ได้แพงอย่างทีเ่กิดขึ้น แต่ในประเทศไทย ส่วนต่างมันไปไหน รัฐบาลก็ต้องลงไปดู ไปแก้ให้ปัญหาเฉพาะหน้ามันจบ แต่ปัญหาระยะยาว เช่น ลงทุนวันนี้จะเห็นผลประโยชน์ใน 3 ปี 5 ปีข้างหน้า สิ่งที่เรากำลังเผชิญอยู่ รัฐบาลได้วางมาตรการแก้ไขในระดับไหน หรือเพียงดำเนินการตามแต่ข้าราชการและนักการเมืองในสังกัดนำเสนอขึ้นมาเท่านั้น

รัฐสภาและ ครม. มีหน้าที่แยกกันในการแก้ไขปัญหาปากท้องใช่หรือไม่ 

ไม่ได้แยกกันโดยเด็ดขาด เพราะ ส.ส. ในพื้นที่ เมื่อลงไปก็จะเห็นปัญหาที่เผชิญอยู่กับโครงสร้างที่ใหญ่กว่า ฝ่ายรัฐบาลเองก็รู้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่สามารถทำให้เขาเดินต่อไปได้อย่างราบรื่น มันมาจากการกลัวเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรแบบธรรมดา หรือ Simple Majority สมัยก่อนโครงสร้างสถาบันการเมืองของเราเป็นการจัดตั้งรัฐบาลง่ายๆ คือใครมาเป็นเสียงข้างมาก มีคะแนนเสียงสูงสุดในแง่จำวนนที่นั่งก็เป็นคนจัดตั้งรัฐบาล ในยุคสมัยหนึ่งเราเคยมีรัฐบาลพรรคเดียวที่ไม่มีเสียงเกินกึ่งหนึ่ง ก็ต้องเป็นรัฐบาลผสม อันนี้พูดชัดๆ คือสมัยหลังรัฐธรรมนูญ 2521 - 2534 และในช่วง 2535-2540 โดยประมาณ และกลับมาอีกครั้งในยุคปัจจุบัน

เมื่อเป็นรัฐบาลผสม ผลก็ออกมาชัดเจนว่าต้องต่อรองกัน พรรคนี้ดูแลกระทรวงเกษตรฯ พรรคนี้ดูแลกระทรวงอุตสาหกรรม พรรคนี้ดูแลกระทรวงศึกษาธิการ ผลประโยชน์ก็ต้องขัดกันเป็นธรรมชาติ เมื่อขัดกันแล้วก็ต้องประนีประนอมต่อรองกัน ทำให้เสถียรภาพของรัฐบาลมีไม่มากในบางที บางครั้งอยู่ไม่ครบเทอม อันนี้ก็เป็นปัญหาใหญ่ เพราะถ้าอยู่ไม่ครบเทอม ความไม่ต่อเนื่องของรัฐบาล ความไม่คงเส้นคงวาของคนที่มาดำรงตำแหน่งทางการเมืองในกระทรวงต่างๆ ก็ทำให้ผลพวงของนโยบายไม่มีเสถียรภาพ เมื่อไม่มีเสถียรภาพ ผลก็ออกมาชัดเจน รัฐบาลนี้ขึ้นมาก็เปลี่ยนนโยบาย อีกรัฐบาลขึ้นมาก็เปลี่ยน ทำให้ผู้ปฏิบัติงานเกิดความกังวล ลังเลใจว่าอาจไม่ถูกใจผู้กำหนดนโยบาย นี่เป็นความปกติของการเมืองที่ออกแบบมาให้เป็นเสียงกระจัดกระจาย

เรามาเห็นความเปลี่ยนแปลงมากขึ้นในรัฐบาลชาติชาย ชุณหะวัณ ที่เป็นรัฐบาลจากการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2521 เป็นครั้งแรกที่นายกฯ เป็น ส.ส. รัฐบาลชาติชายสามารถตอบสนองความต้องการ ข้อเรียกร้องของคนในพื้นที่ได้ ผลพวงคือทำให้คนรู้สึกมั่นใจว่ารัฐบาลจากการเลือตกั้ง นายกฯ เป็น ส.ส. ก็ทำให้นโยบายราบรื่น คนมั่นใจก็มีพันธสัญญา ก็เข้ามาลงทุน รู้สึกว่าเศรษฐกิจดี แต่แล้ว พล.อ.ชาติชายก็ถูกรัฐประหาร ส่วนหนึ่งก็มาจากการต่อรองเก้าอี้นั่นแหละ ต่อรองผลประโยชน์ภายในรัฐบาล เพราะคุณมีรัฐบาลเป็นกลุ่มๆ พรรคๆ ทุกคนในพรรคก็อยากเป็นรัฐมนตรี

ต้องขบคิดด้วยว่าการต่อรอง อย่างถึงที่สุดทำให้ตำแหน่งการเมือง การมีพื้นที่ในกระทรวงต่างๆ เป็นพื้นที่ที่ต้องช่วงชิง แข่งขัน ทำให้ไม่มีเสถียรภาพ แต่ละคนมีแนวคิด มีนโยบาย อยากทิ้งมรดกไว้ว่าสมัยผมเป็นรัฐมนตรีอยากทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ นี่เราก็เห็นว่าบางท่านขึ้นมาก็จะย้าย จะทุบ จะเปลี่ยนสิ่งที่คนเก่าทำไว้เพื่อให้ตัวเองมีอนุสาวรีย์ ผลก็คือไม่มีเอกภาพ ความมั่นใจนักลงทุนก็ไม่มี มันเป็นเหตุเป็นผลซึ่งกันและกัน จนเกิดเหตุ พ.ค. 2535 ตอนนั้นเราสู้กับคุณสุจินดาเพราะคุณสุจินดาสืบทอดอำนาจของ รสช. และไม่ลงเลือกตั้ง แต่มีพรรคการเมืองที่รองรับคุณสุจินดา และชนะเลือกตั้งด้วย หัวหน้าพรรคได้คะแนนสูงสุด แต่ได้รับข้อวิจารณ์ต่างๆ นานา ในที่สุดก็รับตำแหน่งนายกฯ ไม่ได้ คุณสุจินดาสุดท้ายก็ต้องเสียสัตย์เพื่อชาติ ตระบัดสัตย์เพื่อชาติ คนก็โกรธกันเพราะที่สัญญาก่อนเลือกตั้งกับหลังเลือกตั้งมันหนังคนละม้วน ท่าทีคุณสุจินดาตอนนั้นก็เป็นท่าทีที่คนรุ้สึกว่าแข็งกร้าว ไม่น่ารัก ไม่น่าเคารพ ไม่น่านับถือ ประเด็นใหญ่ที่สู้กับคุณสุจินดาตอนนั้นคือนายกฯ ต้องมาจากเลือกตั้ง ก็เกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬฯ

หลังเกิดวิกฤตก็มีการแก้รัฐธรรมนูญให้นายกฯ มาจากการเลือกตั้ง แต่ก็ไม่จบเพราะคนยังคิดว่าแก้ไปก็เท่านั้น แต่ปัญหาใหญ่ๆ คือการตรวจสอบนักการเมือง ข้าราชการที่โกงกิน สมัยก่อนตรวจสอบนักการเมืองไม่ได้เพราะอยู่ ปปป. (คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ) เขาก็บอกว่าไม่ใช่ข้าราชการประจำ เมื่อพ้นจากตำแหน่งก็ไม่สามารถตรวจสอบได้เพราะไม่ได้อยู่ใต้กฎหมายนี้ ก็เลยต้องคิดอะไรที่เป็นระบบใหญ่ ต่อสู้กันไป คุยกันมาก็เกิดเป็นการสร้างกรอบวิจัยปฏิรูปการเมืองในช่วงปลายทศวรรษ 2540 ในที่สุดก็แก้ไขรัฐธรรมนูญในมาตรา 211 ให้มีการแก้รัฐธรรมนูญโดยตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ มาจากการเลือกตั้งในจังหวัดเลือกกันเอง และมีผู้เชี่ยวชาญอีกจำนวนหนึ่ง แล้วก็ร่างรัฐธรรมนูญตามกรอบ มีทั้งกรอบว่าด้วยการบริหารราชการแผ่นดินโดยยึดหลักความมีประสิทธิภาพ การตรวจสอบนักการเมือง ผู้ใช้อำนาจการเมือง การตรวจสอบข้าราชการประจำที่ตัดสินใจทางนโยบาย ให้มีศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ ก็เป็นกลไกที่ถูกออกแบบจากการปฏิรูปการเมืองสมัย 2540 แล้วก็เห็นได้ว่านี่คือผลพวงของการต่อสู้ในเดือน พ.ค. 2535 ซี่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็อยู่ถึง 19 ก.ย. 2549 จากนั้นก็ตกอยู่ในวังวนทางการเมืองจนถึงปัจจุบัน

กลไกทางการเมืองแบบไหนที่ทำให้การแก้รัฐธรรมนูญกับเศรษฐกิจทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ

รัฐธรรมนูญ 2560 เป็นรัฐธรรมนูญที่แปลก เพราะมีสิ่งที่เรียกว่ายุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี หลายท่านวิจารณ์ไปแล้วว่ายุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีมีลักษณะที่ทำให้ทุกอย่างฝืดเคือง มันกำหนดอะไรหลายอย่างที่ทำให้โอกาสปรับเปลี่ยนประเทศตามความผันผวนค่อนข้างฝืด เมื่อคุณผูกปิ่นโตกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี จะพลิกจะเปลี่ยนมันก็ตึงไปหมด และถ้าคุณทำอะไรผิดพลาดนิดหน่อยและถูกตีความว่าไม่เป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติ คุณก็อาจจะถูกถอดถอนได้

และเราก็เห็นอภินิหารองค์กรอิสระต่างๆ ทำให้รัฐบาลสะดุดตัวเองมาหลายรอบ ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้วถูกตีความว่ามีผลกับโครงสร้างรัฐ การแก้ไขกฎหมายบางอย่าง การโยกย้ายข้าราชการทำให้ฝ่ายการเมืองค่อนข้างไม่เป็นอิสระกับการตัดสินใจที่จะให้นโยบายตนเองได้รับการตอบสนอง สถานการณ์นี้ผมคิดว่ายังสืบเนื่องจนถึงปัจจุบัน

การแก้ปัญหารัฐธรรมนูญกับเศรษฐกิจมันได้อยู่แล้ว มันเป็นสิ่งที่มันต้องเดินไป เราหลายคนมีหลายหมวกที่ต้องทำในชีวิตประจำวัน ในทำนองเดียวกัน การแก้รัฐธรรมนูญก็ต้องทำไปแบบนี้ ถ้าเห็นพ้องว่าต้องแก้ก็ต้องรีบแก้ และต้องแก้ก่อนจะเกิดวิกฤติ 

วิกฤตที่ว่าคืออะไร

ผมก็ไม่ใช่หมอดู เรื่องนี้คงต้องไปถามนักโหราศาสตร์ เรื่องนี้เดายาก แต่เราเห็นทิศทางความขัดแย้งบางอย่าง หนึ่ง รัฐบาลไม่มีเสถียรภาพแน่ๆ แค่โหวตร่างข้อบังคับการประชุมก็ยังแพ้ถึง 2 ครั้ง แล้วถ้าเกิดเป็นการเสนอร่าง พ.ร.บ. เข้าที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรแล้วที่ประชุมไม่ให้ผ่านล่ะ อันนี้หนักนะ ก็ต้องลาออกตามหลักการ 

สอง รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่สื่อสะท้อนความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง เพราะเรามี ส.ว. ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่มาจากการคัดสรร ทุกวันนี้เรายังไม่รู้เลยว่าเงินพันกว่าล้านไปเลือกคนเหล่านี้มาได้ยังไง แถมยังมีสำรองในบัญชีอีกเป็นร้อย เขาเหล่านี้มีจะเข้าสู่ตำแหน่งอย่างไร คนเหล่านี้มีคุณวิเศษอย่างไรถึงมานั่งเป็น ส.ว. ของเรา กินเงินเดือนแสนกว่าบาท แถมยังมีสิทธิเลือกนายกฯ อีกด้วย

เสียงที่ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนให้ไปนั่งในสภาผู้แทนราษฎรสูงที่สุดในจำนวนเก้าอี้ ไม่ได้รับโอกาสให้จัดตั้งรัฐบาล แล้วการจัดตั้งรัฐบาลก็เป็นการจัดตั้งที่ประหลาดที่สุด คือให้พรรคที่มีคะแนนเสียงอันดับ 2 ได้เป็นตัวแทนจัดตั้งรัฐบาล และได้รับเสียงสนับสนุนอย่างค่อนข้างเป็นเอกฉันท์จากวุฒิสภา ก็ทำให้เจตจำนงของประชาชนถูกบิดไปครึ่งหนึ่ง เพราะคน 250 คนกับคนอีกจำนวนหนึ่งมันไม่สะท้อนความเป็นจริงของอำนาจในสังคม รัฐธรรมนูญไหนที่ไม่สะท้อนความเป็นจริงของอำนาจในสังคมมันก็จะเกิดสภาวะตึงเครียดเป็นธรรมดา ยกตัวอย่าง คุณลองอยู่ในบริษัทที่ผู้ถือหุ้นเสียงข้างน้อยมีอำนาจตัดสินใจมากกว่าผู้ถือหุ้นเสียงข้างมาก แค่นี้บริษัทก็เป๋แล้ว

ตัวโครงสร้างสถาบันการเมืองตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้มันมีบางสิ่งบางอย่าง บางสถาบันที่ยังเชื่อมโยงกับรัฐบาล คสช. อย่างเห็นได้ชัดที่สุดคือกรณี กสม. ซึ่งป่านนี้ยังไม่มีตัวเข้ามา แล้วก็คัดเลือกกัน 2-3 รอบ ไม่มีใครผ่าน หรือรัฐบาลขยายช่วงวาระดำรงตำแหน่งกับศาลรัฐธรรมนูญเดิม สิ่งเหล่านี้สะท้อนความไม่ปกติของระบบการเมือง เราควรจะมีฉันทานุมัติบางอย่างว่าคุณจะแก้ไหม และถ้าไม่แก้ ความตึงเครียดในระบบก็จะคงต่อไป และมันจะเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะมีอะไรที่มันพุ่งออกมาและทำให้ระบบการเมืองสั่นไหว

ในทุกสังคม ระบบการเมืองจะกำกับทิศทางการเคลื่อนไหวของคนในเมืองและชนบทต่างๆ รัฐธรรมนูญคือแม่บทของอำนาจ เป็นตัวสะท้อนว่าใครมีอำนาจอย่างไร ถ้าแม่บทนี้ไม่สะท้อนอำนาจที่เป็นจริงก็จะขลุกขลัก และถ้าวันไหนความโกรธแค้น ความเกลียดชังมันถึงที่สุด มันก็ปะทะกันอีกรอบหนึ่ง อันนี้คือธรรมชาติของระบบการเมือง อย่างที่เราเห็นก็ในฮ่องกงที่จีนบอกว่าเป็นหนึ่งประเทศสองระบบ แต่ทำไมกฎหมาย (ส่งผู้ร้ายข้ามแดน) ไม่ถูกถอดออกสักที ทำไมผู้ว่าการฯ ไม่ยอมลาออก หลายคนก็บอกว่าเขาสัมพันธ์กับรัฐบาลใหญ่ แต่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ยอม สภาวะมันเป็นอย่างนี้ คุณไม่ยอมรับผู้นำของคุณ 

พูดให้ใกล้ตัวก็ได้ คนกรุงเทพฯ จำนวนมากไม่พอใจรัฐบาลยิ่งลักษณ์ คุณยิ่งลักษณ์ก็อยู่ไม่ได้ นี่คือความจริงที่เกิดขึ้น ความผิดปกติของรัฐธรรมนูญก็เหมือนคุณพยายามเอาลวดไปดัดต้นไทรซึ่งมันใหญ่ เติบโตโดยธรรมชาติแบบไร้ทิศทางทั้งด้านบนและส่วนราก การที่จะไปกำกับสังคมที่เต็มไปด้วยความละเอียดอ่อนและสั่นไหว ก็ทำให้ระบบการเมืองตึงตัว และความตึงเครียดจะทำให้เกิดความตึงเครียดเป็นระลอกๆ ยิ่งสร้างความไม่มั่นใจในตัวรัฐบาลและนโยบายรัฐบาล สี่ปีถัดจากรัฐบาลนี้จะเป็นรัฐบาลไหน คือมันไม่เห็นอนาคตของตัวเอง

เราเห็นตัวอย่างแล้วว่า ผลจากการให้คนที่ไม่ชำนาญในการบริหารประเทศในบางด้านมากำหนดทิศทางประเทศมันทำให้ทุกอย่างบิดเบี้ยว ไม่สะท้อนความเป็นจริง นโยบายประชารัฐที่พยายามแยกตัวเองจากประชานิยม คำถามก็คือมันต่างจากประชานิยมตรงไหน คุณอภิสิทธิ์จ่าย 2,000 บาทเป็นเช็คช่วยชาติ รัฐบาลนี้จะจ่ายเงินให้คนไปเที่ยว ถามว่า 1,000 บาทมันพอหรือเปล่าที่จะไปเที่ยวไปกิน ขับรถไปก็หมดแล้ว มันเห็นอะไรบางอย่างที่แนวคิดการเมืองไม่สอดคล้องกับสิ่งที่ควรจะเป็นในการบริหารบนโลกที่พลิกผัน หรือ disruptive ในทางธุรกิจก็ต้องบอกว่าต้องเป็นองค์กรที่ปรับตัวรวดเร็ว สนองต่อความเปลี่ยนแปลงไว รัฐบาลนี้ ภายใต้รัฐธรรมนูญนี้ไม่สะท้อนสิ่งที่ควรจะเป็นทั้งสิ้น ราคายางต่ำมาถึงขนาดนี้ คุณมาพูดเรื่องกัญชาที่ไม่รู้เลยว่าจะไปต่อยังไง ข้าวเหนียวที่เป็นอาหารหลักของคนจำนวนหนึ่งในประเทศที่จากเดิมราคา ก.ก. ละ 30 บาท ตอนนี้พุ่งไป 40-50 บาท ข้าวคุณภาพดีๆ ก.ก. หนึ่ง 160 บาท แล้วส่วนต่างมันไปไหน ทำไมชาวนายังจนอยู่

แล้วนโยบายประชารัฐที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากไม่ได้แก้ไขปัญหาเศรษฐกิจหรอกหรือ

ยกตัวอย่างนะ คุณเบิกเงินประชารัฐ คุณเอาไปใช้อะไร บัตรประชารัฐจำนวนหนึ่งก็อัฐยายขนมยาย ผมไม่ต้องพูดว่ามันวิ่งเข้ากระเป๋าใคร บริษัทใคร การอัดฉีดอะไรแบบนี้ เครื่องยนต์มันหยุดเพราะเงินไปเข้าบริษัทใหญ่ ไม่เหมือนแนวเศรษฐกิจแต่ก่อนที่เน้น Microcredit การให้กู้ยืมในวงเงินขนาดเล็กเพื่อให้คนไปลงทุน ไปใช้จ่าย ลงทุนในกิจการที่สร้างรายได้ ในภาษาเศรษฐศาสตร์คือสร้างตัวคูณ (Multiplier) แต่นโยบายประชารัฐไม่ได้สร้าง Multiplier มันสร้างผู้บริโภคแต่ไม่สร้างผู้ผลิต 

ระบบการเมืองแบบไหนจะแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและรัฐธรรมนูญ

เราต้องมาเรียนรู้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับไหนที่อยู่นาน ภายใต้เงื่อนไขอะไร รัฐธรรมนูญที่อยู่ยาวนานอย่างที่ยกตัวอย่างคือ 2521-2534 มีอายุ 12 ปีเศษ รัฐธรรมนูญ 2475 ยาวถึง 2488 อายุ 13 ปี ส่วนฉบับ 2475 ที่ปรับแก้นั้นไม่นับเพราะเปลี่ยนใหม่ ทั้งสองรัฐธรรมนูญนั้นเกิดภายใต้เงื่อนไขที่พิเศษมาก เพราะหลัง 2475 เป็นหลังยึดอำนาจ เปลี่ยนระบอบการเมือง และเป็นช่วงเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 ที่มีความผันผวน มีปัจจัยที่จะยืดอายุสภาผู้แทนราษฎรด้วยเหตุผลว่าเป็นช่วงสงคราม ไม่สะดวกจะดำเนินการ ซึ่งมันก็สมเหตุผลในบางแง่มุม แล้วรัฐธรรมนูญ 2475 ก็จบลงด้วยดำริของกลุ่มนายปรีดี พนมยงค์ที่บอกว่าเปิดโอกาสให้ผู้นำใช้อำนาจพิเศษได้ ก็เลยคิดว่าจะแก้รัฐธรรมนูญ แก้ไปแก้มากลายเป็นร่างใหม่ทั้งฉบับ กลายเป็นฉบับ 2489

ฉบับ 2521 เป็นรัฐธรรมนูญที่เราเรียกว่าเป็นประชาธิปไตยครึ่งใบ สิ้นสุดเมื่อรัฐประหาร 23 ก.พ. 2534 ที่เรียกว่าประชาธิปไตยครึ่งใบเพราะออกแบบให้มีสภาผู้แทนราษฎรกับวุฒิสภา วุฒิสภามาจากการแต่งตั้ง สภาผู้แทนราษฎรมาจากการเลือกตั้ง ภายใต้การประนีประนอมระหว่างกองทัพและข้าราชการประจำที่เข้าประนีประนอมกับฝ่ายการเมืองและอยู่กันได้ใต้เงื่อนไขรัฐธรรมนูญ 2521 แต่ก็ใช่ว่าสิบกว่าปีจะไม่เปลี่ยนแปลงนะ ช่วงปลายของรัฐธรรมนูญ 2521 คือช่วง พล.อ.ชาติชาย ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ โดยแก้ให้ตัวประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นประธานรัฐสภา จากเดิมเป็นประธานวุฒิสภา เพราะว่า พล.อ.ชาติชายเห็นว่ามีความตื่นตัว เกิดความรับรู้ของประชาชนว่าอำนาจของตัวเองอยู่ที่ไหน จะใช้อย่างไร และใช้ถูกด้วย คือเลือกคนที่ทำงานให้เขา มีความพยายามปรับระบบเลือกตั้งแต่ก็ไม่ถึงที่สุด ก่อนจะถูกฉีกด้วยรัฐประหาร ก.พ. 2534

รัฐธรรมนูญอีกฉบับที่ยาวนานคือ 2540 ที่อยู่ประมาณ 9 ปี ผมคิดว่านี่คือรัฐธรรมนูญที่เปลี่ยนภูมิทัศน์ทางการเมืองไทยมากที่สุด เพราะมันปรับโครงสร้างไปหมดเลย นักวิชาการจำนวนหนึ่งก็บอกว่า รัฐธรรมนูญ 2521 พอใช้ไปจุดหนึ่งก็จะรู้ว่ามันเป็นการประนีประนอมกันระหว่างข้าราชการประจำกับนักการเมือง แถมผู้นำที่เป็นนายกฯ ก็มาจากกองทัพจิ้มมา หรือผู้นำกองทัพมานั่งเอง คือ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ 

ช่วงท้ายรัฐบาลเปรมคนก็รู้สึกว่าไม่ไหว มันทำให้ผู้นำทางการเมืองไม่จำเป็นต้องตอบสนอง ตอบคำถามประชาชน ถ้ากลับไปอ่านหนังสือพิมพ์สมัยนั้น มันมีสติกเกอร์ โปสเตอร์เต็มไปหมด เบื่อป๋าบ้าง วิจารณ์ พล.อ.เปรมบ้างว่าเป็นเตมีย์ใบ้ ไม่ตอบคำถามสื่อมวลชน คนก็ไปถาม ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมทย์ว่ายังอุ้มป๋าอยู่ไหม สะท้อนภาวะเสื่อมทรามของอำนาจการเมืองเอง ยุคของคุณชาติชายจึงเกิดความเชื่อมั่นขึ้นมาว่ามีแรงกดดันไปยัง พล.อ.เปรมไม่ให้รับตำแหน่งต่อ พล.อ.เปรมก็บอกว่าผมพอแล้ว พล.อ.เปรมก็ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็นรัฐบุรุษ คุณเปรมก็อยู่ในสถานะรัฐบุรุษนับแต่นั้น พูดง่ายๆ ว่าหลุดจากวงการเมือง แต่ถามว่าอยู่ตรงไหนของการเมือง เราก็รู้กันดี

รัฐธรรมนูญ 2540 มันเปลี่ยนสัมพันธภาพจากครึ่งใบเป็นรัฐธรรมนูญที่เพิ่มอำนาจให้ประชาชน แน่นอนว่าในปลายรัฐธรรมนูญ 2521 เราบอกว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน แต่โดยโครงสร้างยังไม่เห็นภาพ ทำให้เกิดภาวะที่คนรู้ว่าถ้าเลือกตั้งไป พรรคไหนได้เสียงข้างมากก็ได้จัดตั้งรัฐบาล ก็มีข้อวิจารณ์ว่าถ้างั้นคนมีเงินเยอะๆ ก็ซื้อรัฐบาล ซื้อตำแหน่ง ซื้อความเป็นนายกฯ ได้สิ ก็มีข้อวิจารณ์กับรัฐธรรมนูญ 2521 อย่างนี้ จึงมีโจทย์ว่าทำอย่างไรให้คนเก่ง มีความสามารถมาสู่การเมือง ช่วงนั้นจะเห็นความเปลี่ยนแปลงในรัฐธรรมนูญ2540 ว่ามีนักธุรกิจจำนวนมากมาเล่นการเมือง แต่ยังไม่ถึงจุดที่คนไม่มีฐานเสียงสามารถเล่นการเมืองได้ รัฐธรรมนูญ 2540 เลยออกแบบให้มี ส.ส. จำนวนหนึ่งไม่ต้องลงพื้นที่ แต่มีความฉลาด มีความชำนาญเฉพาะด้านที่ประชาชนยอมรับมาลงภายใต้บัญชีรายชื่อพรรคต่างๆ โดยไม่จำเป็นต้องผูกตัวกับฐานเสียงกับท้องถิ่น

ตัวรัฐธรรมนูญ 2540 เองมันเปิดพื้นที่ให้ผู้ชำนาญการมืออาชีพ ก็เปลี่ยนพื้นที่ตรงนี้ เราเคยมี ส.ส. ที่เป็นนักเลง เป็นเจ้าพ่อเริ่มหดหาย ถดถอย ผลก็คือเรามีมืออาชีพมาสู่วงการเมืองมากขึ้น นี่เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เครื่องยนต์เศรษฐกิจทำงาน เพราะคนที่อยู่ในภาคเอกชนก็รู้สึกว่ามีพื้นที่อีกพื้นที่ให้เล่น จะเห็นการโอนถ่าย อย่าง ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เมื่อก่อนก็อยู่ในวงการธุรกิจก็ถูกดูดเข้ามาในวงผู้บริหารมืออาชีพที่ฝ่ายการเมืองไปดึงขึ้นมา คุณมิ่งขวัญ แสงสุวรรณณ์ คุณโอฬาร ชัยประวัติ หลายๆ คนที่โตขึ้นมา นี่คือการเปลี่ยนแปลงที่รัฐธรรมนูญ 2540 ให้ จนกระทั่งเกิดวิกฤตการเมืองในปี 2549 2553 2556 2557 ยาวถึงปัจจุบันที่เรามีความพยายามจะเปลี่ยนให้การเมืองมีเสถียรภาพมากขึ้น หลายคนกลัวความเปลี่ยนแปลงก็สนับสนุนให้มีรัฐธรรมนูญ 2560

อย่างที่ผมยกตัวอย่างว่าตัวรัฐธรรมนูญ 2560 มีความผิดปกติ ผมเคยอธิบายให้เพื่อนนักวิชาการต่างชาติว่านี่คือความพยายามรื้อฟื้นยุคสมัยอันยาวนานของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์อีกครั้ง คือความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพ ภาคเอกชน และฝ่ายการเมือง 2540 ทำลายตรงนี้ไป แต่ 2560 ดึงภูมิทัศน์การเมืองแบบนั้นมา แต่ภูมิทัศน์การเมืองปัจจุบันมันจะเป็นปุ๋ย เป็นดินที่งอกงามกับความสัมพันธ์แบบนั้นหรือไม่ ก็เป็นเรื่องที่ต้องพูดกันต่อไป

การมีสภา มีรัฐบาลที่ตอบสนองต่อเจตจำนงประชาชนได้อย่างแท้จริงจะแก้ปัญหาได้หรือ

อย่างน้อยที่สุดมันสร้างความเชื่อมั่น เพราะถ้าประชาชนไม่เชื่อมั่น เขาจะไปเลือก (ตั้ง) ทำไม คนเหล่านี้ก็ต้องลงพื้นที่หาเสียง ไม่ใช่นั่งกระดิกเท้าที่บ้านแล้วรอคนมาเชิญให้ขึ้นเกี้ยวไปรับตำแหน่ง นี่คือสิ่งที่คุณเห็นได้ชัดว่าความแตกต่างเกิดขึ้นระหว่างคนที่สัมผัสถึงความยากลำบากของประชาชน กว่าคนจะยอมรับ คุณต้องสร้างอะไรหลายๆ อย่าง ไอ้นี่คุณไปเดินสายงานเตะบอล ดมถุงเท้าไร้กลิ่นมันไม่ได้ตอบโจทย์ คุณยังไม่รับรู้ถึงความทุกข์ยากของพี่น้องประชาชน ถ้าเราลงพื้นที่เราก็เห็น ทำไมคนไม่อยู่เมืองไทย ยอมไปเป็นผีน้อยที่เกาหลี ไปเป็นแรงงานผิดกฎหมายในหลายประเทศ คำถามคือถ้าเขาไม่เดือดร้อนแล้วเขาจะไปทำไม เราก็เห็นความถดถอยของชาวนา ชาวสวน ผู้ประกอบการอิสระในรอบหลายปีที่ผ่านมา นั่นก็สะท้อนความไม่เชื่อมั่นของประชาชนว่ารัฐบาลจะสร้างหรือำนวยความสะดวกให้เขามีชีวิตปกติหรือเปล่า

ผมคิดว่าคนไทยเรียกร้องน้อยที่สุดแล้วนะ เราเรียกร้องในแง่สิทธิการเข้าถึงระบบสาธารณสุขพื้นฐาน การรักษาพยาบาลที่ไม่ใช่ไปถึงแล้วจ่ายแค่ยาพาราฯ อย่างเดียว หรือว่าโรงพยาบาลบอกว่าเราจ่ายได้แค่นี้ เราเรียกร้องระดับการดูแลจากรัฐที่ต่ำที่สุดนะ ผมคิดว่าเราเรียกร้องน้อย ฉะนั้นอาจจะเป็นจุดที่ผมคิดว่ารัฐบาลที่ไม่ได้มาจากเจตจำนงแท้ๆ ของประชาชนไม่เห็น เพราะคุณไม่จำเป็นต้องไปดีลกับชาวบ้านเพราะคุณมี 250 คนค้ำบัลลังก์คุณอยู่

เงื่อนไขขั้นต่ำคือการทำให้คนเชื่อมั่นว่าการเมืองแก้ปัญหาของประชาชนได้ใช่ไหม

มันคือความเชื่อมั่นที่เกิดจากการสร้างพันธสัญญา รัฐธรรมนูญ 2560 ผูกไปด้วยยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ประชาชนอยู่ตรงไหนในยุทธศาสตร์ชาติ ประชาชนเป็นเป้าหมาย แต่ไม่เคยเป็น actor (่ตัวแสดง/ผู้เล่น) แล้วเขาจะรู้สึกได้อย่างไรว่าเขามีอำนาจเปลี่ยนแปลงตัวเองและสังคมได้ สอง รัฐบาลไม่จำเป็นต้องดีลกับประชาชนเพราะว่าคุณมีเสียงข้างน้อยก็ตั้งรัฐบาลได้โดยการสนับสนุนของพรรควุฒิสภา รัฐบาลที่ไม่แคร์ประชาชนก็อย่างที่เราเห็น ไม่ต้องสนใจตอบกระทู้ ไม่ต้องสนใจตอบคำถาม แล้วคุณจะรับรู้ได้อย่างไรว่าประชาชนเดือดร้อน คุณอยู่ในวังวนของอำนาจ มีแต่คนอุ้ม หามไปโน่นไปนี่ คุณไม่มีทางรับรู้หรอกว่าคนจนจริงๆ เขาอยู่อย่างไร ถ้าคุณเป็น ส.ส. คุณก็จะต้องลงพื้นที่ ต้องพาลูกพรรคไปหาเสียง ลงไปหาลูกพรรคในพื้นที่ถึงได้รับคะแนนนิยมเข้ามา การที่นายกฯ ไม่ผ่านการเลือกตั้งก็เป็นผลปฏิบทหรือ paradox ของการออกแบบให้มีนายกฯ เทวดาแบบนี้

รัฐบาลส่งสัญญาณกับปัญหาปากท้อง แสดงว่ารัฐบาลก็รับรู้ว่ามีปัญหาใช่ไหม

ทำยังไงได้ล่ะครับ ในเมื่อเราไม่มีผู้เชี่ยวชาญจริงๆ ถามว่าโทษรัฐบาลก่อนได้ไหม ก็คุณอยู่เป็น คสช. มาตั้ง 5 ปี ทีมเศรษฐกิจชุดเดียวกันจะสร้างความมั่นใจได้อย่างไร อันนี้ก็ต้องไปถามผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ ผมคงตอบได้ในแง่โครงสร้างนโยบาย สถาบันการเมืองที่ไม่เอื้อให้เกิดความเปลี่ยนแปลง 

อยากให้ประชาชนคิดถึงอะไรเมื่อได้ยินข้อความ "แก้ปัญหาปากท้องมาก่อนแก้รัฐธรรมนูญ"

ความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยคือระบอบการเมืองที่ประชาชนควรมีสิทธิ์มีเสียงกำหนดความเป็นไปของประเทศชาติ เราคงตอบคำถามได้แล้วว่าระบอบการเมืองขณะนี้ตอบสนองต่อความต้องการของเราได้หรือไม่ โครงสร้างการเมือง สถาบันการเมืองขณะนี้อาจจะเป็นปัญหาต่อการขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้า ถ้ามันถึงเวลาแก้ก็ต้องแก้ 

รัฐธรรมนูญไม่ใช่ของที่แก้ไม่ได้ มันไม่ใช่ของศักดิ์สิทธิ์ ตั้งแต่ 2475 เรามีมาแล้ว 20 ฉบับ จะมีฉบับที่ 21 ด้วยการเลือกตัวแทนของเรามาร่างใหม่ แก้ไขใหม่ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก กติกาต้องยืดหยุ่น สังคมไหนที่กติกาไม่ยืดหยุ่นมันก็ทำให้เกิดทางตัน และหลายๆ ครั้ง ทางตันในสังคมไทยมันก็กลายเป็นเรื่องรัฐประหารที่จะต้องมาผ่าทางตัน ผมคงไม่เรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในลักษณะนั้น เราอยากเห็นความเปลี่ยนแปลงที่เรามานั่งคุยกัน เจรจากันว่าเราจะอยู่กันแบบนี้ ไม่ใช่ปล่อยให้คนที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ได้รับผลกระทบ ในขณะเดียวกัน เราก็มีคนจำนวนมากที่ไม่รู้สึกรู้สากับความเดือดร้อนของประชาชนมากำหนดทิศทางของประเทศในอนาคต ผมคิดว่าเราต้องเปลี่ยนวิธีคิดแบบนี้

รัฐธรรมนูญฉบับนี้แก้ยากมากๆ ต้องอาศัยเสียงทั้งจากสภาผู้แทนราษฎรและจากสมาชิกวุฒิสภาด้วย การขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมันไม่ง่าย แต่เราก็หวังว่าปาฏิหาริย์จะเกิดขึ้นในแง่ที่ว่า ทุกคนรู้สึกว่ามันต้องแก้ ทั้งฝ่ายค้าน รัฐบาลและคนที่มาจากวุฒิสภา เมื่อเห็นพ้องต้องกันว่าต้องแก้ มันก็ต้องมีวิธีการที่เหมาะสม ไม่ใช่ผูกเงื่อนตาย ในหมวดการแก้ไขเพิ่มเติมของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จะเห็นว่าแก้ไขได้ยากมาก พูดง่ายๆ แทบจะเป็นไปไม่ได้ วิธีที่จะแก้รัฐธรรมนูญฉบับนี้คือต้องไปแก้วิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับนี้เหมือนที่เราผ่าทางตันในปี 2535 ที่เราแก้และต่อสู้ ใช้เวลาตั้งหลายปีกว่าจะแก้มาตรานี้ได้ ก็ไปอยู่ในช่วงรัฐบาลคุณบรรหาร ศิลปอาชา ซึ่งก็ไม่ง่าย เราก็หวังเพียงว่าการแก้ไขเพิ่มเติมในรอบนี้คงไม่ต้องใช้ชีวิตคน ซึ่งก็ไม่ใช่ทางที่เราปรารถนาอีกเหมือนกัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net