‘หมอธี’ ออกจาก ส.ว. หลังมีข้อถกเถียงว่าห้ามเป็น รมต. หมายถึงห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมืองด้วยหรือไม่

นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิฉัยว่ามีความผิดฐานถือหุ้นสัปทานรัฐเมื่อครั้งเป็นรัฐมนตรี ศาลสั่งให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว ซึ่งส่งผลให้เว้นวรรคการดำรงตำแหน่ง รมต. 2 ปี ตาม รธน.มาตรา 160 (8) คำถามที่เกิดขึ้นคือผลจากการวินิจฉัยจะกระทบต่อการดำรงตำแหน่ง ส.ว. ในปัจจุบันด้วยหรือไม่ ด้าน นพ.ธีระเกียรติ เชื่อว่าไม่มีผล แต่ยื่นใบลาออกแล้วเพื่อยุติข้อวิจารณ์ ทั้งนี้ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้สั่งห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมือง กรณีนี้จึงไม่เข้าค่ายข้อห้ามของการดำรงตำแหน่ง ส.ว.

ภาพจาก Teach For Thailand

28 ส.ค.2562 นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ สมาชิกวุฒิสภา เปิดเผยว่า ได้ยื่นใบลาออกจากการเป็น ส.ว.ต่อพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภาแล้ว จากกรณีศาลรัฐธรรมนูญให้ความเป็นรัฐมนตรีในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) จากกรณีคู่สมรสซื้อหุ้นเพิ่ม 800 หุ้นในบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทที่เป็นคู่สัมปทานกับรัฐ ขัดต่อมาตรา 186 ประกอบมาตรา 184 (2) แม้อดีตโฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หรือ กรธ. จะออกมาให้ความเห็นว่าไม่กระทบต่อการเป็น ส.ว. แต่เห็นว่าควรเคารพต่อคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ แม้ว่าจำนวนหุ้นที่เป็นปัญหาจะมีไม่มาก แต่ก็ถือว่าจะมีแม้แต่ 1 หุ้นไม่ได้ ถือเป็นบรรทัดฐานที่สำคัญ ดังนั้น หากจะให้สิ้นสภาพการเป็น ส.ว.ก็จะต้องมีสมาชิก ส.ว.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 เข้าชื่อเพื่อยื่นต่อประธานวุฒิสภาส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคุณสมบัติอีกรอบ ไม่ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร แต่เพื่อไม่ให้ยืดเยื้อจึงขอแสดงเจตจำนงลาออกจากการเป็น ส.ว.ตั้งแต่บัดนี้

“ผมได้พูดคุยกับท่านประธานวุฒิสภาแล้ว ซึ่งก็เข้าใจและเคารพการตัดสินใจของผม และจะมีการแจ้งให้สมาชิกรับทราบ ซึ่งผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต้องระมัดระวังเรื่องการถือหุ้นแม้มีเพียงหุ้นเดียวก็ตาม ในกรณีของผมคู่สมรสก็ไม่ทราบถึงข้อกฎหมายเรื่องนี้ แต่จะใช้เป็นข้ออ้างไม่ได้ อยากให้ทุกคนเคารพกฎหมาย” นพ.ธีระเกียรติ กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่าการลาออกของ นพ.ธีระเกียรติ ส่งผลให้อภิชาต โตดิลกเวชช์ อดีตอธิบดีกรมพัฒนาขุมชน บัญชีรายชื่อ ส.ว.สำรอง ลำดับที่ 2 จะเข้าปฏิบัติหน้าที่แทน เนื่องจากดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ ที่มีรายชื่อสำรองลำดับที่ 1 นั้น ขาดคุณสมบัติ ส.ว. เพราะอยู่ระหว่างดำรงตำแหน่งและปฏิบัติหน้าที่ รมว.การต่างประเทศ

ศาล รธน. สั่ง 'หมอธีระเกียรติ' อดีต รมต.มีความผิดฐานถือหุ้นสัมปทานรัฐพ้นตำแหน่ง ส.ว.

หมอธีระเกียรติ เชื่อศาล รธน. แค่ห้ามดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี 2 ปี ไม่ได้ห้ามเป็น ส.ว.

ความเป็นมาของคดีและผลการตัดสินของศาล

สำหรับคดีนี้เป็นคดีที่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยื่นเรื่องให้วินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีของหม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ผู้ถูกร้องที่ 1 สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผู้ถูกร้องที่ 2 ไพรินทร์ ชูโชติถาวร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ผู้ถูกร้องที่ 3 และ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ผู้ถูกร้องที่ 4 ต้องสิ้นสุดลงเฉพาะตัวหรือไม่ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรค 1 (5) กรณีการถือครองหุ้นสัมปทานกับหน่วยงานรัฐ

โดยศาบรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 เห็นว่าการถือครองหุ้นในบริษัทสัมปทานรัฐก่อนเข้าดำรงตำแหน่งไม่ถือว่าเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ทำให้ความเป็นรัฐมนตรีของ หม่อมหลวงปนัดดา และ นายไพรินทร์ ไม่สิ้นสุดลงเฉพาะตัว แม้จะถือครองหุ้นมาก่อนดำรงตำแหน่ง ก็ไม่เป็นการกระทำต้องห้าม ส่วนกรณี นพ.ธีระเกียรติ ศาลเห็นว่า กระทำการต้องห้าม เนื่องจากคู่สมรสได้ซื้อหุ้น บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งถือว่า เป็นบริษัทคู่สัญญาสัมปทานหน่วยงานรัฐ เพิ่มอีก 800 หุ้น จากเดิมที่มีอยู่ 4,200 หุ้น ภายหลังจากที่ได้รับการโปรดเกล้าฯเป็นรัฐมนตรีแล้ว แม้ภายหลังจะขายหุ้น หลังถูก กกต.ตั้งเรื่องสอบ ก็ไม่อาจลบล้างการกระทำได้ จึงถือว่าเป็นการกระทำในลักษณะต้องห้าม เป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว

ส่วนข้อโต้แย้งว่า ไม่ทราบมาก่อน ว่าเป็นบริษัทสัมปทานรัฐนั้น ศาลเห็นว่า เมื่อจะลงทุนก็ย่อมมีการศึกษาข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับบริษัทนั้นก่อน หากยินยอมให้มีเหตุอ้างว่าไม่รู้ ก็จะไม่สามารถใช้บังคับกรณีผลประโยชน์ขัดกันได้ แม้จะมีหุ้นเพียงเล็กน้อย ไม่มีอำนาจในการบริหารบริษัทนั้น ตามรัฐธรรมนูญไม่ได้ระบุจำนวนหุ้นหรือต้องมีอำนาจในการบริหาร แม้จะมีหุ้นเดียวก็ถือว่า มีหุ้นอยู่ในบริษัทที่เป็นคู่สัญญาของรัฐ จึงส่งผลให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวมีผลนับจากวันที่ลาออกจากตำแหน่ง 9 พ.ค. 2562 และห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมือง 2 ปี

ส่วนกรณีสุวิทย์ แม้จะมีหุ้นในบริษัทแฟมิลี่ โซไซตั้ง จำกัด จำนวน 19,000 หุ้น แต่ที่ประชุมวิสามัญได้มีมติให้เลิกกิจการ ก่อนที่สุวิทย์จะเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรี จากนั้นบริษัทดังกล่าวได้ตั้งให้ภรรยาของนายสุวิทย์เป็นผู้ชำระบัญชี ซึ่งแม้ว่าบริษัทจะอยู่ระหว่างการชำระบัญชีในขณะที่นายสุวิทย์ดำรงตำแหน่ง ก็ไม่ถือว่าประกอบกิจการ เพราะได้เลิกกิจการไปแล้ว จึงถือว่าไม่เข้าข่ายเป็นการกระทำต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ ทำให้ความเป็นรัฐมนตรีไม่สิ้นสุดลงเฉพาะตัว

สำหรับข้อถกเถียงที่ว่าจากนี้ นพ.ธีระเกียรติ จะมีสถานะเป็น ส.ว. ต่อไปได้หรือไม่ อุดม รัฐอมฤต อดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งเพิกถอนการดำรงตำแหน่งอดีตรัฐมนตรี ในข้อห้ามการถือหุ้นกิจการของรัฐ ซึ่งปัจจุบันเป็นวุฒิสมาชิกอยู่ว่า การห้ามดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีตามมาตรา 160(8) กับการขาดคุณสมบัติตาม รธน. มาตรา 98(17) เป็นคนละเรื่อง คนละกรณีกัน

กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ นายแพทย์ธีระเกียรติ พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรี และไม่อาจเป็นรัฐมนตรีภายใน 2 ปีนับจากพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา160 (8) จึงไม่ใช่มาตรการลงโทษห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมืองตามความมุ่งหมายของมาตรา 98 (17) กรณีของ นายแพทย์ธีระเกียรติ จึงไม่เข้าลักษณะต้องห้ามเป็น ส.ว.คือ ไม่เข้าตามมาตรา 108 ข. (1) และ มาตรา 98 (17)

 

หมายเหตุ มีการแก้ไขเนื้อหาข่าวเพื่อความถูกต้องเมื่อเวลา 15.30 น. และ เวลา 15.00 น. ของวันที่ 28 ส.ค.62 ประชาไทได้ถอดโพสต์ข่าวนี้ออกออกจากการเผยแพร่ในเฟสบุ๊คแฟนเพจ 'ประชาไท Prachatai.com' เพื่อนำมาปรับแก้ข้อมูล

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท