Skip to main content
sharethis

ความพยายามส่งผู้ลี้ภัยโรฮิงญาในบังกลาเทศกลับพม่าเป็นครั้งที่ 3 ล้มเหลว ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์และความกังวลเรื่องความปลอดภัยและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของพวกเขา ชาวโรฮิงญาหลายครอบครัวระบุ ไม่อยากกลับไปในสภาพการณ์เช่นนี้เพราะนอกจากเรื่องความปลอดภัยแล้วยังไม่มีการการันตีเรื่องสิทธิความเป็นพลเมือง เสรีภาพในการเดินทางและการใช้ที่ดินของพวกเขา

28 ส.ค. 2562 ตั้งแต่ปี 2560 ทางการพม่าและบังกลาเทศมีข้อตกลงที่ลงนามร่วมกันในการส่งตัวชาวโรฮิงญากลับไปพม่า ทว่า ในทางปฏิบัติ กระบวนการส่งตัวประสบความล้มเหลวมาแล้ว 2 ครั้ง โดยครั้งล่าสุดนี้เกิดขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่แล้วนี้เอง ถึงแม้ทางการพม่าจะกล่าวหาว่าบังกลาเทศเป็นต้นเหตุของความล้มเหลว แต่รัฐมนตรีต่างประเทศของบังกลาเทศก็แถลงว่าสาเหตุที่แท้จริงของเรื่องนี้มาจากการที่พม่าล้มเหลวในการทำตามสัญญาผูกมัดเรื่องการจัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมแก่การที่ชาวโรฮิงญาจะกลับไป

รัฐมนตรีต่างประเทศของบังกลาเทศแถลงว่า "มันเป็นความรับผิดชอบของพม่าในการที่จะสร้างสภาพแวดล้อมที่มีส่วนเกื้อหนุนชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่ผ่านทางการปฏิบัติที่เด็ดขาดและลดความไม่เชื่อใจของชาวโรฮิงญาผ่านมาตรการที่เหมาะสม เช่น การเปิดประเด็นอภิปรายในเรื่องข้อมูลข่าวสารที่อยู่บนพื้นฐานของความจริง"

เมื่อราว 2 ปีที่แล้วชาวโรฮิงญาจำนวนมากต้องเผชิญกับการสังหารหมู่ ข่มขืน และเผาทำลายจากน้ำมือของกองกำลังรัฐบาลพม่าในพื้นที่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของรัฐยะไข่ ทำให้ประชาชนจำนวนมากกว่า 743,000 รายต้องลี้ภัยไปที่บังกลาเทศ หลังจากนั้นจึงเริ่มมีความพยายามจากบังกลาเทศ พม่า และสหประชาชาติในการทำข้อตกลงและดำเนินการในเรื่องการให้ผู้ลี้ภัยคืนถิ่นฐานตัวเอง

ความพยายามส่งชาวโรฮิงญากลับประเทศในครั้งนี้ถือว่าล้มเหลวเป็นครั้งที่ 2 แล้ว หลังจากที่ครั้งแรกล้มเหลวในช่วงเดือน ก.ย. 2561 เพราะชาวโรฮิงญาปฏิเสธที่จะกลับไปเนื่องจากไม่มีอะไรการันตีเรืองสัญชาติและความปลอดภัยสำหรับพวกเขา โดยที่ตามกำหนดการในวันที่ 22 ส.ค. ที่ผ่านมา มีชาวโรฮิงญารวม 1,276 รายจาก 339 ครอบครัวที่ได้รับการสัมภาษณ์จากองค์การข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ในเรื่องการอาสาที่จะกลับไป แต่ครอบครัวเหล่านี้เกือบทั้งหมดก็แสดงออกว่าไม่อยากกลับไปเนื่องจากทั้งเรื่องสถานการณ์ความมั่นคง ความไม่คืบหน้าเกี่ยวกับประเด็นสิทธิและความเป็นธรรมไม่ว่าจะเป็นเรื่องสัญชาติ เสรีภาพในการเดินทางและสิทธิในการใช้ที่ดิน

ชาวโรฮิงญาต้องการกลับคืนถิ่นในรัฐยะไข่ แต่ก็แสดงความผิดหวังที่พม่าไม่สามารถรายงานความคืบหน้าได้ในเรื่องเกี่ยวกับสิทธิความเป็นพลเมือง สิทธิมนุษยชนและเรื่องความปลอดภัยของพวกเขาเมื่อกลับไป ถ้อยแถลงของ รมต. บังกลาเทศออกมา 3 วันหลังจากที่ความพยายามทำให้ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาคืนถิ่นล้มเหลวเป็นครั้งที่ 2 เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว 

บังกลาเทศยังเรียกร้องให้พม่าดำเนินการเรื่องการกลับคืนถิ่นของชาวโรฮิงญาตามคำแนะนำของคณะกรรมการให้คำปรึกษารัฐยะไข่ และควรจะร่วมมือกับกับประชาคมนานาชาติในการสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับการกลับคืนถิ่นฐานของผู้ลี้ภัยเหล่านี้ พร้อมกับมีกระบวนการกลับคืนสู่สังคมแก่ผู้ลี้ภัยเหล่านี้ 

ฝ่ายพม่ากล่าวหาว่าความล้มเหลวมาจากฝ่ายบังกลาเทศ เพราะบังกลาเทศไม่สามารถนำส่งเอกสารที่ถูกเรียกว่า "แบบฟอร์มยืนยัน" ให้กับผู้ลี้ภัยที่จะกลับคืนถิ่นฐาน โดยที่แบบฟอร์มดังกล่าวเป็นแบบฟอร์มที่สร้างข้อถกเถียงว่าไม่ใช่การให้สัญชาติแก่ชาวโรฮิงญา การที่พม่ากล่าวหาบังกลาเทศ ทำให้บังกลาเทศโต้ตอบกลับว่าพม่ากล่าวหาพวกเขานั้น "ไม่มีมูล มีแรงจูงใจทางลบ และเป็นสิ่งที่ไม่อาจยอมรับได้อย่างยิ่ง"

รัฐมนตรีต่างประเทศของบังกลาเทศกล่าวว่าพวกเขาจัดการด้านความปลอดภัยและการขนส่งลำเลียงกับชาวโรฮิงญาในการเดินทางกลับถิ่นฐาน แต่ข้อมูลและรายละเอียดต่างๆ ที่รัฐบาลพม่ามอบให้ทำให้ครอบครัวชาวโรฮิงญาหลายครอบครัวมีความกังวล ไม่มีครอบครัวชาวโรฮิงญาครอบครัวใดเลยที่ยอมรับจะกลับไปพม่าเนื่องด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัยและสภาพแวดล้อมโดยรวมที่ยังไม่เหมาสมแก่การกลับไปของพวกเขา ทางบังกลาเทศเสนอว่าควรจะมีการจัดการด้านความปลอดภัยในแบบที่ให้ชาวโรฮิงญาได้แสดงความคิดเห็นและเจตจำนงของพวกเขาได้อย่างเสรี

สหประชาชาติระบุว่าสถานการณ์ในรัฐยะไข่ไม่เหมาะสมที่จะให้ชาวโรฮิงญากลับไป ทางสหประชาชาติเองก็ถูกปิดกั้นไม่ให้เข้าถึงพื้นที่ส่วนใหญ่ของรัฐยะไข่ แต่ทางการพม่าก็ยังคงกล่าวหาบังกลาเทศในเรื่องความล้มเหลว

ผู้แทนของผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาได้เรียกร้องต่อผู้แทนระดับสูงของพม่าในคอกซ์ บาซาร์ ขณะเข้าพบกันเมื่อ 27-28 ส.ค. นี้ให้มีคณะเฝ้าระวัง ติดตามที่เป็นภาคประชาชนจากนานาชาติอยู่ในพื้นที่รัฐยะไข่ตอนเหนือ เพื่อการันตีความปลอดภัยในการและการกลับเข้าสู่สังคม ผู้แทนจากพม่าเองเห็นด้วยที่จะเดินหน้าพูดคุยกับชาวโรฮิงญาเพื่อหาทางออกร่วมกันทั้งสองฝ่ายในประเด็นหลักๆ รวมทั้งเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐานและสัญชาติ

องค์กรสิทธิมนุษยชน ฮิวแมนไรท์วอทช์ก็เคยวิจารณ์เรื่องการส่งตัวผู้ลี้ภัยกลับพม่าในทำนองเดียวกันว่าพม่ายังไม่มีการจัดการในเรื่องการให้ความเป็นธรรมแก่ชาวโรฮิงญาเกี่ยวกับเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นเมื่อ 2 ปีที่แล้ว นั่นทำให้ผู้ลี้ภัยกลัวว่าถ้าหากกลับไปจะต้องเผชิญกับความรุนแรงและการกดขี่ในแบบเดิมอีก นอกจากนี้ยังมีผู้ลี้ภัยให้สัมภาษณ์ต่อฮิวแมนไรท์วอทช์ว่าพวกเขาทราบในเรื่องที่มีชาวโรฮิงญาหลายพันคนที่ยังคงถูกควบคุมตัวอยู่ในค่ายกักกันที่สร้างขึ้นมาใจกลางรัฐยะไข่เมื่อปี 2555 โดยพวกเขาจะยอมกลับไปถ้าหากทราบว่าผู้คนเหล่านี้ได้รับปล่อยตัวแล้ว เพราะมันแสดงให้เห็นว่าพื้นที่ๆ พวกเขาจะกลับไปมีความปลอดภัย

อย่างไรก็ตามครอบครัวผู้ลี้ภัยก็ยืนยันว่าพวกเขามีความต้องการอยากกลับไปยังประเทศของตัวเองหลังจากที่ประเด็นทั้งหลายที่พวกเขาห่วงกังวลได้รับการแก้ไขแล้ว

เรียบเรียงจาก

It’s Myanmar’s failure, Daily Star (via Asia News Network), Aug. 26, 2019

Myanmar/Bangladesh: Halt Rohingya Returns, Human Rights Watch, Aug. 20,2019

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net