คนก็หาย กฎหมายก็ไม่มี : ครอบครัวยื่นคำร้องขอศาลให้บิลลี่เป็นบุคคลสาบสูญ

ครอบครัว พอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่ ยื่นคำร้องขอศาลให้บิลลี่เป็นบุคคลสาบสูญ ร่วมกับทนายความจากสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนและมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ระบุในปัจจุบันไทยยังไม่กฎหมายที่เกี่ยวกับกรณีการถูกบังคับสูญหายโดยตรง เป็นช่องว่างที่ทำให้เกิดการกระทำกับบุคคลในลักษณะนี้โดยไม่มีใครต้องรับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้น

28 ส.ค.2562 ที่ศาลจังหวัดเพชรบุรี เมื่อวันที่ 27 ส.ค.ที่ผ่านมา เวลา 10:00 พิณนภา พฤกษาภรรณ หรือมึนอ ผู้แทนโดยชอบธรรมของเด็กหญิงประติภา รักจงเจริญ ร่วมกับ วราภรณ์ อุทัยรังสี หรือ แป๋ม ทนายความจากสมาคมนักกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชน (สนส.) ได้เดินทางไปยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งให้ พอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่ สามีของพิณนภา เป็นบุคคลสาบสูญ สืบเนื่องจากการที่บิลลี่ แกนนำนักปกป้องสิทธิมนุษยชนชาวกะเหรี่ยง ที่ได้รับมอบหมายจากปู่โคอี้ ผู้นำทางจิตวิญญาณของชาวกะเหรี่ยงแก่งกระจานให้ต่อสู้เรียกร้องสิทธิของชนเผ่าพื้นเมืองของชาวกะเหรี่ยงแห่งบ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน หายสาบสูญไปตั้งแต่วันที่ 17 เม.ย. 2557 หลังจากถูกจับกุมและควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน โดยเจ้าหน้าที่ได้ยอมรับว่าได้ควบคุมตัวนายบิลลี่ ไว้จริง แต่อ้างว่าได้ปล่อยตัวไปแล้ว ซึ่งจนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีผู้ใดทราบชะตากรรมของ บิลลี่ เป็นระยะเวลา กว่า 5 ปีแล้ว โดยมีพยานหลักฐานน่าเชื่อได้ว่า บิลลี่ถูกบังคับให้หายสาบสูญโดยเจ้าหน้าที่รัฐ

สำหรับคำร้องที่ทนายความของมึนอได้ยื่นไปนี้ศาลกำหนดนัดไต่สวนในวันที่ 28 ต.ค.นี้ เวลา 09.00 น. ณ ศาลจังหวัดเพชรบุรี 

พิณนภา หรือมึนอ ภรรยาของบิลลี่

พิณนภา หรือมึนอ ภรรยาของบิลลี่ระบุว่าการยื่นคำร้องให้ศาลสั่งให้บิลลี่เป็นบุคคลสาบสูญก็เพื่อสิทธิประโยชน์ทางด้านสิทธิตามกรมธรรม์ประกันชีวิตที่บิลลี่เคยทำไว้และนิติกรรมอื่นๆ การต่อสู้ที่ผ่านมากินระยะเวลามากว่า 5 ปี ที่มึนอจะต้องต่อสู้ในเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับบิลลี่ สิทธิในที่ดินทำกินของชาวกะเหรี่ยงโป่งลึกบางกลอย หมู่บ้านที่เธออยู่อาศัยในปัจจุบัน ทำให้เธอรู้สึกเหนื่อยล้า เนื่องจากต้องพบความยากลำบากหลายอย่างโดยหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเดินทางออกนอกพื้นที่โป่งลึกบางกลอยเพื่อดำเนินการเกี่ยวกับคดีความทางกฎหมาย หรือการใช้ชีวิตประจำวันซึ่งต้องดูแลลูกๆ อีกห้าคนรวมทั้งแม่ที่อายุมาก การเดินทางออกมานอกพื้นที่หนึ่งครั้งก็จำเป็นต้องขอความช่วยเหลือจากหลายฝ่ายให้ช่วยอำนวยความสะดวกให้ อีกทั้งยังต้องคอยเป็นห่วงเด็กๆ ที่อยู่ที่บ้าน ว่าจะไปโรงเรียนอย่างไร หากฝนตกใครจะไปรับไปส่งเดินทางไปเรียน การทำงานต่อสู้เพื่อบิลลี่นั้นทำให้มึนอต้องออกนอกภูมิลำเนาอยู่บ่อยครั้ง จนแม่ของเธอบอกว่าเธอเดินทางบ่อยกว่าบิลลี่ในช่วงที่ทำงานก่อนหายตัวไปอีกด้วยซ้ำ อีกสิ่งหนึ่งที่มึนอจะต้องแบกรับนอกเหนือจากประเด็นเรื่องค่าใช้จ่าย แรงกายแรงใจ หรือเวลาที่เสียไป นั่นคือความรู้สึกไม่ปลอดภัยที่เธอต้องเป็นกังวลอยู่เสมอ

ในส่วนของสมาชิกในครอบครัวบิลลี่เอง มึนอกล่าวว่า“เด็กๆ ต้องการให้พ่อกลับคืนมา ญาติพี่น้องผู้ใหญ่ของบิลลี่ก็ต้องการให้คดีกระจ่าง ทุกคนอยากทราบความจริง อยากรู้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมันคืออะไร รวมไปถึงต้องการให้ปัญหาเรื่องที่ดินทำกินของพี่น้องชาวชาติพันธุ์กะเหรี่ยงในบริเวณแก่งกระจานได้รับการแก้ไขโดยเร็วที่สุด”

วราภรณ์ อุทัยรังสี หรือ แป๋ม ทนายความจากสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.)

วราภรณ์ อุทัยรังสี หรือ แป๋ม ทนายความจากสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) ซึ่งเดิมทีเป็นทนายความให้กับปู่โคอี้และชาวกะเหรี่ยงแก่งกระจาน แห่งหมู่บ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน ในกรณีที่ถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานรื้อทำลาย เผาบ้านและทรัพย์สิน โดยมีการยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลางเมื่อปี 2555 ในคดีดังกล่าวบิลลี่ คอยเป็นผู้ประสานงานเตรียมข้อมูลของชาวบ้านที่เป็นผู้เสียหายให้กับทนายความ เนื่องจากบิลลี่เองสามารถสื่อสารภาษาไทยได้ หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 17 เม.ย. 2557 เมื่อบิลลี่หายตัวไปภายหลังการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ทนายวราภรณ์จึงทำงานเป็นทนายความให้กับมึนอ ในการยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดเพชรบุรีเพื่อขอให้มีการไต่สวนกรณีการควบคุมตัวบิลลี่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 90 ในช่วงขณะที่ยื่นคำร้องฯ เป็นช่องทางทางกฎหมายเพียงช่องทางเดียวที่ญาติของบิลลี่จะสามารถขอให้มีการตรวจสอบการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่โดยทันที เพื่อตรวจสอบว่าบิลลี่ถูกปล่อยตัวไปจริงหรือไม่ หรือยังคงอยู่ในการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ อย่างไรก็ตาม แม้จะไม่ปรากฏข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานว่าได้มีการปล่อยตัวบิลลี่ไปแล้วตามที่เจ้าหน้าที่กล่าวอ้าง เช่น บันทึกการจับ บันทึกการปล่อย ซึ่งหลักฐานดังกล่าวมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการป้องกันและตรวจสอบการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ว่ามีความโปร่งใสหรือไม่ เพื่อเป็นหลักประกันว่าผู้ถูกจับหรือถูกควบคุมตัวทุกคนอยู่ในความปลอดภัยขณะถูกควบคุมตัว แต่ศาลฎีกาก็ไม่ได้วินิจฉัยไปถึงพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องดังกล่าว ในส่วนของการดำเนินคดีอาญาก็ยังคงดำเนินต่อไปภายใต้การสอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) โดยนางสาววราภรณ์รวมถึงครอบครัวของบิลลี่หวังเป็นอย่างยิ่งว่ากรณีจะมีความคืบหน้าโดยเร็วและครอบครัวของบิลลี่จะได้รับความเป็นธรรม

ในปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายที่เกี่ยวกับกรณีการถูกบังคับสูญหายโดยตรง ไม่มีข้อหาความผิดฐานบังคับให้บุคคลสูญหายโดยเจ้าหน้าที่ และไม่มีกระบวนการในการสืบสวนและการพิจารณาคดีที่ต่างไปจากคดีอาญาปกติ ทั้งๆ ที่ผู้กระทำผิดเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ มีอิทธิพล และอาจใช้อำนาจกลั่นแกล้ง ใช้กำลังบังคับให้บุคคลสูญหายได้ จึงเป็นช่องว่างที่ทำให้เกิดการกระทำกับบุคคลในลักษณะนี้โดยไม่มีใครต้องรับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้น การตรวจสอบการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ในการควบคุมตัวบุคคลใดให้อยู่ในความปลอดภัยจึงมีความสำคัญมาก นอกจากนั้นรัฐยังควรต้องเพิ่มมาตรการอื่นที่รองรับความสูญเสียของญาติผู้ถูกบังคับให้สูญหายอย่างเช่นกรณีบิลลี่ กรณีทนายสมชาย นีละไพจิตร หรือคนอื่นๆ ที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ โดยต้องผลักดันให้เกิดกฎหมายที่เกี่ยวกับฐานความผิดกรณีนี้ที่รวมไปถึงการเยียวยาความเสียหายและมาตรการบังคับให้เจ้าหน้าที่ต้องดูแลความปลอดภัยของผู้ถูกควบคุมตัวอย่างดีที่สุดด้วยก่อนคดีจะถึงที่สุด

เนื่องในโอกาสที่วันที่ 30 สิงหาคมของทุกปีเป็นวันผู้ถูกบังคับสูญหายสากล มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ร่วมกับคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (ICJ) และสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยความสนับสนุนจากสหภาพยุโรป จึงจัดงานเสวนา “คนก็หาย กฎหมายก็ไม่มี” เพื่อรำลึกถึงนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนที่หายไป และเน้นย้ำถึงความจำเป็นของการมีกฎหมายต่อต้านการบังคับให้บุคคลสูญหาย รวมทั้งกำหนดให้การบังคับให้บุคคลสูญหายเป็นความผิดอาญาในประเทศไทย

พิณนภา หนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบจากการบังคับสูญหายที่จะมาเข้าร่วมในงานเสวนาเห็นว่า “อยากให้สิ่งที่เกิดขึ้นกับบิลลี่เป็นคนสุดท้าย ไม่อยากให้เกิดกับบุคคลอื่นอีกต่อไป” และทนายความของผู้ยื่นคำร้องศาลให้บิลลี่เป็นบุคคลสาบสูญ หรือนางสาววราภรณ์ยังได้ฝากข้อกังวลด้วยว่า “คนทั่วไปยังไม่ตระหนักถึงปัญหาการถูกบังคับให้บุคคลสูญหาย อาจจะเพราะยังมองว่าเป็นเรื่องไกลตัวมาก ไม่เคยเกิดขึ้นกับตนเองหรือคนใกล้ตัว เป็นไปได้ที่คนจำนวนมากยังไม่รู้จักคำว่า “การบังคับให้บุคคลสูญหาย” ทั้งที่มันมีโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้กับทุกคน แต่มันไม่ควรเกิดขึ้นกับใครเลย ดังนั้นการมีกลไกทางกฎหมายและมาตรการความปลอดภัยต่าง ๆ ที่สามารถคุ้มครองชีวิตของคนทุกคนที่มีการบังคับใช้อย่างจริงจังจึงเป็นสิ่งที่ควรเร่งรัดให้เกิดขึ้นโดยไว”

โดยงานเสวนา “คนก็หาย กฎหมายก็ไม่มี” ดังกล่าว จัดขึ้นในวันที่ 30 ส.ค.นี้ เวลา 13:00-16:30 ณ ห้อง LT2 ชั้น 3 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) โดยในงานมีนิทรรศการบอกเล่าเรื่องราวของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ถูกบังคับสูญหายบางส่วนในบริเวณหน้างาน พร้อมทั้งการเสวนาโดย พิณนภา พฤกษาพรรณ ภรรยาของ พอลละจี รักษ์จงเจริญ, อังคณา นีละไพจิตร ตัวแทนผู้เสียหาย, ผู้แทนจาก Asian Federation Against Involuntary Disappearances, ศ.ณรงค์ ใจหาญ คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ประธานคณะอนุกรรมการป้องกันการกระทำทรมานและการบังคับให้หายสาบสูญ, สัณหวรรณ ศรีสด ที่ปรึกษากฎหมาย คณะกรรมการนิติศาสตร์สากล,  อังศุเกติ์ วิสุทธิ์วัฒนศักดิ์ ผู้แทนจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ และอื่นๆ

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท