Skip to main content
sharethis

ในการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 62 หลายพรรคการเมืองชูนโยบายด้านสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศ พรรคการเมืองเหล่านี้ประกาศตัวว่าสนับสนุนสิทธิสมรสเท่าเทียม ผลักดันความเท่าเทียมในที่ทำงาน และสิทธิในการตั้งครอบครัว บางพรรคมีผู้สมัครที่เป็นบุคคลเพศหลากหลาย แต่ ส.ส.ส่วนใหญ่ของพรรคที่ใช้นโยบายเหล่านี้ในการหาเสียง เช่น พรรคเพื่อไทย พรรคพลังท้องถิ่นไท พรรคเพื่อชาติ และพรรคประชาธิปัตย์ กลับไม่ได้ลงคะแนนเสียงสนับสนุนการตั้งคณะกรรมาธิการสามัญความหลากหลายทางเพศ และถึงแม้ว่าจะมีความพยายามที่จะตั้งอนุกรรมการเพื่อทำงานในประเด็นด้านความหลากหลายทางเพศ ก็คงจะต้องดูกันต่อไปว่าผู้แทนราษฎรจะทำตามคำพูดที่ให้ไว้กลับกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศที่มีมากกว่า 7 ล้านคนทั่วประเทศหรือไม่

เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2562 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้มีการพิจารณาลงมติร่างข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร และได้มีการพิจารณาข้อบังคับการประชุมข้อที่ 90 (5) ซึ่งเป็นการลงคะแนนว่าจะให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการสามัญด้านความหลากหลายทางเพศแยกจากคณะกรรมาธิการสามัญด้านเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศหรือไม่ 

โดยการลงคะแนนเสียงของส.ส. ได้ผลออกมาว่ามีผู้สนับสนุนการตั้งคณะกรรมาธิการแยก 101 เสียง ต่อ ผู้ไม่สนับสนุน 365 สียง และงดออกเสียง 13 เสียง ซึ่งพรรคที่สนับสนุนการตั้งคณะกรรมาธิการแยกส่วนมากคือพรรคอนาคตใหม่ ที่ส.ส. ลงคะแนนให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการแยกถึง 76 เสียง และงดออกเสียง 1 เสียง ส่วนที่เหลือคือพรรคเพื่อไทย 12 เสียง พรรคเสรีรวมไทย 8 เสียง พรรคประชาธิปัตย์ 4 เสียง และพรรคเศรษฐกิจใหม่อีก 1 เสียง

ส่วนทางด้านพรรคฝ่ายรัฐบาล แทบจะไม่มีพรรคใดเลยที่ลงคะแนนสนับสนุน ยกเว้นพรรคประชาธิปัตย์ที่มีคะแนนเสียงสนับสนุน 1 เสียง ไม่สนับสนุน 45 เสียง และงดออกเสียง 1 เสียง ส่วนส.ส.ของพรรคประชาชาติที่มีฐานเสียงอยู่ในพื้นที่ภาคใต้ทั้งหมดงดออกเสียง อย่างไรก็ตาม แม้แต่พรรคฝ่ายค้านอย่างพรรคเพื่อไทยที่มักจะมีท่าทีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับพรรคอนาคตใหม่ ยังลงคะแนนเสียงไม่สนับสนุนถึง 121 เสียง 

ในการแปรญัตติเมื่อวันที่ 15 ส.ค. ที่ผ่านมา มีธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ และณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์ ส.ส. บัญชีรายชื่อพรรคอนาคตใหม่ เป็นผู้เสนอขอแปรญัตติ โดยธัญญ์วารินให้เหตุผลว่า การตั้งกรรมาธิการสามัญด้านความหลากหลายทางเพศและความเท่าเทียมทางเพศแยกออกมาอีกชุดจะช่วยสร้างความเข้าใจเรื่องความหลากหลายทางเพศและความเท่าเทียมของมนุษย์ โดยมีจุดเริ่มต้นที่รัฐสภา ส่วนณธีภัสร์ระบุว่า ควรมี    การแยก กมธ. ชุดนี้ออกมาเพื่อความคล่องตัวในการทำงาน และเพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์มากกว่า โดย กมธ. ที่แยกออกมานี้ไม่ได้ทำงานเฉพาะเรื่องความหลากหลายทางเพศ แต่เป็นเรื่องความเท่าเทียมระหว่างเพศด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่สังคมไทยขาดความเข้าใจ นอกจากนี้ บริบทปัญหาของผู้มีความหลากหลายทางเพศนั้นแตกต่างจากปัญหาอื่น ๆ ซึ่งในอดีต กมธ. เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุและผู้พิการมักเน้นการแก้ปัญหาแบบสังคมสงเคราะห์ แต่บุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศมีปัญหาต่างออกไป เพราะเป็นเรื่องของการทำให้สังคมรับรู้ เข้าใจความแตกต่าง

ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ (กลาง) ในการแถลงข่าวหลังการประชุมสภาวันที่ 15 ส.ค. 2562

ในส่วนชองกลุ่มที่เห็นว่าควรตัดคำว่าผู้มีความหลากหลายทางเพศ ซูการ์โน มะทา ส.ส. พรรคประชาชาติ เป็นกรรมาธิการที่สงวนความเห็นในเรื่องนี้ แต่ก็ยอมรับความเห็นของกรรมาธิการเสียงข้างมาก อย่างไรก็ตาม กรณ์ จาติกวณิช ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่ารู้สึกไม่สบายใจที่มีกรรมาธิการเสนอให้ตัดคำว่าผู้มีความหลากหลายทางเพศออก ซูการ์โนชี้แจงว่า เขาเป็นผู้แทนราษฎรที่นับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งจำเป็นต้องปฏิบัติตามฐานความเชื่อของศาสนา อย่างไรก็ตาม ซูการ์โนยืนยันว่าไม่ได้มีเจตนาที่จะลดทอนคุณค่า ดูถูกดูแคลน หรือเหยียดหยามกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ และยังเคารพในเรื่องสิทธิและความเท่าเทียม

นอกจากนี้ยังมีกลุ่มที่ 3 ที่เห็นว่าประเด็นความหลากหลายทางเพศเป็นประเด็นที่สำคัญ แต่หากมีปัญหาติดขัดก็เห็นว่านำไปรวมกับประเด็นเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ และกลุ่มชาติพันธ์ก็ได้ ซึ่งความเห็นนี้เป็นความเห็นของกรรมาธิการเสียงข้างมาก โดยชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส. พรรคเพื่อไทย ชี้แจงว่ากรรมาธิการยกร่างข้อบังคับการประชุมเข้าใจปัญหาของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ แต่ที่กำหนดให้รวมอยู่กับกลุ่มอื่น ๆ นั้นเพราะมีข้อจำกัดเรื่องปัจจัยสนับสนุนการทำงานของคณะกรรมาธิการที่จำกัด เช่นปัญหาด้านงบประมาณและบุคลากร นอกจากนี้ยังเห็นว่าในการทำงานจริงก็ยังสามารถมีอนุกรรมาธิการด้านผู้มีความหลากหลายทางเพศเป็นการเฉพาะได้ นอกจากนี้ชลน่านยังได้ให้ความเห็นส่วนตัวว่าหากมีการแยกคณะกรรมาธิการด้านความหลากหลายทางเพศออกมาจะเกิดคำถามเรื่องความเท่าเทียมว่าเหตุใดกลุ่มอื่น ๆ จึงไม่มีการตั้งคณะกรรมาธิการรองรับเป็นการเฉพาะ 

นอกจากนี้ ธณิกานต์ พรพงษาโรจน์ ส.ส. พรรคพลังประชารัฐและกรรมาธิการพิจารณาข้อบังคับการประชุมสภา ยังระบุว่า มติของที่ประชุมสภาที่ให้เพิ่มกลุ่มชาติพันธ์และกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศไว้ในข้อบังคับที่ 90 (5) นั้นถือว่าได้ให้ความสำคัญกับประเด็นสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศแล้ว ส่วนอัครเดช วงพิทักษ์โรจน์ ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่าที่กรรมาธิการเสียงข้างมากไม่ได้เพิ่ม กมธ. ด้านความหลากหลายทางเพศนั้นเป็นเพราะมีข้อจำกัดทางงบประมาณ

ในส่วนของประเด็นที่ทางของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศในสภานั้น ชุมาพร แต่งเกลี้ยง หนึ่งในคณะทำงานการสมรสที่เท่าเทียมและรองหัวหน้าพรรคสามัญชน ให้ความเห็นว่า มุมมองของกรรมาธิการยกร่างข้อบังคับการประชุมที่ว่านำประเด็นความหลากหลายทางเพศไปรวมกับประเด็นอื่นก็ได้นั้น อาจเพราะไม่ได้เป็นผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง ทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าเป็นเรื่องของคนชายขอบเหมือนกัน จึงจัดประเภทให้อยู่ในกลุ่มเดียวกันได้

โดยชุมาพรเห็นว่าผู้หญิง เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศมีประเด็นปัญหาและต้นตอของปัญหาที่แตกต่าง จึงควรแยกตามลักษณะปัญหา และไม่ใช่ควรแยกเฉพาะความหลากหลายทางเพศเท่านั้น แต่ควรแยกประเด็นเด็ก สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ ออกจากกันทั้งหมดเพราะแต่ละส่วนก็มีสภาพปัญหาต่างกัน  ส่วนการอ้างถึงข้อจำกัดด้านงบประมาณและบุคคลกรนั้นสะท้อนให้เห็นว่า ยังมีระบบคิดในการจัดลำดับความสำคัญของประเด็นต่าง ๆ อย่างไม่เท่าเทียม การจัดให้อยู่กลุ่มเดียวกันท้ายที่สุดย่อมทำให้เกิดการถกเถียงกันภายในคณะกรรมาธิการได้ว่า ประเด็นอะไรสำคัญกว่ากัน อะไรควรมาก่อนมาหลังด้วย

ทั้งนี้ ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2551 กำหนดให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นทั้งหมด 35 คณะ ประกอบด้วยคณะกรรมาธิการคณะละ 15 คน แต่เมื่อมีรัฐธรรมนูญใหม่ ก็ต้องตั้งคณะกรรมาธิการยกร่างข้อบังคับการประชุมขึ้นใหม่ อย่างไรก็ตาม จากข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2551 จะเห็นได้ว่าจากคณะกรรมาธิการสามัญทั้ง 35 คณะ มีคณะกรรมาธิการสามัญด้านกลาโหมและความมั่นคงทั้งหมด 3 คณะ คือคณะกรรมาธิการกิจการชายแดนไทย คณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ และคณะกรรมาธิการการทหาร ในขณะที่คณะกรรมาธิการที่ทำงานเกี่ยวกับสิทธิและการพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มบุคคลชายขอบกลับมีเพียง 1 คณะ คือคณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุและผู้พิการ โดยในครั้งนี้ก็ได้มีการเพิ่มกลุ่มชาติพันธ์ และกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศเข้ามา ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่ความหลากหลายทางเพศได้มีที่ทางในรัฐสภาไทย

อนค.ไม่ถอยหลังแพ้โหวต กมธ.หลากหลายทางเพศฯ เตรียมทลายกรงขังทางกฎหมาย, 22 ส.ค. 2562

ส่องประชุมสภา: ที่ทางของ ‘ความหลากหลายทางเพศ’ ลุ้นตั้ง กมธ.ใหม่, 16 ส.ค. 2562

แต่ถึงแม้ว่าผลการลงคะแนนเสียงจะออกมาเป็นเช่นนี้ ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์ และกวินนาถ ตาคีย์ ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ ได้แถลงข่าวหลังออกจาห้องประชุมว่า ถึงแม้จะไม่สามารถผลักดันให้มีคณะกรรมาธิการด้านความหลากหลายทางเพศได้ แต่ก็ถือว่าสิ่งที่ได้ร่วมขับเคลื่อนกันมาประสบความสำเร็จเพราะเสียงโหวตสนับสนุนมีถึง 101 เสียง ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามีพรรคการเมืองพรรคอื่นนอกจากพรรคอนาคตใหม่ที่ให้การสนับสนุน โดยธัญญ์วารินกล่าวว่าแม้จะยังไม่รู้ว่ามีพรรคใดบ้าง แต่ก็ขอขอบคุณผู้ที่ลงคะแนนเสียงสนับสนุน ส่วนธัญวัจน์กล่าวว่าถึงแม้ว่าถึงจะตั้งคณะกรรมาธิการไม่ได้ แต่ก็ไม่ได้แปลว่าทุกอย่างจะสิ้นสุดหรือจะไม่เดินต่อ โดยธัญวัจน์กล่าวว่าต่อจากนี้จะตั้งอนุกรรมการเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศและจะผลักดันในด้านประเด็นสิทธิสมรสที่เท่าเทียม กฎหมายรับรองเพศสภาพ และแก้ปัญหาในพ.ร.บ. ความเท่าเทียมระหว่างเพศต่อไป

 

ใครว่าประเทศไทยเป็นสวรรค์ของ LGBT?

ในการแปรญัตติเพื่อให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการสามัญด้านความหลากหลายทางเพศนั้น กรณ์ จาติกวณิช ได้อภิปรายสนับสนุนการแปรญัตติของสองส.ส. พรรคอนาคตใหม่ โดยระบุว่า สังคมไทยเป็นสังคมที่เปิดและยอมรับความหลากหลายทางเพศมากที่สุดสังคมหนึ่งในโลก แต่กฎหมายคุ้มครองสิทธิไม่สอดคล้องกับสภาพสังคม ซึ่งทำให้กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศขาดความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ซึ่งควรที่จะตั้งคณะกรรมาธิการแยกต่างหาก

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะมีภาพลักษณ์ว่าเป็นประเทศที่ยอมรับความหลากหลายทางเพศ กรุงเทพได้รับฉายานามว่าเป็น “เมืองหลวงเกย์แห่งเอเชีย” และมีชื่อเสียงเกี่ยวกับแหล่งเที่ยวกลางคืนของคนรักเพศเดียวกัน นางงามข้ามเพศ และการผ่าตัดแปลงเพศ  แม้แต่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยยังเคยจัดทำโครงการ “Go Thai, Be Free” ที่ใช้ภาพของคู่รักเพศเดียวกันในการโฆษณาสถานที่ท่องเที่ยว หวังดึงดูดนักท่องเที่ยวเพศหลากหลาย แต่ในความเป็นจริงกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศยังคงต้องเผชิญกับปัญหาการเลือกปฏิบัติและการละเมิดสิทธิอยู่เป็นประจำ และความเข้าใจในเรื่องของความหลากหลายทางเพศและความเท่าเทียมระหว่างเพศก็เป็นสิ่งที่ยังคงขาดหายไปจากสังคมไทย

ในการอภิปรายเพื่อแปรญัตตินั้น ธัญญ์วารินกล่าวว่าบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศในไทยว่า 7 ล้านคนถูกโกงความเป็นมนุษย์ ถูกฆ่าตัดตอนความฝันมาอย่างยาวนาน ไม่เคยมีการสร้างความเข้าใจ ซ้ำยังสร้างชุดความเกลียดชัง อคติ และถูกตีตราว่าไม่เท่าเทียมกับเพศชายและเพศหญิง ด้วยกฎระเบียบ กฎหมาย การแพทย์ ศาสนา วัฒนธรรม การศึกษา หรือแม้แต่สถาบันครอบครัว คนที่มีความหลากหลายทางเพศถูกทำให้กลายเป็นตัวตลก ไม่น่าเชื่อถือ เบี่ยงเบน โดนรังแกตั้งแต่เด็กจนกระทั่งจบการศึกษา ประกอบอาชีพแล้วก็ยังโดนเลือกปฏิบัติมีผลต่ออาชีพการทำงานไปตลอดชีวิต นอกจากนี้ยังมีผู้คนในสังคมจำนวนมากที่ยังไม่เข้าใจ และในขณะที่บอกว่ายอมรับความหลากหลาย แต่กลับบอกว่าถ้าลูกตนเองเป็นเพศหลากหลาย ตนยอมให้ติดยาบ้าดีกว่า หรือบอกว่าตนสนิทกับเพื่อนที่เป็นบุคคลเพศหลากหลาย แต่กลับยอมรับไม่ได้ถ้าน้องชายตนเองจะคบหากับเพื่อนคนนั้น นอกจากนี้บุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศยังต้องเผชิญกับอคติอีกมากมาย

ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะไม่มีกฎหมายที่ทำให้ความรักเพศเดียวกันเป็นความผิดทางอาญาเหมือนบางประเทศ แต่กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศก็ยังคงต้องประสบกับความเหลื่อมล้ำเชิงโครงสร้างที่ทำให้ตกอยู่ในสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมอันด้อยกว่าคนรักต่างเพศ และคนจำนวนมากยังมีภาพเหมารวมในแง่ลบต่อกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ โดยเฉพาะคนข้ามเพศ ทำให้เกิดการเลือกปฏิบัติอย่างกว้างขวางในสังคมไทย ซึ่งชนาธิป ตติยการุณวงค์ นักวิจัยจากมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ระบุว่าเป็นเงื่อนไขซึ่งนำไปสู่การใช้ความรุนแรงหลายรูปแบบที่เข้าข่ายการซ้อมทรมานและการปฏิบัติอย่างโหดร้ายต่อกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ เช่น การล่วงละเมิดทางเพศหญิงข้ามเพศระหว่างจำคุก การถูกเลือกปฏิบัติเช่นการถูกครอบครัวไล่ออกจากบ้านหรือปล่อยปละละเลย ถูกรังแกในสถานศึกษา ถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าทำงาน วาทกรรม “แก้ทอมซ่อมดี้” ที่มีอิทธิพลในการผลิตและให้ความชอบธรรมต่อการใช้ความรุนแรงกับผู้หญิงที่มีความหลากหลายทางเพศ การฆาตกรรมคนข้ามเพศ หรือการบังคับให้เข้ารับการบำบัดรักษาเพื่อแก้ไขเพศสภาวะ เป็นต้น

ปัจจุบัน กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศยังคงขาดโครงสร้างทางกฎหมายรองรับ ในประเทศไทย บุคคลเพศเดียวกันยังไม่สามารถแต่งงานกันได้ตามกฎหมาย และร่างพ.ร.บ. คู่ชีวิตฉบับล่าสุดถูกวิจารณ์ว่าแย่ยิ่งกว่าร่างกฎหมายฉบับที่แล้ว โดยยังคงไม่ให้สิทธิที่คู่รักเพศหลากหลายควรได้ เช่นสิทธิในการรับบุตรบุญธรรมหรือการอุ้มบุญ แถมยังมีเงื่อนไขที่คลุมเครืออย่างการระบุว่าให้นำบทบัญญัติตามประมวลกฎหมยแพ่งและพาณิชย์มาบังคับใช้โดยอนุโลม ซึ่งอาจสร้างปัญหาในการตีความว่าจะอนุโลมได้หรือไม่ เช่น สิทธิในการใช้นามสกุลร่วมกันกับอีกฝ่าย สิทธิในการเซ็นยินยอมการรักษาของอีกฝ่าย สิทธิในการจัดการศพอีกฝ่ายที่เสียชีวิต สิทธิในกองทุนประกันสังคมในฐานะคู่สมรส 2 ไม่เพียงเท่านั้น คู่รักเพศหลากหลายที่ฝ่ายหนึ่งเป็นคนต่างชาติยังพบปัญหา เนื่องจากฝ่ายที่เป็นคนต่างชาติจะไม่ได้สิทธิในการขอวีซ่าคู่สมรส ทั้งหมดนี้เป็นเหตุให้คู่รักเพศหลากหลายต้องประสบปัญหาที่มากกว่าปัญหาการจัดการทรัพย์สิน 

และเมื่อวันที่ 22 ส.ค. ที่ผ่านมา คณะทำงานเพื่อการสมรสที่เท่าเทียมสำหรับทุกคน ร่วมกับองค์กรและบุคคลที่ดำเนินงานด้านสิทธิความหลากหลายทางเพศ 80 รายชื่อ ออกจดหมายเปิดผนึก ถึง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เพื่อพิจารณา ยกเลิก ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต พ.ศ... และขอให้พิจารณาแก้ไขปรับปรุงกฎหมายครอบครัวมรดกในบรรพ 5 บรรพ 6 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพื่อขยายสิทธิการสมรสให้ครอบคลุมทุกเพศ ทุกอัตลักษณ์ทางเพศ และทุกเพศวิถี

ร่อน จม.เปิดผนึก ถึง รมว.ยุติธรรม ขอยกเลิก ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต เหตุยังไม่ครอบคลุมทั้งหมดของการใช้ชีวิตคู่, 22 ส.ค. 2562

นอกจากนี้ ประเทศไทยยังขาดกฎหมายรับรองเพศสภาพ และบุคคลข้ามเพศยังไม่สามารถเปลี่ยนคำนำหน้านามได้ ซึ่งทำให้เกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมา เช่น เมื่อผู้ป่วยหญิงข้ามเพศต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล แต่กลับถูกจัดให้พักในห้องเดียวกับผู้ป่วยชาย ทำให้ถูกล่วงละเมิดทางเพศ หรือผู้ต้องขังหญิงข้ามเพศที่ถูกจำคุกในเรือนจำชาย ถึงแม้ว่าในบางเรือนจำ เช่นเรือนจำพิเศษพัทยา จะมีการแยกผู้ต้องขังหญิงข้ามเพศไปอยู่คนละแดน ซึ่งผู้ต้องขังเหล่านี้ไม่สามารถเข้าถึงฮอร์โมน อันเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้หญิงข้ามเพศซึ่งจะต้องใช้ไปตลอดชีวิตได้

ไม่เพียงเท่านั้น นักเรียนนักศึกษาที่เป็นบุคคลข้ามเพศ รวมไปถึงบุคลากรในสายอาชีพบางอาชีพ เช่น ครู หมอ พยาบาล ยังประสบปัญหาการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศและอคติมากมาย บัณฑิตในมหาวิทยาลัยหลายแห่งทั่วประเทศไม่สามารถแต่งกายตามเพศสภาพของตนในวันรับปริญญาได้ โดยหลายสถาบันมักจะกำหนดให้นิสิตนักศึกษาข้ามเพศต้องทำเรื่องขออนุญาต และมักจะกำหนดให้นิสิตนักศึกษาเหล่านั้นยื่นใบรับรองแพทย์ประกอบคำร้อง ซึ่งต้องระบุว่าตนมี “ภาวะเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด” และให้จิตแพทย์ระบุคำแนะนำว่าให้แต่งกายเป็นชายหรือหญิงตลอดเวลา เช่น คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อเร็ว ๆ นี้ก็ได้มีการออกประกาศให้บัณฑิตที่จะเข้ารับปริญญาในปีนี้รีบทำเรื่องขอแต่งกายตามเพศสภาพ โดยระบุให้ยื่นใบรับรองแพทย์ประกอบด้วย ไม่เพียงเท่านั้น เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา นักศึกษาสองคนจากคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยพายัพได้ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เนื่องจากว่าทางคณะไม่อนุญาตให้ทั้งสองแต่งกายตามเพศสภาพ โดยมีคำสั่งให้นักศึกษาทั้งสองแต่งกายตามเพศกำเนิด พร้อมทั้งอ้างว่าการเป็นบุคคลข้ามเพศนั้นไม่เหมาะสมในสายอาชีพเภสัชกร 

ส่วนเมื่อต้นปีที่ผ่านมา จิรภัทร นิสิตข้ามเพศคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ได้เข้ายื่นคำร้องกับคณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ (วลพ.) พร้อมกับเพื่อนนิสิตข้ามเพศอีกสองคน เนื่องจากทางคณะได้มีคำสั่งเพิกถอนจดหมายที่อนุญาตให้นิสิตข้ามเพศแต่งเครื่องแบบนิสิตหญิงเพื่อเข้าเรียนและเข้าสอบได้ นอกจากนี้ นิสิตชั้นปีที่สี่ ที่เข้ายื่นคำร้องร่วมกับจิรภัทรยังบอกว่านิสิตข้ามเพศมักประสบปัญหาเมื่อต้องเข้าฝึกสอน เนื่องจากโรงเรียนหลายโรงเรียนมักไม่อนุญาตให้ครูฝึกสอนแต่งกายตามเพศสภาพและทางคณะก็ไม่ได้ปกป้องสิทธิของนิสิตเมื่อถูกโรงเรียนปฏิเสธ แต่มักจะส่งนิสิตไปฝึกสอนที่โรงเรียนอื่นหรือเจรจาให้นิสิตแต่งกายตามเพศกำเนิดระหว่างฝึกสอนแทนแทน ส่วนนิสิตชั้นปีที่สองอีกคนที่เข้ายื่นคำร้องพร้อมกับจิรภัทรกล่าวว่าเธอคิดว่า ถ้าหากจะให้เธอแต่งกายเป็นผู้ชายทั้งที่เธอมีเพศสภาพเป็นผู้หญิง จะมีผลกระทบทางจิตใจ และอาจทำให้เธอถูกเพ่งเล็ง แต่ถ้าหากเธอสามารถแต่งกายเป็นผู้หญิงได้ เธอจะสามารถใช้ชีวิตได้อย่างเป็นปกติ

ในช่วงเวลาเดียวกันก็เกิดกระแสการร้องเรียนจากนิสิตว่านิสิตข้ามเพศต้องเผชิญกับการเลือกปฏิบัติและการประทุษร้ายทางวาจาจาก ผศ. ดร. นิรันดร์ แสงสวัสดิ์ อาจารย์พิเศษของคณะครุศาสตร์มาตลอด 35 ปี โดยมีการใช้คำพูดเช่น “ให้พวกกะเทยมาเรียนก็บุญแล้ว” หรือ “ทอมเนี่ย ถ้าโดนผู้ชายขืนใจสักครั้งสองครั้ง รับรองติดใจ เปลี่ยนพฤติกรรม กลับเป็นหญิงแน่นอน” ซึ่งชนาธิป ตติยการุณวงศ์ นักวิจัยของมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวว่าเป็นการสนับสนุน เห็นชอบกับการใช้ความรุนแรง การซ้อมทรมาน ทารุณกรรม และเลือกปฏิบัติต่อกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ

จิรภัทร (คนที่ 4 จากซ้าย) ขณะเข้ายื่นคำร้องกับ วลพ. 

ในเดือนเมษายน วรวลัญช์ ทวีกาญจน์ ผู้ได้รับตำแหน่งรองมิสทิฟฟานี่ยูนิเวิร์ส ปี 2561 เปิดเผยว่าเธอถูกปฏิเสธตำแหน่งงานในโรงเรียนต่าง ๆ มาตลอดสองปี เนื่องจากเธอเป็นผู้หญิงข้ามเพศ และได้เข้ายื่นคำร้องกับ วลพ. ในกรณีนี้เช่นกัน 

สื่อเองก็เป็นส่วนหนึ่งของปัญหา ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ตัวแทนจากมูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชนเข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกถึงเลขาธิการ กสทช. กรณีสถานีโทรทัศน์นิวส์วันและสถานีโทรทัศน์พีพีทีวี ใช้คำว่า “ครูเบี่ยงเบนทางเพศ” ในพาดหัวข่าวและเนื้อหาข่าว ซึ่งขัดต่อหลักจริยธรรมขั้นพื้นฐานและแนวปฏิบัติขององค์กรเพื่อความถูกต้องของผู้ประกอวิชาชีพกระจายเสียงและโทรทัศน์ นอกจากนี้ยังได้เข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกถึงสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ กรณีหนังสือพิมพ์บ้านเมืองใช้พาดหัวข่าว “สั่งผู้บริหารจับตาครูเบี่ยงเบนทางเพศ” ซึ่งเป็นการขัดต่อแนวปฏิบัติสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติเรื่องการเสนอข่าว ความคิดเห็น และภาพเกี่ยวกับผู้มีความหลากหลายทางเพศ การใช้คำดังกล่าวถือเป็นการผลิตซ้ำอคติและความเกลียดชังต่อกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ไม่เพียงเท่านั้นยังไม่ถูกต้องตามหลักการสากล เพราะในบัญชีจำแนกโรคสากล International Classification of Diseases 11th Revision (ICD11) ซึ่งออกโดยองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ถอดถอนการระบุว่าคนรักเพศเดียวกันและคนข้ามเพศเป็นความเบี่ยงเบนทางเพศ ความผิดปกติทางจิตและพฤติกรรมออกแล้ว นอกจากนั้นยังขัดต่อหลักการยอกยาการ์ตา ว่าด้วยการใช้กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศในประเด็นวิถีทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศ 

ตัวแทนจากมูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน และศิริศักดิ์ ไชยเทศ (ซ้ายสุด) นักกิจกรรมอิสระ ขณะเข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกถึงเลขาธิการ กสทช.


ซึ่งก่อนหน้านี้ ศิริศักดิ์ ไชยเทศ นักกิจกรรมอิสระเพื่อผู้มีความหลากหลายทางเพศ ก็เคยเข้ายื่นจดหมายร้องเรียนกับ วลพ. กรณีที่สำนักข่าวทีนิวส์ (TNews) ใช้พาดหัวข่าว “กระเทยบุกห้องผู้ป่วยกระทืบจมกองเลือด” เนื่องจากพาดหัวข่าวดังกล่าวไม่ตรงกับความเป็นจริงและมีการเลือกปฏิบัติโดยใช้อัตลักษณ์ทางเพศแทนการใช้นามสมมติในเนื้อหาข่าว และยังถือเป็นการใช้ถ้อยคำที่สร้างภาพเหมารวมว่าบุคคลหลากหลายทางเพศเป็นกลุ่มคนที่ชอบใช้ความรุนแรงและสร้างความเกลียดชังต่อบุคคลหลากหลายทางเพศอีกด้วย แต่ในกรณีนี้ สำนักข่าวทีนิวส์ได้ทำหนังสือขอโทษอย่างเป็นทางการแล้ว

ร้องเรียนคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ ไม่ให้นิสิตข้ามเพศแต่งเครื่องแบบหญิง, 22 ม.ค. 2562

ยื่นคำร้องกระทรวง พม. กรณีครุศาสตร์ จุฬาฯ ห้ามนิสิตข้ามเพศแต่งหญิง, 1 ก.พ. 2562

'เครือข่ายเพื่อนกะเทย' ร้องเรียน กสทช. ทีวีพาดหัวข่าว “จับตาครูเบี่ยงเบนทางเพศ”, 13 ก.ค. 2562

แม้แต่ในรัฐสภา ส.ส. เพศหลากหลายก็ยังต้องพบเจอกับอคติและการเลือกปฏิบัติ พรรณิการ์ วานิช ส.ส. และโฆษกพรรคอนาคตใหม่ กล่าวในการสัมภาษณ์กับประชาไทครั้งหนึ่งว่า ในขณะที่ ส.ส.หญิงพบเจอกับการล่วงละเมิดทางวาจา ส.ส. เพศหลากหลายต้องรับมือกับอคติที่รุนแรงกว่า พรรณิการ์กล่าวว่ามีส.ส. บางคนบอกว่าธัญญ์วารินที่เป็นผู้หญิงข้ามเพศนั้น “น่าขยะแขยง” และในการลงคะแนนเสียงครั้งหนึ่ง ผู้ประกาศชื่อมีการประกาศชื่อธัญญ์วารินซ้ำ เนื่องจากไม่เข้าใจว่าเหตุใด “นายธัญญ์วาริน” จึงแต่งกายเป็นหญิง ถึงแม้ว่าธัญญ์วารินและส.ส. เพศหลากหลายของพรรคอนาคตใหม่อีกสามคนจะได้รับอนุญาตให้แต่งกายตามเพศสภาพแล้วก็ตาม หรือแม้แต่ในการแปรญัตติต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญยกร่างข้อบังคับฯ ยังมีกรรมาธิการกล่าวว่าแทนที่จะสนใจเรื่องสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศ ควรจะไปสนใจเรื่องจะเลี้ยงลูกอย่างไรไม่ให้ “เบี่ยงเบนทางเพศ” ดีกว่า ซึ่งอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ได้ออกมาปฏิเสธว่าไม่มีคำพูดดังกล่าวอยู่ในเทปบันทึกการประชุม และอ้างว่าอาจเป็นการเข้าใจผิดกันเนื่องจากมีกรรมาธิการท่านหนึ่งแนะนำให้ธัญญ์วารินสนใจเรื่องการเลี้ยงดูเด็กและเยาวชนที่กำลังเติบโตมาในสังคมนี้ด้วย

เปิดพื้นที่สี่ห้องหัวใจ รับฟังนโยบายเรื่องความหลากหลายทางเพศ, 5 มี.ค. 2562

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net