Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ในวันที่ 20 กันยายนปีนี้ นักสหภาพแรงงานในประเทศต่างๆ จะออกมาเคลื่อนไหวเพื่อต้านปัญหาโลกร้อนที่เกิดจากการเผาเชื้อเพลิงคอร์บอน เช่นถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซ

การประท้วงระดับโลกครั้งนี้เกิดจากการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องของนักศึกษาและคนหนุ่มสาวในรอบปีที่ผ่านมา คนที่มีชื่อเสียงในการจุดประกายเรื่องนี้คือสาวสวีเดนชื่อ เกรตา ธันเบิร์ก​ (Greta Thunberg) นักศึกษาในโรงเรียนและมหาวิทยาลัยหลายแห่งในประเทศต่างๆ ได้เดินออกจากห้องเรียนในวันศุกร์ทุกเดือนเพื่อกดดันให้รัฐบาลต่างๆ ให้ความสำคัญกับวิกฤตโลกร้อนที่กำลังก่อตัวขึ้น ต่อมาก็เกิดการประท้วงใหญ่ที่ใช้วิธีสันติ เช่นการปิดถนน ขององค์กร Extinction Rebellion ในหลายประเทศ

เกรตาและพรรคพวกได้ประกาศเรียกร้องให้คนทำงานและผู้ใหญ่อื่นๆ “นัดหยุดงานทั่วไป” ในวันศุกร์ที่ 20 กันยายน เพื่อเป็นพลังสำคัญในการกดดันรัฐบาลและกลุ่มทุน ดังนั้นนักเคลื่อนไหว นักสหภาพแรงงาน และคนอื่นๆ กำลังเตรียมตัวประท้วงในวันนั้น สหภาพแรงงานบางกลุ่มในเยอรมัน อังกฤษ ออสเตรเลีย และประเทศอื่นๆ กำลังวางแผนเพื่อเดินออกจากสถานที่ทำงาน บางคนจะนัดหยุดงาน บางคนจะลาพักร้อน และบางคนอาจออกมาตอนพักเที่ยง ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในที่ทำงานต่างๆ และการออกมาประท้วงในวันที่ 20 กันยายน คงจะเป็นแค่จุดเริ่มต้นของการต่อสู้ที่จะใช้เวลา

ในรอบหลายปีที่ผ่านมามีการประท้วงใหญ่ในประเทศต่างๆ ในเรื่องปัญหาโลกร้อน คนจำนวนมากในปัจจุบันเริ่มหูตาสว่างมากขึ้น และเข้าใจว่าปัญหาโลกร้อนเป็นปัญหาที่เกี่ยวโยงกับความยุติธรรมทางสังคมและผลประโยชน์ชนชั้น เพราะต้นสาเหตุของปัญหามาจากการกอบโกยกำไรโดยกลุ่มทุน และการที่รัฐบาลต่างๆ ปกป้องผลประโยชน์ของกลุ่มทุนเหล่านี้ ตัวอย่างที่ดีคือรัฐบาลของ ดอนัลด์ ทรัมป์ ในสหรัฐ ที่ปฏิเสธข้อสรุปของนักวิทยาศาสตร์ในเรื่องเชื้อเพลิงคาร์บอนกับปัญหาโลกร้อน นอกจากนี้ผลร้ายของโลกร้อนในด้านภูมิอากาศ เช่นพายุ น้ำท่วม อุณหภูมิที่สูงขึ้น หรือฝนแล้ง ล้วนแต่มีผลกระทบกับคนจนมากกว่าคนรวย

การแก้ปัญหาโลกร้อนคงจะมีผลกระทบกับกำไรกลุ่มทุนแน่นอน โดยเฉพาะกลุ่มทุนที่เกี่ยวข้องกับน้ำมัน ถ่านหิน หรือการประกอบรถยนต์ แต่มันสามารถสร้างงานให้คนทำงานได้ เช่นในเรื่องการผลิตวิธีปั่นไฟฟ้าจากลมหรือแสงแดด การสร้างทางรถไฟความเร็วสูงเพื่อเพิ่มการขนส่งมวลชนแทนรถยนต์ส่วนตัวหรือเครื่องบิน หรือผ่านการปรับบ้านเรือนและตึกทำงานให้ประหยัดพลังงานมากขึ้นเป็นต้น

ดังนั้นเราไม่สามารถแยกการเคลื่อนไหวเรื่องโลกร้อนออกจากการต่อสู้ทางชนชั้นได้ และยิ่งกว่านั้น ชนชั้นกรรมาชีพในประเทศต่างๆ มีพลังทางเศรษฐกิจที่สามารถกดดันให้มีการแก้ปัญหาอย่างจริงจังได้ผ่านการนัดหยุดงาน นี่คือความสำคัญของการที่เกรตาและพรรคพวกประกาศเรียกร้องให้มีการ “นัดหยุดงานทั่วไป” ในวันศุกร์ที่ 20 กันยายน

ปัญหาโลกร้อนเกิดจากการสะสมก๊าซในบรรยากาศโลกประเภทที่ปิดบังไม่ให้แสงอาทิตย์ถูกสะท้อนกลับออกจากโลกได้ ความร้อนจึงสะสมมากขึ้น ก๊าซหลักที่เป็นปัญหาคือคาร์บอนไดออคไซท์ (CO2) แต่มีก๊าซอื่นๆ ด้วย ที่สร้างปัญหา นักวิทยาศาสตร์คาดว่าก่อนที่จะมีการปฏิวัติอุตสาหกรรมในโลก ปริมาณ CO2 ในบรรยากาศมีประมาณ 280 ppm (ppm CO2 คือหน่วย CO2 ต่อหนึ่งล้านหน่วยของบรรยากาศ) แต่ปัจจุบันเพิ่มเป็น 385 ppm ซึ่งทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่ม 0.2 องศาทุกสิบปี

ผลคือน้ำแข็งในขั้วโลกเริ่มละลาย เกิดภูมิอากาศที่แปรปรวนอย่างหนัก ไฟไม้ป่าเพิ่มขึ้น ผลผลิตทางเกษตรลดลง และมีการสูญพันธ์ของสัตว์จำนวนมาก รวมถึงแมลงที่มีความสำคัญสำหรับการผสมเกสรดอกไม้ เพื่อให้มีการออกผล

ในยุคนี้นักวิทยาศาสตร์ชั้นนำทั่วโลก เช่นจากองค์กรสากล IPCC ของสหประชาชาติ แนะนำว่าต้องมีการลดอัตราการผลิตก๊าซ CO2 อย่างเร่งด่วน ในปลายปี ๒๕๖๑ IPCC เสนอว่าเรามีเวลาแค่ 12 ปี ที่จะควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิดวิกฤตร้ายแรงที่สุด และ IPCC เตือนว่าต้องมีการเปลี่ยน “ระบบเศรษฐกิจ” อย่างถอนรากถอนโคน

ก๊าซ CO2 นี้ถูกผลิตขึ้นเมื่อมีการเผาเชื้อเพลิงคาร์บอน เช่นถ่านหิน น้ำมัน หรือก๊าซธรรมชาติ และแหล่งผลิต CO2 หลักๆ คือโรงไฟฟ้าที่เผาถ่านหิน/น้ำมัน/ก๊าซ และระบบขนส่งที่ใช้น้ำมัน โดยเฉพาะรถยนต์ส่วนตัวและเครื่องบิน

บางคนมักพูดว่า “เราทุกคน” ทำให้โลกร้อน ยังกับว่า “เรา” มีอำนาจในระบบทุนนิยมที่จะกำหนดทิศทางการลงทุน การพูดแบบนี้เป็นการเบี่ยงเบนประเด็น โยนให้พลเมืองยากจนรับผิดชอบแทนนายทุน เขาเสนอว่า “เรา” จึงต้องลดการใช้พลังงานในลักษณะส่วนตัว ในขณะที่นายทุนกอบโกยกำไรต่อไปได้ มันเป็นแนวคิดล้าหลังที่ใช้แก้ปัญหาโลกร้อนไม่ได้ เพราะไม่แตะระบบอุตสาหกรรมใหญ่ และโครงสร้างระบบคมนาคมเลย

พวกเสรีนิยมกลไกตลาดมีหลายข้อเสนอที่เขาอ้างว่าจะแก้ปัญหาได้ แต่ในโลกจริงจะไม่มีผลเลย เช่นการซื้อขาย “สิทธิที่จะผลิตCO2” ซึ่งเป็นแค่การให้สิทธิกับบริษัทใหญ่ในการผลิตต่อไปแบบเดิม เพราะเขาจะสามารถซื้อ “สิทธิ์ที่จะผลิต CO2”จากประเทศหรือบริษัทที่ยังไม่พัฒนา หรือข้อเสนอว่าต้องใช้ “กลไกราคา” ในการชักชวนให้ทุกฝ่ายลด CO2 แต่กลไกราคาที่เขาเสนอ จะไม่มีวันมีผล เพราะต้องแข่งกับผลประโยชน์กำไรของบริษัทน้ำมัน ซึ่งทำไม่ได้ และการขึ้นราคาน้ำมันหรือเชื้อเพลิงคาร์บอนอื่นๆ ก็แค่ทำให้คนจนซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ มีปัญหาเดือดร้อน


ประท้วงโลกร้อนที่ฟิลิปปินส์ ถ้าเขาทำได้ เราก็ทำได้ในไทย

นักสังคมนิยมเข้าใจว่าต้นตอปัญหาไม่ได้อยู่ที่อุตสาหกรรมหรือความโลภของมนุษย์ส่วนใหญ่ที่ยังยากจน ไม่ว่าจะเป็นคนในประเทศพัฒนาหรือในประเทศยากจน ปัญหาไม่ได้มาจากการที่เราไม่มีเทคโนโลจีที่จะผลิตพลังงานโดยไม่ทำลายโลก เทคโนโลจีเหล่านี้เรามีอยู่แล้ว เช่นการปั่นไฟฟ้าจากลมหรือแรงคลื่นในทะเล และการผลิตไฟฟ้าจากแสงแดด ปัญหามาจากระบบทุนนิยมกลไกตลาดที่ตาบอดถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม และตาบอดถึงความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ส่วนใหญ่ เพราะมุ่งแต่แข่งขันกันเพื่อเพิ่มกำไรอย่างเดียว

จะเห็นว่าเราต้องปฏิวัติสังคมเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อน แต่นั้นไม่ได้หมายความว่าเราต้องรอให้มีกระแสปฏิวัติก่อนที่จะทำอะไรได้ ในช่วงนี้เราต้องรณรงค์ ผ่านขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมและพรรคการเมืองก้าวหน้าให้มีการเลิกผลิต CO2 และเลิกใช้เชื้อเพลิงคาร์บอนทุกชนิด ต้องมีการใช้พลังงานทางเลือก และส่งเสริมการขนส่งมวลชนอย่างเช่นรถไฟไฟฟ้า และต้องมีการประหยัดพลังงาน แต่อย่าไปหวังว่าตามลำพังผู้นำโลกจะทำในสิ่งเหล่านี้เลย และในไทยการที่เรายังมีเผด็จการทหารที่อาศัยกลไกรัฐสภา ก็เป็นอุปสรรคในการแก้ปัญหาโลกร้อนเช่นกัน

นี่คือสาเหตุที่นักเคลื่อนไหวในไทยจะต้องสร้างขบวนการต้านโลกร้อน และร่วมประท้วงในวันที่ 20 กันยายน

 

อ่านเพิ่มเติมได้ที่: สิ่งแวดล้อม โลกร้อน และ Anthropocene https://bit.ly/2QMpL6F

เผยแพร่ครั้งแรกใน: https://turnleftthai.wordpress.com/2019/08/25

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net