Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

จากกรณีที่มีข้อพิพาทเรื่องที่ดินในหลายๆ พื้นที่ของประเทศไทย ทั้งที่เป็นข้อพิพาทระหว่างประชาชนผู้ยากไร้กับรัฐและกับเอกชน ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ภาคอีสาน อย่างเช่น กรณีชุมชนบ่อแก้ว ต.ทุ่งพระ อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ กรณีอุทยานแห่งชาติไทรทอง อ.หนองบัวระเหว จ.ชัยภูมิ กรณีที่สาธารณประโยชน์กุดทิง ต.โนนสมบูรณ์ อ.เมือง จ.บึงกาฬ และบ้านบะหนองหล่ม ต.ท่าสะอาด อ.เซกา จ.บึงกาฬ กรณีชาวบ้านตำบลคำป่าหลาย อ.เมือง จ.มุกดาหาร หรือในพื้นที่ภาคใต้อย่างกรณีชุมชนน้ำแดงพัฒนา ต.คลองน้อย อ.ชัยบุรี จ.สุราษฎร์ธานี เป็นต้น รวมทั้งยังมีอีกหลายพื้นที่ที่ประสบปัญหาเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตามในข้อพิพาทเรื่องที่ดินเหล่านี้มีทั้งกรณีที่กำลังต่อสู้กันตามขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรม และอีกหลายกรณีที่กำลังอยู่ในชั้นของการบังคับคดี

น่าสนใจว่าในระยะเร่งด่วนนี้ หลายๆ ฝ่ายไม่ว่าจะเป็นภาคประชาสังคมและภาคการเมืองมีข้อเสนอให้ “ชะลอการบังคับคดีในข้อพิพาทเรื่องที่ดิน” เพื่อเปิดทางให้ใช้มาตรการทางนโยบายเข้ามาแก้ไขปัญหาข้อพิพาทดังกล่าว รวมทั้งควรจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนผู้มีส่วนได้เสีย และยังให้รัฐบาลมีมาตรการสำหรับการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิในที่ดินทำกินด้วย ทั้งนี้ ผู้เขียนมีความเห็นด้วยว่าในระยะเร่งด่วนนี้สมควรอย่างยิ่งที่จะให้มีการชะลอการบังคับคดีในข้อพิพาทเรื่อง “ที่ดิน” ไว้ก่อน ด้วยเหตุผลบางส่วนจากหนังสือเรื่อง Land and Human Rights, Standards and Application (2015) ดังต่อไปนี้

ประการแรก “ที่ดิน” ไม่ได้เป็นแต่เพียงสินค้าหรืออสังหาริมทรัพย์เท่านั้น แต่ที่ดินยังเกี่ยวพันถึงมิติทางเศรษฐกิจ ในแง่ของการเป็นแหล่งทำมาหากิน และเป็นส่วนหนึ่งหรือส่วนสำคัญในการดำรงชีพ รวมทั้งยังเกี่ยวพันถึงมิติทางสังคมและวัฒนธรรม ในแง่ของการกำหนดอัตลักษณ์ของผู้คน ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นองค์ประกอบที่สำคัญของสิทธิมนุษยนชน

ประการที่สอง ข้อพิพาทเรื่องที่ดินเป็นบ่อเกิดของความขัดแย้งที่เป็นความรุนแรงและยังเป็นอุปสรรคต่อการสร้างสันติภาพที่ยั่งยืน กล่าวคือ ประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่ดินนั้นส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังประเด็นอื่นๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการลดความยากจน การพัฒนา การสร้างสันติภาพ การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม การป้องกันภัยพิบัติและฟื้นฟูหลังภัยพิบัติ การวางผังเมืองและชนบท เป็นต้น ขณะที่ยังเกี่ยวข้องกับประเด็นในระดับโลก เช่น ความมั่นคงทางอาหาร การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการขยายตัวของเขตเมืองอย่างรวดเร็ว ซึ่งประเด็นเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่ดินในมิติของการใช้ที่ดิน มิติการควบคุมการใช้ที่ดิน และมิติการจัดการการใช้ที่ดินทั้งโดยรัฐและเอกชน

ประการที่สาม การที่ผู้คนจำนวนไม่น้อยถูกบังคับขับไล่ ถูกแย่งยึด หรือถูกพรากไปจากที่ดินของตนเองเพื่อหลีกทางให้กับโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ เช่น การสร้างเขื่อน การทำเหมือง การวางท่อน้ำมันและท่อก๊าซ การสร้างท่าเรือ หรือการทำฟาร์มขนาดใหญ่ สิ่งเหล่านี้นอกจากจะสร้างความไม่มั่นคงทางอาหารในท้องถิ่นแล้ว ยังส่งผลให้เกิดการอพยพย้ายถิ่นจากชนบทเข้าสู่เมืองเพิ่มมากขึ้น และการอพยพย้ายถิ่นเช่นนี้ก็ก่อให้เกิดปัญหาในการเข้าถึงที่ดินและที่อยู่อาศัยในเขตเมืองอีกทอดหนึ่ง

ประการที่สี่ โครงการพัฒนาเมืองยังนำไปสู่การแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การพัฒนาเมืองส่งผลให้มูลค่าของที่ดินและที่อยู่อาศัยเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งทำให้ที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยลดจำนวนลง ยิ่งไปกว่านั้นมาตรการที่ใช้ในการปกป้องสิ่งแวดล้อมบางครั้งก็ไปขัดหรือแย้งกับผลประโยชน์และสิทธิมนุษยชนของประชาชนที่ต้องอาศัยที่ดินสำหรับการยังชีพเพื่อความอยู่รอด

ประการที่ห้า ความล้มเหลวในการป้องกันและการบรรเทาความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม รวมทั้งผลกระทบในทางลบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ยิ่งลดศักยภาพในการเข้าถึงที่ดินลงอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกลุ่มคนชายขอบ

นอกจากนี้ เหตุผลประการสำคัญที่ควรให้มีการ “ชะลอการบังคับคดีในข้อพิพาทเรื่องที่ดิน” กับประชาชนผู้ยากไร้หรือไร้ที่ทำกินที่เพียงพอแก่การดำรงชีพก็คือ เรื่องที่ดินยังเกี่ยวข้องกับประเด็นการกระจายที่ไม่เป็นธรรมหรือการจัดสรรปันส่วนที่ไม่เป็นธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกระจายหรือการจัดสรรปันส่วนในมิติทางเศรษฐกิจและสังคม การที่ประชาชนต้องสูญเสียหรือไม่สามารถเข้าถึงที่ดินหรือเข้าใช้ที่ทำกินเพื่อการยังชีพอย่างเพียงพอได้นั้นเป็นบ่อเกิดหนึ่งของ “กับดักความยากจน” กล่าวคือ ความไม่เป็นธรรมในการเข้าถึงที่ดินก่อให้เกิดความเสี่ยงสูงที่จะเป็นความขัดแย้งที่เป็นความรุนแรง อันคือ ความรุนแรงและความไร้เสถียรภาพทางสังคมที่เป็นตัวก่อร่างเงื่อนไขของความยากจน และยังเป็นการปิดกั้นไม่ให้มชุมชนของผู้ยากไร้เข้าถึงโอกาสในการเติบโตทั้งในมิติทางเศรษฐกิจและสังคม

เห็นได้ว่าเรื่องที่ดินนั้นเกี่ยวโยงหลายมิติและสำหรับผู้ยากไร้หรือไร้ที่ทำกินปัญหาข้อพิพาทดังกล่าวยิ่งมีความซับซ้อน มาตรการทางกฎหมายเพียงอย่างเดียวอาจไม่ใช่หนทางแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน และยังมีโอกาสที่จะทำให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมาอีกมากมาย สิ่งเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของเหตุผลที่ควรชะลอการบังคับคดีในข้อพิพาทเรื่องที่ดิน รวมทั้งเร่งดำเนินมาตรการทางเลือกอื่นๆ เข้ามาแก้ไขข้อพิพาทนี้ เพื่อไม่ให้เป็นการทิ้งภาระไว้แก่ประชาชนผู้ยากไร้ รวมทั้งในระยะถัดไปก็ควรทบทวนนโยบายเรื่องที่ดินโดยคำนึงถึงเงื่อนไขเบื้องต้นดังที่ได้กล่าวไว้นี้



อ้างอิง

  • “Breaking New Ground: Investigating and Prosecuting Land Grabbing as an International Crime,” Allard International Justice and Human Rights Clinic (Vancouver: Allard School of Law, February 2018).
  • Land and Human Rights, Standards and Application, Office of the United Nations High Commissioner for Human Rights (UN OHCHR), 2015.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net