Skip to main content
sharethis

แผนกคดีเลือกตั้งในศาลฎีกาออกหมายเรียก สถณี อาชวานันทกุล เหตุละเมิดอำนาจศาลจากการเขียนบทความลงหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วิจารณ์กรณีศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งตัดสิทธิผู้สมัคร ส.ส. โดยใช้คำว่า “มักง่าย” และ “ตะพึดตะพือ” ในบทความ

ภาพจากเฟสบุ๊คแฟนเพจ Sarinee Achavanuntakul - สฤณี อาชวานันทกุล

28 ส.ค. 2562 สฤณี อาชวานันทกุล นักเขียน นักแปล นักวิจัย และนักวิชาการอิสระด้านการเงิน เปิดเผยผ่านเฟสบุ๊คแฟนเพจว่า ได้รับหมายเรียกเข้าให้การในฐานะผู้ถูกกล่าวหาละเมิดอำนาจศาล จากแผนกคดีเลือกตั้งในศาลฎีกา โดยให้ไปยังศาลฎีกาวันที่ 9 ก.ย. 2562 เวลา 10.30 น. 

เหตุของการออกหมายเรียกยในครั้งนี้ มีที่มาจากบทความเรื่อง “อันตรายของภาวะ “นิติศาสตร์นิยมล้นเกิน” (อีกที) กรณีหุ้นสื่อของผู้สมัคร ส.ส.” เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจเมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2562 

สุประดิษฐ์ จีนเสวก เลขานุการแผนกคดีเลือกตั้งในศาลฎีกาคือ ผู้กล่าวหาในกรณีนี้ โดยเขาได้ทำหนังสือบันทึกข้อความ ลงวันที่ 16 ส.ค. 2562 ถึงประธานแผนกคดีเลือกตั้งในศาลฎีกา เพื่อชี้ให้เห็นว่าบทความดังกล่าวของสถณี มีลักษณะที่เป็นการพาดพิงแผนกคดีเลือกตั้งในศาลฎีกา

ตัดสิทธิผู้สมัครอนาคตใหม่ กกต.อ้างเป็นสมาชิกพรรคซ้ำซ้อน อีกกรณีศาลชี้เป็นเจ้าของสื่อฯ ทั้งที่ทำรับเหมาก่อสร้าง

สุประดิษฐ์ ให้เหตุผลในบันทึกข้อความว่าในบทความมีการวิจารณ์ว่า

“ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งมักง่ายในการตีความกฎหมายเกี่ยวกับลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรณีบุคคลผู้นั้นเป็นเจ้าของหรือถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อสารมวลชนใดๆ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 98 (3) และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 42 (3) ว่ารวมความถึงผู้เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วน หรือบริษัทซึ่งปรากฎในหนังสือบริคณห์สนธิระบุวัตถุประสงค์ประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ แม้ความเป็นจริงห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทไม่ได้ประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ แต่ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งยังได้ตีความไปว่า เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้น ในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทที่ประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ แล้วผู้ประพันธ์ได้แสดงความเห็นว่า การตีความเช่นนี้ มักง่าย และอันตรายอย่างยิ่ง

นอกจากนี้บทความดังกล่าว ยังได้กล่าวหาว่า ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งใช้กฎหมายแบบ ตะพึดตะพือ ตีความอย่างเกินเลยโดยคำนึงถึงข้อเท็จจริง และไม่คำนึงถือเจตนารมย์ของกฎหมาย ผู้เขียนบทความไม่ได้วิพากษ์วิจารณ์คำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งโดยสุจริต แต่มีเจตนาโจมตีหรือด่าว่าศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งตีความกฎหมายมักง่ายและใช้อย่างตะพึดตะพือ

...การที่ผู้ประพันธ์เขียนบทความดังกล่าวจึงมีอิทธิพลเหนือความรู้สึกของประชาชน หรือเหนือศาล หรือเหนือคู่ความ หรือเหนือพยานในระหว่างการพิจารณาคดีเกี่ยวกับสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. เรื่องอื่นๆ ในอนาคต ซึ่งอาจมีประเด็นอย่างเดียวกันกับคดีที่ผู้ประพันธ์ได้กล่าว หรือแสดงในบทความ”

ทั้งนี้ในบันทึกข้อความ สุประดิษฐ์ ได้ยกเอาความหมายของคำว่า “มักง่าย” และ “ตะพึดตะพือ” ตามพจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 มาประกอบการให้เหตุผลด้วย และในบันทึกข้อความได้ระบุถึง ยุทธนา นวลจรัส บรรณาธิการข่าวหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจว่าเป็นผู้ร่วมกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 ด้วย ส่วนกรณีของ สฤณี นั้นเห็นว่า เข้าข่ายความผิดฐานละเมิดกอำนาจศาล ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 32 (2)

นอกจากนี้สุประดิษฐ์ได้เสนอขอให้ประธานแผนกคดีเลือกตั้งฯ มีคำสั่งตั้งองค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกาเพื่อทำการไต่สวน และพิจารณาคดีฐานละเมิดอำนาจศาล โดยเสนอให้ตั้ง ฉันทวัธน์ วรทัต ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกาเป็นเจ้าของสํานวน พันธุ์เลิศ บุญเลี้ยง ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา ชัยชนะ ตัญจพัฒน์กุล ผู้พิพากษาศาลฎีกา เป็นองค์คณะพิจารณาและพิพากษาคดีนี้

ด้านสฤณี ให้ความเห็นว่า ตนเขียนบทความเพื่อวิจารณ์คำตัดสินที่ออกมาแล้วเท่านั้น ด้วยความสุจริตใจและด้วยเจตนาดีต่อกระบวนการยุติธรรมและสังคมไทย เหมือนกับบทความทุกชิ้นที่เขียนตลอดมา แต่กังวลว่าการตีความข้อหาละเมิดอำนาจศาลโดยอนุมานว่าผู้วิจารณ์หมายถึงคดีอื่นๆ ในอนาคตด้วย อาจส่งผลให้การวิจารณ์คำตัดสินของศาลเป็นไปไม่ได้เลยในอนาคต เนื่องจากไม่ว่าจะคดีอะไร กฎหมายอะไร ก็ย่อมมีคดีลักษณะเดียวกันเกิดขึ้นอีกได้ในอนาคตทั้งสิ้น

ทั้งนี้บทความดังกล่าวของสฤณี ยังถูกแเผยแพร่ในเว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจด้วย โดยเมื่อวานที่ 28 ส.ค. ยังสามารถเข้าถึงไดเ แต่วันที่ 29 ส.ค. ผู้สื่อข่าวตรวจสอบพบว่าบทความดังกล่าวถูกระงับการเผยแพร่แล้ว

ผู้สื่อข่าวประชาไทรายงานเพิ่มเติมว่า นอกจากกรณของสฤณีแล้ว วานนี้ สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญยังได้ออกหนังสือเรียก รศ.โกวิท วงศ์สุรวัฒน์ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ พบเลขาธิการสํานักงานศาลรัฐธรรมนูญวันที่ 30 ส.ค.นี้ เวลา 10.00 น. ที่ทําการศาลรัฐธรรมนูญ อาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์ แจ้งวัฒนะ หนังสือดังกล่าวอ้างว่า สํานักงานศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบพบว่า เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. ที่ผ่านมา ทวิตเตอร์ kovitw@kovitw1 ซึ่งปรากฏรูปถ่ายของ รศ.โกวิท เป็นรูปโปรไฟล์ของทวิตเตอร์ดังกล่าว ได้โพสต์ข้อความวิจารณ์ ศาลรัฐธรรมนูญด้วยถ้อยคําที่ไม่เหมาะสมว่า “ศาลรัฐธรรมนูญรับคําร้อง ๓๒ ส.ส. ปมหุ้นสื่อแต่ไม่ต้องหยุด ปฏิบัติหน้าที่น่าจะเกินคําว่า “ด้าน” เสียแล้ว” เพื่อให้ได้ข้อมูลข้อเท็จจริงที่ถูกต้องครบถ้วน สํานักงานศาลรัฐธรรมนูญจึงขอเชิญมาพบ

นอกจากนี้ ทรงกรด ชื่นชูผล หรือผู้กองปูเค็ม ได้เปิดเผยผ่านเฟสบุ๊คส่วนตัว ในวันนี้ว่า จะแจ้งความดำเนินคดี  ยุทธเลิศ สิปปภาค ผู้กำกับภาพยนตร์ เนื่องจากเชื่อว่ามีการใช้ทวิตเตอร์ทวิตข้อความที่เข้าค่ายการหมิ่นศาล โดยระบุว่าจะใช้สูตรการฟ้องแบบเดิมคือ 1 + 10 หมายถึงการฟ้องผู้เขียนข้อความ 1 คน และผู้ที่แชร์ข้อความอีก 10 คน

 

หมายเหตุ: มีการเพิ่มเติมเนื้อหาในเวลา 12.42 น. วันที่ 29 ส.ค. 2562

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net