Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ช่วงเดือนสิงหาคม 2562 นับว่าเป็นห้วงเวลาที่หนักหน่วงของคนที่อยู่ในมหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศ (ขอเรียกต่อไปว่า "ราชภัฏ") ด้วยข่าวร้ายที่ประดังประเดกันเข้ามาไม่ว่าจะเป็นข่าวว่าราชภัฏบางแห่งจะไม่มีเงินเดือนจ่ายพนักงาน หรือข่าวความซบเซาเหงาหงอยจากจำนวนนักศึกษาที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ไม่ไกลจากกันก็มีข่าวยุบเลิกโรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียนไม่เป็นไปตามเป้าหมาย คำถามถึงการยุบ และควบรวมของราชภัฏจึงถูกเปล่งขึ้นมาให้ลอยปลิวไปกับสายลม ในโลกคู่ขนานก็มีข่าวจากรัฐมนตรีที่รับผิดชอบว่า รัฐบาลจะทุ่มงบประมาณให้มหาวิทยาลัยมหิดลเพิ่มอีกพันล้านเพื่อส่งเข้าสู่ความเป็นมหาวิทยาลัยระดับโลก ทั้งที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้มีงบประมาณอยู่แล้วกว่าหมื่นสามพันล้าน (งบประมาณปี 2562)

 

งบประมาณกับความเหลื่อมล้ำในภาพรวม

เมื่อวันก่อน มีเพจแห่งหนึ่งแชร์ความคิดด้วยความหวังดี คาดให้ราชภัฏปรับตัว 1 2 3 4 อย่างชาญฉลาด แต่ก็มีหลายประเด็นที่ผู้เขียนอยากแลกเปลี่ยนด้วย ผู้เขียนขอเริ่มต้นด้วยสัดส่วนของรายได้เปรียบเทียบระหว่างราชภัฏ กับ มหาวิทยาลัยอย่าง ม.มหิดล และม.เชียงใหม่ ในตารางที่ 1 แสดงให้เห็นงบประมาณย้อนหลัง 3 ปีของมหาวิทยาลัยกลุ่มตัวอย่างทั้ง7อันได้แก่ 2 มหาวิทยาลัยที่กล่าวไปแล้ว และม.ราชภัฏอีก5 แห่งที่กระจายอยู่ทุกภูมิภาค นั่นคือ เชียงใหม่, ลำปาง, เลยและสงขลา

จะเห็นว่าเฉพาะปี 2562 สัดส่วนงบประมาณของมหาวิทยาลัยมหิดลมีมากถึงร้อยละ 59.72 ของงบประมาณด้วยงบกว่าหมื่นสามพันล้าน เมื่อเทียบกับเชียงใหม่ที่งบประมาณน้อยกว่าเกินครึ่งหนึ่งจากจะเห็นว่ามีจำนวนนักศึกษาปริญญาตรีน้อยกว่าเกือบ 6 พันคนขณะที่นักศึกษาระดับปริญญาตรีและโทนับว่าสูสีกัน อนึ่ง ม.มหิดลอาจมีลักษณะพิเศษอย่างที่ต่างจากที่อื่นก็ มีคณะแพทยศาสตร์ใน 2 ส่วนนั่นคือ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีที่มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง อนึ่ง มหาวิทยาลัยที่ได้งบประมาณที่ได้น้อยที่สุดในกลุ่มตัวอย่างคือ ม.ราชภัฏเลยที่มีสัดส่วนเพียงร้อยละ 2.24 งบประมาณอยู่ในระดับไม่เกิน 500 ล้านบาททั้งที่มีจำนวนนักศึกษาหลักหมื่น แตกต่างจากลำปางที่มีไม่ถึง 9 พันคน

 

ตารางที่ 1 ภาพรวมของงบประมาณย้อนหลังของกลุ่มมหาวิทยาลัยกลุ่มตัวอย่าง 6 แห่ง ตั้งแต่ปี 2560-2562

มหาวิทยาลัยกลุ่มตัวอย่าง 7 กลุ่ม
งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.(บาท)
จำนวนนักศึกษา (คน)
ปีการศึกษา 2560[1]
สัดส่วนงบประมาณใน 7 กลุ่ม เฉพาะปี 2560
(ร้อยละ)
2560
2561
2562
ปริญญาตรี
ปริญญา
โท-เอก
มหิดล
14,223,698,100
14,267,939,300
13,320,852,500
20,836
6,231
59.72
เชียงใหม่
6,282,859,500
6,213,693,100
6,171,791,600
26,872
6,553
26.38
ราชภัฏเชียงใหม่
818,926,600
919,199,500
843,109,800
20,703
129
3.44
ราชภัฏลำปาง
689,273,800
597,253,000
450,890,700
8,760
272
2.89
ราชภัฏเลย
532,353,400
468,454,400
387,150,800
10,823
114
2.24
ราชภัฏนครสวรรค์
694,410,200
622,031,700
593,296,800
9,857
0
2.91
ราชภัฏสงขลา
577,638,100
583,296,800
512,131,200
13,197
9
2.42

หมายเหตุ ที่มาของบประมาณมาจาก พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจําปีงบประมาณ พ.ศ. 2560-2562 เฉพาะงบประมาณที่ปรากฏชื่อมหาวิทยาลัยนั้นๆ ตามที่ระบุในมาตราต่างๆของพระราชบัญญัติ

งบประมาณที่ผ่านมาและช่องว่างมหาศาลไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นหากย้อนไปดูยุคที่มหาวิทยาลัยเติบโตในยุคฟองสบู่ทศวรรษ 2530 สมัยที่ราชภัฏยังเป็นวิทยาลัยครูภายใต้สังกัดกรมการฝึกหัดครู ปี 2534[2] เป็นปีแรกที่ม.มหิดลมีงบประมาณแตะระดับ 2 พันล้านครั้งแรก (ม.มหิดลแตะ 1 พันล้านบาทในปี 2527[3]) ส่วน ม.เชียงใหม่ก็แตะระดับ 1 พันล้านบาทเป็นครั้งแรกในปีเดียวกัน ขณะที่วิทยาลัยครูทั่วประเทศที่มีราว 30 กว่าแห่งได้รับงบประมาณรวมกันแล้วอยู่ที่ 1,414,000,550 บาท ชื่อของวิทยาลัยครูไม่ปรากฏในราชกิจจานุเบกษาแต่น่าจะอยู่ในส่วนของกรมการฝึกหัดครูอย่างไรก็ตามความแตกต่างของงบประมาณราว 30 เท่าสัมพันธ์อยู่กับจำนวนนักศึกษา คณะที่เปิดสอนด้วยจึงอาจพอเข้าใจได้ในงบประมาณที่ไม่มาก เนื่องจากในช่วงแรกดังกล่าวสาขาวิชาที่เปิดสอนยังไม่กว้างขวาง และนักศึกษาอาจยังมีไม่มากนัก

ฟองสบู่การศึกษาที่ไม่แตกไปพร้อมวิกฤตต้มยำกุ้ง

ภายใต้การเติบโตทางเศรษฐกิจ วิทยาลัยครูก็ได้ขยายตัวตามไปด้วย ในที่สุดก็เปลี่ยนเป็นสถาบันราชภัฏเมื่อปี 2537 การผลิตบัณฑิตที่ไม่ใช่เฉพาะวิชาชีพครูเริ่มเปิดกว้าง ปี 2540 สถาบันราชภัฏ 30 กว่าแห่งได้รับงบประมาณในนามสำนักงานสภาสถาบันราชภัฏเป็นจำนวนเงิน5,666,138,700 บาท[4] นอกจากนั้นเงื่อนไขใหม่ที่เกิดขึ้นจากการที่รัฐธรรมนูญปี 2540 ได้กำหนดคุณสมบัติสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้จบปริญญาตรี ต่อมาได้ส่งผลไปยังนายกเทศมนตรีระดับเทศบาลและนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดด้วย ทำให้การเรียนการสอนด้านรัฐประศาสนศาสตร์ โครงการจัดการศึกษาสำหรับบุคคลประจำการ (กศ.บป.) ในราชภัฏขยายตัวขึ้นเป็นเงาตามตัว ช่วงทศวรรษ 2540 ความเปลี่ยนแปลงสำคัญเกิดขึ้นอีกครั้งในปี 2547 สถาบันราชภัฏยกระดับเป็นมหาวิทยาลัยตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ.2547 (หาอ้างอิง)

ระหว่างนั้นการศึกษาระดับอุดมศึกษาก็ได้เผชิญหน้ากับโจทย์ใหม่ นั่นคือนโยบายของรัฐที่วางแผนจะให้มหาวิทยาลัยพึ่งตนเองมากยิ่งขึ้นสอดคล้องกับแนวคิดแบบเสรีนิยมใหม่ให้มหาวิทยาลัยกลายเป็น “มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ” หรือที่เรียกกันว่า “มหาวิทยาลัยออกนอกระบบ”[5] ในที่นี้จะแบ่งออกเป็น 4 ระลอกดังนี้

ระลอกที่ 1 เป็นการปฏิบัติตามแผนระยะยาว (ปี 2533-2547) มหาวิทยาลัยที่ออกนอกระบบ 3 แห่งแรกคือ มหาวิทยาลัยที่ตั้งขึ้นใหม่ ได้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (2533), มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (2534) และมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (2541) ก่อนจะมีมหาวิทยาลัยที่ปรับเปลี่ยนจากสถานภาพเดิมที่เคยเป็น “มหาวิทยาลัยในสังกัดของรัฐ” อีก 3 แห่ง ได้แก่ คือ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (2540), มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย (2540) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (2541)

ระลอกที่ 2 มาพร้อมกับนโยบายเศรษฐกิจ 2540 ความพังพินาศด้านเศรษฐกิจทำให้รัฐบาลต้องอาศัยเงินกู้จาก IMF หนึ่งในข้อผูกมัดมากับสัญญากู้เงินก็คือ รัฐบาลจะต้องลดงบประมาณในส่วนราชการที่สามารถเลี้ยงตนเองและบริหารงบประมาณเองได้ ในที่นี้มหาวิทยาลัยได้กลายเป็นเป้าหมายทำให้นโยบายออกนอกระบบจึงเป็นจริงเป็นจังขึ้นในปี 2541การดำเนินการแรกที่ส่งผลต่อมหาวิทยาลัยของรัฐทั้งหมด ก็คือ การยุติการบรรจุอาจารย์ใหม่ในตำแหน่งข้าราชการพลเรือน และมีสถานภาพเป็น “พนักงานมหาวิทยาลัย” เมื่อปี 2542 พนักงานเหล่านี้แม้จะกรอบเงินเดือนที่สูงขึ้น แต่ถูกลดสวัสดิการแบบข้าราชการลงพวกเขามีสถานภาพคล้ายพนักงานเอกชน ทั้งยังไม่มีกฎหมายรองรับ แม้จะต้องชำระเงินสมทบกองทุนประกันสังคม แต่พวกเขาก็ไม่นับว่าอยู่ในกฎหมายแรงงาน เนื่องจากมีการตีความว่าแรงงานในสถานศึกษาที่เป็นสถานที่ราชการไม่ใช่แรงงานตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518ยังไม่นับว่าเงินเดือนที่สูงขึ้นที่รัฐจัดสรรให้ทางมหาวิทยาลัยไม่ได้จ่ายให้กับพนักงานมหาวิทยาลัยอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย จึงไม่แปลกใจอะไรที่พวกเขาจำนวนหนึ่งเรียกร้องขอให้บรรจุไปเป็นข้าราชการที่มีความมั่นคงกว่า กรณีนี้จึงสร้างความเหลื่อมล้ำของการจ้างงานในมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งที่มีทั้งข้าราชการและพนักงานมหาวิทยาลัย และความเหลื่อมล้ำระหว่างบุคลากรที่ทำการสอน เมื่อเทียบกับครูในโรงเรียนระดับประถมและมัธยมของรัฐ ประเด็นนี้ได้กลายเป็นปัญหาเรื้อรังมาอย่างยาวนานจนจะครบ 2 ทศวรรษในปีนี้ด้วย

ในยุคที่ประชาคมการศึกษาและการเมืองภาคประชาชนเข้มแข็ง การผลักดันนโยบายให้มหาวิทยาลัยออกนอกระบบไม่ได้ทำได้โดยง่าย ในรัฐบาลประชาธิปไตยที่มีรัฐสภาที่ทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลหากไม่นับระลอกแรกแล้ว จะเห็นว่าการออกนอกระบบไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ จนกระทั่งเกิดรัฐประหารปี 2549 รัฐบาลรัฐประหารสามารถกุมอำนาจเบ็ดเสร็จ เมื่อไม่มีการตรวจสอบ ไม่มีรัฐสภา ไม่มีฝ่ายค้าน กลไกในการผลิตกฎหมายอย่างสภานิติบัญญัติแห่งชาติก็ได้ผลักดันกฎหมายจนทำให้มหาวิทยาลัยจำนวนหนึ่งออกนอกระบบได้สำเร็จ ได้แก่ มหาวิทยาลัยมหิดล, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เมื่อปี 2550 ส่วนมหาวิทยาลัยบูรพา, มหาวิทยาลัยทักษิณ, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังเกิดขึ้นในปี 2551เสียงต่อต้านคัดค้านต่อมหาวิทยาลัยและรัฐบาลที่เคยดังกระหึ่มในช่วงรัฐบาลประชาธิปไตยแทบไม่มีความหมาย นี่คือ ความเปลี่ยนแปลงในระลอกที่ 3

ระลอกที่ 4 เกิดขึ้นหลังรัฐประหารอีกครั้ง ความสำเร็จ ระลอกนี้ทำให้มหาวิทยาลัยขนาดใหญ่และมีชื่อเสียงอีกจำนวนหนึ่งได้ออกนอกระบบสมใจผู้บริหารมหาวิทยาลัย นั่นคือ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, มหาวิทยาลัยสวนดุสิต (เปลี่ยนชื่อจากเดิมมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต), มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และมหาวิทยาลัยขอนแก่นช่วงปี 2558ขณะที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, มหาวิทยาลัยศิลปากร, มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ก็บรรลุเป้าหมายในปี 2559 และยังมีร่างพระราชบัญญัติอีกหลายแห่งที่จ่อคิวเข้าสภาอยู่ แต่การที่กฎหมายไปค้างท่อในลักษณะดังกล่าวอาจไม่เป็นผลดีกับพวกนิยมออกนอกระบบเพราะหลังเลือกตั้ง 2562 สภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งไม่ได้ทำหน้าที่สภาแบบที่ผ่านมาที่มีแนวโน้มจะผ่านกฎหมายเอื้อกัน ดังนั้นการตรวจสอบและอภิปรายเรื่องดังกล่าวคงซับซ้อนกว่าในรัฐบาลใหม่และอาจค้างท่ออยู่อย่างนั้นอีกนาน

ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว นอกจากราชภัฏสวนดุสิตเดิมแล้ว ยังไม่พบว่าราชภัฏมีตำแหน่งแห่งที่ใดในการออกนอกระบบ ที่น่าสังเกตก็คือ การออกนอกระบบแต่เดิมนั้นมีหลักการว่า จะลดการสนับสนุนหน่วยงานที่พึ่งพิงตัวเองได้แบบแนวคิดเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่ แต่ในความเป็นจริงมหาวิทยาลัยอย่างมหิดล และเชียงใหม่ที่ออกนอกระบบไปตั้งแต่ปี 2550 และ 2551 นั้นในรอบ 10 ปี งบประมาณไม่ได้ถูกลดทอนลงอย่างมีนัยสำคัญเลย โปรดสังเกตจากตารางที่ 2 งบประมาณของม.มหิดลแตะระดับหมื่นล้านในปี 2554


ตารางที่ 2 ภาพรวมของงบประมาณย้อนหลังของมหาวิทยาลัยมหิดลและมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตั้งแต่ปี 2549-2562

ปี พ.ศ.
งบประมาณสนับสนุน
มหาวิทยาลัยมหิดล
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
2549
6,060,641,000
2,862,714,500
2550
7,352,161,600
3,218,659,400
2551
8,149,560,400
3,379,390,600
2552
8,784,108,100
3,781,560,600
2553
9,027,319,200
4,135,889,000
2554
10,166,072,800
4,515,580,100
2555
10,133,500,000
5,188,272,800
2556
10,361,578,400
5,299,092,800
2557
11,507,877,000
5,432,364,700
2558
13,158,966,100
5,636,391,700
2559
14,059,935,000
5,889,179,100
2560
14,223,698,100
6,282,859,500
2561
14,267,939,300
6,213,693,100
2562
13,320,852,500
6,171,791,600

เมื่อเทียบกับราชภัฏทั่วประเทศ ยังไม่มีแห่งไหนที่ได้รับจัดสรรงบประมาณถึงหลักพันล้านสักแห่ง แม้ว่าเส้นทางเดินของราชภัฏจะออกมาจากช่องทางการฝึกหัดครูไปแล้ว ยังไม่ต้องนับว่ากฏระเบียบจำนวนมากของราชภัฏก็กลายเป็นกลไกที่บีบรัดทำให้ราชภัฏไม่สามารถแสวงหารายได้อย่างที่ควรจะเป็น ขณะที่มหาวิทยาลัยนอกระบบจำนวนมาก เปิดหลักสูตรและหารายได้และทำกำไรได้อย่างเป็นกอบเป็นกำจึงไม่แปลกว่าในช่วงหลังเริ่มมีกระแสโยนหินถามทางว่า ราชภัฏควรจะออกนอกระบบหรือไม่ เนื่องจากที่ผ่านมาราชภัฏอาจจะเกรงว่าหากออกนอกระบบไปแล้ว ไม่มีเงินรัฐบาลมาสนับสนุนจะทำให้เดือดร้อนหรือไม่[6] เนื่องจากว่าเมื่อเทียบกับมหาวิทยาลัยต่างๆแล้ว ราชภัฏมีค่าเทอมที่ต่ำที่สุด แต่หากการออกนอกระบบเป็นแบบม.มหิดล หรือม.เชียงใหม่ที่รัฐยังอุดหนุนงบประมาณไม่เปลี่ยนแปลง การออกนอกระบบก็คงเป็นยาวิเศษอีกแขนงที่ทำให้ราชภัฏสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการจัดการบริหารได้

ราชภัฏกับปัญหาภาพลักษณ์หรือปัญหาทางชนชั้น? 

บัณฑิตที่จบจากราชภัฏ (รวมถึงมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล) นั้นถูกมองในทางแง่ลบมานาน แต่ที่กลายเป็นข่าวใหญ่อย่างช้าก็ในปี 2558 ที่ธนาคารไทยพาณิชย์ตกเป็นข่าวว่ารับสมัครงานโดยระบุคุณสมบัติที่มีนัยว่าไม่รับบัณฑิตที่จบการศึกษามาจากราชภัฏ จนเหล่าเครือข่ายผู้บริหารราชภัฏต้องทำการกดดันผ่านการขู่ว่าราชภัฏทั่วประเทศจะยกเลิกการทำธุรกรรมกับธนาคาร[7]ซึ่งเป็นอาวุธสุดท้ายที่เขาจะต่อกรกับนายทุนธนาคารเช่นนี้ กระแสดังกล่าวจางหายไปตามหน้าข่าวและโซเชียลมีเดีย จนเกิดขึ้นอีกครั้งเมื่อปี 2561การโพสต์ในโซเชียลมีเดียด้วยข้อความว่า "ขอบคุณค่ะที่สนใจจะเข้าร่วมงานกับบริษัทฯ เเต่บริษัทฯ ไม่สะดวกรับพนักงานวุฒิ ป.ตรี ที่จบจาก ม.ราชมงคล/ราชภัฏ/เอกชน ค่ะ"เป็นการตอกย้ำความเชื่อเดิมอีกครั้ง[8]กระทั่งผู้บริหารราชภัฏบางแห่งยังระบุว่า "หลายองค์กรไม่ได้พิจารณาเฉพาะเรื่องความเก่งความฉลาดทางปัญญาของบัณฑิตเพียงอย่างเดียว แต่ประเมินจากคุณลักษณะอื่นประกอบ อาทิ เป็นคนดี มีความรับผิดชอบ มีวินัย เสียสละ เป็นจิตอาสา ตลอดจนการภาวะการเข้าสังคมและทำงานร่วมกับผู้อื่น สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นหัวใจของการทำงานแทบทั้งสิ้น" ซึ่งก็เป็นการประเมินบัณฑิตตัวเองไปในตัว

อย่างไรก็ตาม การปฏิเสธบัณฑิตจากราชภัฏ นั่นยอมหมายถึงการปฏิเสธคนจำนวนมากจากจำนวนกว่า 30 สถาบันทั่วประเทศหากนับจากจำนวนนักศึกษาระดับปริญญาตรี ปีการศึกษา 2560 ราชภัฏทั่วประเทศมีอยู่ 475,661 คน ขณะที่สถาบันอุดมศึกษารัฐมีอยู่ 1,422,488คน[9] คิดเป็นร้อยละ 33.44 ของจำนวนทั้งหมดจำนวนนักศึกษาเหล่านี้บอกอะไรแก่เรา การรับนักศึกษาของราชภัฏอาจไม่ได้มีความเข้มข้นนักเมื่อเทียบกับระบบเอนทรานซ์-แอดมินชั่นที่ผ่านมา การเลือกเรียนที่ราชภัฏอาจแบ่งเป็น 2 สาขาใหญ่ๆ นั่นคือ สาขาวิชาชีพครูที่เป็นตัวชูโรง และสาขาอื่นๆ การแข่งขันเพื่อเข้าเรียนวิชาชีพครูจะมากกว่าสาขาอื่นๆ อย่างไรก็ตามในสาขาอื่นๆ ไม่น้อยก็เป็นสาขาที่ต่อยอดจากวุฒิที่พวกเขาเรียนมาเช่นการเรียนต่อเนื่องจากวุฒิปวช.-ปวส. ปัจจัยการเลือกเรียนราชภัฏส่วนหนึ่งก็มาจากค่าเทอมที่ไม่แพงนักเมื่อเทียบกับมหาวิทยาลัยอื่น หรือราชภัฏอยู่ใกล้ละแวกบ้าน บางคนเลือกเรียนราชภัฏขนาดกลางเพราะว่าไม่อยากเข้าไปเรียนในเมืองใหญ่ด้วยค่าใช้จ่ายไม่แพงเกินไป

ราชภัฏจึงเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่โอบรับนักศึกษาในระดับท้องถิ่นที่ทั้งไม่สามารถจะเข้าศึกษาสถาบันศึกษาขนาดใหญ่ของรัฐและไม่เลือกด้วยเหตุผลบางประการดังที่อภิปรายมาข้างต้น ราชภัฏได้รับงบประมาณอย่างจำกัด หากเป้าหมายของบางแนวคิดเห็นว่า คุณภาพประชากรนั้นสำคัญ เหตุใดราชภัฏจึงมิได้รับโอกาสในการลงทุนเพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ แม้ไม่ต้องเท่าเทียมกัน แต่ควรลดความเหลื่อมล้ำในสิ่งที่พวกเขาเผชิญอยู่

ช่วงกลางทศวรรษ 2550 เป็นต้นมา เงินเดือนของอาจารย์ในราชภัฏที่จบปริญญาโทมาค่อยๆ ปรับตัวสูงขึ้น นับว่าจูงใจให้นักศึกษาปริญญาโทจบใหม่ที่ไม่อยากอยู่ในเมืองหลวง หรือต้องการกลับมาทำงานภูมิลำเนาให้มาทำงานราชภัฏมากขึ้น อาจารย์หนุ่มสาวเหล่านั้นเติบโตไปพร้อมกับการสอนและการสร้างผลงานวิชาการขึ้นมามากขึ้นเรื่อยๆ กระนั้นภายใต้งบประมาณที่น้อยแสนน้อย ทำให้ขาดโอกาสต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นระบบการให้ทุนวิจัยที่สมัยก่อนพบว่า การจะขอทุนนักวิจัยรุ่นใหม่ได้นั้น จะต้องเป็นอาจารย์ที่จบปริญญาเอกมาเท่านั้น ซึ่งในที่สุดทุนวิจัยประเภทนี้ก็จะตกอยู่กับมหาวิทยาลัยที่มีทรัพยากรพร้อมอยู่แล้ว เช่นเดียวกับทุนบางประเภทที่มีข้อผูกมัดว่า มหาวิทยาลัยจะต้องร่วมจ่าย มหาวิทยาลัยขนาดเล็กจะมีส่วนเอี่ยวกับทุนประเภทนี้อย่างไรได้

การบอกให้ปรับตัวเอง ในสภาพที่ราชภัฏเองก็อยู่ในโครงสร้างที่เหลื่อมล้ำ อาจเป็นความดีแต่ก็ไม่ต่างอะไรกับการชี้หน้าด่าคนยากไร้ที่ไม่ยอมปรับตัวกับโลกทุนนิยมที่ตามบดขยี้พวกเขา ในสังคมที่ไม่มีสวัสดิการพื้นฐานเอื้อให้เขามีชีวิตที่ดีกว่าที่ควรจะเป็น

 

ทางออกของราชภัฏยังมีอยู่หรือ?

อาจกล่าวได้ว่าฟองสบู่ของมหาวิทยาลัยไทยไม่ได้แตกพร้อมกับพิษเศรษฐกิจ มิแน่ว่าอาจจะมาจากสาเหตุของจำนวนประชากรที่ลดลงและความหมายของปริญญาตรีที่เปลี่ยนไป สถิตินักศึกษาที่ลดวูบ พร้อมกับระบบคัดคนเข้ามหาวิทยาลัยแบบใหม่ทำให้ที่นั่งในมหาวิทยาลัยเหลืออย่างไม่มีใครคาดคิด[10]ราชภัฏได้รับผลกระทบนี้เป็นอย่างมาก การคาดการณ์ว่า ปี 2561 ถึงจุดต่ำสุดก็ไม่จริง[11]จำนวนนักศึกษาที่ลดลงอย่างมากนั้นเมื่อเทียบกันแล้วสาขาที่สอนวิชาชีพครูยังถือว่าสามารถรักษาที่มั่นได้ดีที่สุด หากมองในแง่ร้ายที่สุดหากคนเรียนสาขาอื่นน้อยลงมาก ราชภัฏอาจจะเหลือแต่คณะครุศาสตร์ที่เข้มแข็ง ในสายตาคนทั่วไปราชภัฏอาจจะกลับไปสู่ในยุควิทยาลัยครูที่อยู่ภายใต้กรมการฝึกครูก็เป็นได้

อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้เขียนนั้นเห็นต่างออกไป การชูราชภัฏให้เป็นมหาวิทยาลัยเพื่อท้องถิ่นนั้นมีความจำเป็น แต่เหนือสิ่งอื่นใด เราต้องนิยาม "ท้องถิ่น" กันเสียก่อนคำว่าท้องถิ่นคืออะไร เนื่องจากที่ผ่านมาคำว่า ท้องถิ่นของราชภัฏนั้นมักสัมพันธ์กับท้องถิ่นที่โรแมนติกแบบวัฒนธรรมชุมชนและเอ็นจีโอการให้ความสำคัญกับบ้าน-วัด-โรงเรียน เป็นท้องถิ่นที่ไร้ "ความเป็นการเมือง"[12] ในนั้น ท้องถิ่นในมุมมองผู้เขียนคือ หน่วยพื้นที่และปฏิบัติการทางการเมือง เรามีการบริหารส่วนท้องถิ่นในหลายระดับตั้งแต่องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เทศบาลและองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.)หากพูดกันอย่างรวบรัด อบจ.เป็นโครงสร้างท้องถิ่นที่มีสมาชิกสภาและนายกอบจ.ที่ได้รับเลือกโดยตรงจากประชาชนในเขตจังหวัด พื้นที่อบจ.นับว่าครอบคลุมหน่วยจังหวัดที่ซ้อนอยู่กับการปกครองส่วนภูมิภาคที่นำโดยผู้ว่าราชการจังหวัด กระนั้นอบจ.กลับมีทรัพยากรทั้งคนและงบประมาณรวมถึงโครงสร้างที่เอื้อกับการจัดการบริหารเชิงพื้นที่เป็นอย่างสูงเมื่อเทียบกับผู้ว่าราชการจังหวัดและสำนักงานจังหวัดที่เทียบกันไม่ได้เลย

ข้อเสนอของบทความนี้ก็คือ ราชภัฏอาจจะต้องปรับโครงสร้างใหม่ให้ไปเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่อยู่ใต้การบริหารของท้องถิ่น หากดูจากตัวอย่างในต่างประเทศจะเห็นได้ว่าท้องถิ่นมีบทบาทไม่น้อยกับการสนับสนุนมหาวิทยาลัยในญี่ปุ่นมีสิ่งที่เรียกว่า Local public university[13] ซึ่งมีอยู่ทั่วทุกภูมิภาค เช่น Kyoto Prefectural University of Medicine, Osaka Prefecture University, Gunma Prefectural Women's University, Prefectural University of Hiroshima ที่น่าสนใจคือมหาวิทยาลัย Kyoto Prefectural University of Medicine ที่ไม่ยอมยกระดับเป็นมหาลัยระดับชาติแบบที่มหาวิทยาลัยระดับท้องถิ่นอื่นๆเป็นกัน เพราะไม่ต้องการสูญเสียความเป็นอิสระทางวิชาการ เพราะเกรงว่ารัฐบาลกลางจะเข้ามาควบคุมผ่านกระทรวงศึกษาธิการ (ปัจจุบันคือกระทรวงศึกษาธิการ, วัฒนธรรม, กีฬา, วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี)[14] หรือการให้สนับสนุนมหาวิทยาลัยขององค์การบริหารส่วนท้องถิ่นในฝรั่งเศสสนับสนุนงานวิจัยและมหาวิทยาลัยกว่า หนึ่งพันหกร้อยล้านยูโร (หรือประมาณห้าหมื่นสี่พันล้านบาท ในอัตราแลกเปลี่ยนที่ 1 ยูโรเท่ากับ 33.94 บาท) ช่วงปี 2559 โดยแบ่งเป็นงบสนับสนุนด้านวิจัย 970 ล้านยูโรและสนับสนุนมหาวิทยาลัย 600 ล้านยูโร[15]

หากกลับมาดูในบริบทของบ้านเรา หน่วยงานที่น่าสนใจทั้งที่มีขนาดและงบประมาณมากพอที่จะทำให้เกิดขึ้นได้ก็คือ องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) มหาวิทยาลัยอาจปรับมาอยู่ในลักษณะที่คล้ายกับโรงเรียนสังกัดอบจ. อนึ่ง ครูในสังกัดอบจ. มีสถานะเป็นข้าราชการที่มีสวัสดิการที่ดีในระดับหนึ่ง ว่ากันว่ารายได้ครูอบจ.นอกจากจะมาจากรัฐอุดหนุนแบบเดียวกับสพฐ.แล้ว ปลายปียังจะมี “โบนัส” ที่มาจากข้อบัญญัติรายจ่ายประจำปี[16]ที่อาจมากถึง 1.5 เท่า[17] พนักงานมหาวิทยาลัยราชภัฏจะอยู่ตรงไหนในโครงสร้างใหม่นี้ คงต้องถกกันอีกยาว

ราชภัฏในมิติใหม่นี้นอกจากจะมีบทบาทด้านการโอบรับนักเรียนนักศึกษาในท้องถิ่นผ่านด้านการเรียนการสอนสอดคล้องกับงานด้านสวัสดิการและการศึกษาจากชั้นปฐมวัยไปจนถึงระดับมหาวิทยาลัยได้เลย ขณะเดียวกันงานวิจัยและนวัตกรรมทั้งหลายที่ตอบสนองความต้องการท้องถิ่นผ่านอบจ.ก็ยังเป็นสิ่งที่เป็นไปได้จริงดังที่ทราบกันว่า อบจ.เอง มีพันธกิจมหาศาลที่จะเข้าไปบริหารและพัฒนาท้องถิ่น การผลักดันนโยบายต่างๆ องค์ความรู้ต่างๆ จากราชภัฏจะช่วยเสริมสร้างนโยบายการพัฒนาท้องถิ่นอย่างเป็นรูปธรรมที่สุด สิ่งเหล่านี้จำเป็นต้องใช้องค์ความรู้และนักวิชาการจากทั้งสายมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ การตลาด การท่องเที่ยว รวมไปถึงเทคโนโลยีทางวิศวกรรมและการเกษตร หรือหากเป็นไปได้อาจนำไปสู่การผลิตบุคลากรทางสาธารณสุขและการแพทย์ได้ด้วย อย่างไรก็ดีราชภัฏในมิติใหม่นี้เองก็ควรเข้าใจจุดแข็งและจุดอ่อนของตัวเองให้ดี และวางตำแหน่งของตัวเองในพื้นที่ให้แม่นยำ

เราอาจจะจินตนาการได้ถึงอบจ.แต่ละแห่งที่มีจุดแข็งแตกต่างกันไปในประเทศนี้ อบจ.อาจจะสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญต่อการพัฒนาท้องถิ่นไม่ว่าจะเป็นการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรเพื่อการส่งออก, บริษัทการจัดการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและธรรมชาติระดับจังหวัด, สถาบันวิจัยทางวิทยศาสตร์การเกษตรและการแพทย์, หอจดหมายเหตุจังหวัด, ศูนย์ฝึกครูเพื่อสนับสนุนการเรียนการสอนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัด, ศูนย์ฝึกอบรมและพัฒนาเมืองอัจฉริยะให้กับเทศบาลต่างๆในจังหวัด ฯลฯ หากเป็นไปได้ การควบรวมสถาบันอุดมศึกษาอื่นๆในจังหวัดก็น่าจะทำให้องคาพยพของสถาบันอุดมศึกษาท้องถิ่นเข้มแข็งขึ้นไปด้วยไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลที่เดิมเกาะกลุ่มอยู่ระดับภูมิภาคต่างๆ, วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี ฯลฯ กรณีการควบรวมเพื่อสร้างมหาวิทยาลัยจังหวัดเกิดขึ้นแล้วในมหาวิทยาลัยนครพนมที่รวมเอาสถาบันต่างๆ มาเป็นมหาวิทยาลัยหนึ่งเดียว ได้แก่มหาวิทยาลัยราชภัฏนครพนม, มหาวิทยาลัยมหาสารคาม วิทยาเขตนครพนม, วิทยาลัยเทคนิคนครพนม, วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีนครพนม, วิทยาลัยการอาชีพธาตุพนม, วิทยาลัยการอาชีพนาหว้า และ วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีนครพนมสามารถออกพระราชบัญญัติได้ในปี 2548[18] และมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ อันเกิดจากการควบรวมเอามหาวิทยาลัยราชภัฏกาฬสินธุ์ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตกาฬสินธุ์ ไว้ด้วยกันและจัดตั้งในปี 2558[19]แต่มหาวิทยาลัยทั้งคู่มิได้เชื่อมโยงกับอบจ.แบบที่ผู้เขียนนำเสนอ อย่างไรก็ตามราชภัฏที่มีจำนวน 38 แห่งนั้นยังไม่ได้ครอบคลุมทั้งจังหวัด กระนั้นในช่วงเปลี่ยนผ่านราชภัฏอาจยังให้บริการร่วมกับเขตจังหวัดใกล้เคียงที่ยังไม่มีกลไกนี้ ราชภัฏอาจทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้กับจังหวัดต่างๆ ในการตั้งมหาวิทยาลัยท้องถิ่นถ้าอบจ.นั้นๆ มีศักยภาพมากพอ

เชื่อได้ว่ามีผู้ที่ไม่ไว้วางใจนักการเมืองไม่น้อยโดยเฉพาะแวดวงทางการศึกษาที่เกรงว่า นักการเมืองจะเข้ามาแทรกแซง เข้ามาทุจริตโกงกินและสร้างความเสื่อมเสียให้พื้นที่อันศักดิ์สิทธิ์ดังกล่าว โดยหาตระหนักไม่ว่าในแวดวงการศึกษาก็มีการ “เล่นการเมือง” ในอีกรูปแบบหนึ่ง เป็นเกมการเมืองที่ไม่สามารถถูกตรวจสอบได้อย่างจริงจัง ในที่นี้ขอเสนอด้วยว่า นายกอบจ.จะเข้ามาเป็นสมาชิกสภามหาวิทยาลัย หรืออาจจะไปถึงที่สุดคือการดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยด้วยเลย เนื่องจากว่า ตำแหน่งดังกล่าวถูกเลือกมาจากประชาชนในท้องถิ่นโดยตรง และสามารถถูกตรวจสอบซ้ำได้ผ่านสภาอบจ.

นี่คือ สิ่งที่เราต้องต่อสู้ผลักดันและพิสูจน์ให้ได้ มิติการอยู่รอดของราชภัฏจึงมิได้สวยหรู และอยู่บนทางที่โปรยด้วยดอกกุหลาบ แต่สัมพันธ์กับโครงสร้างอำนาจทางการเมืองที่รวมศูนย์ไปด้วย ทุกวันนี้ท้องถิ่นได้รับเงินจัดสรรมาให้ในสัดส่วนที่น้อยกว่าที่ควรจะเป็น ยังไม่ต้องนับข่าวที่รัฐบาลชุดนี้สิ้นคิดขนาดที่จะล้วงเอาเงินท้องถิ่นไปใช้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และพยายามครอบงำการทำงานและการตัดสินใจของท้องถิ่น โดยอาจไม่ทันนึกว่าการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นเป็นหัวใจสำคัญอันหนึ่งของระบอบประชาธิปไตยในยุคนี้

มีความเป็นไปได้ที่ราชภัฏจะอยู่รอดภายใต้วิกฤตใหญ่หลวงที่กำลังถาโถมเข้ามา เพียงแต่จะต้องมีการปรับปรุงโครงสร้างเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยในด้านการจัดสรรทรัพยากร และจุดชี้ขาดสำคัญสำหรับบทความนี้ก็คือ การเชื่อมต่อกับท้องถิ่นในฐานะหน่วยพื้นที่ทางการเมืองของประชาชนในท้องถิ่นนั้นๆ.

       

อ้างอิง

[1]สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา. "ระบบเผยแพร่สารสนเทศอุดมศึกษา". สืบค้นจาก http://www.info.mua.go.th/info/ เมื่อ 26 สิงหาคม 2562

[2]"พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2534", ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 107, ตอนที่ 194, 30 กันยายน 2533, หน้าพิเศษ 1-58

[3]"พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2527", ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 100, ตอนที่ 155, 28 กันยายน 2525, หน้าพิเศษ 1-46

[4]"พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2540", ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 113, ตอนที่ 39 ก, 18 กันยายน 2539, หน้า 1-51 อนึ่งปี 2540 ได้มีการจัดตั้งสถาบันราชภัฏเพิ่มขึ้นอีก 4 แห่ง ได้แก่ สถาบันราชภัฏชัยภูมิ, สถาบันราชภัฏศรีสะเกษ, สถาบันราชภัฏนครพนม, สถาบันราชภัฏกาฬสินธุ์  และสถาบันราชภัฏร้อยเอ็ด ทำให้งบประมาณเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา กว่า 2 พันล้านบาท ดูใน มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด. "ประวัติความเป็นมา ". สืบค้นจาก https://www.reru.ac.th/index.php/prawat-reru/prawat-reru.html เมื่อ 13 สิงหาคม 2562

[5]iLaw. "ผ่านแล้ว! เกษตร-มธ.-มข.-สวนดุสิต ออกนอกระบบ: ทบทวนประวัติศาสตร์ และความเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้น". สืบค้นจาก https://ilaw.or.th/node/3773 (22 กรกฎาคม 2558) เมื่อ 26 สิงหาคม 2562ดูเพิ่มเติมจาก “พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหิดลพ.ศ.2550”, ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 124 ตอนที่ 68 ก, 16 ตุลาคม 2550, หน้า 4-30 และ "พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ

", ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 124 ตอนที่ 98 ก, 26 ธันวาคม 2550, หน้า 1-27

[6]เดลินิวส์ออนไลน์. "มรภ.ออกนอกระบบให้มหา'ลัยตัดสินใจเอง". สืบค้นจาก https://www.dailynews.co.th/education/655527(17 กรกฎาคม 2561) เมื่อ 27 สิงหาคม 2562

[7]ผู้จัดการออนไลน์. "SCB แบงก์ไฮโซNO ราชภัฏ". สืบค้นจาก https://mgronline.com/daily/detail/9580000075468 (4 กรกฎาคม 2558) เมื่อ 27 สิงหาคม 2562

[8]โพสต์ทูเดย์ออนไลน์. ""ไม่รับคนจบราชภัฏ-ราชมงคล-เอกชน" ศักยภาพ"บัณฑิต"ไม่ถึง หรือ "บริษัท"คิดไปเอง?". สืบค้นจาก https://www.posttoday.com/politic/report/538332 (31 มกราคม 2561) เมื่อ 27 สิงหาคม 2562

[9]สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา. "ระบบเผยแพร่สารสนเทศอุดมศึกษา". สืบค้นจาก http://www.info.mua.go.th/info/ เมื่อ 26 สิงหาคม 2562

[10]ผู้จัดการออนไลน์. "ทปอ.เผยTCAS ปี 62 เหลือเก้าอี้ว่าง 2 แสนที่นั่ง". สืบค้นจาก https://mgronline.com/qol/detail/9620000059626 (23 มิถุนายน 2562) เมื่อ 27 สิงหาคม 2562

[11]ไทยรัฐออนไลน์. "มรภ.ชี้เด็กลดฮวบ 2 ปีคาดถึงจุดต่ำสุดแล้ว". สืบค้นจาก https://www.thairath.co.th/news/local/1454831 (29 ธันวาคม  2561) เมื่อ 27 สิงหาคม 2562และ ประชาชาติธุรกิจออนไลน์. "หอพัก-ร้านค้ารอบมหา’ลัยทั่วไทยวูบ นักศึกษาลดกระทบกำลังซื้อ-บ้านเช่าร้างปิดกิจการ". สืบค้นจาก https://www.prachachat.net/local-economy/news-363493 (23 สิงหาคม  2562) เมื่อ 27 สิงหาคม 2562

[12]กรุณาอ่านใน ยุกติ มุกดาวิจิตร, อ่าน "วัฒนธรรมชุมชน : วาทศิลป์และการเมืองของชาติพันธุ์นิพนธ์แนววัฒนธรรมชุมชน (กรุงเทพฯ : ฟ้าเดียวกัน, 2548)และ ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์, "บ้าน วัด โรงเรียนของหนู พลวัตของอำนาจการศึกษา ในชนบทไทย", ข้ามพ้นกับดักคู่ตรงข้าม: ไทศึกษา ล้านนาคดี ประวัติศาสตร์ และมานุษยวิทยา(เชียงใหม่ : ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2561)

[13]Japan Student Services Organization. "List of National Universities and Local Public Universities using EJU". Retrieved from https://www.jasso.go.jp/en/eju/examinee/use/uni_local_public.html (27 August 2019)

[14]Kyoto Prefectural University of Medicine. "History of the University". Retrieved from https://www.kpu-m.ac.jp/doc/english/overview/history/4.html(27 August 2019)

[15]EducPros. " Financement de l’enseignement supérieur : la montée en puissance des Régions" (Financing higher education: the rise of the Regions). Retrieved from https://bit.ly/2HuhOzO (27 August 2019)

[16]ครู บ. (นามสมมติ), ครูในโรงเรียนสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดท่านหนึ่ง, สัมภาษณ์, 25 สิงหาคม 2562

[17]คุณ จ. (นามสมมติ), พนักงานเทศบาลเมืองแห่งหนึ่งในภาคเหนือ, สัมภาษณ์, 25 สิงหาคม 2562

[18]มหาวิทยาลัยนครพนม. "เกี่ยวกับ มนพ. : ประวัติมหาวิทยาลัย". สืบค้นจาก https://www.npu.ac.th/?page=content&content_id=1556610531 เมื่อ 27 สิงหาคม 2562

[19]มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์. "ประวัติมหาวิทยาลัย". สืบค้นจาก https://bit.ly/2Zs3a2c เมื่อ 27 สิงหาคม 2562

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net